Friday, 9 May 2025
Lite

20 มกราคม 2539 พระพันปีหลวง เสด็จฯ องค์ประธานในพิธีปล่อย เรือหลวงจักรีนฤเบศรลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน

เรือหลวงจักรีนฤเบศรเริ่มต้นการก่อสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 โดยได้มีการวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 และทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2539 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในครั้งที่ทรงเสด็จไปทำพิธี ได้มีการทดลองแล่นเรือตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2539 ถึงมกราคม พ.ศ. 2540 ร่วมกับกองทัพเรือสเปนที่เมืองโรต้า (Rota) ประเทศสเปน ก่อนที่เรือจะได้รับมอบและขึ้นประจำการในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540 โดยมี พลเรือเอก วิจิตร ชำนาญการณ์ เป็นผู้รับมอบ

เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้รับหมายเลข 911 และเดินทางมาถึงประเทศไทยในต้นเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน โดยได้เข้าประจำการอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2540 และในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จมาทรงเจิมเรือเพื่อความเป็นสิริมงคล

เรือหลวงจักรีนฤเบศรมีระวางขับน้ำเต็มที่ 11,485.5 ตัน ยาว 182.50 เมตร กว้างสุด 30.50 เมตร และกินน้ำลึก 6.25 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่อง กำลัง 11,780 แรงม้า พร้อมเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ 2 เครื่อง กำลัง 44,250 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 26 นอต โดยมีทหารประจำเรือจำนวน 601 นาย และทหารประจำหน่วยบินจำนวน 758 นาย เรือสามารถบรรทุกเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่ง (SEA HARRIER) ได้ 9 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ (SEA HAWK) ได้ 6 เครื่อง ใช้งบประมาณในการสร้างทั้งหมด 7 พันล้านบาท

กองทัพเรือได้รับพระราชทานชื่อเรือจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "เรือหลวงจักรีนฤเบศร" ซึ่งหมายถึง "ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี" พร้อมคำขวัญว่า "ครองเวหา ครองนที จักรีนฤเบศร" เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กองทัพเรือและขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ

21 มกราคม ของทุกปี วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน หยุดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติ ให้วันที่ 21 มกราคม ของทุกปีเป็น "วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน" ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เสนอ หลังเกิดกรณีของหมอกระต่าย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ถูกบิ๊กไบค์ชนจนเสียชีวิต โดยมีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนและป้องกันเหตุการณ์รถชนคนข้ามทางม้าลายซ้ำรอย พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้ใช้ถนนทุกเพศทุกวัยและผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทมีจิตสำนึกในการรักษาความปลอดภัย และส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

การกำหนด "วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน" จะเป็นการรณรงค์เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและเพิ่มความตระหนักในหมู่ผู้ใช้ถนน โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางและมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งการจัดกิจกรรมเพื่อลดอุบัติเหตุ โดยเน้นมาตรฐานการปฏิบัติที่ชัดเจนและความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดการกระทำผิดซ้ำและสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน

นอกจากนี้ยังจะมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถลดอุบัติเหตุและการสูญเสียชีวิตบนท้องถนนได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

22 มกราคม 2486 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้คำว่า ‘สวัสดี’ เป็นคำทักทาย

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ประกาศให้ใช้คำว่า 'สวัสดี' เป็นคำทักทายเมื่อพบกันครั้งแรกอย่างเป็นทางการ

คำว่า 'สวัสดี' ได้รับการบัญญัติขึ้นโดยพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) และเริ่มใช้งานครั้งแรกในปี 2476 ขณะที่ท่านเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำคำนี้ทดลองใช้ในกลุ่มนิสิตก่อนที่จะได้รับการนำมาใช้ในวงกว้างและได้รับการยอมรับจากสังคมในภายหลัง หลังจากนั้น 62 ปี จอมพล ป. พิบูลสงครามจึงได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในยุคของการส่งเสริมชาตินิยม

คำว่า 'สวัสดี' มาจากรากศัพท์ 'โสตฺถิ' ในภาษาบาลี และ 'สวัสดิ' ในภาษาสันสกฤต ซึ่งใช้ในวรรณคดีไทยและบทสวดมนต์มาช้านาน

นอกจากคำว่า สวัสดี แล้ว ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงครามยังมีคำทักทายอื่น ๆ ที่ใช้กันตามเวลา ได้แก่ อรุณสวัสดิ์ ในตอนเช้า (แปลจากคำว่า Good Morning) ทิวาสวัสดิ์ ในตอนบ่าย (แปลจากคำว่า Good Afternoon) 'สายัณห์สวัสดิ์' ในตอนเย็น (แปลจากคำว่า Good Evening) และ ราตรีสวัสดิ์ เมื่อก่อนนอน (แปลจากคำว่า Good Night)

23 มกราคม 2425 วันประสูติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่ ทรงมีพระนามเดิมว่า 'พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร' และทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาวาด พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2424

ในปี 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เป็นกรมเดียวกัน ภายใต้ชื่อ 'กรมรถไฟหลวง' และโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง นอกเหนือจากหน้าที่ทางทหาร ซึ่งการบริหารงานด้านกิจการรถไฟในช่วงนั้น ทรงนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนา และทรงได้รับการขนานพระนามว่า 'พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่'

พระองค์ทรงขยายเส้นทางรถไฟจากเหนือสู่ใต้ รวมทั้งสร้างเส้นทางรถไฟจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี และจากฉะเชิงเทราถึงอรัญประเทศ นอกจากนี้ยังทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซลคันแรกในทวีปเอเชียจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 2 คัน ในปี พ.ศ. 2471 ซึ่งมีกำลัง 180 แรงม้า เพื่อแทนที่รถจักรไอน้ำที่ไม่สะดวกและไม่ประหยัด

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงรับผิดชอบงานสร้างถนนและสะพานต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น สะพานกษัตริย์ศึก สะพานรัษฎาภิเศก และสะพานพระพุทธยอดฟ้า รวมทั้งได้ริเริ่มการสำรวจหาน้ำมันดิบในพื้นที่บ่อหลวง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการใช้เครื่องเจาะสำรวจธรณีวิทยา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการสำรวจแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2464

'แสตมป์' รับเคยนอกใจภรรยา มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคู่กรณี พร้อมยืนยันโดนข่มขู่ด้วย ม.112 จริง แถมคู่กรณียอมจ่าย 1 ล้านเพื่อจบเรื่อง

(20 ม.ค. 68) จากกรณีนักร้องหนุ่ม แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ออกมาฟ้องสังคมว่า ตนและภรรยาถูกคุกคามโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งและมีการโดนข่มขู่ใช้อิทธิพล กระทั่งทำให้ศิลปินหลายท่านถูกดึงเข้าไปในดราม่าของเรื่องนี้ ล่าสุดเจ้าตัวโพสต์ขอโทษที่ไม่ได้พูดความจริงทั้งหมดที่เป็นต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าเคยนอกใจภรรยาไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคู่กรณี และภรรยาได้ฟ้องร้องในหลายคดี โดยระบุข้อความว่า

ผมขอโทษทุกคนด้วยความเสียใจอย่างที่สุด ที่ผมพูดบนเวทีในวันที่ 15 มกราคม ไม่ครบทุกประเด็น ทำให้เกิดความเสียหายออกไปในวงกว้าง ทั้งกับตัวบุคคลและวงดนตรีต่างๆ มากมาย 

เป็นความผิดพลาดที่สุดของผม ที่ผมเลือกเว้นประเด็นที่เป็นสาเหตุตั้งต้นที่แท้จริงของปัญหาทั้งหมดที่หลายคนกำลังเดือดร้อนอยู่นี้ นั่นคือ การนอกใจภรรยาของผมเอง 

ผมมีเจตนาที่จะใช้เวทีนั้นเป็นสื่อกลางส่งสารไปยังคนจำนวนหนึ่ง เพื่อแจ้งให้เขาทราบว่า ภรรยาของผมเดือดร้อนและมีความกังวลจากเรื่องอะไรบ้าง และแจ้งให้คนจำนวนนึงทราบเกี่ยวกับผลของศาลที่แท้จริงที่เราเข้าใจว่าถูกบิดเบือนในสังคมอยู่ในขณะนั้น จึงใช้วิธีการเล่าแบบไม่ได้ระบุชื่อตัวบุคคล หลีกเลี่ยงประเด็นที่เป็นสาเหตุแท้จริง แต่สิ่งที่ผมคิดน้อยมากเกินไปและผิดพลาดที่สุดก็คือ ผมไม่ได้คิดไปถึงเลยว่าจะมีคนขุดคุ้ยมาเปิดเผยในที่สาธารณะ ว่าตัวละครที่ผมเล่าไปจะเป็นใครบ้างในชีวิตจริง จนมีคนเดือดร้อนกันเป็นวงกว้างได้ขนาดที่เป็นอยู่นี้

ผมขอโทษน้องๆวง Tilly birds เติร์ด บิลลี่ ไมโล และทีมงาน ที่ทำให้พวกเขาเดือดร้อนมาอย่างยาวนาน จากปัญหาที่ผมสร้างขึ้นมาเองในครอบครัว และทำให้พวกเขาถูกเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงผมขอโทษน้องๆจริงๆครับ สิ่งที่เราสู้รบกันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าผมซื่อสัตย์ต่อภรรยาผมตั้งแต่ต้น ผมขอโทษ คุณโอม Cocktail ที่มีการพาดพิงถึงในเรื่องเล่าของผม จนพลาดวันสำคัญในชีวิตไป ผมขอโทษนักร้องนักดนตรีทุกคน หรือใครก็ตาม ทีมงาน โบกี้ไลอ้อน วิว โทนี่ วง moving and cut วงมีน พี่จี๊บ LOVEiS คุณ จ๋าย ไททศสมิธ และทุกๆคนที่ติดร่างแหไปจากการเล่าเรื่องของผม

ผมขอโทษคู่กรณีของผมและภรรยา และครอบครัวของพวกเขา ผมยอมรับว่าเคยมีความสัมพันธ์กับแจมในอดีตจริง และได้จบไปแล้ว และได้ละเว้นประเด็นนี้ไว้ในเรื่องเล่า จนคนเข้าใจผิด เอาใจช่วยผมไปในเรื่องที่ผมบิดเบือนว่าแจมเป็นเพียงแฟนคลับที่มาติดตาม 

เรื่องของการคุกคามและข่มขู่ด้วยคดีทางการเมือง ผมยังยืนยันว่าเคยเกิดขึ้นจริง หากแต่ปัจจุบันได้หยุดลงไปแล้ว และผมได้เล่าเรื่องเหล่านี้เพื่อให้หน่วยงานต่างๆมาคุ้มครองดูแล

เรื่องของคดีความ ผมฟ้องแกปกับแจมในคดีร่วมกันหมิ่นประมาท แยกเป็นแพ่งและอาญา รวม 3 คดี
ผมถอนฟ้องให้ทั้งหมดเนื่องจากถูกข่มขู่ด้วย ม.112 ซึ่งมีพยานวัตถุเป็นแชท ส่วนภรรยาผมฟ้องคดีมือที่สาม และจบลงด้วยการได้รับค่าชดใช้หนึ่งล้านบาทจากแจม

ผมขอโทษแฟนเพลงและทุกคนในสังคม ที่ผมได้มีการทำตัวในสิ่งที่ไม่เหมาะสมลงไป ผมขอสัญญาว่าต่อจากนี้จะใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและครองสติอย่างดีที่สุด ที่สำคัญที่สุด ผมขอโทษนิว ภรรยาของผมและครอบครัว และขอบคุณที่ยังให้โอกาสผมในการเริ่มต้นใหม่ 

ผมขอโทษทุกคนจริงๆครับ ผมขอน้อมรับทุกความผิดที่เกิดขึ้นครับ ขอโทษที่ทำให้ทุกคนเดือดร้อนครับ

‘อ.ยิ่งศักดิ์’ ยุติหน้าที่พิธีกร “คนดังนั่งเคลียร์” ด้วยเหตุผลส่วนตัว มีปัญหาด้านสุขภาพ

(20 ม.ค. 68) เรียกได้ว่าเป็นตำนานมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าทีมงานจะเปลี่ยนไปกี่ชุด หรือจะย้ายช่องไปกี่รอบ แต่พิธีกรรายการ “คนดังนั่งเคลียร์” ก็ยังเป็น “อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์” เพราะด้วยคาแรกเตอร์ที่ถามตรงใจคนดูแบบเป็นกันเอง ทำให้เจ้าตัวยืนหนึ่งมาตลอด 12 ปี ล่าสุดทางช่อง 8 ซึ่งเป็นต้นสังกัดของรายการนี้ ได้ออกแถลงการณ์ว่าพิธีกรชื่อดังได้ยุติบทบาท วางมือจากรายการนี้แล้ว เรียกได้ว่าปิดตำนานได้อย่างน่าใจหาย

“รายการ คนดังนั่งเคลียร์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ในเครือ อาร์เอส กรุ๊ป ขอเรียนแจ้งให้ทราบว่า อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ จะยุติบทบาท การทำหน้าที่เป็นพิธีกรดำเนินรายการ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ด้วยเหตุผลส่วนตัว มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พิธีกรประจำรายการ ซึ่งออกอากาศสด ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ต่อไปได้

ขอขอบคุณ อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ พิธีกรผู้เป็นตำนานฝีปากกล้า ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เราขอส่งกำลังใจให้กับอาจารย์ทุกเส้นทางต่อจากนี้ และเชื่อมั่นว่าความทรงจำดีๆ ที่อาจารย์ได้มอบให้รายการและผู้ชมจะยังคงอยู่ตลอดไป

สำหรับการดำเนินรายการ คนดังนั่งเคลียร์ หลังจากนี้ คุณเมย์ ชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิผู้ประกาศข่าวมากประสบการณ์กว่า 24 ปี จะเข้ามารับหน้าที่ในบทบาทพิธีกรประจำรายการอย่างเต็มตัว การันตีด้วยความเชี่ยวชาญในฐานะคนข่าวตัวจริง เป็นตัวแทนท่านผู้ชม ถามเจาะลึก ตรง ทุกประเด็น ซอกแซกแบบตรงจุด และส่งคำถามแทนใจจากผู้ชมทางบ้าน ภายใต้คอนเซปต์ของรายการ 'เคลียร์เร็ว เคลียร์แรง' สด 5 วันรวด ฟาดทุกกระแส ถามแทนใจคนดู ถูกจริตคนไทยแฟนๆสามารถติดตามรายการ คนดังนั่งเคลียร์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.05 น. ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 กดเลข 27 และทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก ช่อง 8 / ยูทิวบ์ Thaich8”

24 มกราคม ของทุกปี วันการศึกษาสากล วันที่ระลึกถึงความสำคัญของการศึกษา

ทุกวันที่ 24 มกราคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันการศึกษาสากล (International Day of Education) โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อย้ำถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การศึกษาที่มีคุณภาพไม่เพียงช่วยให้แต่ละบุคคลพัฒนาตนเอง แต่ยังขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติด้วย

การศึกษาถือเป็นสะพานสู่โลกกว้าง ช่วยให้ผู้คนสามารถคิดวิเคราะห์และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดียิ่งขึ้น หากปราศจากโอกาสทางการศึกษา ย่อมทำให้ยากที่จะตามทันโลกและผู้อื่น

การศึกษามีประโยชน์ในหลายมิติ เช่น ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมความรู้และความสามารถในการประกอบอาชีพ ทำให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติ เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากองค์กรระดับโลกสะท้อนปัญหาที่น่าห่วงใยเกี่ยวกับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนทั่วโลก โดยพบว่า เด็กและเยาวชนจำนวน 258 ล้านคน ยังไม่เคยเข้าเรียน เด็กและวัยรุ่น 617 ล้านคน ไม่สามารถอ่านหนังสือหรือทำคณิตศาสตร์พื้นฐานได้ ในภูมิภาคทะเลทรายซาฮารา เด็กผู้หญิงน้อยกว่า 40% จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ขณะที่มีผู้ลี้ภัยและเด็กประมาณ 4 ล้านคน ไม่ได้เข้าถึงการศึกษา

25 มกราคม 2502 ในหลวงร.9 เสด็จฯ จังหวัดสุพรรณบุรี ทรงเปิดพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เมื่อพุทธศักราช 2456 ได้มีการค้นพบพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างขึ้น ณ ดอนพระเจดีย์ แขวงเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทรงชนะในยุทธหัตถี และในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระเจดีย์แห่งนี้ เพื่อทรงนมัสการและโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่ ทว่าการก่อสร้างประสบปัญหาขัดข้องเรื่องงบประมาณ

จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช การบูรณะฟื้นฟูพระเจดีย์ได้สำเร็จลุล่วง ต่อมาในวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีเปิดพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ตำบลดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ตามหมายกำหนดการที่ 1/2502

เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเสด็จเข้าสู่พิธีมณฑล ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมาประจำรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงศีลและทรงฟังคำกราบบังคมทูลรายงาน ก่อนที่จะมีพระราชดำรัส จากนั้นพระองค์ทรงเปิดพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระสงฆ์ 10 รูป เจริญชัยมงคลคาถา ขณะเดียวกันชาวพนักงานได้ประโคมฆ้องชัย สังข์ บัณเฑาะว์ มโหระทึก แตร และดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเสด็จไปทรงพระสุหร่ายสรงพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะ ก่อนจะประทับพระราชอาสน์ในพิธีมณฑล พระสงฆ์ถวายอดิเรก และเสด็จพระราชดำเนินกลับ

รถไฟฟ้าสายสีแดง จับมือ สำนักงานเขตจตุจักร จัดกิจกรรม 'จดทะเบียนสมรสลอยฟ้า' ต้อนรับวาเลนไทน์

(22 ม.ค.68) งานนี้คู่รักที่กำลังจะเริ่มต้นชีวิตคู่ไม่ควรพลาด เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดง จับมือ สำนักงานเขต จตุจักร จัดงาน Love in the Sky 'จดทะเบียนสมรสลอยฟ้า' ภายในขบวนรถไฟฟ้า ครั้งแรกของโลก !

สำหรับ กิจกรรมดังกล่าว จะจัดขึ้นในวาเลนไทน์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) โดยจะมอบประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตให้กับ 30 คู่รัก ซึ่งจะได้รับของขวัญสุดพิเศษ อาทิ

1.ทะเบียนสมรสลอยฟ้าโดยสำนักงานเขต จตุจักร

2.ภาพถ่าย Unseen แบบที่ไม่เคยมีคู่รักคู่ไหน มีโอกาสได้ถ่ายมาก่อน ภายในขบวนรถไฟฟ้า ห้องคนขับรถไฟฟ้าสายสีแดง และ วิวสนามบินนานาชาติดอนเมือง

3.Limited Edition Rice Cooker หม้อหุงข้าวลายพิเศษขนาด 1.8 ลิตร พ่อบ้านจะได้กลับมาทานข้าวบ้านทุกวัน มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง

4.กรมธรรม์ประกันภัย การเดินทางรอบโลก จากทิพยประกันภัย 

5.กรอบรูปภาพดาวเทียม THEOS-2 พื้นที่ภูกระดึงรูปหัวใจ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) 

6.Gift Set จากกลุ่มบริษัท ปตท. 

นอกจากนี้ ยังจะมีของขวัญอื่น ๆ อีกมากมายจากผู้สนับสนุน

สำหรับคู่รักที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Social Media 
ทุก Platform • Red Line SRTET.

26 มกราคม 2525 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อ 'ค่ายจุฬาภรณ์' จังหวัดนราธิวาส

ครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นนายทหารเรือหญิง พรรคนาวิกโยธินพระองค์แรก นาวาเอก สงบ ศรลัมพ์ จึงได้ยื่นหนังสือถึงกรมนาวิกโยธินเพื่อขอพระราชทานชื่อค่ายดังกล่าว โดยได้รับการเห็นชอบจาก พลเรือโท ยุธยา เชิดบุญเมือง ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน และได้ส่งหนังสือไปยังกองทัพเรือเพื่อขอพระราชทานชื่อ "ค่ายจุฬาภรณ์" ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากกองทัพเรือ กองบัญชาการทหารสูงสุด และกระทรวงกลาโหมตามลำดับ

ในวันที่ 24 ธันวาคม 2524 พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กราบบังคมทูลนายกรัฐมนตรีเพื่อขอพระราชทานชื่อค่ายทหารของกองบังคับการกรมทหารราบที่ 3 รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธิน และกองพันทหารราบที่ 9 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 3 กรมนาวิกโยธิน โดยชื่อค่ายได้รับการยืนยันเป็น "ค่ายจุฬาภรณ์" หรือ "CHULABHORN CAMP" ในภาษาอังกฤษ

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2525 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงกลาโหม โดยระบุว่า สำนักเลขาธิการรัฐมนตรีได้นำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาและได้รับพระราชทานชื่อค่ายตามที่ขอ

ในวันที่ 24 กันยายน 2526  พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเรือเอกหญิงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินเปิด "ค่ายจุฬาภรณ์" ที่กรมทหารราบที่ 3 กรมนาวิกโยธิน บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมีพลเรือเอก สมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พลเรือเอก โสภณ สุญาณเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ, พลเรือโท ยุธยา เชิดบุญเมือง ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน, และนายทหารผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ร่วมพิธีเปิดค่ายอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสและแขกผู้มีเกียรติจำนวนมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top