Friday, 9 May 2025
Lite

‘หลานม่า’ มีลุ้น!! หลังเพจ ‘ออสการ์’ เปิดชื่อ 15 หนัง ชิง ‘ภาพยนตร์ต่างประเทศ’ รอผลโหวตเพื่อเข้าสู่ 5 เรื่องสุดท้าย ประกาศผล วันศุกร์ที่ 17 มกราคม นี้

(4 ม.ค. 68) หลังจากก่อนหน้านี้ มีการเปิดเผยว่า หลานม่า (How to Make Millions Before Grandma Dies) ภาพยนตร์ไทยจาก GDH สร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ฝ่าด่านหนังต่างประเทศ จำนวน 85 เรื่อง ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 15 เรื่องที่เข้ารอบ รางวัลออสการ์ครั้งที่ 97 สาขา ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (ACADEMY AWARDS / BEST INTERNATIONAL FEATURE FILM SHORTLIST)

โดยล่าสุด เฟซบุ๊กของออสการ์ The Academy ก็ได้โพสต์ เปิดชื่อ 15 ภาพยนตร์นานาชาติ ที่มีชื่อให้โหวตเพื่อเข้าสู่ 5 เรื่องสุดท้าย ที่จะประกาศในวันศุกร์ที่ 17 มกราคมนี้

พร้อมถ่ายทอดการประกาศรางวัลในวันที่ 2 มีนาคม ผ่าน ABC และ Hulu

สำหรับลิสต์รายชื่อภาพยนตร์ทั้งหมด มีดังนี้

Brazil, I’M STILL HERE
Canada, UNIVERSAL LANGUAGE
Czech Republic, WAVES
Denmark, THE GIRL WITH THE NEEDLE
France, EMILIA PÉREZ
Germany, THE SEED OF THE SACRED FIG
Iceland, TOUCH
Ireland, KNEECAP
Italy, VERMIGLIO
Latvia, FLOW
Norway, ARMAND
Palestine, FROM GROUND ZERO
Senegal, DAHOMEY
Thailand, HOW TO MAKE MILLIONS BEFORE GRANDMA DIES
United Kingdom, SANTOSH

ทั้งนี้ ในโพสต์ดังกล่าว ก็มีคนเข้าไปคอมเมนต์ให้กำลังใจภาพยนตร์จากประเทศต่างๆ รวมถึงหลานม่า ไม่น้อยทีเดียว

‘ปาล์มมี่’ ขอหยุดงาน ไม่มีกำหนด หลังคนใกล้ชิด!! ป่วยกะทันหัน

(4 ม.ค. 68) แฟน ๆ แห่ส่งกำลังใจ ให้นักร้องสาว ‘ปาล์มมี่ อีฟ ปานเจริญ’ กันอย่างล้นหลาม หลังจากที่เจ้าตัวขอหยุดงานอย่างไม่มีกำหนด เนื่องด้วยมีคนสำคัญในครอบครัวของ ‘ปาล์มมี่’ ป่วยกะทันหัน 

โดยทางต้นสังกัด genie records ได้ออกมาโพสต์จดหมายแจ้งข่าวที่ระบุว่า … 

"ทางต้นสังกัด genie records ขอแจ้งให้ทราบว่า เนื่องด้วยมีคนสำคัญในครอบครัวของ ปาล์มมี่-อีฟ ปานเจริญ ป่วยกะทันหัน โดยทางปาล์มมี่ไม่สามารถออกไปปฏิบัติงานข้างนอกได้อย่างปกติ เพราะต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดแบบปลอดเชื้อ 

จึงเรียนแจ้งให้ทราบว่า ปาล์มมี่จะขอหยุดงานอย่างไม่มีกำหนด ทางต้นสังกัดและศิลปินต้องขออภัยแฟนเพลงทุกท่าน, ผู้จัดงาน, และผู้เกี่ยวข้อง ทุกท่านมา ณ ที่นี้"

7 มกราคม พ.ศ. 2408 วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในสมัย ร. 4

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2408 หรือวันนี้ เมื่อ 160 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย เป็นพระราชบุตรลำดับที่ 50 หรือ พระราชกุมารพระองค์ที่ 27 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 3 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระองค์พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่พระมงกุฎ วชิรญาณะ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกาลต่อมา) จึงมอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แต่พระมงกุฎยังไม่ลาผนวชและตรัสว่าต้องอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่สามารถควบคุมกำลังทหารเป็นอันมากได้ จึงมีพระชะตาแรงและต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ 

ดังนั้น จึงได้มีการเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นทรงราชสมบัติที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม และทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

"พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์มหิศเรศรังสรรค์ มหันตรวรเดชโชไชย มโหฬารคุณอดุลย สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทร สูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทร บวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวร มหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตนไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทรโรดมกิจโกศล สัตปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชยอุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"

หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ จนกระทั่งประชวรด้วยวัณโรคและเสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 สิริพระชนมพรรษา 58 พรรษา ทรงอยู่ในบวรราชสมบัติทั้งสิ้น 15 ปี

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์โต คือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ยังทรงพระเยาว์ มีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเสนอพระองค์เจ้ายอดยิ่งเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัย 

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์เจ้ายอดยิ่งเป็นเพียงแค่ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เท่านั้น ก่อนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้าย

๘ มกราคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร และพนักงานสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

8 มกราคม วันคล้ายวันประสูติ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา’

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยอีกวันหนึ่ง โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 และทรงเจริญพระชนมายุครบ 38 พรรษา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศ ‘หม่อมเจ้า’ มีพระนามว่า ‘หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล’ ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าจักรกฤษณ์ยาภา มหิดล’ จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล’ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์’ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นทั้งนักกีฬาขี่ม้าและอดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ในวันที่ 21 กรกฎาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศ ‘พันเอกหญิง’ ในฐานะพระอาจารย์หัวหน้าแผนก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า (อัตราพันเอก)

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบแฟชันและเครื่องประดับ โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยทรงออกแบบเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ ‘SIRIVANNAVARI’ และ S’Home เสื้อผ้าของสตรีและบุรุษ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างเนืองแน่นในวงการแฟชั่นโลก กับการออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงที่มีความประณีต ที่เหล่าผู้มีชื่อเสียงนิยม ทั้งยังมีแบรนด์ต่างๆ อย่าง Sirivannavari maison แบรนด์ของแต่งบ้าน รวมไปถึงแบรนด์ชุดแต่งงาน

นอกจากทรงออกแบบเสื้อผ้าคอลเลกชันต่างๆ แล้ว พระองค์ยังทรงสนับสนุนผ้าไทย ด้วยการนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นชุดต่างๆ ทั้งนี้ยังทรงออกแบบชุดให้กับ เดมี ลีห์ เนล ปีเตอร์ มิสยูนิเวิร์ส 2017 และโศภิดา กาญจนรินทร์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2018 ได้สวมใส่ในการประกวดรอบไทยไนท์ของเวทีนางงามจักรวาลที่จัดประกวดที่ประเทศไทยอีกด้วย ทำให้กระทรวงวัฒนธรรมถวายรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2561 ในสาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชันและเครื่องประดับ) ด้วยความสนพระทัยด้านแฟชัน พระองค์จึงเสด็จไปทอดพระเนตรงานปารีสแฟชันวีกอยู่เสมอ และได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อต่างชาติ อาทิ นิตยสาร Grazia ประเทศอังกฤษ จัดอันดับให้พระองค์ทรงอยู่ในลำดับที่ 1 ของเจ้าหญิงที่มีสไตล์ที่สุดในโลก จนได้รับการขนานนามว่าทรงเป็น ‘เจ้าหญิงแฟชัน’

ทั้งนี้ พระองค์ยังทรงเป็นพระอาจารย์สอนนักเรียนปริญญาเอก ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อีกด้วย

9 มกราคม พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 บ้านเมืองในฝั่งพระนครขยายตัวตามความเจริญ และการเพิ่มของประชากร ผิดกับฝั่งธนบุรีที่เป็นเรือกสวนไร่นา การเดินทางไปมาระหว่างกันต้องใช้เรือข้ามฟาก 

เมื่อจะฉลองพระนคร ในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานคร 150 ปี นอกจากจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระบรมราชานุสรณ์เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยังทรงพระราชดำริให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกอีกด้วย 

โดยได้รับสั่งให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบให้มีลักษณะคล้ายลูกศร สื่อถึงตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 7 โดยหัวศรพุ่งตรงไปยังฝั่งธนบุรี พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2472 พระราชทานนามว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” 

สำหรับ สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานโครงเหล็ก เชื่อมถนนตรีเพชรกับถนนประชาธิปก ตรงกลางเปิดให้เรือใหญ่ผ่านได้ นอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ยังเป็นสะพานสำคัญที่ใช้สัญจรในปัจจุบัน

11 มกราคม พ.ศ. 2568 วันเด็กแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญเด็กและเยาวชน

วันเด็กแห่งชาติ ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี สำหรับวันเด็กปี 2568 นี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498

มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์กรสหประชาชาติ (United Nations: UN) กำหนดให้มีวันเด็กสากล (World Children's Day) ขึ้น โดยใช้ชื่อว่า Universal Children's Day เพื่อกระตุ้นให้สังคมโลกร่วมกันส่งเสริม สร้างความตระหนัก และร่วมพัฒนาศักยภาพและความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ทั่วโลก รวมทั้งยังเป็นการฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) อีกด้วย

ในประเทศไทยนั้น "วันเด็กแห่งชาติ" จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 สอดคล้องกับมติขององค์การสหประชาชาติ โดยได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมเป็นวันเด็กแห่งชาติ

กระทั่งในปี พ.ศ. 2506 คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติมีความเห็นว่าช่วงเดือนตุลาคมนั้นตรงกับช่วงฤดูฝนในประเทศไทย ทำให้ไม่สะดวกต่อการจัดงานวันเด็ก รวมทั้งยังเป็นวันจันทร์ซึ่งเป็นวันทำงานทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถพาบุตรหลานมาร่วมงานได้

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดงานวันเด็กแห่งชาติมาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตามข้อเสนอของคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติซึ่งมีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า เนื่องจากเลยช่วงฤดูฝน

รวมทั้งยังเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติ เพราะการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว โดยเริ่มเปลี่ยนมาจัดงานวันเด็กแห่งชาติในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมในปี พ.ศ. 2508 และปฏิบัติต่อมาจนถึงปัจจุบัน

การจัดงานวันเด็กแห่งชาติมีจุดประสงค์ที่สำคัญดังต่อไปนี้

-เป็นการให้ความสำคัญแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นกำลังหลักในการพัฒนาชุมชน ประเทศชาติ และสังคมโลกในอนาคต

-เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชน เนื่องจาก "เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า"

-สร้างความตระหนักด้านสิทธิของเด็กและเยาวชน เช่น สิทธิด้านการศึกษา สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่เหมาะสม

-ปลูกฝังให้เด็ก ๆ เข้าใจบทบาทและรู้จักหน้าที่ในการมีส่วนร่วมกับสังคมในฐานะพลเมืองโลก

-เป็นโอกาสดีให้เด็ก ๆ และสมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน

ทุก ๆ ปีนายกรัฐมนตรีหรือบุคคลสำคัญจะมอบคำขวัญวันเด็กเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของเด็กและวันเด็กแห่งชาติ โดยธรรมเนียมคำขวัญวันเด็กนี้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีการให้คำขวัญวันเด็กประจำปีว่า "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม"

ล่าสุดคำขวัญวันเด็กประจำปี พ.ศ. 2568 โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คือ

"ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง"

10 มกราคม พ.ศ. 2489 ‘สหประชาชาติ’ จัดประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรก โดยมีตัวแทนจากภาคีสมาชิก 51 ชาติ เข้าร่วม

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดและเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหประชาชาติ เป็นเพียงองค์กรเดียวของสหประชาชาติที่ตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมกัน สมัชชาใหญ่มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่ายในโครงการของสหประชาชาติ แต่งตั้งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเพื่ออภิปรายและให้ความเห็น ตลอดจนจัดตั้งองค์กรลูกต่าง ๆ มากมายของสหประชาชาติ

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ที่ศาลากลางนครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน โดยในขณะนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 51 ประเทศ โดยสมัชชาใหญ่จะมีวาระการประชุมตามที่ประธานที่ประชุมหรือเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกประชุมตามขั้นตอนปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งโดยมักจะเริ่มเปิดวาระการประชุมตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะหารือกันในหัวข้อหลักต่าง ๆ ไปจนถึงราวเดือนธันวาคม และหารือกันในหัวข้อย่อยตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งสิ้นสุดทุกประเด็นตามที่ได้แถลงไว้

นอกจากนี้ อาจมีเปิดวาระการประชุมในกรณีพิเศษหรือกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการประชุม กลไก อำนาจหน้าที่ และการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่นั้น เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ โดยการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่เพื่อออกเป็นมติสมัชชาใหญ่ในหัวข้อสำคัญ ข้อแนะนำด้านสันติภาพและความมั่นคง ข้องบประมาณ การเข้าร่วมสหประชาชาติ การระงับหรือเพิกถอนสมาชิกภาพ จะต้องได้รับคะแนนเสียงในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในที่ประชุม

ส่วนหัวข้อย่อยอื่น ๆ นั้นใช้เพียงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกในที่ประชุม โดยที่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น สมัชชาใหญ่อาจให้ข้อแนะนำเรื่องใด ๆ ก็ตามที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของสหประชาชาติ ยกเว้นอำนาจในการดำเนินการรักษาสันติภาพและความมั่นคงซึ่งเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ปัจจุบัน สมัชชาใหญ่มีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ซึ่งกว่าสองในสามเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีผู้สังเกตการณ์ 2 ประเทศ คือ นครรัฐวาติกัน กับ รัฐปาเลสไตน์

‘ลิซ่า ลลิษา’ แต่งชุดไทยเที่ยวอยุธยาช่วงปีใหม่ คาดแฟนคลับแห่ตามรอย ทำกรุงเก่าแตก (อีกครั้ง)

(10 ม.ค.68) มรดกโลกเมืองกรุงเก่าเตรียมแตกอีกครั้ง หลัง ‘ลิซ่า ลลิษา’ โพสต์ IG แต่งชุดไทย เที่ยวโบราณสถานในอยุธยาช่วงปีใหม่ (2 ม.ค.68) ที่ผ่านมา

โดยเพจ อยุธยา-AyutthayaSatation ได้โพสต์ภาพ 'ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล' ศิลปินสาวชาวไทยชื่อก้องโลก สวมชุดผ้าไทย เที่ยวสบาย ๆ ในโบราณสถานและเรือนไทยแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมระบุข้อความว่า

"กรี๊ดดด น้องลิซ่าลง ig แล้ว #วัดมหาธาตุ #อยุธยา กรุงศรีเกียมแตกอีกครา CR : ig lalalalisa_m

ปล.น้องมาเมื่อ 2 ม.ค.68 นะคะ

ด้านเพจ หนูน้อยบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ ก็ได้ระบุว่า ลิซ่าได้สวมชุดผ้าไทยจากร้านของเดียร์น่าใส่ไปทำบุญที่อยุธยา ดังนี้

'ลิซ่า' ลลิษา มโนบาล ทำบุญที่วัดในอยุธยา พร้อมใส่ชุดผ้าทอจากร้านชานเรือนนาข่า ของพี่สาวคนสวย ”เดียร์น่า ฟลีโป“

#สาว ๆ เกียมตามรอยค่ะ ♥️🇹🇭♥️🇹🇭♥️

12 มกราคม พ.ศ. 2476 ในหลวง ร. 7 และพระบรมราชินี เสด็จประพาสยุโรป นับเป็นการอำลา ‘แผ่นดินสยาม’ ครั้งสุดท้าย

วันนี้เมื่อ 92 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จประพาสยุโรป และประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจในโลก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ทั้งนี้ในห้วงระยะ เวลา 10 ปีที่ พระองค์ทรงครองราชย์ เรื่องที่ดูหนักหนาสาหัสที่สุด คือ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร์ ในปี 2475 ซึ่งขณะนั้นทั้งสอง พระองค์ ทรงประทับอยู่ที่ พระราชวังไกลกังวลได้ มีคณะตัวแทนคณะราษฎร์ กราบบังคับทูลเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จ กลับพระนคร 

และพระองค์ได้เสด็จกลับมาเป็นพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จากนั้นในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 พระองค์ได้เสด็จเยือนยุโรป และนั่นถือเป็นการอำลาแผ่นดินสยามครั้งสุดท้ายของพระองค์และในหลวงรัชกาลที่ 7 เนื่องจากขณะที่ พระองค์ทรงรักษาพระเนตรจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศอังกฤษ ได้ทรงขัดแย้งกับคณะรัฐบาล จึงตัดสิน พระราชหฤทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ณ พระตำหนักโนล ในขณะ ที่สองพระองค์มิได้เป็นคิงส์แห่งสยาม นับเป็นช่วง เวลาที่สงบสุข ณ พระตำหนักเวนคอร์ต ประเทศอังกฤษ

13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการแผนกการบินเป็นครั้งแรก

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพอากาศ คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ส่งทหาร 3 นาย ประกอบด้วย พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาตไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2454 โดยได้สำเร็จการศึกษากลับมาเป็นมนุษย์อากาศชุดแรกของไทย 

ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งแผนกการบินขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพบกเมื่อ พ.ศ. 2456 (จุดกำเนิดของกองทัพอากาศไทย) โดยมีการทดลองบินครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 29 ธันวาคม 2456 และรัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการแผนกการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2457

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงริเริ่มและมีสายพระเนตรก้าวไกลต่อการบินของประเทศไทย จึงกำหนดให้วันที่ 13 มกราคม ของทุกปีเป็น 'วันการบินแห่งชาติ'


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top