Saturday, 10 May 2025
Lite

15 ธันวาคม วันชาสากล วันรณรงค์ให้ตั้งราคาสินค้าใบชาอย่างเป็นธรรม กับเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก

‘วันชาสากล’ วันที่เกษตรกรผู้ปลูกชา ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการค้าชา และเป็นวันแห่งเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก!!

วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปีเป็น ถูกยกให้เป็น ‘วันชาสากล’ (International Tea Day) วันนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2548 จุดเริ่มต้นมาจากเกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ ในเบงกอลตะวันตก และหลายรัฐทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิและความชอบธรรมในการค้าชาของตน โดยในช่วงนั้น แม้ว่าชาจะเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ แต่อุตสาหกรรมค้าชาในประเทศอินเดียกลับมีความอ่อนแอและบริหารจัดการได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ 

กระทั่งองค์กรเพื่อการสื่อสารและการศึกษาของประเทศอินเดีย (CEC – Centre for Communication and Education) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสิทธิของเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยได้รับความร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติด้วยอีกทาง ในที่สุดจึงสามารถเข้ามาพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ค้าชากลุ่มย่อย ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรมในการค้าชาและทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น

ชาจึงได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมทั้งได้มีการจัดตั้งให้วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันชาสากล เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ของชาและตระหนักถึงความสำคัญของเหล่าเกษตรกรตัวเล็ก ๆ ผู้ปลูกพืชซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าชนิดนี้

16 ธันวาคม วันกีฬาแห่งชาติ น้อมระลึกถึงพระปรีชาสามารถ ในหลวง ร.9 ทรงร่วมแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นตัวแทนของนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าร่วม การแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ และทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองในการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ทางการกีฬาของประเทศไทย นอกเหนือจากกีฬาเรือใบแล้ว แบดมินตันก็เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดปรานมากเช่นกัน ในหอประชุมวังจิตรลดาฯ ได้ปรับแต่งเป็นสนามแบดมินตันมาตรฐาน ส่วนมากพระองค์จะทรงแบดมินตันในตอนเย็นและวันศุกร์ และเช้าวันอาทิตย์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางการกีฬานี้ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่า พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริงและทรงสนับสนุนกีฬาจนเป็นที่ปรากฏชัด

ดังนั้นในการประชุมใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลครั้งที่ 29 ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยมีนายฮวน อันโตนีโอ ซามาร้านซ์ ประธานคณะโอลิมปิกสากล เป็นประธานการประชุมพร้อมทั้งสมาชิกเข้าร่วมประชุมอีก 87 ประเทศ ได้มีมติเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิกสากล คือ 'อิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด' (ทอง) แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯถวายเหรียญโอลิมปิกชั้นสูง สมควรที่นักกีฬาและประชาชนชาวไทยควรที่จะเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท อันจะเป็นโอกาสให้สามารถนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติและวงศ์ตระกูล

เพื่อเป็นการระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นนักกีฬาตัวแทนของชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าความสำคัญของการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงได้มีมตินำเสนอคณะรัฐมนตรีลงความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2529 กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวัน 'วันกีฬาแห่งชาติ'

17 ธันวาคม 2498 วันสวรรคตของ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือพระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติจากสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2405 ณ พระบรมมหาราชวัง

ในพระเยาว์วัย ทรงศึกษาตามประเพณีราชสำนัก เรียนรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และมีความสนพระทัยในวรรณคดี นิทาน สุภาษิต รวมถึงหนังสือประวัติศาสตร์ ทรงฝึกฝนและเชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมไทย เช่น การทำดอกไม้ใบตองและการปักถักกรอง ทรงเผยแพร่ผลงานศิลปกรรมเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 10 พระองค์ ซึ่งประกอบด้วยพระราชโอรส 4 พระองค์ และพระราชธิดา 4 พระองค์ รวมทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ล่วงลับไปแล้ว ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์, สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระนามเดิม) ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคตในรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2498 ณ พระตำหนักใหญ่ วังงสระปทุม สิริพระชนมายุ 93 พรรษา ทรงเจริญพระชนม์ชีพในยุคที่ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากสังคมดั้งเดิมสู่สมัยใหม่ ในฐานะขัตติยราชนารี ทรงรักษาขนบประเพณีและทรงนำสิ่งดีงามจากอดีตมาผสมผสานกับสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมใหญ่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม พร้อมกับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกอีก 97 รายการ

18 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ‘ไทยคม 1’ ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร ปฏิวัติการสื่อสารไทยสู่ยุคใหม่

ดาวเทียมไทยคม (THAICOM) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย ได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรจากฐานปล่อยของบริษัท แอเรียนสเปซ (Arianespace) ที่เมืองคูรู (Kourou) ประเทศเฟรนช์ เกียนา (French Guiana) ในทวีปอเมริกาใต้

ดาวเทียมไทยคม ถูกสร้างโดยบริษัท ฮิวจ์ สเปซ แอร์คราฟท์ (Hughes Space Aircraft) จากสหรัฐอเมริกา เพื่อให้บริการสื่อสารผ่านช่องสัญญาณดาวเทียม รองรับการสื่อสารของประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถถ่ายทอดสัญญาณทั้งโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โทรศัพท์ และการสื่อสารข้อมูล โดยมีอายุการใช้งานประมาณ 15 ปี (จนถึง พ.ศ. 2551)

ชื่อ "ไทยคม" ได้รับการพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โดยย่อมาจากคำว่า "Thai Communications" ซึ่งแปลว่า การสื่อสารของไทย หรือ "ไทยคม" (นาคม) เดิมดาวเทียมดวงนี้ถูกตั้งอยู่ที่พิกัด 78.5 องศาตะวันออก และเรียกว่า "ไทยคม 1" ต่อมาเมื่อย้ายมาอยู่ที่ 120 องศาตะวันออกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540 จึงได้รับชื่อใหม่ว่า "ไทยคม 1A"

ดาวเทียมไทยคม 1 ถูกผลิตโดยบริษัท Hughes Space Aircraft และส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2536 โดยใช้จรวด Ariane 4 จากฐานปล่อยที่ศูนย์อวกาศกายอานา ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ปัจจุบันดาวเทียมไทยคม 1 ได้ปลดระวางแล้ว

19 ธันวาคม 2423 วันประสูติ "เสด็จเตี่ย" กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย

19 ธันวาคม 2423 เป็นวันประสูติของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ ทรงประสูติในพระบรมมหาราชวัง

พระกรณียกิจของพระองค์ในการพัฒนากองทัพเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าแบบประเทศตะวันตก ทำให้กองทัพเรือถวายพระสมัญญาพระองค์เป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย”

“...คนนับถือกรมหลวงชุมพรฯ เยอะ แต่คนไม่สนใจท่านในฐานะปุถุชน คนไม่สนใจว่าท่านเคยทำอะไรมา หรือทรงมีพระปรีชาอย่างไร คนสนใจท่านแต่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์...” คำบอกเล่าของ ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร ผู้มีศักดิ์หลานปู่ของพระองค์

เมื่ออายุ13 พระชันษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และเมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้ารับราชการในด้านทหารเรือ พระองค์ได้ปรับปรุงการศึกษาในโรงเรียนนายเรือ เช่น การแบ่งชั้นบังคับบัญชาภายในโรงเรียน การเพิ่มวิชาการเช่น ดาราศาสตร์และตรีโกณมิติ เพื่อให้นักเรียนนายเรือมีความรู้เทียบเท่านายทหารต่างชาติ

ในปี 2443 พระองค์ทรงเข้ารับราชการในกรมทหารเรือและได้เริ่มฝึกสัญญาณธงสองมือและโคมไฟ เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ พระองค์ได้ปรับปรุงระเบียบการศึกษาทหารเรือและขอพระราชทานที่ดินสร้างโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2449 ซึ่งทำให้กองทัพเรือมีฐานที่มั่นคง

ด้านดนตรี พระองค์ทรงพระนิพนธ์เพลงปลุกใจที่มีอายุยืนยาว เช่น เพลงดอกประดู่ เพลงเดินหน้า และเพลงดาบของชาติ ซึ่งทหารเรือร้องขับตลอดมาและกลายเป็นเพลงอมตะในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ด้านการแพทย์ พระองค์ทรงศึกษาและเขียนตำรายาแผนโบราณชื่อว่า “พระคัมภีร์อติสาระวรรคโบราณะกรรมและปัจจุบันนะกรรม” ซึ่งเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ทหารเรือสมุทรปราการ

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงออกจากราชการและไปประกอบอาชีพหมอยาใช้พระนามว่า “หมอพร” และต่อมาได้กลับมารับราชการอีกครั้ง เมื่อสงครามกับเยอรมนีเริ่มขึ้น พระองค์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนตำแหน่งเป็นนายพลเรือโท และนายพลเรือเอก จนได้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือและเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

ในบั้นปลายพระชนม์ พระองค์ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ และทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2466 ที่หาดทรายรี ปากน้ำเมืองชุมพร

ถึงแม้ว่าจะสิ้นพระชนม์มา 100 ปี แต่พระกรณียกิจที่ทรงทำให้กองทัพเรือและประเทศชาติยังคงเจริญก้าวหน้าและพระองค์ยังคงเป็นที่เคารพรักของทหารเรือ จึงถวายสมัญญาพระนามว่า “องค์บิดาของทหารเรือไทย” และถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันอาภากร”

'ไก่ภาษิต' รับคบหา 'หมอปิแอร์' เผยสตอรี่หวานกลางรายการ ครอบครัวทั้งสองฝ่ายรับรู้

(17 ธ.ค.67) ผู้ประกาศข่าวหนุ่มหน้าใส ไก่ ภาษิต อภิญญาวาท ได้โพสต์ภาพคู่กับ หมอปิแอร์ ผศ.นพ.สิระ กอไพศาล นายแพทย์รูปหล่อจากโรงพยาบาลชื่อดัง ในชุดคลุมแบบญี่ปุ่น เพื่ออวยพรวันเกิดให้กับหมอปิแอร์ โดยในโพสต์เขียนแคปชันว่า "แฮปปี้เบิร์ธเดย์คร้าบปิแอร์ แข็งแรง ร่ำรวย ร่าเริง ยิ้มง่าย หัวเราะเก่ง น่ารักเหมือนในรูปตลอดไปนะจ๊ะ5555 #รักมากเฟ่อ" ซึ่งทำให้คนใกล้ตัวเข้ามาคอมเมนต์แซวกันอย่างมากมาย

ล่าสุด ในช่วงไลฟ์ของรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ หลังไมค์ ตูน ปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ผู้ประกาศสาวคู่กับไก่ ภาษิต ได้ถามถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองคน โดยไก่ ภาษิต ยอมรับว่า ตนคบหากับหมอปิแอร์มานานถึง 9 ปีแล้ว และไม่ได้ปิดบังอะไร เพียงแต่ไม่ค่อยเผยแพร่เรื่องส่วนตัวออกสื่อ แต่คนรอบข้างทั้งสองฝ่ายทราบดีถึงความสัมพันธ์ของพวกเขา

"ก็เป็นเวลา 9 ปีแล้ว ระหว่างผมกับคุณหมอปิแอร์ เมื่อสัปดาห์ก่อนเป็นวันคล้ายวันเกิดของคุณหมอ เราก็ไปทานข้าวกับครอบครัว ครอบครัวทั้งสองฝ่ายก็รับทราบ" ไก่ภาษิต กล่าวในช่วงหนึ่งของไลฟ์

ทั้งนี้ ไก่ ภาษิต ยังเผยว่า ปกติไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องส่วนตัว ดังนั้นครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เขาเผยเรื่องราวส่วนตัวต่อสาธารณชน

20 ธันวาคม 2510 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ เปิด ม.ขอนแก่น มหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคอีสาน

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ และทรงปลูกต้นกาลพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

ในโอกาสนี้ พระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาทว่า "...การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรยินดี..."

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งแรก แม้แนวคิดในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยจะเริ่มขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเตรียมการจริงจังก็เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี พ.ศ. 2505 และเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2507 โดยมีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ที่บ้านสีฐาน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น 'มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ' หรือ 'Khon Kaen Institute of Technology' (K.I.T.) ภายใต้การดูแลของสภาการศึกษาแห่งชาติ

ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นคือรูปองค์พระธาตุเต็มองค์ประดิษฐานบนขอนไม้แก่น สลักชื่อมหาวิทยาลัย โดยมีเทวดาอัญเชิญมิ่งมงคลสองข้าง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นมงคล ส่วนพื้นหลังแบ่งเป็น 3 ช่อง เพื่อแสดงถึงคุณธรรม 3 ประการ ได้แก่ วิทยา (ความรู้ดี), จริยา (ความประพฤติดี), และปัญญา (ความฉลาดที่เกิดจากการเรียนรู้และคิด)

การเลือกพระธาตุพนมเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น เป็นการแสดงถึงการเคารพในพระธาตุพนม ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญของชาวไทยและลาว และมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางทางความคิดและสติปัญญาของสังคม รวมทั้งเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น 'มหาวิทยาลัยขอนแก่น' และในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 พระราชบัญญัติการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510

มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่ บริเวณมอดินแดง ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง โดยมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ให้บริการการศึกษาครบครันทุกสาขาวิชาและการดูแลทางการแพทย์ที่ทันสมัยในภาคอีสาน

21 ธันวาคม 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดทางรถไฟสายแรกในสยาม กรุงเทพฯ – นครราชสีมา

เส้นทางรถไฟสายแรกในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2434 ภายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ ไปยังนครราชสีมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองและทันสมัยในระดับเดียวกับชาติที่มีอารยธรรม พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างทางรถไฟเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ลดระยะเวลาในการเดินทาง และทำให้การตรวจราชการในหัวเมืองต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยพระราชดำริในตอนนั้นมีความว่า “…การสร้างทางรถไฟจะทำให้การเดินทางระหว่างหัวเมืองที่ไกลกันสะดวกยิ่งขึ้น ลดความยากลำบากในการขนส่งสินค้าและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสทำมาหากินมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการตรวจตราการบังคับบัญชาภาคราชการและบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข…” การก่อสร้างเส้นทางรถไฟนี้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2443 ระยะทางรวมจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาเป็น 265 กิโลเมตร

เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมาในปัจจุบันได้กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาที่มีการตราขึ้นเพื่อกำหนดรายละเอียดในการก่อสร้างรถไฟ โดยมาตรา 1 ระบุว่า “…ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานกระทรวงโยธาธิการสร้างรถไฟขนาดใหญ่จากกรุงเทพฯ ไปยังบางปะอิน, กรุงเก่า, เมืองสระบุรี และเมืองนครราชสีมา…”

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อย่างเป็นทางการ และพระองค์ได้ประทับบนรถไฟพระที่นั่งเพื่อไปเยี่ยมเยียนราษฎรและตรวจราชการที่นครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของมณฑลลาวกลาง ระหว่างวันที่ 21-25 ธันวาคม พ.ศ. 2443 จากบันทึกการเดินทางระบุว่า รถไฟพระที่นั่งออกเดินทางเวลา 07.25 น. และถึงนครราชสีมาเวลาประมาณ 16.00 น. ใช้เวลารวมการเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง โดยแวะพักที่เมืองกรุงเก่า, เมืองแก่งคอย, เมืองปากช่อง และเมืองสีคิ้วตามลำดับ ขณะที่ในปัจจุบัน รถไฟเร็วจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง หากไม่มีการหยุดพักระหว่างทาง เวลาการเดินทางก็จะใกล้เคียงกับรถไฟพระที่นั่งในสมัยก่อน

22 ธันวาคม 2431 เสียดินแดนครั้งที่ 8 สยามสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทให้ฝรั่งเศส

เมื่อ 22 ธันวาคม 2431 ประเทศสยามต้องทำสัญญากับฝรั่งเศสที่เมืองแถง (ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟูในประเทศเวียดนาม) ส่งผลให้สยามสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหกให้กับฝรั่งเศส โดยพื้นที่กว่า 87,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ที่ติดต่อกับแขวงพงศาลีของลาว

ดินแดนสิบสองจุไทเคยเป็นบ้านของชาวไทน้อย ซึ่งประกอบไปด้วยชาวไทดำ ไทขาว และไทพวน มีทั้งหมด 12 เมืองที่มีเจ้าผู้ปกครองเป็นของตัวเอง ส่วนหัวพันทั้งห้าทั้งหกประกอบด้วยหกเมืองที่มีการปกครองอิสระเช่นกัน ในยุคก่อนหน้านี้ ดินแดนเหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง และต่อมาเป็นประเทศราชของสยาม

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการกบฏของกลุ่มจีนฮ่อที่เข้ามายึดครองพื้นที่ทางภาคเหนือของสยาม และส่งผลให้ไทยต้องส่งกองทัพเข้าไปปราบปราม ซึ่งแม้จะได้รับชัยชนะ แต่ฝรั่งเศสซึ่งขยายอิทธิพลในเวียดนามได้อ้างสิทธิ์ในดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหก

การเจรจาระหว่างไทยและฝรั่งเศสที่เมืองแถงในปี 2431 ทำให้ไทยต้องยอมรับให้ฝรั่งเศสควบคุมดินแดนสิบสองจุไท โดยฝรั่งเศสยังคงตั้งทหารอยู่ในพื้นที่สิบสองจุไท ขณะที่ทหารไทยอยู่ที่หัวพันทั้งห้าทั้งหก และไม่ให้ฝ่ายใดละเมิดเขตแดนของกันและกัน  แม้ต่างฝ่ายต่างยืนยันสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหก และต้องการให้อีกฝ่ายถอนกำลังทหารออกไป แต่ฝรั่งเศสมีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่าไทย และดินแดนพิพาทยังอยู่ใกล้กับญวนมากกว่าไทย หากเกิดสงครามขึ้นจริงก็ยากที่ไทยจะเป็นฝ่ายชนะ

จากการทำสัญญาดังกล่าว สยามจึงสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหกให้กับฝรั่งเศส และในที่สุดก็เสียสิทธิเหนือดินแดนเหล่านี้อย่างสมบูรณ์ในอีก 5 ปีต่อมา ในเหตุการณ์วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112

‘สุทธิชัย หยุ่น’ บิ๊กเซอร์ไพรส์รับบทพระสงฆ์ ร่วมเล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

(19 ธ.ค. 67) จากกรณีปรากฏภาพของชายรายหนึ่งในลุคของพระสงฆ์จากซีรีส์เรื่อง The White Lotus ซีซัน 3 ทำให้มีชาวเน็ตสงสัยเป็นอย่างมากว่าใช่ สุทธิชัย หยุ่น นักข่าวอาวุโสหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพจ “Suthichai Live” ออกมาเฉลยว่าตกลงใช่ตนเองหรือไม่ โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า

“หลายคนอาจจะงงๆ สับสน 🫢
เอ๊ะ ใช่ไหม หรือไม่ใช่ 🙂‍↔️🙂‍↕️
เสียงเหมือนมากกกกก เสียงคุ้นมากก
ได้ยินเสียงทุกเช้าเลย แต่จะใช่จริงๆ เหรอ? จะเล่นจริงๆ เหรอ?
แอดมินไขข้อข้องใจให้แล้วค่ะ 🤫🤫🤫

ฝากนักแสดงหนุ่มหน้าใหม่มากกกกก
เดบิวต์เรื่องแรกในวัย 78 ดาราน้องใหม่ของวงการ ประสบการณ์ในวงการ (ข่าว) กว่า 50 ปี ไว้สักคน (รูป) ด้วยนะคะ เดบิวต์มาใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ
ฝีมือการแสดงยังไม่ทราบ 555555 🤣🤣🤣

พระรูปนี้จะ live หรือ Breaking News ในวัดไหม ต้องติดตามค่ะ

รับบทเป็นพระเอก ❌
รับบทเป็นพระสงฆ์ ✅✅✅✅

ปล.ใบ้ว่ามีเซอร์ไพรส์ให้ตกใจมากกว่านี้อีก 1 กรุบ รอลุ้นกันนะคะ”

สำหรับซีรีส์ยอดฮิต The White Lotus ซึ่งครั้งนี้เดินทางมาถ่ายทำที่ประเทศไทย โดยมีดาราชาวไทยชื่อดังอย่าง ลลิษา ‘ลิซ่า’ มโนบาล ร่วมแสดงด้วย ตัวอย่างเผยให้เห็นบรรยากาศตระการตาของเกาะสมุย

ซีรีส์มีกำหนดฉายวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2025 บนแพลตฟอร์ม Max และคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะเกาะสมุย ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำหลัก

นอกจากนี้ ยังมีนักแสดงชั้นนำชาวไทยมากมายที่จะมาร่วมสร้างความเข้มข้นให้กับซีรีส์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน รวมถึงนักแสดงหนุ่ม ดอม เหตระกูล, เมธี ทับทิมทอง  

แถมคลิปตัวอย่างซีรีส์เรื่อง The White Lotus ซีซัน 3 ยังสร้างความฮือฮา เพราะมีการใช้เพลง เมดอินไทยแลนด์ ของคาราบาว ประกอบตัวอย่างซีรีส์อีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top