Saturday, 22 March 2025
Lite

ซีรีส์แนววัยรุ่น สุดปัง!! ทางช่อง ‘Thai PBS’ ทุกวัน ‘ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์’ เวลา 20.30 น. ฉากบู๊สุดมันส์!! สาวหวาน ‘มิวสิค BNK 48’ โดนฟันเป็นครั้งแรก เจ็บจริง แต่สู้ไม่ถอย

(8 ก.พ. 68) ‘ฝันของฉัน คือฟันดาบ’ ซีรีส์แนววัยรุ่น เรื่องใหม่ล่าสุดที่ฉายออกอากาศทางช่อง ‘Thai PBS’ โดยซีรีส์เรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องราวความฝันในกีฬาฟันดาบ ของวัยรุ่นที่สนุกน่าติดตาม

ซีรีส์เรื่อง ‘ฝันของฉัน คือฟันดาบ’ บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ซัน’ นักกีฬาฟันดาบสากลที่มีความสามารถ มีสไตล์โดดเด่น แต่เขานั้นต้องเจอกับปัญหามากมายรอบตัว ทำให้เขามักจะพะวงอยู่เสมอ และต่อมาโชคชะตาก็ทำให้เขาได้เจอกับ ‘เวฬา’ สาวในชมรมฟันดาบสากลของมหาวิทยาลัย โดยเวฬาเองเธอก็มีรุ่นพี่ที่สนิมคือ ‘ทาม’ นักกีฬาฟันดาบที่กำลังลุ้นติดทีมชาติ ซึ่งการเจอหน้ากันของครั้งแรกของทั้งสองก็ไม่สวย แถมยังมีเรื่องกัน ทั้งยังโดนดูถูก เรื่องราวจะสนุกและชวนลุ้นแค่ไหนก็ต้องไปติดตามกัน

ในเรื่องนี้ ก็ได้รวบรวม ดารานักแสดงวัยรุ่นไว้มากมาย อาทิ

พีค ภีมพล แสดงเป็น 'ชัน' เขานั้นเป็นนักเก่งกีฬาฟันดาบที่ถนัดทั้งไทยและสากล เป็นคนที่ใจร้อน ชอบกังวล ค่อสข้าวมองโลกลบ แต่หากตั้งใจแล้วจะทำได้เสมอ

มิวสิค แพรวา แสดงเป็น 'เวฬา' เธอเป็นลูกสาวร้านขายนาฬิกา เป็นสาวแก่นมีเสน่ห์ มองโลกในแง่ดี เห่ฝและชอบกีฬาฟันดาบไทย เธอเป็นคนที่ซันตกหลุมรัก

มอส ภาณุวัฒน์ แสดงเป็น 'ทาม' เขาเป็นนักกีฬาดาบเซเบอร์มือ 1 ของมหาวิทยาลัย เก่ง ขยัน มุ่งมั่น และเขาเองอยากเป็นนักกีฬาฟันดาบทีมชาติ

ครีมมี่ พลอยปภัส แสดงเป็น 'ทราย' สาวสวยที่เธอเป็นนักกีฬาดาบเซเบอร์ ดูเข้าถึงยาก แต่จิตใจดี และชอบช่วยเหลือคนอื่น

แน่นอนว่า ฉากเด็ดในเรื่องนี้ ก็ต้องอยู่ที่ การโชว์ลีลาฟันดาบ ซึ่งขอบอกเลยว่า นักแสดงวัยรุ่นในเรื่องนี้ ‘เล่นถึงมาก’ มีความสมจริงทั้งแอ๊คติ้ง ทั้งมุมกล้อง อย่างในฉากที่ต้องลงสนามแข่งขัน บอกเลยว่าลุ้นตามสุดๆ 

ไม่เพียงเท่านั้นในซีรีส์ยังมี รายละเอียดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ มู้ดโทนของเรื่องราว การพรีเซ้นท์เล่าเรื่องที่มีความเป็นมา ผูกปมไวดูเพลิน แถมคอสตูมของนักแสดงแต่ละคนยังเข้ากับลุคและคาแรคเตอร์อีกด้วย

เรียกได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ ‘ฝันของฉัน คือฟันดาบ’ สนุกน่าติดตามสุดๆ

ไม่ดู ไม่ได้แล้ว!!

11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ‘เนลสัน แมนเดลา’ อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ หลังถูกจำคุกนาน 27 ปี

‘เนลสัน แมนเดลา’ (Nelson Mandela) อดีตประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ ที่ได้รับการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย 

เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักต่อต้านนโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกัน ที่เริ่มจากเคลื่อนไหวโดยใช้สันติวิธีตามแนวทางของมหาตมะ คานธี แต่ต่อมาเขาเป็นผู้นำกลุ่มติดอาวุธของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress หรือ ANC) กระทั่งถูกจับ และถูกตั้งข้อหากบฏ ทำให้เขาต้องติดคุกเป็นเวลา 27 ปี ที่เกาะร็อบเบ็น (Robben Island) การถูกคุมขังนี้ได้กลายมาเป็นกรณีตัวอย่างของความอยุติธรรมของนโยบายแยกคนต่างผิวที่ถูกกล่าวถึงไปทั่ว ขณะเดียวกันชื่อเสียงของเขาก็เพิ่มพูนมากขึ้นและกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะ ผู้นำชนผิวดำคนสำคัญที่สุดในแอฟริกาใต้

‘แมนเดลา’ ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) ซึ่งเหตุการณ์นั้นมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ในวันที่ได้รับการปล่อยตัว ‘แมนเดลา’ ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ เขาประกาศเจตนารมณ์ในการแสวงหาสันติภาพและการประนีประนอมกับชนผิวขาวกลุ่มน้อยในประเทศ แต่ก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่ากองกำลังติดอาวุธของเอเอ็นซีจะยังคงอยู่ เขายังกล่าวอีกว่าเป้าหมายหลักของเขา คือ การนำสันติภาพมาสู่ชนผิวดำพื้นเมืองซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และให้สิทธิ์แก่คนเหล่านี้ในการออกเสียงทั้งในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

การเลือกตั้งแบบหลากชนชาติครั้งแรกในแอฟริกาใต้โดยที่พลเมืองทุกคนมีสิทธิเสียงเท่ากัน เกิดขึ้นในวันที่27เมษายน พ.ศ. 2537 ซึ่งพรรคเอเอ็นซีชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 62% และ ‘แมนเดลา’ ในฐานะผู้นำพรรคเอเอ็นซี ได้เข้าพิธีรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 โดยเขาเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศและเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2537 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 เขาได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการเหยียดสีผิวหรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ และได้รับการยกย่องจากนานาชาติสำหรับการอุทิศตนเพื่อการประสานไมตรีทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ

‘แมนเดลา’ ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากกว่า 250 รางวัลตลอดช่วงเวลา 4 ทศวรรษ โดยรางวัลที่สำคัญที่สุดคือ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี พ.ศ. 2536

12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 วันมาฆบูชา หนึ่งในวันสำคัญของชาวพุทธ ที่เกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการ หรือ จาตุรงคสันนิบาต

วันมาฆบูชา ย่อมาจาก “มาฆปูรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 3) ซึ่งวันมาฆบูชาปี 2568 ตรงกับวันที่ 12 ก.พ.

วันมาฆบูชา เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

เดิมนั้นไม่มีพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น การประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือ มีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ และมีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น ในช่วงแรก พิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป ต่อมา ความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร

ปัจจุบัน วันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์และประชาชนประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล

13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 ไทยเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้ ฝรั่งเศส แลกกับเมืองจันทบุรี ที่ถูกยึดไว้ตั้งแต่เหตุการณ์ ร.ศ. 112

วันนี้ เมื่อ 122 ปีก่อน ไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง ตรงข้ามเมืองจำปาศักดิ์ และเมืองมโนไพรฝั่งให้ฝรั่งเศส แลกกับเมืองจันทบุรี ที่ฝรั่งเศสยึดไว้ตั้งแต่เหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2437)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-2453) การแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตกรุนแรง และแข็งกล้า ยิ่งกว่าสมัยใด ๆ..... มหาอำนาจตะวันตกที่คอยคุกคามไทยทางด้านตะวันออกคือ.....ฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสได้ขยายอำนาจมาทางตะวันออกของแหลมอินโดจีน จนครอบครองญวนทั้งประเทศ รวมทั้งเขมรส่วนนอก ทั้งหมดด้วย แต่ความต้องการของฝรั่งเศสไม่ได้หยุดนิ่งแค่นั้น ยังมีความต้องการที่จะครอบครองดินแดนที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นมีดินแดนบางส่วนที่อยู่ภายใต้ครอบครองของไทย การขยายตัวของฝรั่งเศส จึงสร้างปัญหาให้กับประเทศไทยเรื่อยมา.......โดยเฉพาะ.. ความพยายามที่จะ แทรกแซงในดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ โขง ในระยะแรกฝรั่งเศสได้แทรกแซงโดยวิธีการทูต แต่เมื่อเห็นว่าไม่ประสบผลสำเร็จจึงใช้นโยบายเรือปืนข่มขู่ไทย บริเวณปากแม่น้ำ ในที่สุดก็นำไปสู่วิกฤตกาลที่เรียกว่า "วิกฤตกาล ร.ศ. 112" เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 ผลของการรบปรากฏว่าฝ่ายไทยยอมจำนน และทำสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2436

ตามสัญญาและอนุสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2436 นี้นอกจากจะทำให้ไทยจะต้องเสียดินแดนริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเสียค่าปรับเป็นจำนวนมากแล้ว ฝรั่งเศสยังยึดจันทบุรีไว้เป็นหลักค้ำประกัน ตามสัญญาข้อ 6 ซึ่งระบุไว้ว่า "ฝรั่งเศสจะยึดจันทบุรีไว้จนกว่าไทยจะปฏิบัติตาม สัญญา ดังกล่าวครบถ้วน และจนกว่าจะเกิดความสงบเรียบร้อยทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในระยะ 25 กิโลเมตร"

การยึดครองจันทบุรีของกองทหารฝรั่งเศสนั้นไม่ได้ยึดทั้งเมือง แต่จะยึดเฉพาะบริเวณอันเป็นที่ตั้งของกองทหารคือค่ายทหารในเมืองจันทบุรี กับค่ายทหารที่ปากน้ำแหลมสิงห์ โดยได้เข้ายึดตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2436 เป็นต้นมา จนกระทั่งได้ถอนออกไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2447 ภายหลังจากการได้ลงนามในอนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2446 .........ผลของสนธิสัญญาฉบับนี้..............ฝรั่งเศสจะยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี แต่จะไปยึดตราดและด้านซ้ายแทนตามพิธีสารฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2447

ฝรั่งเศส...ได้เข้าปกครองจังหวัดตราดตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2447 แต่เป็นการปกครองดินแดนแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น ปรากฏว่าฝรั่งเศสปกครองเมืองตราดมาถึง วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2450 จึงถอนทหารออกไป ทั้งนี้ หลังจากที่ไทยทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ (ลงวันที่ 23 มีนาคม 2450) ได้มีการตกลงในหลักการสำคัญคือ แลกเปลี่ยนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ กับด่านซ้าย และตราดรวมทั้งหมู่เกาะที่อยู่ภายใต้แหลมลิง (ในตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบในปัจจุบัน) ลงไทย อย่างไรก็ดีไทยไม่ได้รับมอบดินแดนคืนทั้งหมด เพราะเมืองประจันตคีรีเขตร (เกาะกง)ไม่ได้รับกล่าวถึงในสนธิสัญญา รวมเวลาที่เมืองตราดอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ประมาณ 3 ปี....

‘ดอกบัวสีทอง’ ในมือ ‘ลิซ่า’ ผลงานคนไทย จากแบรนด์ SARRAN จำลอง!! แสงแรกที่สะท้อนสู่ผิวน้ำ ด้วยแสงอาทิตย์ สีเหลืองทอง

(12 ก.พ. 68) ผ่านไปแล้วสำหรับการเปิดตัวนักแสดง   The White Lotus Season 3  ณ Los Angeles สหรัฐอเมริกา โดยงานนี้นอกจากนักแสดงฮอลลีวู้ดแล้ว ยังมีนักแสดงไทยชื่อดังหลายคน รวมถึง  ‘ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล’

ภายในงาน ลิซ่า ได้ปรากฏตัวในชุดเดรสสีเหลืองปักมุกสุดหรูจากแบรนด์เกาหลี MISS SOHEE พร้อมกับ ‘ดอกบัวสีทอง’ ในมือ ผลงานคนไทยจากแบรนด์ SARRAN  ซึ่งสั่งทำพิเศษสำหรับ ลิซ่า

โดย เพจ  sarranofficial  ได้เผยภาพพร้อมความหมายว่า ‘Light of Lotus แนวคิดของการออกแบบในครั้งนี้คือการจำลองแสงแรกที่สะท้อนสู่ผิวน้ำและดอกบัวสีขาวยามเช้า ด้วยแสงอาทิตย์สีเหลืองทอง แล้วดอกบัวที่กำลังเบ่งบาน บอกเล่าสู่การเดินทางและการเริ่มต้นในทุกเช้าวันใหม่’

16 กุมภาพันธ์ 2175 วันพระราชสมภพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ขับเคลื่อนอยุธยาสู่ยุครุ่งเรือง

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2199 ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา

ในรัชสมัยของพระองค์ กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ พระองค์โปรดให้ปรับปรุงกรมพระคลังสินค้าและสร้างเรือกำปั่นหลวงเพื่อค้าขายกับต่างชาติ ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญแห่งเอเชีย

นอกจากนี้ พระองค์ยังมีบทบาทโดดเด่นด้านการต่างประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2224 ทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส แม้คณะแรกจะสูญหาย แต่พระองค์ส่งทูตอีกครั้งในปี พ.ศ. 2226 ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทูตระหว่างอยุธยาและฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ทูลเชิญให้ทรงเข้ารีต พระองค์ทรงปฏิเสธอย่างชาญฉลาด พร้อมยืนยันเสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชน

ด้านศิลปวัฒนธรรม สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งเสริมวรรณคดี ทำให้ยุคของพระองค์เป็น 
'ยุคทองแห่งวรรณคดีอยุธยา' ทรงมีพระราชนิพนธ์โคลงและคำฉันท์หลายเรื่อง เช่น ทศรถสอนพระราม, พาลีสอนน้อง, และ สมุทรโฆษคำฉันท์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงปรีชาสามารถและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงวางรากฐานให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การทูต และวัฒนธรรม จนได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทย

14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419 อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ยื่นจดสิทธิบัตรโทรศัพท์อย่างเป็นทางการ

14 กุมภาพันธ์ คือวันที่มีการจดสิทธิบัตรโทรศัพท์อย่างเป็นทางการ และเป็นวันแห่งความขัดแย้งระหว่าง 2 นักประดิษฐ์ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ และ เอลิชา เกรย์ เพราะพวกเขาต่างก็ประดิษฐ์โทรศัพท์ด้วยกันทั้งคู่ แถมมาจดทะเบียนในวันเดียวกัน

สำหรับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ คือวันที่คนส่วนใหญ่ต่างรู้ว่าเป็นวันแห่งความรัก แต่ยังเป็นวันที่สำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์อีกด้วย นั่นคือวันที่ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาจนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในอดีต อินโนเซนโซ มันเซตติ นักประดิษฐ์ชาวอิตาเลียน คือบุคคลแรกที่มีแนวคิดเรื่องการสื่อสารในรูปแบบของเสียง แต่มันก็เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น แต่ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ และ เอลิชา เกรย์ คือผู้ที่สามารถทำให้แนวคิดนี้กลายเป็นความจริง พวกเขาสามารถประดิษฐ์เครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ได้เป็นผลสำเร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน และได้จดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการในวันเดียวกันคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) แต่บิดาแห่งโทรศัพท์ที่โลกรู้จักกลับมีแต่เพียงเบลล์คนเดียวเท่านั้น 

สำหรับนักประดิษฐ์ทั้ง 2 ท่าน คือ เอลิชา เกรย์ เป็นชาวอเมริกัน เกิดในปี ค.ศ. 1835 (พ.ศ. 2378) เป็นวิศวกรมากความสามารถที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีหลายอย่าง ส่วน อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ นั้นเป็นชาวสกอตแลนด์ เขาเกิดในปี ค.ศ. 1847 (พ.ศ. 2390) สมาชิกในครอบครัวของเบลล์หลายคนเป็นผู้พิการทางหู เขาศึกษาเกี่ยวกับผู้ที่มีปัญหาด้านการได้ยินจนเชี่ยวชาญ สามารถใช้ภาษามือในการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว และมีความสามารถในการแยกแยะเสียงต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด

ในช่วงทศวรรษที่ 70 เกรย์ทำงานเป็นวิศวกรอยู่ในรัฐอิลลินอยส์ เขาได้ใช้เวลาทั้งหมดทุ่มไปกับการประดิษฐ์ "โทรเลขพูดได้" หรือโทรศัพท์ ซึ่งสามารถส่งข้อความในรูปแบบของเสียงได้ครั้งละหลาย ๆ ข้อความ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เบลล์ประกอบอาชีพเป็นครูสอนคนหูหนวกอยู่ที่เมืองบอสตัน สหรัฐฯ ก็ใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการสอนหนังสือมาประดิษฐ์เครื่องมือสื่อสารที่มีจุดประสงค์ไม่ต่างจากเกรย์ เพียงแต่เกรย์ประสบผลสำเร็จก่อน โดยเขาได้นำผลงานไปสาธิตโชว์ที่โบสถ์ไฮแลนด์ ปาร์ค ในปี ค.ศ. 1874 (พ.ศ. 2417) ในขณะที่เบลล์ประดิษฐ์ได้เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) ซึ่งช้ากว่าเกรย์ไป 2 ปี

แต่ปัญหามาเกิดขึ้นเพราะเรื่องลิขสิทธิ์ โดยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) ทนายของเกรย์เดินทางไปยื่นคำร้องขอจดสิทธิบัตรแสดงความเป็นเจ้าของเครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ที่สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ โดยเขาเขียนในใบคำร้องว่าขอแจ้งจดสิทธิบัตร แต่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดโดยแจ้งว่าเกรย์จะตามมาระบุด้วยตนเองในภายหลัง ในวันเดียวกันนั้นทนายของเบลล์ก็ได้ยื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรเช่นกัน

ด้วยความที่ในสมัยนั้นการตรวจสอบทางกฎหมายยังไม่เข้มข้นเหมือนในปัจจุบันที่ว่าใครจะจดลิขสิทธิ์อะไรก็ต้องตรวจสอบให้แน่ชัด และเนื่องจากทั้งคู่มาจดทะเบียนสิทธิบัตรในวันเดียวกันแถมยังสิ่งประดิษฐ์แบบเดียวกันอีกด้วย จึงเกิดเป็นปัญหาฟ้องร้องกันขึ้น แต่สุดท้ายเบลล์ชนะคดีและได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โทรศัพท์ เพราะในใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมระบุไว้ว่าเบลล์มาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมก่อน และในลำดับการยื่นคำร้องนั้น เบลล์อยู่ลำดับที่ 5 ส่วนเกรย์อยู่ลำดับที่ 39 ซึ่งแปลว่าเบลล์มายื่นเรื่องก่อน เมื่อเบลล์ชนะคดีในครั้งนั้นเขาได้ตั้งบริษัท อเมริกัน เบลล์ เทเลโฟน (American Bell Telephone) ขึ้นมาและเริ่มประดิษฐ์โทรศัพท์อย่างจริงจัง ส่วนเกรย์นั้นได้ตั้งบริษัท เวสเทิร์น ยูเนียน เทเลกราฟ (Western Union Telegraph) และได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโทรเลขต่อไป

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โศกนาฏกรรม แก๊ประเบิด จ.พังงา คร่าชีวิตไทยมุงกว่า 200 ศพ

วันนี้ เมื่อ 34 ปีก่อน เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของคนไทย และเป็นอุทาหรณ์สำหรับ 'ไทยมุง' เมื่อรถสิบล้อกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ซึ่งบรรทุกแก๊ปไฟฟ้าไว้ในลังไม้ น้ำหนักรวมกว่า 20 ตัน มีรถตำรวจทางหลวงนำหน้า ออกเดินทางจาก จ.ภูเก็ต มุ่งหน้าไป จ.สระบุรี เพื่อนำแก๊ปไฟฟ้าไปใช้ระเบิดหิน เกิดเหตุเสียหลักพลิกคว่ำ ทำให้แก๊ปไฟฟ้าตกกระจายเกลื่อนเต็มถนนและสองข้างทาง

โดยเหตุเกิดที่บริเวณทางโค้ง สามแยกตลาดทุ่งมะพร้าว หน้าสถานีอนามัยทุ่งมะพร้าว กม.ที่ 41-42 ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ในช่วงเวลาประมาณ 17.30 น.

ชาวบ้านและผู้เห็นเหตุการณ์ได้กรูกันเข้ามาเก็บแก๊ปไฟฟ้า โดยไม่ฟังคำห้ามปรามของตำรวจว่าอาจเกิดระเบิด ทั้งยังมีรถที่สัญจรไปมา ซึ่งต้องจอดติดรอให้ยกรถที่พลิกคว่ำขวางถนนออก มีรถ บขส.กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ผู้โดยสารเต็มคันรถ รถสองแถว 4-5 คัน และจักรยานยนต์อีกประมาณ 50 คัน ทำให้เหตุการณ์ยิ่งชุลมุน

เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง มีไทยมุงจำนวนหนึ่งนำเหล็กมางัดตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุแก๊ปไฟฟ้า ทันใดนั้นก็เกิดเสียงระเบิดตูมสนั่นหวั่นไหว รัศมีระเบิดแผ่กว้างถึง 1 กม. อาคารโดยรอบเจอแรงระเบิดพังยับเยิน ทั้งโรงเรียนทุ่งมะพร้าว บ้านเรือน สถานีอนามัย ศาลาอเนกประสงค์ แรงระเบิดทำให้ถนนเป็นหลุมยักษ์ลึกถึง 4 เมตร ถนนถูกตัดขาด รถสัญจรไม่ได้

แรงระเบิดทำให้ไทยมุงเสียชีวิตทันที 60 ศพ สภาพศพแหลกเหลว รถ บขส. ที่จอดติดอยู่พังยับ ผู้โดยสารเสียชีวิตคารถจำนวนมาก รวมทั้งผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุรวมจำนวนกว่า 100 ศพ นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมาอีกจำนวนหนึ่ง 

ตำรวจ สภ.ท้ายเหมือง พร้อมรถบรรเทาสาธารณภัยของมูลนิธิต่าง ๆ รวมทั้งตำรวจตระเวนชายแดน จ.นครศรีธรรมราช มาช่วยกู้ซากรถ เนื่องจากเกรงจะเกิดระเบิดขึ้นมาอีก ขณะที่กำลังอีกส่วนหนึ่งพยายามเข้าควบคุมเพลิงที่ลุกไหม้อาคารรอบที่เกิดเหตุ

จากการสอบสวนเบื้องต้นคาดว่า สาเหตุของการระเบิดมาจากแรงเสียดสีที่ไทยมุงกลุ่มที่ไปงัดตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากท่อแก๊ปไฟฟ้ามีคุณสมบัติจุดระเบิดได้ง่าย เพียงแต่มีแรงกระทบหรือประกายไฟจากบุหรี่หรือการอัดกระแทก ก็เกิดระเบิดขึ้นมาได้ หรืออาจจะมีไทยมุงเก็บแก๊ปไปสูบบุหรี่ไป ทำให้กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งมโหฬารของไทย ที่ในที่สุดแล้วมีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมกว่า 200 ศพ

17 กุมภาพันธ์ 2438 วันประสูติ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ผู้บุกเบิกเผยแผ่พระพุทธศาสนาและนักเขียนผู้ทรงคุณค่าของไทย

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ประสูติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ที่วังสามยอด เชิงสะพานดำรงสถิตย์ เป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเฉื่อย ดิศกุล (สกุลเดิม ยมาภัย) ทรงศึกษาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสกับครูสตรีชาวต่างชาติ รวมถึงทรงศึกษาความรู้จากพระบิดา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

หม่อมเจ้าพูนพิศมัยทรงมีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและพระพุทธศาสนา ทรงนิพนธ์ผลงานหลายเรื่อง เช่น 'ศาสนคุณ' ซึ่งได้รับรางวัลชั้นที่ 1 ในการประกวดพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ. 2472 ผลงานอื่น ๆ เช่น "ชีวิตและงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" และ 'ประเพณีไทย' รวมถึงสารคดีหลายเรื่อง ทรงมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศและต่างประเทศ

หนึ่งในผลงานที่สำคัญของหม่อมเจ้าพูนพิศมัยคือการร่วมก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) และดำรงตำแหน่งประธานตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จนถึง พ.ศ. 2527 นอกจากนี้ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปรัชญาจากมหาวิทยาลัยดงกุก ประเทศเกาหลี ในปี พ.ศ. 2510 และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2522

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สิริอายุ 95 ปี

18 กุมภาพันธ์ 2543 ยืนยันพบเหตุหายนะโคบอลต์-60 หลังซาเล้งเก็บไปขายร้านรับซื้อของเก่า

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปัจจุบันคือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ) ได้รับรายงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุรังสีโคบอลต์-60 ที่เกิดขึ้นเมื่อเครื่องฉายรังสีเก่าของโรงพยาบาลรามาธิบดีถูกนำไปทิ้งโดยไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 รายและผู้ป่วยอีกหลายคนจากการสัมผัสรังสีอันตรายนี้

ย้อนกลับไปในช่วงปลายเดือนมกราคม 2543 เมื่อเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ที่หมดอายุของโรงพยาบาลรามาธิบดีถูกทิ้งไว้ที่โกดังของบริษัท กมลสุโกศล อิเล็คทริค จำกัด ก่อนจะถูกนำไปเก็บที่ลานจอดรถเก่าของบริษัทในซอยอ่อนนุช กรุงเทพฯ โดยไม่มีการจัดเก็บอย่างปลอดภัย กระทั่งวันที่ 24 มกราคม 2543 เมื่อชาย 4 คนลักลอบขนย้ายเครื่องฉายรังสีไปขายต่อให้กับร้านรับซื้อของเก่า โดยร้านดังกล่าวคือของ จิตรเสน จันทร์สาขา หรือที่เรียกกันว่า “ซาเล้งเก็บของเก่า”

จิตรเสนได้ซื้อเครื่องฉายรังสีและเศษเหล็กจากผู้ขายในราคา 8,000 บาท ก่อนที่จะรู้สึกถึงอันตรายเมื่อมือเริ่มแสบคันและพบอาการป่วยที่เกิดขึ้นในภายหลัง ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เขาได้นำเครื่องฉายรังสีไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่าในสมุทรปราการ ซึ่งได้ถูกแยกชิ้นส่วนจนพบว่ามีแท่งโลหะที่แผ่รังสีโคบอลต์-60 อยู่

เมื่อผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องฉายรังสีสัมผัสกับรังสีเริ่มแสดงอาการป่วย เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มือบวมพอง และอาการแผลเน่า ทางแพทย์จึงเริ่มสรุปว่าอาจเกิดจากการสัมผัสกับรังสีอันตราย และได้แจ้งเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้ทำการตรวจสอบ

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติและเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและพบจุดต้นกำเนิดรังสีในเวลา 4.00 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ซึ่งได้ทำการเก็บรักษาแท่งโลหะที่ปล่อยรังสีโคบอลต์-60 ไปยังที่ปลอดภัยภายใต้การกำบังรังสี

ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากรังสีจำนวนมากถึง 948 คนที่ต้องเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งมีหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องตัดสินใจทำแท้งเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะมีต่อทารกในครรภ์

เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดจากการสัมผัสกับรังสีโคบอลต์-60 ซึ่งรายแรกคือ นิพนธ์ ลูกจ้างที่ตัดแยกเครื่องฉายรังสี และต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม สุดใจ ลูกจ้างอีกคน และวันที่ 24 มีนาคม สามีของเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าก็เสียชีวิตตามมา ขณะที่จิตรเสน แม้จะรอดชีวิต แต่ก็ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลและมีอาการสาหัสจนต้องตัดนิ้วมือทิ้ง

เหตุการณ์นี้ถือเป็นอุบัติเหตุทางรังสีครั้งแรกในประเทศไทย และยังคงเป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการจัดการสารกัมมันตรังสีในประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top