Wednesday, 19 March 2025
Lite

‘ลิซ่า’ ยกทีมนักแสดง White Lotus ร่วมโปรโมทที่ประเทศไทย สุดภูมิใจ!! แต่งผ้าไหมสีชมพูกลีบบัวรับ ‘วาเลนไทน์’

(15 ก.พ. 68) หลังจากที่ ลิซ่า ได้เดบิวต์เต็มตัวในฐานะนักแสดงประเดิมซีรีส์สุดโด่งดัง The White Lotus ซีซัน3 ที่ถ่ายทำกันที่เกาะสมุย ประเทศไทย

ล่าสุดก็ได้ฤกษ์ดีวันวาเลนไทน์จัดงานโปรโมทสุดยิ่งใหญ่ที่แดนสยาม โดยมีนักแสดงนำมาร่วมงานคับคั่งทั้ง ไมค์ ไวท์ ผู้เขียนบท แพทริก ชวาสเนกเกอร์, เจสัน ไอแซค, นาตาชา รอธเวลล์, เทม ทับทิมทอง, ดอม เหตระกูล, ภัทราวดี มีชูธน ฯลฯ

นอกจากนั้นบังมีบรรดาเซเลบของไทยเข้าร่วมงานอีกมากมายทั้ง แอน ทองประสม, อนันดา เอเวอร์ริงแฮม,ไบรท์ วชิรวิทย์, แต้ว ณฐพร, อร สมฤทัย, กวาง เดอะเฟซ, โยชิ รินรดา ฯลฯ

ลิซ่า ปรากฏตัวในชุดที่สั่งทำขึ้นพิเศษโดยเฉพาะจากแบรนด์ Louis Vuitton เป็นผ้าไหมสีชมพูกลีบบัว โดยมีกิมมิคเป็นข้อมือพวงมาลัยสีชมพูและที่ติดผมเป็นรูปดอกบัวเล็ก ๆสีชมพู ต่างหูทับทิมจาก Bvlgari

เรียกได้ว่าโดดเด่นทุกครั้งที่เดินพรมแดงเพราะใส่ใจทุกรายละเอียด

นอกจากนั้นยังมีคนตาดีเห็น เฟเดอริก อาร์โนลต์ มาร่วมให้กำลังใจ ลิซ่า ด้วย

19 กุมภาพันธ์ 2453 สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดเปิดใช้งานครั้งแรก ลิเวอร์พูลเฉือนชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 4-3

โอลด์แทรฟฟอร์ด (Old Trafford) คือสนามฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในเขตโอลด์แทรฟฟอร์ด (Greater Manchester) ประเทศอังกฤษ และเป็นสนามเหย้าของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในพรีเมียร์ลีก โดยมีความจุ 74,310 ที่นั่ง เป็นสนามที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสโมสรฟุตบอลในสหราชอาณาจักร และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของอังกฤษ รองจากสนามเวมบลีย์ และเป็นอันดับที่ 12 ของยุโรป โอลด์แทรฟฟอร์ดตั้งอยู่ห่างจากโอลด์แทรฟฟอร์ดคริกเกตกราวนด์ประมาณ 800 เมตร (0.5 ไมล์)

สนามแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า 'The Theatre of Dreams' (โรงละครแห่งความฝัน) โดยบ็อบบี ชาร์ตัน ตำนานนักฟุตบอลของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ตั้งแต่ปี 1910 แม้ว่าช่วงระหว่างปี 1941 ถึง 1949 สโมสรจะต้องย้ายไปใช้สนามเมนโรด เนื่องจากสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดได้รับความเสียหายจากระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากการซ่อมแซมและการขยายสนามหลายครั้งในช่วงปี 1990 และ 2000 รวมถึงการเพิ่มชั้นที่ 2 ให้กับอัฒจันทร์ทั้ง 3 ด้าน สนามจึงสามารถรองรับผู้ชมได้เกือบ 80,000 คน สถิติผู้ชมสูงสุดของสนามคือ 76,962 คน ที่เข้าชมการแข่งขันเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศระหว่างวูล์ฟแฮมป์ตันวันเดอเรอส์กับกริมสบีทาวน์ในปี 1939

โอลด์แทรฟฟอร์ดยังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติมาหลายครั้ง รวมถึงฟุตบอลโลก 1966, ยูโร 1996, โอลิมปิกฤดูร้อน 2012 และแชมเปียนส์ลีก 2003 รวมถึงการแข่งขันรักบี้ลีกระดับสูง เช่น ซูเปอร์ลีก แกรนด์ไฟนอล และรอบชิงชนะเลิศรักบี้ลีกชิงแชมป์โลกในปี 2000, 2013 และ 2022

สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่เริ่มต้นก่อนปี 1902 เมื่อแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยังใช้ชื่อว่า 'นิวตันฮีต' และเล่นในสนามที่มีสภาพไม่ดี จนกระทั่งในปี 1909 จอห์น เฮนรี เดวีส์ ประธานสโมสรคนใหม่ ได้บริจาคเงินสร้างสนามแห่งใหม่ที่โอลด์แทรฟฟอร์ด โดยออกแบบโดยอาร์ชิบัลด์ ลิทช์ สถาปนิกชาวสก็อต ที่มีชื่อเสียงในการออกแบบสนามฟุตบอลหลายแห่ง

การก่อสร้างสนามใช้เวลาจนเสร็จในปี 1909 และมีความจุเริ่มต้นที่ประมาณ 80,000 คน สนามแห่งนี้เปิดใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1910 โดยแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเปิดบ้านพบกับลิเวอร์พูล ซึ่งลิเวอร์พูลเอาชนะไป 4-3 แม้สนามนี้จะได้รับความเสียหายจากการโจมตีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ได้รับการซ่อมแซมและขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหนึ่งในสนามฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน

20 กุมภาพันธ์ 2535 การก่อตั้งฟุตบอลพรีเมียร์ลีก แทนลีกดิวิชั่น 1 อังกฤษ

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ แทนที่ฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 ซึ่งเคยเป็นลีกสูงสุดของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1888 การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของสโมสรในฟุตบอลลีกเฟิสต์ดิวิชันที่ต้องการแยกตัวจากอิงกลิชฟุตบอลลีก (EFL) เพื่อจัดตั้งลีกใหม่ที่มีรูปแบบการแข่งขันและรายได้ที่เป็นอิสระมากขึ้น

พรีเมียร์ลีกก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 โดยมีแนวคิดเกิดขึ้นหลังจบฤดูกาล 1990–91 สโมสรในลีกดิวิชัน 1 จำนวน 18 สโมสร และสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) สนับสนุนแนวทางการจัดตั้งลีกใหม่ผ่านแผน “Blueprint for the Future of Football”

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1991 เมื่อสโมสรสมาชิกลงนามในข้อตกลงผู้ก่อตั้ง และต่อมาได้แจ้งลาออกจากฟุตบอลลีกเป็นกลุ่ม ก่อนส่งหนังสือลาออกจาก FA ซึ่งทำหน้าที่บริหารลีก

วัตถุประสงค์หลักของพรีเมียร์ลีกคือ การเพิ่มรายได้ของสโมสรใหญ่และป้องกันไม่ให้รายได้กระจายไปยังลีกล่าง โดยเฉพาะจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ในยุคนั้น ไอทีวีถือสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกด้วยข้อตกลงมูลค่า 44 ล้านปอนด์ ตลอด 4 ปี (1988–1992)

พรีเมียร์ลีกมีโครงสร้างบริหารที่แตกต่างจากฟุตบอลลีกทั่วไป โดยมี ริก แพร์รี ดำรงตำแหน่งซีอีโอคนแรก และ เซอร์ จอห์น ควินตัน เป็นประธาน สโมสรสมาชิกมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเท่ากัน โดยมติสำคัญต้องได้รับการอนุมัติจากเสียงข้างมาก 2 ใน 3

พรีเมียร์ลีกเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992 พรีเมียร์ลีกเป็นลีกฟุตบอลระดับสูงสุดของอังกฤษ มี 20 สโมสรเข้าร่วมแข่งขัน โดยใช้ระบบเลื่อนชั้นและตกชั้นร่วมกับ EFL แชมเปียนชิป ฤดูกาลแข่งขันเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤษภาคม แต่ละทีมลงเล่น 38 นัดจากการพบกันแบบเหย้าและเยือน โดยการแข่งขันส่วนใหญ่มักจัดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรีเมียร์ลีกเติบโตอย่างรวดเร็วคือข้อตกลงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล สกาย สปอร์ตส์และบีที สปอร์ต ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันในประเทศ โดยมีการเจรจาข้อตกลงใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเป็น 6.7 พันล้านปอนด์สำหรับฤดูกาล 2025–2029 นอกจากนี้ ลีกยังสร้างรายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในต่างประเทศมากถึง 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2022–2025

พรีเมียร์ลีกถือเป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลก มีการถ่ายทอดสดไปยัง 212 ดินแดนทั่วโลก มีผู้ชมโทรทัศน์มากถึง 4.7 พันล้านคน และมีจำนวนผู้ชมในสนามเฉลี่ย 38,375 คนต่อแมตช์ในฤดูกาล 2023–24

ในแง่ของความสำเร็จระดับยุโรป พรีเมียร์ลีกเป็นลีกที่มีสโมสรคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก / ยูโรเปียนคัพ มากเป็นอันดับสอง รองจากลาลีกาสเปน โดยมี 6 สโมสรจากอังกฤษคว้าถ้วยยุโรปทั้งหมด 15 ใบ

นับตั้งแต่ก่อตั้ง มี 51 สโมสรที่เคยเข้าร่วมแข่งขันพรีเมียร์ลีก โดย 7 สโมสรที่เคยคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมากที่สุด ได้แก่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (13 สมัย), แมนเชสเตอร์ ซิตี (8 สมัย), เชลซี (5 สมัย) ,อาร์เซนอล (3 สมัย), แบล็กเบิร์น โรเวอส์ (1 สมัย), เลสเตอร์ ซิตี (1 สมัย), ลิเวอร์พูล (1 สมัย)

โดยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมากที่สุด ขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี ถือครองสถิติแชมป์ติดต่อกันยาวนานที่สุดถึง 4 ฤดูกาล

21 กุมภาพันธ์ 2455 รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริให้ใช้ "พุทธศักราช" (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติไทยแทน "รัตนโกสินทร์ศก" (ร.ศ.) โดยมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ยึดมั่นในพุทธศาสนาและต้องการให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือพุทธศาสนาเช่นกัน ดังนั้น เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 (รัตนโกสินทร์ศก 131) พระองค์จึงทรงประกาศให้ใช้พุทธศักราชในราชการทั่วไป โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันที่เริ่มใช้พุทธศักราชอย่างเป็นทางการ

ก่อนที่จะมีการใช้พุทธศักราช ประเทศไทยเคยใช้ "มหาศักราช" (ม.ศ.) และ "จุลศักราช" (จ.ศ.) โดยศักราชทั้งสองนี้ถูกใช้ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรัตนโกสินทร์ศกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งเริ่มนับจากปีที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงใน พ.ศ. 2325 หรือรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1)

สำหรับการนับพุทธศักราช ประเทศไทย, กัมพูชา, และสปป.ลาวเริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานครบ 1 ปี ในขณะที่ศรีลังกาและเมียนมาเริ่มนับพุทธศักราชตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานเมื่อ 544 ปีก่อนคริสตศักราช จึงทำให้พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมาเร็วกว่าของไทย 1 ปี

22 กุมภาพันธ์ 2516 'ดำ-กาญจนา' คู่รักที่ถูกกีดกัน สร้างตำนานรักสะพานสารสิน

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516 คู่รักหนุ่มสาวที่ถูกกีดกันจากครอบครัว ตัดสินใจจบชีวิตพร้อมกันโดยใช้ผ้าขาวม้ามัดร่างติดกันแล้วกระโดดลงจากสะพานสารสิน กลายเป็นตำนานรักสะเทือนใจที่ถูกเล่าขานจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวเกิดขึ้นในคืนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2516 เมื่อพ่อค้าขายไข่เต่าบริเวณสะพานสารสิน แจ้งตำรวจว่าพบชายหญิงคู่หนึ่งกอดกันแน่นก่อนกระโดดลงทะเลที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกราก แม้เจ้าหน้าที่จะเร่งค้นหา แต่ก็ไร้วี่แววของร่างทั้งสอง จนกระทั่งเช้าวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ศพของพวกเขาถูกพบลอยอยู่ห่างจากสะพานราว 3 กิโลเมตร โดยยังมีผ้าขาวม้าผูกตัวติดกันแน่น

ฝ่ายชายคือนายดำ แซ่ลิ้ม อายุ 23 ปี บุตรบุญธรรมของครอบครัวชาวจีนเชื้อสายภูเก็ต ประกอบอาชีพขับรถสองแถวและรับจ้างกรีดยาง ส่วนฝ่ายหญิงคือ นางสาวกาญจนา แซ่หงอ อายุ 19 ปี นักศึกษาปีที่ 2 วิทยาลัยครูภูเก็ต ทั้งคู่พบกันเมื่อดำขับรถรับส่งกาญจนาเป็นประจำ และความสัมพันธ์ก็ค่อยๆ พัฒนาเป็นความรัก

ทว่า ครอบครัวของกาญจนาไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้ลูกสาวแต่งงานกับคนมีฐานะที่เหมาะสมกว่า เมื่อทราบว่าทั้งคู่ได้เสียกัน พ่อแม่ของเธอจึงกีดกันขั้นเด็ดขาด บังคับให้เลิกเรียนและห้ามพบกับดำอีก ด้านพ่อแม่ของดำเองก็ไม่ยอมรับกาญจนาเช่นกัน ทำให้ทั้งคู่ถูกต่อต้านจากทุกฝ่าย

คืนก่อนเกิดเหตุ ดำพากาญจนาหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตน แต่กลับถูกปฏิเสธ ทำให้ทั้งสองหมดสิ้นหนทาง ตำรวจพบจดหมายลาตายที่ดำเขียนไว้ ระบุว่าพวกเขารักกันมาก แต่เมื่อถูกกีดกันจนไร้ทางออก จึงขอตายไปด้วยกัน

ในคืนสุดท้าย ดำขับรถสองแถวพากาญจนาไปที่สะพานสารสิน เขาถามคนขับรถบรรทุกน้ำมันที่จอดอยู่บริเวณนั้นว่า หากกระโดดลงไปในช่วงน้ำเชี่ยวจะเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้รับคือ "ตายแน่" จากนั้นทั้งคู่ก็เดินไปที่ราวสะพาน มัดตัวเข้าด้วยกันด้วยผ้าขาวม้า ก่อนกระโจนลงสู่กระแสน้ำ ท่ามกลางเสียงร้องห้ามของคนขับรถบรรทุก แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว

ศพของทั้งสองถูกนำมาทำพิธีร่วมกันที่วัดท่าฉัตรชัย เรื่องราวของพวกเขากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักที่ถูกขัดขวาง และเป็นอุทาหรณ์ว่าหากครอบครัวยอมรับความรักของลูกตั้งแต่แรก โศกนาฏกรรมนี้อาจไม่เกิดขึ้น

ต่อมาตำนานรักสะพานสารสินถูกถ่ายทอดในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ สะพานรักสารสิน (2529) โดยเปี๊ยกโปสเตอร์ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ไทยที่ควรชม และละครโทรทัศน์ในปี 2541

23 กุมภาพันธ์ 2436 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนา โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ต้นแบบหลักสูตร-วิธีการสอนที่เผยแพร่ทั่วไทย

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้ง 'วิทยาลัย' ภายในวัดบวรนิเวศ โดยให้ชื่อว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์และสามเณร แยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ใช้สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับพระปริยัติธรรม และส่วนที่เป็นโรงเรียน ซึ่งภายหลังกลายเป็นต้นแบบของ 'โรงเรียนวัดบวรนิเวศ'

ในช่วงแรก โรงเรียนนี้ได้รับการดูแลโดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส และต่อมามีการขยายการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้การศึกษากระจายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศไปใช้ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โรงเรียนวัดบวรนิเวศกลายเป็นสถาบันที่เป็นต้นแบบในการใช้หลักสูตรการศึกษาทั่วประเทศ

เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศยังคงเป็นสถานที่สำคัญในการเสริมสร้างความรู้ โดยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างอาคาร 'มนุษยนาควิทยาทาน' ซึ่งนอกจากจะเป็นการรำลึกถึงพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรณาณวโรรส ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศและโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนวัดบวรนิเวศได้ดำเนินการเรียนการสอนมาเป็นเวลาเกือบ 132 ปี และยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทย

24 กุมภาพันธ์ของทุกปี วันศิลปินแห่งชาติ รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 2 และยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์มรดกศิลปะไทย

วันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยพระปรีชาสามารถในหลายด้านของศิลปกรรม อาทิ กวีนิพนธ์ ดนตรี และประติมากรรม

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับช่างประติมากรรมสมัยนั้นในการแกะสลักบานประตูไม้พระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นงานประติมากรรมที่ถือเป็นผลงานชั้นเยี่ยม ปัจจุบันบานประตูนี้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมที่มีคุณค่ามากมาย เช่น "อิเหนา" ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 และยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกอีกถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในสาขาวรรณกรรม เพื่อแสดงถึงความสำคัญในวงการศิลปะและวรรณกรรมโลก

ด้วยพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ จึงมีการจัดตั้งวันศิลปินแห่งชาติขึ้นเพื่อเชิดชูและยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ โดยในปี พ.ศ. 2527 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งในขณะนั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำ "โครงการศิลปินแห่งชาติ" เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นในทุกสาขาของศิลปะ

โครงการนี้มีจุดประสงค์ในการส่งเสริมและยกย่องศิลปินที่ช่วยรักษาและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาติจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาและคัดเลือกศิลปินที่มีผลงานทรงคุณค่า ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการในปี พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน ได้มีศิลปินหลายท่านที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาต่างๆ

การยกย่องศิลปินแห่งชาติไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมคุณค่าของศิลปะในปัจจุบัน แต่ยังช่วยถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่และเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติและศิลปะพื้นบ้านทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีศิลปินแห่งชาติสังกัดอยู่ เพื่อสร้างความตระหนักและยกย่องผลงานศิลปะที่มีคุณค่าของไทย

25 กุมภาพันธ์ 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 นับเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอย่างสมพระเกียรติ พระราชพิธีนี้ถือเป็นโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์และแสดงถึงพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ กระบวนการในพระราชพิธีได้รับอิทธิพลจากคติความเชื่อทางศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา ซึ่งมีรากฐานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม พ.ศ. 2468 โดยมีลำดับพระราชพิธีดังนี้ การเตรียมพระราชพิธี, พระราชพิธีเบื้องต้น, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีเบื้องปลาย และ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

สำหรับกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระมหามณเฑียร เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 

ช่วงเช้า (09.15 น.)พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์เต็มยศทหารเรือ ทรงสายสะพานนพรัตนราชวราภรณ์ เสด็จฯ ออกจากพระที่นั่งบรมพิมานโดยกระบวนราบ ประทับพระราชยานกง เสด็จไปยังหมู่พระมหามณเฑียร เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พิธีสรงพระมุรธาภิเษก (09.53 น.)ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นพระภูษาเศวตพัสตร์และทรงสะพักขาวขลิบทองคำ ประทับบนตั่งไม้อุทุมพรหุ้มผ้าขาวในมณฑปพระกระยาสนาน พระราชครูวามเทพมุนีและพราหมณ์พิธีกราบบังคมทูลเชิญเสด็จสรงน้ำพระมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญที่แสดงถึงการเปลี่ยนพระราชสถานะเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์

จากนั้นเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศภายใต้พระบวรเศวตฉัตร ทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีพิชัยสงครามประจำวันพฤหัสบดี ทรงรับน้ำอภิเษกจากราชบัณฑิตและพราหมณ์ทั้งแปดทิศ ต่อด้วยการเสด็จประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เพื่อทรงรับพระสุพรรณบัฏ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องขัตติยราชูปโภค รวมทั้งพระแสงอัษฎาวุธจำนวน 19 รายการ

เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งเป็นคำปฏิญาณของพระมหากษัตริย์ในการครองแผ่นดิน ความว่า

“ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญฯ”

ในวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นพระบรมราชินี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พร้อมกับการเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเป็นพระราชพิธีครั้งแรกในรัชกาล

อีกหนึ่งความสำคัญคือ การบันทึกภาพยนตร์ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" เป็นภาพยนตร์ข่าวที่ผลิตโดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ซึ่งจัดทำขึ้นโดยได้รับพระบรมราชานุญาตเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจเก็บไว้เป็นที่ระลึก ภาพยนตร์ชุดนี้บันทึกเหตุการณ์สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปลายปี พ.ศ. 2468 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพยนตร์ในพระราชพิธีสำคัญที่จัดขึ้นตามโบราณราชประเพณีของไทย

27 กุมภาพันธ์ 2514 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี เสด็จฯ จ.อุตรดิตถ์ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ‘เขื่อนสิริกิติ์’

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ ณ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

เขื่อนแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า 'เขื่อนผาซ่อม' เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา โดยเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อกั้นแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในลำน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาขนานนามใหม่ว่า 'เขื่อนสิริกิติ์' เพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์

เขื่อนสิริกิติ์เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้า และการป้องกันน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำน่านตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ลงไป ซึ่งแต่เดิมมักประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ

รัฐบาลได้วางแผนพัฒนาลุ่มน้ำน่านเป็น 3 ระยะ โดยเขื่อนสิริกิติ์เป็นส่วนหนึ่งของแผนในระยะแรก เพื่อใช้กักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตรและการผลิตไฟฟ้า ส่วนระยะที่สองและสาม มีการวางแผนก่อสร้างเขื่อนนเรศวรและเขื่อนอุตรดิตถ์เพื่อทดน้ำและกระจายน้ำให้ทั่วถึงมากขึ้น

การก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2511 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนตัวเขื่อนและระบบชลประทาน ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน และส่วนของโรงไฟฟ้า ซึ่งรับผิดชอบโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ตัวเขื่อนมีโครงสร้างที่แข็งแรง สามารถกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมหาศาล และยังมีอุโมงค์ระบายน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำเข้าเครื่องกังหันผลิตไฟฟ้า และระบบกระจายน้ำที่ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันเขื่อนสิริกิติ์ยังคงเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ช่วยให้พื้นที่เกษตรกรรมหลายล้านไร่ได้รับน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมธรรมชาติรอบเขื่อน รวมถึงศึกษาระบบการจัดการน้ำของไทย

54 ปีผ่านไป นับตั้งแต่พิธีวางศิลาฤกษ์ในวันนั้น เขื่อนสิริกิติ์ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชน และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของพระราชกรณียกิจที่ทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

26 กุมภาพันธ์ 2500 การเลือกตั้งครั้งที่ 9 ของไทย สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม นับคะแนนยืดเยื้อถึง 7 วัน 7 คืน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 9 ของประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดวาระ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495) การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกจัดขึ้นโดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกกล่าวขานว่าเป็น 'การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย'

การเตรียมการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส

ก่อนการเลือกตั้ง มีรายงานว่า พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้จัดเลี้ยงกลุ่มอันธพาลและนายตำรวจระดับสูง เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งมีจอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค นอกจากนี้ ยังมีการทุจริตในกระบวนการเลือกตั้งหลายประการ เช่น การเพิ่มชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างผิดปกติ, การติดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่าช้าหรือไม่ติดเลย, การพบบัตรเลือกตั้งปลอมที่มีการกาเครื่องหมายเลือกผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลาไว้ล่วงหน้า (เรียกว่า 'ไพ่ไฟ') การใช้กลุ่ม 'พลร่ม' ที่เวียนไปลงคะแนนเสียงให้พรรคเสรีมนังคศิลาในหลายเขต, การออกแบบคูหาลงคะแนนให้อยู่ห่างจากจุดรับบัตรเลือกตั้งเพื่อสร้างความสับสน, วันเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความรุนแรง

ในวันเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 มีเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นหลายกรณี โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงและข่มขู่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เช่น กลุ่มอันธพาลบุกเข้าทำร้ายกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยและลงคะแนนแทน, ผู้ใช้สิทธิ์บางรายที่แสดงความคิดเห็นขัดแย้ง เช่น ตะโกนว่า "นายควงชนะแน่" ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส, บางหน่วยเลือกตั้งไม่เปิดให้ลงคะแนนจนถึงเที่ยงวัน และบางหน่วยเปิดให้ลงคะแนนเกินเวลาที่กำหนด

ในระหว่างการนับคะแนน พบว่าหมายเลข 25-33 ซึ่งเป็นของพรรคเสรีมนังคศิลา ถูกนับเป็นบัตรดี แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดหรือเสียหาย แต่บัตรเสียของผู้สมัครพรรคอื่นกลับถูกนับเป็นบัตรเสียตามเดิม, ที่หน่วยเลือกตั้งสวนลุมพินีเกิดไฟดับระหว่างการนับคะแนน เมื่อไฟกลับมา คะแนนเสียงของพรรคเสรีมนังคศิลาเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ พบว่าคะแนนเสียงของหมายเลข 25-33 ใน 13 หน่วยเลือกตั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้มาลงทะเบียน

เมื่อผลการเลือกตั้งถูกเปิดเผย ประชาชนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ร่วมสังเกตการณ์และพบหลักฐานการโกงเลือกตั้งมากมาย สื่อมวลชนและประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยการทุจริตและไร้ความชอบธรรม อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกแถลงการณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ว่า "อย่าเรียกว่าการเลือกตั้งสกปรกเลย ควรเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งไม่เรียบร้อย"

ความไม่พอใจของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สถานการณ์การเมืองร้อนระอุ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคเผด็จการทหาร ซึ่งดำเนินต่อไปจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่นำไปสู่การล่มสลายของระบอบเผด็จการทหารในที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top