Friday, 9 May 2025
Lite

‘ฟิล์ม รัฐภูมิ’ แจ้งเอาผิด ‘หนุ่ม กรรชัย-อี้ แทนคุณ’ หมิ่นประมาททำให้ชื่อเสียงเสียหาย

‘ฟิล์ม รัฐภูมิ’ พร้อม ‘ทนายประมาณ’ เดินทางเข้าแจ้งความตำรวจ สน.ห้วยขวาง เอาผิดกับ ‘หนุ่ม กรรชัย-อี้ แทนคุณ’ หมิ่นประมาทนำชื่อเผยแพร่สาธารณะทำให้เสียหาย

(31 ม.ค. 68) ที่สน.ห้วยขวาง นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ ฟิล์ม รัฐภูมิ พร้อมด้วยนายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช หรือทนายประมาณ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง เพื่อแจ้งความเอาผิด 2 บุคคล ที่มีการนำชื่อ ฟิล์ม รัฐภูมิ เผยแพร่ต่อสาธารณชนทำให้เกิดความเสียหาย

โดยทนายประมาณ เปิดเผยว่า วันนี้พาฟิล์ม รัฐภูมิ มาแจ้งความเอาผิด 2 บุคคล ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีที่มีการนำเรื่องที่ไม่เป็นความจริงมาสร้างกระแสนำไปออกรายการข่าวช่องดัง หรือนำไปแถลงต่อสื่อให้คนเกลียดชัง โดยบุคคลแรกคือ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ หรือ อี้ แทนคุณ จะแจ้งดำเนินคดี 8 กรรม ที่มีการกล่าวอ้างว่ามีหลักฐานซึ่งไม่เป็นความจริง ในหลายกรณี อาทิ กรณีคดีที่ จ.ตรัง ที่เป็นคดีเกี่ยวกับการลงทุนเทรดหุ้นดูไบ 60 ล้านบาท ที่มีการตัดสินคดีจบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาฟิล์ม รัฐภูมิ แต่อย่างใด แต่คู่กรณีกลับมากล่าวอ้างว่ามีหลักฐานต่าง ๆ ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เพื่อหากระแสให้แก่ตัวเอง

ส่วนบุคคลที่สอง ที่จะดำเนินการเอาผิดคือ นายภูดิท กำเนิดพลอย หรือ หนุ่มกรรชัย พิธีกรชื่อดัง ประมาณ 3-4 กรรม จาก 6 กรรม ที่มีการนำคลิปเสียงระหว่างน.ส.ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร หรือ บอสปัน ดิไอคอน กับ น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ และมีการเชื่อมโยงมาถึงฟิล์ม รัฐภูมิ โดยอ้างว่า ฟิล์ม รัฐภูมิมีการตบทรัพย์เหล่าบอสดิไอคอน กรุ๊ป จำนวน 20 ล้านบาท เรื่องนี้ทำให้ฟิล์ม รัฐภูมิเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ตนถือว่า ”พวกคุณนั้นจัญไร ในการกล่าวหาอย่างรุนแรง“ ส่วนคนอื่นที่มีการกระทำในลักษณะเดียวกันก็เตรียมตัวโดนเป็นรายต่อไป แต่ในวันนี้จะมาแจ้งความเอาผิดเพียง 2 คนก่อน

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นคดีอะไรก็แล้วแต่ ขอยืนยันในความบริสุทธิ์ว่าฟิล์มรัฐภูมิ ไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และมั่นใจในพยานหลักฐานที่ฝั่งตนเองมี

ขณะที่ฟิล์ม รัฐภูมิ กล่าวว่า ตนไม่ได้อยากมาทำอะไรแบบนี้ เพราะตนชอบความสงบ แต่มองว่าขณะนี้มันเกินควรไปแล้ว เนื่องจากมีบางคนมาโจมตีด่าถึงบุพการี ว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน รวมถึงบอกว่าไม่มีครูบาอาจารย์ เป็นคนไม่ดีของสังคม อีกทั้งยังมีการกล่าวหาว่าตนไปพรากผู้เยาว์ ทำให้แฟนคลับของตนเกลียดชังตนกว่าเดิม ตั้งตัวเป็นศาลเตี้ยเป็นผู้มีอำนาจตัดสินความผิดตน ทำให้สังคมคล้อยตาม

ตนมองว่าจะให้สังคมดำเนินไปแบบนี้ไม่ได้ เราอยากอยู่ในสังคมที่น่าอยู่ ในสังคมที่ทุกคนเคารพกฎหมายเดียวกัน ตนเคารพกฎหมายเป็นที่ตั้ง และเชื่อมั่นว่ากฎหมายบ้านเราศักดิ์สิทธิ์ที่สุด แต่มันมีการสร้างวาทกรรมแปลก ๆ ว่าตนไม่เคารพกฎหมายเพื่อเป็นการดิสเครดิตตน

ในส่วนของอี้แทนคุณ ตนมองว่าการที่มาขอโทษลับหลังสื่อนั้นไม่แมน เพราะมีการหาแสงทำลายชื่อเสียงตนต่อหน้าสื่อ แล้วค่อยส่งคนมาขอโทษส่วนตัว ที่ผ่านมาทางอี้แทนคุณมีการส่งคนมาพูดคุยเจรจาขอโทษหลายครั้งแล้ว โดยทุกครั้งที่มีการส่งคนมาขอโทษ ตนก็ได้เก็บหลักฐานไว้ทุกอย่าง แต่ตนยืนยันว่าจะไม่เจรจาใด ๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สถานะระหว่างฟิล์ม รัฐภูมิกับหนุ่มกรรชัย ยังสามารถกลับมาเป็นพี่น้องกันได้หรือไม่นั้น ฟิล์ม รัฐภูมิไม่ได้ตอบคำแถม เพียงแค่ส่ายหน้า

3 กุมภาพันธ์ ‘วันทหารผ่านศึก’ รำลึกถึงผู้กล้าที่สละชีพเพื่อชาติ

ในอดีต ประเทศไทยต้องพบกับภาวะสงคราม และส่งทหารเข้าร่วมสงครามเป็นจำนวนมาก โดยปี พ.ศ.2488 เป็นต้นมา ทหารที่ได้รับการปลดระวางจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสบปัญหาเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ

ในปี พ.ศ. 2490 กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหารไทยที่กลับจากการรบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเอเชียมหาบูรพา รวมทั้งช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบ แต่หน่วยงานที่ตั้งขึ้นนี้เป็นหน่วยงานที่ไม่เป็นทางการ ต่อมากระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 จึงถือเอาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันทหารผ่านศึก

ในปี พ.ศ. 2510 องค์การทหารผ่านศึกได้เปลี่ยนฐานะมาเป็นองค์การเพื่อการกุศลของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลบ้างเป็นครั้งคราว ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก คือ การสงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ ด้านอาชีพ ด้านนิคมเกษตรกรรม ด้านกองทุน ด้านการรักษาพยาบาล และส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2511 กลุ่มภริยานายทหารชั้นผู้ใหญ่ นำโดย ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เป็นประธานร่วมกันจัดตั้ง 'สโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' เพื่อช่วยเหลือครอบครัวทหารผ่านศึก และ ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้มอบเงินบริจาคจำนวน 300,000 บาท เป็นทุนประเดิม หลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนบริจาคสมทบจากผู้บริจาคอื่นๆ และคณะกรรมการก็ได้หาวิธีหารายได้ด้วยการจำหน่ายดอกป๊อปปี้จำหน่าย

ปี พ.ศ.2512 'สโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' ได้ยกระดับเป็น 'มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รับเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ เพื่อจำหน่ายดอกป๊อปปี้ ให้ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในวันทหารผ่านศึก ดอกไม้ชนิดนี้จึงถูกเรียกว่าเป็น 'ดอกไม้ที่ระลึกวันทหารผ่านศึก'

ความหมายของดอกไม้ประจำวันทหารผ่านศึก มาจากสีแดงของดอกป๊อปปี้ที่หมายถึงเลือดของเหล่าทหารผู้เสียสละเพื่อชาติ เพื่อปกป้องแผ่นดินด้วยความกล้าหาญ เหมือนสีแดงของกลีบดอกที่ปกคลุมผิวดิน

ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

✨ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
✨ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

🟢รางวัลที่ 1 รางวัลละ 6,000,000 บาท : 558700

🔴รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 จำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท : 558699,558701

🔴รางวัลเลขหน้า 3 ตัว รางวัลละ 4,000 บาท : 285,418

🔴รางวัลเลขท้าย 3 ตัว รางวัลละ 4,000 บาท : 824,685

🔴รางวัลเลขท้าย 2 ตัว รางวัลละ 2,000 บาท : 51
 

4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดโรงผลิตเหรียญกระษาปณ์ด้วยกำลังไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

ย้อนกลับไปในยุคโบราณ สิ่งที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าของผู้คน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอยู่สองชนิด คือ "เบี้ย"(หอย) กับ "เงิน" 

เบี้ยนั้น อาศัยพวกชาวต่างประเทศ เที่ยวเสาะหาเปลือกหอยลักษณะที่ต้องการตามชายทะเลแล้วเอามาขาย ให้เรารับซื้อไว้ใช้สอย แต่ส่วนเงินนั้นนำเฉพาะตัวโลหะเข้ามาจากต่างประเทศ เอามาหล่อหลอมทำเป็นเงินตราในประเทศสยาม รูปร่างลักษณะเป็นเงินกลมที่เรียกกันว่า "เงินพดด้วง" ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาโดยตลอด จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดและตราประจำของแต่ละรัชกาล 

พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่เซอร์จอห์น เบาริง ได้เข้ามาทำหนังสือสัญญา เปิดการค้าขายกับประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช 2398 ทำให้เกิดการขยายตัวทางการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

เงินที่ชาวต่างประเทศใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นส่วนใหญ่มีลักษณะแบนๆ เมื่อมีการค้าขายสินค้ากันจึงมีการนำเหรียญแบนของตนเข้ามาซื้อสินค้ากับชาวสยาม ปรากฏว่าราษฎรไม่ยอมรับ จึงต้องเอาเงินเหรียญมาขอแลกเงินพดด้วงกับทางการ แต่เงินพดด้วงนั้น ช่างของพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งผลิตเงินพดด้วงด้วยมือนั้น สามารถทำได้วันละ 2,400 บาท เป็นอย่างสูง ซึ่งไม่ทันต่อความต้องการ การแก้ปัญหาดังกล่าว รัชกาลที่ 4 ท่านทรงให้ราษฎรรับเงินเหรียญฝรั่งไว้ก่อนแล้วนำมาแลกเงินพดด้วงจากท้องพระคลังภายหลัง 

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริที่จะเปลี่ยนรูปแบบเงินตราพดด้วงที่ใช้กันมาแต่โบราณ เป็นเงินเหรียญแบนตามแบบสากลนิยม (ซึ่งสมัยนั้นชาวบ้านเรียกกันว่า "เงินแป") เงินเหรียญแบนนี้ สามารถใช้เครื่องจักรผลิตได้ครั้งละจำนวนมากๆ จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้คณะทูตไทยที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษ จัดซื้อเครื่องจักรผลิตเงินกลับมาด้วย 

โดยก่อนหน้าที่จะสั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินจากอังกฤษเข้ามานั้น มีเครื่องจักรผลิตเงิน ทดลองใช้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเครื่องจักรผลิตเงินเครื่องแรกของไทยนั้น พระนางเจ้าวิคตอเรีย สมเด็จพระบรมราชินีนาถของอังกฤษ ส่งเข้ามาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ 

ครั้นพุทธศักราช 2413 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินเครื่องใหม่ที่แข็งแรง และมีกำลังการผลิตมากกว่าเดิม และให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกระษาปณ์ใหม่ขึ้น ทางตะวันออกของประตูสุวรรณบริบาล ใกล้โรงกระษาปณ์เดิม ทรงเสด็จฯ เปิดเมื่อ วันที่ 31 พฤษภาคม 2419 เครื่องจักรนี้ใช้งานได้ต่อมาอีก 25 ปี 

จากนั้น เมื่อเดือนเมษายน 2444 จึงได้สร้างโรงกระษาปณ์ขึ้นใหม่ ที่ริมคลองหลอด แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2445 โดยสั่งเครื่องจักรจากยุโรป เป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า สามารถผลิตเหรียญกระษาปณ์ได้วันละ 80,000 ถึง 100,000 เหรียญ ซึ่งสามารถสนองตอบต่อความต้องการใช้ของผู้บริโภค อันเนื่องมาจากความเจริญทางด้านการค้าขายในสมัยนั้นได้ 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2445 และถือเป็นโรงงานผลิตเหรียญกระษาปณ์ ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 กำเนิด ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนหลักสายแรกของประเทศไทย

วันนี้ เมื่อ 164 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนหลักสายแรกของประเทศไทย

ถนนเจริญกรุง ถูกดำริให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยเหตุที่มีชาวต่างชาติ ได้เข้ามาทำธุรกิจห้างร้าน รวมถึงที่ทำการกงสุลต่าง ๆ ก็ถูกก่อสร้างขึ้นในย่านนี้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้ขอให้สร้างถนนสายสำหรับขี่ม้า หรือนั่งรถม้า พระองค์จึงทรงดำริให้มีการสร้างถนนที่มีมาตรฐานขึ้น แล้วเสร็จเมื่อราวปี พ.ศ. 2407

แรกเริ่มเดิมที ผู้คนเรียกถนนสายนี้ว่า ‘ถนนใหม่’ ส่วนฝรั่งเรียกว่า ‘นิวโรด’ (New Road) และชาวจีนเรียกว่า ซินพะโล้ว แปลว่า ถนนตัดใหม่ เช่นกัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ ซึ่งมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง

ถนนเจริญกรุงในยุคก่อน ได้ชื่อว่าเป็นถนนที่ใหญ่และยาวที่สุด โดยแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ถนนเจริญกรุงตอนใน ตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก) และถนนเจริญกรุงตอนใต้ ตั้งแต่สะพานเหล็กออกไปนอกกำแพงพระนคร ต่อเนื่องไปถึงตลาดน้อย บางรัก จรดดาวคะนอง (ในปัจจุบัน)

เมื่อมีถนนหลักใหม่และงดงาม จึงนำมาซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างอาคาร ห้างร้าน บ้านเรือน ไปตลอดแนวถนน ต่อมามีการติดไฟฟ้านำทางส่องสว่าง และด้วยความสวยงามของท้องถนน ผู้คนจึงรู้จักที่จะออกมาใช้ชีวิตในยามค่ำคืนกันมากขึ้น จนเป็นที่มาของถนนที่ได้ชื่อว่า เป็นถนนที่ไม่มีวันหลับใหล ตราบจนทุกวันนี้ ‘เจริญกรุง’ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน แม้สองข้างทางจะเก่าแก่ไปตามกาลเวลา แต่จิตวิญญาณของถนนที่ได้ชื่อว่า เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ก็ยังคงปรากฏอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันมวยไทย’ เทิดพระเกียรติ 'สมเด็จพระเจ้าเสือ' พระบิดาแห่งมวยไทย

6 กุมภาพันธ์ "วันมวยไทย" ศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวของชนชาติไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจากบรรพชน เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 "สมเด็จพระเจ้าเสือ" พระบิดาแห่งมวยไทย

"มวยไทย” ศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวของชนชาติไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจากบรรพชน ที่ได้รับการสืบทอดมาสู่ชนรุ่นปัจจุบัน เป็นศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัว ที่ฝึกฝนให้ร่างกายใช้อวัยวะทุกส่วนเป็นอาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ มือ เท้า เข่า ศอก รวมถึงศีรษะ จึงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ครบเครื่องมีพิษสงรอบด้าน 

จนเกิดการถ่ายทอดและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ได้รับความนิยมไปทั่วไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ยังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ถือเป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยเป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เพื่อสร้างความตระหนักให้คนไทยเห็นคุณค่า ห่วงแหนและยกย่ององค์ความรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย 

เพื่อให้มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ ได้รับการอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอด เป็นพลังในการกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยให้มั่นคง

จากความสำคัญของมวยไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้มีการสถาปนา "วันมวยไทย” โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 เห็นชอบให้ กำหนดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมวยไทย 

ซึ่งตรงกับวันเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ)  พระบิดาแห่งมวยไทย พระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระปรีชาสามารถด้านมวยไทยเป็นที่ประจักษ์

พระเจ้าเสือ เป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ที่เสด็จออกไปชกมวยกับสามัญชน ทรงแต่งกายเป็นชาวบ้าน ให้ทุกคนเข้าใจว่า เป็นนักมวยจากเมืองกรุง ชาวบ้านให้ความสนใจมาก เพราะสมัยนั้น นักมวยกรุงศรีอยุธยามีชื่อเสียงมาก ทำให้ได้คู่ชกเป็นนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษไชยชาญ ถึงสามคน ทยอยเข้ามาชกทีละคน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดด้วยต่างฝ่ายก็มีฝีมือ

แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและความชำนาญในศิลปะมวยไทย ที่ได้ทรงฝึกหัดและศึกษาจากสำนักมวยหลายสำนัก จึงทำให้พระองค์สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ติดต่อกันถึง 3 คนได้ โดยที่คู่ต่อสู้ต่างได้รับความบอบช้ำเป็นอันมาก ทำให้ได้รับรางวัลเป็นเงินหนึ่งบาท ฝ่ายผู้แพ้ได้สองสลึง เหตุการณ์นี้จึงเป็นตำนานบทหนึ่งที่ทรงแสดงพระปรีชาสามารถการต่อสู้ด้วยมวยไทย

จากการที่พระเจ้าเสือทรงพระปรีชาสามารถด้านการชกมวย มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ทรงคิดและสร้างสรรค์ท่าแม่ไม้ กลมวยไทยขึ้นมาเป็นแบบเฉพาะพระองค์ เรียกว่า "มวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ” จากที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยรัชการที่ 5 

ซึ่งเป็นตำรามวยตำรับพระเจ้าเสือที่เก่าแก่ที่สุด เป็นมรดกทางภูมิปัญญาจากบรรพชนที่ได้รับการถ่ายทอดมาสู่ชนรุ่นหลัง และสืบสานมาจนถึงทุกวันนี้

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

วันนี้เมื่อ 40 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำแม่เมาะ

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ถือเป็นวันอันทรงเกียรติของชาวแม่เมาะ ที่ได้ร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ซึ่งโรงไฟฟ้า ทั้ง 4 เครื่องได้ปลดระวางไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 โดยมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 14 หรือ MM-T14 ที่เป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีใหม่ มีประสิทธิภาพทั้งการผลิตและการควบคุมมลสารได้เท่ากับและดีกว่าโรงไฟฟ้าเดิมมารับช่วงต่อการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ไปพร้อมๆ กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-13

สำหรับความเป็นมาของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เกิดจากการสำรวจหาแหล่งเชื้อเพลิงในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา ปรากฏว่าพบถ่านหินลิกไนต์ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงมีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อใช้ในทางราชการเท่านั้น 

ปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนท์ เพื่อดำเนินกิจการเหมืองถ่านหิน มีการเปิดทำเหมืองที่แม่เมาะ เพื่อผลิตถ่านลิกไนต์จำหน่ายให้แก่โรงบ่มใบยาสูบ การรถไฟ และโรงงานปูนซีเมนต์ เมื่อรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ได้รวมเอากิจการของการลิกไนท์ (กลน.) การไฟฟ้ายันฮี (กฟย.) และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟ.อน.) รวมเป็นหน่วยงานเดียวกันคือ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เหมืองแม่เมาะจึงอยู่ในความดูแลของ กฟผ. ตั้งแต่นั้นมา และเป็นเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ได้เริ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะจำนวน 3 หน่วย ขนาดหน่วยละ 75 เมกะวัตต์ พร้อมกับขยายเหมืองแม่เมาะ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตถ่านหิน จากที่เคยผลิตได้วันละแสนกว่าตันเป็นล้านตัน จนถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้ก่อสร้างและติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าเสร็จสิ้นไปแล้ว 14 หน่วย

10 กุมภาพันธ์ วันอาสารักษาดินแดน หน่วยพลเรือนอาสาผู้เสียสละเพื่อบ้านเมือง

จากจุดเริ่มต้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงก่อตั้ง 'กองเสือป่า' เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 เพื่อฝึกอบรมข้าราชการและพลเรือน ได้เรียนรู้วิชาทหารเพื่อฝึกซ้อมเตรียมกำลังในยามปกติ ทำหน้าที่อาสาสู้ศึกในยามสงคราม โดยถือว่าเป็น 'กองกำลังกึ่งทหาร' ที่จัดตั้งขึ้น เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทย

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2497 (จึงถือว่าเป็นวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน) โดยกำหนดให้จัดตั้ง 'กองอาสารักษาดินแดน' เป็นองค์การ ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมการปกครอง (โดยสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน) เป็นหน่วยบริหารจัดการ โดยมีแนวคิดในการจัดตั้งดังนี้

การป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน มีกำลังสำรองไว้ช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ ทั้งในยามปกติและในยามสงคราม

กองอาสารักษาดินแดน แบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนกลาง มีกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (บก.อส.) เป็นหน่วยบริหารจัดการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (ผบ.อส.)

ส่วนภูมิภาค มีกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (บก.อส.จ.) เป็นหน่วยบริหารจัดการ

โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (ผบ.อส.จ.)

มีหน่วยระดับปฏิบัติ เรียกโดยรวมว่า กองร้อยอาสารักษาดินแดน (ร้อย.อส.) และมีกำลังพลระดับปฏิบัติ ที่สำคัญ ได้แก่ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เรียกโดยย่อว่า สมาชิก อส. ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ในหลวง ร.9 พระราชทานชื่อ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Suvarnabhumi Airport’

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นภาษาอังกฤษว่า 'Suvarnabhumi Airport' และพระราชทานความหมายของคำว่า 'สุวรรณภูมิ' คือ 'แผ่นดินทอง' แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า 'Golden Land'

สำหรับประวัติความเป็นมาของสนามบินสุวรรณภูมินั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่รัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ซื้อที่ดินหนองน้ำ 20,000 ไร่ บริเวณหนองงูเห่า จังหวัดสมุทรปราการในปี พ.ศ. 2516 สำหรับสร้างสนามบินใหม่

จากนั้นเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปีต่อมา รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เห็นว่า สนามบินมีความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาความเจริญด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว และด้านอื่นของประเทศเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงกำหนดให้ การก่อสร้าง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมกันดำเนินการแบบบูรณาการ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย จึงได้เร่งการก่อสร้างตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2545

สนามบินได้เปิดทดลองใช้ในเช้าวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 โดยมีสายการบินภายในประเทศ 6 สายการบินร่วมทดลอง ได้แก่ การบินไทย นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ พีบีแอร์ และ โอเรียนท์ไทย โดยมีจำนวนผู้โดยสาร 4,800 คน จาก 24 เที่ยวบิน โดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางจากสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ 

ต่อมา ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร คณะรัฐประหารตัดสินใจยึดกำหนดการเปิดสนามบินอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ตามเดิม

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ‘จ่าคลั่ง’ ก่อเหตุกราดยิงที่โคราช โศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดของไทย

ยังคงจำฝังใจคนไทย สำหรับเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กรณีจ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชาและญาติถึงแก่ความตาย แล้วหลบหนีเข้ามาในตัวเมือง กราดยิงผู้คนตามรายทาง ก่อนเข้าไปซ่อนตัวหลบอยู่ในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จับบุคคลในห้างเป็นตัวประกัน

สำหรับเหตุการณ์ในวันนั้นเริ่มขึ้น เวลาประมาณ 15.30 น. 8 กุมภาพันธ์ 2563 จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชา คือ พันเอก อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ อายุ 48 ปี ผู้บังคับกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 และนางอนงค์ มิตรจันทร์ อายุ 65 ปี แม่ยายของพันเอก อนันต์ฐโรจน์ ถึงแก่ความตายที่บ้านพักในตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่นายหน้าวิ่งหนีไป จึงถูกไล่ยิงเข้าข้างหลังแต่ไม่เสียชีวิต

จากนั้น จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ไปชิงอาวุธสงครามออกมาจากคลังอาวุธกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ตำบลไชยมงคล โดยยิงทหารเวรกองรักษาการณ์ และทหารดูแลคลังอาวุธ มีพลทหารบาดเจ็บ 1 นาย เสียชีวิตอีก 1 นาย ต่อมา จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ขับรถฮัมวีหลบหนีออกไปทางด้านหลังค่าย มุ่งไปทางวัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล เพราะทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาออกไปทำบุญที่วัดป่าศรัทธารวม ได้กราดยิงผู้คนตามรายทางถึงแก่ความตายรวม 9 คน คนร้ายกราดยิงกระสุนนับร้อยนัด โดยยิงคนในรถเสียชีวิตและบาดเจ็บ และยังยิงเด็กนักเรียนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ แถมเดินไปยิงซ้ำอีก จากนั้นมีตำรวจมา 2 นาย ไม่ทันลงจากรถก็ถูกยิงจนพรุนเสียชีวิต แต่ปรากฏว่าได้ทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาไปกินข้าวที่เทอร์มินอล 21 โคราช

จ่าสิบเอก จักรพันธ์ จึงได้ขับรถเข้าไปในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา มุ่งไปที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ซึ่งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยกราดยิงผู้คนตามรายทาง และจับผู้คนในห้างเป็นตัวประกัน ทั้งยิงถังแก๊ส ทำให้เกิดระเบิดและเพลิงลุกไหม้ในห้าง

จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ยังถ่ายทอดสดตนเองขณะก่อเหตุลงเฟซบุ๊กของตัวเองอีกด้วย จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในเช้าวันถัดมา สรุปมีผู้เสียชีวิต 31 คน บาดเจ็บ 58 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 32 คน เหตุการณ์กราดยิงครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย…


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top