Thursday, 4 July 2024
Lite

หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 60 ปีก่อน มีนักสื่อสารมวลชนคนหนึ่งที่ถือได้ว่า เป็นผู้บุกเบิกวงการข่าว และหนังสือพิมพ์ของเมืองไทย เขาคนนั้นคือ 'อิศรา อมันตกุล'

อิศรา อมันตกุล เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ก่อนจะเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ต่อมา นายอิศราได้เข้าสู่แวดวงหนังสือพิมพ์ ด้วยการเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ และหนังสือพิมพ์ประชามิตร ตามลำดับ

เมื่อเวลาผ่านไป นายอิศรายังเป็นทีมงานในหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ กระทั่งได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในปัจจุบัน) โดยในช่วงปี พ.ศ. 2501 เกิดการรัฐประการ นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ถูกปิด และนายอิศรา ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ รวมทั้งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อื่น ๆ อีกหลายฉบับ ต่างถูกจับ ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

นายอิศรา ถูกคุมขังอยู่เกือบ 6 ปี จึงถูกปล่อยตัวออกมา และกลับเข้าทำงานในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์อีกครั้ง โดยตลอดชีวิตการทำงาน นายอิศรา อมันตกุล ถือเป็นนักสื่อสารมวลชนที่เป็นที่ยอมรับในเรื่องการนำเสนอข่าวสารที่ตรงไปตรงมา เจ้าตัวเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก และดำรงตำแหน่งติดต่อกันเป็นเวลาถึง 3 ปี

ในช่วงท้ายของชีวิต นายอิศราล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ลิ้น ใช้เวลารักษาตัวอยู่ราว 10 เดือน ก่อนจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2512 แต่ถึงแม้ตัวจะจากไป ชื่อเสียงและผลงาน ในฐานะนักสื่อสารมวลชนคนสำคัญ ก็มิได้เลือนหายไป

โดยหลังจากที่นายอิศราเสียชีวิตไปไม่นาน ได้มีการก่อตั้ง ‘มูลนิธิอิศรา อมันตกุล’ ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และต่อมา ยังใช้ชื่อ ‘อิศรา อมันตกุล’ เป็นชื่อในการมอบรางวัลให้กับนักข่าวและนักสื่อสารมวลชนรุ่นหลัง ที่มีผลงานดีเด่น เป็นประจำทุกปีอีกด้วย


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/อิศรา_อมันตกุล

วันนี้เมื่อกว่า 163 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชกำเนิด ‘หนังสือราชกิจจานุเบกษา’ สิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า มีความสำคัญ และอยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

หนังสือราชกิจจานุเบกษา เป็นหนังสือลงประกาศใช้กฎหมายและข่าวสำคัญต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง เริ่มจัดพิมพ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกาศข่าวสาร และป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ตามพระราชปรารภ โดยจัดตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ ของหมอบรัดเลย์

ปัจจุบันหนังสือราชกิจจานุเบกษา ยังถูกตีพิมพ์ติดต่อกันมาโดยตลอด ถือเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีอายุยาวนานที่สุดของประเทศไทย โดยมีสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบจัดพิมพ์ และเผยแพร่เป็นรายสัปดาห์

ทั้งนี้เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรก คือ การบอกข้อราชการ และข่าวต่าง ๆ ส่วนประเภทที่สอง คือ แจ้งความ ประกาศ พระราชบัญญัติ และกฎหมายต่าง ๆ โดยตามธรรมเนียมปฏิบัติ สามารถสมัครเป็นสมาชิกรับหนังสือราชกิจจานุเบกษาได้ตั้งแต่ เดือนกันยายนถึง 30 พฤศจิกายน ของทุกปี

ผ่านมาจนถึงวันนี้ กว่า 163 ปีมาแล้ว ที่หนังสือราชกิจจานุเบกษา ยังคงตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารสำคัญ นอกจากจะเป็นสิ่งพิมพ์ฉบับสำคัญของประเทศ ยังเป็นเสมือนบทบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มากมาย ทั้งเรื่องการเมือง การปกครอง ขนบประเพณี ตลอดจนวิวัฒนาการทางภาษา และการพิมพ์ ที่คนรุ่นหลัง สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ และมีความแม่นยำเป็นอย่างมากอีกด้วย


ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/878787

‘ราษฎรกับแกนนำทั้ง 7’ เปิดรายละเอียด ทำผิดที่ไหน ผิดคดีอะไรบ้าง?

#เรียงหน้าเข้าเรือนจำ สำหรับ ‘รุ้ง - ไผ่ - ไมค์ - แอมมี่ - อานนท์ - เพนกวิน - โตโต้’ เหล่าแกนนำและแนวหน้าของกลุ่มราษฎร ถึงเวลานี้ ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยที่เข้าเรือนจำไปก่อนหน้าอย่าง ‘เพนกวิน - พริษฐ์ ชีวารักษ์’ และ ‘อานนท์ นำพา’ ถูกปฏิเสธการประกันตัวมาแล้วถึง 4 ครั้ง

ส่วน แอมมี่ - ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ที่เพิ่งเข้าไปอาทิตย์ก่อน ศาลก็ไม่ให้ประกันตัว เนื่องจากเกรงมีพฤติกรรมหลบหนี และที่เพิ่งถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำอีก 4 ราย คือ ไมค์ - ภาณุพงศ์ จาดนอก, โตโต้ - ปิยรัฐ จงเทพ, ไผ่ - จตุรภัทร์ บุญภัทรรักษา และรุ้ง - ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ก็เข้าข่ายกรณีเดียกวันคือ ไม่ได้รับการประกันตัวออกมาจากเรือนจำ

ก่อนจะไปว่ากันถึงเรื่องการสู้คดีกันยาว ๆ THESTATESTIMES ขอรวบรวมกิจกรรมที่แต่ละคนได้ไปกระทำความผิด รวมทั้งคดีที่ถูกกล่าวหา มีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน

รวมนักการเมือง เปลี่ยนชื่อแล้ว ปัง!

เมื่อวาน กระแสข่าว การเปลี่ยนชื่อของ ‘แรมโบ้อีสาน’ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยเจ้าตัวเปลี่ยนชื่อมาเป็น เสกสกล อัตถาวงศ์ ไม่ใช่ ๆๆ ต้องใช้ว่า ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ท่านแรมโบ้อีสานแจ้งกับนักข่าวอย่างนี้ ต่อไปนี้ ถ้าไม่เรียก ด็อกเตอร์เสกสกล ก็ต้องเรียกว่า ด็อกเตอร์แรมโบ้ กันล่ะนะ

พอมีข่าวนักการเมืองเปลี่ยนชื่อแซ่ THE STATES TIMES เลยไปสรุปมาให้ว่า ที่ผ่านมา มีนักการเมืองคนไหนบ้าง ที่เคยจัดการเปลี่ยนชื่อแซ่ แถมเพิ่มเติมให้อีกนิดว่า พอเปลี่ยนแล้ว ปัง ปัง ปัง ไม่ใช่เสียงปืนนะ เสียงความโด่งดังต่างหาก ไม่เชื่อไปดูสิ มีคนไหนไม่ดังบ้าง

พีค of the week EP.10

สัปดาห์ที่ผ่านมา กทม. แทบแตก เพราะ ‘พระมหาเทวีเจ้า’ เดินทางด้วยรถไฟไทย มาเยือน กทม. งานนี้แฟนคลับมารอท่าจนหัวลำโพงแทบแตก พอเปิดหน้าจอสมาร์ตโฟนขึ้นมา โอ๊ว มีข่าวที่ร้อนแรงยิ่งกว่าแม่หญิงลี เป็นเรื่องราวดาราสาว 'จั๊กจั่น' กับโลกหลายใบของเธอ กลายเป็นมหากาพย์ที่สายเผือกจับจ้องกันตาไม่กระพริบ

หันมาทางด้านการเมือง นี่ก็ฮอตได้ตลอด ๆ หลังจากแนวร่วมม็อบสามนิ้ว ทยอยเข้าเรือนจำ บรรดาคณาจารย์จึงต้องออกโรง ขอยื่นเรื่องประกันเพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหา ได้กลับไปเรียนหนังสือ ต้องติดตามกันว่า ศาลจะพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวได้เมื่อไร แต่เอาเป็นว่า ตอนนี้ไปดูบรรดาข่าวพีค ๆ เหล่านี้เสียก่อน THE STATES TIMES รวบตึงมาให้ชมกันแล้ว ณ บัดนาว! Let’s go!!

.

 

 

หลายคนคุ้นเคยกับอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด หรือบริการอาหารจานด่วน ซึ่งหากย้อนเวลากลับไป วันนี้เมื่อ 36 ปีที่แล้ว เมืองไทยมีแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังมาเปิดสาขาเป็นครั้งแรก นั่นคือ แมคโดนัลด์

ร้านแมคโดนัลด์ เปิดบริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทย สาขาแรกที่อาคารอมรินทร์พลาซา บริเวณสี่แยกราชประสงค์ โดยการนำเข้ามาของ เดช บุลสุข นักธุรกิจ อดีตผู้ก่อตั้ง บริษัท แมคไทย จำกัด และเป็นผู้บริหารร้านแมคโดนัลด์ในยุคแรกเริ่ม

แมคโดนัลด์ ถือเป็นร้านอาหารสาขาข้ามชาติในยุคแรก ๆ ที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย ก่อนที่จะมีร้านในลักษณะแฟรนไชส์เกิดขึ้นในประเทศอีกมากมาย และทำให้กระแสการบริโภคอาหารประเภทบริการจานด่วน หรือ ฟาสต์ฟู้ด กลายเป็นที่นิยม และเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการบริโภคของคนไทยมาโดยตลอด

สำหรับแบรนด์ แมคโดนัลด์ ต้นกำเนิด ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1948 (หรือ พ.ศ. 2491) เป็นร้านแฮมเบอร์เกอร์ที่ตั้งอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีจุดขายคือการนำระบบการบริการที่รวดเร็วเข้ามาใช้ จนกลายเป็นต้นกำเนิดของร้านอาหารแบบฟาสต์ฟู้ดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน แมคโดนัลด์ มีสาขามากกว่า 30,000 สาขา ใน 121 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยสาขาแรกในประเทศไทย จัดเป็นประเทศที่ 35 ของโลก และถึงวันนี้ มีสาขาแมคโดนัลด์ที่เปิดทำการในประเทศไทยอยู่กว่า 245 สาขา และยังคงครองใจคนรักแฮมเบอร์เกอร์ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน


ที่มา:

https://www.mcdonalds.co.th/aboutUs?lang=th,

https://th.wikipedia.org/wiki/แมคโดนัลด์

วันที่ 17 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวหมัดมวย เนื่องจากวันนี้ถูกยกให้เป็น ‘วันนายขนมต้ม’ สุดยอดนักมวยไทยเลื่องชื่อที่ถูกเล่าขานกันมาหลายร้อยปี

นายขนมต้ม เป็นนักมวยที่มีฝีไม้ลายมืออันเก่งกาจ เขาเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธา ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในสมัยเด็ก ๆ นายขนมต้มอาศัยอยู่ในวัด ได้ศึกษาเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีความสามารถในศิลปะป้องกันตัวชนิดนี้เป็นอย่างมาก

ต่อมา พ่อแม่และพี่สาวของนายขนมต้มถูกฆ่าตายในสงคราม เหลือเพียงแต่นายขนมต้มที่รอดชีวิต แต่เจ้าตัวก็ถูกจับมาเป็นเชลยในระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 กระทั่งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2317 นายขนมต้มได้มีโอกาสขึ้นชกมวยต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า และสามารถเอาชนะนักมวยพม่าได้ถึง 10 คน

พระเจ้ามังระจึงปูนบำเหน็จให้เป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะ แต่นายขนมต้มปฏิเสธ และได้ขอเปลี่ยนให้เป็นการปลดปล่อยตนและเชลยคนไทยทั้งหมด ในที่สุดนายขนมต้มจึงได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิด ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งการตอสู้ในครั้งนั้น ทำให้ชื่อของนายขนมต้ม เป็นที่เลื่องลือ และศิลปะแม่ไม้มวยก็ได้รับการยกย่อง

เมื่อเวลาผ่านไป อนุชนคนรุ่นกลัง จึงได้ยกให้วันที่ 17 มีนาคมของทุกปี ให้เป็นวันนายขนมต้ม หรือ วันมวยไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเชิดชูบรมครูมวยไทยคนนี้ รวมทั้งยังเป็นการให้เกียรติเหล่านักมวยไทย ที่สืบสานศิลปะป้องกันตัวของชาติให้คงอยู่สืบไป


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/นายขนมต้ม

https://www.thairath.co.th/news/881791

วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนา พรรณวดี มีอายุครบ 36 ปีบริบูรณ์

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2528 ที่เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพี่สาวและพี่ชาย คือ ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน และคุณพุ่ม เจนเซน ในวัยเยาว์ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา หรือ คุณใหม่ ได้ศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาเอิร์ลวอร์เรนจูเนียร์ (Earl Warren Junior High School) และโรงเรียนมัธยมศึกษาทอร์เรย์ไพนส์ (Torrey Pines High School) ก่อนที่สำเร็จการศึกษาด้านวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สาขาการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออก

หลังสำเร็จการศึกษา ท่านผู้หญิงสิริกิติยาได้ทำงานหลากหลายด้าน อาทิ ทำงานด้านการออกแบบ โดยเริ่มฝึกงานกับ โยจิ ยามาโมโตะ นักออกแบบชื่อดังชาวญี่ปุ่น และทำงานกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่างแอร์เมส กระทั่งกลับมาเมืองไทย จึงได้เข้าฝึกงานในกลุ่มงานวิชาการการอนุรักษ์ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ของกรมศิลปากร

ในปี พ.ศ. 2561 ท่านผู้หญิงสิริกิติยาเป็นผู้อำนวยการในโครงการ ‘วังน่านิมิต’ ซึ่งเป็นผลงานการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคล ผ่านเทคโนโลยีสื่อในรูปแบบภาพ (Visual Language) ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากมาย ต่อมายังมีผลงานอันน่าสนใจอื่น ๆ อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของท่านผู้หญิงสิริกิติยา กับการตามรอยเสด็จประพาสรัชกาลที่ 5 ที่นอร์เวย์ ในวาระครบรอบ 115 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย - นอร์เวย์ พ.ศ.2563

ด้วยเจตนารมย์ในการสืบสานประวัติศาสตร์ไทยในหลากหลายบริบท เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงทำให้ท่านผู้หญิงสิริกิติยา มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการผลักดันผลงานศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้ได้รับความสนใจ และถูกสานต่ออย่างถูกต้องและดีงามต่อไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สิริกิติยา_เจนเซน

โดยนอกเหนือจากห้องสมุดของคนปกติทั่วไป ห้องสมุดเฉพาะทาง อย่างห้องสมุดคนตาบอด ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญ ที่เป็นแหล่งความรู้ให้กับผู้พิการทางสายตา ซึ่งในวันนี้เมื่อ 44 ปีก่อน เมืองไทยได้เปิดห้องสมุดสำหรับคนตาบอดเป็นครั้งแรก มีชื่อว่า ห้องสมุดคอลฟิลด์

ห้องสมุดคอลฟิลด์ เป็นหน่วยงานหนึ่งของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยที่มาของชื่อ คอลฟิลด์ มาจากชื่อของ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สุภาพสตรีชาวต่างชาติ ที่เข้ามาบุกเบิกช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาในเมืองไทย

โดยห้องสมุดคอลฟิลด์ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ในด้านการศึกษา และสาระบันเทิงต่าง ๆ สำหรับคนตาบอด เปิดบริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2520 ได้รับการสนับสนุน และร่วมบริจาคจากสมาคมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

เช่น สมาคมคนตาบอดสวีเดน ได้บริจาคโรงพิมพ์เก่า อันประกอบด้วยแท่นพิมพ์ อุปกรณ์สำหรับพิมพ์หนังสือเบรลล์ และมอบอุปกรณ์การผลิตหนังสือเทป ต่อมา ประเทศเยอรมนี ได้สร้างห้องบันทึกเสียงสำหรับผลิตหนังสือเทปอย่างดี ทำให้การผลิตหนังสือเพื่อป้อนห้องสมุดคนตาบอด เริ่มมีคุณภาพและผลงานมากขึ้น

กระทั่งย่างเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ ข้อมูลข่าวสารสำหรับคนตาบอด ก็ยิ่งมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คนตาบอดสามารถอ่านหนังสือจากคอมพิวเตอร์ด้วยเสียง รวมทั้งสามารถเข้าถึง Internet ได้อย่างง่ายดาย ห้องสมุดคอลฟิลด์จึงถูกขยายกลายเป็นศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อคนตาบอดในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน ห้องสมุดคอลฟิลด์ ยังคงให้บริการ ทั้งการผลิตหนังสือเบรลล์ การผลิตหนังสือเทป และการบริการห้องสมุด ซึ่งเปิดให้บริการให้กับสมาชิกทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาสำหรับคนตาบอด และเป็นการเพิ่มทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างประโยชน์แก่ประเทศต่อไป

ห้องสมุดคอลฟิลด์ ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ตั้งอยู่ บนถนนติวานนท์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โทร.0-2583-6518


ที่มา: http://www.blind.or.th/centre/about_show/3, http://tabgroup.tab.or.th/node/30

กลุ่ม อสม. หรือ อาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่เป็นหน่วยหน้าในการเข้าไปพบปะดูแล ให้ความรู้เรื่องอาการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 ของคนไทยในชนบท ซึ่งในวันนี้ก็มีการยกให้เป็นวันสำคัญของพวกเขา นั่นคือ วันอสม. หรือวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ

วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ให้ทุกวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันอสม.แห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ และส่งเสริมให้อสม.ได้รวมพลังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประขาชนชาวไทย โดยได้ดำเนินการจัดงานเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา

กล่าวถึง อสม.เป็นโครงการที่กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2520 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกันเองด้วยวิธีประหยัด ตลอดจนช่วยแบ่งเบาภาวะการขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในชนบท จึงได้เปิดรับมัครผู้ที่มีความสมัครใจในการทำงานเพื่อส่วนรวม โดยเป็นผู้ที่ชาวบ้านไว้ใจ และมีที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อมาร่วมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

ในระยะแรกเริ่ม มีการทดลองใน 20 จังหวัด โดยอสม.จะยึดหลักการทำงานที่ว่า ‘แก้ข่าวร้าย กระจ่ายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี’ จนต่อมาได้ขยายจำนวนของอสม. มากขึ้น กระจายไปทุก ๆ จังหวัดของประเทศไทย

กระทั่งในปัจจุบัน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นจำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมือง และเขตชนบท เพื่อทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ กระตุ้นเตือน และส่งเสริมชักชวนให้พี่น้องประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันโรค

โดยเฉพาะในช่วงปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤติโควิด -19 ระบาด กลุ่มอสม. ถือเป็นกองทัพมดงาน ที่กระจายกำลังลงไปในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 11 ล้านครัวเรือน เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคระบาดชนิดนี้ รวมทั้งยังช่วยเก็บข้อมูลด้านสาธารณสุข ส่งกลับมาให้หน่วยงานใหญ่ หรือภาครัฐ ได้ใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญอีกด้วย

ไม่ผิดไปนัก หากจะบอกว่า อสม. คือ ผู้ปิดทองหลังพระ โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดในตอนนี้ และในวันนี้ที่เป็นวันพิเศษของพวกเขา เราจึงขอร่วมชื่นชม และเป็นกำลังใจ ให้ทำหน้าที่เพื่อสังคมประเทศชาติต่อไปให้ดีที่สุด


ที่มา: https://hrdo.org/อสม-มดงานในระบบสุขภาพไท/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top