Sunday, 18 May 2025
Lite

ตอนสุดท้าย ‘พรหมลิขิต EP.26’ ดูสดพร้อมกันคืนนี้ ลุ้น!! ความรัก ‘พ่อริด-แม่พุดตาน’ จะลงเอยเช่นไร

(18 ธ.ค.66) เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายแล้วสำหรับ ‘พรหมลิขิต’ แฟนละครทุกท่านสามารถติดตามชม EP.26 ตอนจบ พร้อมกันได้ที่ทางช่อง 3HD กด 33 และช่องทางรับชมบนโทรศัพท์มือถือ กด 3Plus ตั้งแต่เวลา 20.30 น. เป็นต้นไป และอีกหนึ่งข่าวดีสำหรับใครที่กลัวดูสดไม่ทัน สามารถรับชมสตรีมมิ่งบน Netflix ได้เช่นกัน (คาดว่าลงหลังออนแอร์เหมือนกับหนังและซีรีส์ทั่วไป)

>> เรื่องย่อ พรหมลิขิต ตอนที่ 26 (ตอนจบ) 

พ่อริดเห็นความไม่โปร่งใสของพระยาโกษาธิบดีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ พ่อริดจึงตัดสินใจครั้งใหญ่ พูดกับพระยาโกษาธิบดีตรง ๆ ว่ารู้เรื่องทุจริตทั้งหมดแล้วและขอไม่ทำงานด้วยอีก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับพระยาโกษาธิบดีเป็นอย่างมาก จนทำให้แม่หญิงแพรจีนตกที่นั่งลำบากเสียแล้ว

ในขณะที่คุณหญิงจำปาเริ่มป่วยและอาการทรุดหนัก ก็ได้หลาน ๆ ผลัดกันมาดูแลอย่างใกล้ชิด แม้จะมีอุปสรรคความรักมากเพียงใด แต่พุดตานกับพ่อริดก็จับมือสู้กันมาทุกครั้ง ซึ่งการใช้ชีวิตของพุดตานก็ยังไม่เคยหยุดทำมาหากิน เธอยังขยันหาเมนูใหม่ ๆ มาทำขายที่ตลาด จนเป็นที่ติดใจทั้งขุนหลวงและหนุ่ม ๆ ที่ผ่านไปผ่านมา และระหว่างนั้นเกศสุรางค์เดินทางไปเยี่ยมตองกีมาร์เพื่อแสดงความยินดีที่เธอได้อวยยศเป็นท้าวทองกีบม้า

แล้วเมื่อเวลาผ่านไป จู่ ๆ วันหนึ่งเกศสุรางค์ได้ฝันเห็นยายนวลที่มาหาหลาน ๆ ซึ่งยายมาเพื่อบอกให้ทุกคนเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังจากเหตุการณ์ทั้งหมดผ่านพ้นไป เกศสุรางค์บันทึกเรื่องราวเหล่านี้ลงสมุดบันทึกและปิดสมุดลงพร้อมยิ้มอย่างมีความสุข

19 ธันวาคม พ.ศ. 2423  วันประสูติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 วันประสูติ ‘เสด็จเตี่ย’ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดากองทัพเรือไทย

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423

พระองค์ทรงได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น 'พระบิดาของกองทัพเรือไทย' และต่อมาได้แก้ไขเป็น 'องค์บิดาของทหารเรือไทย' เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก

ส่วนกรณีที่นักเรียนนายเรือพากันเรียกพระองค์ว่า 'เสด็จเตี่ย' นั้น พลเรือโท ศรี ดาวราย สันนิษฐานว่า มาจากการที่พระองค์ทรงขัดดาดฟ้าให้นักเรียนนายเรือใหม่ ๆ ที่ฝึกภาคทางทะเลบนเรือหลวงพาลีรั้งทวีปดูเป็นแบบอย่าง ในปี พ.ศ. 2462 หลังจากที่ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนเหล่านั้นทำงานนี้ด้วยท่าทางเงอะงะเก้งก้าง โดยตรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า 'อ้ายลูกชาย มานี่เตี่ยจะสอนให้'

เมื่อช่วงต้นรัชกาลที่ 6 กรมหลวงชุมพรฯ ทรงออกจากราชการซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “…กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ทรงสบาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกเป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว ๑ จนถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นตำแหน่งจเรทหารเรือ…”

แต่กรณีนี้ ศรัณย์ ทองปาน มีความเห็นต่างออกไปโดยเห็นว่า “…ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ เกิดเหตุนายทหารเรือผู้หนึ่งเมาสุราในร้านอาหารสันธาโภชน์ ที่ตำบลบ้านหม้อ แล้วเกิดวิวาทกับมหาดเล็กหลวง ทำให้รัชกาลที่ ๖ ทรงพิโรธ ดังความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ‘…ปรากฏชัดว่าได้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตฟุ้งซ่านจนนับว่าเสื่อมเสียวินัยและนายของทหาร…สมควรลงโทษเป็นตัวอย่าง’

ประกอบกับมีข่าวลือว่า กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์กับกรมขุนนครสวรรค์วรพินิต กำลังวางแผนก่อกบฏ ชิงราชสมบัติ โดยแม้ว่าพระองค์ทรงออกจากราชการแล้วทางการก็ยังให้ตำรวจท้องที่คอยติดตามการเคลื่อนไหวของพระองค์…”

ระหว่างที่ทรงอยู่นอกราชการ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นหมอยา ใช้พระนามว่า 'หมอพร' ในช่วงนี้เองที่กล่าวกันว่า ทรงปราบนักเลงนางเลิ้งได้อยู่หมัด ได้นักเลงมาเป็นลูกน้องด้วย ช่วงเวลานี้กินเวลาราว 6 ปี พระองค์จึงได้กลับเข้ารับราชการกองทัพเรืออีกครั้ง หลังสยามประกาศสงครามกับเยอรมนี

เมื่อได้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือและทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติราชการทหารเรือด้วยพระอุตสาหะวิริยะแล้วก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนพระยศเป็นนายพลเรือโท และนายพลเรือเอก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศเป็น กรมขุนและกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตามลำดับ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับบัญชากำลังพลเทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในปัจจุบัน ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออันเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการทหารเรือ

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ กรมหลวงชุมพรฯ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ซึ่งเดิมมีชื่อว่า 'มณฑลชุมพร' อันพ้องกับพระนามกรม และได้ประชวรสิ้นพระชนม์เสียที่นั้น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466

‘โซเชียล’ ยก!! ฉากปรากฏตัว ‘คุณยายบรรเจิดศรี’ ในวัย 98 ปี แม่ผู้เขียนบท-ย่าแท้ๆ ของอึ่ง เป็นซีนที่ดีที่สุดของตอนจบ ‘พรหมลิขิต’

โซเชียลยกซีนที่ดีที่สุด #พรหมลิขิตตอนจบ การปรากฏตัวของ ‘คุณยายบรรเจิดศรี’ ในวัย 98 ปี ในบทยายของเกศสุรางค์ ชีวิตจริงเป็นย่าแท้ๆ ของอึ่ง เป็นแม่ของผู้เขียนบท

(19 ธ.ค. 66) ปิดฉากจบบริบูรณ์ ‘พรหมลิขิต’ เป็นที่อิ่มอกอิ่มใจของแฟนละคร มีการพูดถึงแต่ละฉากสุดประทับใจ โดยเพจดังอย่าง ‘หนูน้อยบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ’ ได้โพสต์ถึงซีนที่ตราตรึงใน #พรหมลิขิตตอนจบ กับฉาก ‘คุณยายนวล’ ยายของเกศสุรางค์ ปรากฏในความฝันของทั้ง เกศสุรางค์ที่อยู่ในร่างการะเกด และออกญาวิสูตรสาคร

โดยทางเพจเผยด้วยว่า “ซีนที่ดีที่สุดของพรหมลิขิตในตอนจบคืนนี้ คือการปรากฏตัวของ ‘คุณยายบรรเจิดศรี ยมาภัย’ นักแสดงอาวุโสในวัย 98 ปี ในบทของคุณยายนวล (ยายของเกศสุรางค์)

ซึ่งในชีวิตจริงคุณยายบรรเจิดศรีเป็นย่าแท้ๆ ของ ‘อึ่ง’ และเป็นแม่ของคุณศัลยา (ผู้เขียนบท) #จากแฟนละครขอให้คุณยายสุขภาพแข็งแรงนะคะ”

‘นุ่น รมิดา’ ก็เข้ามาส่งหัวใจ ขณะที่ แฟนละคร ต่างคอมเมนต์ประทับใจฉากดังกล่าวของคุณยายบรรเจิดศรี ยกให้เป็นซีนพิเศษ ซีนที่สุดอีกหนึ่งซีนด้วย อาทิ

“เป็นแฟนละครของคุณยายตั้งแต่เล็ก จำความได้ ก็เห็นคุณยายรับบท ยาย ย่า จนตอนนี้แม้อายุมากแต่เห็นท่านมีสุขภาพแข็งแรงตามอัตถภาพ เป็นเรื่องดีต่อใจมากเหลือเกินค่ะ”

“คุณยายถือเป็น MVP ของเรื่องเลยตั้งแต่ตามมา ว้าวมากๆ”

“ซีนนี้ประทับใจที่สุด ขอให้คุณยายสุขภาพแข็งแรงนะคะ”

“เป็นอีกฉากที่ร้องไห้หนักเลยค่ะแอด” เป็นต้น

‘หนุ่ม กรรชัย’ ฝากความในใจถึง ‘ครูตี๋สอนจีบสาว’ หลังทัวร์ลงยับ ขอให้หยุดความคิดนี้ ซ้ำ!! เป็นการเหยียดผญ.-คนเจ๋งจริงเขาไม่อวด

(19 ธ.ค.66) หลังจากเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลถึง ‘ครูตี๋สอนจีบสาว’ ไลฟ์โค้ชคนล่าสุดที่ออกมาสอนหนุ่มถึงเรื่องผู้หญิง จนถูกกระแสสังคมตีกลับ โดยล่าสุดวันนี้ในรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ก็ได้มีการเล่าข่าวเรื่องนี้เช่นกัน โดย ‘หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย’ หนึ่งในพิธีกรรายการก็ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“คือในมุมของพี่นะ เป็นผู้ชายเหมือนกัน พี่มองว่าเป็นการเหยียดผู้หญิง คือเหมือนพยายามจะบอกตัวเองว่าเป็นเจ้าโลกอย่างนี้หรอ มันไม่ใช่อะ ทำแบบนี้มันได้หรอ”

คือเอาตรง ๆ นะตี๋ หนุ่มเนี่ยก็กระฉ่อนมาก่อน วิธีของตี๋นี่เลอะเทอะ บอกเลยตี๋นี่ครูกะปิเอง เชื่อครูกะปิอย่ามีความคิดแบบนี้ นี่ฝากบอกผู้ชายด้วยอย่ามีความคิดแบบนี้นะ มันไม่ถูกต้อง จะไปบอกว่าต้องดูมูลค่าผู้หญิงที่เขาต้องต่ำกว่าเรา แล้วเราก็ต้องเสนอเขาอย่างนี้ ทั้งที่เรามีเมียอยู่แล้ว แล้วเดี๋ยวผู้หญิงเขาจะเข้ามาหาเรา มันไม่ใช่

จะไปบอกว่านี่ไม่ได้เหยียดนะ แต่สิ่งที่คุณพูดมันคือการเหยียด และเอาตรง ๆ นะ คนที่เจ๋งจริง ๆ เขาไม่พูดหรอก เขาอมภูมิ เขาไม่อวดภูมิเรื่องพวกนี้ แหม่…จะไปสอนคนให้ไปจีบหญิงให้มีเมียน้อยได้

มันเป็นกติกาที่ใช้ไม่ได้เลยนะ ฝากบอกครูตี๋นะ จากครูกะปินะ คนจริงเขาต้องอมภูมิเขาไม่อวดภูมิหรอกลูก เชื่อพ่อ…อยู่ดี ๆ อยู่ในที่ของตัวเอง ไม่ต้องออกมาสาระกับคนอื่นแล้วเรื่องแบบนี้มันเป็นการชักจูง ทำให้คนที่ไปทำเลียนแบบคุณ หรือคิดว่าใช้ได้ แล้วไปทำเรื่องแบบนี้ขึ้นคุณรับประกันได้ยังไง ถ้าเกิดฝ่ายหญิงเขารู้ว่าคุณไปหลอกเขาแล้วเขาเอาปืนมายิงคุณตาย หรือเหตุฆ่ากันมันก็มาจากเรื่องชู้สาวเยอะ เพราะฉะนั้นสอนก็สอนให้มันอยู่ในวิถี มุมมองที่มันถูกต้อง

และทิ้งท้ายว่า “ก่อนจะหยุดพ่อเคยสุดมาก่อนลูก”

20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันนี้เมื่อ 56 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ และทรงปลูกต้นกาลพฤกษ์ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย 

ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบพระบรมราโชวาทเนื่องในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า

"...การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี..."

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอุดมศึกษาสถานแห่งแรก ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กำเนิดของมหาวิทยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อน สงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจัง กระทำกันในรัฐบาล ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่เริ่ม พัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2505 การลงมือก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ขึ้นที่บ้านสีฐาน จังหวัดขอนแก่น และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Khon Kaen Institute of Technology มีชื่อย่อ K.I.T. โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาในปีพ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อ เป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติ ‘มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง มีชื่อเรียกว่า 'มอดินแดง' บนพื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และหน่วยงานเทียบเท่าคณะอีกจำนวนมาก

21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พิธีสมโภช พระศรีศากยทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑล

วันนี้ เมื่อ 41 ปีก่อน พิธีสมโภช ‘พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ พระประธานพุทธมณฑล ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า ‘พระใหญ่’ หล่อด้วยโลหะสำริด ประดิษฐานเป็นพระประธานพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑลที่พุทธมณฑลแห่งนี้ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ‘พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณใจกลางพุทธมณฑล ในโอกาสเฉลิมฉลองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาครบ 25 พุทธศตวรรษ โดยมีต้นแบบจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งออกแบบไว้ที่ความสูง 2.14 เมตร แต่ภายหลังมีความต้องการให้มีความหมายเป็นที่ประจักษ์ จึงออกแบบให้มีความสูงที่ 15.875 เมตร น้ำหนัก 17,543 กิโลกรัม

ตัวองค์พระมีโลหะสำริดเป็นส่วนประกอบสำคัญ 137 ชิ้น เริ่มสร้างขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 ในการจัดสร้างได้แบ่งตัวองค์พระพุทธรูปออกเป็น 6 ส่วนคือ ส่วนพระเศียร (ศีรษะ) ส่วนพระอุระ (อก) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างซ้าย พระนาภี (ท้องถึงสะดือ) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างขวา พระเพลา (ขา) ส่วนพระบาท (เท้า) และส่วนฐานบัวรองพระบาท

เดิมที ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2498 นั้น ได้มีแนวคิดในการจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเพื่อเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างองค์พระพุทธรูปในปัจจุบันนี้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลา และได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียรกับองค์พระพุทธรูป และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประกอบพิธีสมโภชพระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ และทรงเปิดพุทธมณฑลให้ประชาชนได้เข้านมัสการพระพุทธรูปและใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการสร้างตั้งแต่นั้นเป็นมา

22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 สยาม เสียดินแดนครั้งที่ 8 หลังเสีย ‘สิบสองจุไท’ ให้ฝรั่งเศส

วันนี้เมื่อ 135 ปีก่อน สยามต้องสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหกให้กับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 พื้นที่ 87,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเป็นดินแดนในประเทศเวียดนามและลาว

‘สิบสองจุไท’ คือดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาวและติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของญวน เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของตระกูลชาติพันธุ์ไทน้อย ซึ่งประกอบไปด้วย ชาวไทดำ (หรือลาวโซ่ง หรือผู้ไท), ไทขาว และไทพวน (หรือลาวพวน) มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 12 เมือง มีเจ้าปกครองทุกเมือง จึงเรียกกันว่า ‘สิบสองจุไท’ หรือ ‘สิบสองเจ้าไท’ เมืองเอกของสิบสองจุไทคือ ‘เมืองแถง’ หรือ ‘เมืองแถน’ (ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู ของประเทศเวียดนาม)

ด้านใต้ของสิบสองจุไทลงมาคือดินแดน ‘หัวพันทั้งห้าทั้งหก’ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวไทแดง ไทขาว ไทดำ ไทพวน แต่เดิมประกอบด้วย 5 หัวเมือง ต่อมาเพิ่มอีกหนึ่งหัวเมือง เป็น 6 หัวเมือง แต่ละหัวเมืองปกครองพื้นที่นาหนึ่งพันผืน จึงเรียกว่า ‘หัวพันทั้งห้าทั้งหก’ เมืองเอกของหัวพันทั้งห้าทั้งหกคือ ‘เมืองซำเหนือ’ ปัจจุบันอยู่ในแขวงหัวพัน ประเทศลาว

ดินแดนทั้งสองแห่งข้างต้นนี้ เคยปกครองตนเองเป็นอิสระ จนกระทั่ง ‘อาณาจักรล้านช้าง’ ปัจจุบันคือประเทศลาว ถือกำเนิดขึ้น แล้วขยายอิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนทั้งสอง ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัย ‘สมเด็จพระเจ้าตากสิน’ อาณาจักรล้านช้างทั้งหมดก็ได้กลายเป็นประเทศราชของไทย ดังนั้นดินแดนสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหก จึงตกเป็นของไทยไปด้วย

เมื่อถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ราวปี พ.ศ.2408 พวก ‘จีนฮ่อ’ หรือชาวจีนอพยพซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพวก ‘กบฏไท่ผิง’ ที่พ่ายแพ้สงครามต่อราชสำนักชิง ได้พากันหลบหนีจากตอนใต้ของจีนลงมายึดครองพื้นที่รอยต่อระหว่างแดนจีนกับญวน หลังจากนั้นได้บุกยึดลงมาจนถึงดินแดนสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก และ ‘เมืองพวน’ (ปัจจุบันคือแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว)

ต่อมาใน สมัยรัชกาลที่ 5 กองกำลังจีนฮ่อที่ตั้งอยู่เมืองพวนได้แบ่งออกเป็น 2 ทัพ เพื่อบุกเข้าตีเมืองเวียงจันทน์และหนองคาย กับบุกเข้าตีเมืองหลวงพระบางหลาย กระทั่งในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งกองทัพใหญ่ไปปราบกบฏฮ่ออีกครั้ง โดยรับสั่งให้ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม’ ทรงนำทัพไปปราบกบฏฮ่อทางเมืองพวน แล้วให้ ‘พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)’ นำทัพไปปราบกบฏฮ่อทางหัวพันทั้งห้าทั้งหก กองทัพไทยสามารถเอาปราบกบฏฮ่อได้อย่างราบคาบในปลายปี พ.ศ. 2430

การปราบกบฏฮ่อครั้งหลังสุดนี้ แม้กองทัพไทยจะได้รับชัยชนะ แต่ก็เกิดข้อพิพาทกับทางฝรั่งเศสขึ้น โดยในเวลานั้นฝรั่งเศสได้ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองดินแดนญวนไว้ได้แล้ว และฝรั่งเศสยังอ้างว่าดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นเมืองขึ้นของญวน ดังนั้นจึงต้องตกเป็นสิทธิของฝรั่งเศสด้วย เมื่อกองทัพไทยรุกไล่กบฏฮ่อจนเข้ามาถึงดินแดนสิบสองจุไท ทางฝรั่งเศสจึงกล่าวหาว่า กองทัพไทยบุกรุกดินแดนของฝรั่งเศสโดยพลการ ทำให้ฝรั่งเศสต้องส่งกองทัพจากแดนญวนเข้ามาขับไล่กบฏฮ่อด้วย แล้วตั้งประจันหน้ากับกองทัพไทยอยู่ที่เมืองแถง

พระยาสุรศักดิ์มนตรีเปิดการเจรจากับ ‘โอกุสต์ ปาวี’ (Auguste Pavie) รองกงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบาง แม้ต่างฝ่ายต่างยืนยันสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหก และต้องการให้อีกฝ่ายถอนกำลังทหารออกไป แต่ฝรั่งเศสมีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่าไทย และดินแดนพิพาทยังอยู่ใกล้กับญวนมากกว่าไทย หากเกิดสงครามขึ้นจริงก็ยากที่ไทยจะเป็นฝ่ายชนะ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ตัวแทนฝ่ายไทยกับฝรั่งเศสจึงได้ทำสัญญาร่วมกันที่เมืองแถง โดยมีเงื่อนไขว่า ในระหว่างที่ยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ทหารฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ที่สิบสองจุไท และทหารไทยจะตั้งอยู่ที่หัวพันทั้งห้าทั้งหก ต่างฝ่ายต่างจะไม่ล่วงล้ำเขตแดนกัน

นับแต่นั้นไทยก็เสียสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทไปให้กับฝรั่งเศส และสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทกับหัวพันทั้งห้าทั้งหกไปอย่างสมบูรณ์เมื่อเกิด ‘วิกฤติการณ์ ร.ศ.112’ หรืออีก 5 ปีต่อมา

23 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ‘โตโจ ฮิเดกิ’ อดีตนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่น ถูกประหารชีวิต ในฐานะอาชญากรสงคราม

โตโจ ฮิเดกิ (Tojo Hideki) คือนักการทหารและนักบริหารที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ เขาได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 1 ในปี 1928 (พ.ศ. 2471) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปราบกลุ่มกบฏ “ยังเติร์ก” ในปี 1936 (พ.ศ. 2479) ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาใหญ่กองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรียในปีต่อมา

ตำแหน่งหน้าที่ของ โตโจ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนับแต่นั้นมา ในปี 1938 (พ.ศ. 2481) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงคราม และเขาก็ได้เป็นหัวแรงสำคัญที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าเป็นภาคีของกลุ่มอักษะสำเร็จในปี 1940 (พ.ศ. 2483) ปีเดียวกันกับที่เข้าได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงครามเต็มตัว จากนั้นอีกเพียงหนึ่งปี เขาก็ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ฟูมิมาโระ โคโนเอะ โดยยังยึดเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสงครามต่อไป

โตโจ นอกจากจะเป็นข้าราชการที่ได้ชื่อเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เขายังเป็นนักการทหารที่มีนโยบายก้าวร้าวที่สุดในบรรดาผู้นำญี่ปุ่น เขาคือผู้นำประเทศเข้าสู่สงครามกับสหรัฐฯ ด้วยการบุกโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) ซึ่งเบื้องต้นได้ทำให้ญี่ปุ่นขยายอิทธิพลไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก

ในปี 1944 (พ.ศ. 2487) โตโจ ก้าวขึ้นมาดูแลกิจการของกองทัพทั้งหมดโดยตรงในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในสมรภูมิหมู่เกาะมาเรียนา (Mariana Islands) เขาก็ถูกปลดจากตำแหน่งในวันที่ 16 กรกฎาคม 1944 ก่อนที่เขาและรัฐมนตรีทั้งคณะจะประกาศลาออกในอีกสองวันถัดมา และถูกกันไม่ให้เข้ามามีส่วนในการใช้อำนาจบริหารประเทศอีก

หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการ โตโจพยายามใช้ปืนยิงตัวตายในวันที่ 11 กันยายน 1945 (พ.ศ. 2488) แต่ไม่สำเร็จ เขาได้รับการรักษาและมีชีวิตรอดมาได้

ปีถัดมา โตโจถูกดำเนินคดีในความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงคราม โดยศาลทหารระหว่างประเทศภาคพื้นตะวันออกไกล (International Military Tribunal for the Far East) หรือศาลอาชญากรสงคราม กรุงโตเกียว ซึ่งศาลได้ตัดสินว่าเขามีความผิดให้ต้องโทษประหารชีวิต

วันที่ 23 ธันวาคม 1948 (พ.ศ. 2491) ฮิเดกิ โตโจ ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ และแม้ว่าเขาจะถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรสงคราม และมีผู้ประท้วงจำนวนมากที่เห็นว่าเขาคือผู้ที่นำหายนะมาให้ญี่ปุ่น แต่ชื่อของเขาก็ยังได้รับการยกย่องในฐานะนายทหารที่สละชีพเพื่อพระจักรพรรดิ ในศาลเจ้ายาสุกุนิ

‘รอมแพง’ ขอโทษ ‘แดง ศัลยา-ทีมงาน’ หลังพรหมลิขิตตอนจบถูกสับเละ ลั่น!! “ตำหนิดิฉันได้เลย เขียนนิยายได้ไม่ดีพอจะเอามาทำเป็นละคร”

เปิดตัวสวย เรตติงน่าพอใจ สำหรับละคร ‘พรหมลิขิต’ ทางช่อง 3 ภาคต่อของละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ แต่เพราะตอนจบ เหมือนรีบตัดจบ จนทำแฟนละครพากันงงและผิดหวัง วิจารณ์กันสนั่น ทำนองว่า ทำไมต้องยัดทุกเรื่องราวไว้ในตอนสุดท้าย จนทำให้ทัวร์ลงอยู่ไม่น้อย…

ล่าสุด (22 ธ.ค. 66) ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จู่ๆ เฟซบุ๊ก ‘อาจารย์แดง ศัลยา สุขะนิวัตติ์’ ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงเรื่องนี้ ยันบทละครเหมือนนิยายทุกประการ บางข้อความคล้ายพาดพิงไปถึงคนเขียนนิยาย โดยระบุว่า…

“พรหมลิขิต 2566

ยกที่หนึ่ง

พรหมลิขิตตอนจบรวบรัดเกินไป นิยายเขียนคำว่า “จบบริบูรณ์” หลังจากฉากแต่งงานของพ่อริดเและพุดตาน ต่อจากนั้น นิยายเขียนว่า “ตอนพิเศษ” ความยาว 4 หน้าหนังสือ ในเมื่อเป็นตอนพิเศษ จึงไม่เพิ่มไม่ลดไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ

บทละครจึงเหมือนนิยายทุกประการ คำว่ารวบรัดเกินไปจึงขอมอบให้ตอนพิเศษของนิยายเรื่องนี้
ยังมียกต่อๆ ไป

1. ) คาแรคเตอร์ของพ่อริด เรื่องนี้ต้องพูดกันยาว
2.) คาแรคเตอร์คนอื่นๆ : ไม่เหมือนนิยายแน่หรือ?
3.) ตัวละครหาย : คนเขียนบทหรือนิยายกันแน่ที่ทิ้งตัวละคร
4.) เหตุการณ์พุดตานถวายตัวที่ไม่มีในนิยาย : ทำไม?
5.) บทอาฆาตแค้นของจันทราวดีต่ออทิตยาที่หายไป : เพราะอะไร?
6.) ศรีปราชญ์ : ตัวละครเจ้ากรรมตั้งแต่บุพเพสันนิวาส : มีและไม่มีเพราะอะไร?
7.) การเคารพบทประพันธ์และการเคารพวิถีการเขียนบทละคร : ศาสตร์ที่แตกต่างกัน
8.) บทละครเหมือนนิยาย หรือต่อยอดจากนิยาย เป็นสัดส่วนเท่าไหร่? : ต้องคำนวณ
9) การวิพากษ์วิจารณ์รวบยอดที่รุนแรงและไม่เป็นวัตถุวิสัย

ต่อมา ‘รอมแพง’ หรือ ‘จันทร์ยวีร์ สมปรีดา’ ก็ได้เผยถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า…

ตำหนิดิฉันได้เลย บอกน่าจะเป็นนิยายที่ไม่ดีพอจะทำเป็นละคร

“ขอน้อมรับความผิดพลาดของนิยายพรหมลิขิต ที่ทำได้ดีที่สุดเท่านี้ และน่าจะไม่ดีพอที่จะทำเป็นละคร จึงทำให้ทีมละครโดนวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เป็นความผิดของดิฉันเองค่ะ

หลายท่านอาจจะไม่พอใจที่ทีมทำละครโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยที่ดิฉันเหมือนลอยตัวจากการวิพากษ์นั้น จากการที่ดิฉันพิมพ์และพูดอยู่เสมอว่า หลังขายเป็นละครแล้วแทบจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของทีมละครเลย นอกจากจะมีการขอคำปรึกษาจากทีมงาน และต้องให้เกียรติคนทำงาน เพราะศิลปะการนำเสนอของละครกับนิยายแตกต่างกัน…

ซึ่งประโยคเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดิฉันพูดมาเป็น 10 ปี ในการไปเป็นวิทยากรทุกแห่ง จากการที่นิยายได้ทำเป็นละครมาหลายเรื่อง แน่นอนว่า ดิฉันไม่มีปัญหากับการดัดแปลงเพราะเข้าใจเป็นอย่างดีในศาสตร์ที่ต่างกัน แต่อาจจะมีความเสียดายในเนื้อหาหรือคาแรกเตอร์ที่เปลี่ยนไปบ้างแต่ก็ไม่ใช่ความเสียใจที่ขายเป็นละครอย่างแน่นอน

ดังนั้น แบ่งความคิดเห็นที่ตำหนิจากความผิดหวังในสิ่งที่คาดหวังจากละครมาทางดิฉันได้เลยค่ะ เพราะถ้าไม่โดนตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์เสียบ้าง ก็จะไม่ทำให้เกิดการพัฒนาขอบคุณมากนะคะ รอมแพง”

ต่อมา รอมแพงก็ได้เข้าไปคอมเมนต์ใต้เฟซบุ๊กของแดง ศัลยา ระบุว่า “อุ้ยต้องกราบขอโทษป้าแดงด้วยนะคะ ที่นิยายของอุ้ยมีความผิดพลาดขาดพร่อง จนทำให้ป้าแดงทำงานยาก และต้องดัดแปลงจนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขนาดนี้ รวมไปถึงความอ่อนด้อยในการตอบคำถามของพิธีกรและนักข่าว ก็ยิ่งสร้างความลำบากใจให้กับทีมละคร เป็นความผิดของอุ้ยเองค่ะ กราบขออภัยเป็นอย่างสูงค่ะ อุ้ย รอมแพง”

24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ประเทศไทย ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม

รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ออกประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับบรรดานานาอารยประเทศ ดังนั้นปี พ.ศ. 2483 จึงมีเพียง 9 เดือน

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ในสมัยโบราณมาเราถือว่า วันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันต้องด้วยในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเหมันตฤดูเป็นการเริ่มต้นปี และในสมัยโบราณนั้น วันขึ้นปีใหม่ ได้นับถือคติของพราหมณ์ คือใช้วันที่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นเช่นนั้นตลอดมา จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. 2432 แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้ก็เนื่องจากทางราชการได้นิยมใช้หลักทางสุริยคติ แต่ก็ยังคล้องต้องตามคติพราหมณ์อยู่นั่นเอง เพราะเดือน 5 ก็ตรงกับเดือนเมษายนเรื่อยมา

ต่อมาทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปฏิทิน พ.ศ.2483 และพระราชบัญญัตินั้นเริ่มใช้ได้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2483 รัฐบาลจึงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นในปี พ.ศ.2483 จึงมีเพียง 9 เดือนเท่านั้น คือเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินของนานาประเทศ มีหนังสือประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของ ไทยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และการใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ จะทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก 

ทั้งนี้ประเทศไทยจึงถือเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยตั้งแต่ นั้นจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าวันที่ 1 มกราคม จะถือปฏิบัติเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงถือว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วยเช่นเดียวกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top