22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 สยาม เสียดินแดนครั้งที่ 8 หลังเสีย ‘สิบสองจุไท’ ให้ฝรั่งเศส

วันนี้เมื่อ 135 ปีก่อน สยามต้องสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหกให้กับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 พื้นที่ 87,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเป็นดินแดนในประเทศเวียดนามและลาว

‘สิบสองจุไท’ คือดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาวและติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของญวน เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของตระกูลชาติพันธุ์ไทน้อย ซึ่งประกอบไปด้วย ชาวไทดำ (หรือลาวโซ่ง หรือผู้ไท), ไทขาว และไทพวน (หรือลาวพวน) มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 12 เมือง มีเจ้าปกครองทุกเมือง จึงเรียกกันว่า ‘สิบสองจุไท’ หรือ ‘สิบสองเจ้าไท’ เมืองเอกของสิบสองจุไทคือ ‘เมืองแถง’ หรือ ‘เมืองแถน’ (ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู ของประเทศเวียดนาม)

ด้านใต้ของสิบสองจุไทลงมาคือดินแดน ‘หัวพันทั้งห้าทั้งหก’ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวไทแดง ไทขาว ไทดำ ไทพวน แต่เดิมประกอบด้วย 5 หัวเมือง ต่อมาเพิ่มอีกหนึ่งหัวเมือง เป็น 6 หัวเมือง แต่ละหัวเมืองปกครองพื้นที่นาหนึ่งพันผืน จึงเรียกว่า ‘หัวพันทั้งห้าทั้งหก’ เมืองเอกของหัวพันทั้งห้าทั้งหกคือ ‘เมืองซำเหนือ’ ปัจจุบันอยู่ในแขวงหัวพัน ประเทศลาว

ดินแดนทั้งสองแห่งข้างต้นนี้ เคยปกครองตนเองเป็นอิสระ จนกระทั่ง ‘อาณาจักรล้านช้าง’ ปัจจุบันคือประเทศลาว ถือกำเนิดขึ้น แล้วขยายอิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนทั้งสอง ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัย ‘สมเด็จพระเจ้าตากสิน’ อาณาจักรล้านช้างทั้งหมดก็ได้กลายเป็นประเทศราชของไทย ดังนั้นดินแดนสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหก จึงตกเป็นของไทยไปด้วย

เมื่อถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ราวปี พ.ศ.2408 พวก ‘จีนฮ่อ’ หรือชาวจีนอพยพซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพวก ‘กบฏไท่ผิง’ ที่พ่ายแพ้สงครามต่อราชสำนักชิง ได้พากันหลบหนีจากตอนใต้ของจีนลงมายึดครองพื้นที่รอยต่อระหว่างแดนจีนกับญวน หลังจากนั้นได้บุกยึดลงมาจนถึงดินแดนสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก และ ‘เมืองพวน’ (ปัจจุบันคือแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว)

ต่อมาใน สมัยรัชกาลที่ 5 กองกำลังจีนฮ่อที่ตั้งอยู่เมืองพวนได้แบ่งออกเป็น 2 ทัพ เพื่อบุกเข้าตีเมืองเวียงจันทน์และหนองคาย กับบุกเข้าตีเมืองหลวงพระบางหลาย กระทั่งในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งกองทัพใหญ่ไปปราบกบฏฮ่ออีกครั้ง โดยรับสั่งให้ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม’ ทรงนำทัพไปปราบกบฏฮ่อทางเมืองพวน แล้วให้ ‘พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)’ นำทัพไปปราบกบฏฮ่อทางหัวพันทั้งห้าทั้งหก กองทัพไทยสามารถเอาปราบกบฏฮ่อได้อย่างราบคาบในปลายปี พ.ศ. 2430

การปราบกบฏฮ่อครั้งหลังสุดนี้ แม้กองทัพไทยจะได้รับชัยชนะ แต่ก็เกิดข้อพิพาทกับทางฝรั่งเศสขึ้น โดยในเวลานั้นฝรั่งเศสได้ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองดินแดนญวนไว้ได้แล้ว และฝรั่งเศสยังอ้างว่าดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นเมืองขึ้นของญวน ดังนั้นจึงต้องตกเป็นสิทธิของฝรั่งเศสด้วย เมื่อกองทัพไทยรุกไล่กบฏฮ่อจนเข้ามาถึงดินแดนสิบสองจุไท ทางฝรั่งเศสจึงกล่าวหาว่า กองทัพไทยบุกรุกดินแดนของฝรั่งเศสโดยพลการ ทำให้ฝรั่งเศสต้องส่งกองทัพจากแดนญวนเข้ามาขับไล่กบฏฮ่อด้วย แล้วตั้งประจันหน้ากับกองทัพไทยอยู่ที่เมืองแถง

พระยาสุรศักดิ์มนตรีเปิดการเจรจากับ ‘โอกุสต์ ปาวี’ (Auguste Pavie) รองกงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบาง แม้ต่างฝ่ายต่างยืนยันสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหก และต้องการให้อีกฝ่ายถอนกำลังทหารออกไป แต่ฝรั่งเศสมีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่าไทย และดินแดนพิพาทยังอยู่ใกล้กับญวนมากกว่าไทย หากเกิดสงครามขึ้นจริงก็ยากที่ไทยจะเป็นฝ่ายชนะ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ตัวแทนฝ่ายไทยกับฝรั่งเศสจึงได้ทำสัญญาร่วมกันที่เมืองแถง โดยมีเงื่อนไขว่า ในระหว่างที่ยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ทหารฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ที่สิบสองจุไท และทหารไทยจะตั้งอยู่ที่หัวพันทั้งห้าทั้งหก ต่างฝ่ายต่างจะไม่ล่วงล้ำเขตแดนกัน

นับแต่นั้นไทยก็เสียสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทไปให้กับฝรั่งเศส และสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทกับหัวพันทั้งห้าทั้งหกไปอย่างสมบูรณ์เมื่อเกิด ‘วิกฤติการณ์ ร.ศ.112’ หรืออีก 5 ปีต่อมา