Monday, 19 May 2025
GoodVoice

‘ศุภชัย’ ชู!! WTO เวทีกลาง เจรจา ประเทศมหาอำนาจ ‘สหรัฐฯ - จีน’ แนะ!! ไทย รักษาพื้นที่การคลัง เร่งเจรจาตลาดใหม่ รับมือความไม่แน่นอน

(3 พ.ค. 68) ในงาน MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNTCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'New World Order รับมือระเบียบโลกใหม่' ว่าปัจจุบันโลกมีความไม่แน่นอนมีสูงมากในขณะนี้เรากำลังมี 'new world order' ใหม่ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งบางคนมองว่าอาจจะเป็นภาวะที่เรียก new word disorder ที่มีความสับสนเพราะว่าโลกแบ่งออกเป็นหลายขั้วจึงต้องมีการเจรจาต่อรองโดยในโลกสมัยนี้เป็นโลกที่มีหลายขั้ว (multi polar world) สหรัฐ จีนรัสเซีย และยังมีขั้วของโลกเกิดใหม่อย่างเช่นอินเดีย อาเซียน อินโดนีเซีย เป็นอำนาจที่ไม่ได้มีใครเหนือใครแต่ต้องมาแบ่งปันและแชร์กัน

การที่มีความระส่ำระสายในระดับโลกนั้นเกิดขึ้นจากการที่ระเบียบและการค้าโลกแบบเดิมถูกสั่นคลอน สหรัฐฯเคยเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนที่ดูแลระบบโลกทั้งหมดได้แต่ในขณะนี้ไม่ใช่แล้ว ในเรื่องทางเศรษฐกิจนั้นก็ต้องยอมรับว่าสหรัฐฯนั้นถดถอยลงไปมาก จุดเริ่มต้นนี้มาจากการที่ประเทศอย่างจีนเข้ามาเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) สัดส่วนการค้าของสหรัฐฯโลกลดลงอย่างมาก ปัจจุบันสหรัฐฯมีสัดส่วนการค้าโลกประมาณ 8% ขณะที่จีนขึ้นมาเป็น 15-16% จีนกลายเป็นประเทศที่ส่งออกใหญ่ที่สุดของโลกสหรัฐกลายมาเป็นเบอร์ 2

สหรัฐยังมีปัญหาในเรื่องของระบบการเงิน โดยเห็นได้จากวิกฤตซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่จะสะท้อนว่ามีปัญหาระดับวิกฤตในระบบการเงินของสหรัฐฯ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายวิกฤตที่ทำให้เกิดคำถามถึงความเป็นผู้นำของสหรัฐฯในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การยึดไครเมียจากยูเครนในปี 2014 การเปิดเส้นทางสายไหมใหม่ (BRI)ของจีน ในปี 2016  ที่จีนสามารถค้าขายไปยุโรปและทั่วโลก การระบาดของโควิด 19 ในช่วงปี 2019 -2022 ซึ่งประเทศที่มีการลงทุนในสาธารณสุขมากมายมหาศาลอย่างสหรัฐฯมีความเสียหายเกิดขึ้นมาก

และในปี 2025 ในปัจจุบัน ที่เริ่มสงคราม AI  เมื่อจีนมีการเปิดตัว deep seeks ที่เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญของจีน ลงมา ลงทุนน้อยกว่าสหรัฐฯมากแต่ว่ามีประสิทธิภาพกว่า

ดร.ศุภชัย กล่าวว่าในสถานการณ์ปัจจุบันเวทีพหุภาคีทั้งหลายยังคงต้องเป็นความหวังให้การพูดคุยกันระหว่างประเทศต่างๆ เกิดขึ้นได้ เพื่อประคับประคองระบบต่างๆของโลกให้กลับไปสู่ภาวะปกติมากที่สุด ต้องเข้ามาดูแลปัญหาเรื่องพวกนี้พยายามลดอุณหภูมิไม่ให้ร้อนแรงไปมากกว่านี้ 

ทั้งนี้ได้มีการหารือกันในเวที WTO ว่าบทบาทของ WTO ในการเข้ามาเป็นเวทีในการพูดจาเรื่องนี้ ซึ่ง WTO ควรจะมีบทบาทในการเป็นเวทีกลางในการเจรจา โดยก่อนหน้านี้เราเคยมีวาระที่คุยกันเป็นรอบๆ ในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประชุมรอบเคนเนดี (Kennedy round) หรือว่าการประชุมรอบอุรุกวัย (Uruguay round) ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะเป็นเวทีที่เป็นรอบที่เป็นการพูดคุยกันเรื่องนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ (Trump round) ซึ่งว่าด้วยเรื่องของภาษีอากร ที่สำคัญเมื่อเราคุยกับอเมริกาแล้วเราก็ต้องคุยกับจีนได้ด้วยจะต้องคุยกับทั้งสองฝ่าย

สำหรับข้อเสนอของประเทศไทยในการรับมือกับสถานการณ์ที่โลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงมี 5 เรื่อง ได้แก่

1.เจรจากับตลาดอาเซียน และหาโอกาสการค้าในตลาดเกิดใหม่ โดยในปัจจุบันสหรัฐฯนั้นมีสัดส่วนการค้าโลกประมาณ 8% ขณะที่อาเซียนเราอยู่ในตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพและมีตลาดที่รวมกันทั่วโลกมีขนาด 30 -40 % ของการค้าโลก ซึ่งตอนนี้ไทยและอาเซียนควรต้องคุยกัน หาจุดร่วมกัน ไม่ควรใช้การกีดกันการค้า หรือดัมพ์ตลาดสินค้าใส่กัน เพราะจะเป็นการแก้ปัญหากำแพงภาษีกับสหรัฐฯแต่ก็จะสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา  

2.ในระยะยาวต้องมีการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิต เรื่องนี้ต้องไม่ละทิ้ง เพราะในยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี ได้มีการบอกว่าเราต้องทำอะไร ที่สำคัญมีเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือเราเดินทางสายกลางและมีภูมิคุ้มกันในขณะนี้เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันมากในทางของเศรษฐกิจ เมื่อมีความไม่แน่นอน เราต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ได้ในการรักษาเนื้อรักษาตัวของเรา เราต้องลงทุนในภาคของเศรษฐกิจ สังคม เรื่องสุขอนามัย การศึกษา พลังงานทดแทน เศรษฐกิจสีเขียวซึ่งเป็นการลงทุนใหม่ๆ ที่จะสร้างความต้องการในประเทศ ดูแลเศรษฐกิจภายในและให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตโดยไม่ต้องไปทำโครงการขนาดใหญ่ทั้งนี้หากจะสร้างคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ควรจะเป็นคอมเพล็กซ์เพื่อสุขภาพ กระจายไปในภาคต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการมากขึ้น

3.ประเทศไทยต้องมีการรักษาพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่อยู่ในมือของกระทรวงการคลังเป็นสิ่งที่เราต้องมี เราต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ได้พยายามอย่าให้มีการใช้จ่ายหรือกู้เงินในส่วนที่ไม่จำเป็น เพราะอีกไม่นานนี้อาจจะต้องมีโครงการที่เป็นการใช้เงินขนาดใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า ดังนั้นทางการคลังก็ต้องมีการดูแลตรงนี้ให้มาก

4.แก้ปัญหาและอุปสรรคที่มาใช่ภาษี โดยในรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เขียนถึงประเทศไทยยาวมาก แต่เขียนเรื่องภาษีไว้นิดเดียว เรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องของกฎระเบียบศุลกากร กฎระเบียบทางกฎหมาย กฎระเบียบตรวจสินค้า ที่ซับซ้อน เราต้องดูว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคกับคู่ค้า

5.แก้ปัญหาการลงทุนที่มีการสวมสิทธิ์ส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สหรัฐฯเพ่งเล็ง เพราะว่านโยบายของทรัมป์ในขณะนี้ต้องการให้เกิดแรงกระแทกมายังยุทธศาสตร์ China Plus1 ของจีนที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามการค้ารอบแรก เห็นได้จากการที่บริษัทผลิตโซลาร์เซลล์จากไทยที่ส่งไปขายสหรัฐฯเจอภาษีไป 300% เพราะเขารู้ว่าโรงงานนี้ย้ายจากจีนมาลงทุนเพื่อหลบภาษีที่เขาขึ้นกับจีนแล้วส่งสินค้าไปขยายยังสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้ต้องฝากกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะมีการออกมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อป้องกันการผลิตที่สวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดจากไทยแล้วส่งออก

กบน. ขยับปรับเงินกองทุนน้ำมันฯ รับมือภาษีใหม่ ตรึงราคาหน้าปั๊ม ช่วยประชาชนยุคค่าครองชีพสูง

เมื่อวานนี้ (6 พ.ค.68) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ประเภทน้ำมัน เพื่อรองรับการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินและดีเซล โดยยืนยันจะไม่ให้กระทบราคาขายปลีกน้ำมันหน้าปั๊ม ช่วยลดภาระค่าครองชีพในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน มอบหมายให้ สกนช. ประเมินผลกระทบและเสนอแนวทางรองรับการเก็บภาษีใหม่ โดยปรับลดเงินกองทุนฯ เท่ากับอัตราภาษีสรรพสามิต และพิจารณาค่าการตลาดที่เหมาะสม เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 7 พฤษภาคม 2568

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการ สกนช. เปิดเผยว่า การปรับครั้งนี้จะทำให้รายรับของกองทุนฯ ลดลงประมาณ 49.57 ล้านบาทต่อวัน แต่ยังสามารถรองรับได้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ หากเกิดวิกฤตราคาน้ำมัน กบน.อาจขอให้กรมสรรพสามิตพิจารณาลดภาษีลงอีกครั้ง

ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะติดลบอยู่ที่ 47,779 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 2,540 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,239 ล้านบาท ซึ่ง กบน. จะบริหารจัดการอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ

นายพรชัยย้ำว่า กบน. ดำเนินงานภายใต้หลักการโปร่งใส ตรวจสอบได้ และยึดกฎหมายกองทุนน้ำมันฯ พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด โดยมุ่งให้ทุกมาตรการเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติสูงสุด

รัฐบาล ลดเก็บเงินกองทุนน้ำมัน ทำราคาขายปลีกน้ำมันยังเท่าเดิม หลังอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันเบนซิน-ดีเซล ฉบับใหม่บังคับใช้

รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ยันราคาขายปลีกน้ำมันยังเท่าเดิม ไม่ส่งผลกระทบปชช. หลังปรับลดจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน รับมือเพิ่มภาษีสรรพสามิต - ภาษีท้องถิ่น น้ำมันเบนซินและดีเซล 

จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันเบนซิน-น้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 42) พ.ศ.2568 มีผลใช้แล้ววันนี้ (7 พ.ค. 68)

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ให้เหตุผลในการปรับขึ้นภาษีน้ำมันในครั้งนี้ว่าปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง สมควรเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ประเภทน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล เพื่อให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น อันเป็นการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและเสถียรภาพทางการคลังของรัฐ โดยเฉพาะในช่วงที่มีความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นจากภาวะสงครามการค้า

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต รายงานว่า จากการปรับขึ้นอัตราภาษีครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลได้รายได้เพิ่มประมาณเดือนละ 2,900 ล้านบาท หรือประมาณ 34,800 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตและภาษีท้องถิ่นครั้งนี้จะไม่กระทบกับราคาขายปลีกน้ำมัน เนื่องจากรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานจะให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดการเก็บเงินส่งกองทุนน้ำมันลง เพื่อชดเชยกับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่รัฐบาลจัดเก็บเพิ่มเติม โดยจะรักษาระดับราคานี้ให้ได้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2568 จากนั้นจะมีการทบทวนแนวทางการดำเนินการอีกครั้ง

สำหรับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต และภาษีส่วนท้องถิ่น ของน้ำมันประเภทต่างๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนมีรายละเอียดดังนี้

น้ำมันเบนซิน 95 จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 6.50 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 7.50 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 1 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.650 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.750 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.10 บาทต่อลิตร

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 (E10) จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 5.85  บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 6.75 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.90 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.585 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.675 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.090 บาทต่อลิตร

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 (E10) จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 5.85  บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 6.75 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.90 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.585 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.675 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.090 บาทต่อลิตร

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 (E20) จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 5.20 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 6.00 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.80 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.520 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.600 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.080 บาทต่อลิตร

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 (E20) จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 0.975 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 1.125 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.15 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.0975 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.1125 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.080 บาทต่อลิตร

น้ำมันดีเซล (H-Diesel) จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 5.99 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 6.92 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.93 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.599 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.6920 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.093 บาทต่อลิตร

เผยแบบโครงการขยายสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ชูร่มบ่อสร้าง และ Green Airport คาดเปิดใช้งานปี 72

เพจ Progressive Thailand  เปิดเผยความคืบหน้าโครงการขยายสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ โดยระบุว่า ... สร้างปีหน้า เสร็จปี 72 !!! ขยายสนามบินเชียงใหม่ ชูร่มบ่อสร้าง และ Green Airport รองรับ 20 ล้านคนต่อปี

โครงการขยายท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ระยะที่ 1 รายละเอียดเบื้องต้นดังนี้
• งบประมาณ 24,000 ล้านบาท
• ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ 
• ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิมให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ
• ท่าอากาศยานเชียงใหม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 20 ล้านคนต่อปี 
• ขยายลานจอดอากาศเป็น 31 หลุมจอด และทางขับขนานเพิ่มเติม ทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง 
• เพิ่มหลุมจอดแบบประชิดอาคารเป็น 16 หลุมจอด
• อาคารจอดรถรองรับได้ 1,100 คัน
• เริ่มก่อสร้างในปี 2569 
• เปิดให้บริการในปี 2572

Alipay เผย ไทยยังเป็น 1 ในจุดหมายปลายทาง กลุ่มประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน

ข้อมูลล่าสุดจาก Alipay และเครือข่ายพันธมิตร Alipay+ เผยให้เห็นถึงความคึกคักอย่างมากของภาคการท่องเที่ยวจีน ทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศจีนในช่วงวันหยุดยาววันแรงงานและเทศกาล Golden Week ที่ผ่านมา

ข้อมูลจาก Alipay และเครือข่ายพันธมิตร Alipay+ เผยนักท่องเที่ยวจีนยังเดินทางใช้จ่ายในต่างประเทศต่อเนื่องในช่วงวันหยุดยาววันแรงงานและเทศกาล Golden Week โดยไทย ยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยม

สำหรับ เครือข่าย Alipay+ นับเป็นระบบชำระเงินระดับโลก ช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถใช้แอปพลิเคชันกระเป๋าเงินดิจิทัล ชำระค่าสินค้าและบริการในกว่า 70 ประเทศทั่วโลกได้อย่างสะดวกสบาย โดยไม่ต้องแลกเงินสด

ทั้งนี้ ข้อมูลยอดใช้จ่ายผ่าน Alipay ชี้ว่าจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน ได้แก่
* ฮ่องกง
* ญี่ปุ่น
* มาเก๊า
* เกาหลีใต้
* ไทย
* มาเลเซีย
* สิงคโปร์
* ฝรั่งเศส
* แคนาดา
* อิตาลี

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจีนยังเริ่มมองหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่และเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยสวิตเซอร์แลนด์มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนสูงสุด และเกาหลีใต้มียอดใช้จ่ายต่อคนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากความนิยมในการทำศัลยกรรมความงาม

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า นักท่องเที่ยวจีนยังนิยมใช้ระบบขนส่งสาธารณะในต่างประเทศมากขึ้น โดยยอดการทำธุรกรรมผ่าน Alipay เพิ่มขึ้นถึง 53% โดยเฉพาะในฮ่องกงและมาเก๊าที่นิยมใช้จ่ายค่ารถบัสและรถไฟใต้ดินผ่าน Alipay เหมือนกับการเดินทางในชีวิตประจำวัน ขณะที่ในยุโรปและญี่ปุ่นนิยมใช้ซื้อตั๋วรถไฟและเช่าจักรยาน

ส่วนบริการขอคืนภาษีแบบเรียลไทม์ผ่าน Alipay ก็มียอดคืนเงินเฉลี่ยต่อรายการเพิ่มขึ้น 33% และยอดการใช้โปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ ผ่าน Alipay ก็พุ่งขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงหยุดยาวปีใหม่

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการยกเว้นวีซ่าและนโยบายการคืนภาษีใหม่ของจีน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศจีนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจำนวนธุรกรรมและมูลค่าการใช้จ่ายรวมในจีนผ่านแอปกระเป๋าเงินดิจิทัลต่างประเทศ 13 แพลตฟอร์ม เพิ่มขึ้นกว่า 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยแอปที่มีการใช้จ่ายสูงสุดคือ AlipayHK ตามมาด้วย Touch ‘n Go e-Wallet (มาเลเซีย), Kazpi.kz (คาซัคสถาน), MPay (มาเก๊า) และ TrueMoney (ไทย)

OR จับมือ บางกอกแอร์เวยส์ ใช้เชื้อเพลิง SAF ผลิตในไทย ก้าวสำคัญสู่อนาคตการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

OR ร่วมกับ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ที่ผลิตโดยผู้ผลิตในประเทศไทยมาใช้ในการบินเป็นครั้งแรก ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท พร้อมก้าวสู่อนาคตการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

นายชัยพฤฒิ วัชรีคุปต์ ผู้จัดการฝ่ายตลาดอากาศยานและเรือขนส่ง บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และนายเดชิศร์ เจริญวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ / รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการบิน บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) เรื่อง การซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) โดยผู้ผลิตภายในประเทศเป็นครั้งแรกของประเทศไทย สำหรับใช้ปฏิบัติการบินในเที่ยวบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ณ สำนักงานใหญ่สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ถนนวิภาวดีรังสิต ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยก้าวสู่อนาคตการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

นายชัยพฤฒิ เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ บางกอกแอร์เวยส์ ครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังระหว่าง OR ในฐานะผู้นำการจำหน่ายน้ำมันอากาศยานของไทย และบางกอกแอร์เวยส์ ในฐานะสายการบินชั้นนำ ในการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ที่ผลิตโดยผู้ผลิตในประเทศไทยเป็นครั้งแรก คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ได้พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนสำหรับการผสม SAF ด้วยการนำกระบวนการ Co – Processing มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินเป็นครั้งแรกเพื่อรองรับนโยบายการบังคับใช้ SAF ของประเทศไทยในอนาคต โดย OR มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่สำคัญนี้ และมุ่งมั่นในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยการจัดหาน้ำมัน SAF ให้กับบางกอกแอร์เวย์นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจของ OR เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2065 อีกด้วย

นายเดชิศร์ กล่าวว่า นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในความร่วมมือกับ OR เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยสู่เส้นทางบินสีเขียว โดยการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF โดยผู้ผลิตภายในประเทศเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมเดินหน้าสานต่อแคมเปญ “Low Carbon Skies by Bangkok Airways” ที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การผลักดันและเตรียมความพร้อมในการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยในอนาคต ที่จะสามารถตอบสนองต่อแนวโน้มธุรกิจการบินของประเทศไทยที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาพลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมการบินไทย และเป็นไปตามเป้าหมายของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593  

GULF กำไรไตรมาส 1/68 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โตพุ่ง โกย 5,335 ล้าน จากธุรกิจพลังงานและส่วนแบ่งกำไร INTUCH

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 โดยมีรายได้รวม (total revenue) อยู่ที่ 32,343 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงาน (core profit) อยู่ที่ 5,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จาก 4,152 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มบริษัทฯ มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยไตรมาส 1/2568 เป็นไตรมาสแรกที่บริษัทฯ รับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสครบทั้ง 4 หน่วย (2,650 เมกะวัตต์) ของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ซึ่งทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2567 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกอง (HKP) ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 2 หน่วย (1,540 เมกะวัตต์) โดยหน่วยที่ 2 ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเป็นที่เรียบร้อยในเดือนมกราคม 2568 

นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ เริ่มรับรู้ผลกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) ในประเทศ จำนวน 5 โครงการ (532 เมกะวัตต์) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% และได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2567 โดยบริษัทฯ รับรู้ผลกำไรจากโครงการดังกล่าวจำนวน 206 ล้านบาท 
ในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul จำนวน 226 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568 เพิ่มขึ้น 147% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความเร็วลมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 4.8 เมตร/วินาที ในไตรมาส 1/2567 เป็น 6.6 เมตร/วินาที ในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากกลุ่ม GJP น้อยลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลง 68% จาก 542 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 เป็น 175 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ เนื่องจากโครงการ IPP ทั้ง 2 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP ได้แก่ โรงไฟฟ้ากัลฟ์ หนองแซง (GNS) และโรงไฟฟ้ากัลฟ์ อุทัย (GUT) มีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนงาน C- inspection และ A-inspection ตามลำดับ ในไตรมาสนี้ ขณะเดียวกัน กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 7 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP มีอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงเล็กน้อย จากราคาค่า Ft เฉลี่ยที่ลดลง โดยค่า Ft เฉลี่ยลดลงจาก 0.40 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 1/2567 เป็น 0.37 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 1/2568 ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยลดลงจาก 334.54 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 1/2567 เป็น 331.16 บาท/ล้านบีทียู ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยมี load factor เฉลี่ยลดลงจาก 60% ในไตรมาส 1/2567 เป็น 56% ในไตรมาสนี้ เนื่องมาจากความต้องการใช้ไฟที่ลดลงในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและปิโตรเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ที่ลดลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 3 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ (C-inspection) ตามแผนงานในไตรมาส 1/2568 ประกอบกับ Ft ที่ลดลงตามที่กล่าวมาข้างต้น 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มบริษัทฯ มีเพียง 6% ของปริมาณการขายไฟฟ้าทั้งหมด บริษัทฯ จึงได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย สำหรับโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD มีกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการรับรู้ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา (maintenance expense) ที่เพิ่มขึ้นภายใต้สัญญาให้บริการซ่อมบำรุง (Long- term Service Agreement) เนื่องมาจากการซ่อมบำรุงตามแผนงานของทั้ง 4 หน่วยผลิต

ในส่วนของธุรกิจก๊าซ บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการ PTT NGD จำนวน 242 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568 เพิ่มขึ้น 14% จาก 211 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 เนื่องจากราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคาขายส่วนใหญ่ของโครงการ PTT NGD จะอิงกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเริ่มรับรู้ core profit จากธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ภายใต้ GLNG สำหรับการนำเข้า LNG เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD และ SPP 19 โครงการ ในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม และรับรู้กำไร core profit จาก HKH ในการนำเข้า LNG สำหรับโรงไฟฟ้า HKP โดยบริษัทฯ รับรู้ผลกำไรรวมทั้งสิ้นจำนวน 93 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทฯ รับรู้กำไรค่าก่อสร้างตามสัญญาสัมปทาน สำหรับงานถมทะเลของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จำนวน 48 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568 ซึ่งลดลง 60% จาก 119 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 เนื่องจากมีการบันทึกรายได้และกำไรตามความคืบหน้าในการก่อสร้าง โดยงานถมทะเลสำหรับโครงการ MTP3 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยในระหว่างไตรมาส 1/2568 

ในไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากการลงทุนใน INTUCH จำนวน 1,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จาก 1,575 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของ ADVANC ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU ซึ่งมุ่งเน้นจำหน่ายแพ็กเกจที่มีมูลค่าสูงขึ้น การส่งเสริมการใช้งานเครือข่าย 5G  ประกอบกับการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 1/2568 จำนวน 11,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับ 9,427 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 ในขณะที่กำไรสุทธิ (net profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ในไตรมาส 1/2568 เท่ากับ 5,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จาก 3,499 ล้านบาท 

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 522,478 ล้านบาท หนี้สินรวม 376,802 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 145,676 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net interest-bearing debt to equity) อยู่ที่ 1.96 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.80 เท่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 จากหนี้สินระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากการออกและจำหน่ายหุ้นกู้จำนวน 30,000 ล้านบาท ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เปิดเผยว่า “การควบรวมกิจการระหว่างบริษัทฯ และ INTUCH ได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้จัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“GULF”) ซึ่งได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ทั้งนี้ บริษัทใหม่ภายหลังการควบรวมมีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านธุรกิจพลังงานและธุรกิจดิจิทัล พร้อมด้วยฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากขึ้น โดยภายหลังการควบรวม บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ GULF จากระดับ 'A+' เป็น 'AA-'

พร้อมทั้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน เป็นระดับ 'AA-' โดยในปี 2568 คาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นประมาณ 25% จากการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าใหม่ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการ HKP หน่วยผลิตที่ 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ที่ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเรียบร้อยตามกำหนดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) ภายในประเทศ ที่มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 7 โครงการ ในช่วงปลายปีนี้ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 597 เมกะวัตต์ ในขณะที่โครงการ solar rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ อีกทั้ง GULF1 ยังได้เปิดตัวโครงการ 'วันอาทิตย์' ซึ่งมุ่งขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มลูกค้าครัวเรือนและที่อยู่อาศัย โดยนำเสนอบริการติดตั้ง solar rooftop แบบครบวงจร ภายใต้แนวคิดประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

ในส่วนของธุรกิจก๊าซ ในปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70 ลำ หรือประมาณ 4-5 ล้านตัน เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD HKP และ SPP 19 โครงการ ในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจก๊าซอย่างต่อเนื่อง และทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้จาก shipper fee เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 มีการนำเข้า LNG ไปแล้วจำนวน 19 ลำ หรือประมาณ 1.3 ล้านตัน

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังคงเป็นไปตามแผน โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568 ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2569 ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ณ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการถมทะเลเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และมีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ในไตรมาส 4 ปี 2568 อีกทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีกำหนดรับมอบพื้นที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อเริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือในช่วงปลายปีนี้ 

ในขณะที่ธุรกิจดิจิทัลยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทฯ โดยธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) มีแผนที่จะทยอยเปิดให้บริการเฟสแรกขนาด 25 เมกะวัตต์ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะขยายขนาดการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ธุรกิจ cloud ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped มีแผนเปิดให้บริการในช่วงครึ่งปีหลังของ 2568 เพื่อรองรับความต้องการในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับทั้งภาครัฐและภาคองค์กร

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มบริษัทฯ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงิน บริษัทฯ มีแผนการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งก่อนการควบรวมกิจการ บริษัทฯ เคยได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้สามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 210,000 ล้านบาท โดยภายหลังการควบรวมแล้วเสร็จ มติดังกล่าวได้สิ้นผลบังคับลงตามกฎหมาย ดังนั้น GULF จึงกำหนดจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 เพื่อขออนุมัติวงเงินออกและเสนอขายหุ้นกู้ใหม่จำนวนไม่เกิน 300,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มียอดหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนอยู่จำนวน 185,550 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และชำระคืนเงินกู้และหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ GULF มีแผนจะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2568”

'อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.' ชู 'สาหร่าย' คือทองคำเขียวเป็นพืชแห่งอนาคตภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ตอบโจทย์สร้างรายได้ใหม่เพิ่มความมั่นคงอาหารลดโลกร้อนเร่งยกระดับเกษตรมูลค่าสูงพัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่ายครบวงจร ตั้งเป้าตลาดโลก 2.6 ล้านล้าน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.และประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยวันนี้ภายหลังบรรยายพิเศษในงานประชุมวิชาการสาหร่ายและแพลงตอนแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ที่เชียงใหม่ จัดโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ว่า 

ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการพัฒนา 'สาหร่าย' หรือทองคำเขียวของไทยเป็นพืชและอาหารแห่งอนาคต (Future Crop & Future Food) ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานภูมิปัญญาไทยยกระดับสู่เกษตรมูลค่าสูง เพิ่มรายได้ประเทศและชุมชน ลดการนำเข้าและตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร พร้อมลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน

จุดเด่นของการส่งเสริมสาหร่ายคือ
1. ลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ไทยนำเข้าสาหร่ายติดท็อปเทนของโลก การพัฒนาการเพาะเลี้ยงและแปรรูปในประเทศจะช่วยลดการพึ่งพาต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร เช่น บะหมี่สาหร่าย อาหารเสริม เครื่องสำอาง และปุ๋ยชีวภาพ 
2. สนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality ) 2050  สาหร่ายช่วยดูดซับ CO₂ ได้มากกว่าไม้บก5เท่าและเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 สอดคล้องกับทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ  
3. ขยายผลสู่ชุมชน 50 จังหวัด ผ่านความร่วมมือของกรมประมง และเครือข่ายวิจัย เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (จันทบุรี) และฟาร์มทะเลตัวอย่าง (เพชรบุรี) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสู่เกษตรกร
4. ต่อยอดอุตสาหกรรมสีเขียว แปรรูปสาหร่ายเป็น พลาสติกชีวภาพ(Bioplastic)และ น้ำมันชีวภาพ (Biofuel)ลดการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียม ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่หันมาใช้วัสดุย่อยสลายได้ 

ทั้งนี้เริ่มมีการพัฒนาสาหร่ายอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2563 ตามนโยบายอาหารแห่งอนาคต( Future Food Policy)ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งตนเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีในขณะนั้นรับนโยบายมาส่งเสริมสาหร่ายทะเล(Seaweed)และสาหร่ายน้ำจืดตั้งแต่การผลิต การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การแปรรูปและการตลาด 

โดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืดเร่งเดินหน้าในการรวบรวมพันธุ์ การเพาะเลี้ยงและการเผยแพร่พันธ์ุดำเนินการในพื้นที่ 50จังหวัด แบ่งเป็น 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลรวมกทม.และอีก 28 จังหวัดโดยความร่วมมือระหว่าง กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ. กระทรวงอว.  สวทช. ศูนย์ความเป็นเลิศสาหร่าย วว. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า สภาเอสเอ็มอี. มูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมตและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC: Agritech and Innovation Center) มีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืดทั่วประเทศเช่นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (จันทบุรี) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งแหลมผักเบี้ยและฟาร์มทะเลตัวอย่าง (เพชรบุรี) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสู่ฟาร์มเกษตรกร

โดยพัฒนาสาหร่ายเป็นผลผลิตและผลิตภัณฑ์ชุมชน( Community based product)สร้างแหล่งอาหารและรายได้ใหม่ให้ประชาชนในท้องถิ่นและเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ

ยิ่งกว่านั้นยังมีการพัฒนาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินกว่า40ปีโดยคุณเจียมจิตต์ บุญสม ผู้ตั้งชื่อ 'สาหร่ายเกลียวทอง' โดยขยายผลเป็น“บุญสมฟาร์ม”ที่อำเภอแม่วาง เชียงใหม่มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ตารางเมตร รวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย(ALEC) ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ร่วมกับปตท.พัฒนาสาหร่ายน้ำจืดมากว่า 20 ปีโดยเฉพาะโครงการน้ำมันชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพอัลจินัว

ปัจจุบันยังมีอีกหลายบริษัทหันมาพัฒนาสาหร่ายเชิงพาณิชย์เช่น บริษัทบางจากฯ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทล็อกซเล่ย์บริษัทไทยยูเนี่ยน บริษัทเถ้าแก่น้อย บีจีซี (BGC) และ บริษัทOverDaBlueซึ่งเป็นสตาร์ทอัพ รวมทั้งโครงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในกระชังของมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมตร่วมกับชุมชนชาวประมงที่จังหวัดกระบี่และเป็นต้น

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมนและอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า "สาหร่ายไม่ใช่แค่พืชท้องถิ่น แต่เป็น“ทองคำเขียว”ที่จะพลิกโฉมเกษตรมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของไทยและของโลกในมิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
1. อุตสาหกรรมอาหาร สาหร่ายใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคิดเป็น 77%ของตลาด (ปี 2024) โดยเป็นส่วนประกอบในอาหารแปรรูป อาหารเสริม และเครื่องดื่ม  ตัวอย่างเช่น สาหร่ายโนริ วากาเมะ และผงสาหร่ายในผลิตภัณฑ์วีแกน  
2. อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง โดยสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่นฟูคอยแดนและแอลจีเนตสำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและยา  
3. ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม สาหร่ายดูดซับก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนไดออกไซด์( CO₂ ) มากกว่าต้นไม้5เท่า และใช้ทำผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based Packaging)  เช่นบริษัทZeroCircleของอินเดีย
4. เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ความต้องการเชื้อเพลิงสะอาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สาหร่ายเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมันชีวภาพพลังงานทางเลือก และน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในหลายประเทศสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายอย่างจริงจัง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย อเมริกา ไอซ์แลนด์ และล่าสุด อินเดียตั้งเป้าผลิต 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2025

การส่งออกเป็นอีกเป้าหมายสำคัญเพราะมูลค่าตลาดโลกของสาหร่ายใน ปี 2024สูงถึง 35.35 พันล้านดอลลาร์ (1.5 ล้านล้านบาท)ทั้งตลาดการเพาะเลี้ยงและตลาดสาหร่ายเชิงพาณิชย์ คาดการณ์ปี 2025 จะเพิ่มเป็น 50.03 พันล้านดอลลาร์(1.6 ล้านล้านบาท) และ 80 พันล้านดอลลาร์ (2.6 ล้านล้านบาท) ในปี 2029 ด้วยอัตราเติบโดปีละกว่า 12.1%.“

‘กรณ์’ โพสต์เฟซ เผย!! มีความฝันในการปฏิรูปเกษตรกรรม ตั้งเป้าหมาย 3 เพิ่ม ‘เพิ่มรายได้ - เพิ่มความมั่นคง - เพิ่มมูลค่า’

(10 พ.ค. 68) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า …

ชั้น 14/แพทยสภา กับ วันพืชมงคล

ความฝันหนึ่งของผมคือการปฏิรูปเกษตรกรรมประเทศไทยจริงจัง (เสียที) เป้าหมายคือ ‘3 เพิ่ม’
1. เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืนด้วยการเพิ่มอำนาจต่อรอง 
2. เพิ่มความมั่นคงราคาสินค้าเกษตร
3. เพิ่มมูลค่าระยะยาวผ่านนวัตกรรม

Model ในการปฏิรูปของผมคือบริษัท Fonterra ของนิวซีแลนด์ที่เกิดจากการควบรวมสหกรณ์โคนมวัวทั้งหมดของประเทศมาเป็นหนึ่งเดียว โดยมีเกษตรกรเป็นผู้ถือหุ้น และมีผู้บริหารบริษัทมืออาชีพ ตอนนี้เป็นบริษัทชั้นนำในตลาดหุ้นนิวซีแลนด์

Fonterra มีสถานะผูกขาดการผลิตนมและผลิตภัณฑ์จากนม (เนื่องจาก 90% ของเกษตรกรเป็นผู้ถือหุ้นและขายนมให้เขา) เขาสร้างแบรนด์มากมายและวิ่งหาตลาดทั่วโลก เมื่อมีกำไร เขาเจียด 2-3% ทุกปีเพื่อ R&D เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ส่วนที่เหลือปันผลให้เกษตรกร

ลองจินตนาการว่าเรามีบริษัทเดียว เป็นของชาวนา/โรงสี/ผู้ส่งออก ถือร่วมกัน ข้าวหอมมะลิจาก 5 จังหวัดทุ่งกุลาร้องไห้ทั้งหมดเป็นของบริษัทนี้ อำนาจการตลาดอยู่ที่บริษัทนี้เต็มที่ จะมีโอกาสนำไปสู่ ‘3 เพิ่ม’ ได้ทันที

ผมจั่วหัวไว้โยงกับชั้น14 เกี่ยวกันอย่างไร? จริงๆไม่เกี่ยวเลย แต่รู้ว่าคนกำลังสนใจเรื่องชั้น 14 (ผมด้วย!) แต่ยากมากที่จะทำให้คนใส่ใจกับเรื่องเกษตร เลยพ่วงไว้ล่อให้อ่านเกี่ยวกับเกษตรในวันพืชมงคลนิดนึง กราบขออภัยครับ 

‘ผู้ส่งออก’ เหนื่อยหนัก!! ตลาดสหรัฐ ออร์เดอร์วูบ!! คู่แข่งเวียดนาม เร่ง!! โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี

(11 พ.ค. 68) หลัง ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการด้านภาษีนำเข้า กับนานาประเทศ ที่จะส่งสินค้าไปขายยังสหรัฐอเมริกา การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐก็ปั่นป่วน ปัจจุบันออร์เดอร์ส่งออกเริ่มลดลง เพราะคู่ค้าชะลอการนำเข้า หลังก่อนหน้านี้ เร่งตุนสต๊อกสินค้า ก่อนปรับขึ้นภาษี

ในไตรมาสแรกปี 2568 ไทยส่งออกไปสหรัฐโต 25% ล่าสุดคำสั่งซื้อเริ่มแผ่วลง สาเหตุหลักเพราะผู้นำเข้าสหรัฐได้เร่งสั่งซื้อสินค้าไปตุนสต๊อกก่อนมาตรการภาษีตอบโต้ใหม่ของ “ทรัมป์” ที่ชะลอไป 90 วันจะเริ่มใช้ โดยสินค้ากระทบหนัก ได้แก่ ข้าว ถุงมือยาง ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องนุ่งห่ม

การส่งออกข้าวหอมมะลิขยายตัวสูงแต่เริ่มลดลง เพราะลูกค้าเร่งตุนไว้ก่อน ขณะผู้ส่งออกไทยกังวลเรื่องเครดิตการค้า ด้านถุงมือยางแม้โตขึ้นเล็กน้อยแต่ยังเสียเปรียบมาเลเซียที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่า ส่วนทูน่าและอาหารสัตว์เลี้ยงแม้ยอดส่งออกยังสูงจากการนำเข้าล่วงหน้า แต่เริ่มชะลอคำสั่งซื้อแล้ว เพราะลูกค้ารอสัญญาณชัดเจนจากผลเจรจาภาษี

แม้ยอดส่งออกเครื่องนุ่งห่มโต 23% จากออร์เดอร์ปลายปีที่แล้ว แต่คาดว่าคำสั่งซื้อใหม่จะชะลอลงหากอัตราภาษีตอบโต้ไทยสูงกว่าเวียดนามหรืออินโดนีเซีย ซึ่งมีโอกาสที่คู่ค้าจะเปลี่ยนไปนำเข้าจากประเทศที่เสียภาษีน้อยกว่า

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย” (สรท.) มองว่าสถานการณ์นี้ไทยต้องเร่งเจรจาการค้ากับสหรัฐ พร้อมเร่งหาตลาดใหม่รองรับ เพื่อไม่ให้การส่งออกไทยสะดุดครึ่งปีหลัง หากถูกเก็บภาษีสูงถึง 36% อาจทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบถึง 2%

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 2.00% เป็น 1.75% ต่อปี เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 68 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ นโยบายการเงิน และการค้าโลก โดยขณะนี้ธนาคารของรัฐ ธนาคารของรัฐ 5 แห่ง ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.15% ต่อปี รับมติกนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผล 13-14 พ.ค. 68 นี้

เวียดนาม กำลังวางแผนเตรียมออกแพ็คเกจเงินกู้ครั้งใหญ่มูลค่า "500 ล้านล้านดอง" (ราว 6.6 แสนล้านบาท) กับธนาคาร 21 แห่ง เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการพัฒนา "โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี" เพื่อมุ่งกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวทางการเงินครั้งใหญ่ที่ไม่ได้พบบ่อยนักในประเทศนี้

ธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุด 4 แห่งในเวียดนาม ได้แก่ Vietcombank, VietinBank, BIDV และ Agribank ได้ให้คำมั่นว่าจะให้สินเชื่อมูลค่า 60 ล้านล้านดอง (ราว 7.6 หมื่นล้านบาท) สำหรับโครงการขยายโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ส่วนธนาคารอื่นอีก 12 แห่งให้คำมั่นว่าจะให้สินเชื่อรายละ 20 ล้านล้านดอง (ราว 2.5 หมื่นล้านบาท) และอีก 5 แห่งให้คำมั่นว่าจะให้สินเชื่อรายละ 4 ล้านล้านดอง (ราว 5 พันล้านบาท)

ติดเชื้อ“โควิด” พุ่งสูง 8 พันรายภายในหนึ่งสัปดาห์ ใกล้ช่วงเปิดเทอมอาจมีการระบาดขยายวงกว้าง ภาวะปัจจุบันระบาดหนักกว่าไข้หวัดใหญ่ 2 เท่า รัฐบาลเตือนประชาชนเฝ้าระวังเข้ม หากพบว่าเติดเชื้อให้แยกกักตัว อย่างน้อย 5 วันหลังติดเชื้อ

ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ว่าแบงค์ชาติ ผู้ที่จะคานอำนาจรัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศไทย กับนโยบายภาครัฐ ที่ยังกู้วิกฤติเศรษฐกิจไทยไม่ได้ผล และยังหาแนวทางรับมือนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐที่เป็นรูปธรรมไม่ได้ ประเทศเพื่อนบ้านเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ไม่ใช่ ‘คาสิโน’

ถึงแม้ กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% แต่ถ่ายโอนไปยังผู้ประกอบการ เพียงร้อยละ 0.15% ตามประกาศของธนาคารรัฐ ทั้ง 5 แห่ง ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตลอดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 

ผู้ประกอบการ คงต้องรักษานโยบายงดการลงทุนเพื่อคงเงินสด รักษาสภาพคล่องไว้ก่อน เพราะสถานการณ์ยังคงมีความเสี่ยงจากทุกๆ ด้าน การระบาดเชื้อโควิดก็กำลังกลับมาอีกระลอก... อย่างน้อย..ประครองให้จำนวนผู้ประกอบการไม่ปิดตัวลงไปมากกว่านี้ ไม่งั้น อัตราแรงงานที่ว่างงาน คงพุ่งขึ้นไม่หยุด เศรษฐกิจไทยคงกู่ไม่กลับไปอีกนาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top