Monday, 19 May 2025
GoodVoice

ททท. ปรับกลยุทธ์รุกตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล ปักหมุด 15 ตลาดหลัก ดันรายได้ปีนี้สู่เป้าหมาย 2.23 ล้านล้าน

(24 เม.ย.68) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผย ตั้งแต่ต้นปี 2568 จนถึงปัจจุบันนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกลเติบโตโดดเด่น พร้อมเร่งเครื่องกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพเดินทางสู่ประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล เน้นเจาะกลุ่ม Health & Wellness, Yacht, Sport and Entertainment ผลักดันรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติสู่เป้าหมาย 2.23 ล้านล้านบาทในปี 2568

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า จากสถิติสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 เมษายน 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 11,350,463 คน ซึ่งพบว่าตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลมีแนวโน้มการเติบโตแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ทั้งตลาดนักท่องเที่ยวหลักและตลาดศักยภาพใหม่ อาทิ อิสราเอล 131,958 คน ( +97.43%) อิตาลี 114,808 คน (+28.6%) ฝรั่งเศส 364,262 คน (+22.65%) สหราชอาณาจักร 423,324 คน (+20.61%) เนเธอร์แลนด์ 94,074 คน (+17.88%) สเปน 52,629 คน (+17.75%) ออสเตรเลีย 255,420 คน (+16.85%) รัสเซีย 839,463 (+15.41%) ซาอุดีอาระเบีย 43,356 คน (+15.26%) เยอรมนี 407,378 คน (+13.14%) และสหรัฐอเมริกา 379,472 คน (+12.83%) 

โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนที่นั่งบนเครื่องบิน (Seat Capacity) เพิ่มขึ้นจากการดำเนินกลยุทธ์ Airline Focus ในการส่งเสริม ผลักดัน และร่วมมือกับสายการบินระหว่างประเทศให้เพิ่มความถี่เที่ยวบิน รวมถึงขยายเส้นทางบินใหม่ทั้งจากเมืองหลักและเมืองรองในต่างประเทศสู่จุดหมายปลายทางในประเทศไทย โดยหลายประเทศยุโรปเพิ่มเที่ยวบินตรงเข้าประเทศไทยในช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีที่ผ่านมา อาทิ สายการบิน Alitalia เส้นทางอิตาลี - กรุงเทพฯ สายการบิน Condor เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต – กรุงเทพฯ และภูเก็ต สายการบิน Evelop Airline S.L. เส้นทางมาดริด – กรุงเทพฯ สายการบิน Air Celedonie International เส้นทางปารีส – กรุงเทพฯ และการเพิ่มความถี่เที่ยวบิน อาทิ สายการบิน Iberojet เส้นทางมาดริด-กรุงเทพฯ สายการบิน Norse Atlantic Airways เส้นทางลอนดอน (แกตวิก) – กรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มยอด Forward Booking การจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้าในการเดินทางเข้าประเทศไทยช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน ของกลุ่มตลาดระยะไกลยังมีแนวโน้มสดใส โดยเฉพาะตลาดสหราชอาณาจักร  อิตาลี สเปน อิสราเอล รัสเซีย

ทั้งนี้ ททท. ปรับกลยุทธ์เร่งผลักดันนักท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง และเป็นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพื่อมาชดเชยนักท่องเที่ยวตลาดจีนที่มีแนวโน้มหดตัวลงในปีนี้ โดยเน้นการเพิ่มจำนวนของตลาด Quality Leisure, Family และ Incentive ในตลาดระยะไกล 15 ตลาด  ได้แก่ ยุโรป ( อังกฤษ, เยอรมนี, อิตาลี, อิสราเอล, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, ออสเตรีย), อเมริกา (อาร์เจนตินา, บราซิล), โอเชียเนีย (ออสเตรเลีย), ตะวันออกกลาง (ซาอุดีอาระเบีย คูเวต) และแอฟริกา (แอฟริกาใต้) และตลาดระยะใกล้ 9 ตลาด ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา โดยเร่งการขยายการเติบโตของตลาดกลุ่มเป้าหมาย High Value ซึ่งมีการใช้จ่ายสูง อาทิ กลุ่ม Health & Wellness อาทิ นวดแผนไทย สปา โยคะ อาหารสุขภาพ และ Wellness Program ประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป ตะวันออกกลาง อาเซียน และจีน กลุ่ม Yacht/ Super Yacht สำหรับตลาดยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชียแปซิฟิก กลุ่ม Sport and Entertainment โดยมีกีฬาที่จะส่งเสริม อาทิ กอล์ฟ มาราธอน วิ่งเทรล มวยไทย ดำน้ำ จักรยาน ในตลาดรัสเซีย ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และกลุ่ม Digital Nomad และ Workation ซึ่งประเทศไทยมีหลายเมืองที่นักท่องเที่ยวให้ความนิยม อาทิ เชียงใหม่ กทม. ภูเก็ต เกาะสมุย หัวหิน และ กระบี่

นอกจากนี้ ททท.จะใช้จุดแข็งทางด้านวัฒนธรรม และซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในการจัดกิจกรรม เทศกาล และสปอร์ตอีเวนต์ต่าง ๆ ภายใต้ Grand Festivity ในการดึงดูดให้เกิดการเดินทางมายังประเทศไทยและกระจายตัวไปยังจังหวัดหลักและรองได้ตลอดทั้งปี โดยภายหลังจากเทศกาลสงกรานต์ซึ่งล่าสุดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแล้ว จะจัดกิจกรรมอีเวนต์อย่างต่อเนื่องภายใต้ธีม Thailand Summer Festivals อาทิ ดนตรี (EDC, Wonderfruit, Big Mountain, ปลาร้าหมอลำ) กีฬา (UTMB, Regatta, WGP#1, FIVB, SEA Games) ศิลปะ (Na Satta, International Fireworks Festival) และวัฒนธรรมและอาหาร (Amazing Thailand Grand Taste) พร้อมสื่อสาร 360 องศาผ่านช่องทางออนไลน์-ออฟไลน์ สื่อ Social และ Mainstream Media ต่อเนื่องตลอดทั้งปีให้ประเทศไทยเป็น Top of Mind ของนักท่องเที่ยว โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทย 39 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.23 ล้านล้านบาทในปี 2568

‘เอกนัฏ’ ชง ‘กระดาษสัมผัสอาหาร’ เป็นสินค้าควบคุม หวังควบคุมโลหะหนัก คาดมีผลบังคับใช้ธันวาคม 2568

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานของสินค้า ให้เข้มงวดในการตรวจควบคุมการผลิตและนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้ง ยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน โดยเพิ่มจำนวนสินค้าที่ส่งผลกระทบกับความปลอดภัยให้เป็นสินค้าควบคุมมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสกัดกั้นสินค้าด้อยคุณภาพที่ทะลักเข้ามา และให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการในประเทศ ล่าสุด เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารเป็นสินค้าควบคุม คาดมีผลบังคับใช้ธันวาคม 2568 

“ผมได้สั่งการ สมอ. เร่งประกาศให้ กระดาษสัมผัสอาหาร และกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน ให้เป็นสินค้าควบคุมเพิ่มอีก 2 รายการ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายและหากเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ อาจมีปริมาณโลหะหนักและสารเคมีเกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ทำ ผู้นำเข้า ในการยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้” นายเอกนัฏ กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหาร มอก. 2948-2562” เช่น จานกระดาษ ถ้วยกระดาษ และ “กระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน มอก. 3438-2565” เช่น กระดาษรองอาหารที่ใช้ในหม้ออบลมร้อน หรือกระดาษอุ่นอาหารในไมโครเวฟ เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่มีข้อกำหนดสำคัญ ในการควบคุมปริมาณโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และโครเมียม และสารเคมีในกระบวนการผลิตที่เป็นอันตราย ได้แก่ สารฟอกนวล และสารต้านจุลินทรีย์ ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ต้องเป็นชั้นคุณภาพสัมผัสอาหาร (Food contact grade) เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน จะต้องผ่านการทดสอบที่อุณหภูมิความร้อนสูงสุด 175 องศาเซลเซียส โดยคาดว่ามาตรฐานดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนธันวาคม 2568 นี้ ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องทำ และนำเข้า เฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 สมอ. ได้จัดการสัมมนาเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการขอรับใบอนุญาต ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้ทำ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย เข้าร่วมสัมมนาดังกล่าว จำนวนกว่า 330 ราย   

‘ดร.หิมาลัย’ ข้องใจ เหตุใดสัญญาที่ กฟผ.ทำกับเอกชนจึงลึกลับ แม้แต่รัฐมนตรี ยังขอดูไม่ได้

เมื่อวันที่ (24 เม.ย. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้แชร์ข้อความ “ประชาชนที่ได้รับข้อมูลครบถ้วนถือเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นของระบอบประชาธิปไตย” ของ โทมัส เจฟเฟอร์สัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกา

พร้อมโพสต์ข้อความเพิ่มเติมว่า อยากรู้สัญญาที่ กฟผ.ทำกับเอกชนจัง มันลึกลับอะไรนักหนา รมต. ยังขอดูไม่ได้

ปตท.สผ. เผย Q1/68 กำไรสุทธิ 1.6 หมื่นล้าน พร้อมส่งเงินเข้ารัฐกว่า 6.8 พันล้านบาท

(25 เม.ย. 68) ปตท.สผ. เผยความคืบหน้าการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2568 และความก้าวหน้าที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง สามารถนำส่งรายได้จากการดำเนินงานให้กับรัฐกว่า 6,800 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่าในไตรมาสที่ 1 และในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจหลายด้าน โดยล่าสุด ปตท.สผ. ได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มของแหล่งอาทิตย์ กับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ซื้อ เพื่อเพิ่มปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติต่อวันตามสัญญา (Daily Contract Quantity หรือ DCQ) ขึ้นเป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมที่ปริมาณ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2568 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประชาชน และส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2568 ปตท.สผ. ยังได้เข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเติมในบริษัท APICO LLC ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการสินภูฮ่อม แหล่งปิโตรเลียมบนบกที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ส่งผลให้ ปตท.สผ. ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในโครงการสินภูฮ่อมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 จากเดิมร้อยละ 80.487 และได้รับปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในปี 2567 โครงการสินภูฮ่อมมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 105 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสท 222 บาร์เรลต่อวัน

สำหรับการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ที่โครงการอาทิตย์ ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (Nationally Determined Contribution Action Plan Mitigation 2021-2030) แล้วในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการทำข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) โดยคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 700,000 – 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง ต่อยอดองค์ความรู้ รวมทั้ง การพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไปในอนาคต 

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2568 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 74,196 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 484,218 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอัตราการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 45.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จึงส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 นี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 16,561 ล้านบาท (เทียบเท่า 488 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ปตท.สผ. ได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ในไตรมาส 1 ปี 2568 จำนวนกว่า 6,800 ล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐยังได้รับส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) เป็นรายได้ทางตรงจากการผลิตปิโตรเลียมที่รัฐนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วย

ททท. เปิดเวทีเจรจาธุรกิจสินค้าบริการท่องเที่ยว เน้นกลุ่ม Health and Wellness หวังดึง นทท. คุณภาพ

(25 เม.ย.68) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรม Amazing Thailand Health & Wellness Trade Meet 2025 เวทีเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ สำหรับสินค้าบริการทางการท่องเที่ยวกลุ่ม Health and Wellness ของไทย พร้อมจัดสำรวจและทดสอบสินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยให้ผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้าร่วมงาน หวังดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลก 

นางจิระวดี คุณทรัพย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ททท. กล่าวว่า ททท. มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่ม Health and Wellness ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย High Value ที่มีการใช้จ่ายสูง ผ่านการจัดกิจกรรม Amazing Thailand Health & Wellness Trade Meet 2025 ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ Amazing Thailand Health & Wellness Journey เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการด้าน Health and Wellness ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จัก โดยนำผู้ประกอบการจากต่างประเทศทั่วโลกจำนวน 100 ราย ได้แก่ ภูมิภาคยุโรป 19 ราย ภูมิภาคอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา 11 ราย ภูมิภาคเอเชียตะวันออก 40 ราย และภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ 30 ราย ร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยจำนวน 50 ราย ที่มาร่วมนำเสนอสินค้าและบริการทางด้านสุขภาพที่หลากหลาย ได้แก่ สปาบำบัด บริการการแพทย์เพื่อสุขภาพในโรงพยาบาล โรงแรมสุขภาพชั้นนำ อาทิ Chiva-Som, Kamalaya และ Sri Panwa ศูนย์สุขภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ BDMS Wellness Clinic, RAKxa Integrative Wellness และ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เป็นต้น พร้อมนี้ยังได้จัดกิจกรรมทัศนศึกษาสำรวจและทดสอบสินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยตามพฤติกรรมและความสนใจของนักท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค เพื่อกระตุ้นการส่งเสริมตลาดและตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะ Quality Destination สู่สายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ

กิจกรรมภายในงาน Amazing Thailand Health & Wellness Trade Meet 2025 ประกอบด้วย กิจกรรม Thailand Health and Wellness Product Update นำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน โดยนางสาว เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว ททท. กิจกรรมเสวนาในหัวข้อ Wellness Hub Thailand โดยนายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ยังมี การจัด Showcase และกิจกรรม DIY ด้าน Wellness ได้แก่ การทำยาดมสูตรเฉพาะในแบบฉบับของตนเอง อาหารสุขภาพ และ การตรวจธาตุเจ้าเรือนตามภูมิปัญญาไทยพร้อมวิธีการดูแลตนเอง นอกจากนี้ยังได้นำผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต่างชาติร่วมสำรวจและทดสอบสินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย (Amazing Thailand Health & Wellness Fam Trip) โดยแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการเดินทางทัศนศึกษาในพื้นที่ศักยภาพ อาทิ กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์, นครปฐม, กาญจนบุรี, พัทยา ชลบุรี, ปราจีนบุรี, เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, เขาใหญ่ นครราชสีมา ใน 2 ช่วงก่อนและหลังกิจกรรม Trade Meet ได้แก่ Pre Trip ในวันที่ 21 – 24 เมษายน 2568 และ Post Trip ในวันที่ 26 -29  เมษายน 2568

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวกลุ่ม Health and Wellness ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 100,259 บาทต่อคนต่อทริป โดยสินค้ายอดนิยมในประเทศไทย นอกจากสินค้าประเภทการนวดแผนไทยและสปาแล้ว ยังมีกิจกรรมเชิงสุขภาพ อาทิ โยคะ อาหารสุขภาพ Wellness Program for Antiaging, Retreat, สุขภาวะองค์รวม (Holistic Wellness ) รวมไปถึงด้าน Medical อาทิ การศัลยกรรมความงาม การมีบุตร เป็นต้น ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจังหวัดที่ได้รับความนิยมในด้าน Health and Wellness ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรีภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และ กระบี่

ไทย เกิดพีคไฟฟ้ารอบ 4 ของปี 2568 ช่วงค่ำ 24 เม.ย. หลังพบยอดใช้ไฟฟ้าพุ่ง 34,620.4 เมกะวัตต์

ไทยร้อนจัด 42-43 องศาเซลเซียส ดันยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งทำสถิติสูงสุดของปี 2568 เกิดพีคไฟฟ้าขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 4 หลังจากเพิ่งเกิดพีคไฟฟ้าครั้งที่ 3 ไปได้เพียง 2 วันเท่านั้น โดยพีคไฟฟ้าล่าสุดเกิดในช่วงค่ำของวันที่ 24 เม.ย. 2568 เวลา 20.48 น. เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าถึง 34,620.4 เมกะวัตต์ ไต่ระดับเทียบเคียงกับพีคไฟฟ้าที่เคยทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทยเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2567 ที่ 36,792.1 เมกะวัตต์ พลังงานคาดยอดใช้ไฟฟ้าปี 2568 อาจใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา มั่นใจไฟฟ้ามีเพียงพอรองรับพีคได้  

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) รายงานว่า ประเทศไทยเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีคไฟฟ้า) ขึ้นอีก เป็นครั้งที่ 4 ของปี 2568 หลังจากเพิ่งจะเกิดพีคไฟฟ้าไปเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา โดยพบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) พุ่งสูงขึ้นจนเกิดพีคไฟฟ้าอีกครั้งในวันที่ 24 เม.ย. 2568 ช่วงกลางคืนเวลา 20.48 น. มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 34,620.4 เมกะวัตต์ (เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่เกิดพีคไฟฟ้า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2568 เวลา 20.47 น. ที่มีการใช้ไฟฟ้า 34,130.1 เมกะวัตต์)

ทั้งนี้เนื่องจากสภาพอากาศร้อนสะสมต่อเนื่องตลอดสัปดาห์นี้ ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพื่อคลายร้อนพุ่งสูงขึ้น สำหรับอุณหภูมิสูงสุดของวันที่ 24 เม.ย. 2568 ที่รายงานโดยกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิพุ่งสูงถึง 42-43 องศาเซลเซียส ขณะที่ภาคกลางและภาคตะวันออกอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 40-42 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑลอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย อยู่ที่ 38-39 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามกรมอุตุฯ ได้คาดการณ์ว่าสัปดาห์หน้าอาจจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิและการใช้ไฟฟ้าลงได้

สำหรับยอดการใช้ไฟฟ้าของไทยในปี 2568 นับตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงปัจจุบัน พบว่ามีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นทุกเดือน โดยเดือน ม.ค. 2568 ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 25 ม.ค. 2568 เวลา 18.48 น. ที่ระดับ 27,953.3 เมกะวัตต์ 

เดือน ก.พ. 2568 ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 28 ก.พ. 2568 เวลา 19.18 น. ที่ระดับ 30,942 เมกะวัตต์ 

เดือน มี.ค. 2568  ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 29 มี.ค. 2568 เวลา 20.33 น. ที่ระดับ 33,658.3 เมกะวัตต์

เดือน เม.ย. 2568 ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 24 เม.ย. 2568 เวลา 20.48 น. ที่ระดับ 34,620.4 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามสถิติพีคไฟฟ้าดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะในปี 2568 แต่เมื่อพิจารณาพีคไฟฟ้าระดับประเทศพบว่า สถิติพีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยังคงอยู่ในวันที่ 2 พ.ค. 2567 เวลา 22.24 น. เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าถึง 36,792.1 เมกะวัตต์  ดังนั้นพีคไฟฟ้าของปี 2568 ยังไม่ทำลายสถิติพีคไฟฟ้าสูงสุดของประเทศแต่อย่างใด

ส่วนการใช้ไฟฟ้าล่าสุดของวันที่ 25 เม.ย. 2568 เวลา 14.10 น. ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 33,155.4 เมกะวัตต์ เนื่องจากสภาพอากาศยังคงร้อนอบอ้าวและสะสมความร้อนมาต่อเนื่องตลอดสัปดาห์นี้ 

อย่างไรก็ตามแม้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของไทย (จากระบบไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า) ยังมีเพียงพอรองรับพีคไฟฟ้าได้อย่างแน่นอน โดยในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย พ.ศ. 2567-2580 (ร่าง PDP 2024) ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แต่มีข้อมูลระบุว่าการผลิตไฟฟ้าของไทยในปี 2568 ยังใกล้เคียงกับปี 2567 ที่ประมาณ 55,947 เมกะวัตต์ โดยเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2567 กระทรวงพลังงานระบุว่าไทยยังมีสำรองไฟฟ้าเหลืออยู่ 25.5% ดังนั้นจึงเพียงพอรองรับพีคไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปในปี 2567 จะพบว่าตลอดปี 2567 ได้เกิดพีคไฟฟ้าขึ้นถึง 11 ครั้ง เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดความร้อนสะสมทั่วประเทศ โดยบางพื้นที่อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 44 องศาเซลเซียส โดยในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2567 เกิดพีคไฟฟ้าทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปถึง 4 ครั้ง โดยไปจบที่สถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ณ วันที่ 2 พ.ค. 2567 เวลา 22.24 น. ที่ระดับ 36,792.1 เมกะวัตต์

‘กรมขนส่งทางราง’ เร่งพัฒนา!! เส้นทางรถไฟสาย ‘สิงคโปร์ - คุนหมิง’ เชื่อมยุโรป เน้นให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ขนส่งสินค้าผลไม้ ไปยัง ‘จีน – ยุโรป’ ผ่านการขนส่งทางราง

(26 เม.ย. 68)  กรมขนส่งทางราง เร่งพัฒนาเส้นทางรถไฟสาย 'สิงคโปร์– คุนหมิง' พร้อมชูจุดแข็งไทยศูนย์กลางภูมิภาค ขนส่งสินค้าผลไม้ ไปยุโรปผ่านรางรถไฟ เร่งผลักดันความร่วมมือ Single Window เป็นศุลกากรเดียว หวังให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องส่งออกสินค้า ผลไม้ไทยได้รวดเร็ว ลดต้นทุนขนส่งแบบไร้รอยต่อ

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงการเดินทางไปศึกษาดูงานเส้นทางการขนส่งทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะสื่อมวลชนว่า การมาศึกษาดูงานที่นครฉงชิ่ง เนื่องจากนครฉงชิ่ง ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของเส้นทางเชื่อมโยงทางการค้าและการขนส่งของจีนในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟจากนครฉงชิ่งยังเป็นเส้นทางการขนส่งทางรางที่สามารถเชื่อมต่อจากจีนไปยังยุโรปได้ ซึ่งถือเป็นเส้นทางขนส่งทางรางที่มีศักยภาพสูง เปิดเส้นทางรถไฟ 'สิงคโปร์–คุนหมิง' เชื่อมโลก

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางราง และการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศของจีน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาการเชื่อมต่อระบบรางของประเทศไทยผ่านรถไฟทางคู่ไทยมายังจีน ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันไทยได้มีการขนส่งสินค้าประเภทต่างๆ มายังฉงชิ่ง ซึ่งการขนส่งทางรางดังกล่าวอยู่ในแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟสาย 'สิงคโปร์-คุนหมิง' ที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง ขณะเดียวกันไทยยังหวังที่จะส่งผลไม้ที่สำคัญมายังจีนผ่านทางรางเชื่อมต่อออกไปยังยุโรป

เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ถือเป็นเส้นทางที่จะสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อไปยังตลาดการค้าสำคัญอย่างจีน และยุโรป เนื่องจากเส้นทางรถไฟสายนี้มีแนวเส้นทางผ่านไทยเป็นศูนย์กลาง เริ่มต้นจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ท่าเรือแหลมฉบัง/มาบตาพุด ผ่านหนองคาย เวียงจันทน์ บ่อเต็น โม่ฮาน คุนหมิง ฉงชิ่ง ซินเจียง อี้หนิง คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ และเข้าสู่ทวีปยุโรป

โดยในปัจจุบันไทยได้มีการทดลองขนส่งสินค้ามายังยุโรปผ่านเส้นทางแล้ว โดยได้ทดลองขนสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์จากมาบตาพุด ประเทศไทยไปยังฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี พบว่าใช้เวลาประมาณ 30 วันในครั้งแรก และลดลงเหลือ 22 วันในครั้งที่สอง ปลดล็อกศุลกากรเดียว 'ไทยถึงยุโรป'

นายพิเชฐ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันยอมรับว่าการขนส่งในเส้นทางรถไฟสายนี้ยังใช้เวลามาก เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องศุลกากรระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบสินค้า รวมไปถึงสับเปลี่ยนขบวนรถเมื่อข้ามพรมแดนประเทศ เนื่องจากปัจจุบันรถไฟของแต่ละประเทศยังมีการใช้ระบบรางที่แตกต่างกัน แต่ทุกประเทศอยู่ระหว่างร่วมกันแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ ซึ่งข้อจำกัดที่พบว่าสามารถร่วมกันแก้ไขได้ คือ การตรวจสอบเอกสารศุลกากร ให้เป็นการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นการจัดทำเอกสารภายใต้รูปแบบเดียวกัน หรือ Single Win dow หากทำได้จะส่งผลให้กระบวนการศุลกากรสามารถกรอกข้อมูล และตรวจสอบผ่านระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ได้ทีเดียว

อย่างไรก็ดี หากแก้ไขข้อจำกัดเรื่องนี้ได้ คาดว่าจะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางรางไปได้ครึ่งนึง โดยจะทำให้การขนส่งสินค้าทางรางจากไทยไปยังหลายประเทศในยุโรปที่ปัจจุบันใช้เวลาเฉลี่ยราว 22 วัน จะลดลงเหลือเพียง 11 วันเท่านั้น และนับเป็นโครงข่ายการขนส่งระหว่างประเทศที่รวดเร็ว คุ้มค่ามากที่สุด หากเทียบกับการขนส่งสินค้าทางเรือที่มีต้นทุนไม่สูงแต่ก็พบว่าปัจจุบันต้องใช้เวลามากกว่า 1 เดือนในการขนส่งสินค้าไปยังยุโรป

นายพิเชฐ กล่าวเสริมว่า ทั้งนี้ ขร.ยังได้ประเมินโอกาสและความได้เปรียบทางการขนส่งของไทย นอกจากภูมิประเทศจะอยู่ตรงศูนย์กลางของเส้นทางรถไฟสายนี้ก็ตาม ก็จะต้องสร้างโอกาสในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อให้เชื่อมต่อกันสมบูรณ์ ในส่วนของผู้ประกอบการไทยก็มีโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศต่างๆ ผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ โดยเฉพาะสินค้าที่เน่าเสียง่าย ผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ มะม่วง ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าผลไม้ที่ปลูกในจีนหรือเวียดนาม ก็ส่งออกสินค้า ผ่านรถไฟ ใช้เวลาไม่นาน ควบคุมคุณภาพได้ และมีต้นทุนขนส่งที่ต่ำ หวังรถไฟไทย–จีนเปิดเต็มสูบช่วยขนสินค้า

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า จากที่ ลาว และจีนได้มีการเปิดให้บริการ รถไฟลาว-จีน อย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 วันนั้นก็ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน เพราะผู้ประกอบการขนส่งได้หันมาขนส่งสินค้าทางรถไฟมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากสถิติปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย-สปป.ลาว ในปี 2564 มีปริมาณการขนส่งเพียง 2,288 ตัน แต่พอมาในปี 2566 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 46,287 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 63,676 ตันในปี 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง 37.56% เมื่อเทียบกับปี 2566 และเมื่อเทียบกับปี 2564 พบว่ามีการเติบโตอย่างมาก

ดังนั้นหากประเทศไทยมีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน เส้นทาง กทม.-หนองคาย แล้วเสร็จ และเปิดบริการในปี 2572 ตามกำหนด เส้นทางนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางขนส่งทางรางที่สำคัญของไทย ที่นอกจากขนส่งคนในการเดินทางแล้ว ยังเป็นระบบการขนส่งที่สำคัญที่จะขนสินค้าประเภทต่างๆ หรือสินค้าที่เน่าเสียง่าย โดยเฉพาะผลไม้ตามฤดูกาลของไทย เช่น ทุเรียน ไปยังตลาดโลกได้ ในระยะเวลาที่สั้นลง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ที่สดมากๆ

นายพิเชฐ ยังได้กล่าวย้ำว่า ในปัจจุบันไทยมีการขนส่งสินค้าจากไทยผ่านทางรถไฟทางคู่ไทยเชื่อมต่อไปยังนครฉงชิ่ง ใช้เวลาเดินทางรวมประมาณ 4 วัน และหากไทยมีรถไฟความเร็วสูง ไทย จีน ก็จะยิ่งส่งผลให้ประเทศไทยไปยังจีน และยุโรปได้เร็วขึ้นจากเดิม ซึ่งนั่นก็จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันการขนส่งสินค้า และ การค้าเพิ่มขึ้นในตลาดโลกได้

‘ธปท.’ ประกาศ!! ขยายเวลาการสมัครเข้าร่วม ‘โครงการคุณสู้ เราช่วย’ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ให้ลงทะเบียนได้ถึง 30 มิ.ย.นี้

(27 เม.ย. 68) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ประกาศ โดยมีใจความว่า ...

ตามที่กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ และ ผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank อื่น ๆ ออกมาตรการชั่วคราวภายใต้ชื่อโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" (โครงการฯ) เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม นั้น

ที่ผ่านมา มีลูกหนี้ทยอยสมัครเข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2568 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมแล้วทั้งสิ้น 1.6 ล้านบัญชี จากลูกหนี้ 1.3 ล้านราย โดยสถาบันการเงินได้พิจารณาคุณสมบัติของลูกหนี้ดังกล่าว และพบว่า ณ วันที่ 15 เมษายน 2568 มีลูกหนี้ลงทะเบียนที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายร่วมโครงการฯ ได้ จำนวน 5.3 แสนราย (คิดเป็น 27% ของลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 1.9 ล้านราย) เป็นยอดหนี้ 3.85 แสนล้านบาท (คิดเป็น 43% ของยอดหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 8.9 แสนล้านบาท)

อย่างไรก็ดี ภายใต้เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าคาดและมีความไม่แน่นอน ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่เผชิญกับปัญหาในการชำระหนี้ และพบว่าลูกหนี้ยังคงให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลัง สศช. ธปท. ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank จึงเห็นควรขยายระยะเวลาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2568

ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" สามารถศึกษารายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 เวลา 23.59 น. หรือติดต่อสาขาของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ BOT contact center ของ ธปท. โทร 1213 หรือ Call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ

‘ดร.อาชนัน’ จี้ รบ. เร่งจัดการสินค้าจีนสวมสิทธิ์ ‘บริษัทไทย’ หลังมีผู้ผลิตโซลาร์โดนสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสุดโหด

นักวิชาการธรรมศาสตร์ เสนอรัฐบาลเร่งคลอดมาตรการป้องกัน ‘จีน’ สวมสิทธิ์บริษัทไทย เร่งฟื้นเชื่อมั่นสหรัฐฯ ผ่านการแก้ปัญหาจริงจัง ระบุควรตั้งกรรมการเฉพาะขึ้นมา และเปิดช่องให้ผู้แทนมะกันเข้ามาร่วมตรวจสอบสถานประกอบการเพื่อความไว้วางใจ

รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนักวิจัยศูนย์ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา เปิดเผยว่า การที่สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จากประเทศในอาเซียนจำนวน  4 ประเทศ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสืบสวนทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมการสวมสิทธิ์ของประเทศจีน ที่ได้เข้ามาสวมสิทธิ์ตั้งฐานการผลิตโซลาร์เซลล์ในบริษัทอาเซียน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย โดยผลการตรวจสอบของสหรัฐฯ ในปี 2023 สรุปว่ามีการสวมสิทธิ์ และทำให้เริ่มไต่สวนเพื่อคำนวณอัตราการเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนและการทุ่มตลาดในปี 2024 และสรุปออกมาเป็นตัวเลขที่แน่ชัดได้ในช่วงเดือน เม.ย. 2025 ที่ผ่านมา

รศ. ดร.อาชนัน กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า มาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และภายในประเทศนั้นๆ บริษัทแต่ละบริษัทก็เผชิญภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน โดยบริษัทจากมาเลเซียโดนภาษีตอบโต้การอุดหนุนและการทุ่มตลาดในอัตราที่ต่ำที่สุด ในขณะที่อีก 3 ประเทศเผชิญภาษีดังกล่าวมากกว่าร้อยละ 100  ดังนั้นมาเลเซียและผู้ผลิตโซลาร์ในสหรัฐฯ น่าจะได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีนำเข้า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ด้วยอัตราภาษีในระดับนี้คงยากที่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศได้ 

อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตโซลาร์ของมาเลเซียโดยลำพังอาจไม่เพียงพอที่รองรับความต้องการของสหรัฐฯ ได้ ดังนั้นราคาโซลาร์ในสหรัฐฯ คาดว่าจะสูงขึ้น และทำให้ความต้องการโซลาร์ลดลง ผลที่ตามมาคือการเปลี่ยนผ่านไปพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์คาดว่าจะชะลอตัวลง และทำให้ปัญหาสภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น 

“ในเวลานี้คงเป็นเรื่องยากและอาจจะเลยจุดที่รัฐบาลไทยจะทำอะไรได้มากแล้ว เพราะเป็นกระบวนการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2024 สหรัฐฯ ตัดสินไปแล้ว ซึ่งเราก็อาจจะอุทธรณ์ได้ในบางกรณีแต่ก็คงไม่ง่าย ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำก็คือการหามาตรการป้องกันเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้า ซึ่งแน่นอนว่าจะมีมาอีกเรื่อยๆ ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพราะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของโลกมีการแบ่งงานกันระหว่างประเทศ และจีนมีบทบาทในเกือบทุกสินค้า รัฐบาลจึงต้องเตรียมการเชิงรุกให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยเดิมอีก” รศ. ดร.อาชนัน กล่าว

รศ. ดร.อาชนัน กล่าวว่า คำแนะนำในเบื้องต้นคือหลังจากนี้ไปรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ควรจะต้องมีกระบวนการที่เข้มข้นมากขึ้น ในการพูดคุยและเจรจากับผู้ประกอบการจากต่างชาติว่าจะมีแผนหรือกระบวนการต่างๆ อย่างไร เพื่อให้ลดการพึ่งพาชิ้นส่วนต่าง ๆ จากจีน และหันมาสร้างซัพพลายเชนในไทยมากขึ้น เรื่องดังกล่าวคาดว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการทุกชาติในประเทศไทย  ภาครัฐสามารถใช้กรณีบริษัทผลิตโซลาร์เซลล์ครั้งนี้เป็นกรณีศึกษาว่าหลักเกณฑ์ใดที่เข้าข่ายการสวมสิทธิ์ และแบบใดไม่เข้าข่าย ซึ่ง ช่องว่างของความแตกต่างเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องกลับมาทบทวน และถอดรหัสเพื่อหามาตรการรับมือ

“มากไปกว่านั้นคือควรใช้โอกาสจากการที่ไทยกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งในการหารือถึงการทำงานร่วมกันกับสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า โดยแสดงความจริงใจและความมุ่งมั่นผ่านการนำเสนอกระบวนการทำงานที่เป็นรูปธรรมหลังจากนี้ไป และอาจจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ดังกล่าวขึ้นมาโดยเฉพาะ และเชิญชวนตัวแทนเจ้าที่ทางการจากสหรัฐฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งสำหรับร่วมตรวจสอบสถานประกอบการ หรือบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาดำเนินการผลิตในไทย หากสามารถทำให้สหรัฐฯ มองเห็นถึงความเอาจริงเอาจังเพื่อจัดการปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้า ก็อาจจะส่งผลให้อเมริกาพิจารณาผ่อนคลายมาตรการการขึ้นภาษีได้ในท้ายที่สุด” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว

'อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.' ห่วงทรัมป์ 2.0 ทำเศรษฐกิจโลกโตต่ำ 3% กระทบไทยเร่งหาทางออกประเทศจัดเวที “ โอกาสหรือวิกฤติใหม่เศรษฐกิจไทยภายใต้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน“ 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์(FKII Thailand) เปิดเผยวันนี้ว่า ไอเอ็มเอฟ.ประเมินล่าสุดว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนกระทบทั่วโลกเป็นลูกโซ่จะส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงจาก 3.3% เหลือ 2.8% ส่วนมิติการค้านั้น การค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็นสัดส่วน 3% ของตลาดการค้าโลกซึ่งมีมูลค่า24 ล้านล้านดอลลาร์โดยเมื่อปี 2024 มูลค่าการส่งออกนำเข้าของสหรัฐและจีนอยู่ที่ 582.4 พันล้านดอลลาร์ โดย สหรัฐส่งไปจีน 143.5 พันล้านดอลลลาร์ และจีนส่งไปสหรัฐ 438.9 พันล้านดอลลาร์ 

ซึ่งองค์การการค้าโลก(WTO)มองว่าถ้าสงครามการค้ายังสู้กันด้วยการขึ้นภาษีทำให้2ชาติมหาอำนาจยุติการค้าขายกันแต่ตลาดโลกอีก97%ก็ยังค้าขายต่อไปได้ นับเป็นตัวอย่างมุมมองที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตามผลกระทบยังมีอีกหลายมิติไม่ใช่เพียงเรื่องเศรษฐกิจการค้าและเป็นทั้งโอกาสและวิกฤตขึ้นกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ

อดีตรัฐมนตรีอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการเมืองของทั้ง2มหาอำนาจและอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงลำดับต้นๆที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและนโยบายทรัมป์2.0ครั้งนี้ แต่จะรอดจะร่วงหรือจะรุ่งจะเป็นโอกาสหรือวิกฤตสำหรับก้าวต่อไปของประเทศไทยหาคำตอบได้ในงานเสวนาโต๊ะกลมของสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์ -FKII National Dialogue “โอกาสหรือวิกฤติใหม่เศรษฐกิจไทยภายใต้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน“

วันพุธที่ 30 เมษายน 2568 
เวลา 13.00-15.30 น.
ณ TVA Hall สวนเสียงไผ่ สถาบันทิวา กรุงเทพมหานคร

ขอเชิญร่วมแสดงความเห็นเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทยในสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน พบกับวิทยากรร่วมเสวนา อาทิ

1. นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบัน FKII Thailand
2. นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานสถาบันทิวา (TVA) และผู้อำนวยการสถาบัน FKII Thailand
ผู้เชี่ยวชาญด้านอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี
3. นายเกษมสันต์ วีระกุล  ประธานซีเอ็ดนักวิชาการอิสระ สื่อมวลชน ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
4. ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน อดีตอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงปักกิ่งผู้เชี่ยวชาญด้านจีน และผู้ร่วมเสวนาโต๊ะกลม

ลงทะเบียนด่วน!!! รับจำนวนจำกัด!!!
ที่ LineOA FKII Thailand: https://lin.ee/BgPCPvd
ติดต่อสอบถาม
091-1805459 (วรวุฒิ)
093-1252012 (ลิต้า)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top