Friday, 4 July 2025
GoodVoice

‘คิงเพาเวอร์’ อ้างโควิด เศรษฐกิจแย่ นทท. จีนหาย ขอยกเลิกสัญญาดิวตี้ฟรีดอนเมือง-ภูเก็ต-เชียงใหม่

‘คิงเพาเวอร์’ ยื่นหนังสือถึงทอท. ขอยกเลิกสัญญาดิวตี้ฟรี สนามบินดอนเมือง-ภูเก็ต-เชียงใหม่ อ้างผลกระทบโควิด เศรษฐกิจตกต่ำ สงคราม กำแพงภาษี รัฐขาดมาตรการเชิงรุกทำนักท่องเที่ยวจีนหาย รวมถึงขอคืนพื้นที่ทำยอดขายลด ขาดทุน จ่ายผลตอบแทนที่กำหนดสูงเกินไปไม่ไหว ชี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่ได้เกิดจากบริษัทฯ จี้เจรจายุติใน 45 วัน

รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. โดยขอหารือแนวทางในการพิจารณายกเลิกสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งบ.คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับสัญญาประกอบกิจการ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2576 นับจากสถานการณ์โควิด-19 ทอท.ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ เป็นผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per Head) จำนวน 127.30 บาท โดยเรียกเก็บจากผู้โดยสารขาออกผู้โดยสารผ่านและผู้โดยสารขาเข้า ผลกระทบโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ก็มีเหตุสงครามในหลายภูมิภาค สงครามการค้า และการกีดกันทางการค้า กำแพงภาษี การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้โดยสารจีนที่มีกำลังซื้อสูงลดลง ทำให้ยอดขายลดลง

โดยบริษัทฯ อ้างสาเหตุถึง 7 ประเด็น ที่เป็นเหตุสุดวิสัย ส่งผลต่อยอดจำหน่ายและการประกอบการของบริษัทฯ และส่งผลทำให้ค่าตอบแทนที่บริษัทฯต้องชำระให้แก่ทอท.อยู่ในเกณฑ์ที่สูงผิดปกติกว่าที่ควรจะเป็นและที่ได้เสนอไว้ ซึ่งผลกระทบต่างๆ เป็นผลให้บริษัทฯ ประสบกับภาวะขาดทุนจากแบกรับภาระ อัตราค่าตอบแทนที่สูงผิดปกติและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสถานการณ์จนส่งผลให้บริษัทฯ มีความจำเป็นที่ต้องเลื่อนชำระค่าภาระต่าง ๆ มาเป็นระยะ ๆ ซึ่งเหตุการณ์อันส่งผลกระทบเหล่านั้นเป็นเหตุสุดวิสัยอันมิได้เกิดจากการกระทำหรือความผิดจากบริษัทฯ แต่ประการใดทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกัน ทอท. กลับพิจารณาและดำเนินการตามที่ ทอท.เห็นสมควรเพียงลำพังและเป็นประโยชน์แก่ ทอท. เพียงฝ่ายเดียว โดยมิได้หารือบริษัทฯ เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อทั้งสองฝ่าย หรือมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกันกับบริษัทฯ ที่มีมากกว่าผลกระทบด้านค่าตอบแทน

ดังนั้น ด้วยเหตุต่าง ๆ ที่ยังไม่คลี่คลายในขณะนี้ และยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะยุติเมื่อไหร่ รวมถึงความไม่มั่นใจในการให้ความเป็นธรรมต่อคู่สัญญาของ ทอท. บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะร้องขอให้เกิดการหารือเพื่อหาแนวทางและข้อยุติอื่นๆ รวมถึงแนวทางในการพิจารณายกเลิกสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อยุติภายใน 45 วัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อบริษัทฯ ในระหว่างการพิจารณาของ ทอท. บริษัทฯ ขอนำส่งค่าตอบแทนตามสัญญาประมูลในอัตราร้อยละ 20 ของยอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในแต่ละเดือน ซึ่งภายหลังสิ้นเดือน เมื่อทราบยอดจำหน่าย บริษัทฯ จะคำนวณค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 20 และชำระค่าตอบแทนดังกล่าวภายในวันสุดท้ายของเดือนถัดไป โดยเริ่มจากยอดจำหน่ายเดือนกรกฎาคม 2568 (เนื่องจาก บริษัทฯ ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมเวลาชำระเงินสำหรับค่าตอบแทนขั้นต่ำ เดือนกันยายน 2567 ถึงเดือนมิถุนายน 2568) ซึ่งจะทราบยอดจำหน่ายภายหลังสิ้นเดือนกรกฎาคม 2568 และจะชำระค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 20ให้แก่ ทอท. ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2568 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนขั้นต่ำของเดือนกรกฎาคม 2568 ซึ่งเดิมบริษัทฯ ต้องชำระให้แก่ ทอท. ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2568 และขอให้ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระ โดยขอให้แนวทางการนำส่งค่าตอบแทนข้างต้นมีผลต่อเนื่องไปจนกว่าจะได้ข้อยุติจากการเจรจา

สำหรับสถานการณ์ที่ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ระบุเป็นเหตุสุดวิสัยและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยมิได้เกิดจากการกระทำของบริษัทฯ โดยเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถประกอบการและปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ตกลงไว้ได้ ดังนี้

1. การหยุดดำเนินการร้านค้าปลอดอากรขาเข้าจากนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 กระทบต่อวิธีการคำนวณจำนวนเงินค่าตอบแทนที่ลดลงจากการหยุดประกอบการร้านค้าปลอดภาษีขาเข้าอย่างไม่เป็นธรรม และแตกต่างจากเจตนาของ TOR และสัญญาฯอย่างมีนัยสำคัญ

2. การลดภาษีสินค้าประเภทไวน์อันส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายภายในร้านค้าปลอดอากร ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ.2530 (ฉบับที่ 7 ) ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ยกเว้นอากรสินค้าไวน์ที่ระบุไว้ในประกาศฯ (จากเดิมอัตราอากรอยู่ที่ร้อนยละ 60) ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่าย

3. การขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการของทอท. บางส่วน(เนื้อที่ประมาณ 491.220 ตารางเมตร) ตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งทอท.ใช้วิธีคำนวณจำนวนเงินค่าตอบแทนที่ต้องชำระให้แก่ทอท.ที่ปรับลดลงตามสัดส่วนของพื้นที่ขอคืนมีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าลดลง

4. การขาดมาตรการเชิงรุกของภาครัฐในการบริหารจัดการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้การลดลงของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยสูงสุด

5. สถานการณ์ภายในประเทศอันส่งผลทางลบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนผู้โดยสาร เช่น การย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ การปิดตัวของบริษัทในหลายอุตสาหกรรม อาชญากรรมทางไซเบอร์ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) หรือการถล่มของตึก สตง.จากแผ่นดินไหววันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในประเทศ

6. สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังมีผลกระทบต่อธุรกิจ

7. สถานการณ์สงครามและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ บริษัทฯอ้างสัญญาข้อ 7.9 ระบุว่า ในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องหรือมีเหตุจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเหตุให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากความผิดของคู่สัญญาฝ่ายใด คู่สัญญาจะเจรจาเพื่อหาทางแก้ไข

ข้อ7.7 ในกรณีที่ข้อกำหนดของสัญญาข้อใดข้อหนึ่งตกเป็นโมฆะไม่สมบูรณ์ หรือใช้บังคับไม่ได้ตามกฎหมาย คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงในข้อกำหนดอื่นยังมีผลบังคับกันได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสัญญาที่มีผลในทางพาณิชย์

ข้อ7.5 ภายใต้บังคับของกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับทอท. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญานี้ไม่อาจทำได้ เว้นแต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะได้ทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา

ทอท.ทำสัญญากับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด สำหรับกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ สัญญาที่ ทอท.DF-1-02/2562 ลงวันที่ 4 ก.ค. 2562 มีอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ปีแรก 2,331 ล้านบาท ต่อมาแก้ไขสัญญา 2 ครั้ง คือวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ล่าสุดปรับอายุสัญญาเป็นระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2576

‘นิพนธ์’ เปิดบ้าน!! ต้อนรับกงสุลใหญ่จีนประจำสงขลา เดินหน้า!! ส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจ ‘ไทย–จีน’

(14 มิ.ย. 68) นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 8 สมัย เปิดบ้านพักที่เขารูปช้าง ให้การต้อนรับ นายวัง จื้อเจียน กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากสมาคมจีนสงขลา หาดใหญ่ และผู้นำเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา

การพบปะครั้งนี้เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างไทย–จีน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงในการเป็นฐานอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาค

ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการเตรียมการต้อนรับ คณะนักธุรกิจจากมณฑลเสฉวน ที่จะเดินทางมาศึกษาดูงานในจังหวัดสงขลา โดยจะเยี่ยมชมพื้นที่เป้าหมายสำคัญ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมยางพารา อำเภอหาดใหญ่ พื้นที่ศักยภาพการลงทุนในอำเภอสะเดา ใกล้ชายแดนไทย–มาเลเซีย 

นายนิพนธ์กล่าวว่า “สงขลามีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน แรงงาน และทำเลที่ตั้ง ซึ่งสามารถรองรับการลงทุนจากจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการพัฒนาและวางแผนร่วมกันอย่างจริงจัง จะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน”

บรรยากาศของการพบปะเป็นไปอย่างอบอุ่นและเป็นมิตร โดยทั้งสองฝ่ายได้มอบของที่ระลึก และแสดงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือไทย–จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

‘เอกนัฏ’ ส่ง 'สุดซอย' บุกรง. ลอบซุกขยะพิษ 8 พันตัน ปฏิบัติการชักปลั๊กทลายอาณาจักรรีไซเคิลศูนย์เหรียญ

‘เอกนัฏ’ ทลายอาณาจักรรีไซเคิลศูนย์เหรียญปราจีนบุรี พบลอบประกอบกิจการ ซุกขยะพิษ-วัตถุอันตรายกว่า 8,000 ตัน ปล่อยเช่าที่ตั้งโกดังแบบผิด กม.รัวๆ แจ้งความดำเนินคดีเด็ดขาด พร้อมชงเรื่อง 'ดีเอสไอ' รับเป็นคดีพิเศษ

(18 มิ.ย.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าชุดตรวจการณ์สุดซอย หรือ ทีมสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) มูลนิธิบูรณะนิเวศ เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัท เซ็ตเมทอล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 301 หมู่ที่ 3 ตำบลกรอกสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ประกอบกิจการหลอมหล่อโลหะ เช่น อะลูมิเนียม ทองแดง ซึ่งก่อนหน้านี้โรงงานถูกคำสั่งให้ปิดปรับปรุงชั่วคราว เนื่องจากประกอบกิจการไม่ตรงตามใบอนุญาต แต่มีรายงานว่ายังคงลักลอบประกอบกิจการ จึงให้ทีมสุดซอยเข้าตรวจสอบ 

“จากการตรวจสอบภายในบริษัท เซ็ตเมทอลฯ พบการกระทำความผิดหลายกรณี ทั้งลักลอบประกอบกิจการเดินเครื่องรีไซเคิลสายไฟ ครอบครองวัตถุที่เข้าข่ายวัตถุอันตรายถึงกว่า 8 พันตัน ทั้งยังมีพฤติกรรมตั้งตนเป็นนิคมศูนย์เหรียญ ซึ่งได้สั่งให้ปิดกิจการและดำเนินคดีโดยเด็ดขาดทันที” นายเอกนัฏ ระบุ 

นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวเสริมว่า ภายในพื้นที่ บริษัท เซ็ตเมทอลฯ ที่มีนางจันจิรา สุขสถิต และนายหยู-ลี่ หยาง จดทะเบียนเป็นกรรมการบริษัทฯ มีการแบ่งโกดังรวม 7 หลัง ทั้งส่วนที่มีใบอนุญาตโรงงานและส่วนที่ไม่พบใบอนุญาต ขณะเข้าตรวจสอบ พบว่ามีคนงานจำนวนหนึ่งกำลังเดินเครื่องรีไซเคิลสายไฟ ซึ่งถือว่าฝ่าฝืนคำสั่งระงับกิจการชั่วคราว และพบเศษสายไฟ ชิ้นส่วนระบบไฟฟ้ารถยนต์ เศษโลหะปนเปื้อนขยะอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทั้งหมดเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตราย รวมกว่า 8 พันตัน ถือเป็นการครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีข้อมูลด้วยว่า มีรถบรรทุกขนย้ายเศษอิเล็กทรอนิกส์เข้า-ออกโรงงานเฉลี่ยเดือนละกว่า 230 คัน 

“ตามลักษณะถือเป็นนิคมศูนย์เหรียญอย่างชัดเจน มีการแบ่งพื้นที่ให้เอกชน 7 ราย ซึ่งเป็นชาวจีนและชาวไต้หวัน เช่าประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย เจ้าหน้าที่จึงแจ้งดำเนินคดีในข้อหาประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต, การขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต การครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมให้มีการยึดอายัดของกลางทั้งหมดไว้” นางสาวฐิติภัสร์ กล่าว 

บริษัท เซ็ตเมทอลฯ มีการเช่าพื้นที่ของ บริษัท พีทีเอส โกลเด้น เมทัล จำกัด ที่ไม่ได้มีการประกอบกิจการแล้ว จัดแบ่งเป็น 2 ส่วน ให้ชาวจีน 2 บริษัทเช่าช่วงเพื่อประกอบกิจการคัดแยกเศษโลหะ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไม่ได้รับอนุญาต ได้แก่ เศษโลหะ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า เศษสายไฟ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตราย รวมกว่า 8 พันตัน สอจ.ปราจีนบุรี ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนในส่วนขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำการยึดอายัดเครื่องจักร วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และกากของเสียไว้ทั้งหมด พร้อมดำเนินคดีข้อหาตั้งประกอบกิจการและครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และเนื่องจากทั้ง 2 พื้นที่มีการครอบครองวัตถุอันตรายเกิน 50 ตัน ซึ่งเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ที่จะนำส่งไปให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อพิจารณาต่อไป 

“ขณะนี้ ทีมสุดซอย ได้สรุปข้อมูลการพิจารณาทบทวนการออกใบอนุญาตโรงงานประเภทรีไซเคิลที่อาจจะมีมากเกินความจำเป็น และเพื่อเป็นการกำจัดและป้องกันการสร้างอาณาจักรศูนย์เหรียญที่ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพกับชุมชนและประเทศไทย” นางสาวฐิติภัสร์กล่าว

สกพอ. ผนึก สวทช. และกนอ. โรดโชว์เนเธอร์แลนด์ ดึงบริษัทชั้นนำ ลงทุนอุตสาหกรรมสีเขียวพื้นที่อีอีซี

(18 มิ.ย.68) ดร. จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำคณะ เดินทางไปราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 8 – 15 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา เพื่อชักชวนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม Bio-Circular-Green (BCG) โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร เคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมหมุนเวียน โดยคณะฯ ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัทชั้นนำด้านการเกษตรอัจฉริยะ ได้แก่ Rijk Zwaan, Priva, Van der Hoeven, Koppert Biologic และ Hydrosat กลุ่มบริษัทและองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ Unilever, Thai Union และ FoodX กลุ่มบริษัทชั้นนำด้านเคมีชีวภาพ ได้แก่ Corbion และ Avantium และกลุ่มบริษัทด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ Oryx Stainless  

ทั้งนี้ การเข้าร่วมประชุมและพบปะบริษัทชั้นนำจากเนเธอร์แลนด์ดังกล่าว สกพอ. สวทช. และ กนอ. ได้ร่วมกันนำเสนอความพร้อมในการรองรับการลงทุน การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ในด้านภาษีและมิใช่ภาษีสำหรับการลงทุน การส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านการลงทุน และการสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา ตลอดจนโอกาสในการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสและพร้อมดึงดูดนักลงทุนให้เข้าสู่พื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ สกพอ. และคณะฯ ได้มีโอกาสเข้าพบหารือกับบริษัทที่เข้าร่วมงาน GreenTech Amsterdam 2025 งานแสดงสินค้าและการประชุมระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ถือเป็นเวทีสำคัญของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ สกพอ. ต้องการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ที่ออกแบบให้เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ และเป็นศูนย์รวมระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำ (Innovation Ecosystem) ที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนไทย และภาคเอกชนจากต่างประเทศ 

พร้อมกันนี้ ได้มีโอกาสหารือกับบริษัทชั้นนำ เช่น Protix ที่มีเทคโนโลยีด้านการผลิตแมลงเพื่อใช้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ VISCON Group บริษัทระบบ Automation สำหรับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และมีโอกาสหารือกับ Invest International Netherlands หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของเนเธอร์แลนด์ ที่มีภารกิจส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนเนเธอร์แลนด์ให้เกิดการลงทุนในต่างประเทศผ่านการสนับสนุนด้านการเงิน รวมทั้งได้ทำให้ทราบว่าภาคเอกชนเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นพื้นที่เป้าหมายในการลงทุนในอนาคตต และเป็นโอกาสของพื้นที่อีอีซีและประเทศไทย ในการเป็นฐานการผลิตสำหรับภาคเอกชนเนเธอร์แลนด์เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในภูมิภาค โดยอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงาน เป็นสาขาที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์สนับสนุน 

สำหรับการเดินทางเยือนประเทศเนเธอร์แลนด์ครั้งนี้ สกพอ. ยังได้จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงธุรกิจในหัวข้อ “Thailand Meets Netherlands: Forging Stronger Business Partnerships on Bio-Circular-Green Economy in the Eastern Economic Corridor of Thailand” ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ร่วมกับหอการค้าเนเธอร์แลนด์ – ไทย (Netherlands – Thai Chamber of Commerce: NTCC) และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐไทย และภาคเอกชนเนเธอร์แลนด์ที่ประกอบธุรกิจในพื้นที่อีอีซีเข้าร่วมเป็นวิทยากร อาทิ 

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. นำเสนอโอกาสความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และโอกาสในการลงทุนในพื้นที่ EECi นางสาวนลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการ (บริหาร) กนอ. นำเสนอพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต ดร. ชลจิต วรวังโส วีรกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สกพอ. นำเสนอโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ BCG และภาคเอกชนไทยและเนเธอร์แลนด์ร่วมนำเสนอประสบการณ์การลงทุนในพื้นที่อีอีซีและประเทศไทย โดยงานสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาครัฐและภาคเอกชนเนเธอร์แลนด์ เข้าร่วมงานมากกว่า 70 ราย

กบน. ตรึงราคาหน้าปั๊ม - ลดเก็บเงินดีเซล 70 สต./ลิตร ลดผลกระทบประชาชนจากความขัดแย้งตะวันออกกลาง

(19 มิ.ย.68) นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพิลง (กบน.) ในการประชุมวันนี้ มีมติปรับลดอัตราเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันดีเซลลงอีก 70 สตางค์/ลิตร เพื่อช่วยพยุงราคาขายปลีกน้ำมันหน้าสถานีบริการไม่ให้ปรับขึ้นราคา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป

มติดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 75.52 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 93.98 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 87.49 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นตาม 

การลดอัตราเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์ ส่งผลให้รายรับของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซล ลดลงประมาณวันละ 43.50 ล้านบาท จากเดิมที่มีรายรับประมาณวันละ 62.97 ล้านบาท เหลือรายรับประมาณวันละ 19.47 ล้านบาท ขณะที่รายรับจากกลุ่มน้ำมันเบนซินยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และอยู่ที่ประมาณวันละ 72.88 ล้านบาทเท่าเดิม (รายละเอียดในตาราง)

นายพรชัย กล่าวว่า “การดำเนินมาตรการในครั้งนี้สะท้อนถึงความพร้อมของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการและดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประชาชน โดยใช้กลไกการจัดเก็บของอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วยพยุงราคาน้ำมันให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 โดย กบน.จะติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อดูแลภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างรอบด้าน และมีประสิทธิภาพ”

‘แอสเซนด์ มันนี่’ คว้าใบอนุญาตจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ เดินหน้าพัฒนาระบบพร้อมเปิดให้บริการภายใน 1 ปี

เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.68) แอสเซนด์ มันนี่ นำโดย บริษัท เอซีเอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด ประกาศได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์อย่างเป็นทางการจากธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นของ บริษัทฯ ในการเดินหน้าขยายบริการทางการเงิน ผ่านการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และยกระดับความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้คนไทย

การได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของ แอสเซนด์ มันนี่ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและการเงินให้กับผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสอดรับกับพันธกิจของ บริษัทฯ ในการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมทางการเงินเพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น โดย แอสเซนด์ มันนี่ มีแผนนำเสนอนวัตกรรมและโซลูชันบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาคิดใหม่ทำใหม่ตลอดกระบวนการ เพื่อนำเสนอบริการที่ครอบคลุมและตอบรับความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และประธานคณะกรรมการ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้ถือหุ้นหลักของ แอสเซนด์ มันนี่ เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ แอสเซนด์ มันนี่ ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์อย่างเป็นทางการ เราเชื่อมั่นว่าเวอร์ชวลแบงก์จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในมิติของการสร้างสรรค์นวัตกรรม  การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเครือซีพี ในการสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาส (Platform of Opportunity) ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่แข็งแกร่ง เพื่อเปิดทางให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียมและเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศให้มั่นคง ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์จะสนับสนุน แอสเซนด์ มันนี่ อย่างเต็มที่ เพื่อให้ธนาคารดิจิทัลแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นพลังสำคัญในการยกระดับประเทศสู่อนาคตที่ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างแท้จริง”

นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า “แอสเซนด์ มันนี่ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้จัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์อย่างเป็นทางการ เราเชื่อว่าสิ่งสำคัญของการให้บริการธนาคารในยุคต่อจากนี้ เริ่มต้นจากความเข้าใจลูกค้า ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ถูกระบบการเงินแบบเดิมมองข้าม โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แอสเซนด์ มันนี่ ทุ่มเทในการศึกษาความต้องการของลูกค้า เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดเป็นบริการที่ไม่เพียงช่วยแก้ไขปัญหาให้พวกเขา แต่ยังมอบคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ  เราเชื่อมต่อให้ผู้คนที่ก่อนหน้านี้ไม่อยู่ในระบบได้เข้ามาอยู่บนระบบการเงินเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา และบริษัทฯ ยังมีความพร้อมในการให้บริการโดยได้ลงทุนด้านบุคลากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และระบบบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างธนาคารดิจิทัลที่ให้บริการได้อย่างครอบคลุม ปลอดภัย และช่วยให้ลูกค้าของเราสามารถมีชีวิตการเงินที่ดีขึ้น ไม่ว่าพวกเขาแต่ละคนจะมีจุดเริ่มต้นที่ แตกต่างอย่างไร เรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าแพลตฟอร์มที่เราสร้างจะมอบบริการทางการเงินที่เข้าถึงง่าย ตอบรับชีวิตจริง และสนับสนุนผู้ใช้ของเราให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ ๆ พร้อมทำให้เรื่องของการเงินเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน”

ทั้งนี้ ใบอนุญาตจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ที่ แอสเซนด์ มันนี่ ได้รับ จะเข้ามาเสริมศักยภาพบริษัทฯ ให้สามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้นผ่านบริการธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตอบรับความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ โดยบริษัทฯ จะใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีด้าน AI และ Data Analytics ในการนำเสนอบริการที่ใช้งานง่าย ปลอดภัย และแก้ปัญหาได้จริง โดยเป้าหมายสำคัญคือการลดความเหลื่อมล้ำและสนับสนุนการเติบโตทางการเงิน ให้กับทั้งลูกค้ารายย่อย และลูกค้าธุรกิจ ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการ MSMEs ต่อจากนี้ การเงินจะถูกทำให้เป็นเครื่องมือแห่งโอกาสเพื่อมอบการเติบโตและเข้าถึงทุกบริการอย่างทั่วถึงให้กับคนไทย โดยบริษัทฯ จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนทั่วไปผ่านนวัตกรรมและบริการของเรา

ทั้งนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แอสเซนด์ มันนี่  ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการขยายการเข้าถึงทางการเงิน โดยพัฒนาหนึ่งในแอปพลิเคชันการเงินดิจิทัลที่เข้าถึงง่ายที่สุดในภูมิภาคอย่าง ทรูมันนี่ (TrueMoney) ซึ่งปัจจุบันให้บริการแก่ผู้ใช้ที่ลงทะเบียนกว่า 34 ล้านคนทั่วประเทศ โดยทรูมันนี่ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อผู้คนจำนวนมากเข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านบริการใช้จ่าย ออม ลงทุน การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และการสร้างหลักประกันเพื่ออนาคต

ตัวเลขที่เห็นได้ชัดคือ ลูกค้าสินเชื่อของ แอสเซนด์ มันนี่ มากกว่า 50% ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเป็นครั้งแรกกับบริษัทฯ ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากระบบการเงินแบบเดิมได้ แต่ด้วยการที่ แอสเซนด์ มันนี่ พัฒนาโมเดลสินเชื่อที่นำเทคโนโลยี AI และข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) มาใช้ ก็ได้ทำให้พวกเขาเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระ เจ้าของธุรกิจรายย่อย และเกษตรกร สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำเป็นผ่านการให้บริการสินเชื่อที่มีความรับผิดชอบ (Responsible lending) นอกจากนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว บริษัทฯ ได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยเบี้ยน้อย จ่ายสบาย เป็นจำนวนเกือบ 1 ล้านฉบับ เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากซึ่งไม่เคยเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านประกันมาก่อน สามารถสร้างความมั่นคงให้ชีวิตตัวเองได้ ยิ่งไปกว่านั้นลูกค้านักลงทุนในกองทุนรวมที่มีกว่า 70% ยังเป็นผู้ที่เริ่มลงทุนเป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ แอสเซนด์ มันนี่ ในการขยายการเข้าถึงเครื่องมือการเงินที่สร้างความมั่นคงในชีวิตให้ผู้คน

และภายในระยะเวลาหนึ่งปีต่อจากนี้ แอสเซนด์ มันนี่ จะเปิดตัวบริษัทและเวอร์ชวลแบงก์ ที่ดำเนินการภายใต้กฎเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยบริษัทฯ จะยึดหลักความยั่งยืน โปร่งใส และตรวจสอบได้ตลอดกระบวนการ โดยรายละเอียดของผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ จะมีการเปิดตัวและนำเสนออย่างเป็นทางการต่อไป

‘พีระพันธุ์’ ชงครม. ใช้มาตรการทางภาษีจูงใจติดโซลาร์ ชี้ ติดตั้งในบ้านอยู่อาศัยใช้ลดหย่อนภาษีได้ 200,000 บาท

‘พีระพันธุ์’ ชง ครม. มีมติเห็นชอบใช้มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีหนุนพลังงานทดแทน จูงใจผู้ประกอบการและภาคครัวเรือนลงทุนลดภาระค่าไฟ ข่าวดี!! ติดตั้ง Solar rooftop มีสิทธิลดหย่อนภาษีได้ถึง 200,000 บาท เตรียมนำร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้า ครม. เร็ว ๆ นี้

(24 มิ.ย.68)นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้นำข้อเสนอของกระทรวงพลังงานเรื่องการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนด้วยมาตรการทางภาษี เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นอีกแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งของผู้บริโภคและของประเทศในภาพรวม โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ซึ่งประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. การส่งเสริมการลงทุนและการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานด้วยมาตรการทางภาษี และ 2.การส่งเสริมการติดตั้ง Solar Rooftop ในบ้านอยู่อาศัยด้วยมาตรการทางภาษี โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 200,000 บาท  นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังเตรียมนำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรีภายใน 1-2 สัปดาห์หน้าด้วย 

นายพีระพันธุ์เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา อัตราค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่กระทรวงพลังงานได้พยายามบริหารจัดการตรึงราคาค่าไฟมาตลอดเพื่อไม่ให้เป็นภาระเดือดร้อนแก่ประชาชน และจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนหลายแนวทางเพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าด้านพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศ  ซึ่งจากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลพบว่า การใช้กลไกสิทธิประโยชน์ทางภาษีสนับสนุนจะสามารถช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน อีกทั้งจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNP) เพื่อผลิตไฟฟ้า ลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของประชาชนในระยะยาว  และสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยด้วย

“มาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน และของประเทศในภาพรวม อีกทั้งยังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และสนับสนุนแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้เร็วขึ้น” นายพีระพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังเปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ กระทรวงพลังงานจะนำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป  

สำหรับการพัฒนาเครื่อง Inverter ของคนไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพลังงานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์โซลาร์ราคาถูกสำหรับคนไทยนั้น ปัจจุบันเครื่องต้นแบบได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) แล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการต่าง ๆ สู่ขั้นตอนการผลิตเพื่อนำออกจำหน่ายแก่ประชาชนในราคาถูกเร็ว ๆ นี้

บอร์ด กฟผ. เสนอชื่อ ‘นรินทร์ เผ่าวณิช’ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 17

บอร์ด กฟผ. มีมติเสนอชื่อ นายนรินทร์ เผ่าวณิช เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 17 เตรียมเสนอกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

เมื่อวานนี้ (25 มิ.ย. 68) คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) ในการประชุมฯ ครั้งที่ 8/2568 มีมติเห็นชอบให้ นายนรินทร์ เผ่าวณิช ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. ตามที่คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการเสนอ สืบแทนนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กรกฎาคม 2568 โดยขั้นตอนจากนี้ กฟผ. จะนำเสนอกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

สำหรับประวัตินายนรินทร์ ปัจจุบัน อายุ 51 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าการเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 พร้อมกับรองอีก 4 คน คือ น.ส.พนา สุภาวกุล เป็นรองผู้ว่าการบริหาร นายธวัชชัย สำราญวานิช เป็นรองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ นายณัฐวุฒิ ผลประเสริฐ เป็นรองผู้ว่าการระบบส่ง นายเมธาวัจน์ พงศ์รดาภิรมย์ เป็นรองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

ประวัติการทำงานใน กฟผ. ที่สำคัญ
1 พ.ค. 2567 : รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง
1 ต.ค. 2565 : ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง
1 ต.ค. 2564 : ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรม และก่อสร้างโรงไฟฟ้า

คุณวุฒิการศึกษา
Ph.D. Georgia Institute of Technology, U.S.A.
M.S.C.E.Georgia Institute of Technology, U.S.A.
ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

‘กฟภ.’ ยัน ไม่ได้งดจำหน่ายไฟฟ้าให้กัมพูชา แต่ฝั่งเขมรไม่ได้ใช้ไฟจากไทยเลยทั้ง 8 จุด

(27 มิ.ย.68) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.-PEA) ชี้แจงกรณี PEA ไม่ได้งดจำหน่ายไฟฟ้าให้กับราชอาณาจักรกัมพูชา ระบุว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงบริเวณแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับราชอาณาจักรกัมพูชาจำนวน 8 จุดซื้อขายไฟฟ้านั้น สถานะปัจจุบัน (26 มิถุนายน 2568 เวลา 20.00 น.) PEA ยังมิได้ดำเนินการงดจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ราชอาณาจักรกัมพูชาแต่อย่างใด ทั้งนี้จากข้อมูล

การตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าตามจุดซื้อขายทั้ง 8 จุด นั้น ราชอาณาจักรกัมพูชา มิได้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก PEA โดยมีหน่วยการใช้ไฟฟ้าเป็น 0 ทั้ง 8 จุดซื้อขายไฟฟ้า ดังนี้

1.เทศบาลบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว → อำเภอปอยเปตจังหวัดบันเตียเมียนเจย วงจรที่ 1 และ วงจรที่ 2
2.  อำเภอกาบเชิง (ช่องจอม) จังหวัดสุรินทร์ → บ้านโอเสม็ด จังหวัดอุดรมีชัย 
3.  บ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด → บ้านหาดทรายยาว จังหวัดเกาะกง
4.  บ้านซับตารี อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี → อำเภอพนมปรึก จังหวัดพระตะบอง
5.  บ้านสวนส้ม อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี → บ้านโอลั๊ว อำเภอกร็อมเรียง จังหวัดพระตะบอง
6.  บ้านเขาดิน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว → อำเภอสำเภาลูน จังหวัดพระตะบอง
7.  บ้านแหลม อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี → อำเภอกร็อมเรียง จังหวัดพระตะบอง
8.  บ้านหนองปรือ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว → อำเภอมาลัย จังหวัดบันเตียเมียนเจย

สำหรับเงื่อนไขการงดจำหน่ายไฟฟ้าและยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PEA สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1. คู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือตัวแทนรัฐ (สถานทูตกัมพูชา รัฐกัมพูชา) ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและงดจำหน่ายไฟฟ้า

2. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีหนังสือแจ้ง PEAให้ดำเนินการงดจำหน่ายไฟฟ้าและยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

3. ไม่ดำเนินการตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เช่น ไม่ชำระค่าไฟฟ้าภายในเวลาที่กำหนด หรือ หลักประกันการใช้ไฟฟ้าไม่ครบถ้วน เป็นต้น

ปตท. แข็งแกร่งครองบริษัทชั้นนำอันดับ 1 ในไทย พร้อมอันดับ 2 ในอาเซียนจาก Fortune 2 ปีซ้อน

(27 มิ.ย.68) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ในไทยและอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จาก Fortune Southeast Asia 500 ซึ่งสะท้อนการดำเนินงานของ ปตท. บนหลัก “ยั่งยืนอย่างสมดุล” ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD” โดยมีพันธกิจในการ “สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า แม้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์พลังงานที่มีความผันผวน และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปีที่ผ่านมา ทำให้มั่นใจว่า ปตท. เดินกลยุทธ์ถูกทิศทาง สามารถรับมือกับปัจจัยภายนอกและความท้าทายได้เป็นอย่างดี รวมถึงได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ในประเทศ และเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จาก Fortune Southeast Asia 500

ดร.คงกระพัน ย้ำว่า ปตท. มีกลยุทธ์มุ่งเน้นธุรกิจหลัก Hydrocarbon สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การแสวงหาแหล่งพลังงานในกับประเทศผ่านธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมีการเติบโตที่ดีในต่างประเทศด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจ LNG ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาค การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปรับพอร์ตธุรกิจ Non-Hydrocarbon โดยธุรกิจต้องมีความน่าสนใจ (Attractiveness) และ ปตท. มี Right to Play หรือมีจุดแข็ง และมี Partner ที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง อีกทั้งกลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 โดยดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. ศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงพัฒนา CCS Hub Model เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในประเทศ 

รวมถึงโอกาสขยายผลสู่ระดับภูมิภาคในอนาคตต่อไป พร้อมแสวงหาโอกาสในธุรกิจไฮโดรเจนสำหรับภาคอุตสาหกรรม จัดหาไฮโดรเจนและแอมโมเนียคาร์บอนต่ำ และการประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลเชิงธุรกิจ นอกจากนี้กลุ่ม ปตท. พร้อมเร่งสร้างความแข็งแรงภายใน สร้างมูลค่าเพิ่มจากความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ ยกระดับ Operational Excellence เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีแผนงานและเป้าหมายเป็นรูปธรรม 

ขณะเดียวกัน ยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งสามารถยกระดับผลกำไรได้ รวมทั้งเสริมความแข็งแกร่งด้วยการรักษาวินัยทางการเงินและการลงทุนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนบริหารสภาพคล่องกระแสเงินสดภายในกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล (Good Governance) ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล สร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม พัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมไทย เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคมและผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ นิตยสาร Fortune เป็นนิตยสารธุรกิจ เศรษฐกิจ และการเงิน ที่ได้รับความน่าเชื่อถือ และวางจำหน่ายทั่วโลก โดยได้เริ่มจัดอันดับบริษัทชั้นนำของโลก 500 อันดับ (Fortune Global 500) ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 สำหรับ Fortune Southeast Asia 500 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงาน การเติบโต แนวโน้ม และทิศทางของธุรกิจ พร้อมสร้างโอกาสในการขยายตลาดให้แก่ธุรกิจในภูมิภาคนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top