Wednesday, 3 July 2024
GoodsVoice

‘การรถไฟฯ’ จับมือ ‘ททท.’ จัดกิจกรรมการเดินทาง เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ ‘สุขทันทีที่เที่ยวกับรถไฟไทย เดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม’ ที่สถานีหัวลำโพง

เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย. 67) การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ผนึกความร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรม ‘สุขทันทีที่เที่ยวกับรถไฟไทย เดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม’ โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมกันในการเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยนางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคมการรถไฟแห่งประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเข้าร่วมงานชวนเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ทางรถไฟ 6 เส้นทาง ‘สุขทันทีที่เที่ยวกับรถไฟไทย เดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม’ ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ‘IGNITE THAILAND’ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก พร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยว ‘เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว’ โดยเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองใกล้เคียง ผ่านระบบขนส่งสาธารณะของประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่น และเป็นการสร้างความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวให้เดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี  

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว และร่วมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ Tourism Hub ที่สำคัญของโลกอย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุดในวันนี้ กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และภาคีพันธมิตรภาคีเอกชน ได้แก่ บริษัทบุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดตัวกิจกรรมท่องเที่ยวทางรถไฟ ‘สุขทันทีที่เที่ยวกับรถไฟไทย เดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม’ เพื่อส่งมอบประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ผ่านการเดินทางโดยรถไฟ ที่มีความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567 จำนวน 6 เส้นทาง ประกอบด้วย

เดือนกรกฎาคม 2567 กิจกรรมโดยรถไฟ KIHA 183 จำนวน 4 เส้นทาง พร้อมแพ็กเกจท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน ราคา 3,999 บาท ต่อท่าน ได้แก่ 
- เส้นทางที่ 1 กรุงเทพ - ราชบุรี (ภาคกลาง) ในวันที่ 6 – 7 กรกฎาคม 2567 
- เส้นทางที่ 2 กรุงเทพ -สวนสนประดิพัทธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ภาคกลาง) ในวันที่ 13 – 14 กรกฎาคม 2567 
- เส้นทางที่ 3 กรุงเทพ - สุพรรณบุรี (ภาคกลาง) ในวันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2567 
- เส้นทางที่ 4 กรุงเทพ - ปราจีนบุรี (ภาคตะวันออก) ในวันที่ 27 – 28 กรกฎาคม 2567  

เดือนสิงหาคม กิจกรรม ‘สิงหาแม่พาเที่ยว’ 2 เส้นทางรถไฟ ในรูปแบบ One Day Trip ได้แก่ 
- เส้นทางที่ 1 แม่พาลูกเที่ยว ชวนนั่งรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ กรุงเทพ - ฉะเชิงเทรา (ภาคตะวันออก) ในวันที่ 12 สิงหาคม 2567 ราคา 799 และ 329 บาทต่อท่าน 
- เส้นทางที่ 2 Royal Blossom รถไฟสายแห่งความสุข กรุงเทพ - กาญจนบุรี ซึ่งเป็นการเปิดให้บริการขบวนรถท่องเที่ยว SRT Royal Blossom เป็นครั้งแรก ในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 ราคา 1,799 บาทต่อท่าน 

พร้อมกิจกรรมสุดพิเศษของเดือนสิงหาคม กิจกรรม ‘สิงหาแม่พาเที่ยว’ เฉพาะคุณแม่รับบัตรกำนัล มูลค่าเท่ากับราคาตั๋วโดยสารฟรี 1 สิทธิ์ต่อ 1 ครอบครัว เพียงแสดงบัตรประชาชนของคู่คุณแม่คุณลูก และสำเนาทะเบียนบ้าน (สามารถรับบัตรกำนัลได้ในวันเดินทาง)

นอกจากนี้ ตลอดการเดินทาง ยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด สนับสนุนน้ำดื่มทุกทริป และมอบบัตรกำนัลฟรี สำหรับคุณแม่ในกิจกรรมสิงหาแม่พาเที่ยว บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มอบเจลอาบน้ำเดทตอลให้กับนักท่องเที่ยวทุกท่าน พร้อมผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคของเดทตอล สำหรับใช้ทำความสะอาดบนขบวนรถไฟนำเที่ยวทุกขบวน ในส่วนของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มอบกรมธรรม์ดูแลค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ 50,000 บาท รวมถึงค่ารักษาพยาบาลจากอาหารเป็นพิษให้กับนักท่องเที่ยวทุกท่านอีกด้วย 

ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมสนับสนุนนำมัคคุเทศก์มืออาชีพ ช่วยบรรยายความรู้และข้อมูลต่าง ๆ พร้อมจัดกิจกรรมสุดพิเศษเพื่อเพิ่มบรรยากาศแห่งความสุขบนขบวนรถไฟ ตลอดเดือนกรกฎาคม อาทิ เส้นทางราชบุรี พบกับคุณเจ ชลัช นายแบบมากฝีมือที่จะมาร่วมเดิน Fashion Show ผ้าขาวม้าของดีประจำเมืองราชบุรีครั้งแรกบนรถไฟ เส้นทางสวนสนประดิพัทธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบกับอาจารย์อัส มนต์คเนศวร์ สิริปภัสสร ที่จะมาบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าด้วย Saxophone ครั้งแรกบนรถไฟ เส้นทางสุพรรณบุรี ที่จะพาทุกท่านร่วมย้อนวันวานกับ ‘น้าโย่ง’ ที่จะมาขับร้องเพลงฉ่อยเรื่องราวการกำเนิดเมืองอู่ทองที่สอดแทรกความเป็นไทย ให้ทุกท่านได้ร่วมสนุกและเพลิดเพลิน และเส้นทางปราจีนบุรี พบกับเคล็ดลับการสักการะท้าวเวสสุวัณ จากซินแสเป็นหนึ่ง วงษ์ภูดร ที่จะพาทุกท่านร่วมมูเตลูกันแบบจัดเต็ม 

นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คาดหวังว่าจากความร่วมมือในกิจกรรมครั้งนี้ จะช่วยเปิดมิติใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟ พร้อมกับช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศได้ตลอดทั้งปี นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่น และทำให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเติบโตเข้มแข็งมั่นคงต่อไป 

สำหรับ ผู้ที่สนใจจองโปรแกรมท่องเที่ยวทั้ง 6 เส้นทาง สามารถซื้อตั๋วได้ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2567 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ที่สถานีรถไฟทั่วประเทศหรือผ่านระบบออนไลน์ D-ticket ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย 1690

'วงเสวนาฯ' ชี้ 'การเมือง' มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ นโยบายของรัฐบาล ส่งผลต่อ 'เศรษฐกิจมหภาค-การคลัง'

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี 
อดีต รมว.กระทรวงพลังงาน 
กล่าวในงานเสวนาเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน’ ชื่นชมทีมงานที่สร้าง EEC ชี้!!  ทำเป็นเมืองการบินได้อย่างเต็มที่

‘ธนกร’ หนุน ‘พีระพันธุ์’ ออกมาตรการ ลดค่าใช้จ่ายพลังงาน เพื่อลดภาระค่าครองชีพ มั่นใจ!! การเพิ่มวงเงิน ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ 3 เดือน ช่วยกลุ่มเปราะบางได้แน่

(29 มิ.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่มีการปรับขึ้นราคา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของพี่น้องประชาชน ตนขอสนับสนุนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 2/2567 ที่เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางผู้มีรายได้น้อย สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าน้ำมัน (กลุ่มเบนซิน และกลุ่มดีเซล โดยให้ใช้กับยานพาหนะ)อีก 120 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567  

นอกจากนี้ ยังมีมติลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อช่วยลดภาระของประชาชน ให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซ LPG ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน เร่ง ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว โดยการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มสถานีบริการที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อลดภาระค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

“รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เรื่องค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ก๊าซ LPG หวังช่วยตรึงราคาพลังงาน ลดค่าใช้จ่าย บรรเทาความเดือดร้อนได้ในระยะ 3 เดือน” นายธนกร กล่าวทิ้งท้าย

'วงเสวนาฯ' ชี้ 'การเมือง' มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ นโยบายของรัฐบาล ส่งผลต่อ ' เศรษฐกิจมหภาค-การคลัง'

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ 
ประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
กล่าวในงานเสวนาเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน’ ในหัวข้อ ‘ปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยใน 20 ปีที่ผ่านมา และนโยบายการเงินที่ควรพิจารณาใหม่’

'วงเสวนาฯ' ชี้ 'การเมือง' มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ นโยบายของรัฐบาล ส่งผลต่อ ' เศรษฐกิจมหภาค-การคลัง'

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล 
ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย 
กล่าวในงานเสวนาเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน’ ในหัวข้อ ‘ยกเครื่องเศรษฐกิจไทย แก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน’ 

'วงเสวนาฯ' ชี้ 'การเมือง' มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ นโยบายของรัฐบาล ส่งผลต่อ ' เศรษฐกิจมหภาค-การคลัง'

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ 
นักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายการคลังและการพัฒนา
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
กล่าวในงานเสวนาเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน’ ถึงปัญหาการขาดดุลการคลัง ‘เรื้อรัง’

'พีระพันธุ์' ขานรับ 'ก.เกษตร' เร่งช่วยชาวสวนปาล์มสุราษฎร์ฯ แก้ปัญหาราคาตกต่ำ พร้อมหนุนไฟฟ้าระบบโซลาร์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่เกษตรกร

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ลงพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี รับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ พร้อมเร่งแนวทางผลิตน้ำมันระบบไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกและเศษถ้วยยางพาราเพื่อช่วยลดมลภาวะและช่วยเกษตรกร รวมทั้งเร่งการสนับสนุนไฟฟ้าระบบโซลาร์เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้เกษตรกรและประชาชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (29 มิ.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำจากชาวสวนปาล์มและโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO ณ บริษัท ปาล์มทองคำ จำกัด อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีครั้งนี้ เพื่อพบพูดคุยปัญหากับชาวสวนปาล์มที่ประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำโดยตรง พบว่าปัจจุบันปัญหาลดน้อยลงแล้วและลานเทก็รับซื้อทะลายปาล์มจากชาวสวนยางในราคาสูงขึ้น แต่ปัญหาคืออยากให้กรมการค้าภายในประกาศราคารับซื้อทะลายปาล์มในราคาสูงขึ้น เพราะราคาปุ๋ยกับค่าใช้จ่ายอื่นไม่ลดลง ส่วนปัญหาของโรงหีบหรือโรงสกัดคืออยากให้วางระบบการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของโรงงานไบโอดีเซลให้มีความเป็นธรรมกับลานเทและโรงสกัดมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีกฎหมายกำกับดูแลลานเทและโรงสกัดแต่กลับไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโรงงานไบโอดีเซลในการซื้อน้ำมันปาล์มดิบ CPO และการขายน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ รวมทั้งน้ำมัน B100 ที่นำมาผสมน้ำมันดีเซล ซึ่งนายพีระพันธุ์รับว่าจะนำไปพิจารณา ทั้งนี้ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน ทำงานร่วมกันเพื่อเร่งหามาตรการแก้ไขและช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนปาล์มอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพลังงาน แม้ว่าจะไม่ใช่กระทรวงหลักที่ดูแลปัญหาดังกล่าว ทว่า ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอให้กระทรวงพลังงานช่วยดำเนินการให้ผู้ค้าน้ำมัน เช่น ปตท. และ บางจาก รับซื้อน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ B100 จากโรงงานผลิตไบโอดีเซลที่นำมาใช้ผสมน้ำมันดีเซล ในราคาประมาณ 33-35 ต่อกิโลกรัม ตามที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ประกาศไว้ เนื่องจากมองว่าจะทำให้การรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบหรือ CPO จากโรงหีบหรือโรงสกัดในราคาสูงขึ้นได้ จากนั้นโรงหีบหรือโรงสกัดก็จะไปซื้อผลปาล์มจากลานเทในราคาสูงขึ้น และจะทำให้ลานเทสามารถขยับราคารับซื้อผลปาล์มจากชาวสวนปาล์มสูงขึ้นด้วยตามลำดับ 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะบังคับผู้ค้าน้ำมันให้รับซื้อน้ำมัน B100 ในราคาใดราคาหนึ่ง ต่างจากกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนั้นโรงงานผลิตไบโอดีเซลเป็นขั้นตอนที่อยู่ห่างจากการซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรที่ลานเทมาก จึงขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันที่จะซื้อน้ำมัน B100 จากโรงงานไบโอดีเซลต้องทำความตกลงกับโรงสกัดและลานเทว่าจะรับซื้อทะลายปาล์มจากชาวสวนปาล์มในราคาสูงขึ้นด้วยเสียก่อน ขณะเดียวกัน จะผลักดันการนำน้ำมันปาล์มดิบ CPO ขยะพลาสติก และเศษถ้วยยางไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำมันระบบไพโรไลซิสในชุมชนเพื่อช่วยลดมลภาวะและช่วยลดภาระด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้เกษตรกร

“ก่อนหน้านี้ เคยให้ความเห็นไว้ว่า หากต้องการจะช่วยเหลือชาวสวนปาล์มจริง ๆ แล้ว ควรให้กระทรวงพาณิชย์กำกับให้ลานเทรับซื้อผลปาล์มในราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตามกฎหมายมากกว่า เพราะปัญหาในปัจจุบันคือ ลานเทส่วนมากไม่รับซื้อผลปาล์มในราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ในขณะที่โรงหีบหรือโรงสกัดส่วนใหญ่กลับเป็นผู้รับซื้อผลปาล์มจากลานเทตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ปัญหาอีกอย่างคือเรายังไม่มีการขึ้นทะเบียนลานเทว่า มีจำนวนเท่าใด ขนาดใด ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อมาดูกระบวนการรับซื้อปาล์มของลานเทในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดของประเทศ จากนั้นจะนำไปสู่การบูรณาการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวสวนปาล์มอย่างยั่งยืนต่อไป”

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังได้รับฟังเสียงจากชาวสุราษฎร์ธานี ที่ต้องการให้ช่วยส่งเสริมไฟฟ้าจากแสงแดดหรือระบบโซลาร์เซลล์ ซึ่งนายพีระพันธุ์แจ้งให้ทราบว่าปัจจุบันกระทรวงพลังงานกำลังเตรียมการที่จะสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรและชาวบ้านในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในเรื่องนโยบายและงบประมาณ แต่ในระยะยาวต้องทำกฎหมายการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นการเฉพาะเพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตและกำหนดมาตรการสนับสนุนอย่างยั่งยืนด้วย ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้เจรจากับกระทรวงการคลังที่จะให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์รูฟ มาหักภาษีเงินได้ คาดว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุม ครม. ได้ในเร็วๆ นี้ 

กับดักประเทศไทย วนเวียนสถานะ 'นักรบรับจ้าง' (ผลิต) ยาวนาน ไม่เคยอยากเปลี่ยนไปกินเนื้อ ทั้งที่ศักยภาพมีมากเกินพอ

(1 ก.ค. 67) คุณเฉลิมพร ตันติกาญจนากุล ผู้ดำเนินรายการด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กสะท้อนข้อจำกัดของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายสิบปีมานี้ ว่า...

“เราไม่ชอบกินเนื้อ แต่เราชอบแทะเม็ด”

“หนึ่งในความคิดที่เป็นข้อจำกัดของเศรษฐกิจไทยมาหลายสิบปี คือเราไม่เคยคิดจะกินส่วนที่ดีที่สุด อร่อยที่สุด ในห่วงโซ่การผลิตของโลกเลย”

“ประเทศไทยนั้น มีความเก่งในด้านการผลิตไม่แพ้ใครนะครับ ด้วยความที่เราเป็น OEM มายาวนาน ขอแค่มีโจทย์กับคำสั่งซื้อมา ผมว่าคนไทยเราผลิตได้หมดแหละ อยากได้อะไรขอให้บอก เราสร้าง Product Champion ออกมาได้เรื่อย ๆ ตั้งแต่ข้าว, ยาง, ชิ้นส่วนรถยนต์, ฮาร์ดดิสก์, ทุเรียน, อาหารหมา-แมว บลา ๆ ๆ”

“แต่ในความดีก็มีความแย่ คือเราเป็นนักรับจ้างผลิตที่เก่งกาจและซื่อสัตย์ เราดูจะพอใจแค่หน้าที่ที่เราได้ เหมือนกินผลไม้ เราก็ชอบนั่งแทะเม็ด กินเนื้อติดเม็ด ไม่เคยอยากเปลี่ยนไปกินเนื้อ กินไก่เราก็แทะคอไก่ อย่างดีก็ปีกไก่ ไม่ได้กินน่อง หรือต่อให้อยากเปลี่ยนไปกินส่วนดี ๆ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”

“ให้เห็นภาพชัดที่สุด ลองดูสิครับว่า คนที่ผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ได้เก่งที่สุดในโลกคนนึงอย่างเรา ทำไมเราไม่มีแบรนด์รถยนต์ของตัวเองเลย?”

“หรือประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรหลายอย่างเป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก เรากลับต้องแข่งกันที่ราคาเสียเป็นส่วนใหญ่?”

“ลองดูประเทศจีนครับ จีนก็เริ่มจากการเป็น OEM แบบเรา เริ่มทีหลังเราด้วย แต่จีนทำแบบนั้นอยู่อาจจะแค่สิบกว่าปี และก็ยกระดับตัวเอง จากการผลิตสินค้า ไปผลิตแพลตฟอร์ม ผลิตแบรนด์ ผลิตเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือเนื้อสันใน หรือน่องไก่ ที่แพงกว่า อร่อยกว่า ทำจนมีปัญหากับเบอร์ 1 อย่างอเมริกา”

“ส่วนเราไม่เคยมีปัญหากับยักษ์ใหญ่คนไหน เพราะไม่เคยมีใครมองเราเป็นภัยคุกคามนั่นแหละ อย่างมากก็ทะเลาะกับเขมร”

“สุดท้าย ปัญหาทั้งหมดก็วนกลับมาที่รัฐ เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐเราไม่เคยวางแนวนโยบายแบบ 'คิดใหญ่' ที่จะพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนา Platform หรือแบรนด์ เราก็เลยต้องทำงานหนักด้วยการเป็นผู้ผลิต ที่ทั้งเหนื่อย กำไรน้อย แถมผันผวน เพราะของที่เราทำได้ดี วันนึงก็จะไม่เป็นที่ต้องการแล้ว ต้องหา Product Champion ใหม่ไปเรื่อย ๆ”

“พูดภาษาบ้าน ๆ คือรัฐ ไม่เคยวาง Career Path ของประเทศเราเองให้ชัดเลย หรือคิดในแง่ร้าย คือผู้นำเราถูกจ้างมาให้วางแผน ให้ประเทศเราเป็นพนักงานผู้ซื่อสัตย์ไปตลอดกาล”

“ถ้าเริ่มตอนนี้ แม้จะสาย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำ เราต้องวาง Position ตัวเองในโลกได้แล้ว ว่าเราจะยืนตรงไหน โตไปตรงไหน แล้วหาแนวทางไปสู่เป้าหมาย ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาทำงานหนัก แล้วค่อยมารู้ตัวเมื่อสายว่าโลกเขาไม่ต้องการเราอีกแล้ว”

‘ไทยสมายล์บัส’ รุกพัฒนาขนส่งสาธารณะไทยเทียบ ‘ไต้หวัน’  หวังเชื่อมต่อการเดินทาง-ชำระเงินครอบคลุมทุกรูปแบบ

(1 ก.ค.67) นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB ผู้นำในธุรกิจรถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งมั่นยกระดับระบบขนส่งมวลชนของไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สะอาด ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม 

โดยหนึ่งในหลายประเทศที่มีลักษณะโครงสร้างการคมนาคมขนส่งใกล้เคียงกับประเทศไทย คือ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งรุดหน้าเป็นอย่างมาก หลายเมืองได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ ทั้งกฎระเบียบข้อบังคับจนถึงการสนับสนุนจากทางภาครัฐ การร่วมมือกันของภาคเอกชน ส่งผลให้รูปแบบการขนส่งสาธารณะจากรถสันดาป ปรับเปลี่ยนมาสู่พลังงานสะอาด ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV-Bus) เหมือนกับในประเทศไทย ของไทย สมายล์ บัส ที่เป็นรูปแบบรถเมล์พลังงานสะอาด ไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

นาย วรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ กล่าวว่า การเดินทางมาศึกษาดูงานเรื่องระบบคมนาคมขนส่งที่ประเทศไต้หวันครั้งนี้ ได้เห็นถึงตัวอย่างการเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งโดยใช้บัตรใบเดียว ‘ไทย สมายล์ บัส’ จะนำแนวทางโมเดลระบบขนส่งสาธารณะของไต้หวันไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ของเอกชนและรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ให้บริการอื่น ๆ ซึ่ง ‘ไทย สมายล์ บัส’ ได้มีการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างรถกับเรือไว้เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน จากการศึกษางานระบบขนส่งสาธารณะในครั้งนี้ มองว่า จะสามารถนำกลับมาใช้กับประเทศไทยได้อย่างแน่นอน เพราะระบบขนส่งสาธารณะของไทยและไต้หวัน โดยเฉพาะระบบเทคโนโลยี มีความใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่ระบบขนส่งสาธารณะของไทยยังไม่เทียบเท่าของไต้หวัน คือ ระบบสาธารณูปโภค การจัดสรรพื้นที่ เส้นทางที่รถวิ่ง รวมถึงภาพนโยบายการสนับสนุนผู้ให้บริการ ซึ่งของไต้หวันมีทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่ไปในทิศทางเดียวกัน

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของระบบขนส่งสาธารณะของไทย จะต้องมีการหารือกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นการดำเนินการเพียงเจ้าเดียว แต่จะดำเนินการอย่างไร ให้การเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะทั้งรัฐและเอกชนในรูปแบบใด โดยในส่วนของรัฐวิสาหกิจ มีการสนับสนุนจากภาครัฐ และธุรกิจระบบขนส่งสาธารณะค่อนข้างมีการผูกขาด ดังนั้น จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ผู้ให้บริการอยู่รอด และแข่งขันบนมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งถือเป็นจุดที่บริษัทจะนำกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ จากการศึกษาระบบขนส่งสาธารณะของไต้หวัน มองว่า ยังมีโอกาสที่ระบบขนส่งสาธารณะไทยจะมีความใกล้เคียงกับไต้หวันมากขึ้น โดยจากที่เห็นภาพของตัวรถโดยสาร และเทคโนโลยี ไทยมีความเทียบเท่าไต้หวัน หรืออาจจะเหนือกว่า รวมถึงเรื่องคอนเซปต์ ของไทย ที่ไปไกลกว่าใต้หวันแล้ว

นายวรวิทย์ ระบุว่า ระบบขนส่งสาธารณะของที่ไทยยังเเข่งขันไม่ได้ คือ การเชื่อมต่อระหว่างขนส่งกับขนส่งด้วยกัน ในการทำให้บัตรใบเดียวสามารถใช้ บริการระบบสาธารณะได้ทุกรูปแบบ แต่ทั้งนี้ในรูปแบบของบัตรที่นำมาเชื่อมต่อนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการว่าจะใช้บัตรของผู้ให้บริการรายใด ซึ่งบริษัท พร้อมที่จะร่วมผลักดันตรงจุดนี้กับหน่วยงานต่าง ๆ

'รมว.ปุ้ย' ยกพล 'ดีพร้อม' เยือนกลุ่มจังหวัด 'นครชัยบุรินทร์' เติมศักยภาพสินค้าชุมชน ตอบโจทย์กติกาสากล สร้างรายได้ยั่งยืน

(1 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 'นครชัยบุรินทร์' (นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์) ตรวจเยี่ยมกิจกรรม สมอ. สัญจร ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมเซ็นทาราโคราช 

พร้อมกันนี้ ยังได้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม SME กลุ่มคอนกรีตและวัสดุก่อสร้าง ผู้ผลิตชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 500 คน และมอบใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่ผู้ผลิตชุมชน (มผช.) จำนวน 9 ราย ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 9 ราย และใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 5 ราย

นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' โดยจุดที่ 1 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ เทศบาลตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรของที่ระลึกจากดินเผา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 200 คน จุดที่ 2 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมี การอบรมในหลักสูตรการแปรรูปอาหาร การทำลูกชิ้น การทำน้ำจิ้มลูกชิ้น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจุดนี้ประมาณ 200 คน

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สอดรับกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน, การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม, การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน ทั้งต้นทุนทางวัฒนธรรมและวัตถุดิบในท้องถิ่น พร้อมพัฒนาทักษะอาชีพเสริม ผนวกกับวิชาการอุตสาหกรรมให้เข้ากับวิถีชุมชน ให้กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำมีมาตรฐานมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคง ให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ 

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพทั้ง 2 จุดครั้งนี้ เปรียบเสมือนเวทีสำหรับการฝึกฝนทักษะอาชีพ ทั้งหลักสูตรของที่ระลึกจากดินเผา การแปรรูปอาหารการทำลูกชิ้น น้ำจิ้ม ซึ่งมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมประมาณ 400 คน ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ เรียนรู้ทักษะใหม่ นำไปต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะเป็นพลังขับเคลื่อนนำพาพี่น้องประชาชนในกลุ่มจังหวัดฯ ก้าวสู่ความสำเร็จและความมั่นคง

ทั้งนี้ในส่วนของสำหรับการลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ครั้งนี้มี 3 ประเด็น คือ 

1) การพัฒนาขีดความสามารถเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร 
2) การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การค้าชายแดนและผลิตภัณฑ์ไหม 
และ 3) การยกระดับคุณภาพชีวิต 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ 1 การพัฒนาขีดความสามารถเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร จัดเป็นนิทรรศการโชว์ผลงานให้กับนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) และคณะรัฐมนตรีเยี่ยมชมก่อนเข้าการประชุม 

ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้นำเสนอ 'การพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังโคราช ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ตามโมเดล BCG' ผ่านกิจกรรมนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังด้วยผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้โรงงานอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง โดยนำของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสำปะหลังโคราชสู่ความยั่งยืนด้วย BCG และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างประโยชน์แก่ประชาชนและสนับสนุนการผลักดันอุตสาหกรรมหมุนเวียน (Circular) ที่มีศักยภาพให้ต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการใช้นวัตกรรมนี้คาดว่าจะเพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณหัวมันสำปะหลังเข้าสู่โรงงานได้ถึง 10% และสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่เพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันอาโวคาโด และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ของบริษัท บริบูรณ์ฟาร์ม จำกัด อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่ผ่านกิจกรรมพัฒนามาตรฐานสำหรับธุรกิจเกษตรแปรรูปเป้าหมาย ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการได้รับความรู้การบริหารธุรกิจแบบครบวงจร เปิดมุมมองการตลาด ต่อยอดนวัตกรรม โดยผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHPs และ HACCP ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 50%


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top