Saturday, 12 July 2025
GoodsVoice

ยานแม่ใหม่ 'SCBX' ก้าวสำคัญของ 'ธ.ไทยพาณิชย์' แปรสภาพธุรกิจ สู่บริษัทเทคโนโลยีเต็มตัว

หลังจากมีข่าว SCB หรือธนาคารไทยพาณิชย์เกี่ยวกับการนำบริษัทออกจากตลาด และจะมีการแลกหุ้นบริษัทใหม่ ชื่อว่า 'SCBX' ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า SCB ทำเช่นนี้ไปเพื่ออะไร? 

เรื่องนี้ เพจ 'ลงทุนแมน' ได้สรุปประเด็น SCBX ยานแม่ใหม่ของ SCB ไว้อย่างชัดเจน โดยระบุว่า... 

ทางบริษัทได้ให้เหตุผลว่าการจัดตั้ง SCBX ขึ้น เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้ โดย SCB ให้คำนิยามกับ SCBX ว่าเป็น Mothership หรือ “ยานแม่”

เพราะปัจจุบัน แม้ว่า SCB จะมีธุรกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสถาบันการเงิน เช่น SCB10X ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 

แต่ด้วยความที่ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างของแบงก์ จึงทำให้มีข้อจำกัดและดำเนินกิจการได้ไม่เต็มที่

โดยโครงสร้างใหม่ภายใต้บริษัทแม่อย่าง SCBX จะทำให้บริษัทสามารถแบ่งรูปแบบของธุรกิจได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ก็คือ... 

1.) ธุรกิจ Cash Cow ซึ่งก็คือ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกัน
2.) ธุรกิจ New Growth

จากการแบ่งกลุ่มธุรกิจ จะเห็นได้ว่า SCB พยายามแยกธุรกิจแบงก์กับธุรกิจอื่นออกจากกัน
ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจใหม่ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบและกฎเกณฑ์ของธุรกิจธนาคารเดิม

และจากการแถลงเกี่ยวกับธุรกิจ New Growth
สิ่งที่เห็น ก็คือ SCB จะย่อยแต่ละธุรกิจออกเป็นบริษัทย่อย ซึ่งแต่ละบริษัท ก็จะมีทีมและมีผู้บริหาร ซึ่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง เช่น... 

- Card X บริษัทที่โอนกิจการออกมาจาก SCB (Spin-Off) ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต โดยน่าจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในเร็ว ๆ นี้

- Alpha X บริษัทที่ร่วมมือกับ Millennium Group ปล่อยสินเชื่อให้กับเจ้าของรถหรูและยานพาหนะทางน้ำ เช่น เรือยอช์ต

- Tech X ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ทำธุรกิจเทคโนโลยี

- AISCB ร่วมมือกับ AIS ทำสินเชื่อ Digital

โดยบริษัท ก็ได้ตั้งเป้าหมายให้แต่ละบริษัทย่อย สามารถเติบโตและ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วยตัวเอง

ซึ่งการเติบโตที่ว่านั้น ก็จะรวมไปถึงการรุกธุรกิจไปยังต่างประเทศในระดับภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อสร้างการเติบโตให้กับฐานลูกค้า ที่ปัจจุบันมีอยู่ 14 ล้านราย ให้เป็น 200 ล้านราย

โดยบริษัททั้งหมดในเครือ มีมูลค่ารวมกันราว “1 ล้านล้านบาท” ในอนาคต

ในขณะเดียวกัน SCB ก็ได้ประกาศจัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600 - 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 20,100 - 26,800 ล้านบาท) ร่วมกับเครือซีพี โดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน, สินทรัพย์ดิจิทัล, Decentralized Finance, FinTech และเทคโนโลยีอื่น ๆ

โดยกองทุน Venture Capital นี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ จะลงทุนเป็นจำนวนเงิน ฝ่ายละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือจะระดมทุนจากนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง (Accredited Investor)

สำหรับทีม SCB10X เดิม บางส่วนก็จะเข้ามาร่วมทำงานใน Venture Capital ใหม่นี้

นอกจากนั้น SCBX ที่เป็นยานแม่ที่ทำตัวเป็นบริษัทโฮลดิงก็ยังถือหุ้นในอีกหลายธุรกิจ เช่น... 

- Auto X ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ลีสซิ่ง เน้นกลุ่มรากหญ้า

- SCB Securities ทำธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่ง SCB Securities จะถือหุ้นใน Token X ที่ดูแลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล

- Purple Ventures ที่ทำธุรกิจส่งอาหารชื่อ Robinhood ที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดี

- SCB ABACUS ที่ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อออนไลน์ “เงินทันเด้อ” โดยใช้เทคโนโลยี AI ที่เพิ่งคว้าเงินระดมทุน 400 ล้านบาท

คลังเข็นเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจหวังดันเศรษฐกิจปีนี้ขยับ

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในเดือนส.ค. 2564 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเบิกจ่ายลงทุน โดยพยายามปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากสถานการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงาน ทั้ง การปรับแก้ไขสัญญาเรื่องค่าปรับที่ส่งผลกระทบต่อเอกชน การเร่งรัดการเบกจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าตามสัญญาให้แก่เอกชน การปรับแผนเบิกจ่ายในส่วนงานจัดซื้อพัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักร เพื่อทดแทนงานก่อสร้างที่ไม่สามารถดำเนินการได้ การปรับรูปแบบการดำเนินงานจากการใช้แรงงานคนเป็นการใช้ระบบอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้ 

ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีผลการเบิกจ่ายลงทุนในระดับที่ดีและเป็นไปตามแผน โดยการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังคงเป็นเครื่องมือที่ช่วยพยุงและกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยต่อไป โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ดีและเป็นไปตามแผน อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อบางโครงการหรือแผนงานเนื่องจากบุคลากรไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างหรือตรวจรับงานได้ ขาดแคลนแรงงานและไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ 

คปภ. สั่ง 'เอเชียประกันภัย' หยุดรับทำประกันชั่วคราว ชี้ ฐานะการเงินทรุด หลังซมพิษยอดเคลมโควิดพุ่ง

24 ก.ย. 2564 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จากปรากฏพฤติการณ์และหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีประมาณการหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และปรากฏว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอาจจะต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัท มีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย และยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินการของบริษัท ตลอดจนชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย มีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยไม่เป็นไปตามแบบและข้อความที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน 

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว นายทะเบียนจึงเห็นว่า บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน เพื่อให้การกำกับดูแล และติดตามการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการของบริษัทให้เป็นไปอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งการติดตามความมั่นคงทางการเงินและธุรกรรมการดำเนินงานที่ถูกต้องโปร่งใส อันจะทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชนในอนาคต 

จุรินทร์ ดันส่งออก ข้าว-ลำไย พร้อมชวนอินโดนีเซียซื้อสินค้าไทยกว่า 1,860 รายการผ่านช่องทางออนไลน์

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจําประเทศไทย H.E. Mr.Rachmat Budiman เข้าเยี่ยมคารวะ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 11 สำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์ โดยวาระนี้มีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย 

จากนั้น นายจุรินทร์ ได้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยกล่าวว่า สำหรับภาพรวมระหว่างการค้าไทย อินโดนีเซีย อินโดนิเซียถือว่าเป็นคู่ค้าลำดับ 3 ของไทยในอาเซียน และเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญลำดับ 7 ในโลกของไทย รองจากจีน ญี่ปุ่น อียู สหรัฐฯ มาเลเซีย เวียดนาม มูลค่าการค้า 8 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าการค้าร่วมกัน 347,727 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% สินค้าที่ไทยส่งออกไปอินโดนีเซียที่สำคัญ เช่นรถยนต์และส่วนประกอบ +65.4% เม็ดพลาสติก +74.7% ผลิตภัณฑ์ยาง +97% อาหารสัตว์เลี้ยง +52% ลำไย +91.8% เครื่องดื่ม +30.9 % ยางพารา +27.6% เป็นต้น ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากอินโดนีเซียที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.น้ำมันดิบ +328% 2.เคมีภัณฑ์ +91.6% และ 3.เหล็กกับผลิตภัณฑ์เหล็ก +251%โดยนำเข้ามาเพื่อภาคการผลิตส่งออกต่อไปในปี 64 หรือ ช่วง 8 เดือนแรก ไทยยังได้ดุลการค้าอินโดนิเซียอยู่ 3,248 ล้านบาท 

ประเด็นที่ตนได้หยิบยกมาหารือแล้วก็แจ้งให้ท่านทูตช่วยประชาสัมพันธ์ต่อไปประกอบด้วย

1. ขอให้ท่านทูตช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าไทยที่เราพึ่งนำขึ้นขายบนแพลตฟอร์ม blibli.com ของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 22 กันยายน 64  ที่ผ่านมา สินค้าทั้งหมดมี 1,863 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นอาหารสุขภาพ ความงามและไลฟ์สไตล์

2.ตนได้ขอเชิญเอกชนและประชาชนอินโดนิเซียหรือผู้นำเข้ามาร่วมกิจกรรม OBM (Online Business Matching ) ของประเทศไทย อย่างน้อย 2 งานสำคัญช่วงนี้ 1.งานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ THAIGROOVE วันที่ 23 ถึง 26 พฤศจิกายนปีนี้ 2.งาน Phuket Gems Fest วันที่ 30 พฤศจิกายนถึง 3 ธันวาคม 64

3.ตนขอให้ท่านทูต ช่วยรีบรับนัดกรมการค้าต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ในการเจรจาเรื่องข้าวเพื่อจะได้เร่งรัดการส่งออกข้าวไทยไปยังอินโดนีเซียต่อไปในอนาคต

4.ตนได้ขอให้ท่านทูตเร่งรัดการออกวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ไทยที่จะไปประจำที่สำนักงานใหญ่อาเซียนของไทยที่จาการ์ตา

นอกจากนี้การส่งออกลำไยของไทยไปยังอินโดนีเซีย 3-4 ปีนี้ติดขัดปัญหาเรื่องของการออกมาตรการของอินโดนีเซียที่จะต้องมี 1.จีเอพีคือสวนที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน 2.ต้องมีจีเอสพีซึ่งเป็นมาตรฐานด้านสุขอนามัยและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และ3.จะต้องผ่านความเห็นชอบ 2 กระทรวงของอินโดนีเซีย คือกระทรวงเกษตรและกระทรวงการค้า ตนได้ขอให้ท่านทูตได้รับทราบข้อมูล เพื่อหาทางคลี่คลายให้ลำไยไทยสามารถไปสนองความต้องการของผู้บริโภคอินโดนิเซียได้มากขึ้น

สุดท้ายในเรื่องการส่งออกแอร์คอนดิชั่นเนอร์จากประเทศไทยไปยังอินโดนีเซีย เมื่อปีที่แล้วอินโดนิเซียได้ออกมาตรการพิเศษ 2 ข้อ 1.จะต้องมีการยื่นขออนุญาตนำเข้าอินโดนิเซียก่อน 2.จะต้องให้อินโดนิเซียตรวจโรงงานในประเทศไทยก่อนจึงจะส่งออกไปได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมกังวลว่าอาจจะขัดกับหลักของ WTO และหลักการของอาเซียนในเรื่องของการสร้างอุปสรรคการค้า 

แต่อย่างไรก็ตามในประเด็นต่างๆทั้งหมดนี้ยังสามารถที่จะไปหาข้อสรุปในการแก้ปัญหาร่วมกันได้ในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commitee:JTC )ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียซึ่งเรามีข้อตกลงกันมาตั้งแต่ปี 54 แต่ยังไม่เคยมีการประชุม จึงเสนอว่าขอให้ร่วมมือกันจัดการ JTC ครั้งแรกขึ้นโดยประเทศไทยยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพ เสนอว่าควรจะเป็นช่วนธันวาคมปีนี้ เพื่อคลี่คลายปัญหาระหว่างกันด้านการค้าการลงทุนและในเรื่องอื่นๆ ซึ่งตนจะไทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีการค้าอินโดนิเซียต่อไป 

ส่วนอินโดนิเซียมี 3-4 ประเด็น ที่ท่านได้หยิบยกขึ้นมาหารือ ประเด็นแรก อินโดนิเซียประสงค์จะส่งออกกุ้งสดมายังประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกของไทย ขณะนี้มีอุปสรรคอยู่บางประการ ตนรับว่าจะไปหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งเสริมตัวเลขการส่งออกของเราต่อไปด้วย

รมว.คลัง หวังเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นพร้อมอัดนโยบายหนุน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตอยู่ในระดับ 1.3% และในปี 2565 จะรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอยู่ที่ระดับ 4-5%  โดยภายหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง หลังจากรัฐบาลได้นำนโยบายการเงินการคลัง  มาช่วยเหลือภาคธุรกิจและลูกจ้าง  ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรักษาการบริโภคในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และยังวางแผนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายการคลังเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตต่อไปด้วย

ทั้งนี้ยังยอมรับว่า การรักษาฟื้นตัวระยะยาวมีแนวทางสำคัญ คือ ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยการเน้นโมเดลบีซีจี เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เช่นเดียวกับ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่ 12 เป้าหมาย รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่ในอนาคตจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย 

‘สุริยะ’ สั่ง กรอ. เดินหน้า ‘พัฒนา-ยกระดับ’ ผู้รับบำบัดกำจัดของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม

สุริยะ สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้านโยบายส่งเสริมการจัดการของเสียที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ ดันผู้ประกอบการน้ำดีเข้าสู่ระบบอนุญาตอัตโนมัติ (AI) หวังสร้าง มาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีแก่ผู้รับบำบัดและกำจัดของเสีย เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวไปสู่การพัฒนาและสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รวอ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการพัฒนามาตรฐานการจัดการหรือการให้บริการกำจัดและบำบัดสิ่งปฏิกูลของผู้ให้บริการให้ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการและถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด และสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบอนุญาตอัตโนมัติ (AI) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการยกระดับการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความ เป็น Digital Government ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โรงหนังพร้อมกลับมาเปิดบริการ หลังเจอปิดนาน 158 วัน

น.ส.พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้มีมติผ่อนคลายมาตรการให้โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดได้ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ หลังจากถูกปิดไปเป็นเวลานานถึง 158 วัน โดยการกลับมาเปิดให้บริการครั้งนี้ ยังได้ยกระดับตามมาตรการเพื่อให้ลูกค้าทุกคนได้ดูหนังอย่าง มั่นใจ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยเตรียมความพร้อมด้านพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว รวมถึงมีการตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit ก่อนเริ่มปฏิบัติงานในส่วนของโรงภาพยนตร์ได้รับการประเมินผ่านมาตรฐาน THAI STOP COVID PLUS (TSC+) ของกรมอนามัย

พร้อมทั้งได้ติดตั้งอุปกรณ์หลอด UVC ภายในระบบปรับอากาศ และอบ Ozone เพื่อฆ่าเชื้อโรคภายในโรงภาพยนตร์ทั้งหมด นอกจากนี้ มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศฆ่าเชื้อโรค ที่มีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เชื้อไวรัสต่างๆ รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ได้มากกว่า 99.99% ที่โรงภาพยนตร์ The Bed Cinema by Omazz เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สั่งเข้มนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จับตาสถานการณ์น้ำท่วมใกล้ชิด พร้อมทั้งติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการงานร่วมกันหากเกิดกรณีฉุกเฉิน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่แบบละเอียด ติดตามข้อมูลปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนบริเวณใกล้เคียงนิคมฯ และติดตามข้อมูลระดับน้ำทะเลหนุนในกรณีที่นิคมฯ อยู่ใกล้ทะเลด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันขอให้เร่งขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำ รวมถึงหากเป็นไปได้ ก็ขอให้ร่วมกับชุมชนในการขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำโดยรอบของนิคมฯ ด้วย

“สำหรับนิคมฯ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีนิคมฯ 3 แห่ง คือ บางปะอิน บ้านหว้า และนครหลวง โดยมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง มีการขุดลอกคูคลองรอบนิคมฯ สำรวจและเสริมความมั่นคงแข็งแรงของคันดินป้องกันน้ำท่วม เตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบายน้ำและเครื่องจักรอุปกรณ์ จัดหาเครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กระสอบทราย และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน พร้อมทั้งติดตามข้อมูล ข่าวสาร และพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายวีริศ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งสมอ. ออกมาตรฐาน ‘เรือไฟฟ้า’ ปีหน้า หลังออกมาตรฐาน EV ไปแล้วกว่า 90 มาตรฐาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการ สมอ. เร่งออกมาตรฐาน EV อย่างเต็มที่ เพื่อขานรับนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ล่าสุด สั่ง สมอ. ไปดำเนินการจัดทำมาตรฐานเรือไฟฟ้าเพิ่มเติม หลังจากที่ได้มีการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว กว่า 90 เรื่อง

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กมอ. (บอร์ด สมอ.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาว่า บอร์ด สมอ. ขานรับนโยบาย EV ของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สั่ง สมอ. จัดทำมาตรฐานเรือไฟฟ้าในปีงบประมาณ 2565 ด้วย 

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติม ว่า มาตรฐานเรือไฟฟ้าฉบับนี้ จะครอบคลุมเรือสำหรับใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางสัญจรในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นคณะทำงานจัดทำมาตรฐานเรือไฟฟ้าต่อไป 

ความเชื่อมั่นท่องเที่ยวยังทรุดต่อแรงงานหาย-รายได้ลด

น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3 ปี 64 ลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนี โดยอยู่ที่ระดับ 7 เป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก ทุกภูมิภาคสถานการณ์ท่องเที่ยวจัดว่าอยู่ในระดับย่ำแย่ใกล้เคียงกัน เพราะทั่วประเทศแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือชาวต่างชาติ 

ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทธุรกิจ พบว่าผู้ประกอบการทุกประเภทมีผลประกอบการ จัดว่าอยู่ในระดับย่ำแย่  โดยธุรกิจสถานบันเทิง มีสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ย่ำแย่ที่สุด มีค่าดัชนีเป็นศูนย์ เพราะต้องปิดกิจการทั้งหมด โดยสถานประกอบการกว่า 71% มีรายได้เข้ามาไม่เกิน 10% และมีสถานประกอบการเกินกว่าครึ่ง หรือ 54% ที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลย โดยเฉพาะธุรกิจสถานบันเทิง ส่วนยอดปิดกิจการชั่วคราวหรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทนเพิ่มขึ้นเป็น 44% ส่วนสถานประกอบการ ที่มีการปิดถาวรก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5% 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top