Thursday, 15 May 2025
EducationNewsAgencyforAll

แนะนำทักษะทางภาษา เรื่อง “Word Dissection” หรือการแยกคำในคำ

แนะนำทักษะทางภาษา เรื่อง Word Dissection หรือการแยกคำในคำ ที่จะช่วยขยายคลังคำศัพท์เราให้มากขึ้น (แนะนำการเรียนภาษา ของกระผมคนที่ไม่ได้จบทางด้านภาษาศาสตร์) 

จำสมัยเรียนภาษาไทยกันได้มั้ย เรื่อง การสมาสและการสนธิ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เข้าใจพวกคำจากรากบาลี สันสกฤต แต่ในภาษาตะวันตกอย่างอังกฤษก็มีเทคนิคคล้าย ๆ กัน ในเมื่อเค้าเอามาเชื่อมมาชนกันจนเป็นคำ เวลาเราจะดูว่าคืออะไร ก็ต้อง deconstruct หรือ dissect ส่วนประกอบของคำนั้นออกมา

“pneumonoultramicroscopicsilicovolcanoconiosis”

Pneumono (เกี่ยวกับปอด) + ultra (มาก ๆ ซึ่งตั้งแต่หน้า micro จริงใช้ขยายไมโคร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของ ขนาด) + micro (ขนาดเล็ก ประมาณ 10 ยกกำลัง -6) + scopic (ทัศนะ ที่แปลว่าการมองเห็น) + silico (เคมี silicon บนตารางธาตุ) + volcanon (ภูเขาไฟ) + osis (เป็น suffix ที่ใช้ลงท้าย พวกกระบวนการ อาการ หรือ condition ต่าง ๆ) 

ถ้าแปลเป็นคำอธิบาย ก็คือ "โรคฝุ่นจับปอดที่เกิดจากฝุ่นขี้เถ้าภูเขาไฟที่มีส่วนประกอบเป็นซิลิกาและมีขนาดเล็กมาก" (แต่น่าจะเห็นได้น้อยในไทยเพราะไม่มีภูเขาไฟที่ยังมีชีวิต) 

ข้างบนดูคำยากไปและไกลตัว แต่หากมาดูคำง่าย ๆ ที่คนไทยเจอบ่อย เช่น

Hypertension 
Hyper แปลว่า มากเกิน มากกว่าปกติ ซึ่งตรงข้ามกับ hypo ที่แปลว่า น้อยมาก น้อยกว่าปกติ กับคำว่า tension แปลว่า ความเครียด ความดึง ความดัน (ความหมายทางวิทยาศาสตร์น่ะ ซึ่งมีคุณลักษณะทางฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) ซึ่งถ้า tension ทางสัมคมศาสตร์ถูกใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน

รวม ๆ ก็ความดันที่มากกว่าปกติ ก็คือ ความดันสูง
ตรงข้ามกัน ก็คือ hypotension ความดันต่ำ

หรือหากในดูโพสต์ก่อนของเราพูดเรื่อง Ambiguous Genitalia คำนี้ถ้าใครแน่นภาษาอังกฤษแน่นแล้วยิ่งง่าย เพราะคำแรก แปลว่า คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ส่วนคำหลังเป็นคำที่มาจากที่สิ่งเราคุ้น ๆ กันดีคือ genital หรืออวัยวะเพศ (ตอนมัธยมหงุดหงิดมาก ครูสอนแต่ คำว่า penis กับ vagina แต่ไม่เคยได้ยิน genital) ดังนั้น กลุ่มอาการข้างต้น ก็คือเป็นการพูดถึง ลักษณะทาง physique ของอวัยวะเพศที่ไม่ครบ ไม่สมบูรณ์ คลุมเครือ (แปลจากคำตรง ๆ ยังไม่รวมทางเทคนิคใด ๆ ทั้งสิ้น เดี๋ยวพวกเพื่อนหมอมาตอแยว่า สาระแน) 

หากแยกผิดพลาดหรือการอธิบายทางเทคนิคที่ไม่ชัดเจนต้องขออภัย ไม่ได้เรียนอักษรและแพทยศาสตร์มาโดยตรง ดังนั้นทาง Technical ของทั้งสองศาสตร์อาจจะไม่ตรงเป๊ะ แต่พอจะมีความสามารถเข้าใจได้และแยกได้ประมาณนี้ 

ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้วที่เคยไปหาหมอ แล้วเจอรังสี amazement ที่คุณหมอแผ่ใส่ เพราะว่า หมอพูดชื่อโรคบางอย่างออกมาเป็นศัพท์เฉพาะทาง (ไม่ใช้ชื่อโรคหรืออาการข้างต้น) แล้วก่อนที่หมอจะอธิบาย นี้ก็ถามว่า มันคือโรคประมาณนี้ใช่มั้ย (ตอนนั้นอาศัยการเดาล้วนๆ) แล้วการเดาชื่อโรค (ไม่ใช่การ diagnose น่ะ ไม่มีความสามารถในส่วนนั้น แค่เดาชื่อได้) ตอนนั้นก็ถูกไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ตอนนี้ ลองไปนั่งดูคำยาก ๆ หลายคำ ที่แปลไม่ออกเพราะแยกรากไม่ออก เพราะขาดความรู้ในส่วนของรากของทางกรีกและละตินไป 

*ทั้งนี้ ต่อให้รู้ชื่อรู้ที่มาของคำ ก็ยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ด้วย กล่าวคือ รู้ชื่อรู้อาการไม่ใช่ว่าจะรักษาได้ ยังต้องไปหาหมอให้หมอรักษา นอกจากนี้ อีกประเด็นคือ อยากให้หมอเข้าใจว่าในสังคมปัจจุบัน คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น แต่ก็เป็นข้อมูลผิวนอก ไม่ได้รู้ดี คนไข้แค่อ่านหนังสือออกและอ่านหนังสือเป็น คนไข้เลยสงสัย คนไข้เลยอยากรู้ คนไข้เลยอยากถาม เวลาคนไข้บังเอิญรู้จักอะไรแปลก ๆ ที่หมอพูด คนไข้อาจจะรู้จักแค่ชื่อแค่คำแปลหรือลักษณะคร่าว ๆ เท่านั้นแหละ หมออย่าเพิ่งเหวี่ยง มีหมอหลายคนที่นอกจากทักษะทางการรักษาแล้ว ยังมีทักษะเรื่องการควบคุม temper หมอเหล่านี้น่ารักมาก อธิบายดีมาก (แต่ก็เข้าใจหมอที่ทำงานหนักแล้วยังมาเจอเคสแบบนี้ ที่ทำให้บางครั้งแล้วควบคุม temper ของตัวเองไม่ได้เหมือนกัน แต่ก็อยากให้หายใจเข้า หายใจออก ทำใจเย็นๆ แล้วค่อยตอบ) เข้าใจว่าการเหวี่ยง การเล่นบทโหดมีอาจจะมีผลดีต่อคนไข้ แต่อยากให้เป็นไม้ตายสุดท้าย อย่าเพิ่งรีบเอามาใช้

หากถามว่าอีกเทคนิคหนึ่งในการฝึกภาษา คือ การถอดรากคำ แต่เทคนิคนี้อาจจะยากหน่อย แต่ถ้ารู้แล้ว มีประโยชน์มาก (แต่ในบางกรณี ต้องดู context ปัจจุบันนั้น ๆ ของคำด้วยว่ามันจะแปลเป็นภาษาคนปัจจุบันยังไง)


เขียนโดย คุณปอนด์ สุทธินันท์ ดวงภุมเมศร์ 
นักเรียนทุนรัฐบาล UIS ปริญญาโท Master of Public Administration, Cornell University, สหรัฐอเมริกา

คุณแกว่น กวิล นาวานุเคราะห์ | THE STUDY TIMES STORY EP.13

บทสัมภาษณ์ คุณแกว่น กวิล นาวานุเคราะห์ ปริญญาโทด้านสื่อสารทางการเมือง University of Missouri, St.Louis (UMSL), สหรัฐอเมริกา 
วิชาการสื่อสารทางการเมืองที่เข้มข้น เพิ่มศักยภาพการสื่อสารผู้นำรุ่นใหม่

คุณแกว่นเรียนจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นในการเรียนรัฐศาสตร์คือความสนใจเรื่องมหภาค ตอนเด็กเป็นคนไม่ชอบคณิตศาสตร์ คิดว่าชอบด้านภาษามากกว่าคำนวณ พยายามหาข้อมูลว่าอะไรที่ทำให้เราเข้าใจคนหมู่มาก และเข้ากับตัวเองมากที่สุด จนได้มารู้จักด้านรัฐศาสตร์ ที่เป็นความเข้าใจหลักคิด กระบวนการระหว่างคนกับคน คนกับรัฐ รัฐกับรัฐ ศาสตร์พวกนี้จำเป็นต้องมีอาจารย์สอน และส่วนตัวชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ไม่ชอบดูละครหรือการ์ตูนมากนัก เลยคิดว่ารัฐศาสตร์น่าจะเหมาะ

ช่วงฝึกงานในชั้นปี 4 คุณแกว่นได้ไปฝึกที่เนชั่นทีวี เริ่มเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในขาของสื่อสารมวลชน เลยรู้สึกว่าเปิดโลก รายการที่ไปฝึกงานคือรายการทีวีที่ชื่อว่า สภากาแฟ ซึ่งนำคนที่อยู่ใน Topic ต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมมานั่งล้อมวงร่วมพูดคุยกัน ทำให้รู้สึกว่าได้ประโยชน์ต่อผู้ชม และเป็นสาขาที่สนใจด้วยเหมือนกัน เมื่อเรียนจบก็ทำการหาข้อมูลว่ามีสาขาวิชาใดบ้างที่สามารถต่อยอดความสนใจทั้งสองอย่างให้อยู่ด้วยกัน ทำให้ไปเจอว่ามีสาขาที่เรียกว่า สื่อสารการเมือง จึงมองหาโอกาสในการเรียนต่อ เพื่อตอบสนองความสนใจและความอยากรู้ของตัวเอง 

กระทั่งไปเจอ Professor ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้คุณแกว่นตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านสื่อสารทางการเมือง ที่ University of Missouri, St.Louis (UMSL) สหรัฐอเมริกา เพราะมีความสนใจและอยากเรียนกับ Professor ท่านนี้ที่สอนอยู่ และรู้สึกว่าตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมอเมริกันได้มากกว่า เพราะเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่รัฐโคโลราโดมาก่อน ปักใจว่าเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ ผู้คนหลากหลาย และอเมริกาเปิดโอกาสในการทำงานอย่างอื่นขณะที่เรียนได้ และด้วยระยะเวลาหลักสูตร 2 ปี น่าจะทำให้มีโอกาสในการเห็นโลกและใช้ชีวิตได้มาก

ความคาดหวังเรื่องการเรียนในตอนนั้นคือ ไปเอาวิชาจากผู้ที่เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก สุดท้ายก็ได้ตามที่คาดหวัง เพราะได้เรียนกับเขา ได้เห็นมุมมอง ได้ช่วยทำงาน ใช้ชีวิตด้วยกันช่วงหนึ่ง ส่วนเรื่องชีวิตไม่ได้คาดหวังความสนุกสนาน เพียงแต่คาดหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตแบบที่ไม่เคยใช้ในเมืองไทยมาก่อน ซึ่งพออยู่ที่อเมริกา สิ่งเย้ายวนมีมาก หากมีวินัยมากพอ ก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ คุณแกว่นได้ฝึกตัวเองในเรื่องของการดูแลตัวเอง ความรับผิดชอบที่มากขึ้น คาดหวังว่าจะโตขึ้น ซึ่งคุณแกว่นคิดว่าได้ตามที่คาดหวังไว้

คุณแกว่นอธิบายว่า Political Communication หรือ สื่อสารการเมือง หลักๆ เรียนเรื่องของทฤษฎีการเมืองก่อน ต้องเข้าใจว่าทฤษฎีการเมืองแต่ละอย่างที่มีเป็นอย่างไร ต่อมาคือทฤษฎีการสื่อสาร การสื่อสารเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่สำคัญคือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทำอย่างไร นำมาประยุกต์กับทฤษฎีการเมืองที่เรียน
เพราะมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมท่ามกลางคนเก่ง ๆ สิ่งที่คุณแกว่นได้มาคือ สกิล  “Learn-Unlearn-Relearn”  โดย Unlearn ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่า Learn เพราะคือการสลายตัวตน ทิ้งอัตตา ทิ้งสิ่งที่เคยเรียน เคยรับรู้ เพื่อจะRelearn คือการเรียนรู้ รับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ นำมาใช้ สุดท้ายแล้วแนวคิดนี้สัมพันธ์และสามารถนำมาใช้ได้กับทุกเรื่อง

สำหรับการสื่อสารในประเทศไทยนั้น คุณแกว่นอธิบายว่า การสื่อสารประกอบด้วย 3 สิ่ง คือ ผู้ส่งสาร สาร ผู้รับสาร มองแยกไปทีละส่วน ผู้ส่งสารได้ทำการส่งสารอย่างถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะ มีการคิดคำนวณที่ดีก่อนที่จะส่งไปหรือไม่ ต่อมาคือ สาร เป็นพิษเป็นภัยต่อคนอื่นหรือไม่ ชัดเจนตรงประเด็น มีคุณภาพหรือไม่ และผู้รับสาร มีความสามารถในการพิจารณา คิด วิเคราะห์ แยกแยะ สารที่ได้รับ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อ หรือทำอะไรกับสารนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงกันทั่วโลก 

ในด้านการสื่อสารของประเทศไทย ตอนนี้มีการกระจายตัวค่อนข้างเยอะ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ผู้ส่งสาร สาร ผู้รับสาร ค่อนข้างจะเป็น Mass Media (ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์) ซึ่งสามารถควบคุม ตรวจสอบได้ง่าย แต่ในปัจจุบันเริ่มกระจายเป็นโซเชียลมีเดีย หลายแพลตฟอร์ม หลายช่องทาง ในส่วนตัวคุณแกว่นมองว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะเมื่อมีการกระจายไปในหลายแพลตฟอร์ม บางครั้งสารไม่ได้รับการผลิตออกมาอย่างดี 

คุณแกว่นกล่าวว่า คนเราจะสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจของสารต่าง ๆ ที่ได้รับมาก่อน เท่าที่คุณแกว่นเห็นมา ส่วนมากเด็กไทยเก่งเรื่องการจำ แต่สิ่งที่เด็กไทยยุคนี้ยังทำได้ไม่ดี คือ การสังเคราะห์ ซึ่งการสังเคราะห์ คือ การนำสิ่งที่เราแยกแยะมาประกอบร่างและสร้างเป็นสิ่งใหม่ 

สิ่งสำคัญที่คุณแกว่นอยากให้เกิดขึ้นในเมืองไทย คือ การพัฒนาความรู้ ความคิดต่อยอด สามารถสังเคราะห์ข้อมูลความรู้ที่เรามี เกิดขึ้นมาเป็นสิ่งใหม่ได้ 

ย้อนกลับไปช่วงที่ไปเรียนอเมริกา คุณแกว่นเล่าว่าได้ทำงานเยอะมาก เพราะคุณพ่อออกให้แค่ค่าเทอม ฉะนั้นต้องช่วยเหลือตัวเองในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัว จึงทำตั้งแต่งานในมหาวิทยาลัย ทั้งเป็นคนเรียงหนังสือในห้องสมุด, proctor, ผู้ช่วยสอน และทำงานที่ร้านอาหารในเมือง

ปัจจุบันหลังจากกลับมาจากต่างประเทศ คุณแกว่นยังคงทำงานที่หลากหลาย เป็น Co-Founder 3 บริษัท หนึ่งคือบริษัททำด้านของพรีเมี่ยมให้แบรนด์ฟอร์ด บริษัทที่สองคือเป็นที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ บริษัทที่สามทำเกี่ยวกับ Marketing Agency นอกจากนี้ส่วนตัวคุณแกว่นยังเป็นที่ปรึกษาทางด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจให้อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์

สุดท้ายคุณแกว่นฝากถึงคนรุ่นใหม่ ในการรับสารและสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ไว้ว่า ตอนนี้มีข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเยอะ เพราะฉะนั้นสกิลสำคัญที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดี คือรู้จักการแยกแยะ และเลือกที่จะรับข้อมูล อีกอย่างที่จำเป็นมากคือสกิลในการไตร่ตรองพิจารณาข้อมูลที่เข้ามาก่อน ว่าข้อมูลที่เราได้รับมาจริงหรือไม่ก่อนที่เราจะตัดสินใจเชื่อ เพราะข้อมูลในทุกวันนี้มีเยอะ และไม่ได้รับการกรองที่ดีก่อนมาถึงเรา จึงต้องมีทักษะในการพิจารณา หาข้อมูล และตัดสินเมื่อมั่นใจแล้วว่าข้อมูลนั้นจริง

.

.

‘ร.ต.ท.ปรฉัตร รักษาวงษ์’ จากเด็กกศน. สามารถจบปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต ตั้งแต่อายุ 19 ปี นอกจากนี้ยังสอบติดตำรวจตั้งแต่ครั้งแรกด้วยวัยดังกล่าว จากนั้นสอบตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้คะแนนอันดับ 1 ของรุ่น

การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการที่เรามีวุฒิการศึกษาสูงเพียงใดก็ยิ่งเปรียบเสมือนใบผ่านทาง หรือเรียกได้ว่าเป็นกุญแจด่านแรกของการดำเนินชีวิตด้วยตนเองเลยก็ว่าได้

เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของครอบครัว หลังจากเฟซบุ๊ก Manunya Ruksawong คุณแม่ท่านหนึ่งได้เผยการเรียนของลูกชาย ที่ตัดสินใจไม่เรียนตามระบบ แต่ขอออกมาศึกษาด้วยตัวเองที่บ้าน พร้อมกับสอบเทียบวุฒิกับ กศน. แทน ทำให้ผู้เป็นแม่รู้สึกกังวลกับอนาคตของลูกชายเป็นอย่างมากตลอดช่วงที่ผ่านมา

แต่เรื่องราวกลับเกินกว่าที่ผู้เป็นแม่คิดไว้ เพราะแม้จะเรียน กศน. แต่ลูกก็จบปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต ตั้งแต่อายุ 19 ปีนอกจากนี้ยังสอบติดตำรวจตั้งแต่ครั้งแรกด้วยวัยดังกล่าว จากนั้นสอบตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้คะแนนอันดับ 1 ของรุ่น และในวัย 22 ปี ลูกชายก็จบเนติบัณฑิต และปริญญาโทอีกด้วย

โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ลูกชายตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะเรียน กศน. ทำเอาคนเป็นแม่หัวใจสลาย คิดไปว่าลูกหลงเดินทางผิด แล้วจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร เปรียบเสมือนเดินบนเส้นด้ายอันน่าหวาดเสียว แต่ก็ห้ามไม่ได้

จนผู้เป็นแม่ได้แต่ร้องไห้ และเศร้าใจ ซึ่งก็มีพี่สาวเพื่อนที่คอยปลอบใจเท่านั้น พร้อมให้แนวคิดว่า เราจะให้ลูกมีความสุข หรือแม่มีความสุข การเรียน HOME SCHOOL นั้น เป็นทางเลือกลูก ให้ลูกเรียนไปเถอะ

ซึ่งแม่เองนั้นก็คิดว่าลูกเดินทางผิดแน่นอน เพราะไม่เข้าใจ ไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากลูกเป็นคนขี้เกียจ เกเร

เด็กหลายคนเขามีเหตุผลส่วนตัวที่หลาย ๆ คนก็ไม่เข้าใจ แต่แล้วเด็ก กศน. คนนี้กลับทำให้แม่ภูมิใจ

จบปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต เพียงอายุ 19 ปี จบเนติบัณฑิต อายุ 22 ปี จบปริญญาโท อายุ 22 ปี แล้วสอบ กพ.ครั้งแรกก็ผ่านฉลุย

สอบตำรวจครั้งแรก ก็ผ่านฉลุย (ตำรวจรับวุฒิ ป.ตรี อายุ 19 ปี อายุน้อยที่สุดในรุ่น ทำงานตำรวจชั้นประทวนได้ 2 ปีมีสิทธิ์สอบตำรวจชั้นสัญญาบัตร ผลปรากฏว่า สอบได้ที่ 1 ของรุ่นทั่วประเทศ ได้คะแนน 137 เต็ม 150)

จึงอยากให้ผู้ปกครองทั้งหลายได้เข้าใจและให้กำลังใจลูก เพราะเด็กบางคนเขามีเหตุผลในการเลือกเรียนนอกระบบ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้แบบนี้ นายแน่มาก ร.ต.ท.ปรฉัตร รักษาวงษ์

หลังจากเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปได้มีผู้แชร์ออกไปเป็นจำนวนมากในโลกโซเชียล พร้อมทั้งชื่นชมกับความตั้งใจของหนุ่มคนนี้ที่ทำให้ผู้เป็นแม่ภาคภูมิใจ


ขอบคุณที่มา welovedantruat

ที่มา: https://thaisiamnews.info/2021/05/09/

คุณแจ๊ค น.สพ. ดร. มนูศักดิ์ วงศ์พัชรชัย | THE STUDY TIMES STORY EP.14

บทสัมภาษณ์ คุณแจ๊ค น.สพ. ดร. มนูศักดิ์ วงศ์พัชรชัย ได้รับทุนส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Post-doctoral researcher, BioTechnology Institute, University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา 
เรื่องราวทุนการศึกษาเปลี่ยนชีวิต ต่อยอดความฝันทำงานวิจัยระดับโลก

ปัจจุบัน ดร. แจ๊ค เป็นนักวิจัยอยู่ที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี โดยจุดเริ่มต้น ดร. แจ๊คเรียนจบปริญญาตรี เกียรตินิยม จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสเสนอขอทุนของมหาวิทยาลัย เรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้เลย ซึ่งในปีนั้นทางจุฬาฯ มีอายุครบ 90 ปี มีกองทุนใหม่ชื่อว่า กองทุนจุฬาดุษฎีพิพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งดร. แจ๊ค ถือเป็นรุ่นแรกของกองทุนนี้ เงื่อนไขของทุน คือ หากเรียนในคณะที่ประเทศขาดแคลน ต้องได้เกียรตินิยมเป็นอย่างน้อย จึงจะมีสิทธิ์สมัครเข้าไป หากอยู่ในคณะที่ประเทศไม่ขาดแคลน ต้องติด Top10 ของคณะ ซึ่งสายวิทยาศาสตร์ของดร. แจ๊ค ขณะนั้นรับอยู่ 8 คน 

ในการเรียนต่อปริญญาโทและเอก ดร. แจ๊คยังคงเรียนอยู่ในคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ โดยเป็นสัตวแพทย์สาธารณสุข ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่ไข้หวัดนกระบาดหนักในประเทศไทย 

ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ดร. แจ๊คเล่าว่า การเรียนสัตวแพทย์ ที่จุฬาฯ นักศึกษาชั้นปี 1-4 ทุกคน ที่มีอยู่ร้อยกว่าคนในรุ่น จะเรียนเหมือนกันหมด พอถึงปี 5 จะแยกครึ่งนึงไปฝึกงาน ซึ่งดร. แจ๊คได้ไปฝึกงานทั้งในโรงพยาบาลสัตว์ คลินิกสัตว์เลี้ยง ฟาร์ม เพื่อนำมาตัดสินใจว่าชอบทางไหน และเมื่อขึ้นปี 6 อาจารย์ก็จะให้เลือกสาย โดยดร. แจ๊คเลือกไปทางสายฟาร์ม ในช่วงปี 6 มีภาควิชาสัตวแพทย์สาธารณสุข ที่จะเรียนเกี่ยวกับ DNA เล็ก ๆ ต้องใช้จินตนาการสูง ดร. แจ๊คมีความสนใจทางด้านนี้ เป็นที่มาของการสมัครขอทุนเรียนต่อปริญญาโทและเอกในภาคนี้โดยเฉพาะ

จริง ๆ แล้วดร. แจ๊ค แทบไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ แต่เมื่อได้รับทุน ข้อบังคับของทุนข้อหนึ่ง คือจะต้องไปทำโปรเจคที่ต่างประเทศ ในที่ที่อาจารย์มี contact ซึ่งอาจารย์ของดร. แจ๊ค จบมาจาก Minnesota, สหรัฐอเมริกา จึงได้ให้ดร. แจ๊คลองสมัครไป ผลคือ Professor ที่นั่นสนใจ จึงได้ไปในฐานะนักเรียน ขณะนั้นดร. แจ๊ค เรียนปริญญาเอกที่เมืองไทยได้สองปีครึ่ง ก่อนจะดรอปเรียนและไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ Minnesota หนึ่งปี

เมื่อไปถึงอเมริกาครั้งแรก ดร. แจ๊คถึงกับงง ด้วยความที่ไม่เคยไปต่างประเทศมาก่อน จากนั้นได้แชร์บ้านพักกับนักเรียนจากหลากหลายประเทศจำนวน 12 คน สิ่งที่ทำเมื่อไปถึงคือนำโทรศัพท์มาค้นหาเซเว่นที่ใกล้ที่สุด แต่ใกล้ที่สุดคือห่างจากบ้านพัก 130 ไมล์ เมื่ออยู่ไปสักพักถึงได้รู้ว่าคนที่ Minnesota ค่อนข้างจะเป็นคนอนุรักษนิยม ซัพพอร์ตอะไรที่เป็น Local จึงต้องเรียนรู้ว่าร้านมินิมาร์ท Local ของที่นั่นมีชื่อว่าอะไร

เพราะมีโปรเจคที่ต้องทำให้จบ ในจำนวนเงินและระยะเวลาที่จำกัด ดร. แจ๊คจึงต้องวางแผนคุยกับ Professor ให้แน่นอนว่าอยากทำอะไร และด้วยความที่ยุ่งมากทำให้ไม่มีเวลาไปโฟกัสอย่างอื่น ลืมเรื่อง Homesick ไปเลย นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในเรื่องของภาษา เพราะถูกสอนมาแต่ในเรื่องแกรมม่า ท่องคำศัพท์ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารบทสนทนาที่จะทำให้ต่างชาติเข้าใจได้ ทำให้มีปัญหาในช่วงแรก ใช้เวลาปรับตัวด้านนี้อยู่เป็นปี โชคดีที่ได้รู้จักกับครอบครัวคนอเมริกันที่คอยชวนไปเที่ยวที่ฟาร์ม ทำความรู้จักกับครอบครัว จึงได้ฝึกภาษามากขึ้น และตัวดร. แจ๊คเองก็พยายามผลักดันตัวเอง ฝึกฝนออกเสียงเรื่อยมา

เมื่อทำงานไปได้สักพัก ทาง Professor และพี่เลี้ยงหรือ Senior Scientists สองคน ที่เป็นชาวญี่ปุ่นและชาวจีน เห็นความขยันของดร. แจ๊ค เมื่อเห็นว่ามีตำแหน่ง Postdoc เปิด จึงให้ลองเข้าไปคุยกับ Professor ที่เปิดรับตำแหน่งนี้ ซึ่ง Professor คนนี้มารู้ทีหลังว่าเป็นผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยทาง BioTech ของที่นั่น หลังจากสัมภาษณ์ผ่านก็ได้ทำงานต่อ และอยู่ที่อเมริการวมทั้งสิ้น 4 ปี

อุปสรรคอีกอย่างที่พบตอนไปอเมริกา คือ Professor ของดร. แจ๊คเป็นคนอินเดีย ที่รู้กันดีว่าคนอินเดียส่วนใหญ่จะทำงานโหด เข้มงวดมาก โดนจี้งานเยอะ บางครั้งทำให้ท้อได้เหมือนกัน ดร. แจ๊ค เล่าว่า ต้องทำงานตื่น 7 โมงเช้า เลิกตี 1 ตี 2 ทุกวัน ทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เป็นแบบนี้อยู่ 1 ปี แต่การถูกเค้นศักยภาพออกมา ผลคือทำให้ได้ผลงานที่ค่อนข้างดี

วิธีที่ทำให้ผ่านช่วงเวลากดดันของดร. แจ๊ค คือ การนั่งสมาธิ เพราะการทำงานหนักไปเรื่อย ๆ รู้สึกเหมือนสมองยุ่งเหยิง ทุกคืนก่อนนอน ดร. แจ๊คจะใช้เวลา 5-10 นาทีในการทำสมาธิเพื่อจัดระบบเซลล์สมอง สองอย่างในชีวิตที่ดร. แจ๊คทำแล้วเห็นผล คือการทำสมาธิ และการเล่นกีฬา 

หากพูดถึงความแตกต่างในด้านองค์ความรู้ระหว่างไทยและต่างประเทศ ดร. แจ๊ค มองว่า ในแง่ของวิชาการ ไม่คิดว่าเมืองไทยด้อยกว่า ศักยภาพเด็กไทยเมื่อไปอยู่ตรงนั้นก็ไม่ด้อยกว่าคนอื่น จุดอ่อนอาจมีเพียงเรื่องของภาษาในช่วงแรก 

ทั้งยังบอกอีกว่า จริง ๆ การจบปริญญาเอกไม่ใช่คนพิเศษอะไร เพียงแต่ผ่านการฝึกกระบวนการผิดมาอย่างหนัก ส่วนการเป็น Postdoc เป็นโปรแกรมที่ทำให้แข็งแกร่งมาอีกขั้น มาถึงตอนนี้ Professor จะบอกเสมอว่า คุณไม่ใช่นักเรียนแล้ว คุณต้องจัดการชีวิตตัวเอง ต้องมั่นใจในสิ่งที่จะทำ ในสิ่งที่จะพูด และรับผิดชอบในคำพูด

สุดท้ายดร. แจ๊ค ฝากไว้ว่า เราจะทำอะไรให้สำเร็จ มันสำเร็จมาจาก Passion เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำอะไรแกมบังคับ จะมีเหตุผลมากมายที่บอกว่า หยุดมันเถอะ แต่ถ้าเราทำงานด้วย Passion แรงผลักดันที่จะทำให้สำเร็จ ยังไงมันก็สำเร็จ ไม่ต้องกลัว  พอเราไปเมืองนอกจริง ๆ เราก็จะไปเจอเพื่อนจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งเขาจะเป็นเหมือนเรา


.

.

นักเรียนชายแฝด 3 สอบติดหมอมหิดล พร้อมกัน เผยเคล็ดลับ เรียนห้องเดียวกัน ปรึกษาเรื่องเรียนกันเสมอ

กลายเป็นที่ฮือฮาในจังหวัดเพชรบุรี และเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อนักเรียนชายแฝด 3 คน โรงเรียนชื่อดัง สอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกัน ขณะที่พ่อโล่งอก ดีใจ เพราะเกรงหากคนใดคนหนึ่งสอบไม่ติดแล้วจะคิดมาก

หลังมีการแชร์ข้อมูล นักเรียนชาย 3 คน ที่เป็นพี่น้องฝาแฝด โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี สร้างประวัติศาสตร์ สอบติดโควตาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พร้อมกันทั้ง 3 คน จนเป็นที่ฮือฮาในจังหวัดเพชรบุรี และมีการนำเรื่องดังกล่าวไปแชร์ในโซเชียล ซึ่งชาวเน็ตพากันแสดงความยินดีกับครอบครัวของนักเรียนทั้ง 3 คน จำนวนมาก 

โดยนักเรียนทั้ง 3 คน คือ น้องปอนด์ นายธนรัตน์ เข็มกลัด พี่ชายคนโต, น้องดอลลาร์ นายธนารักษ์ เข็มกลัด คนกลาง และ น้องมาร์ค นาย ธนพัฒน์ เข็มกลัด น้องคนเล็ก ทั้ง 3 คน อายุ 18 ปี เกิดเวลาไล่เลี่ยกัน 

นายไพโรจน์ เข็มกลัด หรือ เฮียดำ อายุ 65 ปี พ่อของแฝดสาม เผยว่า ครอบครัวภูมิใจที่ลูกชายฝาแฝดทั้ง 3 คน ทำได้สำเร็จ เพราะที่ผ่านมาสนับสนุนลูกมาตลอด โดยเฉพาะด้านการเรียน ได้เรียนห้องเดียวกัน และแต่ละคนมีอุปนิสัยคล้ายกัน มักปรึกษาเรื่องเรียนกันเสมอ เนื่องจากอาจจะถนัดและเก่งคนละวิชา จึงนำมาแชร์กันได้ ทำให้ผลการเรียนดีทุกคน แต่ก็ยอมรับก่อนหน้านี้หนักใจมาก กังวลมาก เพราะหากลูกคนใดคนหนึ่งสอบไม่ติด จะเสียใจและคิดมาก แต่เมื่อประกาศผลก็ทำให้โล่งอก


ที่มา: https://news.ch7.com/detail/485262
 

คุณต้น รัฐพล ปั้นทองพันธุ์ | THE STUDY TIMES STORY EP.15

บทสัมภาษณ์ คุณต้น รัฐพล ปั้นทองพันธุ์ ได้รับทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์

ปริญญาโทกฎหมายธุรกิจ Cambridge University, สหราชอาณาจักร

ฝันเป็นจริงเพราะฝึกฝนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ได้ทุนเรียนต่อต่างประเทศ มหาวิทยาลัย TOP ของโลก

ปัจจุบันคุณต้นดำรงตำแหน่ง Vice President ดูแลด้านกฎหมายในบริษัทเอกชน เพิ่งเรียนจบกลับมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ไปเรียน Corporate Law เน้นที่กฎหมายบริษัท เกี่ยวกับธุรกิจและการค้าโดยตรง จาก University of Cambridge

กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ หรือ Corporate Law ถือว่าเป็นหัวใจ จากการไปเรียนมาทำให้คุณต้นทราบว่าทางอังกฤษสามารถพัฒนาและแก้ปัญหาทางธุรกิจได้ดีกว่าประเทศไทย

ย้อนกลับไป คุณต้นเรียนในโรงเรียนไทยมาโดยตลอด เรื่องของภาษาอังกฤษเรียกว่าไม่ได้เลย จากนั้นได้เรียนต่อเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเรียนควบนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย ในชั้นปี 3 เป็นช่วงที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ได้ไปเรียนที่สถาบันพัฒนาภาษา Fast English อยู่ 2 ปีครึ่ง ต้องปูพื้นใหม่ทั้งหมด หลังจากนั้นได้ไปฝึกงานที่ Law Firm 4 ปี กว่าจะคล่องในการใช้ภาษาอังกฤษ

คุณต้นเชื่อว่า หากไม่ได้เรียนอินเตอร์ การพัฒนาภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยค่อนข้างลำบาก เพราะไม่ได้มีการรวมข้อมูลที่ต้องรู้จริง ๆ เกี่ยวกับภาษาอังกฤษไว้ สิ่งนี้ถือเป็นจุดอ่อน

คุณต้นเริ่มจุดประกายเรื่องของภาษาอังกฤษช่วงปี 3 เพราะฝันอยากไปเรียนเมืองนอก การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของคุณต้นทั้งหมดเรียกว่ามาจากการเรียนที่ Fast English บวกกับความตั้งใจท่องคำศัพท์ มีวินัยในตัวเอง สิ่งสำคัญคือการฝึกฝนด้วยตัวเองต่อ

ทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์

ก่อนที่จะได้ทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์ คุณต้นได้ทุนสหภาพยุโรปก่อน รวมทั้งยื่นสมัครที่ LSE ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องจากทางเนติบัณฑิตเปิดรับสมัครสอบแข่งขันทุน โดยทุนนี้ไม่ได้กำหนดว่าต้องไปมหาวิทยาลัยไหน เพียงแต่กำหนดให้ไปมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น ซึ่งคุณต้นเองได้ใบตอบรับจาก Cambridge พอดี เมื่อสอบแข่งขันผ่าน จึงแจ้งกับทางทุน ไปเรียนต่อได้เลย

จุดอ่อนของคนไทยที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ คุณต้นมองว่า อยู่ที่ภาษาอังกฤษ ภาษาต้องได้ก่อน ใครจะไปเรียนไม่ต้องรีบ เตรียมตัวให้พร้อม ศึกษามหาวิทยาลัยดี ๆ จากมุมมองส่วนตัว คุณต้นคิดว่าที่ตนเองได้ ไม่ใช่เพราะความเรียนเก่ง แต่เพราะความหลากหลาย และมีประสบการณ์ทำงานที่เยอะพอสมควร รวมทั้งมีความก้าวหน้าในการทำงาน สิ่งนี้เป็นจุดที่นักเรียนมักจะมองข้าม

สำหรับคนที่จะสอบทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์ ต้องมีคุณสมบัติ คือ จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ สอบเนผ่าน และมีอายุไม่เกิน 35 ปี โดยทุนนี้ไม่ได้เปิดทุกปี แต่ 4 ปีเปิดครั้ง ต้องสอบแข่งขัน เขียน Essay ภาษาอังกฤษสามข้อ รอบสุดท้ายสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ข้อดีของทุนนี้คือเป็นทุนฟรี ไม่มีภาระผูกพัน สำหรับคนที่จะได้ทุนนี้ คุณต้นมองว่า ต้องรู้จักขายตัวเองให้เป็น ก่อนที่จะไปขายของให้คนอื่น ต้องรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไร ทุกอย่างต้องวางแผนล่วงหน้า สำหรับสายกฎหมาย การทำงานเป็นอีกสิ่งที่ทำให้โตขึ้นและเข้าใจ  

ตอนสัมภาษณ์ คุณต้นเล่าว่า เจอคำถามที่ไม่ใช่คำถามกฎหมายมากนัก เช่น เรื่องอาเซียน คำตอบจึงเป็นสหสาขาวิชา เด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์อาจจะยังตอบคำถามได้ไม่ค่อยดี 

Cambridge University
คุณต้นมีความประทับใจในการไปเรียนที่ Cambridge University มาก เนื่องจากอากาศดี สภาพแวดล้อมเหมือนโรงเรียนประจำ มีแยกออกเป็นบ้านเหมือนแฮร์รี่ พอตเตอร์ มีกิจกรรมในบ้าน ทั้งกีฬา ดนตรี บอร์ดเกม เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการศึกษา ที่แท้จริง มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ 

ในเรื่องการใช้ชีวิตคุณต้นไม่มีปัญหา ช่วงสองอาทิตย์แรก อาจจะมีเรื่องของความเกร็งในการใช้ภาษาอยู่บ้าง เพราะไม่ชินสำเนียงคนอังกฤษ ทำให้ฟังไม่ค่อยออก แต่เมื่อผ่านไปทุกอย่างก็ลงตัว ส่วนการเข้าหาอาจารย์ไม่มีปัญหา เพราะอาจารย์พูดช้าและมีความเข้าใจนักเรียนต่างชาติ

ข้อแตกต่างการศึกษาไทยและอังกฤษ
คุณต้นมองว่า ระบบการศึกษาไทยต้องรื้อใหม่ หัวใจของการไปเรียนอาจารย์ต้องเก่ง ในการเรียนเรื่องหนึ่งไม่ได้มีเพียงศาสตร์เดียว แต่มีปัญหาหลากหลายประเด็น ต้องนำมาประยุกต์กันเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ แต่ของไทยยังเรียนศาสตร์เดียว นี่คือข้อแตกต่าง อีกสิ่งคือระบบการยอมรับฟังความเห็นต่าง และสุดท้ายคือเรื่องของฮาร์ดแวร์ที่ยังมีปัญหา เช่น จะให้เรียนออนไลน์แต่ไม่มี WiFi เพราะฉะนั้นต้องมีการรื้อทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

สุดท้ายนี้ คุณต้นฝากถึงคนที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศหรืออยากพัฒนาตนเองไว้ว่า ถ้ามีความฝัน เก็บความฝันไว้ในใจ อย่าเอาความฝันนั้นออกไปที่อื่น ถ้าคุณไม่ล้มเลิก ยังไงวันหนึ่งคุณก็สำเร็จในสิ่งที่คุณตั้งใจแน่นอน


.

.


 

นอกจากความน่ารักของ 'เบเบ้' เรื่องความเก่งของเธอก็ไม่เป็นรองใคร เพราะสามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 ทั้งปริญญาตรีและโท!!

เบเบ้ ธันย์ชนก ฤทธินาคา เน็ตไอดอลรุ่นแรกของเมืองไทย นอกจากเรื่องความสวยและน่ารักแล้ว เส้นทางการศึกษาของเธอก็ไม่ธรรมดาเลย ถึงแม้ว่าจมีงานเยอะแค่ไหน แตเธอก็สามารถจัดสรรเวลาได้อย่างดี จนสามารถคว้าเกียรตินิยมอับ 1 มาครองได้ทั้งระดับปริญญาตรีและโท

นอกจากนี้แล้ว เธอยังเคยเป็นอาจารย์พิเศษสาขาการตลาด มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และในช่วงกักตัวแบบนี้ เบเบ้ ยังเป็นเหมือนครูสอนการออกกำลังกายให้กับหลายๆ คน จากคลิปสอนออกกำลังกายบนยูทูปของเธออีกด้วย

ประวัติการศึกษา เบเบ้

• จบระดับประถมศึกษา โรงเรียนแย้มสอาด

• ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพจาก โรงเรียนเซนต์จอห์นคอมเมิร์ซ ภาคอินเตอร์

• สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนนเกรดเฉลี่ยสะสม 3.91

• สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนนเกรดเฉลี่ยสะสม 3.97

สำหรับกุญแจของความสำเร็จเบเบ้เปิดเผยว่า "เบเบ้เป็นคนขยัน คือต้องขยันกว่าคนอื่นเป็น 2 เท่าเลย เพราะต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ต้องอ่านหนังสือให้มากๆ มากกว่าคนอื่น ช่วงสอบเบเบ้จะตื่นตี 5 แล้วก็อ่านหนังสือในห้องจนถึงดึก ไม่ชอบพักการอ่านหนังสือเพราะกลัวลืมค่ะ"


ที่มา

https://www.sanook.com/campus/1400104/

https://www.sanook.com/campus/1373121/

THE STUDY TIMES X DekThai Online, ClassOnline สัปดาห์แรก พบกับวิดีโอสรุปเนื้อหา เทคนิค แนวข้อสอบ แต่ละรายวิชา

???? THE STUDY TIMES X DekThai Online, ClassOnline สัปดาห์นี้

???? วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม - วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2564

⏰ ทุกวัน เวลา 18.00 น.

พบกับวิดีโอสรุปเนื้อหา เทคนิค แนวข้อสอบ 5 รายวิชา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ไทย อังกฤษ และสังคม

???? วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม

วิชาคณิตศาสตร์: เรื่อง แนวข้อสอบ สอวน. ผลบวกอนุกรมเศษส่วน factorial

???? วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม

วิชาฟิสิกส์: เรื่อง ตะลุยโจทย์ฟิสิกส์เข้าเตรียม ปี 63

???? วันพุธที่ 19 พฤษภาคม

วิชาสอนให้คิด: เรื่อง อัลกอลิทึม

???? วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม

วิชาภาษาอังกฤษ: เรื่อง เทคนิคสำหรับการทำ Reading

???? วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม

วิชาสังคม: เรื่อง ตัวอย่างข้อสอบวิชาสังคม 9 วิชาสามัญ

???? ช่องทางรับชม

Facebook และ YouTube: THE STUDY TIMES

5 ทักษะ พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ แก้ด้วยวิธีไหน?

เคยไหม? ที่ต้องพูดกับตัวเองว่า ทำไม่ฉันต้องมาเจอกับความสัมพันธ์ที่แย่ๆ ในที่ทำงานครั้งแล้วครั้งเล่า ทำไมเพื่อนร่วมงานไม่ค่อยชอบเรา ทำไมคนมักคอยจับผิดเรา และกลั่นแกล้งเราอยู่เสมอ บรรยากาศในการทำงานไม่มีความสุขอีกแล้ว หรือต้องหนีไปทำงานที่อื่นอีกครั้ง

คุณจะหนีไปไหนคะ? เพราะที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน คือมีทั้งคนที่คุณชอบ และคนที่คุณไม่ชอบ มีทั้งคนที่ชอบคุณ และคนที่ไม่ชอบคุณ ถ้าคุณตั้งข้อสังเกตก็จะพบว่า เรื่องแย่ๆ บางเรื่องก็เกิดจากเพื่อนร่วมงาน บางครั้งก็เกิดจากตัวคุณเอง จะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้อย่างไร

คุณเปลี่ยนใครไม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนให้เปลี่ยนที่ตัวคุณเองเท่านั้น

1.) คุณควรทำงานอย่างคนที่มีทัศนคติเชิงบวก

หากคุณต้องการมีความสุข สนุกทุกวัน คุณควรเริ่มต้นด้วยการยุติการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผู้อื่น การคอยจับผิด การเปรียบเทียบ และการตัดสินพิพากษาผู้อื่น เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้คุณมุ่งความสนใจไปในความคิดเชิงลบมากกว่าเชิงบวก

คุณควรเปลี่ยนความสนใจไปที่ การรู้จักยอมรับในตัวผู้อื่นให้ได้ เหมือนกับที่คุณยอมรับนับถือในตัวเอง คุณควรยอมรับความแตกต่าง มีความเคารพผู้อื่น และบริหารความแตกต่างของคนแต่ละบุคลิกให้ลงตัว

2.) ไม่ด่วนสรุปเรื่องใดๆ ถ้ายังไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์

ข้อนี้ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นมากในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ เพราะถ้ามีใครเสียความรู้สึก และเสียศักดิ์ศรีจากการตัดสินของคุณ จะกระทบถึงความสัมพันธ์ทันที ไม่ว่าคุณจะตัดสินใครในเรื่องใดก็ตาม คุณควรเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าคุณได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ ก็เท่ากับว่าคุณพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

การเข้าใจผิดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นคุณควรคำนึงไว้เสมอว่า ทุกๆ คำพูดที่คุณพูดออกไป คำพูดเหล่านั้นจะกลับมาเป็นนายคุณ และคุณจำเป็นต้องรับผิดชอบทุกคำพูด

3.) ควรรู้จักการยอมรับเพื่อนร่วมงาน

คุณควรรักษาศักดิ์ศรีให้กับเพื่อนร่วมงาน ด้วยความสุภาพ อ่อนน้อม มีมารยาทที่ดี ให้เกียรติทุกคนเสมอ และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม ไม่ควรสร้างสถานการณ์ที่ส่งผลในเชิงลบ เช่น การใส่ร้ายป้ายสี โยนความผิดให้ผู้อื่น วู่วาม ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

คุณควรเปิดใจให้กว้าง ต้องรู้จักรักษาความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน บางเรื่องกฎเกณฑ์ก็ใช้ไม่ได้ คุณควรผสมผสานระหว่างความถูกต้องกับความถูกใจให้ลงตัว แยกให้ออกระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับหน้าที่การงาน พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา คุณควรปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่คุณต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณเช่นกัน

4.) พัฒนาทักษะเรื่องการสื่อสารให้เชี่ยวชาญ

คุณควรใส่ใจในคำพูดของเพื่อนร่วมงาน ไม่ควรมองข้าม เพราะคำพูดเหล่านนั้นเป็นผลดีต่อคุณ เป็นการช่วยให้คุณได้เข้าใจความรู้สึกและความกังวลของพวกเขาผ่านในสิ่งที่เขาพูด การตั้งใจฟังไม่มองข้าม ทำให้คุณจับประเด็นในเนื้อหาสาระสำคัญได้อย่างแท้จริง เป็นการหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด ลดข้อผิดพลาดด้านการสื่อสาร ทำให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพ สื่อสารได้ถูกต้อง กระชับ ฉับไว และตรงประเด็นมากขึ้น

5.) เมื่อพบปัญหาข้อขัดแย้งต้องรีบแก้ปัญหาให้เร็ว

คุณไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ต่างๆ ลุกลามและแย่ลงเรื่อยๆ สุดท้ายกลายเป็นปัญหาใหญ่ เรื่องไหนเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งต้องรีบแก้ไขทันที ในกรณีถ้าปัญหานั้นเป็นปัญหาใหญ่ คุณคนเดียวไม่สามารถแก้ไขเองได้ ให้คุณนำปัญหานั้นเข้าที่ประชุมระดมสมอง เพื่อหาทางออกร่วมกัน หรือแจ้งไปยังผู้บริหาร เพื่อขอคำแนะนำในการช่วยหาทางออกที่ดีที่สุดต่อไป

ทักษะทั้ง 5 ข้อนี้สามารถนำไปใช้ได้กับการพัฒนาความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ส่วนตัว ครอบครัว การทำงาน และกับเพื่อน เชื่อว่าคุณสามารถรักษาสัมพัธภาพที่ดีให้มีความสุขและยาวนานได้อย่างแน่นอน

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล

https://www.novabizz.com/NovaAce/Relationship/Skill.htm

https://fdirecruit.co.th/10-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1/

คุณนูป อัครพัชร์ ภัทรศิริภาณิน | THE STUDY TIMES STORY EP.16

บทสัมภาษณ์ คุณนูป อัครพัชร์ ภัทรศิริภาณิน นักศึกษาแพทย์ Medical University of Lublin, สาธารณรัฐโปแลนด์ 
นักเรียนแพทย์สายคอนเทนต์ เรียนที่โปแลนด์ให้อะไรมากกว่าที่คิด

ปัจจุบัน คุณนูปเป็นนักศึกษาแพทย์ อยู่ที่ Medical University of Lublin ประเทศโปแลนด์ 

จุดเริ่มต้นเรียนแพทย์ที่โปแลนด์ มหาวิทยาลัย Medical University of Lublin
คุณนูปมีความสนใจอยากเรียนหมออยู่แล้ว เพราะมีความฝันอยากเป็นหมอในค่ายผู้อพยพ จนได้พบเอเจนซี่ที่ส่งนักศึกษาไปเรียนที่โปแลนด์ จึงได้ตัดสินใจ ด้วยความที่ค่าเทอมไม่แพง และค่าครองชีพไม่สูง ที่คุณนูปเคยศึกษาเปรียบเทียบค่าเทอมเรียนหมอ 6 ปี พบว่า โปแลนด์มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2.4 ล้านบาท ขณะที่เอกชนที่ประเทศไทยประมาณ 3 ล้านบาท 

การเรียนที่โปแลนด์จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ช่วง 4 เทอมแรกมีเรียนภาษาโปลิชด้วย ในคลาสเรียนมีทั้งนักเรียนจากไต้หวัน อเมริกัน ตะวันออกกลาง สแกนดิเนเวีย

คุณนูปสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิชาทางวิทยาศาสตร์และใช้คะแนน IELTS ปัจจุบันนักเรียนไทยที่มาเรียนแพทย์ที่ Lublin มีประมาณ 100 กว่าคน จุดเด่นที่ทุกคนเลือกมาเพราะค่าเทอมที่ถูก และค่าครองชีพที่ไม่แพง 

การเรียนที่โปแลนด์มีสอบทุกสัปดาห์ ต้องทำคะแนนสอบให้ได้มากกว่า 50% ขึ้นไป จึงจะมีสิทธิ์สอบไฟนอล ต้องอ่านหนังสืออยู่เรื่อย ๆ  ปีแรกที่มาปรับตัวยากมาก เพราะคนไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ ทำให้สื่อสารยาก

ด้วยความที่คนที่นี่ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก สำเนียงจะฟังยากมาก ทำให้มีอุปสรรคด้านการสื่อสาร เวลาเครียดคุณนูปก็จะมีออกไปกินข้าว ท่องเที่ยวกับเพื่อน หรือแม้กระทั่งไปหานักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยที่มีให้บริการ

วิถีชีวิตนักเรียนไทยในโปแลนด์ ส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทำกิจกรรมร่วมกัน ไปเตะฟุตบอล ทานข้าวด้วยกัน แต่ด้วยความที่สอบเยอะมากก็จะไม่ค่อยมีเวลา วิธีที่ทำให้คุณนูปผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้ คือ การจดไดอารี่ไว้ 

สิ่งที่น่าสนใจในโปแลนด์ คุณนูปแนะว่า ถ้าชอบมิวเซียม ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ดนตรีคลาสสิก โปแลนด์เป็นอีกตัวเลือกที่น่ามาเที่ยวมาก ด้วยความที่เป็นพื้นที่ของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน และมีอุทยานแห่งชาติกว่า 100 แห่ง

คุณนูปเป็นนักกิจกรรมตัวยง ทั้งเล่นดนตรี กีฬา ท่องเที่ยว ปีนผา คุณนูปเล่าว่า กิจกรรมปีนผา เริ่มทำช่วงกลับไทยเมื่อปีที่แล้วตอนสถานการณ์โควิดระบาดหนัก เจ้าของสำนักพิมพ์ที่คุณนูปเป็นนักเขียนอยู่ได้ชวนไปปีนผา ไปแล้วเกิดติดใจ เมื่อกลับมาโปแลนด์ก็ยังสนใจและทำต่อมาเรื่อย ๆ 

คุณนูปมีอุดมการณ์ คือ อยากเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ลี้ภัย เพราะมีอาจารย์ที่เป็นต้นแบบ แล้วรู้สึกว่าเท่ดี ตอนย้ายมาอยู่โปแลนด์มีช่วงหนึ่งที่เขวไปบ้าง แต่มีโอกาสได้ทำเรื่องเกี่ยวกับอาหารกลางวันให้เด็กที่เคนย่า เลยสามารถดึงตัวเองกลับมาในความฝันที่เคยตั้งไว้ 

จุดเริ่มต้นอาชีพนักเขียน 
จุดเริ่มต้นการเป็นนักเขียนของคุณนูปเริ่มมาจากเป็นแฟนของสำนักพิมพ์ชี้ดาบ รู้จักกับพี่ที่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ช่วงที่โปแลนด์มีโควิดระบาดหนักทำให้ออกไปไหนไม่ได้ เลยตัดสินใจทักไปคุยกับรุ่นพี่เจ้าของสำนักพิมพ์ พี่เลยได้ชวนมาเขียนหนังสือรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับคนไทยที่เจอโควิดจากทั่วโลก คุณนูปจึงตัดสินใจเขียนหนังสือที่มีชื่อว่า พังเรนเจอร์ : AGE OF CORONA

อีกเล่มมีชื่อว่า อยุติธรรม เจนเนอร์เรชั่น | พังเรนเจอร์ จูเนียร์ ซึ่งรวบรวมประสบการณ์ที่เจอมาแล้วรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับตัวเรา 

การเขียนสำหรับคุณนูปเหมือนการปลดปล่อยอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยความที่กิจกรรมบางอย่างที่เคยทำเพื่อปลดปล่อยความเครียด อาจจะทำไม่ได้ในช่วงโควิด จึงต้องหาวิธีอื่นในการปลดปล่อยออกมา
 
คุณนูปคิดว่า 'นักศึกษาแพทย์' และ 'นักเขียน' มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกัน เช่น เรื่องเรียนทำให้ต้องอ่านหนังสือทุกวัน ส่วนการเขียนเป็นสิ่งที่เจอทุกวัน เป็นสิ่งที่สะสมทุกวันทั้งคู่ แต่ความต่าง คือ การเขียนเป็นประสบการณ์ตรงที่เราเจอเองจริง ๆ แต่การเรียนไม่ใช่สิ่งที่เราเจอมาด้วยตัวเอง แต่เป็นเรื่องที่เราอ่านความรู้ที่คนอื่นเตรียมไว้แล้ว

แผนในอนาคตเมื่อเรียนจบของคุณนูป คือ กลับไทยเพื่อสอบใบประกอบเก็บไว้ ก่อนจะออกเดินทางไปตามค่ายผู้ลี้ภัยแล้วค่อยกลับมาเมืองไทย 

สุดท้ายคุณนูปฝากสำหรับคนที่อยากเรียนแพทย์ในโปแลนด์ไว้ว่า ข้อสอบเข้ายากขึ้นมาก ให้อ่านหนังสือเยอะ ๆ ทำภาษาอังกฤษไว้ให้ดี


.

.


.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top