Thursday, 15 May 2025
EducationNewsAgencyforAll

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ ๔ พฤษภาคม วันสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี

ความหมายของวันฉัตรมงคล

วันฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธี ฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก

ความสำคัญของวันฉัตรมงคล

วันฉัตรมงคล เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ และดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ดังนั้น รัฐบาลไทยและพสกนิกร จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรหรือรัฐพิธีฉัตรมงคล หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ ๔ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้


ที่มา: https://hilight.kapook.com/view/188122

คุณตาล วัณย์ทิศากร พิณแพทย์ | THE STUDY TIMES STORY EP.8

บทสัมภาษณ์ คุณตาล วัณย์ทิศากร พิณแพทย์ ตำแหน่ง Client form publishing generalist, Privat bank Julius baer, เมืองซูริค, สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อชีวิตในฝัน ตัดสินใจลัดฟ้าใช้ชีวิตหลังแต่งงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มากกว่า 20 ปี

คุณตาล เป็นสาวชาวไทย ที่ตัดสินใจบินลัดฟ้าไปใช้ชีวิตหลังแต่งงานอยู่ที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Client form publishing generalist, Privat bank Julius baer

คุณตาลเล่าว่าชีวิตที่สวิส เป็นอะไรที่ง่าย เพราะทุกอย่างตรงเวลา ใช้การโดยสารรถไฟเป็นหลักในการเดินทางไปทำงานในเมืองซูริค

ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว
คุณตาลรู้จักกับแฟนตอนอายุ 20 ปี ขณะเรียนอยู่ระดับปวส. ช่วงใกล้จบได้ทบทวนตัวเองแล้วว่าวุฒิปวส. ที่ไทยไม่สามารถนำมาทำอะไรได้ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่ออายุได้ 21 ปี จึงตัดสินใจแต่งงานมาใช้ชีวิตอยู่ที่สวิส ซึ่งเหตุการณ์นี้เองทำให้คุณพ่อของคุณตาลโกรธ จนไม่พูดด้วย แต่มีคุณแม่ที่เข้าใจ และคอยซัพพอร์ต

คุณตาลเล่าว่า เริ่มต้นชีวิตที่สวิส เหมือนการนับจาก -1 เหมือนโดนจับโยนลงใส่น้ำเย็น ต้องจัดการชีวิตตัวเอง ด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องของภาษา จาก เอ บี ซี ของภาษาอังกฤษ ต้องมาเริ่ม อา เบ เซ ในภาษาเยอรมัน คุณตาลเรียนภาษาอยู่ประมาณ 4 เดือน ที่ที่คุณตาลอยู่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาทั่ว ๆ ไปที่ใช้ คือภาษาสวิส ที่นี่ไม่มีภาษาเขียนมีแต่ภาษาพูด ในระหว่างนั้นต้องคิดเป็นภาษาไทย พูดอังกฤษ ฟังสวิส เขียนเยอรมัน พางงไปหมด

ในแง่ของการฝึกภาษา คุณตาลเล่าว่า ตนเรียนรู้จากวิถีชีวิตของทุกคน มีเพื่อนส่วนใหญ่เป็นคนสวิส หากอยากจะเข้าถึงภาษาของเจ้าของภาษาจริง ๆ ต้องคุยกับคนสวิสให้เยอะ คุณตาลมีความเชื่อว่าภาษาต่างประเทศนั้นไม่ใช่ภาษาของเรา การพูดผิดถือว่าไม่แปลก ถ้าเราไม่พูดเราก็จะไม่ผิด แต่เราก็จะไม่ได้เรียนรู้เลย เพราะฉะนั้นต้องกล้าพูด ฝึกฝนด้วยการคุยกับผู้คนเยอะ ๆ จะได้สำเนียงด้วย 

งานแรกที่คุณตาลไปสมัคร คือ งานล้างจานในร้านอาหารของบริษัทไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในรัฐซูริค ทำในตำแหน่งล้างจานอยู่ 4 เดือน จนได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยแม่ครัว สลับกับแคชเชียร์ ทำอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 15 เดือนก็ต้องลาออก เพราะยังรับกับวัฒนธรรมของที่นี่ไม่ค่อยได้ ยังอ่อนไหวกับสิ่งต่าง ๆ อยู่มาก

ความยากในการไปใช้ชีวิตอยู่ที่สวิสของคุณตาล คือความคิดถึงครอบครัว เพราะในสมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต จะติดต่อกับแม่ได้ต้องไปซื้อบัตรโทรศัพท์ ร้องไห้บ่อยแต่กลับไม่เคยรู้สึกท้อ

วัฒนธรรม วิถีชีวิตคนสวิส
คุณตาลเล่าว่า บริบทของคนรอบตัวคุณตาล ไม่มีใครสนใจชุดความคิดที่ว่า เธออ้วนขึ้น ผอมลง ดำไหม ขาวไหม ถือกระเป๋ายี่ห้ออะไร ได้เงินเท่าไหร่ ที่ประเทศไทยอาจมีคนถามว่าทำไมผิวเธอดำจัง แต่ที่สวิสคนจะทักว่า ทำไมสีผิวเธอสวยจัง อยากได้สีผิวแบบนี้ คนสวิสที่คุณตาลรู้จัก ให้ค่ากับชีวิตของตัวเอง ใช้ชีวิตของตัวเองเป็นไปตามครรลอง ตื่นเช้ามาเคยทำอะไรก็ทำ ทำงาน ท่องเที่ยว เข้าฟาร์ม มีความสุขกับสิ่งที่ทำ 

การทำงาน
ที่สวิสจะคิดการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์ 100 เปอร์เซ็นต์ คือทำงานปกติ กินเงินเดือนเต็ม ทำงานอยู่ที่ 40-43 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือหากจะหางานที่สามารถทำแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ คือทำ 4 วัน หยุด 3 วัน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่คุณตาลกำลังทำอยู่ ตอนเริ่มทำแรก ๆ คุณตาลเริ่มทำเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ คือสองวันครึ่งต่อสัปดาห์ แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นมา ก็ได้เงินเยอะขึ้น โดยสวัสดิการจะขึ้นอยู่กับรูปแบบงาน ว่าเป็นพนักงานประจำ ชั่วคราว หรือรายชั่วโมง แต่การจ่ายเงิน pension จะจ่ายตามเปอร์เซ็นต์งาน หากเกษียณก็จะได้เงินแค่ส่วนนั้น

บ้านอายุ 151 ปี
ที่สวิสบ้านจะมีอายุเก่าแก่ทั้งนั้น เพราะมีการสร้างที่ดีมาก บ้านที่คุณตาลอยู่มีอายุ 151 ปี เป็นบ้านไม้ โดยส่วนใหญ่บ้านที่สวิสจะมีห้องใต้ดินทุกบ้าน ไว้สำหรับเก็บของ ส่วนหลังบ้านของคุณตาล จะมีส่วนต่อเติมเรียกว่าเป็นห้องหลังบ้าน เหมือนตู้เย็น หน้าหนาวทำให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็งได้เลย 

ความพอใจกับชีวิต ณ วันนี้
คุณตาลเล่าว่าพึงพอใจกับชีวิต ณ วันนี้มาก อยู่ที่ในอนาคตเรามองเห็นตัวเองยังไง ในวันนั้นคุณตาลมองเห็นตัวเองยืนอยู่ตรงนี้ และนำพาตัวเองไป ไม่ได้รอว่า ฉันอยู่ตรงจุดนั้น แล้ววันนึงฉันจะได้ไปอยู่ เราอยากเป็นคนแบบไหน เราต้องพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้น ใกล้ ๆ กับคนแบบนั้น แล้วเราจะกลายเป็นคนแบบนั้นไปด้วย ทำดี คิดดี ไม่ว่าจะทำอะไรหากเรามีความมุ่งมั่นมากพอ เราทำได้หมด

ฟาร์มบนพื้นที่ 44 ไร่
ฟาร์มของสามีคุณตาลนั้นอยู่ห่างจากบ้าน 2 กิโล เป็นพื้นที่พิเศษที่ทางรัซซูริคขีดโซนแดงไว้ว่า ห้ามกระทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ฟาร์มมีต้นไม้ประมาณ 80 กว่าต้น บนเนื้อที่ 44 ไร่ มีแอปเปิ้ล ลูกแพร์ ลูกพลัม เชอรี่ ถั่ววอลนัท แบล็กเบอรี่ ราสเบอรี่ องุ่น มีแพะยี่สิบกว่าตัว มีผลผลิตที่เก็บทานได้ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีเวลาสบาย ๆ ถือว่าเป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบและน่าอิจฉาไม่น้อย

.

.

.

เทคนิคคาดการณ์ และประมาณการคะแนนต่ำสุดเพื่อเลือกคณะ ให้ตรงกับคะแนนตัวเอง ให้ติดรอบ กสพท Part.1

สังคมการศึกษาไทย ยังมีความคิดและค่านิยมเด็กเก่ง ต้องเรียนแพทย์ 

TCAS64 มี 3 รอบหลัก คัดแพทย์ เข้ามหาวิทยาลัย

TCAS 1 รอบ Portfolio 

TCAS 2 รอบ Quota

TCAS 3 รอบ สอบยื่น กสพท

 

TCAS 3 กสพท 2564 เงื่อนไข ข้อกำหนดเบื้องต้น สรุปดังนี้

1.) คะแนนโอเน็ต รวม 5 วิชา ต้องเกิน 60% หรือรวมกันได้ขั้นต่ำ 300 / 500 คะแนน

2.) คะแนนจริง คิด 100% จาก 2 ส่วน

 (2.1) วิชาเฉพาะแพทย์ ความถนัดแพทย์ 30%
   (2.1.1) คณิตศาสตร์และเชาว์ปัญญา 10%
   (2.1.2) จริยมธรรมทางการแพทย์ 10%
   (2.1.3) เชื่อมโยงและการจับใจความ 10%

 (2.2) วิชาสามัญ 7 วิชา 70%
   (2.2.1) คณิตศาสตร์ 14%
   (2.2.2) วิทยาศาสตร์ 28%

       (1.)ฟิสิกส์
       (2.)เคมี
       (3.)ชีววิทยา

   (2.2.3) ภาษาอังกฤษ 14%
   (2.2.4) ภาษาไทย 7%
   (2.2.5) สังคมศึกษา 7%

รวม 100%

*หมายเหตุ แต่ละวิชาต้องมีคะแนนเกิน หรือเท่ากับ 30% จึงจะมีสิทธ์ยื่นคะแนน กสพท

 

TCAS 3 รอบ กสพท ปี 2564 มีกว่า 20 มหาวิทยาลัยเข้าร่วม 55 คณะ 

มี 4 คณะหลักดังนี้

1.) แพทยศาสตร์ 22 คณะ
2.) ทันตแพทยศาสตร์ 9 คณะ
3.) สัตวแพทยศาสตร์ 11 คณะ
4.) เภสัชศาสตร์ 13 คณะ

 

หลักการตัดสินใจในการเลือก 
1.) ความสนใจส่วนตัว
2.) คะแนนที่ทำได้ เป็นตัวจัดอันดับที่จะได้เข้าเรียน

ก่อนตัดสินใจเลือกเรียน มาทำความรู้จักทุกคณะ กสพท ในปี 2564 กัน (ทุกปีมีเปลี่ยนแปลง)

1.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
www.md.kku.ac.th

2.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
admission.md.chula.ac.th

3.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - กรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ
admission.md.chula.ac.th

4.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
www.med.cmu.ac.th

5.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.med.tu.ac.th

6.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
www.meded.nu.ac.th

7.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
med.mahidol.ac.th

8.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล-วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
med.mahidol.ac.th

9.) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
www.si.mahidol.ac.th

10.) วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (โรงพยาบาลราชวิถี) (สถาบันเอกชน)
www.rsu.ac.th/medicine

11.) วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (โรงพยาบาลเลิดสิน) (สถาบันเอกชน)
www.rsu.ac.th/medicine

12.) วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี) (สถาบันเอกชน)
www.rsu.ac.th/medicine

13.) คณะแพทยสาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วีโรฒ
www.med.swu.ac.th

14.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
www.medaf.psu.ac.th

15.) คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
www.vajira.ac.th

16.) คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช-โรงพยาบาลตากสิน สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร
www.vajira.ac.th

17.) วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า **เพศชาย
www.pcm.ac.th

18.) วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า **เพศหญิง
www.pcm.ac.th

19.) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
http://sutgateway.sut.ac.th/admissions/

20.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
www.med.buu.acc.th

21.) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
www.admission.mfu.ac.th

22.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (สถาบันเอกชน)
www.siam.edu

23.) คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
www.dent.chula.ac.th

24.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
www.dt.mahidol.ac.th

25.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
www.dent.cmu.ac.th

26.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
www.dent.psu.ac.th

27.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
http://dent.swu.ac.th

28.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
www.dentistry.kku.ac.th

29.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.dentistry.tu.ac.th

30.) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
www.dent.nu.ac.th

31.) สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
http://sutgateway.sut.ac.th/admissions/

32.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย
www.vet.chula.ac.th

33.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
www.vet.ku.ac.th

34.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
www.vet.kku.ac.th

35.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
www.vet.cmu.ac.th

36.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (สถาบันเอกชน)
www.vs.mahidol.ac.th

37.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
www.vs.mahidol.ac.th

38.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (สถาบันเอกชน)
www.vet.mut.ac.th

39.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
www.vet.msu.ac.th

40.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
www.vet.rmutto.ac.th

41.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
www.vet.rmutsv.ac.th

42.) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
www.vet.psu.ac.th

43.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.pharm.chula.ac.th

44.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ)
www.pharm.chula.ac.th

45.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
www.pharmacy.mahidol.ac.th

46.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
www.pharmacy.cmu.ac.th

47.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวีโรฒ(สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.pharmacy.swu.ac.th

48.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ)
www.pharmacy.swu.ac.th

49.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.pharm.tu.ac.th

50.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.pharmacy.msu.ac.th

51.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
www.pharm.buu.ac.th

52.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (สถาบันเอกชน) (สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.pharmacy.siam.edu

53.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉี่ยวเฉลิมพระเกียรติ (สถาบันเอกชน)
www.hcu.ac.th/faculty-of-pharmacy

54.) คณะเกสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ (สถาบันเอกชน) (สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.pharmacy.payap.ac.th

55.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม)
www.phar.ubu.ac.th

เทคนิคคาดการณ์ และประมาณการคะแนนต่ำสุดเพื่อเลือกคณะ ให้ตรงกับคะแนนตัวเอง ให้ติดรอบ กสพท ตอนหน้า จะกำหนดคะแนนต่ำสุดทั้ง 55 คณะกัน เพื่อไม่ให้พลาดการตัดสินใจ


เขียน และรวบรวมข้อมูลโดย AodDekTai คุณพ่อผู้สนใจการศึกษาไทยและต่างประเทศ
 

คุณชัช สิรวิชญ์ ทีวะกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.9

บทสัมภาษณ์ คุณชัช สิรวิชญ์ ทีวะกุล ปริญญาโท European Public Law Organization, กรีซ 
กำลังศึกษาปริญญาเอก Université Toulouse Capitale, ฝรั่งเศส ปรับจิตใจให้แข็งแกร่ง จากความกดดันในประเทศที่ล็อกดาวน์กับการเรียนที่หนักหน่วง

คุณชัช จบการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน นิติศาสตรบัณฑิต และนิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) มธ., เนติบัณฑิตไทย I.I.LLM. (กฎหมายมหาชนยุโรป) ที่ EPLO กรีซ ปัจจุบันทำงานที่ศาลปกครองสูงสุด ตำแหน่งพนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ อยู่ในระหว่างการลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ Université Toulouse Capitale, ฝรั่งเศส ซึ่งขณะนี้คุณชัชอยู่ฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 7-8 เดือน ท่ามกลางสถานการณ์การล็อกดาวน์รอบที่ 3 

หลักสูตรที่คุณชัชกำลังศึกษาอยู่ เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนในระดับปริญญาเอก คือ หลักสูตรที่เรียกว่า DUEF เป็นหลักสูตรการศึกษาภาษาฝรั่งเศส ที่ได้ประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาตรี  เพราะในการวัดระดับภาษาจะมีการแบ่งความเชี่ยวชาญเป็นระดับ การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยชั้นสูง ปริญญาโท-เอก ระดับภาษาฝรั่งเศสขั้นต่ำที่ต้องได้คือ ระดับ B2 

คุณชัชเล่าว่า เป้าหมายหลักของนักเรียนที่เรียนภาษาที่ 3 คือทำยังไงก็ได้ให้สอบผ่านระดับ B2 อย่างของฝรั่งเศสจะเป็นการสอบ DELF-DALF  แล้วแต่ว่าจะใช้แบบไหน หลักสูตร DUEF ที่คุณชัชเรียนอยู่เป็นประกาศนียบัตรที่สามารถใช้เทียบเท่าได้เหมือนกับการสอบ Delf แต่มีรายละเอียดที่ยากกว่า เนื่องจาก การสอบ Delf คือสอบฟัง พูด อ่าน เขียน แต่การสอบ DUEF สอบฟัง พูด อ่าน เขียนเหมือนกัน แต่โครงสร้างหลักสูตรจะมีรูปแบบคือ เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งครึ่งเช้า ครึ่งบ่าย ครึ่งเช้าจะเป็นคอร์สภาษา แกรมม่า ฟัง พูด อ่าน เขียน โต้ตอบกับอาจารย์เจ้าของภาษา 

ส่วนวิชาภาคบ่าย เป็นวิชาเลือก 4 วิชา บังคับเลือก 1 คือ วิชาเสริมเพิ่มพูนคำศัพท์ ส่วนอีก 3 วิชาจะเลือกอะไรก็ได้ เช่น วิชาวรรณกรรมฝรั่งเศสเบื้องต้น วิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาการเมืองการปกครอง วิชาวัฒนธรรม โดยเรียนเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด 

ความยากก็คือหลักสูตรนี้ถูกคิดมาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่จบชั้นมัธยมและกำลังจะไปรียนต่อในระดับปริญญาตรีของฝรั่งเศส มีการเรียนรวมกับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งเด็กที่จบปริญญาตรีจากประเทศอื่นแล้วจะมาเข้าเรียนโทที่ฝรั่งเศส หรือมาเรียนต่อปริญญาเอก หรือผู้ที่ใช้ชีวิตมีครอบครัวอยู่ที่นี่ การมาเรียนที่นี่ได้ประโยชน์คือทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนที่เข้มข้น เรียนรู้วิธีคิด รวมถึงวิชาพื้นฐานของประเทศฝรั่งเศสด้วย ข้อเสียเดียวคือเรียนหนัก    

การเรียนในประเทศฝรั่งเศสนั้น คุณชัชเล่าว่า มีความเป็นแบบแผน การที่จะเขียนงาน นำเสนองาน จะมีการวางแพลนเป็นรากฐานการแสดงความคิดเห็นทุกอย่าง มีการวางโครงสร้างว่าจะพูดเรื่องอะไร ปัญหาที่จะพูดคือเรื่องอะไร ข้อโต้แย้ง การให้เหตุผลสนับสนุน โดยสิ่งนี้จะแทรกซึมอยู่ในทุกเรื่องของการเรียนระดับสูงที่ฝรั่งเศส ตั้งแต่การพูดและการเขียนตอบข้อสอบ เพราะเป็นเรื่องที่เด็กฝรั่งเศสได้ฝึกมาตั้งแต่ระดับประถมและมัธยม

การเรียนปริญญาโทที่กรีซ 
คุณชัชได้ไปเรียนปริญญาโทที่ European Public Law Organization ประเทศกรีซ ในหลักสูตร Academy of European Public Law เน้นศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายมหาชนยุโรป ลักษณะการเรียนเป็นความรู้ที่บูรณาการสองเรื่อง หัวใจหลักคือ ศึกษาพลวัตของกฎหมายในยุโรปว่าแนวคิดของแต่ละประเทศส่งผ่านไปอีกประเทศนึงได้อย่างไร และแนวคิดของกฎหมายกลางที่เป็น Community Law อย่างสหภาพยุโรป ส่งผลยังไงต่อกฎหมายปกครอง กฎหมายมหาชนภายในประเทศต่าง ๆ โดยเนื้อหาเป็นเรื่องที่คุณชัชสนใจอยากจะศึกษาต่ออยู่แล้ว 

ลักษณะการไปที่กรีซเหมือนกับการไปเอาความรู้เพิ่มกับอาจารย์และไปพรีเซนต์ เพราะ 1 เดือนก่อนจะบินได้ให้เตรียมตัวอ่านทุกอย่างที่มอบหมายมา ไปถึงวันแรกก็ทำการดีเบตเลย

การบริหารจัดการเวลา
การจัดการเวลาสำหรับคุณชัชมีความยากสองอย่าง คือ เรื่องการเตรียมตัวและบินไปเรียน ในปีแรกลักษณะการเตรียมตัวจะแตกต่างกัน รู้อยู่แล้วว่ามีช่วงเวลาที่ต้องลาไปศึกษาต่อ ได้มีการทำเรื่องลาหน่วยงานเจ้าของสังกัด ซึ่งคุณชัชได้รับความกรุณาจากสำนักงานศาลปกครองเป็นอย่างดี ช่วงก่อนการเตรียมตัวหนึ่งเดือน เตรียมสอบ เตรียมเขียนงาน การแบ่งเวลาไม่สามารถเอาเวลาราชการมาทำเรื่องพวกนี้ได้เลย เพราะเป็นเวลางาน จึงต้องรู้เทคนิคตัวเองว่าใช้เวลาเขียนงานนานไหม เตรียมตัวนานหรือไม่ บริหารจัดการเวลาให้ดี รู้จักตัวเองก่อน ว่าเรามีข้อจำกัดอะไร อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ จะช่วยให้เราคิดกลยุทธ์ในการรับมือได้ดีขึ้น แต่ในปีที่สองมีความลำบากเพราะต้องเรียนผ่าน Zoom เวลา Time Zone ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องเรียนช่วงดึกและตื่นไปทำงานเช้า 

แรงผลักดันที่ทำให้ใฝ่รู้
คุณชัชเล่าว่า ความรู้ที่ได้จากการทำงาน เป็นความรู้ที่ไม่เหมือนกับการเรียน แต่ทั้งสองอย่างสอดคล้องกัน หมายความว่า เวลาทำงานไปสักพักเราจะรู้ว่ามีเรื่องที่เราอยากจะรู้มากขึ้น ในขณะที่การเรียนไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มรู้สึกว่า เรื่องที่เราเรียนจะนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงอย่างไร การบาลานซ์สองอย่างคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

Professor ท่านหนึ่งกล่าวว่า นักกฎหมายในศตวรรษใหม่ที่ต้องการ ควรเป็นรูปแบบ T-Shape หมายถึง มีความรู้กว้าง และรู้ลึกในด้านใดด้านหนึ่ง 

ความแตกต่างในการเรียนต่างประเทศเทียบกับในไทย
ในเรื่องของระบบการศึกษานั้น คุณชัชเล่าว่า หากเราเริ่มจากศูนย์โดยที่ไม่รู้อะไรเลย การได้รับข้อมูลหรือการได้รับการปูพื้นฐานที่ถูกต้องก็มีความจำเป็น เพราะฉะนั้น Lecture-based ยังมีความจำเป็นอยู่ในทุกประเทศ เพียงแต่สิ่งที่ต่างคือการผสมกันระหว่างหลักสูตรที่เป็น Lecture-based  กับการแลกเปลี่ยน ตั้งคำถามระหว่างอาจารย์ ถ้าเราไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนก็ไม่สามารถไปดีเบตอะไรกับอาจารย์ได้ ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ได้จากหลากหลายวิธี มีข้อมูลชุดใหม่ ๆ Lecture-based อาจต้องปรับตัวมากขึ้น การเพิ่มความมีส่วนร่วมระหว่างนักศึกษากับอาจารย์เป็นสิ่งสำคัญ และการให้ความสนใจกับนักศึกษาเป็นรายบุคคลว่าเขามีความสนใจเรื่องอะไรก็สำคัญเช่นกัน

ประเทศกรีซ    
คุณชัชเล่าว่า เมืองเอเธนส์, กรีซ เป็นประเทศที่เหมาะกับการไปเรียนและสัมมนา เป็นสถานที่ที่คุณชัชชอบ อาหารอร่อย แดดแรงทุกวัน คนอาจจะรู้สึกว่ากรีซเป็นประเทศที่ไม้ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ความจริงแล้วกรีซเป็นประเทศท่องเที่ยว ผู้คนพูดภาษาอังกฤษได้ คุณชัชไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิตที่กรีซแม้แต่นิดเดียว

การใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส ณ ปัจจุบัน
เพราะการไปเรียนต่างประเทศต้องเคยมีประสบการณ์ที่จำไม่ลืม คุณชัชเล่าว่า โควิดทำให้ทุกอย่างยากขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนมา เรื่องของความแพนิคในใจ แต่เมื่อมาถึง ความรอบคอบจะช่วยให้คุณมีชีวิตประจำวันที่ง่ายขึ้น ดีขึ้น นอกจากนี้คือการบริหารจัดการ

การเรียนปริญญาเอกต้องใช้เวลากว่า 3 ปีครึ่ง – 4 ปี หรือยาวนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ต้องบริหารจัดการตัวเองให้ดี เป้าหมายของคุณชัช ณ วันนี้คือ อยากทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสัญญาทางปกครอง หลังเรียนจบปริญญาเอกจะนำความรู้ที่ได้พร้อมความรู้จากการทำวิจัยกลับมาใช้กับงานแน่นอน

สุดท้ายสิ่งที่คุณชัชอยากแนะนำน้อง ๆ ที่สนใจศึกษาต่อต่างประเทศ คือ อย่ากลัว ศักยภาพของทุกคนมีอยู่แล้ว ทุกคนสามารถเปล่งประกายในทางที่ตัวเองชอบได้ เพราะฉะนั้น อย่ากลัวที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกไปนอกพรมแดนเพื่อสำรวจสิ่งที่ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน เพราะการไปเรียนเมืองนอกคือการออกจาก Comfort Zone มีการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ตัวเองไม่เคยทำเยอะมาก และบางทีเกิดความกลัวว่าเราจะทำได้ไหม เราจะล้มเหลวหรือเปล่า ความผิดหวัง ความผิดพลาด เป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่ทำให้เราแตกต่าง คือ การลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนอื่นด้วย 

เพราะฉะนั้น คนที่คิดว่าอยากไปเรียนต่อเพื่อหาโอกาสที่ดี สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ถามตัวเองว่า พร้อมไหมที่จะออกมาจาก Comfort Zone เพราะการทำอะไรก็ตาม ต้องใช้ความพยายามและความพากเพียร อย่ากลัวที่จะไปถึงตรงนั้น ข้างนอกมีตัวช่วย และโอกาสมากมายที่จะหยิบยื่นมาให้ 

 


.

.

.

การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประจำปี 2564 ร่วมโหวตผลงานโดนใจ "เตียงลอยน้ำจากขวดพลาสติกเพื่อผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ประสบอุทกภัย"

เตียงลอยน้ำจากขวดพลาสติก เพื่อผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ประสบอุทกภัย Floating bed made of plastic bottles for bed-bound patient in the flood area.

เตียงลอยน้ำจากขวดพลาสติกเพื่อผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ประสบอุทกภัย

แนวคิด นำขวดพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ใส่แนวคิดเชิงออกแบบ เป็นนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่อุทกภัย

ลักษณะเฉพาะ ทำยูนิตทุ่นลอยน้ำจากขวดและตะกร้าพลาสติก รับน้ำหนักได้ตามหลักแรงลอยตัวทางฟิสิกส์

กระบวนการ นำขวดพลาสติกปิดฝาจัดวางจนเต็มตะกร้า ยึดปิดด้วยสายรัดพลาสติก จัดวางและยึดแต่ละยูนิตต่อกันตามต้องการ

ทดลองใช้และมอบสู่ชุมชน สามารถใช้งานได้จริงและปลอดภัย มอบให้ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนปากนคร 5 ครอบครัว เตียงขนาด 3.5 ฟุต รับน้ำหนักได้ 288 กก.

การต่อยอดเชิงพาณิชย์ ทำเตียงลอยน้ำ 2 ชั้น สำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล โดยเตียงเสริมทำจากโครงตะแกรงเหล็ก ติดตั้งล้อเลื่อน และมีจุดเชื่อมยึดกับเตียงหลักเข้าด้วยกันเมื่ออุทกภัย ทำให้ผู้ดูแลสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและของใช้จำเป็น ได้อย่างทันท่วงที (จดอนุสิทธิบัตร 5 มี.ค. 64)

ประโยชน์จากโครงการ

- ลดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม เตียง 3.5 ฟุต ลดปริมาณขวดน้ำ (600 cc) 480 ขวด ตะกร้า 40 ใบ

- ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่องค์กรและชุมชน ได้แก่ อบจ. วพบ. อสม. ปากนคร และชุมชนเกาะทวด นครศรีธรรมราช

ผู้จัดทำ

1.) นายพชร อัศวผดุงสิทธิ์ นางสาวพิชามญชุ์ อัศวผดุงสิทธิ์

2.) แพทย์หญิงเจริญตา อัศวผดุงสิทธิ์ นายแพทย์สุรเจตน์ อัศวผดุงสิทธิ์

 

ร่วมโหวตได้ ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 พ.ค. 64

https://kmutnb-inno.top/invention/11/atifact/70?back=%2Fvote

คุณก้อย ดร. วรวสา ชัยวรกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.10

บทสัมภาษณ์ คุณก้อย ดร. วรวสา ชัยวรกุล นักวิจัย Post-Doctoral Associate, University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา กับเรื่องราว ชีวิตนักวิจัยที่สหรัฐอเมริกา ที่ให้อะไรมากกว่าการเรียน

คุณก้อยจบปริญญาตรีเกี่ยวกับ Biology ชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยบูรพา หลังจากนั้นรู้สึกว่าตัวเองชอบในเรื่องของ Human Anatomy จึงสมัครสอบเรียนปริญญาโทที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช จนได้เรียนสมใจ เมื่อเรียนค้นพบว่าตัวเองชอบในเรื่องระบบประสาทของตัวคน อยากจะรู้เพิ่มมากขึ้น จึงมาเรียนต่อปริญญาเอก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านชีวเวชศาสตร์ จากนั้นคุณก้อยได้ไปเป็นนักวิจัย Post-Doctoral Associate อยู่ที่สหรัฐอเมริกา 

จุดเริ่มต้น Post-Doctoral Associate, University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา
เนื่องจากปี 2008 มีไข้หวัดนกระบาดเป็นครั้งแรก ซึ่งมีข่าวว่าคนสามารถติดเชื้อได้ และไข้หวัดนกตัวนี้สามารถติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ประสาทสมองและทำให้คนตาย คุณก้อยได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการหาตัวรับของเซลล์ดังกล่าว มีการทำในส่วนของ Animal Science ต้องใช้ตัวไข่ฟัก เพื่อเป็นตัวโมเดลในการเพิ่มจำนวนของไวรัส การไปทำ Postdoc ที่ University of Minnesota ของคุณก้อย จึงอยู่ในส่วนของ Animal Science 

คุณก้อยเล่าว่า เหมือนกับเป็นโชค เพราะเป็นช่วงที่เรียนจบ และมีโอกาสเข้ามาพอดี สิ่งที่สำคัญก็คือ ทุกคนมีโอกาสเข้ามาทั้งนั้น แต่อยู่ที่ว่าเราพร้อมแค่ไหน เตรียมตัวพร้อมไหมที่จะรับโอกาสตรงนั้น ณ ตอนนั้นคือคุณก้อยพร้อม จึงมีโอกาสเข้าไปทำงานวิจัย

วิถีชีวิตของนักวิจัย
ชีวิตนักวิจัยของคุณก้อย คือ ต้องอยู่กับตำราและแล็บ เรียกได้ว่าเป็นความหลงใหล จากตอนเด็ก ๆ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เดินทางมาในสายวิทยาศาสตร์เรื่อย ๆ ยิ่งเรียนสูงขึ้น ลึกขึ้น ทำให้ต้องมีการอ่านงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อหาหัวข้อมาทำงานวิจัย ยิ่งได้อ่านเปเปอร์ก็ยิ่งรู้สึกอเมซิ่ง อยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง เจอจุดที่น่าสนใจ และชอบที่จะทำตรงนี้ 

Postdoc คือ
Postdoc เรียกได้สองชื่อ คือ Post-Doctoral Associate และ Postdoctoral Fellow โดย Postdoctoral Fellow เหมือนคนที่ได้ทุนและมาทำวิจัย เป็นทุนของ Professor ที่มีโปรเจคแล้วอยากได้คนมาทำวิจัย โดยต้องรับนักศึกษาที่จบปริญญาเอกแล้ว ในขณะที่ Postdoc มีความหมายว่า นักวิจัยหลังปริญญาเอก ซึ่งคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นการเรียน แต่ความจริงคือเรียนจบแล้ว เรียกว่าเป็นการทำงาน เพราะได้เงินเดือนจากมหาวิทยาลัย แต่ Postdoc จะทำอยู่ได้แค่สามปี จากนั้นต้องเลื่อนเป็น Research Associate

ชีวิต Postdoc ที่ University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา
เพราะเป็นคนปรับตัวได้ง่าย คุณก้อยจึงไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ก่อนหน้านี้มีความรู้สึกอยากไปทำงานที่ต่างประเทศอยู่แล้ว มี Passion ตั้งแต่ปริญญาตรี เพราะมีญาติอยู่ที่อเมริกา ซึมซับความรู้สึกเวลาที่ญาติกลับมาพร้อมของฝากจากต่างประเทศ รู้สึกถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความคิดอยากไปทำงานที่อเมริกา เพื่อจะได้มีเงินมาเลี้ยงพ่อแม่ 

ช่วงเวลาสามเดือนขณะที่เรียนปริญญาเอก ก่อนไปทำ Postdoc มีโอกาสไปรัฐเพนซิลเวเนีย ไปเป็นคู่กับรุ่นพี่คนหนึ่งที่ต้องไปแลกเปลี่ยนที่แล็บ ครั้งนั้นเหมือนการเตรียมตัวก่อนไปทำจริง สำรวจตัวเองว่าสามารถอยู่ในแล็บต่างประเทศได้ไหม การใช้ชีวิตเป็นยังไง จนรู้สึกว่าตัวเองชอบมาก ๆ 

คุณก้อยไปอยู่อเมริกาทั้งสิ้น 4 ปี โดยเป็น Postdoc 3 ปีและเป็น Research Associate 1 ปี จากนั้นได้กลับมาเมืองไทย วิถีนักวิจัยในต่างประเทศสำหรับคุณก้อย เรียกได้ว่าเกินความคาดหวัง เพราะแตกต่างจากสังคมในเมืองไทย รู้สึกชอบสังคมที่นั่นมากกว่า เพราะให้อิสระทางความคิด ทางการพูด ให้กียรติกัน ไม่ว่าจะจากเพื่อนนักวิจัยด้วยกัน หรือตัว Professor เอง 

ความแตกต่างในการพัฒนางานวิจัยระหว่างไทยและต่างประเทศ
คุณก้อยมองว่าการพัฒนางานวิจัยขึ้นอยู่กับแล็บและอาจารย์ ในประเทศไทยเรามีอาจารย์เก่ง ๆ หลายท่าน การได้อยู่กับอาจารย์ที่เปิดกว้าง ทำงานวิจัยขึ้นห้าง ไม่ใช่การขึ้นหิ้ง กล่าวคือ งานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้จริง เหมือนกับแนวทางการทำวิจัยที่ต่างประเทศ คือสิ่งที่ดีและมีประโยชน์มากกว่า

ทิ้งท้ายสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักวิจัย
คุณก้อยกล่าวว่า Passion ของนักวิจัย ต้องมีความรู้สึกอยากค้นคว้า อยากหาความจริง อยากหาสิ่งใหม่ ๆ มีพื้นฐานรักการอ่าน เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น ในสมัยก่อนนักเรียนจะโดนกดไว้ว่าห้ามตั้งคำถาม ห้ามอยากรู้อยากเห็น ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ทักษะที่ดีสำหรับการจะเป็นนักวิจัยในอนาคต แต่โชคดีที่คุณก้อยมีการสร้างทักษะตรงนี้ขึ้นมาตอนที่ไปเรียนต่างประเทศ

.

.

เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่น่าชื่นชม "ณัฐ ศักดาทร" หรือ ณัฐ AF4 เพราะนอกจากจะมีความสามารถทางด้านดนตรี การร้องเพลงแล้ว ณัฐยังเป็นดารานักร้องที่เรียนเก่งตั้งแต่เด็ก

"ณัฐ ศักดาทร" เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ก่อนไปศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ Peddie School ประเทศสหรัฐอเมริกา และเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากนั้นศึกษาด้านดนตรีต่อที่ Berklee College of Music อีก 1 เทอม

สมัยเรียนอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ชั้นประถม ณัฐเรียนได้ 4.00 ทุกเทอม ระดับมัธยมต้นก็เรียนได้เกรดเฉลี่ยถึง 3.97 และตอนที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยดังระดับโลกอย่าง ฮาร์วาร์ด ในคณะเศรษฐศาสตร์ ก็ได้เกรดเฉลี่ยสูงถึง 3.69 สามารถคว้ารางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 มาได้


ที่มา:

https://www.sanook.com/campus/1370710/

https://th.wikipedia.org/wiki/ณัฐ_ศักดาทร

Resilience Skill จะช่วยให้เรามองอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตมนุษย์ และมองว่าอุปสรรคเหล่านี้ จะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาตัวเอง ให้เข้มแข็งขึ้น

Resilience Skill หมายถึง ความสามารถในการฟื้นตัว เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูงและมีความยากลำบาก โดยที่ยังสามารถกลับมาเป็นคนที่มีความมั่นคงดังเดิม มีความมั่นใจ มองโลกในแง่ดี และสามารถกลับมาดำเนินชีวิตอย่างเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

Resilience สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และการทำงาน

ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า อนาคตจะเกิดและไม่เกิดอะไรขึ้นบ้าง การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และทักษะที่ทุกคนต้องมีเพื่อติดสปริงตัวเอง ในการดีดตัวออกมาจากหลุมพราง และสามารถฟื้นคืนชีพให้ได้เร็วที่สุด ทักษะหนึ่งเดียวที่คนทุก Generation ต้องมี คือ ทักษะ Resilience เป็น How to ที่มีความมีความยืดหยุ่นสูง สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวคุณ คนในครอบครัว อาชีพ และธุรกิจของคุณ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Resilience Skill จะช่วยให้เรามองอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตมนุษย์ และมองว่าอุปสรรคเหล่านี้ จะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาตัวเอง ให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเจอเรื่องราวที่ยากลำบากแค่ไหนก็ตาม

Resilience ทักษะที่สามารถสร้างได้ โดยอาศัยปัจจัย หลัก 6 ประการ ดังนี้

1.) การนับถือตัวเอง  ความเคารพตัวเอง รู้สึกถึงคุณค่าภายในตัวเอง ไม่ต้องรอพึ่งพาใคร หรือสิ่งใด เริ่มต้นที่ตัวเอง การควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองให้กลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด ก่อนแก้ไขปัญหานั่นเอง

2.) ความทะเยอทะยาน คนที่มี Resilience มีเป้าหมายชัดเจน และมุ่งความสนใจไปที่การลงมือทำ มากกว่าสิ่งอื่น เป็นนักต่อสู้ ล้มแล้วลุก มีความอดทนสูง รู้จักการรอคอยความสำเร็จ และสิ่งแวดล้อมภายนอกไม่มีผลต่อชีวิตของพวกเขา

3.) การเลือกคบคน คนที่เลือกเข้ามาในชีวิต คนที่ต้องใช้เวลาดีๆ ร่วมกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสุขและความสำเร็จ พวกเขาให้ความสำคัญมาก พวกเขาจะหลีกเลี่ยงคนประเภทบุคคลเป็นพิษ (Toxic Person) เช่น คนคิดลบ อีโก้ เย่อหยิ่ง และเห็นแก่ตัว พวกเขาจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการคบคน พวกเขาจะเข้าใจในการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว ว่าต้องมี 2 ทาง คือทั้งให้ และรับ กำหนดความสัมพันธ์ด้วยการ ชนะ ชนะ ไปด้วยกัน

4.) รู้จักการวางตัวให้เหมาะสม พวก Resilience จะฉลาดในการวางตัว มีผลงานและการกระทำเป็นที่ประจักษ์ เพื่ออธิบายความเป็นตัวตน หรือเรียกว่าเป็นคนอยู่เป็น พวกเขาจะรู้จักพูดให้เกียรติผู้อื่น พูดดี มีมารยาทเสมอ ในขณะเดียวกัน พวกเขายังคงความเป็นตัวเองอย่างชัดเจน เพราะพวกเขาเข้าใจว่าคนมีความมั่นใจในตัวเอง อย่างแท้จริง คือ การที่รู้และเข้าใจตัวเอง ว่าตัวเองกำลังทำอะไร เพื่ออะไร โดยไม่ต้องพยายามเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น

5.) รู้จักดูแลตัวเองและคนที่รักเป็นอย่างดี พวก Resilience จะฉลาดในการใช้ชีวิตมาก จะบริหารจัดการเวลาได้เก่ง สามารถสร้างสมดุลของชีวิต และการทำงานได้เป็นอย่างดี รู้เวลาว่าตื่นเช้ามาต้องทำทานอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ต้องออกกำลังกายแบบไหนให้เหมาะกับช่วงเวลา มีวิธีขจัดความเครียดออกไปได้อย่างง่ายดาย รวมถึงเอาใจใส่คนที่เขารักด้วย และที่สำคัญไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิต พวกเขายังคงลุกขึ้นมาทำหน้าที่และรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี

6.) ชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นอย่างจริงใจ พวกเขาไม่ตัดสินคนอื่น แต่จะมองเห็นข้อดี และฉลาดในการเรียนรู้จากจุดแข็งของคนอื่น พวกเขายินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นด้วยความซาบซึ้งเสมือนว่าเป็นความสำเร็จของตัวเอง พวกเขาไม่ชอบการแย่งชิง เพราะเขารู้ว่าตัวเขาเองก็มีดีมากพอ และในโลกใบนี้มีโอกาสและมีทรัพยากรมากพอที่เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จของเขา จึงทำให้เขาชื่นชมคนอื่นด้วยความจริงใจเสมอ

เป็นธรรมดาที่มนุษย์ มีความรู้สึกผิดหวัง เสียใจ ไม่พอใจ ท้อแท้ สิ้นหวัง และหมดกำลังใจไปบ้าง ซึ่งก็เป็นกลไกในการทำงานที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ก็อย่าให้ความคิดลบๆ เหล่านี้ดึงเราจมดิ่งอยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นนานเกินไป จงหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ก้าวเดินต่อไปทีละขั้นๆ ผิดตรงไหนแก้ตรงนั้น เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ทำให้ดีกว่าเดิม และทบทวนตัวเองอย่าให้พลาดซ้ำ เพราะทุกก้าวของชีวิต มีพลังงานชีวิตซ่อนเร้น คนที่มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตต่างรู้กฎเหล่านี้ดี

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล

https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce239/

https://www.mreport.co.th/experts/business-and-management/038-Mental-Resilience-Skill-Future-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B9%88

คุณหนึ่ง จีระศักดิ์ ป้อมสุวรรณ | THE STUDY TIMES STORY EP.11

บทสัมภาษณ์ คุณหนึ่ง จีระศักดิ์ ป้อมสุวรรณ Minister Counsellor อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ, ประเทศโปแลนด์ เส้นทางและชีวิตของนักการทูต ที่ต้องรอบรู้เรื่องราวข่าวสารรอบโลก

คุณหนึ่งเล่าว่า การจะเป็นนักการทูตได้ ต้องเป็นข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศก่อน การจะเข้ามาในกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจ ไม่จำเป็นต้องจบรัฐศาสตร์การทูตเท่านั้น ตัวคุณหนึ่งเองจบสายเศรษฐศาสตร์มา คนส่วนใหญ่ในกระทรวงเป็นสายสังคมวิทยา เพราะในทางการทูตต้องหาความหลากหลาย ต้องการองค์ความรู้จำนวนมาก 

หน้าที่ของนักการทูตคือส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในโลกนี้มีหลากหลายประเด็นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ หรือแต่ละประเทศมาร่วมมือกัน ผลประโยชน์ของชาติมีหลายมิติ จึงต้องการนักการทูตที่มีความรู้ในหลายมิติเช่นเดียวกัน 

ชีวิตนักการทูตนั้น การมาอยู่ต่างประเทศต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายมาก คุณหนึ่งเล่าว่า โดยปกติคนที่เข้ามาจะต้องใช้เวลาเรียนรู้งานที่เมืองไทยก่อนเฉลี่ยประมาณ 3-4 ปี เมื่อมาอยู่ต่างประเทศได้นำประสบการณ์ในเมืองไทยมาใช้ในการเป็นนักการทูต ขณะเดียวกันก็มาเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มเติมจากการประจำการในต่างประเทศ เมื่อครบวาระ 4 ปี จึงนำประสบการณ์กลับไปใช้ในเมืองไทย อยู่ประมาณสามปี ก็เดินทางไปอีกประเทศหนึ่ง ชีวิตนักการทูตจะกลับไปกลับมา ควรมีการวางแผนชีวิตที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัว

คุณหนึ่งเผยว่า การทำงานของนักการทูตรุ่นใหม่ในประเทศ ปัจจุบันผู้บริหารกระทรวงเห็นความสำคัญของการรู้งานที่หลากหลายมากขึ้น เพราะฉะนั้นทางกระทรวงจึงให้ข้าราชการรุ่นใหม่ เวียนงาน ไม่เฉพาะเวียนกรม แต่เวียนข้ามกลุ่มงานด้วย นอกจากนี้ยังมีงานด้านบริหาร งานด้านการคลัง งานบริหารบุคคล เป็นทักษะที่จำเป็นของนักการทูต

ด้านการทำงาน ในกรมจะแบ่งเป็นกองเพื่อดูแลงานต่าง ๆ ในแต่ละกองมีคนเฉลี่ย 8-10 คน ข้อด้อยคือเมื่อคนน้อย งานปริมาณเยอะ ข้อดีคือ นักการทูตแต่ละคน ไม่ว่าจะเด็กขนาดไหน มีโอกาสได้ดูงานในเชิงลึก หลากหลาย และมีความรับผิดชอบในส่วนงานของตัวเอง 

นักการทูตควรมีบุคลิกอย่างไรนั้น คุณหนึ่งให้คำนิยามไว้คำเดียวว่า ‘ครบเครื่อง’ เนื่องจากต้องเจอคนหลากหลายประเภท เพราะฉะนั้นความรู้ที่หลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ หากต้องการจะสื่อสาร มีบทสนทนากับผู้คน ก็จำเป็นต้องรู้ในเรื่องนั้น ๆ พอประมาณ ความรู้ที่หลากหลาย จึงเป็นสิ่งที่นักการทูตควรจะต้องมี

หากอยากเป็นนักการทูต ควรเติมองค์ความรู้ หรือพัฒนาตัวเองอย่างไร คุณหนึ่งแนะนำว่า หนังสือที่ดีที่สุดที่จะใช้ในการสอบ ในการอ่านและทำความเข้าใจ คือ หนังสือพิมพ์ เพราะเป็นความหลากหลาย เป็นความรู้รอบตัว อ่านหนังสือพิมพ์ในไทย จะรู้ว่าเมืองไทยเกิดอะไรขึ้น ขณะเดียวกันอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้โลกไปทิศทางไหนแล้ว ศึกษาประเด็นต่าง ๆ รอบโลก เรื่องที่คนให้ความสนใจ           

ชีวิตนักการทูตสำหรับตัวคุณหนึ่งเองนั้น ประเทศแรกที่ได้ไปประจำการ คือแอฟริกาใต้ กรุงวิคตอเรีย (Victoria) ยุคนั้นในแอฟริกามีสถานทูตอยู่ 4-5 แห่ง นอกจากประเทศที่ดูแลแล้ว ยังดูแลประเทศใกล้เคียงที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย ซึ่งนอกจากแอฟริกาใต้แล้วได้ดูแลอีก 10 ประเทศรอบ ๆ ของแอฟริกาตอนใต้ 

สำหรับคนที่เป็นนักการทูตตอนออกต่างประเทศครั้งแรก แน่นอนว่ายังหนุ่มยังสาว มีข้อจำกัดในชีวิตน้อย ยังมีพลังงานเยอะ การออกต่างประเทศครั้งแรกมักจะพูดกันว่าเป็นเหมือนกับ ‘รักแรกพบ’ ได้ไปประจำการที่ไหนมักจะมีความรัก ความประทับใจให้กับประเทศนั้น ๆ คุณหนึ่งไปแอฟริกาใต้ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน แอฟริกาเป็นทวีปที่มีสีสัน คนไทยไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ เป็น 4 ปีที่มีประสบการณ์ที่ดีมาก และในแอฟริกาใต้ พบว่ามีชุมชนคนไทยอยู่มากกว่าที่คิด จากนั้นกลับมาเมืองไทยได้ 2 ปีครึ่ง ก่อนเดินทางต่อไปยัง ซิดนีย์ ออสเตรเลีย

คุณหนึ่งเล่าประสบการณ์ในแอฟริกาใต้ ให้ฟังว่า กลุ่มคนผิวสีทั้งหมด จะแยกเป็นเผ่าเล็ก ๆ แต่ละเผ่าจะมีการเมืองระหว่างเผ่า  และมีประวัติของเผ่าที่ไม่เหมือนกัน เช่น เผ่าซูลู ในแอฟริกาใต้ ที่ถือว่าเป็นเผ่าของนักรบ รูปร่างกำยำ อีกเผ่า คือ เผ่าคอร์ซา เป็นเผ่าของคนมีการศึกษา กลุ่มผู้บริหาร ลักษณะของแต่ละเผ่าจะไม่เหมือนกันเลย อีกทั้งวัฒนธรรม การเต้นระบำ ภาษาก็ไม่เหมือนกัน

คุณหนึ่งให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ในหนึ่งประเทศมีสถานทูตได้เพียงแห่งเดียว แต่มีสถานกงสุลใหญ่ได้หลายที่ตามความจำเป็นและตามผลประโยชน์ เช่น ในสหัรัฐอเมริกามีหลายแห่ง ในออสเตรเลียมีสองแห่ง คือ แคนเบอร์รา และซิดนีย์

การทำงานเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ, ประเทศโปแลนด์ ในตอนนี้ คุณหนึ่งเล่าว่า ในสถานทูตมีสมาชิก 5 ท่าน คือ ท่านทูต คุณหนึ่ง เจ้าหน้าที่ 2 ท่าน และเจ้าหน้าที่ทางด้านการคลังอีก 1 ท่าน นอกจากนี้ยังมี เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่เป็นคนท้องถิ่นที่ถูกจ้างมา ในกรณีของโปแลนด์ ต้องการคนท้องถิ่นเพื่อมาติดต่อประสานกับงานท้องถิ่น เนื่องจากคนที่นี่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ จะใช้ภาษาโปลิชเป็นส่วนใหญ่ ตัวคุณหนึ่งเองมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนท่านทูตในการดูแลงาน กรองงานจากเจ้าหน้าที่ที่เสนอขึ้นมา ดูงานบริหาร การเงิน การบริหารภายในต่าง ๆ 

คุณหนึ่งกล่าวว่า หน้าที่ของสถานทูตไทยที่ไปอยู่ในแต่ละประเทศ มีหน้าที่เดียว คือ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยเรากับประเทศนั้นให้ดีขึ้น แต่หน้าที่เดียวนี้จะแตกแขนงออกไปตามกรอบบริบทของประเทศนั้น ๆ ยกตัวอย่างกรณีของโปแลนด์ ต้องมีการหาว่าความสัมพันธ์หรือความสำคัญของโปแลนด์ต่อไทยอยู่ตรงไหน จะทำให้โปแลนด์ตอบโจทย์ผลประโยชน์ของไทยได้อย่างไร 

โดยโปแลนด์เป็นประเทศที่มีประชากรประมาณ 38 ล้านคน แต่เป็นประเทศหนึ่งที่สามารถเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในยุโรปกลาง สิ่งหนึ่งที่โปแลนด์มีแต่เราคิดไม่ถึง คือ เขามีเทคโนโลยี มีกลุ่มสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Start-Up ที่มีความสามารถ มี ecosystem ที่เหมาะกับการเติบโตของ Start-Up โปแลนด์มีชายแดนติดกับเยอรมัน แต่ค่าแรงโปแลนด์ถูกกว่าเยอรมัน 3 เท่า โดยมากนักลงทุนในกลุ่มยุโรปตะวันตกจะมาสร้างโรงงาน ใช้ทรัพยากรบุคคลของโปแลนด์ เพื่อผลิตและส่งของไปขายในยุโรปตะวันตก ด้วยบริบทของโปแลนด์นี้เอง สถานทูตของไทยจึงมีบทบาทในการผลักดันผลประโยชน์ระหว่างไทยและโปแลนด์ในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม 

คุณหนึ่งทิ้งท้ายไว้ว่า อาชีพอะไรก็ตาม เราทำประโยชน์ให้ชาติได้ทั้งนั้น แต่ถ้าใครที่อยากทำประโยชน์ให้ประเทศชาติด้วยการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ไทยกับประเทศต่าง ๆ ได้มีบทบาทที่ดีต่อกันมากขึ้น มีความร่วมมือต่อกันมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ สนใจในการใฝ่รู้ เตรียมตัวให้สอดคล้องกับสิ่งกระทรวงต้องการ กระทรวงยังต้องการความคิดใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงและประเทศชาติ 


.

.

คุณตั๋น ธนันพัชญ์ รัตนโชติจิรสิน | THE STUDY TIMES STORY EP.12

บทสัมภาษณ์ คุณตั๋น ธนันพัชญ์ รัตนโชติจิรสิน ผู้จัดการด้าน Customer Services บริษัทไอที, ออสเตรเลีย

ปริญญาโทการตลาด Macquarie University, ซิดนีย์, ออสเตรเลีย

กล้าที่จะก้าวออกจาก Comfort Zone เข้าทำงานบริษัทไอทีประเทศออสเตรเลียมากกว่า 10 ปี

ปัจจุบันคุณตั๋นกลับมาทำงานที่เมืองไทยในบริษัทเดิม สายงานเดิมกับที่ทำในประเทศออสเตรเลีย คือ Operations Customer Service เป็นบริษัทเกี่ยวกับไอที

คุณตั๋นเติบโตและเรียนในโรงเรียนไทยมาโดยตลอด กระทั่งจบปริญญาตรี ศิลปศาสตร์ เอกภาษาฝรั่งเศส ม.ธรรมศาสตร์ จึงเลือกไปเรียนต่อออสเตรเลีย ซึ่งตอนแรกตั้งใจว่าจะไปเรียนแค่ภาษา แต่พบว่าออสเตรเลียมีสาขาที่น่าสนใจในการเรียนต่อ ในด้านเกี่ยวกับธุรกิจ จึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทใน Master of commerce in Business , Macquarie Uni, Sydney Australia เป็นระยะเวลา 2 ปี

คุณตั๋นเล่าว่า สิ่งที่ทำให้เบนเข็มเลือกเรียนต่อออสเตรเลีย จากตอนแรกที่ตั้งใจว่าจะไปเรียนต่อที่อเมริกานั้น เป็นเพราะสภาพสังคม เพื่อน และความเฟรนด์ลี่ของคนที่ออสเตรเลีย โชคดีที่เจอเพื่อนที่ดี พื้นฐานของคนออสเตรเลียเป็นคนใจดี รีแล็กซ์

การเป็นนักเรียน International Student ที่ออสเตรเลียนั้น คุณตั๋นเล่าว่า ต้องทำเกรดเฉลี่ยให้ได้ 3 ขึ้นไป จึงจะมีโอกาสได้ฝึกงาน โดยคนที่จะขอฝึกงานได้จะต้องมีสกิลด้านภาษาที่สามารถนำไปใช้งานในสายงานที่จะไปขอฝึกได้ เพราะเป็นการลงทำงานจริง ซึ่งการฝึกงานนี้เป็นการต่อยอดให้ไปเริ่มทำงานจริง

ในช่วงที่เรียนอยู่คุณตั๋นก็มีการทำงานเสริมควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะทำในเย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เพราะวันจันทร์ถึงพฤหัสจะให้เวลากับเรื่องเรียนเป็นหลัก โดยงานที่เริ่มทำช่วงแรกคือ ร้านอาหารไทย ทำทั้งเสิร์ฟ งานในครัว ล้างจาน หุงข้าว เรียกว่าทำมาหมดแล้ว ซึ่งตอนนั้นยังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง

หลังเรียนจบแล้วคุณตั๋นตัดสินใจทำงานอยู่ที่ออสเตรเลีย โดยคุณตั๋นเล่าว่า เป็นความโชคดีที่ในตอนนั้นมีวีซ่าสำหรับคนที่เรียนจบมา เพื่อยื่นขออยู่ทำงานต่อ 18 เดือน เมื่อได้วีซ่าดังกล่าว หลังฝึกงานจบแล้วคุณตั๋นมีความคิดว่าอยากได้ประสบการณ์ต่อ เริ่มชอบและมีความสุขกับการอยู่ออสเตรเลีย จึงทำงานต่อมา 18 เดือน กระทั่งสุดท้ายอยู่ที่ออสเตรเลียยาวนานถึง 17 ปี

เสน่ห์ของออสเตรเลียที่ทำให้คุณตั๋นติดใจมากจากหลาย ๆ องค์ประกอบรวมกัน ตั้งแต่สภาพภูมิประเทศ อากาศ ผู้คน วัฒนธรรม ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน บนพื้นฐานการเคารพซึ่งกันและกัน อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องของงาน เพราะยังเอ็นจอยกับงานที่ทำและได้พัฒนาสกิล ได้ลองอะไรใหม่ ๆ

การทำงานตำแหน่งแรกหลังฝึกงานจบ คุณตั๋นทำในบริษัทไอที เกี่ยวข้องกับที่ทำในปัจจุบัน เพราะในตอนนั้นบริษัทกำลังหาคนที่เป็น Thai support สามารถพูดได้สองภาษา เพราะต้องดูแลลูกค้าไทย จึงไปสมัคร เมื่อทำงานได้ 7-8 เดือน บริษัทมาแจ้งว่าจะยุบศูนย์ที่ซิดนีย์ โดยจะย้ายศูนย์ไปอยู่ที่ประเทศจีน จากนั้นมาได้งานที่สอง ก็ยังอยู่ในสายงานเดิม เป็นบริษัทที่เคยซัพพอร์ตสมัยอยู่บริษัทที่หนึ่ง ซึ่งยังอยู่ในวีซ่า 18 เดือน ทำมาอย่างเต็มที่ได้หนึ่งปีตัดสินใจเดินไปบอกหัวหน้าว่า อีกไม่กี่เดือนวีซ่าจะหมด แต่อยากอยู่ต่อ แฮปปี้กับออสเตรเลีย มีวิธีไหนที่บริษัทจะช่วยสนับสนุน บริษัทจึงได้ทำ Work Permit ให้

หลังจากกลับมาทำงานที่ไทยแล้ว คุณตั๋นเปรียบเทีบความแตกต่างของการทำงานไว้ว่า มีความต่างในเรื่องของการการจัดการเวลา ที่ออสเตรเลียจะพูดเสมอว่าต้องมี work-life balance คนที่นั่นจะมาก่อนเวลา และเมื่อถึงเวลาก็จะเริ่มทำงานทันที ทุกคนรู้หน้าที่ตัวเอง การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการทำงานกับต่างชาติ อีกเรื่องที่สำคัญมากคือเรื่องเวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ถ้าไม่จำเป็นห้ามโทรหา เพราะจะถือว่าไม่เคารพ และมีการแยกส่วนแพลตฟอร์มการติดต่อเรื่องงานและส่วนตัวไว้ชัดเจน

ในสังคมออสเตรเลียต่อ LGBT คุณตั๋นเล่าว่า ที่รู้สึกคือสังคมที่นั่นไม่ได้มองคนที่เพศสภาพ แต่มองว่าบุคคลคนนั้นคือบุคคลคนนั้น มีความสามารถด้านไหน มีปฏิสัมพันธ์กันในฐานะอะไร อีกทั้งออสเตรเลียเป็นประเทศที่ผู้หญิงผู้ชายชายค่อนข้างเท่าเทียมกัน

วัฒนธรรมการทำงานร่วมกับคนต่างชาติ สิ่งที่ไม่ควรทำ คุณตั๋นแนะนำว่า เป็นเรื่องของ equality ในที่ทำงาน เราจะไม่พูดถึงเรื่องเพศ อายุ สถานะ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมากในการทำงาน

สุดท้ายคุณตั๋นฝากเป็นกำลังใจสำหรับคนที่อยากไปเรียนต่อหรือไปทำงานต่อที่ต่างประเทศ ไว้ว่า หนึ่งในสิ่งที่คุณตั๋นสังเกตและเห็นจากเพื่อนรอบตัว คือ เพื่อน ๆ คนไทยชอบดูถูกตัวเอง ชอบคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ไม่เก่งภาษาอังกฤษ เลิกดูถูกตัวเอง มองก่อนว่าตัวเองมีความสามารถอะไร เราทำอะไรได้ดี กล้าที่จะลองผิดลองถูก ส่วนใหญ่คนไทยชอบอยู่ใน Comfort Zone ของตัวเอง ทำงานในที่ที่คิดว่าตัวเองถนัดและปลอดภัย ไม่ได้พัฒนาตัวเอง ทั้งหมดมาจากความกลัว อยากจะบอกทุกคนว่า ออกจาก Comfort Zone บางทีการเครียดบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่มันทำให้เราพัฒนาตัวเอง

.

.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top