คุณชัช สิรวิชญ์ ทีวะกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.9

บทสัมภาษณ์ คุณชัช สิรวิชญ์ ทีวะกุล ปริญญาโท European Public Law Organization, กรีซ 
กำลังศึกษาปริญญาเอก Université Toulouse Capitale, ฝรั่งเศส ปรับจิตใจให้แข็งแกร่ง จากความกดดันในประเทศที่ล็อกดาวน์กับการเรียนที่หนักหน่วง

คุณชัช จบการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน นิติศาสตรบัณฑิต และนิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) มธ., เนติบัณฑิตไทย I.I.LLM. (กฎหมายมหาชนยุโรป) ที่ EPLO กรีซ ปัจจุบันทำงานที่ศาลปกครองสูงสุด ตำแหน่งพนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ อยู่ในระหว่างการลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ Université Toulouse Capitale, ฝรั่งเศส ซึ่งขณะนี้คุณชัชอยู่ฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 7-8 เดือน ท่ามกลางสถานการณ์การล็อกดาวน์รอบที่ 3 

หลักสูตรที่คุณชัชกำลังศึกษาอยู่ เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนในระดับปริญญาเอก คือ หลักสูตรที่เรียกว่า DUEF เป็นหลักสูตรการศึกษาภาษาฝรั่งเศส ที่ได้ประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาตรี  เพราะในการวัดระดับภาษาจะมีการแบ่งความเชี่ยวชาญเป็นระดับ การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยชั้นสูง ปริญญาโท-เอก ระดับภาษาฝรั่งเศสขั้นต่ำที่ต้องได้คือ ระดับ B2 

คุณชัชเล่าว่า เป้าหมายหลักของนักเรียนที่เรียนภาษาที่ 3 คือทำยังไงก็ได้ให้สอบผ่านระดับ B2 อย่างของฝรั่งเศสจะเป็นการสอบ DELF-DALF  แล้วแต่ว่าจะใช้แบบไหน หลักสูตร DUEF ที่คุณชัชเรียนอยู่เป็นประกาศนียบัตรที่สามารถใช้เทียบเท่าได้เหมือนกับการสอบ Delf แต่มีรายละเอียดที่ยากกว่า เนื่องจาก การสอบ Delf คือสอบฟัง พูด อ่าน เขียน แต่การสอบ DUEF สอบฟัง พูด อ่าน เขียนเหมือนกัน แต่โครงสร้างหลักสูตรจะมีรูปแบบคือ เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งครึ่งเช้า ครึ่งบ่าย ครึ่งเช้าจะเป็นคอร์สภาษา แกรมม่า ฟัง พูด อ่าน เขียน โต้ตอบกับอาจารย์เจ้าของภาษา 

ส่วนวิชาภาคบ่าย เป็นวิชาเลือก 4 วิชา บังคับเลือก 1 คือ วิชาเสริมเพิ่มพูนคำศัพท์ ส่วนอีก 3 วิชาจะเลือกอะไรก็ได้ เช่น วิชาวรรณกรรมฝรั่งเศสเบื้องต้น วิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาการเมืองการปกครอง วิชาวัฒนธรรม โดยเรียนเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด 

ความยากก็คือหลักสูตรนี้ถูกคิดมาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่จบชั้นมัธยมและกำลังจะไปรียนต่อในระดับปริญญาตรีของฝรั่งเศส มีการเรียนรวมกับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งเด็กที่จบปริญญาตรีจากประเทศอื่นแล้วจะมาเข้าเรียนโทที่ฝรั่งเศส หรือมาเรียนต่อปริญญาเอก หรือผู้ที่ใช้ชีวิตมีครอบครัวอยู่ที่นี่ การมาเรียนที่นี่ได้ประโยชน์คือทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนที่เข้มข้น เรียนรู้วิธีคิด รวมถึงวิชาพื้นฐานของประเทศฝรั่งเศสด้วย ข้อเสียเดียวคือเรียนหนัก    

การเรียนในประเทศฝรั่งเศสนั้น คุณชัชเล่าว่า มีความเป็นแบบแผน การที่จะเขียนงาน นำเสนองาน จะมีการวางแพลนเป็นรากฐานการแสดงความคิดเห็นทุกอย่าง มีการวางโครงสร้างว่าจะพูดเรื่องอะไร ปัญหาที่จะพูดคือเรื่องอะไร ข้อโต้แย้ง การให้เหตุผลสนับสนุน โดยสิ่งนี้จะแทรกซึมอยู่ในทุกเรื่องของการเรียนระดับสูงที่ฝรั่งเศส ตั้งแต่การพูดและการเขียนตอบข้อสอบ เพราะเป็นเรื่องที่เด็กฝรั่งเศสได้ฝึกมาตั้งแต่ระดับประถมและมัธยม

การเรียนปริญญาโทที่กรีซ 
คุณชัชได้ไปเรียนปริญญาโทที่ European Public Law Organization ประเทศกรีซ ในหลักสูตร Academy of European Public Law เน้นศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายมหาชนยุโรป ลักษณะการเรียนเป็นความรู้ที่บูรณาการสองเรื่อง หัวใจหลักคือ ศึกษาพลวัตของกฎหมายในยุโรปว่าแนวคิดของแต่ละประเทศส่งผ่านไปอีกประเทศนึงได้อย่างไร และแนวคิดของกฎหมายกลางที่เป็น Community Law อย่างสหภาพยุโรป ส่งผลยังไงต่อกฎหมายปกครอง กฎหมายมหาชนภายในประเทศต่าง ๆ โดยเนื้อหาเป็นเรื่องที่คุณชัชสนใจอยากจะศึกษาต่ออยู่แล้ว 

ลักษณะการไปที่กรีซเหมือนกับการไปเอาความรู้เพิ่มกับอาจารย์และไปพรีเซนต์ เพราะ 1 เดือนก่อนจะบินได้ให้เตรียมตัวอ่านทุกอย่างที่มอบหมายมา ไปถึงวันแรกก็ทำการดีเบตเลย

การบริหารจัดการเวลา
การจัดการเวลาสำหรับคุณชัชมีความยากสองอย่าง คือ เรื่องการเตรียมตัวและบินไปเรียน ในปีแรกลักษณะการเตรียมตัวจะแตกต่างกัน รู้อยู่แล้วว่ามีช่วงเวลาที่ต้องลาไปศึกษาต่อ ได้มีการทำเรื่องลาหน่วยงานเจ้าของสังกัด ซึ่งคุณชัชได้รับความกรุณาจากสำนักงานศาลปกครองเป็นอย่างดี ช่วงก่อนการเตรียมตัวหนึ่งเดือน เตรียมสอบ เตรียมเขียนงาน การแบ่งเวลาไม่สามารถเอาเวลาราชการมาทำเรื่องพวกนี้ได้เลย เพราะเป็นเวลางาน จึงต้องรู้เทคนิคตัวเองว่าใช้เวลาเขียนงานนานไหม เตรียมตัวนานหรือไม่ บริหารจัดการเวลาให้ดี รู้จักตัวเองก่อน ว่าเรามีข้อจำกัดอะไร อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ จะช่วยให้เราคิดกลยุทธ์ในการรับมือได้ดีขึ้น แต่ในปีที่สองมีความลำบากเพราะต้องเรียนผ่าน Zoom เวลา Time Zone ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องเรียนช่วงดึกและตื่นไปทำงานเช้า 

แรงผลักดันที่ทำให้ใฝ่รู้
คุณชัชเล่าว่า ความรู้ที่ได้จากการทำงาน เป็นความรู้ที่ไม่เหมือนกับการเรียน แต่ทั้งสองอย่างสอดคล้องกัน หมายความว่า เวลาทำงานไปสักพักเราจะรู้ว่ามีเรื่องที่เราอยากจะรู้มากขึ้น ในขณะที่การเรียนไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มรู้สึกว่า เรื่องที่เราเรียนจะนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงอย่างไร การบาลานซ์สองอย่างคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

Professor ท่านหนึ่งกล่าวว่า นักกฎหมายในศตวรรษใหม่ที่ต้องการ ควรเป็นรูปแบบ T-Shape หมายถึง มีความรู้กว้าง และรู้ลึกในด้านใดด้านหนึ่ง 

ความแตกต่างในการเรียนต่างประเทศเทียบกับในไทย
ในเรื่องของระบบการศึกษานั้น คุณชัชเล่าว่า หากเราเริ่มจากศูนย์โดยที่ไม่รู้อะไรเลย การได้รับข้อมูลหรือการได้รับการปูพื้นฐานที่ถูกต้องก็มีความจำเป็น เพราะฉะนั้น Lecture-based ยังมีความจำเป็นอยู่ในทุกประเทศ เพียงแต่สิ่งที่ต่างคือการผสมกันระหว่างหลักสูตรที่เป็น Lecture-based  กับการแลกเปลี่ยน ตั้งคำถามระหว่างอาจารย์ ถ้าเราไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนก็ไม่สามารถไปดีเบตอะไรกับอาจารย์ได้ ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ได้จากหลากหลายวิธี มีข้อมูลชุดใหม่ ๆ Lecture-based อาจต้องปรับตัวมากขึ้น การเพิ่มความมีส่วนร่วมระหว่างนักศึกษากับอาจารย์เป็นสิ่งสำคัญ และการให้ความสนใจกับนักศึกษาเป็นรายบุคคลว่าเขามีความสนใจเรื่องอะไรก็สำคัญเช่นกัน

ประเทศกรีซ    
คุณชัชเล่าว่า เมืองเอเธนส์, กรีซ เป็นประเทศที่เหมาะกับการไปเรียนและสัมมนา เป็นสถานที่ที่คุณชัชชอบ อาหารอร่อย แดดแรงทุกวัน คนอาจจะรู้สึกว่ากรีซเป็นประเทศที่ไม้ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ความจริงแล้วกรีซเป็นประเทศท่องเที่ยว ผู้คนพูดภาษาอังกฤษได้ คุณชัชไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิตที่กรีซแม้แต่นิดเดียว

การใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส ณ ปัจจุบัน
เพราะการไปเรียนต่างประเทศต้องเคยมีประสบการณ์ที่จำไม่ลืม คุณชัชเล่าว่า โควิดทำให้ทุกอย่างยากขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนมา เรื่องของความแพนิคในใจ แต่เมื่อมาถึง ความรอบคอบจะช่วยให้คุณมีชีวิตประจำวันที่ง่ายขึ้น ดีขึ้น นอกจากนี้คือการบริหารจัดการ

การเรียนปริญญาเอกต้องใช้เวลากว่า 3 ปีครึ่ง – 4 ปี หรือยาวนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ต้องบริหารจัดการตัวเองให้ดี เป้าหมายของคุณชัช ณ วันนี้คือ อยากทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสัญญาทางปกครอง หลังเรียนจบปริญญาเอกจะนำความรู้ที่ได้พร้อมความรู้จากการทำวิจัยกลับมาใช้กับงานแน่นอน

สุดท้ายสิ่งที่คุณชัชอยากแนะนำน้อง ๆ ที่สนใจศึกษาต่อต่างประเทศ คือ อย่ากลัว ศักยภาพของทุกคนมีอยู่แล้ว ทุกคนสามารถเปล่งประกายในทางที่ตัวเองชอบได้ เพราะฉะนั้น อย่ากลัวที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกไปนอกพรมแดนเพื่อสำรวจสิ่งที่ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน เพราะการไปเรียนเมืองนอกคือการออกจาก Comfort Zone มีการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ตัวเองไม่เคยทำเยอะมาก และบางทีเกิดความกลัวว่าเราจะทำได้ไหม เราจะล้มเหลวหรือเปล่า ความผิดหวัง ความผิดพลาด เป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่ทำให้เราแตกต่าง คือ การลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนอื่นด้วย 

เพราะฉะนั้น คนที่คิดว่าอยากไปเรียนต่อเพื่อหาโอกาสที่ดี สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ถามตัวเองว่า พร้อมไหมที่จะออกมาจาก Comfort Zone เพราะการทำอะไรก็ตาม ต้องใช้ความพยายามและความพากเพียร อย่ากลัวที่จะไปถึงตรงนั้น ข้างนอกมีตัวช่วย และโอกาสมากมายที่จะหยิบยื่นมาให้ 

 


.

.

.