Friday, 3 May 2024
EducationNewsAgencyforAll

กระทรวงศึกษาธิการ เผย TCAS ยังยึดปฏิทินตามกำหนดเดิม จัดติวออนไลน์ร่วมกับ สพฐ. ส่งบทเรียนและเทคนิคการสอนของครูจากโรงเรียนดัง เผยแพร่ผ่านช่อง OBEC Channel ดันเด็ก ม.6 ฟิตสอบเข้ามหาวิทยาลัย

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รักษา รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้มอบหมายให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ไปหารือร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย วิทยศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.)

เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ว่าการเลื่อนสอบรายวิชาที่ใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2564 (TCAS) ได้แก่ ความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 20 - 23 มีนาคม ตรงกับวันสอบปลายภาคของโรงเรียน

วันสอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 3 - 4 เมษายน และวันทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) วันที่ 27 - 28 มีนาคม ตรงกับวันเกณฑ์ทหารและวันเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่มีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น ส่งผลให้เด็กเรียนได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องหยุดเรียนโดยที่ไม่ได้เรียนกับครูผู้สอนในชั้นเรียนเป็นเวลา 1 เดือนจึงขอให้มีการขยับการสอบทีแคสออกไปอีก 1 เดือนได้หรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการติวสอบ

ขณะเดียวกันตนยังมีไอเดียที่จะทำห้องเรียนติวออนไลน์เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการแล้ว เพราะจะทำให้เด็กได้ทบทวนบทเรียน และเติมเต็มความรู้ในช่วงที่ต้องหยุดเรียน เนื่องจากวิกฤตโควิด

ด้าน นายสุภัทร กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมประชุมกับทปอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ) และ อว.แล้ว ซึ่งมีข้อสรุปว่าการเลื่อนสอบ TCAS ยังยึดปฏิทินตามกำหนดเดิม เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มีการจองตารางการเดินทางของรถโดยสารและเครื่องบินไว้แล้ว

ซึ่งการสอบที่สามารถเลื่อนสอบได้คือ การสอบโอเน็ตจากเดิมกำหนดไว้วันที่ 28 มีนาคมให้ขยับมาสอบวันที่ 29 มีนาคมแทน ส่วนนโยบายการติวออนไลน์ของคุณหญิงกัลยานั้น ตนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วว่า ให้นำบทเรียนและเทคนิคการสอนของครูจากโรงเรียนดังๆ มาเผยแพร่ผ่านช่อง OBEC Channel

รวมถึง สพฐ.มีบทเรียนออนไลน์ดีๆ อยู่แล้วก็ให้นำมาแชร์ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ ขณะเดียวกัน โรงเรียนดังใน กทม.ที่จะมีการสอนไลฟ์สดสอนเด็ก ได้ขอความร่วมมือให้แชร์ลิงค์ไลฟ์สดเหล่านั้นมาแขวนไว้ที่ช่องของ สพฐ.ด้วย เพื่อให้เด็กคนอื่นๆ ได้เรียนรู้เทคนิคการเรียนดีๆ ไปพร้อมกัน


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/95414

คณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดหลักสูตรน้องใหม่ หลักสูตรภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม รับสมัครรุ่นแรก TCAS64 รอบ 3 และ รอบ 4 นี้

หลักสูตรภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม คณะศิลปศาสตร์ (工业汉语专业)

Bachelor of Arts in Chinese for Industry

- หลักสูตรแรกของประเทศไทย

- นักศึกษาทุกคนจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ Beijing Language and Culture University มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในด้านการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ณ กรุงปักกิ่ง

- เปิดรับสมัครรุ่นแรก TCAS64 รอบ 3 และ รอบ 4

- ค่าเทอม 22,000 บาท ต่อเทอม

- ระยะเวลาการเรียน 4 ปี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

คณะศิลปศาสตร์ สจล. โทร. 02-329-8000 ต่อ 3760


ที่มา: https://www.facebook.com/104890389572255/posts/3946031312124791/

สพฐ. ยันไม่มีการถอด วิชาประวัติศาสตร์ - หน้าที่พลเมือง แต่จะเพิ่มภาคปฎิบัติหน้าที่พลเมืองสัปดาห์ละ 1 ชม. สร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ทำให้วิชาประวัติศาสตร์มีความทันสมัยมากขึ้น

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องการถอดวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมืองที่ปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า

เนื้อหาวิชาดังกล่าวยังอยู่ในหลักสูตรปัจจุบันและหลักสูตรฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงอย่างแน่นอน ซึ่งวิชาประวัติศาสตร์จัดเป็นวิชาบังคับกำหนดให้ต้องเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่ป.1 - ม.6 โดย ชั้น ป.1 - ม.3 มีเวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี หรือสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ส่วนชั้นม.4 - 6 มีเวลาเรียน 80 ชั่วโมง ตลอดปีการศึกษา

สำหรับสาระหน้าที่พลเมือง ถือว่าเป็นสาระบังคับเช่นกัน โดยชั้น ป.1-6 จะเรียนรวมกับอีก 3 สาระ รวมเรียกว่าวิชาสังคมศึกษา มีเวลาเรียน 80 ชั่วโมงต่อปี หรือ สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ชั้น ม.1 - 6 อาจจัดแยกเป็นวิชาๆ หรือรวมสาระก็ได้ โดยชั้น ม.1 - 3 มีเวลาเรียนรวมทั้ง 4 สาระ 120 ชั่วโมงต่อปี (3 หน่วยกิต) หรือสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง และ ม.4 - 6 รวม 3 ปีเรียน 240 ชั่วโมง

นอกจากที่หลักสูตรกำหนดแล้ว ยังมีนโยบายให้เรียนหน้าที่พลเมืองที่เน้นการปฏิบัติเพิ่มอีกสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง โดยอาจจะบูรณาการไปกับวิชาพื้นฐาน วิชาเพิ่มเติม กิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งเนื้อหาการเรียนประวัติศาสตร์จะได้เรียนเรื่องเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ เช่น ข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิธีการทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญในอดีต สถาบันพระมหากษัตริย์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย เป็นต้น

“ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้ รวมถึงการทำให้การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์มีความทันสมัยมากขึ้น ด้วยการสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ตามนโยบายการอ่าน การเขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย ของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง Augmented Reality (AR) เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์รักชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทำการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง ทั้งนี้ยังได้จัดทำคู่มือการใช้สื่อวีดีทัศน์ พร้อม QR Code เพื่อเข้าถึงตัวอย่างเนื้อหาสื่อนวัตกรรมการสอนประวัติศาสตร์อีกด้วย” เลขาฯ กพฐ. กล่าว


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/95496

การเลือกโรงเรียนที่ดีให้กับลูก องค์ประกอบสำคัญ นอกเหนือจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ รวมเช็คลิสต์คำถามที่พ่อแม่ควรถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ และแน่ใจว่าได้ปูทางสู่อนาคตที่ดีที่สุดให้กับลูก

นอกจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่แล้ว องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการเลือกโรงเรียนที่ดีให้กับลูก ซึ่งแน่นอนว่าพ่อแม่ย่อมต้องการให้ลูกได้รับการศึกษาในสถาบันที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ พ่อแม่ชาวไทยหลายครอบครัวต้องการปลูกฝังวิธีคิดแบบสากลให้ลูกภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย

ทั้งยังสร้างเสริมความแข็งแกร่งด้านวิชาการรวมไปถึงภาษาที่สองหรือสาม เตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาขั้นสูงในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงโอกาสและอนาคตสำหรับหน้าที่การงานที่ได้เปรียบกว่าอีกด้วย

กรุงเทพฯ นับเป็นเมืองหลวงแห่งหนึ่งที่มีตัวเลือกของสถาบันการศึกษาหลักสูตรนานาชาติมากมายให้เลือก แต่ละที่ล้วนแล้วแต่มีความพิเศษและจุดแข็งที่แตกต่างกันไป ซึ่งนอกเหนือจากการหาข้อมูลจากเว็บไซต์ และดูรีวิวแล้ว การเดินทางไปดูโรงเรียน หรือ School Visit นั้นสำคัญมาก นอกเหนือจากสิ่งอำนวยความสะดวก หรือ facility ที่ดีแล้ว สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของลูกก็สำคัญไม่แพ้กัน บทความนี้จะช่วยรวบรวมเช็คลิสต์คำถามที่พ่อแม่ควรถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ และแน่ใจว่าได้ปูทางสู่อนาคตที่ดีที่สุดให้กับลูก

1.) โรงเรียนมีเครือข่ายระดับนานาชาติหรือความเชื่อมโยงกับสถาบันแม่ขนาดไหน

เป็นสิ่งแรก ๆ ที่ผู้ปกครองควรถาม เนื่องจากโรงเรียนนานาชาติที่ก่อตั้งในประเทศไทย มีทั้งแบบที่ก่อตั้งขึ้นโดยอิสระ และแบบโรงเรียนสาขาที่ถ่ายทอดระบบการเรียนการสอนมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่า โรงเรียนที่เป็นเครือข่ายจากต่างประเทศย่อมได้เปรียบในด้านความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงระดับสากล ยิ่งโรงเรียนแม่เก่าแก่ ได้รับการยอมรับและมีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จเท่าไร ก็เป็นได้ไปว่าสาขาโรงเรียนในกรุงเทพฯ จะมีมาตรฐานในระดับเดียวกัน ซึ่งควรถามให้แน่ใจว่าโรงเรียนในประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับสถาบันแม่มากน้อยแค่ไหน มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ทางการศึกษาในมาตรฐานเดียวกันหรือไม่

2.) โรงเรียนมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับใด

โรงเรียนคือบ้านหลังที่สองที่ลูกใช้เวลาทุกวัน วันละหลาย ๆ ชั่วโมง ตั้งแต่เช้าจรดเย็น มาตรฐานความปลอดภัยรวมไปถึงสุขอนามัยและความสะอาดจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยมองข้าม โรงเรียนที่น่าเชื่อถือจะสามารถอธิบายได้ถึงระบบและมาตรฐานต่าง ๆ ที่มี รวมไปถึงแนวทางปฎิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย เช่น อุบัติเหตุในชั้นเรียนหรือระหว่างทำกิจกรรม ไปจนถึงการเกิดโรคระบาด เหตุเพลิงไหม้ ภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่การก่อวินาศกรรม

3.) โรงเรียนมีวิธีการคัดเลือกครูอย่างไร

นอกจากหลักสูตรแล้ว ครูผู้สอนก็นับเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ของลูก แต่ละโรงเรียนมีวิธีการคัดเลือกครูที่แตกต่างกันไป โรงเรียนนานาชาติที่ดีควรจะมีขั้นตอนการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันนอกเหนือจากใบสมัครและการสัมภาษณ์ รวมถึงการเดินทางไปประเมินทักษะการสอนที่โรงเรียนเดิมและพูดคุยกับบุคคลอ้างอิงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่านอกจากครูท่านนั้นจะมีความรู้ความสามารถแล้วยังมีทัศนคติที่ดีอีกด้วย

4.) จะแน่ใจได้อย่างไรว่าสภาพแวดล้อมและการเรียนการสอนของโรงเรียนจะทำให้เด็ก ๆ มีความสุข

การศึกษาที่ดีไม่ควรเน้นให้เกิดเพียงความเป็นเลิศด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังควรสร้างความสุขและสร้างเสริมทักษะอื่น ๆ ของเด็กด้วย นอกจากสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่เหมาะสม และอุปกรณ์การสอนที่ครบครันแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ควรตั้งคำถามคือ โรงเรียนมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจตามช่วงวัย เสริมสร้างทักษะการเข้าสังคมอย่างไรบ้าง มีแนวทางการปลูกฝังด้านสังคมและวัฒนธรรมในโรงเรียนอย่างไร เช่น มีนโยบายจัดการกับการล้อเลียนและพฤติกรรมรุนแรง (บูลลี่) อย่างไร มีครูและบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่ และมีการเรียนการสอนหรืออบรมที่ถูกต้องเพื่อปลูกฝังพฤติกรรมและทัศนคติที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่วัยเยาว์หรือไม่

5.) หลักสูตรของโรงเรียนปูทางสำหรับการศึกษาขั้นสูงต่อไปอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่เป็นความคาดหวังของพ่อแม่คือลูกจะประสบความสำเร็จในระดับอุดมศึกษาในสถาบันที่ดี ดังนั้นโรงเรียนที่ดีควรมีการปูพื้นฐานความพร้อมสำหรับการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เช่น หากต้องการให้ลูกได้ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ผู้ปกครองควรถามว่าทางโรงเรียนมีโปรแกรม IGCSE หรือไม่ หรือมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวัดระดับ A-Level ให้กับเด็กอย่างไร มีการแนะแนวทางสำหรับการศึกษาต่ออย่างไร

6.) มีจุดเด่นที่สร้างสรรค์แปลกใหม่และแตกต่างไปจากโรงเรียนอื่น ๆ อย่างไร

นอกเหนือจากข้อมูลด้านสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) สภาพแวดล้อมในการเรียน ความยิ่งใหญ่ของขนาดสนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ โรงอาหาร โรงละคร ต่าง ๆ ซึ่งมีเหมือนกันแทบจะทุกโรงเรียนแล้ว ต้องไม่ลืมที่จะถามว่าจุดเด่นที่แตกต่างไปจากโรงเรียนอื่น ๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งแม้จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจส่งผลสำคัญมากต่อการเรียนของลูก

อาทิ ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติบางแห่งเริ่มสร้างความแตกต่างด้วยการนำเอาระบบที่เรียกว่า Harkness (ฮาร์คเนส) โดยบางวิชาจะให้เด็กๆ นั่งโต๊ะกลม ถกกันในหัวข้อที่กำหนด ไม่มีใครถูกผิด รับฟังความเห็นของทุกคนอย่างเปิดกว้าง และร่วมกันหาคำตอบ ไปด้วยกัน โดยไม่มีการชี้นำจากครู ซึ่งเป็นการเริ่มปลูกฝังทักษะแบบซีอีโอตั้งแต่ระดับประถม มีบางแห่งที่ให้ความสำคัญกับระบบดังกล่าวนี้มาก เช่น โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ ที่จะมีการสร้างห้องเรียน Harkness ไว้โดยเฉพาะสำหรับเด็กแต่ละระดับ

7.) โรงเรียนให้ความสำคัญกับกิจกรรมสร้างสรรค์เช่นศิลปะหรือกีฬามากน้อยแค่ไหน

อย่างที่ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” โรงเรียนที่มีกิจกรรมกระตุ้นและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้เกิดจินตนาการและพลังความคิดสร้างสรรค์จึงมักสามารถสร้างนักเรียนที่ประสบความสำเร็จ เมื่อไปเยี่ยมชมโรงเรียนอย่าลืมถามถึง Co-Curricular อื่น ๆ ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา กีฬา ตลอดจน Facilities ที่จะช่วยเสริมการเรียนรู้ของเด็ก

8.) พ่อแม่ผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างไรบ้าง

แน่นอนว่าผู้ปกครองอยากเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรมการเรียนรู้ของลูก สิ่งที่เราควรรู้ล่วงหน้าก็คือทางโรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนรับรู้ ให้แนวทาง หรือเสนอแนะวิธีในการจัดการด้านการศึกษามากน้อยแค่ไหน หรือมีการจัดตั้งสมาคมผู้ปกครองเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองและเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของลูกร่วมกันโรงเรียนอย่างไรบ้าง เพราะแม้ทางโรงเรียนจะมีหลักสูตรที่แข็งแกร่ง แต่ผู้ปกครองรู้ดีที่สุดว่าลูกของเราต้องการอะไร ชอบการเรียนรู้แบบใด ซึ่งผู้ปกครองควรจะได้มีโอกาสในการนำเสนอต่อโรงเรียนได้

9.) หากเกิดกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง โรงเรียนมีความพร้อมในด้านการเรียนแบบ virtual อย่างไรบ้าง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตของรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนโดยทั่วไป นอกเหนือจากมาตรการด้านความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดที่โรงเรียนจะต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอแล้ว โรงเรียนที่ดีต้องสามารถตอบคำถามได้ว่าจะมีการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับสถานการณ์อย่างไร จะทำอย่างไรให้การสอนแบบ Virtual นั้นมีประสิทธิภาพ สอนแบบ live หรือเป็น video มีการจัดตารางเรียนให้เหมาะกับช่วงอายุและพัฒนาการของเด็กแต่ละคนอย่างไร หากเกิดปัญหาระหว่างเรียนมีจะวิธีการแก้ไขอย่างไร มีการสร้างความสมดุลของเวลาที่เด็กอยู่หน้าจอและโอกาสในการเรียนรู้เชิงปฏิบัติได้อย่างไร รวมถึงประเมินประสิทธิภาพในการเรียนการสอนอย่างไร

10.) ค่าใช้จ่ายและเทอมเป็นอย่างไร มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

โครงสร้างของค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อน จนพ่อแม่สับสนมาแล้วหลายราย ดังนั้นต้องถามและศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วนว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง อาทิ ค่าใช้จ่ายที่ขอคืนไม่ได้ เช่น ค่ายื่นใบสมัคร (Application Fee) ค่าทดสอบความรู้ (Assessment Fee) ค่าแรกเข้า (Registration Fee) ค่าใช้จ่ายที่ขอคืนได้ เช่น ค่ามัดจำ (Refundable Deposit) ที่จะจ่ายคืนจบการศึกษาหรือลาออก ส่วนค่าเทอม (Tuition Fees) จะมีทั้งจ่ายเป็นรายเทอมหรือรายปี ต้องรู้ว่าทางโรงเรียนมีกี่เทอม มีการปรับเพิ่มค่าเทอมตามระยะเวลาหรือไม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมรายปี (Annual Fee) ค่าหนังสือ (Book Fee) ค่าอาหารและของว่าง (Lunch and Snack Fee) ค่าค่ายฤดูร้อน (Summer Camp) ค่าทัศนศึกษา (Field Trip) เป็นต้น

อีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญคือการลองสอบถามเรื่องส่วนลดหรือข้อเสนอพิเศษ โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่งเปิดใหม่มักจะมีส่วนลดเพื่อดึงดูดผู้ปกครอง อาทิ โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ ที่ตอนนี้กำลังมีข้อเสนอพิเศษส่วนลด 20% นานถึง 5 ปี และให้สิทธิ์ส่วนลดเดียวกันสำหรับในครอบครัวด้วย ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการพิจารณา


หมายเหตุ : ขอขอบคุณภาพประกอบจาก โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ

แนะนำคอร์สเรียนฟรี มีใบประกาศ ‘Creative Problem Solving’ พัฒนาทีมเวิร์ก แนะกลยุทธ์แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีไหวพริบ Soft skills สำคัญที่วัยทำงานควรมี

การแก้ปัญหาอย่างมีไหวพริบ หนึ่งใน soft skills สำคัญที่ควรมีติดตัว หากใครอยากเรียนรู้ทักษะนี้จริงจังเพื่อพัฒนาทีมเวิร์กและพร้อมรับมือกับการทำงานยุคดิจิทัล แนะนำคอร์สออนไลน์ ชื่อว่า "Get Creative with People to Solve Problems" ส่งตรงจาก University of Leeds กับ Institute of Coding

คอร์สนี้จะสอนวิธีคิดแบบ Human-Centered Design ที่ช่วยให้เราออกแบบแนวทางการทำงานและวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีไหวพริบ และเหมาะกับแต่ละบุคคล ที่สำคัญคือเรียนฟรี  ปรับใช้ได้จริงทั้งเรื่องเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

หัวข้อที่จะได้เรียนในคอร์ส

- การเรียนรู้เจาะลึกแนวคิด human-centred design : กระบวนการที่ผู้ออกแบบจะโฟกัสที่ความต้องการและปัญหาในการทำงานเฉพาะบุคคล

- 5 วิธีคิดและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

- การประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ : แนวทางการแก้ปัญหาให้ตรงจุดและเน้นไปที่ผู้ใช้หรือผู้บริโภคจนทำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ

- รีวิวประสบการณ์ตรงของผู้ใช้จริง

- กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ลองนำแนวคิดฯ ไปใช้แก้ไขปัญหา

เกี่ยวกับคอร์ส

- จำนวนชั่วโมงเรียน: 4 ชั่วโมง

- ผู้เรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตร (รูปแบบไฟล์ PDF) เมื่อเรียนจบและทำกิจกรรมครบตามเกณฑ์

สมัครสมาชิกผ่านอีเมลหรือ facebook ‘คลิก register’ ได้ที่

https://www.futurelearn.com/register?return=ceqqps9u

ลงทะเบียนเรียนและดูตารางเรียน ‘คลิก join course for free’ ได้ที่

https://www.futurelearn.com/courses/get-creative-with-people-to-solve-problems


ขอบคุณที่มา: https://www.facebook.com/OneMoreCoursebyDekD/photos/a.107506870745169/274709194024935/

การประชุมวิชาการระดับชาติ ของนักเศษฐศาสตร์ ครั้งที่ 14 (The 14th National Conference of Economists) ด้วยระบบออนไลน์ ผ่าน Zoom Meeting โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ 19 มีนาคม 2564

หัวข้อ ‘นักเศรษฐศาสตร์และผองเพื่อน: โอกาสและความท้าทายภายใต้ความไม่แน่นอน (Economists & Friends: Chances and Challenges under Uncertain Circumstances)’

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยของรัฐอีก 9 สถาบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันพิจารณาจัดให้มีการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ขึ้นตามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ การประชุมระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ระหว่างสถาบันการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ 9 สถาบัน

ซึ่งในปี พ.ศ.2563 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ เป็นครั้งที่ 14 ในวันที่ 19 มีนาคม 2564 นี้ โดยช่วง 10.00 - 10.30 น. จะเป็น TED TALK ประเด็นเศรษฐศาสตร์กับความเหลื่อมล้ำ โดย วิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพันธุ์ วุฒิสมาชิก 10.00 - 10.30 น. TED TALK ประเด็นเศรษฐศาสตร์กับฟิสิกส์ โดย วิทยากร รองศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ กำจัดภัย ผู้อำนวยการ ศูนย์ฟิสิกส์ทฤษฎีและปรัชญธรรมชาตินครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

และช่วง 11.00 - 11.30 น. สนทนาโต๊ะกลม ประเด็นเศรษฐศาสตร์กับความบันเทิง โดย วิทยากร คุณณัฐ ศักดาทร นักร้อง/นักแสดง และคุณศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนา ศิลปิน/ศิษย์เก่า คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล เฮงพัฒนา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาและนโยบาย คณะเศรษศาสตร์

ช่วงบ่าย 15.10 - 15.40 น. ชวนคุย “เศรษฐศาสตร์และผองเพื่อน: เศรษฐศาสตร์จะอยู่กับเพื่อนอย่างไร” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐญา ประไพพานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้ารับฟังได้ฟรี หรือติดตามข่าวสาร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : PR Econ Swu

คอร์สเรียนจิตวิทยาออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งคอร์สเรียนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก รวบรวมคอร์สเรียนจิตวิทยาออนไลน์ฟรี จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ

คอร์สเรียนจิตวิทยาออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งคอร์สเรียนที่ได้รับความนิยม เพราะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น และยังช่วยให้สามารถทำความเข้าใจและปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้อีกด้วย รวบรวมคอร์สเรียนจิตวิทยาออนไลน์ฟรี จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ

คอร์สเรียนจิตวิทยาในการทำงาน ม.เชียงใหม่

คอร์สเรียนจิตวิทยาในการทำงาน จาก ม.เชียงใหม่ เหมาะสำหรับใครที่หมดไฟ มีปัญหาในเรื่องงาน หรืออยากเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น เนื้อหาประกอบไปด้วย ความหลากหลายของผู้คนในที่ทำงาน, การยศาสตร์ในการทำงาน (Ergonomics), การออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงาน, สภาพแวดล้อมที่ทำงานกับสุขภาพจิต, การจัดการทางการเงินสำหรับคนทำงาน และการพัฒนาตนเองในการทำงาน

ซึ่งจะเปิดให้เข้าเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 คอร์สนี้จะใช้เวลาเรียนทั้งหมดประมาณ 10 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีประกาศนียบัตรรับรองในระบบให้ด้วยสำหรับผู้ที่มีคะแนนผ่าน 70% ของคะแนนรวมทั้งหมด
คลิก >> https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:CMU+CMU029+2019/about?fbclid=IwAR2dshuLsfDTxw_Tp7jZnRTkh6s28oCVI7uVnXRE_Cz5zUPC2rYFaqvmAio

คอร์สเรียนจิตวิทยากับชีวิตประจำวัน ม.เชียงใหม่

อีกหนึ่งคอร์สเรียนจิตวิทยาจาก ม.เชียงใหม่ กับคอร์สเรียนจิตวิทยากับชีวิตประจำวัน ที่ประกอบไปด้วย ความหมายและแนวคิดทางจิตวิทยา, จิตวิทยากับการเข้าใจตัวเอง การพัฒนาตัวเอง, นิสัย, บุคลิกภาพ, ตัวตน, แรงจูงใจและอารมณ์ รวมไปถึงพฤติกรรมทางเพศและการควบคุมตัวเอง ให้เราสามารถเข้าใจพฤติกรรมและการแสดงออกของตัวเองได้มากขึ้น ต่อไปจะเป็นเรื่องของจิตวิทยากับการเข้าใจผู้อื่น ซึ่งจะประกอบไปด้วยมนุษยสัมพันธ์และมิตรภาพ, ความรัก, ความสัมพันธ์ในครอบครัว และจิตวิทยาการเข้าสังคม และการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สามารถลงทะเบียนเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 -30 กันยายน 2564 ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 10 ชั่วโมง นอกจากวิดีโอในการเรียนแล้วก็ยังมีแบบฝึกหัดและแบบทดสอบให้ได้ทำแบบเก็บคะแนนอีกด้วย ซึ่งสำหรับใครที่สนใจก็ต้องเก็บคะแนนให้เกิน 75 คะแนนขึ้นไปถึงจะผ่านคอร์สเรียนนี้ไปได้

คลิก >> https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:CMU+CMU007+2017/about

คอร์สเรียนจิตวิทยากับการออกแบบชีวิต University of Pennsylvania

คอร์สเรียนจิตวิทยาจากต่างประเทศ วิชานี้เป็นจิตวิทยาการออกแบบชีวิต ให้ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ซึ่งเนื้อหาหลัก ๆ ของวิชานี้จะประกอบไปด้วยการค้นหาจุดเด่นในตัวเอง, จิตวิทยาเชิงบวก, และการพัฒนาตนเองในทุก ๆ ด้านให้ใช้ชีวิตได้อย่างสร้างสรรค์และมีความสุข ใช้เวลาในการเรียนทั้งหมด 4 สัปดาห์ โดยคอร์สเรียนนี้เป็นหนึ่งในคอร์สเรียนจิตวิทยาในชุด รากฐานของความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก ที่จะมีอยู่ด้วยกัน 5 คอร์ส และหากอยากได้ใบประกาศที่มีลายเซ็นจากอาจารย์ผู้สอนโดยตรงก็จำเป็นจะต้องเก็บให้ครบทั้ง 5 คอร์สเรียนด้วยกัน ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดคอร์สอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ในเว็บไซต์
คลิก >> https://www.coursera.org/

คอร์สเรียนหลักจิตวิทยาเบื้องต้น University of Toronto

คอร์สเรียนออนไลน์ หลักจิตวิทยาเบื้องต้น จาก University of Toronto ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับจิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์ ถือเป็นคอร์สเรียนที่น่าสนใจมากที่สุดในสาขาจิตวิทยา เพราะเราจะได้ไปสำรวจกับสมองและความสามารถในการทำงานของสมอง ว่าสามารถจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง รวมไปถึงการเรียนรู้, ความสนใจ, การรับรู้ และจิตสำนึก รวมไปถึงพัฒนาการของมนุษย์ทั้งในแง่ของการเติบโตตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และพฤติกรรมของผู้อื่นส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของเราเองด้วย

ซึ่งคอร์สเรียนนี้จะใช้เวลาเรียนทั้งหมดด้วยกัน 12 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 4-6 ชั่วโมง สามารถเริ่มเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และสามารถได้ใบรับรองทันทีหลังจากจบคอร์ส
คลิก >> https://www.coursera.org/learn/introduction-psych?ranMID=40328&ranEAID=SAyYsTvLiGQ&ranSiteID=SAyYsTvLiGQ-UkKqIC_sukywEU0x1erz.w&siteID=SAyYsTvLiGQ-UkKqIC_sukywEU0x1erz.w&utm_content=10&utm_medium=partners&utm_source=linkshare&utm_campaign=SAyYsTvLiGQ

คอร์สเรียนจิตวิทยาการเข้าสังคม Wesleyan University

คอร์สเรียนนี้เป็นหลักสูตรที่นำเสนอเกี่ยวกับจิตวิทยาสังคมแบบคลาสสิกและร่วมสมัย ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาต่าง ๆ ที่น่าสนใจในด้านของจิตวิทยา เช่น การตัดสินใจ การโน้มน้าวใจ พฤติกรรมกลุ่มแรงดึงดูดส่วนบุคคล และปัจจัยที่ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยเนื้อหาภายในคอร์สเรียนจะมุ่งเน้นไปที่ผลการวิจัยที่น่าแปลกใจ สนุกสนานและน่าสนใจ ง่ายต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หลักสูตรนี้จะนำเนื้อหามาจาก Social Psychology Network ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่อุทิศให้กับจิตวิทยาสังคม

ใช้ระยะเวลาในการเรียนประมาณ 7 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 4 - 8 ชั่วโมง สามารถเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2564 เป็นต้นไป สามารถลงเรียนได้ฟรี แต่หากอยากได้ใบประกาศตัวจริง ต้องเสียเงินเพิ่ม
คลิก >> https://www.classcentral.com/course/socialpsychology-555?fbclid=IwAR0o3QrxRQQmmsGr45e1ebJdkMHsJzO2IA0qj_1LBueuC-sRGiYFVGIYyJc

คอร์สเรียนจิตวิทยาในเรื่องกฎหมายอาญา University of Queensland

คอร์สเรียนจิตวิทยาที่ว่าด้วยเรื่องกฎหมายอาญา โดยหลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสำรวจประสิทธิภาพของกฎหมาย และระบบยุติธรรมจากมุมมองทางจิตวิทยา ซึ่งเราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยากฎหมาย และความเข้าใจผิดบางประการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เนื้อหาของคอร์สเรียนจะประกอบไปด้วยเนื้อหาทางด้านกฎหมายอาญา การสืบสวน สอบสวน และการพิจารณาคดี ในช่วงสัปดาห์ที่ 6-8 ซึ่งจะใช้เวลาในการเรียนประมาณ 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1-2 ชั่วโมง เริ่มเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
คลิก >> https://www.edx.org/course/the-psychology-of-criminal-justice?source=aw&awc=6798_1611154729_fb4fe252efcd419e662267374360a0f3&utm_source=aw&utm_medium=affiliate_partner&utm_content=text-link&utm_term=301045_https%3A%2F%2Fwww.class-central.com%2F

คอร์สเรียนจิตวิทยาเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค Coventry University

คอร์สเรียนจิตวิทยาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ จิตวิทยาผู้บริโภคว่าหมายถึงอะไร และเกี่ยวข้องกับการเติบโตของสังคมผู้บริโภคอย่างไรบ้าง ซึ่งในคอร์สเรียนนี้จะพาเราให้ได้รู้จักกับแนวคิดพื้นฐานทางการตลาด ว่ามีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและบริษัทอย่างไร และการใช้จิตวิทยาของผู้บริโภคมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันอย่างไร

โดยคอร์สเรียนจิตวิทยานี้จะสามารถเริ่มเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2564 ใช้เวลาเรียนประมาณสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมงเป็นเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น 
คลิก >> https://www.futurelearn.com/courses/consumer-behaviour-and-psychology?utm_campaign=Courses+feed&utm_medium=courses-feed&utm_source=courses-feed&utm_source=RakutenMarketing&utm_medium=Affiliate&utm_campaign=3347507:Class+Central&utm_content=10:1&utm_term=USNetwork&ranMID=44015&ranEAID=SAyYsTvLiGQ&ranSiteID=SAyYsTvLiGQ-jmchOhj.cc8v0N6BcNUg1Q

คอร์สเรียนศาสตร์และเทคนิคการสื่อสารกับผู้อื่น University of Amsterdam

คอร์สเรียนที่จะทำให้เราเข้าใจและสื่อสารกับผู้อื่นได้ดีขึ้น กับคอร์สเรียนศาสตร์และเทคนิคการสื่อสารกับผู้อื่นจาก University of Amsterdam ซึ่งในเนื้อหาวิชานี้เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของวิทยาการสื่อสาร, แนวทางทฤษฎีที่โดดเด่นในวิทยาศาสตร์การสื่อสาร รวมไปถึงรูปแบบและแนวคิดที่สำคัญที่สุดของศาสตร์การสื่อสาร ซึ่งเรียนในรูปแบบออนไลน์ 100% และได้ใบประกาศรับรองหลังจากเรียนจบ

โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเรียนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2564 เป็นต้นไป และใช้เวลาเรียนเพียงแค่ 10 ชั่วโมงเท่านั้น 
คลิก >> https://www.coursera.org/learn/communication?ranMID=40328&ranEAID=SAyYsTvLiGQ&ranSiteID=SAyYsTvLiGQ-VKXKrAEjc2fr9g6BInlvLw&siteID=SAyYsTvLiGQ-VKXKrAEjc2fr9g6BInlvLw&utm_content=10&utm_medium=partners&utm_source=linkshare&utm_campaign=SAyYsTvLiGQ

คอร์สเรียนจิตวิทยาการศึกษาพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานในองค์กร Macqurie University

สำหรับใครที่อยากเรียนรู้พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานในองค์กรต้องห้ามพลาดกับ คอร์สเรียนออนไลน์จาก Macqurie University โดยเนื้อหาของคอร์สเรียนนี้จะประกอบไปด้วย แนวคิดทฤษฎี และวิธีการต่าง ๆ ในการทำความเข้าใจความแตกต่างของแต่ละบุคคลในองค์กรเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานให้เป็นไปในทางที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงวิธีสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรในที่ทำงานหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กร การจัดการปัญหาและควบคุมการขัดแย้ง ผ่านการบรรยายและการทำแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาได้ดีมากยิ่งขึ้น

โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเรียนออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 และใช้เวลาเรียนประมาณ 8 สัปดาห์  

คลิก >> https://www.coursera.org/learn/organisational-behaviour-know-your-people?ranMID=40328&ranEAID=SAyYsTvLiGQ&ranSiteID=SAyYsTvLiGQ-LPlyx7.q37B_qUJyHS5_Zw&siteID=SAyYsTvLiGQ-LPlyx7.q37B_qUJyHS5_Zw&utm_content=10&utm_medium=partners&utm_source=linkshare&utm_campaign=SAyYsTvLiGQ

คอร์สเรียนจิตวิทยาข้ามวัฒนธรรมในองค์กร มศว X จุฬา

คอร์สเรียนจิตวิทยาข้ามวัฒนธรรมในองค์กร ซึ่งภายในคอร์สเรียนนี้เราจะได้ศึกษาเกี่ยวกับ ความหมาย ความสำคัญ และอิทธิพลของวัฒนธรรมของชาติต่อการทำงานร่วมกันของบุคคลในที่ทำงาน, ความเชื่อในเรื่องของเชื้อชาติ, ความฉลาดทางวัฒนธรรมและสมรรถนะทางวัฒนธรรมของบุคคล รวมไปถึงการสื่อสารและความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมในที่ทำงาน, การบริหารจัดการความขัดแย้งระหว่างบุคคลในองค์กร และวัฒนธรรมองค์กร ผู้นำ และการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เหมาะสำหรับใครที่อยากพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานและเจ้านายบริษัทต่างชาติ ให้สามารถปรับตัวและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเรียนออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2563 - 15 ธันวาคม 2564 และใช้เวลาเรียนประมาณ 8 ชั่วโมง
คลิก >> https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:SWU+SWU013+2019/about


ขอบคุณที่มา: https://www.wongnai.com/articles/free-online-psychology-courses

รักในวัยเรียน อาจจะไม่ใช่การจุดเทียนกลางสายฝนเสมอไป หากรู้จักจัดลำดับความสำคัญ และรักอย่างเหมาะสม ในวัยที่รักเป็นเรื่องรอง

รักในวัยเรียน ก็เหมือนจุดเทียนกลางสายฝน ประโยคยอดฮิตที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนชอบพูดกับเด็กในวัยที่กำลังศึกษาอยู่ เพราะคงอยากอยากให้ตั้งใจเรียนมากกว่าสนใจเรื่องความรักที่พวกเขามองว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม จริง ๆ แล้ว การมีความรักในวัยเรียน ไม่ดีจริงหรือ?

ทุกคนมีความรักครั้งแรกเข้ามาทักทายตอนอายุเท่าไหร่กันคะ อาจจะเป็นตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม หรือตอนขึ้นมหาวิทยาลัยเลย แล้วเราก็เชื่อว่าวัยรุ่นทุกคนที่โตมาต้องเคยได้ยินประโยคเด็ดที่ว่า ‘รักในวัยเรียน ก็เหมือนจุดเทียนกลางสายฝน’ ฟังดูก็แสนจะโบราณเหลือเกิน แต่ลองมองดี ๆ ในมุมของผู้ที่เตือน หรือก็คือผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน นั่นก็เพราะความหวังดีและเป็นห่วง

พวกเขามองว่าความรักในวัยเรียน อย่างไรก็ไม่มีทางยั่งยืน เพราะความเป็นเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ ไม่มีทางที่จะพาความสัมพันธ์ให้ไปกันรอด เปรียบกับเทียนที่ถูกจุดขึ้นกลางสายฝน จุดอย่างไรก็ไม่มีทางติดได้ สู้เอาเวลาที่จะมาคิดเรื่องนี้ไปตั้งใจเรียน โฟกัสที่หน้าที่ของตัวเองดีกว่าไหม เพราะเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ดูจะไร้สาระ รังแต่จะสร้างความรำคาญใจตามมา

คิด ๆ ดูแล้วสิ่งที่ผู้ใหญ่กำลังจะสื่อสารก็เข้าใจได้ แต่ก็มีส่วนที่เรายังไม่เห็นด้วย การมีความรักในวัยเรียนสำหรับเราไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะในหนึ่งชีวิตมีหลายพาร์ทมากกว่านั้น กลับกัน เรามองว่าเป็นเรื่องดีซะอีก เราได้เรียนรู้ที่จะรักและรู้จักความรักในแต่ละช่วงวัย เป็นประสบการณ์และความทรงจำที่ทำให้เราเติบโต แต่เรื่องบทบาทหน้าที่ของนักเรียนนักศึกษานั้นอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ การวางตัว และการบริหารจัดการตัวเองมากกว่า

เราอาจจะมีความรักหรือคนพิเศษในช่วงขณะที่ใช้ชีวิตบนเส้นทางการศึกษา สิ่งที่ผู้ใหญ่เป็นห่วงคือความวอกแวก การเอาใจไปใส่กับอะไรที่ยังไม่ถึงเวลา จนหลงลืมหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งเรามองว่าถ้าความรักหรือความสัมพันธ์นั้นดีพอ จะยิ่งก่อให้เกิดข้อดีด้วยซ้ำ เพราะสิ่งนั้นจะเป็นแรงผลักดันให้เราทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีขึ้น การมีกำลังใจที่สำคัญ มีคู่หูที่คอยรับฟัง มีคนให้คำปรึกษา มีเพื่อนอ่านหนังสือ มีความฝันและเป้าหมายร่วมกัน ความรักจะกลับกลายเป็นพลังและแรงผลักดันให้เราพยายามพิสูจน์ตัวเองมากขึ้น สุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นตัวยืนยันข้อครหาทั้งหมด

แต่เพราะภาพคนที่สมหวังและจับมือไปถึงเป้าหมายร่วมกัน มีน้อยกว่าคนที่อกหักร้องไห้ฟูมฟาย การที่จะพิสูจน์ให้คนอื่นเชื่อมั่นและลดความเป็นห่วงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากเกิดสิ่งผิดพลาดขึ้นมา นั่นหมายความถึงผลกระทบต่อเส้นทางในอนาคต

เราเชื่อมั่นว่าคนเราสามารถมีความรักและรักการเรียนควบคู่กันไปได้ ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากตัวเราเอง เรามีแฟนคนแรกตอนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 มีช่วงที่อินเลิฟ เที่ยวเล่น พากันอ่านหนังสือ แบ่งปันเรื่องราวทั้งสุขและทุกข์ แต่บทที่ต้องเลิกราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าร้องไห้ฟูมฟายเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ถึงขนาดนั่งเรียนไปร้องไห้ไปก็มี แต่ก็ยังแบกตัวเองไปเรียนได้ แถมวิชานั้นก็ยังได้เอมา (อวด)

อย่างที่บอกว่าสุดท้ายมันอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ การจัดการอารมณ์ความรู้สึก รู้จักแยกแยะและไม่ลืมหน้าที่ของตัวเอง เสียใจได้ ผิดหวังได้ แต่สุดท้ายก็ต้องก้าวข้ามผ่านความเจ็บปวด เติบโตจากความผิดหวังและพลั้งพลาด เป็นการเรียนรู้รสชาติชีวิตนอกเหนือจากการเรียนเอาความรู้ในตำรา


เขียนโดย เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES

คติประจำใจจาก 'Albert Einstein' (นักฟิสิกส์ยอดอัจฉริยะเจ้าของทฤษฎีและสมการพลิกโลก)

“Learn from yesterday, live for today, hope for tomorrow. The important thing is not to stop questioning.”

“เรียนรู้จากวันวาน ใช้ชีวิตอยู่ในวันนี้ มีความหวังกับวันพรุ่งนี้ สิ่งสำคัญคืออย่าหยุดตั้งคำถาม”


Albert Einstein (นักฟิสิกส์ยอดอัจฉริยะเจ้าของทฤษฎีและสมการพลิกโลก)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top