รักในวัยเรียน อาจจะไม่ใช่การจุดเทียนกลางสายฝนเสมอไป หากรู้จักจัดลำดับความสำคัญ และรักอย่างเหมาะสม ในวัยที่รักเป็นเรื่องรอง

รักในวัยเรียน ก็เหมือนจุดเทียนกลางสายฝน ประโยคยอดฮิตที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนชอบพูดกับเด็กในวัยที่กำลังศึกษาอยู่ เพราะคงอยากอยากให้ตั้งใจเรียนมากกว่าสนใจเรื่องความรักที่พวกเขามองว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม จริง ๆ แล้ว การมีความรักในวัยเรียน ไม่ดีจริงหรือ?

ทุกคนมีความรักครั้งแรกเข้ามาทักทายตอนอายุเท่าไหร่กันคะ อาจจะเป็นตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม หรือตอนขึ้นมหาวิทยาลัยเลย แล้วเราก็เชื่อว่าวัยรุ่นทุกคนที่โตมาต้องเคยได้ยินประโยคเด็ดที่ว่า ‘รักในวัยเรียน ก็เหมือนจุดเทียนกลางสายฝน’ ฟังดูก็แสนจะโบราณเหลือเกิน แต่ลองมองดี ๆ ในมุมของผู้ที่เตือน หรือก็คือผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน นั่นก็เพราะความหวังดีและเป็นห่วง

พวกเขามองว่าความรักในวัยเรียน อย่างไรก็ไม่มีทางยั่งยืน เพราะความเป็นเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ ไม่มีทางที่จะพาความสัมพันธ์ให้ไปกันรอด เปรียบกับเทียนที่ถูกจุดขึ้นกลางสายฝน จุดอย่างไรก็ไม่มีทางติดได้ สู้เอาเวลาที่จะมาคิดเรื่องนี้ไปตั้งใจเรียน โฟกัสที่หน้าที่ของตัวเองดีกว่าไหม เพราะเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ดูจะไร้สาระ รังแต่จะสร้างความรำคาญใจตามมา

คิด ๆ ดูแล้วสิ่งที่ผู้ใหญ่กำลังจะสื่อสารก็เข้าใจได้ แต่ก็มีส่วนที่เรายังไม่เห็นด้วย การมีความรักในวัยเรียนสำหรับเราไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะในหนึ่งชีวิตมีหลายพาร์ทมากกว่านั้น กลับกัน เรามองว่าเป็นเรื่องดีซะอีก เราได้เรียนรู้ที่จะรักและรู้จักความรักในแต่ละช่วงวัย เป็นประสบการณ์และความทรงจำที่ทำให้เราเติบโต แต่เรื่องบทบาทหน้าที่ของนักเรียนนักศึกษานั้นอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ การวางตัว และการบริหารจัดการตัวเองมากกว่า

เราอาจจะมีความรักหรือคนพิเศษในช่วงขณะที่ใช้ชีวิตบนเส้นทางการศึกษา สิ่งที่ผู้ใหญ่เป็นห่วงคือความวอกแวก การเอาใจไปใส่กับอะไรที่ยังไม่ถึงเวลา จนหลงลืมหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งเรามองว่าถ้าความรักหรือความสัมพันธ์นั้นดีพอ จะยิ่งก่อให้เกิดข้อดีด้วยซ้ำ เพราะสิ่งนั้นจะเป็นแรงผลักดันให้เราทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีขึ้น การมีกำลังใจที่สำคัญ มีคู่หูที่คอยรับฟัง มีคนให้คำปรึกษา มีเพื่อนอ่านหนังสือ มีความฝันและเป้าหมายร่วมกัน ความรักจะกลับกลายเป็นพลังและแรงผลักดันให้เราพยายามพิสูจน์ตัวเองมากขึ้น สุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นตัวยืนยันข้อครหาทั้งหมด

แต่เพราะภาพคนที่สมหวังและจับมือไปถึงเป้าหมายร่วมกัน มีน้อยกว่าคนที่อกหักร้องไห้ฟูมฟาย การที่จะพิสูจน์ให้คนอื่นเชื่อมั่นและลดความเป็นห่วงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากเกิดสิ่งผิดพลาดขึ้นมา นั่นหมายความถึงผลกระทบต่อเส้นทางในอนาคต

เราเชื่อมั่นว่าคนเราสามารถมีความรักและรักการเรียนควบคู่กันไปได้ ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากตัวเราเอง เรามีแฟนคนแรกตอนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 มีช่วงที่อินเลิฟ เที่ยวเล่น พากันอ่านหนังสือ แบ่งปันเรื่องราวทั้งสุขและทุกข์ แต่บทที่ต้องเลิกราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าร้องไห้ฟูมฟายเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ถึงขนาดนั่งเรียนไปร้องไห้ไปก็มี แต่ก็ยังแบกตัวเองไปเรียนได้ แถมวิชานั้นก็ยังได้เอมา (อวด)

อย่างที่บอกว่าสุดท้ายมันอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ การจัดการอารมณ์ความรู้สึก รู้จักแยกแยะและไม่ลืมหน้าที่ของตัวเอง เสียใจได้ ผิดหวังได้ แต่สุดท้ายก็ต้องก้าวข้ามผ่านความเจ็บปวด เติบโตจากความผิดหวังและพลั้งพลาด เป็นการเรียนรู้รสชาติชีวิตนอกเหนือจากการเรียนเอาความรู้ในตำรา


เขียนโดย เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES