Friday, 16 May 2025
Econbiz

เอกชนรับแรงงานขาดแคลนหนัก ชงรัฐช่วยแก้ด่วน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ กำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โดยมีความต้องการแรงงานอย่างน้อย 400,000 ราย โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมทั้งอุตสาหกรรมประมง ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้รัฐเปิดนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศต้นทางเพิ่มขึ้น และต้องผ่านการคัดกรองตรวจสุขภาพ และตรวจโควิด-19 ตามหลักสาธารณสุขด้วย

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ จะหารือถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยภายหลังจากที่รัฐบาลเร่งมาตรการนำเข้าวัคซีนและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวม 

ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. 64 พบว่า อยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.3 ในเดือนเม.ย. 64 และต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่ก.ค. 63 เป็นค่าดัชนีปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ยังไม่คลี่คลายและยังเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ โดยเฉพาะในโรงงาน

“อนุชา” เผย “เราชนะ-ม.33 เรารักกัน” ปชช. 41 ล้านคน ใช้จ่ายทำเศรษฐกิจหมุนเวียน เกือบ 3 แสนล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการใช้จ่ายในโครงการ “เราชนะ” สำหรับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และโครงการ “ม.33 เรารักกัน” หลังครม. เพิ่มวงเงินเยียวยา 2,000 บาท ใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. ว่า โครงการเราชนะมีจำนวนผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 33.1 ล้านคน เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน กลุ่มผู้มีแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง 8.4 ล้านคน กลุ่มผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบเป๋าตัง 8.6 ล้านคน กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ 2.4 ล้านคน ใช้จ่ายครบวงเงินตามสิทธิ์ในโครงการฯ 17.6 ล้านคน ทำให้มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย มูลค่ากว่า 257,997 ล้านบาท ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการได้รับประโยชน์มากกว่า 1.3 ล้านร้านค้าและกิจการ แยกเป็นการใช้จ่ายในร้านอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นร้อยละ 19.1 ของมูลค่าการใช้จ่ายทั้งหมด ร้านธงฟ้าคิดเป็นร้อยละ 34.4 ร้านโอท็อป คิดเป็นร้อยละ 4.1 ร้านค้าทั่วไปและอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 40.4 ร้านค้าบริการคิดเป็นร้อยละ 1.9 และขนส่งสาธารณะคิดเป็นร้อยละ 0.1

สำหรับโครงการ ม.33เรารักกันมี ผู้ได้รับสิทธิ์รวมทั้งสิ้น 8.14 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม ถึงวันที่ 31 พ.ค. กว่า 39,317 ล้านบาท โดยผ่านร้านค้าทั้งสิ้น 1.07 ล้านร้านค้า ทั้งนี้สองโครงการ มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในเศรษฐกิจ 297,314 ล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้มีมาตรการอื่นที่รัฐบาลดำเนินการช่วยผู้ประกอบการ อาทิ เช่น มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 250,000 ล้านบาท มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐสภาได้ผ่าน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 และ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 
วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ เสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จะออกมาในครึ่งปีหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น

เปิดผล “เราชนะ-ม.33 เรารักกัน” เงินเข้าระบบศก. 3 แสนล้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือประชาชนโดยเพิ่มวงเงินเยียวยา 2,000 บาทต่อคน ใน โครงการเราชนะ สำหรับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มที่มีแอปพลิเคชันเป๋าตัง และโครงการ ม.33เรารักกัน ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ประชาชนยังสามารถใช้จ่ายได้ถึง 30 มิ.ย. 2564 และช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับกลุ่มเป้าหมายรวมกว่า 41 ล้านคน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยล่าสุดการดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการมีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในเศรษฐกิจแล้ว 297,314 ล้านบาท

ทั้งนี้แยกเป็น โครงการเราชนะ มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 33.1 ล้านคน มีการใช้จ่ายครบวงเงินตามสิทธิ์ในโครงการแล้ว 17.6 ล้านคน โดย ณ วันที่ 1 มิ.ย. 2564 มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วมูลค่ากว่า 257,997 ล้านบาท ขณะที่โครงการ ม.33เรารักกัน มีผู้ได้รับสิทธิ์รวมทั้งสิ้น 8.14 ล้านคน มียอดใช้จ่ายสะสมแล้ว ณ วันที่ 31 พ.ค. 2564 กว่า 39,317 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเพื่อช่วยผู้ประกอบการ เช่น มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งรัฐสภาได้ผ่าน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 และ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ เสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

“ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจตลอดเวลา เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง โครงการ คนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จะออกมาในครึ่งปีหลังนี้ด้วย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น”

สอน. แจง บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด ที่อุดรธานี ปิดโรงงานน้ำตาล ไม่กระทบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ย้ำในฤดูการผลิตปี 64/65 ผลผลิตอ้อยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น พร้อมเร่งเยียวยาพนักงานถูกเลิกจ้าง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 กรณี บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี มีมติหยุดกิจการน้ำตาลอย่างเป็นทางการ โดยบริษัทจะโอนย้ายสัญญาซื้อขายอ้อยไปยัง บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน ที่มีกำลังการผลิตได้ถึง 30,000 ตันอ้อยต่อวัน เพื่อรองรับชาวไร่อ้อยคู่สัญญาจาก บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด และขอเรียนว่าไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย เนื่องจากในฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีแนวโน้มผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลของตลาดโลกจะสูงขึ้นจากในฤดูการผลิตปี 2563/2564 จึงมั่นใจได้ว่าผลประกอบการโรงงานน้ำตาลอีก 56 โรงงาน จะมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอนถือเป็นสัญญาณที่ดีท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก

ด้านนายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด มีชาวไร่อ้อยคู่สัญญา จำนวน 1,195 ราย ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 หีบอ้อยได้ 716,862.94 ตัน และผลิตน้ำตาลได้ 82,977.23 ตัน โดยการปิดโรงงานดังกล่าวจะไม่กระทบกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ในขณะเดียวกันนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ประสานไปยัง บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด ให้ดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเยียวยาช่วยเหลือแก่พนักงานประจำโรงงาน และจะดำเนินการติดตามการจ่ายเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้ายให้กับชาวไร่อ้อยคู่สัญญาอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในช่วงเดือนตุลาคม 2564 รวมไปถึงตรวจสอบภาระหนี้ของบริษัทฯ กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการปิดกิจการจะไม่กระทบต่อการจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 แต่อย่างใด


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“ไทยไลอ้อนแอร์” จัดโปรเด็ดลดค่าตั๋ว 5% สนับสนุนคนฉีดวัคซีนโควิด

สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ แจ้งว่าสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เพียงผู้โดยสารแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารในการฉีดวัคซีน หรือแสดงผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม โดยเป็นการฉีดวัคซีนเข็มแรก หรือครบสองเข็ม ผู้ที่ฉีดวัคซีนสามารถรับส่วนลด 5% สำหรับบัตรโดยสารเส้นทางบินภายในประเทศของสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เฉพาะการจองที่สนามบินเท่านั้น 

ขณะเดียวกันนอกจากได้รับส่วนลดแล้ว ยังได้สิทธิพิเศษรับฟรีน้ำหนักกระเป๋า 10 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 1 ใบ) โดยการจองบัตรโดยสารของสายการบินไม่มีค่าธรรมเนียมในการจองและตัดบัตร

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสามารถจองบัตรโดยสารได้ตามรายละเอียดดังนี้ ต้องสำรองที่นั่งตั้งแต่วันที่ 11–30 มิ.ย.64 วันเดินทางตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.-30 ก.ย. 64 สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศที่สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ให้บริการ คือ เส้นทางบินจากดอนเมืองสู่จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, พิษณุโลก, อุบลราชธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น, หาดใหญ่, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง และเส้นทางบินข้ามภูมิภาค คือ หาดใหญ่-อุดรธานี และ เชียงใหม่-อู่ตะเภา

โควิดทุบความเชื่อมั่นเอกชนหดตัว 2 เดือนติด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนพ.ค. 2564 ว่า ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 24.7 หลังจากภาคธุรกิจยังคงมีความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมถึงได้รับผลกระทบจากการที่ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรค ทำให้มีการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สั่งปิดกิจการหลายประเภท ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้นหรือมีการลดเงินเดือน 

ส่วนดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตปัจจุบันมีค่าดัชนี 27.7 ลดลงจากเดือนเม.ย. อยู่ที่ 30.6  ต่ำที่สุดในประวัติการณ์นับตั้งแต่สำรวจมาเดือน พ.ค. 49 หรือ 193 เดือน หรือ 16 ปี 1 เดือน สอดคล้องกับความคาดหวังความสุขในการดำเนินชีวิตในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย. – ส.ค.) ต่ำเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีความกังวลความไม่แน่นอนในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด -19 

“ภาคธุรกิจอยากเห็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในเรื่องของการกระจายวัคซีนในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงเพื่อให้มีเพียงพอกับจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนไว้ ทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงเร่งการหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในคลัสเตอร์ต่างๆหลายพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว และเร่งขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศเพื่อเพิ่มระดับการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมามีรายได้ทันทีเมื่อประชาชนได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ”

ก.แรงงาน ปล่อยกู้สูงสุด 1 ล้านบาทปลอดดอกเบี้ย เพิ่มทักษะแรงงานช่วยสถานประกอบกิจการ สู้วิกฤตโควิด-19 ระลอก 3

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยต่อเนื่องถึงสิงหาคม 64 ช่วยสถานประกอบกิจการใช้หมุนเวียนในการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้าง สู้วิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร.ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เยียวยาความเดือดร้อนของกำลังแรงงานในประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานสามารถกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ปลอดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ย 0%) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า กพร.ได้จัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่สถานประกอบกิจการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึง 31 สิงหาคม 2564 ในวงเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท ในปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดสรรเงินจำนวน 30 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมไปใช้ในการพัฒนาทักษะ หรือนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่พนักงาน แบบไม่มีดอกเบี้ย ตั้งแต่ 16 กรกฎาคม 2563-31 สิงหาคม 2564 ซึ่งปัจจุบัน ณ 31 พฤษภาคม 2564 ได้อนุมัติให้เงินกู้ยืมไปแล้ว 28 บริษัท เป็นเงินกว่า 17 ล้านบาท และมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ให้บริการรับคำขอกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

ด้าน คุณอัชฌารี บัวมี Training & Audit Manager บริษัท กรีน ลาเท็กซ์ จำกัด เป็นสถานประกอบกิจการที่ผลิตที่นอนยางพารา หมอน เบาะ ตุ๊กตา และเครื่องนอน กล่าวถึงเงินกู้ดังกล่าวว่า การให้เงินกู้ยืมเป็นประโยชน์มาก ต่อสถานประกอบกิจการ เป็นเงินก้อนช่วยเหลือ รักษาการจ้างงาน ทำให้สถานประกอบกิจการดำเนินการจัดอบรมต่อไปได้ตามแผนประจำปีอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพพนักงานได้รับการพัฒนาและมีความพร้อม กลับมาช่วยบริษัทสู้กับวิกฤตโควิด-19

ส่วน คุณธิดาทิพย์ จำปาแดง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนเชอรัลเอ็นเนอร์ยีเทค จำกัด ในนามศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเนเชอรัล เป็นศูนย์ทดสอบฯ เอกชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 ได้กล่าวขอบคุณกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อนำมาปรับปรุงสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับ และรักษามาตรฐานให้เป็นไปตามที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนด และเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการทดสอบด้วย

“การให้กู้ยืมดังกล่าวเป็นมาตรการจูงใจเพื่อให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่เป็นลูกจ้างของตนเองเพื่อให้มีทักษะฝีมือเพิ่มสูงขึ้น สถานประกอบกิจการที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ยืมได้ที่ สพร. และ สนพ. ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยสามารถยื่นคำขอกู้พร้อมหลักฐานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 15 กรกฎาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร. และ สนพ.ทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2643 6039” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย
 

พาณิชย์ทำดัชนีวัดค่าครองชีพ หวังประชาชนวางแผนใช้จ่าย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจใหม่ 2 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มค่าบริการ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคบริการ เพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพด้านบริการมากยิ่งขึ้น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าการศึกษา เพื่อให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจในการใช้จ่ายและวางแผนดำเนินชีวิต รวมถึงให้หน่วยงานใช้ประกอบการกำหนดมาตรการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการได้แม่นยำ มากยิ่งขึ้น

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มค่าบริการ เป็นดัชนีราคาที่คัดเลือกรายการค่าบริการจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีทั้งสิ้น 87 รายการ จาก 430 รายการ จำนวน 14 หมวด โดยหมวดที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก คือ หมวดกิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงที่สุด  54.93% ตามด้วยหมวดข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 15.88% หมวดการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 6.94% หมวดกิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 6.55% และหมวดการศึกษา  4.22% 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคบริการ เป็นเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่แสดงถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการภาคบริการที่มีต่อธุรกิจของตนเอง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเป็นประจำทุกปี อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับยอดขาย รายรับ และสินค้าคงเหลือ รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นต่อการดำเนินธุรกิจ

แนะดันไทยสู่สังคมไร้เงินสด รัฐยังต้องพัฒนาอีกเพียบ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือเนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์ ว่า การทำธุรกรรมไร้เงินสดของไทยยังมีมูลค่าที่ไม่สูงมากนักหากไทยต้องการยกระดับให้เป็น สังคมไร้เงินสดมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาขึ้นอีก แต่ก็ยังพบว่ามีช่องว่างหรือข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เช่น ทักษะด้านดิจิทัลของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ เห็นได้จากจำนวนคนไม่น้อยที่ต้องเดินทางมาลงทะเบียนรับสิทธิ์ช่วยเหลือของรัฐที่ธนาคารเอง 

ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า ในด้านโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุม และมีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของกลุ่มผู้รายได้น้อย จึงเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยี รวมถึงอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกหลอกและการสูญเสียทางการเงินได้อีกด้วย 

ทั้งนี้ สศช. มีข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริม และแก้ไขข้อจำกัดเพื่อนำไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด คือ ภาครัฐควรสนับสนุนให้มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงที่ครอบคลุมและมีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงอาจมีการอุดหนุนช่วยเหลือการเข้าถึง อุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และการเสริมสร้างการมีทักษะความรู้ด้านการเงินและ ความรู้ดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อาจเข้าไม่ถึงองค์ความรู้และตามไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เท่าทันและปูองกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยคุกคามทางดิจิทัล 

รวมทั้งการสนับสนุนและส่งเสริมให้มี ระบบธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลอย่างทั่วถึงและครอบคลุม โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อยให้มีบริการ รับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปสู่การใช้งานที่แพร่หลายของบริการทางการเงินรูปแบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น  เช่นเดียวกับการมีกลไกติดตามดูแลรักษาฐานข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีความรัดกุมทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการใช้บริการ และการนำข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประโยชน์ต่อยอด ทั้ง การพัฒนาเครื่องมือทางการเงินในการให้กู้ยืม รวมทั้งการนำข้อมูล มาใช้ประกอบการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ เพื่อลดการตกหล่นและคัดกรองกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

คลังฟันร้านค้าหัวหมอโกงเราชนะอีกเป็นร้อยราย

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ตรวจพบธุรกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ จึงได้ทำการระงับสิทธิ์ชั่วคราวการเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการเพิ่มเติม จำนวน 120 ราย และขอให้ผู้ประกอบการที่ถูกระงับสิทธิ์ชั่วคราวดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงมายังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ภายในวันที่ 25 มิ.ย.2564 ตามข้อความแนะนำที่ปรากฏขึ้นในแอปพลิเคชันถุงเงิน หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว กระทรวงการคลังจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะเข้มงวดในการติดตามตรวจสอบประชาชนและผู้ประกอบการที่กระทำการเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการอย่างใกล้ชิด โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดี และขอความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงการคลังปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของแต่ละโครงการอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการหรือมาตรการอื่นของรัฐในอนาคต และถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

สำหรับความคืบหน้าของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 11 มิ.ย. 2564 พบว่า มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 267,113 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการเราชนะที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์แล้ว จำนวน 22.3 ล้านคน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการเราชนะ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top