Friday, 16 May 2025
Econbiz

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ขานรับนโยบายรัฐ ชูนโยบายเร่งด่วน ฟื้นฟูวิสาหกิจชุมชนหลังพิษโควิด-19 จัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ระหว่างวันที่ 11-15 มิ.ย.นี้

นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนในวงกว้าง และเพื่อเป็นการขานรับนโยบายรัฐในการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจฐานราก สร้างศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ดีพร้อมจึงมีนโยบายเร่งด่วน เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนในสถานการณ์เร่งด่วน ซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับชุมชนในการนำความรู้และทรัพยากรในพื้นที่มาผลิตเป็นสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชน สนับสนุนสินค้าชุมชน และยกระดับวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง

พร้อมพัฒนาและขยายช่องทางการตลาด เชื่อมโยงกับระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ ผ่านกิจกรรมพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ภายใต้ โครงการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถวิสาหกิจชุมชนคลื่นลูกใหม่ เพื่อการแข่งขันในตลาด New Normal ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจ กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำ และกิจกรรมทดสอบตลาด โดยจะมุ่งเน้นการอบรมให้ความรู้ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การนำแผนงานไปทดลองและปรับปรุงสินค้า รวมถึงการนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ปรับปรุงแล้วได้มาตรฐานมีคุณภาพไปทดสอบตลาดทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ ตลอดจนการนำผลการทดสอบตลาดนั้นมาทำแผนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังให้การส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ การสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งในกระบวนการผลิต การนำเสนอสินค้า การบริการและการตลาด เพื่อสร้างผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนคลื่นลูกใหม่ให้มีองค์ความรู้สามารถวิเคราะห์ธุรกิจตนเอง สามารถแก้ไขปัญหาธุรกิจของตนเองได้เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมของตนเองในสถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ดีพร้อม ได้เร่งดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในการขยายช่องทางการตลาดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้น โดยการจัดกิจกรรมทดสอบตลาด Market Survey ซึ่งในยุค New Normal ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การตลาดแบบออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทและมีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างมาก ดีพร้อมจึงเร่งผลักดันและพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ให้มีขีดความสามารถในการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ อันจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดทักษะประสบการณ์

และสามารถเชื่อมโยงเพื่อการแข่งขันในระดับสากลได้อย่างแท้จริง โดยความน่าสนใจของกิจกรรมทดสอบตลาด Market Survey ในครั้งนี้เป็นการจัดงานในรูปแบบ Virtual Event ซึ่งเป็นอีกหนึ่งงานมหกรรมแสดงสินค้าในรูปแบบโลกเสมือนจริงในระบบออนไลน์ที่ดีพร้อมจัดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคนี้มาใช้ในการจัดกิจกรรม เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งภายในงานได้รวบรวมสินค้าดีมีคุณภาพจากผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศกว่า 140 ราย อาทิ เสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย ของใช้ ของตกแต่งบ้าน ของที่ระลึก สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร อาหารและเครื่องดื่ม ถือว่าครบจบในงานเดียว

นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการจัดสัมมนาโดยมีวิทยากรชื่อดังระดับประเทศ ทางด้าน e-Commerce เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรมได้ฟรี อาทิ การทดสอบตลาด Market Survey พื้นฐานการสำรวจ และการทำตลาดด้วย Facebook การทำตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง (DIY e-Commerce) การดีลกับโรงงานเพื่อสร้างสินค้านวัตกรรม อัปเดตหลังโควิด ภูมิศาสตร์ e-Commerce ของประเทศไทย และพื้นฐานของการขายออนไลน์ ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 มิถุนายน 2564 รวมระยะเวลา 5 วัน โดยผู้ร่วมงานสามารถเข้าร่วมงานได้อย่างต่อเนื่องทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง และคาดว่าจะมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานครั้งนี้เป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาของการจัดงาน นายภาสกร กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมงานได้ทุกวัน ตั้งแต่ วันที่ 11-15 มิถุนายน 2564 ผ่าน www.dcivirtualevent2021.com


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

สมอ. เปิดมิติใหม่ให้บริการทางออนไลน์ 100% ครบทุกกิจกรรม รับนโยบายรัฐบาลอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการและประชาชนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดเปิดระบบ e-Accreditation ในการออกใบรับรองระบบงาน ISO ทางออนไลน์ ผู้ประกอบการแห่ยื่นขอเกือบ 40 ราย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้ผู้ประกอบการ ตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการอนุญาต จะต้องนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงานทั้งระบบให้ครบทุกกิจกรรม

ล่าสุด สมอ. สามารถนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาตครบทุกกิจกรรม ตั้งแต่ การยื่นคำขอใบอนุญาต มอก. การตรวจติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาด และการตรวจโรงงานทางออนไลน์ รวมถึงการชำระค่าบริการต่างๆ เพื่อยกระดับการให้บริการผู้ประกอบการและประชาชนได้อย่างทั่วถึงภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจาก สมอ. ประสบความสำเร็จในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการและประชาชนตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ทั้งการยื่นขอใบอนุญาต มอก. ผ่านระบบ e-License การตรวจติดตามผลผู้ได้รับใบอนุญาตผ่านระบบ e-Surveillance และการชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านระบบ e-Payment ตลอดจนการขออนุญาตนำเข้าสินค้าที่ สมอ. ควบคุม กว่า 300 คำขอ ต่อวันผ่านระบบ National Single Window หรือ NSW ที่มีการเชื่อมโยงกับกรมศุลกากร เพื่อป้องกันการนำสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ซึ่ง สมอ. ได้มีการพัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ได้เปิดใช้ระบบ e-Accreditation เพื่อออกใบรับรองระบบงาน ISO แก่ผู้ประกอบการอย่างเต็มรูปแบบ เช่น การรับรองห้องแล็ปตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 เพื่อให้ห้องแล็ปได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของสากล และลดการตรวจสอบซ้ำจากประเทศคู่ค้า เป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาดโลก และเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ การรับรองหน่วยตรวจตามมาตรฐาน ISO/IEC 17020 : 2012 เป็นการรับรองระบบงานของหน่วยตรวจว่ามีความสามารถ และมีความเป็นกลางในการดำเนินงาน การให้บริการงานตรวจเป็นไปตามมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของสากล

สำหรับการให้บริการผ่านระบบดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการด้านการตรวจสอบและรับรองกว่า 700 ราย ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สามารถยื่นขอการรับรองระบบงาน ISO ผ่านทางออนไลน์ได้ ตั้งแต่การยื่นคำขอ การประสานงาน การตรวจประเมินทางไกล (Remote assessment) และการรับรองตนเอง (Self declaration) แทนการออกไปตรวจประเมินสถานที่จริง

โดยผู้ตรวจประเมินจะประสานงานการตรวจประเมินทางออนไลน์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และแอปพลิเคชันต่างๆ บนเว็บไซต์ และสมาร์ทโฟน ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการยื่นคำขอผ่านระบบแล้วเกือบ 40 ราย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าระบบได้ที่ https://www.tisi.go.th/website/Accreditation/eAccreditation หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ โทร. 0 2202 3531 หรือ e-mail: [email protected]

“สมอ. ได้พัฒนาระบบการออกใบอนุญาตผ่านทางออนไลน์ 100% ครบทุกกิจกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้ผู้ประกอบการและประชาชนตามนโยบายรัฐบาล และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของ สมอ. ให้มากยิ่งขึ้น และจะพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ดัน “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 - ทัวร์เที่ยวไทย” เริ่ม ส.ค.นี้ 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กำลังพิจารณาแนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศ หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ค่อย ๆ คลี่คลายลง และมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นส่วนใหญ่แล้ว โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว เบื้องต้นถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนในเดือนส.ค.นี้ จะเริ่มต้นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 และทัวร์เที่ยวไทย ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้กำหนดจำนวนคนร่วมโครงการเอาไว้ประมาณ 3 ล้านคน พร้อมกันนี้ยังเตรียมหามาตรการอื่น ๆ มาเสริมด้วย เพื่อจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตอนนี้ได้ตั้งเป้าหมายสตาร์ทการท่องเที่ยวในประเทศให้ได้ภายในเดือนส.ค.นี้ แต่การจะเริ่มต้นขึ้นได้จริงจัง คือต้องดูสถานการณ์ให้แน่ใจก่อน ซึ่งหลัก ๆ แล้วก็ต้องไปดูเรื่องของวัคซีน โดยในช่วง 1-2 เดือนนี้ การฉีดวัคซีนจะระดมฉีดให้กับจังหวัดนำร่องต่าง ๆ ทั้ง 10 จังหวัดท่องเที่ยว รวมทั้งจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศด้วย ดังนั้นเมื่อถึงเดือน ส.ค.แล้วน่าจะมีจำนวนการฉีดวัคซีนที่มากขึ้นได้ และน่าจะเริ่มเปิดการเดินทางในประเทศ โดยตอนนี้ยังมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และทัวร์เที่ยวไทยอยู่ คงผลักดันโครงการนั้นมาใช้ก่อน

ส่วนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากเปิดจังหวัดภูเก็ต นำร่องในวันที่ 1 ก.ค.นี้แล้ว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังเตรียมส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว เดินทางไปเที่ยวภูเก็ตด้วย โดยภายในปลายเดือนมิ.ย. นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมลงนามความร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อดึงสมาชิกของหอการค้าทั่วประเทศ เดินทางไปเที่ยวภูเก็ตเป็นการนำร่องสร้างความมั่นใจ โดยจัดเที่ยวบินพิเศษนำสมาชิกที่ฉีดวัคซีนครบแล้วเดินทางลงไปเที่ยวประมาณ 200 คน  

ธ.ก.ส. เตือน! ระวังมิจฉาชีพ ปลอมเฟซบุ๊กแอบอ้างเสนอเงินกู้ พร้อม จ่อดำเนินคดีพวกหัวหมอ!

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีใช้ช่องทาง Facebook โดยใช้ชื่อบัญชี “Sara Sourour” แอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ของธนาคาร และมีการโพสต์เสนอเงินกู้ตามช่องแสดงความคิดเห็น โดย ธ.ก.ส. ขอแจ้งว่า ธ.ก.ส. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชี Facebook ดังกล่าว อีกทั้งธนาคารไม่มีนโยบายในการปล่อยสินเชื่อผ่านทาง Facebook จึงขอให้เกษตรกรลูกค้าและประชาชนทั่วไปอย่าหลงเชื่อบุคคลดังกล่าว

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มี Facebook Page ที่เป็นทางการคือ “ธกส BAAC Thailand” เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารข้อมูลด้านผลิตภัณฑ์ การให้บริการหรือข้อมูลข่าวสารสำคัญไปยังลูกค้า และ Facebook Page “ธกส บริการด้วยใจ” เพื่อเป็นช่องทางสอบถามข้อมูล ให้ความช่วยเหลือและรับข้อร้องเรียนจากลูกค้า 

อีกทั้งยังมี LINE Official : BAAC Family ที่เป็นช่องทางในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารด้านผลิตภัณฑ์ การให้บริการไปยังลูกค้า รวมถึงการแจ้งความประสงค์เบื้องต้นในการขอใช้บริการสินเชื่อบางประเภทกับ ธ.ก.ส. เท่านั้น ซึ่งหากถูกต้องตามหลักเกณฑ์จึงจะนัดหมายทำสัญญาต่อไป โดยจุดสังเกต LINE Official : BAAC Family จะมีโลโก้ ธ.ก.ส. และสัญลักษณ์รูปโล่สีเขียวที่บริเวณหน้าชื่อและมียอดผู้ติดตามปัจจุบันกว่า 8 ล้านคน

“ปัจจุบันมีการหลอกลวงจากมิจฉาชีพในหลากหลายรูปแบบผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ธ.ก.ส. จึงขอให้ใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการติดต่อหรือทำธุรกรรมออนไลน์ หากพบเห็นการแอบอ้างต่าง ๆ หรือต้องการสอบถาม โดยธนาคารจะดำเนินการเอาผิดตามขั้นตอนทางกฎหมายกับผู้ที่หลอกลวงในลักษณะดังกล่าวต่อไป” 

การบินไทย ประกาศ 5 เที่ยวบินตรงรับภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์

นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค.-ก.ย.64 บริษัทฯ ได้จัด 5 เที่ยวบินตรงสู่ภูเก็ตจาก 5 เมืองในยุโรป ได้แก่ โคเปนเฮเกน แฟรงก์เฟิร์ต ปารีส ลอนดอน และซูริก เพื่อให้เป็นไปตามแผนการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้โมเดล “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox) ที่เปิดประเทศเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตแบบไม่ต้องกักตัว 

สำหรับรายละเอียดของ 5 เที่ยวบิน ประกอบด้วย

1.) เที่ยวบินที่ทำการบินทุกวันศุกร์ เริ่มเที่ยวบินแรก ในวันที่ 2 ก.ค.64 ได้แก่ เที่ยวบินที่ ทีจี 953 เส้นทาง โคเปนเฮเกน-ภูเก็ต ออกเดินทางจากโคเปนเฮเกน เวลา 14.25 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงภูเก็ต เวลา 06.25 น. ในวันถัดไป, เที่ยวบินที่ ทีจี 923 เส้นทาง แฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต ออกเดินทางจากแฟรงก์เฟิร์ต เวลา 14.45 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงภูเก็ต เวลา 07.10 น. ในวันถัดไป และเที่ยวบินที่ ทีจี 933 เส้นทาง ปารีส-ภูเก็ต ออกเดินทางจากปารีส เวลา 15.50 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงภูเก็ต เวลา 08.00 น. ในวันถัดไป 

2.) เที่ยวบินที่ทำการบินทุกวันเสาร์ เริ่มเที่ยวบินแรก ในวันที่ 3 ก.ค.64 ได้แก่ เที่ยวบินที่ ทีจี 917 เส้นทาง ลอนดอน-ภูเก็ต ออกเดินทางจากลอนดอน เวลา 12.30 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงภูเก็ต เวลา 06.10 น. ในวันถัดไป และเที่ยวบินที่ ทีจี 973 เส้นทาง ซูริก-ภูเก็ต ออกเดินทางจากซูริก เวลา 15.20 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงภูเก็ต เวลา 07.45 น. ในวันถัดไป

อินเตอร์ลิ้งค์ฯ จัดสัมมนา The Future of Data Center + Rack อัพเดทเทคโนโลยี การวางระบบ Data Center

คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธาน กลุ่ม อินเตอร์ลิ้งค์ฯ จัดสัมมนา The Future of Data Center + Rack โดยได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าทั่วประเทศกว่า 300 คน พร้อมทีมวิทยากรชั้นนำมา Update Technology การวางระบบ Data Center ในยุคนี้ให้ตอบโจทย์ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ Live จาก INTERLINK R&D Center

จับตาวาระเศรษฐกิจเสนอที่ประชุมครม.พิจารณา

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมเตรียมพิจารณาข้อเสนอทางด้านเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ โดยกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 สำหรับโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลแผนงาน หรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากกรระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง ยังเสนอผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564

ด้านกระทรวงเกษตรฯ ขอถอนร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... พร้อมทั้งเสนอความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน ส่วนทางด้านกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องเป็นไปตามมาตรฐานรวม 2 ฉบับ คือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ขาวต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... 

ส่วนกระทรวงพาณิชย์ เสนอร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 พ.ศ. .... และสำนักงาน ก.พ. ข้อเสนอแนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ก.แรงงาน เห็นชอบการรับรองหลักสูตรการฝึกอบรมฝีมือแรงงานแบบ E-Training รับ New Normal

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบหลักสูตร รายละเอียดที่เกี่ยวข้องและรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานและการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ (ฉบับที่ 2) ช่วยเหลือสถานประกอบกิจการในการฝึกอบรม E-Training รับ New Normal

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร.ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่ต้องพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้างสามารถฝึกอบรมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบหลักสูตร รายละเอียดที่เกี่ยวข้องและรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานและการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ในส่วนของการฝึกอบรมโดยการบรรยายด้วยวิธีการฝึกอบรมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Training) ให้มีจำนวนผู้รับการฝึกอบรมรุ่นละ ไม่เกิน 30 คน ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นนายจ้างต้องจัดให้ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนแสดงตนก่อนเข้ารับการฝึกอบรม โดยผู้เข้ารับ การฝึกและครูฝึกหรือวิทยากรไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ต้องสามารถสื่อสารกันได้ทั้งภาพและเสียงตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงของผู้เข้ารับการฝึกทุกคนตลอดระยะเวลาที่มีการฝึกอบรม และเก็บไว้เพื่อให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันเสร็จสิ้นการฝึก

“ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ เป็นการช่วยเหลือสถานประกอบกิจการให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่เป็นลูกจ้างของตนเอง สถานประกอบกิจการที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร. และ สนพ.ทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2246 1937” อธิบดี กพร. กล่าว

EA-กฟผ. ผนึกกำลัง ดึงจุดแข็งร่วมพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานอัจฉริยะ โดยเฉพาะด้านยานยนต์ไฟฟ้าและการพัฒนาระบบซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ภายใต้โครงการ “Smart Energy EGAT X EA” รับเทรนด์พลังงานสะอาด

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ได้ลงนาม MOU โครงการความร่วมมือด้านพลังงานอัจฉริยะ “Smart Energy EGAT X EA” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพลังงานใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ โดยบริษัท EA ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานของประเทศไทย ทั้งทางด้านการผลิตพลังงานสะอาด ด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบบแบตเตอรี่ และระบบ Platform ซื้อขายพลังงานไฟฟ้า จึงนับได้ว่าเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่จะนำเอาจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายมาร่วมมือกัน ในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ตอบสนองต่อเทรนด์พลังงานสะอาดที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ภายในปี 2564 บริษัท EA และ กฟผ. ตั้งเป้าที่จะมีโครงการนำร่องในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้แก่คนไทยร่วมกันอีกด้วย

สำหรับความร่วมมือมีรายละเอียด ดังนี้ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท EA จะศึกษาและพัฒนาโครงการปรับเปลี่ยนกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุกขนส่งเชิงพาณิชย์ต่างๆ ในส่วนของ กฟผ. จะร่วมศึกษาและพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบรวดเร็ว (Ultra Fast Charging Station) ภายใต้ EleX by EGAT เพื่อรองรับการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าในลักษณะ Fleet ซึ่งสถานีอัดประจุไฟฟ้าถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ในการสนับสนุนให้โครงการปรับเปลี่ยนกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และด้านการพัฒนาระบบซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (Energy Trading Platform) ทั้ง EA และ กฟผ. จะร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบดังกล่าว ที่เป็นประโยชน์กับโครงสร้าง บริบทและระบบไฟฟ้าของประเทศไทย

ด้าน นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท EA กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้งช่วยส่งเสริมการเติบโตของการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศอย่างยั่งยืนและมั่นคง ปัจจุบันบริษัทเปิดให้บริการสถานีอัดประจุแล้วกว่า 400 สถานี รวมทั้งสิ้นกว่า 1,600 หัวชาร์จ ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งระบบธรรมดา หรือ AC Charger ไปจนถึงระบบชาร์จเร็วและทันสมัยที่สุด หรือ DC Super-Fast Charge ที่ใช้เวลาเพียง 15-20 นาที

สมโภชน์ อาหุนัย

รวมทั้งยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการด้วยการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันระบบออนไลน์ในการจอง จ่าย และชาร์จในคราวเดียวกัน เตรียมพร้อมรองรับกับโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตที่กำลังเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า 100% และบริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท EA ก็มีความพร้อมรองรับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถทำการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ได้หลายประเภท เช่น รถบัส รถบรรทุก รถตู้ กำลังผลิตประมาณ 3,000-5,000 คันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จและเริ่มดําเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงกลางปี 2564 โดยนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน พร้อมทั้งมีกระบวนการทดสอบที่ได้มาตรฐานการขับเคลื่อนที่ทันสมัยและครบวงจร

นอกจากนั้นบริษัท EA ยังดำเนินธุรกิจหลักด้านพลังงานหมุนเวียน จึงมีความมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า ด้วยการพัฒนาระบบ Trading Platform มาใช้ทำการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานที่ลูกค้าสามารถซื้อพลังงานจากผู้ผลิตได้โดยตรง มี AI ช่วยในการทำนายและเทรดได้แบบอัตโนมัติ และใช้เทคโนโลยี Block Chain เข้ามาจัดการ จึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยสูง ซึ่งในระยะถัดไปบริษัทมีแผนที่จะนำระบบนี้มาใช้กับพลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และมิเตอร์ไฟฟ้า เพื่อสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ อันจะช่วยนำไปสู่การมีระบบการผลิต จำหน่าย และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

'เฉลิมชัย' มอบกรมปศุสัตว์ผนึก 'ม.จุฬาฯ-ม.เกษตรฯ' เป็นแกน AIC เร่งพัฒนาวัคซีนสัตว์จากพืช (Plant Based Vaccine) Made in Thailand เป็นครั้งแรก

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (10 มิ.ย) ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประภัตร โพธสุทน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์เร่งเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี-สกิน พร้อมกับเร่งพัฒนาวัคซีนลัมปี-สกินจากพืชด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Plant Based Vaccine

โดยความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์กับบริษัทใบยาไฟโตฟาร์มของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เป็นศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC (Agritech and Innovation Center) คาดว่าจะสามารถเริ่มทดสอบวัคซีนได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยโรงงานวัคซีนของกรมปศุสัตว์พร้อมผลิตวัคซีนดังกล่าวทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการผลิตวัคซีนสัตว์จากพืช ซึ่งจะเริ่มจากวัคซีนลัมปี-สกิน

ทางด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่เกิดการระบาดของโรคลัมปี-สกิน กับโค-กระบือของเกษตรกร ในหลายพื้นที่ของประเทศ จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือได้รับผลกระทบจากความสูญเสียโค-กระบือไปนั้น กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรเจ้าของโค-กระบือเหล่านั้น จึงได้เตรียมการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี-สกิน ดังนี้...

ในกรณีที่เป็นการชดเชยกรณีสัตว์ตายหรือป่วยตาย โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และมีขั้นตอน คือ...

1.) รวบรวมข้อมูลความเสียหาย

2.) รวบรวมข้อมูลเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ปศุสัตว์อำเภอ)

3.) รวบรวมข้อมูลเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ปศุสัตว์จังหวัด)

4.) ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ปศุสัตว์จังหวัด หรือกรมปศุสัตว์

ทั้งนี้ ชดเชยตามจริงแต่ไม่เกินรายละ 2 ตัว เป็นเงินสดผ่านบัญชีเงินฝากของเกษตรกร ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้...

หน่วย : บาท/ตัว

อายุ >> โค กระบือ

>> น้อยกว่า 6 เดือน = 6,000-8,000

>> 6 เดือน ถึง 1 ปี = 12,000-14,000

>> มากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี = 16,000-18,000

>> มากกว่า 2 ปี = 20,000-22,000

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายใด ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปี-สกิน และมีความประสงค์จะขอรับการเยียวยา ขอให้ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ใกล้บ้าน หรือศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ทางโทรศัพท์ 0-2653-4444 ต่อ 3315 และ e-mail : [email protected]


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top