Saturday, 12 July 2025
Econbiz

'อลงกรณ์' เปิดเวทีสุดยอดภูมิอากาศเอเชีย (Asia Climate Summit 2025) ระดมความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมผนึกตลาดหลักทรัพย์จับมือสภาอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy)

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงาน การประชุมสุดยอดภูมิอากาศเอเชีย 2025 (Asia Climate Summit 2025)ภายใต้ธีม “การขยายแนวทางตลาดคาร์บอน : เสริมสร้างความก้าวหน้าและการเติบโต” (Scaling Market Solutions: Powering Progress and Growth)พร้อมประกาศความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านตลาดคาร์บอนของภูมิภาคอาเซียน

โดยนายอลงกรณ์กล่าวว่า "ประเทศไทยตระหนักถึงภัยคุกคามและความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศถือเป็นวาระแห่งชาติ เรายืนยันพันธสัญญาอันแข็งแกร่งในการแก้ไขปัญหานี้ตามพันธกรณีความตกลงปารีสโดยมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ประเทศไทยยังคงขยายตลาดคาร์บอนที่สมัครใจในประเทศผ่านนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น มาตรฐานการรับรองเครดิตคาร์บอน Premium T-VER นอกจากนี้ เรายังมีเป้าหมายที่จะเร่งพัฒนาความมีมาตรฐานสูงและความสามารถในการทำงานร่วมกันของตลาดคาร์บอนในอาเซียน โดยดึงเอาประสบการณ์และการขับเคลื่อนมาตรฐานคาร์บอนของ Premium T-VERขยายสู่อาเซียน“

ทั้งนี้นายอลงกรณ์ยังกล่าวถึง 4 ยุทธศาสตร์สำคัญของไทย 
1. เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกชัดเจน
1.1ลด CO2e 222 ล้านตัน ภายในปี 2030 (ตาม NDC)
1.2ยกระดับสู่ NDC 3.0 ตั้งเป้าลด CO2e 109.2 ล้านตัน ภายในปี 2035

2. ขับเคลื่อนกลไกคาร์บอนเครดิตระดับโลก
2.1มุ่งใช้ความร่วมมือภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีสโดยเฉพาะข้อ 6.2 เพื่อเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน
2.2เน้นสร้าง "การลดเพิ่มเติม" (Additionality) นอกเหนือจาก
มาตรการอื่นๆภายในประเทศ
2.4สนับสนุนเทคโนโลยีและกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก

3. ยกระดับตลาดคาร์บอนภายในประเทศและอาเซียน
3.1ขยายตลาดคาร์บอนสมัครใจผ่านนวัตกรรม "T-VER พรีเมียม"
3.2เร่งพัฒนาตลาดคาร์บอนอาเซียนให้มีความน่าเชื่อถือสูงและทำงานร่วมกันได้ (High-Integrity & Interoperability)
3.3 ยินดีต้เปิดกว้างต้อนรับมาตรฐานสากลเช่น VERRA หรือ Gold Standard เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถหาช่องทางในการพัฒนาซื้อขายคาร์บอนเครดิตและพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศไทย

4.  มาตรการเชิงรุกแบบครบวงจร
4.1 ตราพ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นรากฐานทางกฎหมายจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศ ,ส่งเสริมมาตรการครอบคลุม: ETS ภาคบังคับ, ภาษีคาร์บอน, ตลาด T-VER, มาตรการจูงใจทางการเงิน
4.2สนับสนุนการลงทุนสีเขียว(Green Investment)ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้แนวทางESGและการส่งเสริมพลังงานสะอาดลดโลกร้อนกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและภาคีภาคส่วนต่างๆ
4.3 เดินหน้าโครงการคาร์บอนสีน้ำเงิน (Blue Carbon) และคาร์บอนสีเขียว (Green Carbon)ทั้งในทะเล ชายฝั่งทะเลและบนบก "ยุทธศาสตร์การซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบูรณาการของไทยจะทำให้เราไม่เพียงบรรลุ NDC 2030 แต่จะก้าวขึ้นเป็น ผู้นำตลาดคาร์บอนระดับภูมิภาคภายในปี 2035โดยสนับสนุนการลงทุนที่ยั่งยืน(Sustainable Investment)และการเปลี่ยนผ่าน(Transformation)สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้เข้าร่วมในการอัปเดตแนวโน้มกฎระเบียบล่าสุด การเสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านตลาดคาร์บอนและสำรวจนวัตกรรมกลไกการเงินภูมิอากาศ

โดยผลลัพธ์จากการประชุมคาดว่าจะส่งผลอย่างมากก่อนการประชุม COP30 ที่บราซิลในปีนี้ ถ้อยแถลงเปิดงานโดยนายอลงกรณ์ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ สะท้อนวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเป็นแกนนำขับเคลื่อนการแก้ไขวิกฤตภูมิอากาศผ่านกลไกตลาด และยกระดับความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียอย่างเป็นรูปธรรม

การประชุมสุดยอดภูมิอากาศเอเชีย 2025 (ACS 2025) จัดโดยสมาคมการค้าคาร์บอนระหว่างประเทศ (IETA)โดยการสนับสนุนของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE)เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานครมีผู้เข้าร่วมงานกว่า200คนจากทั่วโลกรวมทั้ง นายเดิร์ก ฟอร์ริสเตอร์ ประธานและซีอีโอสมาคมการค้าคาร์บอนระหว่างประเทศ (IETA) ,ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) ,คุณอัสสเดช คงสิริ ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และนายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ด้านอนุรักษ์พลังงาน และ Grid Modernization สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร.ต.ปรพล อดิเรกสาร นายสมหมาย เอี่ยมสอาด รศ.ดร. ไพบูลย์ กวินเลิศวัฒนา ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมฯลฯ.....

'เศรษฐา' เชื่อมือ ‘ทีมไทยแลนด์’ เจรจาภาษีทรัมป์ หวังสหรัฐฯ เคาะภาษีได้ 20% เท่าเวียดนาม

‘เศรษฐา’ เชื่อมือทีมไทยแลนด์ เจรจาภาษีทรัมป์ หวังลดอัตราภาษี 20% เท่าเวียดนาม ชี้หน่วยงานรัฐต้องจับมือเดินไปทิศทางเดียวกัน มั่นใจไทยมีระบบดูแลนักลงทุนอย่างเป็นธรรม

(10 ก.ค.68) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสหรัฐอเมริกาขยายเวลาเจรจาภาษีครั้งสุดท้ายเป็นวันที่ 1 ส.ค.นี้ ไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 36% หรือไม่ว่า ขณะนี้ไทยมีเวลาถึง 1 ส.ค. ส่วนตัวเชื่อว่านายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง พร้อมทีมไทยแลนด์ จะต้องมีการหารือกันอย่างขะมักเขม้น เพื่อให้ไทยได้อัตราภาษีที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนตัวได้มีการพบเจอกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ และได้รับคำยืนยันว่าสู้อย่างเต็มที่

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเชื่อว่ายังมีความหวัง เพราะไทยยังมีหลายอย่างที่ต้องให้กับทางสหรัฐฯ ได้อยู่ สิ่งที่ไทยมีแต้มต่อในการต่อรองลดภาษีนั้น จะต้องดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง จำนวนสินค้าในหมวดต่างๆ ตรงไหนที่ให้สหรัฐฯ แล้วไม่ต้องเสียภาษีที่มากมาย แต่สำคัญที่สุดทีมงานทุกกระทรวงไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI จะต้องมานั่งพูดคุยกัน มีสิ่งไหนที่เกี่ยวข้อง เสียงจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่าให้เสียงแตกเพื่อให้สหรัฐฯ พอใจ 

นายเศรษฐา กล่าวว่า รวมทั้งยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น นอนคาร์ริค (การหลีกเลี่ยงภาษี) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคาร์ริค (การเสียภาษีเงินได้) ขั้นตอนของศุลกากรที่ยังคงมีปัญหา การสวมสิทธิ์ต่างๆ เป็นเรื่องที่ไทยต้องให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ยังคงจัดเก็บภาษีไทยอยู่ที่ร้อยละ 36 สิ่งที่จะกระทบตามมาก็คือกลุ่มเป้าหมาย ที่อย่างน้อยอาจหารเข้าเวียดนามอย่างน้อยร้อยละ 20 และสหรัฐฯ จัดเก็บในอัตราที่สูงย่อมจะส่งปัญหา เพราะหลายอุตสาหกรรมที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย ก็หวังว่าไทยจะไม่เสียเปรียบเพื่อนบ้าน แต่แน่นอนว่าไทยยังมีข้อได้เปรียบอีกหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตที่ปลอดภัยและต้นทุนต่ำ หรือ low cost save living มีระบบภาษีที่ชัดเจนกว่า และมีระบบราชการที่ดูแลนักลงทุนอย่างเป็นธรรม ดังนั้นส่วนตัวเชื่อว่ามีหลายประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเลข แต่แน่นอนว่าตัวเลขต้องใกล้เคียงกันถึงจะมาพูดคุยกันได้ 

เมื่อถามว่าต้องมีการส่งเสริมกลุ่ม SME ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์โดยตรงใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากนโยบายภาษีของทรัมป์ถ้าไม่ได้รับการผ่อนปรน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องมีการช่วยเหลือกัน เชื่อว่าทีมงานจะศึกษาและดูแลเรื่องนี้อยู่ แต่สิ่งสำคัญคือตัวภาษี ที่จะต้องมีการลดให้เทียบเท่ากับเวียดนามเสียก่อน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไทยจะมีมาตรการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อพิเศษดอกเบี้ยต่ำ 

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าการรับมือของรัฐบาลเกิดความล่าช้า นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้ต้องรวมใจกันและเจรจาในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ให้มีการลดภาษีลงให้ได้ อย่างน้อยให้ลดเหลือร้อยละ 20 เทียบเท่าเวียดนาม ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นประเด็นที่อยู่ในใจทุกๆคนอยู่ ส่วนแผนงานรองรับอื่นๆ ก็ต้องตามมา อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้หากการเจรจาเป็นไปในเชิงบวก จะเป็นประเด็นที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ หากไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ จะต้องมีการทำโรดโชว์ต่างๆ นำข้อดีของประเทศไทยไปเสนอต่างชาติ ช่วงที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปพบปะกับผู้ประกอบการ SME ซึ่งส่วนมากก็จะสะท้อนเรื่องของนักท่องเที่ยว แน่นอนว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ตกลงไป ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัย และนักท่องเที่ยวจะต้องได้รับการดูแลและความเป็นธรรม ส่วนมาตรการกระตุ้นถือเป็นขั้นตอนต่อไปที่จะต้องทำให้ดีขึ้น 

เมื่อถามถึงข้อมูลที่ระบุว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะของจีนที่ลดลงไปมากนั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องเอาไปเปรียบเทียบกับเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ก็ยังยืนยันว่าใกล้เคียงกัน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับช่วงไฮซีซั่น ยอมรับว่าก็ตกลงไปพอสมควร

GULF ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าลม-แดด รวม 4.2 หมื่นลบ. กำลังการผลิตรวม 746 MW พร้อมเข้าซื้อ 'บลูสกายวินด์ฯ' 50%

เมื่อวันที่ (9 ก.ค.68) บมจ.กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ [GULF] เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้กลุ่มบริษัทย่อยของบริษัทฯ ดำเนินการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนภายใต้กลุ่มบริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด (GRE) ที่มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2569 – 2570 จำนวน 11 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 746.6 เมกกะวัตต์ (MW) โดยโครงการดังกล่าวได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นระยะเวลา 25 ปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 42,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) 4 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 244.6 MW

2) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) 2 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 126.0 MW

3) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม (wind farms) 5 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 376.0 MW

การพัฒนาโครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นไปตามแผนของบริษัทฯ ที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน

หมุนเวียนภายใต้กลุ่มบริษัทฯ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

ทั้งนี้ บริษัทได้รับคัดเลือกให้ดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียน และได้มีการเข้าลงทุนในโครงการของบริษัทพันธมิตร ภายใต้แผนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

ลงทุน 'บลูสกาย วินด์' 50%

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังเผยอีกว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 บริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด (GRE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ได้เข้าลงทุนในบริษัท บลู สกาย วินด์ พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (BSWPH) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยบริษัท เดอะ บลู เซอร์เคิล (ไทยแลนด์) จำกัด (TBCT) และบริษัท อินฟินิท กรีเนอร์จี จำกัด (Infinite) ในสัดส่วนเท่ากันที่ 50% โดย GRE เข้าซื้อหุ้น 50% ใน BSWPH จาก Infinite คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 375,000 บาท

ทั้งนี้ GRE ได้ดำเนินการโอนหุ้นแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยส่งผลให้ในปัจจุบัน GRE และ TBCT ถือหุ้นใน BSWPH ในสัดส่วนเท่ากันที่ 50%

BSWPH ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม จำนวนรวม 5 โครงการในประเทศไทย กำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น

436.5 เมกะวัตต์ และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2570-2573 โดยจะมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว

รมว.วัฒนธรรม เปิดเวที 'SPLASH - Soft Power Forum 2025' ชูแนวคิดวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก

เมื่อวันที่ (8 ก.ค.68) เวลา 14.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน SPLASH - Soft Power Forum 2025 โดยมี คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน คณะทูตานุทูตประจำประเทศไทย และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เข้าร่วมงาน ณ เวที Visionary Stage Hall 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงานแบ่งเป็น 6 โซนไฮไลต์บอกเล่าเรื่องราวเป้าหมายการทำงานของ THACCA รวมทั้งพื้นที่สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และเวิร์กช็อป สร้างทักษะใหม่ให้กับเยาวชน ผู้ประกอบการ เพื่อหวังจุดประกายสร้างโอกาสให้คนไทยและขยายโอกาสทางธุรกิจสู่ระดับสากล 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน และไม่แน่นอน ประเทศไทยต้องปรับตัวจากการพึ่งพาอุตสาหกรรมแบบเดิม เช่น การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ หรือ "ครัวของโลก" ไปสู่การใช้ "วัฒนธรรมสร้างสรรค์" เป็นพลังเศรษฐกิจใหม่ ผ่านการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ที่มีรากจากท้องถิ่น แต่สื่อสารได้อย่างสากล

โดยนางสาวแพทองธาร ได้ประกาศ 5 กลยุทธ์หลักในการยกระดับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สู่เวทีโลก ได้แก่
1. อาหารไทย เปิดโมเดล “Thai Cuisina” ศูนย์รวมร้านอาหารไทย 4 ภาค และซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้าไทยในต่างประเทศ พร้อมผลักดันการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Thai Culinary Tourism) และยกระดับมาตรฐาน “Thai Select” สู่ระดับโลก
2. มวยไทย การสร้างกระแส “Muay Thai Bootcamp” ไลฟ์สไตล์สายสุขภาพควบคู่กับการ Detox และสมาธิ พร้อมพัฒนาลีกอาชีพและการแข่งขันมาตรฐานสากล
3. Thai Wellness การผสานศาสตร์นวดไทย สมุนไพร และอาหารสุขภาพ สู่ “Thai Retreat Chain” ที่ให้บริการแบบองค์รวม พร้อมผลักดันสมุนไพร และนวดไทยด้วยฐานวิจัยทางการแพทย์
4. ภาพยนตร์ไทย การส่งเสริมการสร้างสรรค์ ผ่าน “writer’s room” และ “creative lab” สนับสนุนด้วย Cash Rebate และตั้งกองทุน Co-production พร้อมจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ เพื่อเปิดตลาดภาพยนตร์ไทยสู่สากล
5. อัญมณีไทย การยกระดับจาก “ช่าง” สู่ “ศิลปิน” ด้วยการฝึกอบรมและมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกแตะ 1 ล้านล้านบาทใน 5 ปี

รมว.วัฒนธรรม เน้นว่า ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่เพียงวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจ แต่คือเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่สร้างรายได้มหาศาล และประเทศไทยมีทุกองค์ประกอบที่โลกต้องการ ทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความหลากหลาย ความยั่งยืน และความเป็นของแท้ โดยนโยบายในปีที่ผ่านมาเน้นการบูรณาการภาครัฐ-เอกชน และการเปลี่ยนบทบาทภาครัฐจากผู้ควบคุมเป็น "ผู้สนับสนุน" ที่เปิดทางให้เอกชนนำ ดังนั้น งาน SPLASH - Soft Power Forum 2025 ไม่ใช่แค่เวทีแสดงศักยภาพ แต่คือพื้นที่แห่งความร่วมมือ แรงบันดาลใจ และอนาคตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

ขณะที่ นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง เช่น อาหารไทย มวยไทย ภาพยนตร์ แต่ยังขาดระบบสนับสนุนที่ดีพอให้แข่งขันในตลาดโลก จุดนี้คือสิ่งที่รัฐบาลต้องใช้เวลาและความทุ่มเทอย่างมากในการสร้างแบรนด์และความนิยมในระดับนานาชาติ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลทำในวันนี้ อาจใช้เวลาในอีก 10 ปีข้างหน้าในการแสดงผลลัพธ์ แต่วันนี้รัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการส่งเสริมและผลักดันการทำงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยการจัดงาน SPLASH ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของการจัดงาน ในปีที่ผ่านมา ในรูปแบบ Business Showcase ภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โอกาสเปล่งประกาย โดยตั้งเป้าให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยเป็นเครื่องยนต์ใหม่นำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ภายในงานมีโซนกิจกรรมสำคัญ อาทิ เวทีเสวนานานาชาติ การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำระดับโลก โดยได้รับเกียรติจาก นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์หัวข้อ ”Crafting the Future : From OTOP to ThaiWORKS and beyond” ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.30 – 14.20 น. และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์หัวข้อ “Rethinking Thai Sports in Disruptive Era” ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 เวลา 12.45 - 13.45 น. นอกจากนี้พบกับผู้นำทางความคิดจากหลากหลายวงการที่จะมาต่อยอดสร้างแรงบันดาลใจตลอด 4 วันเต็ม รวมทั้งนิทรรศการจาก 14 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ นำเสนอศักยภาพของอุตสาหกรรมในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ พร้อมการโชว์เคสผลงานจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเวิร์กช็อปอบรมพิเศษเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านซอฟต์พาวเวอร์ ให้แก่เยาวชน ผู้ประกอบการ และชุมชน 

งาน SPLASH - Soft Power Forum 2025 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) Hall 1-4 ชั้น G และ L2 ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานได้ฟรีตลอดทั้ง 4 วัน ติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook และ Instagram SPLASH Soft Power Forum

‘พีระพันธุ์’ เดินหน้าปลดล็อกโซลาร์-ปลดภาระค่าไฟ เตรียมชงร่างกม. ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์เข้าครม. เดือนนี้

‘พีระพันธุ์’ พร้อมปลดล็อก ‘โซลาร์รูฟท็อป’ ชงร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เข้า ครม. เดือนนี้ เตรียมจำหน่ายอินเวอร์เตอร์ราคาถูกฝีมือคนไทย มั่นใจลดค่าไฟได้เห็นผล!

(11 ก.ค.68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความก้าวหน้าเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการใน 3 แนวทางเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น โดยแนวทางแรก คือ ให้นำค่าใช้จ่ายติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ไปหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา แนวทางที่ 2 คือ การอำนวยความสะดวกในการติดตั้ง 'โซลาร์รูฟท็อป' ภายใต้ร่างกฎหมายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนแนวทางที่ 3 ก็คือ การจัดหาอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในราคาที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ด้วยการแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรภาคธุรกิจ รวมทั้งการพัฒนาอุปกรณ์อินเวอร์เตอร์ราคาถูกฝีมือคนไทย ซึ่งขณะนี้อุปกรณ์ต้นแบบได้ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการผลิต

นายพีระพันธุ์ได้ระบุถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยอำนวยให้การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ หรือ โซลาร์รูฟท็อป เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยเปลี่ยนจากระบบ 'ขออนุญาต' เป็นระบบ 'แจ้งเพื่อทราบ'  

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถดำเนินการติดตั้งได้เลย โดยปฏิบัติตามระเบียบที่ทางการได้ประกาศไว้ และเมื่อดำเนินการติดตั้งเรียบร้อยแล้วก็แจ้งให้ทางการทราบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถดำเนินการตรวจสอบได้ในภายหลัง  ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยประหยัดเวลาและความซับซ้อนในการขออนุญาตติดตั้งได้อย่างมาก

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังกล่าวถึงแนวทางการจัดหาอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในราคาถูกกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเจรจาขอความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำมาจำหน่ายให้ประชาชนคนไทยในราคาพิเศษ และเพื่อหาโรงงานรองรับการผลิตอุปกรณ์อินเวอร์เตอร์ฝีมือคนไทย ซึ่งขณะนี้เครื่องต้นแบบได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เรียบร้อยแล้ว และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตเพื่อจำหน่ายให้ประชาชนในราคาต่ำเมื่อเทียบกับราคาในท้องตลาด

สำหรับอุปกรณ์อินเวอร์เตอร์ราคาถูกที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานนี้ เป็นผลงานนวัตกรรมของ ‘ครูน้อย’ หรือ นายทวีชัย ไกรดวง จากจังหวัดสกลนคร ผู้ซึ่งสามารถคิดค้นและพัฒนาอินเวอร์เตอร์ต้นแบบ ที่ใช้ร่วมกับแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าในบ้านได้สำเร็จ โดยอินเวอร์เตอร์รุ่นแรกที่จะผลิตออกจำหน่ายนี้ เป็นระบบ On-Grid ขนาด 5 กิโลวัตต์  ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้ไฟในบ้านมาตรฐานทั่วไป และสามารถช่วยลดค่าไฟจากระบบไฟฟ้าปกติอย่างเห็นผล ซึ่งผ่านการทดสอบสำคัญครบ 3 ด้าน ทั้งด้านความปลอดภัยในการเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า (Grid Code) ด้านการป้องกันฝุ่น น้ำ ความร้อน และไฟฟ้ารั่ว (Safety Test)  และด้านการป้องกันสัญญาณรบกวนที่กระทบอุปกรณ์อื่นในบ้าน (EMC Test)  

“การดำเนินงานของกระทรวงพลังงานครั้งนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น ทั้งในบ้านที่อยู่อาศัย ไปจนถึง บริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประชาชนมากขึ้นด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top