Saturday, 15 March 2025
Econbiz

‘พีระพันธุ์’ มอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทย ลดค่าไฟลงจาก 4.18 บาท เหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย

(27 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะประกาศลดค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เม.ย. 2568 จากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค. 2567) ซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย ลงอีก 3 สตางค์/หน่วย หรือค่าไฟฟ้าจะลดลงเหลือ 4.15 บาท/หน่วย โดยจะมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค-เม.ย. 2568 ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและเป็นของขวัญปีใหม่ 2568 ให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคน

“ผมเพิ่งได้รับแจ้งเบื้องต้นเป็นข่าวดีจากทางสำนักงาน กกพ. ซึ่งจะปรับลดค่าไฟในงวดหน้า (ม.ค.-เม.ย.2568) ลงได้อีก และเหลือเฉลี่ยหน่วยละ 4.15 บาท หลังจากที่ผมได้ขอให้ทุกหน่วยงานได้ไปลองดูว่าจะสามารถลดค่าไฟลงได้อีกหรือไม่ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้พี่ น้องประชาชน ในนามรัฐบาลและกระทรวงพลังงานขอถือโอกาสนี้มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับทุกท่าน และขอขอบคุณ กกพ.ในฐานะหน่วยงานหลักขอบคุณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และปตท.ในการร่วมกันกับรัฐบาลช่วยเหลือพี่ น้องประชาชน” นายพีระพันธุ์กล่าว

ภายหลังจากสิ้นสุดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในวันนี้ (27 พ.ย.) ได้มีมติเห็นชอบทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และค่าไฟฟ้าเรียกเก็บงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2568 โดยให้เรียกเก็บลดลงเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย เป็นผลจากการที่ได้มีการทบทวนตัวเลข และประมาณการที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กกพ.จะได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

ดาต้าเซ็นเตอร์-โลจิสติกส์ โตรับตลาดอีวีในไทย ส่วนนิคมอุตฯได้อานิสงส์ 'ทรัมป์ 2.0' ดันราคาที่ดินพุ่ง

(27 พ.ย.67) เจแอลแอล (JLL) บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย พร้อมเผยความสำเร็จในการบริหารจัดการพื้นที่เช่าที่ยอดเยี่ยม โดยคาดว่าผลรวมพื้นที่เช่าของบริษัทในสิ้นปีนี้จะถึง 7.5 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ยังได้เปิดมุมมองในแง่ของเทรนด์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยระบุว่า ตลาดอาคารสำนักงานไม่น่ากังวล แต่กำลังเห็นการย้ายจากอาคารเก่าที่คุณภาพต่ำไปยังอาคารใหม่ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ส่วนในภาคอุตสาหกรรม การพัฒนา ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ ยังถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้น แม้กระแสความต้องการจะร้อนแรงก็ตาม

นายไมเคิล แกลนซี่ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในยุคแรก ๆ โครงการอสังหาริมทรัพย์ในไทยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่มีการใช้งานแบบเดี่ยว ๆ แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาไปเป็นโครงการมิกซ์ยูส (Mixed-Use) ที่นำอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ มาผสมผสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ โดยมีการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่มีความทันสมัย ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานในหลากหลายรูปแบบของผู้เช่า

สำหรับตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ นายไมเคิลกล่าวว่า อาคารเก่าในกรุงเทพฯ จำนวนมากกำลังเผชิญกับความท้าทายในการแข่งขันกับอาคารใหม่ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้เจ้าของอาคารเก่าต้องทำการปรับปรุงหรืออัปเกรด เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด ซึ่งเทรนด์ Flight to Quality หรือการย้ายไปยังอาคารที่มีคุณภาพดีกว่า จะยังคงเป็นกระแสที่แข็งแกร่งในตลอดปี 2024 และปี 2025

นายไมเคิลเสริมว่า แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2024 จะมีความท้าทาย แต่ตลาดอาคารสำนักงานกลับคึกคัก โดยหลายบริษัทเริ่มย้ายจากอาคารเก่ามายังอาคารใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่า ซึ่งแนวโน้มนี้คาดว่าจะดำเนินต่อไปในปี 2025 เนื่องจากมีโครงการใหม่ ๆ ที่จะเปิดตัวในปีหน้า และหลายบริษัทเตรียมย้ายออฟฟิศ

"แม้ราคาค่าเช่าจะสูงขึ้น แต่เทรนด์ Flight to Quality จะยังคงมีความสำคัญอย่างมาก โดยบริษัทต่าง ๆ ยังต้องการย้ายออกจากอาคารเก่าไปยังออฟฟิศใหม่ที่มีมาตรฐานสูง การเติบโตของอาคารสำนักงานในประเทศไทยจะยังเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง" 

นอกจากนี้นายแกลนซี่ ยังกล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มาแรงในปี 2568 ว่า ในปีหน้าต้องยกให้ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์มาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากมีนักลงทุนเข้ามาสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอย่างมาก สะท้อนจากการที่มีนักลงทุนเข้ามาดูทำเลในเขตนิคมขนาดใหญ่ เช่น พื้นที่ EEC พื้นที่ย่านสมุทรปราการ รวมถึงตอนเหนือของกรุงเทพฯ 

ส่วนธุรกิจรองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากอานิสงส์ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งมีความต้องการใช้พื้นที่ตั้งแต่ 20 ถึง 1,000 ไร่

นายแกลนซี่ ยังกล่าวถึง ผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะทำให้หลายภาคอุตสาหกรรมพิจารณาย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย คาดว่าจะส่งผลให้ราคาที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวสูงขึ้นไปอีก

อีกสองธุรกิจที่มีแนวโน้มน่าจับตาคือ ธุรกิจโรงแรม และอาคารสำนักงาน โดยธุรกิจโรงแรมได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งเปิดใหม่และซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ขณะที่อาคารสำนักงานให้เช่า จะเติบโตจากการเปิดโครงการขนาดใหญ่ที่มีความทันสมัยในพื้นที่ใจกลางกรุง

ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยปี 2568 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะตลาดเช่า เนื่องจากปัญหาการกู้สินเชื่อไม่ผ่านยังสูง และเทรนด์คนรุ่นใหม่สนใจเช่ามากกว่าซื้อ คาดว่าจะดันราคาเช่าคอนโดในเขตกรุงเทพสูงอีก 40%

ททท. ประกาศผลผู้ชนะ ‘TAT Travel Tech Startup 2024’ ทีม HAUP คว้าชัย พร้อมได้อีก 11 ทีม หัวกะทิ Travel Tech

เมื่อวันที่ (26 พ.ย. 67) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศผลผู้ชนะโครงการ TAT Travel Tech Startup 2024 กิจกรรมบ่มเพาะและโจทย์ด้านการท่องเที่ยวสุดท้าทาย ภายใต้แนวคิด WORLD & ME โดยทีมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่มีแผนธุรกิจที่โดดเด่นและได้รับคัดเลือกคะแนนสูงสุด

โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ทีม HAUP  / ทีม CERO / ทีม Carbonwize จากทั้งหมด 12 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก นายอัครวิชย์ เทพาสิต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ททท. มอบรางวัลแก่ผู้ชนะ ณ SCBX NEXT TECH ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร

นายอัครวิชย์ เทพาสิต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า โครงการ TAT Travel Tech Startup 2024 สะท้อนความตั้งใจของ ททท. ในการยกระดับห่วงโซ่อุปทาน (Shape Supply) โดยเฉพาะการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการรายย่อย หรือ สตาร์ทอัพ ผ่านการบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปัจจุบัน 

รวมทั้งสร้างโอกาสความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าคุณภาพ และมาตรฐานแก่สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย IGNITE Thailand’s Tourism ของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นสร้างความประทับใจในทุก Touch Point ของการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพและโอกาสการแข่งขันในตลาดโลกแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยในอนาคต

การประกวด TAT Travel Tech Startup ครั้งนี้ กำหนดภายใต้แนวคิด WORLD & ME โลกและเรา ท่องเที่ยวแบบห่วงใย ใส่ใจ ให้ทั้งโลกยังสวยงามและธุรกิจของเราเติบโตยั่งยืนไปด้วยกัน โดยอาศัยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมที่ทำได้จริง ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว โดยผู้เข้าร่วมประกวดจะมีโอกาสในการร่วมงานกับ ททท. และพันธมิตรที่ร่วมดำเนินโครงการฯ ในการนำเทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว มาใช้รองรับเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในตลาดท่องเที่ยวที่เหมาะสม ถือเป็นโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจของ Startup อีกทางหนึ่ง โดยการจัดแข่งขันในรอบสุดท้ายและมอบรางวัล ในงาน Opportunity Day  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ณ SCBX NEXT TECH ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร

สำหรับทีม Startup ที่คว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรมทางการท่องเที่ยวไปครอง โดยนายอัครวิชย์ เทพาสิต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  ททท. เป็นประธานมอบรางวัลแก่ผู้ชนะ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีม HAUP รับเงินรางวัล 200,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม CERO รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ทีม Carbonwize เงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร 

ซึ่งผู้ชนะทั้ง 3 ทีม ยังได้รับสิทธิ์ประโยชน์ต่าง ๆ จาก พันธมิตรในโครงการ อาทิ โอกาสเข้าร่วมงาน Startup Showcase ที่งาน Startup Thailand Event 2025 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ NIA 

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากพันธมิตรที่เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนโครงการนี้ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), ธนาคาร SME D BANK, สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย, บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, SCBx NEXT TECH, The Able By KING POWER, ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC), บริษัท เดนท์สุ (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย, Mission To The Moon, Greenery Media และ The States Times เข้าร่วมแสดงความยินดี พร้อมทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจในโครงการ Travel Tech Startup  สามารถติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขัน การทำกิจกรรมต่างๆของโครงการ ได้ที่ Page Facebook: TAT Startup Thailand และ www.TATStartup.com

'การบินไทย' ขายหุ้นเพิ่มทุน 4.48 บาท ระดม 44,000 ล้านบาท 6-12 ธ.ค.นี้ มั่นใจเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ

(27 พ.ย.67) 'การบินไทย' เผยผลตอบรับการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการดีเกินคาด มีเจ้าหนี้แสดงเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมทะลัก 3 เท่าตัว เดินหน้าสู่เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีก 9,822.5 ล้านหุ้น ให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงาน และ Private Placement มูลค่าไม่เกิน 44,004.7 ล้านบาท ที่ราคาเสนอขาย 4.48 บาทต่อหุ้น ระหว่าง 6-12 ธันวาคม 2567

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การบินไทย ขอขอบคุณทุกการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตลอดระยะเวลาในช่วงฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา ที่ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการนำพาการบินไทยบรรลุผลสำเร็จที่คาดหวังไว้ เราได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับกลยุทธ์การบริหารต้นทุนเพื่อลดค่าใช้จ่าย ปรับฝูงบินและเส้นทางการบิน เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างกำไรในทุกเส้นทางบิน สู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนที่เปี่ยมศักยภาพกว่าที่เคย ในวันนี้การบินไทยประสบผลสำเร็จจากกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนซึ่งประกอบด้วย (1) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) คิดเป็นมูลค่า 37,601.9 ล้านบาท โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 14,773.7 ล้านหุ้น 

โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5, กลุ่มที่ 6 (สถาบันการเงิน) และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50 และ (2) การใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) ซึ่งในระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท พร้อมทั้ง (3) การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น สุทธิภาษีหัก ณ ที่จ่ายรวม (1) – (3) คิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งสิ้นมูลค่า 53,453.2 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของการบินไทยกลายเป็นบวกภายในสิ้นปีนี้ อันเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินในระดับสากล การบินไทยจะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนถัดไป ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามข้อมูลที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่มีที่อยู่ในประเทศไทย และพนักงานของการบินไทย ตามลำดับ ในราคา 4.48 บาทต่อหุ้น 

โดยสามารถจองซื้อและชำระเงินระหว่างวันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2567 ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด ทั้งนี้ หากมีหุ้นสามัญคงเหลือจากการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานของบริษัทฯ ตามลำดับ จะดำเนินการเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ที่ราคาเสนอขายเดียวกันต่อไป โดยการกำหนดราคาดังกล่าวที่กำหนดโดยผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีความเหมาะสม โดยการพิจารณาจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง การประเมินมูลค่ายุติธรรม ทั้งจากวิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนตลาด (Market Comparable Approach) เช่น อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Enterprise Value to EBITDA Ratio: EV/EBITDA) อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio: P/E) และวิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดของกิจการ (Discounted Cash Flow) ข้อจำกัดและโครงสร้างการเสนอขายภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ความเสี่ยงของนักลงทุนจากการที่ต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนกว่าที่หุ้นจะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดจนประโยชน์และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทฯ มีโอกาสได้รับเงินทุนจากการเสนอขายที่เหมาะสม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลประกอบการของการบินไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 แสดงถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งและความก้าวหน้าในการฟื้นฟูกิจการ โดยมีจำนวนผู้โดยสารกว่า 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) อยู่ที่ 47,778 ล้าน ASK เพิ่มขึ้น 19.2% สะท้อนถึงศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากแผนฟื้นฟูกิจการที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า  

ในส่วนของกำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 24,191 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไร 29,330 ล้านบาท EBITDA ของงวดนี้อยู่ที่ 33,742 ล้านบาท เทียบกับ 37,590 ล้านบาทในปีก่อน การลดลงดังกล่าวเกิดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าซ่อมบำรุงอากาศยานที่สูงขึ้นตามจำนวนเครื่องบินใหม่ ค่าบริการการบินที่เพิ่มขึ้นทั้งจากจำนวนเที่ยวบินและอัตราค่าบริการต่อเที่ยว ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านการขายและโฆษณาที่เพิ่มตามปริมาณการจองเที่ยวบิน  

อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่าการลงทุนเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และช่วยให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้”

พลังงาน - กกพ. ปรับลดค่าไฟฟ้า ม.ค.- เม.ย. 2568 เหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่เสนอ 5.49 บาทต่อหน่วย ยืดจ่ายคืนหนี้ กฟผ.-ปตท. ช่วยลดภาระประชาชน

(28 พ.ย. 67) นายสยาม บางกุลธรรม ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์อธิบายถึงการลดค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เม.ย. 2568 จากปัจจุบัน 4.18 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย โดยสรุปใจความสำคัญ ว่า ปัจจุบันค่าไฟหน่วยละ 4.18 บาท และตั้งแต่ 1 ม.ค. 68 ทาง กกพ. เสนอปรับขึ้นเป็น 5.49 บาท แต่พี่ตุ๋ย- พีระพันธุ์  เสนอที่ 4.15 บาท เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และกฟผ.ยังชำระหนี้ได้ 13,000 ล้านบาท สมมติปัจจุบัน ใช้ไฟ 1,000 หน่วย/เดือน เท่ากับจ่ายอยู่ 4,180 บาท ถ้ายึดตามตัวเลข กกพ. ต้องจ่าย 5,490 บาท แต่ถ้าตามตัวเลขที่พี่ตุ๋ย เสนอ เราจะจ่ายเพียง 4,150 บาท ส่วนต่างคือเดือนละ 1,340 บาท”

โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 โดยการพิจารณาค่าไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 แนวทาง ดังนี้

กรณีที่ 1 ค่า Ft เท่ากับ 170.71 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.49 บาทต่อหน่วย โดยกรณีนี้จะเป็นการจ่ายหนี้คืน กฟผ.ทั้งหมด 85,236 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 131.01 สตางค์ต่อหน่วย) รวมค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 หรือ AFGAS ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ (กฟผ. และ ปตท.) จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 23.18 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นจำนวน 154.19 สตางค์ต่อหน่วย

กรณีที่ 2 ค่า Ft เท่ากับ 147.53 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 5.26 บาทต่อหน่วย โดยกรณีนี้ กฟผ.จะได้รับการทยอยชำระหนี้คืน 85,236 ล้านบาท ภายในเดือน เม.ย. 2568

และกรณีที่ 3 กรณีตรึงค่า Ft เท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) เท่ากับ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยคงที่เท่ากับ 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งกรณีนี้จะทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้าง ( AF) ที่ค้างสะสมได้จำนวน 15,094 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 23.20 สตางค์ต่อหน่วย) โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2568 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ (กฟผ. และ ปตท.) รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 85,226 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสิ้นสุดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 ได้มีมติเห็นชอบทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และค่าไฟฟ้าเรียกเก็บงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 โดยให้เรียกเก็บลดลงเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย เป็นผลจากการที่ได้มีการทบทวนตัวเลข และประมาณการที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กกพ.จะได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

'เอกนัฏ' เซฟฐานการผลิตรถญี่ปุ่นในไทย หลังบินคุย 6 บริษัทใหญ่สำเร็จ ดึงลงทุนเพิ่ม 1.2 แสนล้าน

(28 พ.ย. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย หลังจากมีข่าวบริษัทผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ปลดคนงาน โดยระบุว่า แรงงาน 4.45 แสนคนยังได้ไปต่อ... 'เอกนัฏ' เซฟฐานการผลิตรถญี่ปุ่นในไทย หลังบินคุย 6 บริษัทใหญ่สำเร็จ ดึงลงทุนเพิ่ม 1.2 แสนล้าน

ทั้งนี้ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้เข้าพบหารือกับ นายมุโต โยจิ รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ญี่ปุ่นที่ METI มีความร่วมมืออันดีที่มีต่อไทย และย้ำถึงความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรที่ยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันได้หารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็น Product champion ได้แก่ รถปิคอัพ และ Eco car ที่กำลังถูกดิสรัป (Disrupt) จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (xEV)

พร้อมทั้งได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้สร้างฐานการผลิตในไทยจำนวน 6 บริษัทแบบตัวต่อตัว (One to One) โดยได้พบหารือกับผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ โตโยต้า มาสด้า มิตซูบิชิ และอีซูซุ และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ ฮอนด้า และนิสสัน ซึ่งได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในไทยหดตัวลงอย่างมาก เนื่องจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของไฟแนนซ์ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว รวมทั้งปัญหาค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็น Product Champions ของไทย ได้แก่ รถปิกอัพ และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car)

อย่างไรก็ตาม ผลหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายญี่ปุ่นได้รับสัญญาณบวกที่ชัดเจนว่า ทุกบริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทย และจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) และรถยนต์ไฮบริด เพื่อตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก (ทั้งในรูปแบบของรถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนครบชุด) โดยคาดว่า ในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้ มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 120,000 ล้านบาท 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมใช้ปัญญาประดิษฐ์ ปราบโกง ตรวจจับความผิดปกติหุ้น เตือนนักลงทุนได้ทันท่วงที

(28 พ.ย.67) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวางแผนใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน ท่ามกลางกรณีการฉ้อโกงที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา  

นาย อัสสเดช คงสิริ ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การใช้ AI จะช่วยตรวจจับความผิดปกติของราคาหุ้นและพฤติกรรมการซื้อขายได้อย่างรวดเร็ว พร้อมแจ้งเตือนนักลงทุนทันท่วงที ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเตือนล่าช้าและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ทันเวลา อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยลดลง  

"ทุกวันเราต้องติดตามข่าวสารและรายงานมากถึง 300 รายการเกี่ยวกับความผิดปกติของบริษัทจดทะเบียน การนำ AI มาใช้จะช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และส่งมอบการแจ้งเตือนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" นายอัศเดชกล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา  

ความคืบหน้าดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ ทางการกำลังเพิ่มมาตรฐานเพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดทุนไทย หลังจากมีกรณีฉ้อโกงของบริษัทในตลาดหลายกรณีตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

‘ดีเอสไอ’ แจงภาพข่าว ‘ดีเอสไอสอบผู้บริหารปตท. ทุจริต’ เป็นข่าวเท็จ ชี้! หากมีการตรวจสอบและออกข่าวจริง ต้องทำอย่างเป็นทางการ

(28 พ.ย.67) โฆษกดีเอสไอ เผยภาพข่าว ‘ดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวนข้อกล่าวหาผู้บริหาร ปตท. และ โออาร์ ทำธุรกรรมการซื้อขายไบโอดีเซล B100 กับบริษัทในเครืออย่างผิดปกติ’ จากการตรวจสอบพบเป็น ‘ข่าวเท็จ’ ขณะที่ ตลท.ขอให้ PTT-OR-DSI แจงข่าวเข้าตรวจสอบกรณีบังคับขายบี 100 จาก GGC ในราคาต่ำ

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า จากที่มีภาพข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า ดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวนข้อกล่าวหาผู้บริหาร บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ว่าได้ทำธุรกรรมการซื้อขายไบโอดีเซล B100 กับบริษัทในเครืออย่างผิดปกตินั้น ทางดีเอสไอได้ตรวจสอบภาพข่าวดังกล่าว ภาพที่ปรากฏไม่ใช่ภาพประชาสัมพันธ์ของดีเอสไอ เพราะหากมีการตรวจสอบและออกข่าวจริง จะต้องเป็นภาพที่เป็นทางการจากดีเอสไอเพราะเป็นหน่วยงานราชการ ซึ่งเรื่องการตรวจสอบ บจ.ต่างๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การจะดำเนินการจะต้องรอบคอบ จะต้องมีการนำเสนอเชิงลึกก่อนเปิดเผยประชาสัมพันธ์ ซึ่งกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะมีการสอบถามเข้ามา ทางดีเอสไอพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ได้ประสานและสอบถามไปยัง PTT และ OR รวมถึงดีเอสไอขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวนข้อกล่าวหาผู้บริหาร PTT และ OR ว่าได้ทำธุรกรรมการซื้อขายไบโอดีเซล B100 กับบริษัทในเครืออย่างผิดปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพข่าวที่ออกมาตามสื่อออนไลน์ระบุว่า การสอบสวนสืบเนื่องจากนายสยามราช ผ่องสกุล อ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นของ PTT บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ยื่นคำร้องต่อดีเอสไอตั้งแต่ปี 66 ขอให้สืบสวนว่า OR ได้สั่งให้ GGC ขาย B100 ราคาต่ำกว่าราคาแนะนำให้รับซื้อ ของสำนักงานนโยบายบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทำให้ GGC ขายในราคาขาดทุน เป็นการผ่องถ่ายกำไรของ GGC มายัง OR ผู้ยื่นคำร้องระบุการกระทำนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดในลักษณะการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน หรือการถ่ายโอนกำไรระหว่างกันของบริษัทในเครือ อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 281/2 มาครา 307 และ มาตรา 311 และเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343

ปตท. ชวนสัมผัส ‘งานมหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว’ ชมทิวลิปบานกลางกรุง ที่สวนหลวง ร.๙ ตั้งแต่ 1 - 10 ธ.ค.นี้

กลับมาอีกครั้ง กับทุก ๆ ช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ชื่นชอบความสวยงามของดอกไม้นานาชนิดไม่ควรพลาด กับงาน “มหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว ทิวลิปบานที่สวนหลวง ร.๙” ประจำปี 2567 ระหว่าง 1 – 10 ธันวาคม 2567 โดยในปีนี้ทาง ปตท. เชิญชวนให้มาสัมผัสความงดงามของพรรณไม้เมืองหนาว ที่จะขึ้นภายใต้แนวคิด 'The Charming of Colorful Town'

โดยได้จำลองบรรยากาศเมืองแห่งสีสันในยุโรป มาไว้ภายใน อาคารถกลพระเกียรติ สวนหลวง ร.๙ เพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้เพลิดเพลินไปกับดอกไม้เมืองหนาวสุดพิเศษอย่างดอกทิวลิปหลากสี ไฮเดรนเยีย และไม้เมืองหนาวนานาพรรณ 

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในงานยังจะมี สตรอว์เบอร์รีเกรดพรีเมียม ที่ปลูกโดยใช้พลังงานความเย็นจากกระบวนการแปรสภาพ LNG นวัตกรรมสุดล้ำที่สะท้อนถึงความยั่งยืน พร้อมอิ่มอร่อยกับเมนูสร้างสรรค์ทั้งขนมและเครื่องดื่มจากสตรอว์เบอร์รีคุณภาพโดยแบรนด์ Harumiki ที่ใช้สตรอว์เบอร์รีญี่ปุ่นพรีเมียมเป็นวัตถุดิบ ยกขบวนมาเสิร์ฟแบบจัดเต็มในงานนี้อีกด้วย

มาร่วมเก็บภาพความทรงจำสุดประทับใจในมุมถ่ายภาพสวย ๆ เหมือนเดินอยู่ในเมืองยุโรป พร้อมเลือกซื้อของฝากสุดพิเศษ ได้ตั้งแต่วัน วันที่ 1 - 10 ธันวาคม 2567 เวลาเข้าชม: 09.00-19.00 น. ค่าผ่านประตูสวนหลวง ร.๙ คนละ 10 บาท และ ค่าจอดรถคันละ 50 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานมูลนิธิสวนหลวง ร.๙ โทร. 0 2328 1385

ททท. - มิชลิน เปิด 462 ลิสต์ ร้านอาหารชวนกิน ‘ศรณ์’ คว้ารางวัล ‘สามดาวมิชลิน’ ร้านแรกในไทย

เมื่อวันที่ (28 พ.ย.67) ททท. และมิชลิน จัดงานเปิดตัวคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568  (The MICHELIN Guide Thailand 2025) ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพ โดยเปิดรายชื่อ 462 ร้านที่ผ่านการคัดสรร ให้ตีพิมพ์ลงในคู่มือฯ ฉบับล่าสุดแล้ว ทั้งประกาศข่าวดี  ‘ศรณ์’ ได้รับการประกาศชื่อเป็นร้านอาหารที่คว้ารางวัลระดับ ‘สามดาวมิชลิน’ อันทรงเกียรติมาครองได้สำเร็จเป็นร้านแรกในไทย และยังมีพิธีมอบรางวัลและฉลองความสำเร็จให้กับบุคลากรและทีมงานร้านอาหารที่ได้รับรางวัล ‘ดาวมิชลิน’ และรางวัลพิเศษอื่น ๆ อีกด้วย

คู่มือฉบับปีล่าสุดนี้บรรจุรายชื่อร้านอาหารที่ผ่านการคัดสรรรวมทั้งสิ้น 462 แห่ง เป็นร้านที่ได้รับรางวัล ‘สามดาวมิชลิน’ 1 ร้าน (เลื่อนระดับจาก ‘สองดาวมิชลิน’), รางวัล ‘สองดาวมิชลิน’ 7 ร้าน (เลื่อนระดับจาก ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ 1 ร้าน), รางวัล ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ 28 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 4 ร้าน และเลื่อนระดับจาก MICHELIN Selected 1 ร้าน), รางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ 156 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 20 ร้าน) และร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected อีก 270 ร้าน  (ติดอันดับครั้งแรก 44 ร้าน) โดยในจำนวนร้านใหม่ที่ติดอันดับครั้งแรกในคู่มือฯ ฉบับล่าสุดซึ่งเป็นฉบับที่ 8 ของไทย เป็นร้านที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี ซึ่ง ‘มิชลิน ไกด์’ ขยายขอบเขตเข้าดำเนินการสำรวจและจัดอันดับเป็นปีแรก รวมทั้งสิ้น 20 ร้าน (ร้านระดับ ‘บิบ กูร์มองด์’ 5 ร้าน และร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected 15 ร้าน)

เกว็นดัล ปูลเล็นเนค (Gwendal Poullennec) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทั่วโลก กล่าวแสดงความเห็นว่า “การที่ประเทศไทยมีร้านอาหารได้รับรางวัล ‘สามดาวมิชลิน’ เป็นร้านแรก ทำให้ปี 2568 เป็นปีสำคัญของไทยในหน้าประวัติศาสตร์แวดวงอาหารระดับสากล  รายชื่อร้านอาหารที่ผ่านการคัดสรรเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนความรุ่มรวยและหลากหลายของอาหารไทย แต่ยังแสดงให้เห็นว่าศาสตร์และศิลป์ด้านอาหารการกินของไทยโอบรับวัฒนธรรม ความทันสมัย และเทรนด์ใหม่ ๆ เอาไว้อย่างลงตัว”

‘ศรณ์’ สร้างประวัติศาสตร์ คว้า ‘สามดาวมิชลิน’ มาครองเป็นร้านแรกในไทย  
ศรณ์ ร้านอาหารใต้ที่ถ่ายทอดศิลปะการปรุงอาหารผ่านฝีมืออันเป็นเลิศ ตลอดจนการผสมผสานอย่าง  ลงตัวระหว่างตำรับโบราณและนวัตกรรมสมัยใหม่ รังสรรค์อาหารขึ้นอย่างประณีต พิถีพิถัน และลุ่มลึก นำเสนอประสบการณ์การรับประทานที่น่าตื่นเต้นและกลมกล่อมอย่างไม่มีที่ติซึ่งได้รับการจัดอันดับในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2562 เป็นครั้งแรก โดยได้รับรางวัล ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ เพียงหนึ่งปีต่อมาก็ได้รับการเลื่อนระดับเป็นร้าน ‘สองดาวมิชลิน’ และสามารถครองสถานะระดับ ‘สองดาวมิชลิน’ เอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปี และล่าสุดก้าวสู่การเป็นร้านอาหารระดับตำนานในฐานะที่คว้ารางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดระดับ ‘สามดาวมิชลิน’ มาครองเป็นร้านแรกในประเทศไทย ตอกย้ำถึงความเป็นเลิศ คุณภาพ และความสม่ำเสมอ  กลายเป็นสุดยอดร้านอาหารที่ควรค่าแก่การเป็นจุดหมายปลายทางที่ควรดั้นด้นเดินทางเพื่อไปชิมสักครั้ง

รางวัล ‘สองดาวมิชลิน’ มีร้านติดอันดับเพิ่มหนึ่งแห่ง คือ ‘โค้ท บาย เมาโร โคลาเกรคโค’ ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568 มีร้านอาหารคว้ารางวัลระดับ ‘สองดาวมิชลิน’ เพิ่มขึ้นเพียงร้านเดียว โดยได้รับการเลื่อนระดับจาก ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ คือ โค้ท บาย เมาโร โคลาเกรคโค

สำหรับร้านอาหาร บ้านเทพา, เชฟส์เทเบิล, กา, เมซซาลูน่า, อาหาร และซูห์ริง ยังคงครองสถานะ    ‘สองดาวมิชลิน’ เอาไว้ได้ ทำให้ประเทศไทยมีร้านระดับ ‘สองดาวมิชลิน’ จำนวนทั้งสิ้น 7 ร้าน

รางวัล ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ มีร้านติดอันดับเพิ่มขึ้น 5 ร้าน
สำหรับรางวัล ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ ซึ่งมีร้านใหม่ติดโผ 5 ร้าน ในจำนวนนี้ 4 ร้านได้รับการจัดอันดับในคู่มือ  ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย เป็นครั้งแรก ได้แก่ อัคคี จังหวัดนนทบุรี, เอวองท์ กทม.,  โกท กทม.และ อาวลิส จังหวัดพังงา ส่วนอีก 1 ร้านได้รับการเลื่อนระดับจากร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected คือ โคด้า

รางวัล MICHELIN Green Star หรือ 'ดาวมิชลินรักษ์โลก' มีร้านติดอันดับเพิ่มขึ้นหนึ่งร้าน คือ ‘บ้านเทพา’

นอกจาก พรุ, ฮาโอมา และ จำปา ซึ่งครองรางวัล MICHELIN Green Star หรือ 'ดาวมิชลินรักษ์โลก' ที่มอบให้กับร้านอาหารซึ่งดำเนินกิจการและมีแนวปฏิบัติประจำวันด้านการประกอบอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแล้ว ยังมีร้านอาหารร่วมครองรางวัลนี้อีก 1 ร้านในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568 ได้แก่ บ้านเทพา ร้านอาหารไทยร่วมสมัยที่เชฟและทีมงานไม่เพียงทุ่มเทใส่ใจในเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังริเริ่มโครงการเพื่อขับเคลื่อนชุมชนให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย 

รางวัลพิเศษ 4 รางวัล
ปัจจุบัน คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย มอบรางวัลพิเศษรวม 4 รางวัล ให้กับบุคลากรมืออาชีพจากร้านอาหารที่ติดอันดับในคู่มือฯ ซึ่งมีความสามารถโดดเด่นและมีบทบาทในการยกระดับประสบการณ์ด้านอาหารให้ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น

รางวัล MICHELIN Guide Young Chef Award
MICHELIN Guide Young Chef Award เป็นรางวัลพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนโดย 'บลองแปง' (Blancpain) แบรนด์นาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์ รางวัลนี้มอบให้กับสุดยอดเชฟรุ่นใหม่ที่แสดงศักยภาพโดดเด่นตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ด้วยคุณสมบัติและทักษะความสามารถในการรังสรรค์อาหารอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2568 คือ 'อู๋' สิทธิกร จันทป เชฟและเจ้าของร้านอัคคี

รางวัล MICHELIN Guide Opening of the Year Award
MICHELIN Guide Opening of the Year Award เป็นรางวัลที่ได้รับการสนับสนุนโดยธนาคารยูโอบี (UOB) มอบให้กับบุคลากรและทีมงานซึ่งประสบความสำเร็จในการเปิดร้านอาหารใหม่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยมีแนวคิดที่โดดเด่นในการนำเสนออาหารอย่างสร้างสรรค์ จนกลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจจากวงการอาหารในประเทศ สำหรับผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2568 คือ ดิมิทริออส มูดิออส (Dimitrios Moudios) เชฟและเจ้าของร่วม (Co-Owner Chef) ของร้าน Ōre  

รางวัล MICHELIN Guide Service Award
MICHELIN Guide Service Award เป็นรางวัลที่ได้รับการสนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มอบให้สุดยอดบุคลากรของร้านอาหารที่ทุ่มเทให้กับการบริการเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การทานอาหารที่ยอดเยี่ยม สำหรับผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2568 คือ ยุพา สุขเกษม ผู้จัดการร้านบ้านเทพา  

รางวัล MICHELIN Guide Sommelier Award 
MICHELIN Guide Sommelier Award เป็นรางวัลที่มอบให้กับ 'ซอมเมอลิเยร์' หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น โดยให้บริการอย่างมืออาชีพ และมีความชำนาญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับไวน์ชนิดต่าง ๆ รวมถึงการจับคู่ไวน์กับเมนูอาหาร เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ด้านอรรถรสสูงสุด โดยผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2568 คือ ฐานสิทธิ์ วาสินนท์ จากร้าน โค้ท บาย เมาโร โคลาเกรคโค ณ โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top