Thursday, 6 February 2025
Econbiz

‘พีระพันธุ์’ เตรียมชง กม.ตั้ง SPR เข้าสภาต้นปี 68 เร่งร่าง กม.ช่วยชาวสวนปาล์ม - ชี้ Gas Pool ช่วยคุมค่าไฟฟ้า

‘พีระพันธุ์’ เผยความคืบหน้านโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' ทั้งในส่วนของการเตรียมเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อประชาชนหลุดพ้นกับดักราคาที่ต้องขึ้นลงตามตลาดโลก พร้อมเตรียมร่างกฎหมายปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มให้มีทางออก สร้างมูลค่าเพิ่มโดยยกโมเดลกฎหมายอ้อยและน้ำตาลเป็นต้นแบบ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า ภายหลังกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเลิกชดเชย

วันนี้ (25 พ.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้านโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' ว่า ประเด็นหลักด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนคือเรื่อง ไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งที่ผ่านมาบางเรื่องอยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงพลังงาน  บางเรื่องก็อยู่ในอำนาจที่จะบริหารจัดการได้ จึงพยายามแก้ปัญหาให้รัฐบาลมีอำนาจเข้ามาดูแลช่วยเหลือประชาชนให้มากที่สุด

ในส่วนของก๊าซนั้นได้แก้ไขการกำหนดราคาก๊าซใน Gas Pool ไปเมื่อต้นปีนี้ ทำให้สามารถควบคุมค่าไฟฟ้าได้ระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องน้ำมันปัญหาหลักมีสองส่วน ส่วนแรกคือราคาเนื้อน้ำมันที่ขึ้นลงตามตลาดโลกอยู่นอกเหนือการควบคุมเช่นเดียวกับราคาก๊าซที่นำมาผลิตไฟฟ้า ส่วนที่สองคือการจัดเก็บภาษี ส่วนแรกอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงานที่กำลังคิดหาทางแก้ไข ส่วนที่สองอยู่ในอำนาจของกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามขอความร่วมมือตลอดมา เพื่อลดราคาพลังงานให้ประชาชน ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

อย่างไรก็ตามรัฐบาล อยู่ระหว่างการเตรียมนำร่างกฎหมายเข้าสภาเพื่อให้กระทรวงพลังงานมีอำนาจในการบริหารจัดการราคาพลังงานในหลายๆ มิติ ซึ่งที่ผ่านมา ที่สามารถดำเนินการได้สำเร็จแล้วคือ การให้ผู้ค้าน้ำมันต้องเปิดเผยต้นทุนราคาน้ำมันนำเข้าที่แท้จริง ส่วนร่างกฎหมายน้ำมัน SPR หรือ Strategic Petroleum Reserve ระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ อยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้ารัฐสภาในต้นปี 2568 ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ ก็จะทำให้กระทรวงพลังงานสามารถบริหารจัดการด้านน้ำมันได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ระบบ SPR จะเป็นแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันแบบที่สากลใช้กันในกลุ่ม IEA หรือองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) โดยใช้การบริหารกลไกราคาน้ำมันโดยใช้ปริมาณน้ำมันในสต็อก ซึ่งไม่ได้ใช้เงินในการอุดหนุนเหมือนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของเราที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยจะทำให้ไทยมีระบบสำรองน้ำมันเป็นของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาคเอกชนอย่างเดียว

สำหรับการแก้ปัญหาราคาน้ำมันไบโอดีเซล หรือ B100 ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมในการแก้ปัญหาหลังสิ้นสุดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2569 พร้อมหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อย กับน้ำตาลทราย ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2527 มาปรับใช้ ซึ่งได้หารือกับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมี นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการ และ คาดว่าภายใน 5-6 เดือน หลังจากนี้จะเริ่มเห็นรูปร่างของโครงการชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในอดีตน้ำมันปาล์มดิบถูกนํามาใช้ประโยชน์ในช่วงที่น้ำมันดีเซลมีราคาแพงโดยนํามาผสมกับดีเซล ทําให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาถูกลงเรียกว่า น้ำมันไบโอดีเซล หรือ บี100 แต่ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบ อยู่ที่ 41-42 บาท/ลิตร ซึ่งแพงกว่าเนื้อน้ำมันดีเซลที่นํามาผสมเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทําให้ราคาน้ำมันในประเทศแพงขึ้น และต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยเพื่อให้ราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งเหลือเวลาให้ชดเชยได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกัน ด้านเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันก็เริ่มมีปัญหาส่วนแบ่งราคากับโรงสกัด และผลประโยชน์จากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ไปไม่ถึงเกษตรกรอย่างที่ควรจะได้รับ ทั้งนี้ จากผลผลิตน้ำมันปาล์มทั้งหมดในประเทศ 1 ใน 3 นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนอีก 2 ใน 3 นำไปผลิตน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยมีการส่งออกในส่วนนี้ประมาณ 20%

“หวังว่าร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สร้างความเป็นธรรม มีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่นำผลปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นน้ำมัน และดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ให้ได้ค่าตอบแทนผลผลิตที่เป็นธรรมและถูกต้อง ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างเต็มที่  เมื่อกองทุนน้ำมันต้องหยุดชดเชยการผสมน้ำมันปาล์มในเนื้อน้ำมัน รวมทั้งสายการผลิตที่จะนำผลปาล์มน้ำมันไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘บีโอไอ’ เผยผลสำเร็จโรดโชว์แดนมังกร ผู้ผลิตแบตฯ – อิเล็กทรอนิกส์ เล็งตบเท้าลงทุนไทย

บีโอไอเผยผลสำเร็จการเยือนประเทศจีน นักลงทุนจีนตบเท้าเข้าร่วมงานสัมมนา กว่า 600 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ไทยชิงจังหวะสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มนักลงทุนจีนที่ต้องการกระจายฐานการผลิตป้อนตลาดโลก พร้อมรุกเจรจาผู้ผลิตแบตเตอรี่ – อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ โดยบริษัทใหญ่ของจีนเตรียมแผนลงทุนในไทยมูลค่ากว่า 90,000 ล้านบาท

(25 พ.ย. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการเยือน สาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 19 – 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยการเยือนครั้งนี้ บีโอไอได้ผนึกกำลังกับองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของจีน (CCPIT), Bank of China และสมาคมส่งเสริม Belt and Road จัดงานสัมมนาใหญ่ 'Thailand – China Investment Forum 2024' ณ โรงแรม Shanghai Marriott Marquis มหานครเซี่ยงไฮ้ เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับการลงทุน ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของจีนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 600 ราย นับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แสดงถึงการให้ความสำคัญและความสนใจอย่างมากของนักลงทุนจีนที่มีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจีนที่ต้องการกระจายฐานการผลิตออกสู่ตลาดโลก ในจังหวะเวลาที่ยังมีความกังวลต่อมาตรการกีดกันการค้ารอบใหม่ของสหรัฐอเมริกา

ในงานสัมมนาใหญ่ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการเตรียมการเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งด้านพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด น้ำ การเตรียมพร้อมด้านบุคลากร และการอำนวยความสะดวกของภาครัฐ เพื่อให้การลงทุนในประเทศไทยประสบความสำเร็จและก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งโอกาสความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและมหานครเซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะด้าน Digital Economy และ Green Economy

ในขณะที่เลขาธิการบีโอไอ ได้นำเสนอสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และโอกาส การลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะใน 5 สาขาสำคัญ ที่จะเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่ของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัล และกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารบริษัทชั้นนำของจีนร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จของการทำธุรกิจในประเทศไทย ได้แก่ Bank of China, บริษัท Haier ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะรายใหญ่ และบริษัท Westwell Technology ผู้นำด้าน AI และ Digital Green Logistics อีกทั้งบีโอไอยังได้ร่วมมือกับกลุ่มธนาคารไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และ ไทยพาณิชย์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม WHA, โรจนะ, 304, TRA, TFD และเอส มาร่วมออกบูธให้ข้อมูล เพื่อสนับสนุนนักลงทุนจีนให้สามารถเข้าถึงที่ดิน สินเชื่อและบริการทางการเงิน และเครือข่ายทางธุรกิจที่จะช่วยเร่งให้เกิดการลงทุนจริงได้อย่างครบวงจร

นอกจากงานสัมมนาแล้ว รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการบีโอไอ ยังได้หารือและเจรจาแผนการลงทุนเป็นรายบริษัทกับนักลงทุนเป้าหมายรายใหญ่ จำนวน 6 บริษัท ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังเตรียมแผนการลงทุนในประเทศไทย คาดว่าจะมีมูลค่าเงินลงทุนรวมกันกว่า 90,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 
- อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ต้นน้ำระดับเซลล์ 2 ราย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่เป็นหัวใจของการผลิตแบตเตอรี่ ให้ความสนใจลงทุนในไทยเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน และอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด 

- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 3 ราย ทั้งการผลิตอุปกรณ์ขั้นสูงที่ใช้ในระบบโทรคมนาคม และ Data Center, การวิจัย ออกแบบและผลิตชิป กลุ่มนี้สนใจลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมขั้นสูงจำนวนมาก รวมถึงช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและขีดความสามารถในการพัฒนา AI ของไทย

- อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ 1 ราย เป็นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก สำหรับใช้บรรจุอาหารและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของไทย 

นอกจากนี้ คณะยังได้หารือกับผู้บริหารสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานและแบตเตอรี่จีน เกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศของการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว เช่น ระบบการติดตามแบตเตอรี่ตั้งแต่ต้นทาง (Tracking System) ระบบการซ่อมและรวบรวมแบตเตอรี่ใช้แล้ว การนำกลับมาใช้ใหม่ (Repack / Reuse) เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ รวมถึงการออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแล และการจัดหาพื้นที่สำหรับธุรกิจนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถวางแผนเตรียมรองรับปริมาณแบตเตอรี่ใช้แล้วที่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ผลสำเร็จจากการเยือนจีนในครั้งนี้ ตอกย้ำถึงกระแสความสนใจในการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักธุรกิจจีน ซึ่งบริษัทจำนวนมากมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมทั้งมีการตัดสินใจและการเริ่มต้นธุรกิจอย่างรวดเร็ว การนำทีมโรดโชว์โดยท่านรองนายกฯ พิชัย ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่ารัฐบาลไทยพร้อมต้อนรับและสนับสนุนการลงทุนที่มีคุณภาพจากจีน รวมทั้งจะช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ขณะนี้ถือว่าเป็นจังหวะสำคัญในการดึงการลงทุนขนาดใหญ่จากบริษัทชั้นนำที่มีเทคโนโลยีในระดับที่สามารถทำให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยครั้งใหญ่ได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอีกหลายอุตสาหกรรม” นายนฤตม์ กล่าว

ส.อ.ท. หั่นเป้าผลิตรถยนต์ปี 67 เหลือ 1.5 ล้านคัน ยอดขายในประเทศ-ส่งออกทรุด หวังมอเตอร์เอ็กซ์โปปลายปีดันยอด

(25 พ.ย.67) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงถึงการปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ประจำปี 2567 จากเดิม 1,700,000 คัน เป็น 1,500,000 คัน ลดลง 200,000 คัน หลังตลาดทั้งในและต่างประเทศได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย โดยเป้าหมายการผลิตใหม่แบ่งเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศ 450,000 คัน ลดลงจากเดิม 550,000 คัน และการผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คัน ลดลงจากเดิม 1,150,000 คัน

ข้อมูลการผลิตรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2567 พบว่า ผลิตได้ 118,842 คัน ลดลง 25.13% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปี 2566 และลดลง 2.81% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนปี 2567 เนื่องจากการผลิตเพื่อส่งออกลดลง 7.00% และการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงถึง 51.70% ขณะที่ยอดรวมการผลิตระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2567 มีทั้งหมด 1,246,868 คัน ลดลง 19.28%

ปัจจัยที่มีผลต่อการลดลงของยอดขายรถยนต์ในประเทศมาจากการเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ โดยจำนวนบัญชีผู้กู้ซื้อรถยนต์ในไตรมาสสามลดลงเหลือ 6,365,571 บัญชี ลดลงจากไตรมาสสอง 75,377 บัญชี และลดลงจากไตรมาสสามปี 2566 จำนวน 199,655 บัญชี ขณะที่ยอดหนี้รวมของผู้กู้ซื้อรถยนต์อยู่ที่ 2,465,204 ล้านบาท ลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสสอง และลดลง 5.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสสามปี 2566

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะมีงานมอเตอร์เอ็กซ์โปในปลายเดือนนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดได้ แต่สถาบันการเงินยังคงมีมาตรการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากอัตราส่วนของหนี้เสียยังสูง ดังนั้นคาดว่าเป้าหมายยอดขายในประเทศปีนี้ที่เคยตั้งไว้ที่ 550,000 คัน จะปรับลงเป็น 450,000 คัน

ในส่วนของตลาดส่งออก ปัจจัยสำคัญคือสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจกระทบตลาดในตะวันออกกลางและยุโรป รวมถึงสงครามยูเครนกับรัสเซียที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์และสินค้าอื่น ๆ หากสถานการณ์ยังคงตึงเครียด

‘พีระพันธุ์’ นำ 4 หน่วยงาน ‘กกพ. - กฟภ. - กฟน.- สธ.’ ผสานกำลังดูแลผู้ป่วยติดเตียง ห้ามงดจ่ายไฟฟ้าทุกกรณี

(25 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การบูรณาการเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจําเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อวางกรอบความร่วมมือในการบูรณาการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงานเชิงรุก ให้ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ความร่วมมือในการบูรณาการการทำงานเพื่อให้ความคุ้มครองต่อชีวิตและทรัพย์สินกับพี่น้องประชาชนในฐานะผู้ใช้พลังงานเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานให้ความสำคัญ ซึ่งจะต้องทำควบคู่กันกับความพยายามที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน และการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อให้การบริการด้านไฟฟ้าให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

“การให้บริการด้านพลังงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องได้รับเท่าเทียมกันทุกคนอย่างเป็นธรรม แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การให้ความคุ้มครองสิทธิในการดูแลความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และขอเน้นย้ำเรื่องผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาลจะต้องไม่ถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกกรณี เพื่อให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นศูนย์” นายพีระพันธุ์ กล่าว 

ดร. พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่าง 4 หน่วยงาน จะเป็นการทำงานเชิงรุกร่วมกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกคนในทุกกรณี ผ่านความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และเป็นปัจจุบัน การร่วมกันรณรงค์สร้างการรับรู้ สร้างองค์ความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิที่ผู้ป่วยได้รับความคุ้มครองจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้า การอำนวยความสะดวกในการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสาร ประสานงานให้กับผู้ใช้พลังงานในหลากหลายช่องทางให้ได้รับสิทธิอย่างทั่วถึง ผ่านช่องทางที่สะดวกและใกล้ชิดพี่น้องประชาชน ได้แก่ หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) และเครือข่าย สำนักงาน กกพ. ประจำเขตพื้นที่ รวมถึงสำนักงานที่ทำการการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ 

“สาเหตุหลัก ๆ ที่เราพบปัญหา คือ ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยอยู่ในความดูแลไม่ได้แจ้งข้อมูลกับทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ ทำให้การไฟฟ้าฯ ขาดข้อมูลและนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลังจากการงดจ่ายไฟฟ้า ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันประสานข้อมูลเพื่อให้เป็นปัจจุบันและครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือที่เกิดขึ้น” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าด้วยประสิทธิภาพและศักยภาพเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้มแข็งกระจายอยู่ทุกพื้นที่ลงลึกและครอบคลุมถึงระดับตำบลพร้อมด้วยเครือข่าย อสม. รวมทั้งการมีฐานข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่จะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถเข้ามาประสานและทำให้การให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย รวมไปถึงการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยให้เป็นปัจจุบันเพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น

“กระทรวงสาธารณสุขยินดีอย่างยิ่ง พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการผลักดันและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วนจะนำมาซึ่งความยั่งยืนของระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย” นพ. วีรวุฒิ กล่าว

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ในการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าได้ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งนโยบายดังกล่าว MEA ดำเนินการตามประกาศของ สำนักงาน กกพ. มาอย่างต่อเนื่อง โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกผ่านการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ MEA สามารถเข้าถึง และดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับพลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอ และ ต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ป่วย

การไฟฟ้านครหลวงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งและขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกันในครั้งนี้ และยืนยันว่าการไฟฟ้านครหลวงจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการพัฒนาบริการไฟฟ้า ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าเพื่อการรักษาพยาบาล 

นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประชาชนทุกคน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทันท่วงที 

เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ โดยมุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการไฟฟ้าโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยระบบ GIS และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่

ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ PEA ยังวางแผนการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ให้พร้อมให้บริการแก่ประชาชนที่มีความต้องการใช้งานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ การให้ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างระบบในการบูรณาการข้อมูลในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างระบบการบริหารจัดการไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าในทุกพื้นที่ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และยั่งยืน

‘พีระพันธุ์’ เผย กพช. เคาะอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ ฝั่งน้ำมันเก็บ 0.05 บาท/ลิตร ส่วนก๊าซหุงต้มเก็บ 0 บาท/กก. เริ่ม 1 ธ.ค.67

(26 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ประชุมได้พิจารณาการกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร และก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว พ.ศ. 2567 

เนื่องจาก ประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 เดิมจะครบกำหนดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 นี้ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ อัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร ในอัตรา 0.0500 บาทต่อลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว ในอัตรา 0.0000 บาทต่อกิโลกรัม โดยเริ่มใช้ 1 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักรและก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว พ.ศ. .... และมอบหมายให้ สนพ. นำเสนอประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติลงนามต่อไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบข้อเสนอที่ให้กระทรวงพลังงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 87) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ในประเด็นเรื่องการปรับองค์กรในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม จาก “ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และรับไปดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ยุติการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังประสานงานกับสำนักงบประมาณในการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป” เป็น “ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม และให้หน่วยงานที่มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณโดยตรงตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป”

นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องอัดอากาศแบบเกลียว และกระจก และมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นำร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 3 ฉบับ(3 ผลิตภัณฑ์) เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างต่อไป

เอสยูวีเจนใหม่ ชาร์จเร็ว 180 kW เอาใจขาลุย ก่อนเปิดราคางาน Motor Expo 2024 คาดไม่เกิด 1.09 ล้าน

(26 พ.ย. 67) AION V รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุด เตรียมเผยโฉมอย่างเป็นทางการในงาน Motor Expo 2024 ด้วยดีไซน์โฉบเฉี่ยวแบบ Cyber พร้อมภายในหรูหราระดับพรีเมียม ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการทั้งเทคโนโลยีและความสะดวกสบาย

ตู้เย็นอัจฉริยะ 3 โหมด ตู้เย็นในตัวที่ปรับอุณหภูมิได้ทั้ง อุ่นร้อน (-15°C ถึง 50°C) และ แช่เย็น/แช่แข็ง ควบคุมได้ผ่านหน้าจอ, แอปพลิเคชัน, ระบบเสียง หรือแผงควบคุม ใช้งานง่ายและเหมาะกับทุกไลฟ์สไตล์

เบาะนวดไฟฟ้าพร้อมระบายอากาศ AION V มีเบาะหน้ามีระบบนวด 5 โหมด พร้อมปรับน้ำหนักการนวด 3 ระดับ และระบบระบายอากาศ มอบความสบายทั้งในวันร้อนหรือหนาว

เบาะหลังปรับเอน 137° พร้อมโต๊ะอเนกประสงค์ AION V ยังสามารถปรับเบาะหลังเอนได้สูงสุด 137° พร้อมโต๊ะรับน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัม เหมาะสำหรับการเดินทางที่ต้องการความผ่อนคลาย

โดดเด่นด้วยแบตเตอรี่ Magazine Battery 2.0 วิ่งได้ไกลถึง 602 กม. ต่อการชาร์จเต็ม โครงสร้างปลอดภัย ลดความเสี่ยงไฟลุกจากการชน มาพร้อมเทคโนโลยีชาร์จเร็ว 180 kW สามารถชาร์จจาก 30% ถึง 80% ใน 15 นาที รองรับชีวิตเร่งรีบ พร้อมออกเดินทางได้ทันที

โปรโมชันพิเศษ AION V จองเพียง 99 บาท รับส่วนลด 10,000 บาท พร้อมของรางวัลพิเศษและบัตรเข้างาน Motor Expo 2024

AION V เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ที่ Motor Expo 2024 พร้อมเทคโนโลยีและดีไซน์ที่ตอบโจทย์ทุกการเดินทาง ลูกค้าสามารถทดลองขับได้ที่ศูนย์บริการ AION ทั่วประเทศ

'สุริยะ' ดันต่ออายุรถไฟฟ้า 20 บาท อีก 1 ปี เตรียมเสนอเข้า ครม.สัญจร 29 พ.ย.นี้

(27 พ.ย. 67) ‘สุริยะ’ เตรียมเสนอ ครม.สัญจร 29 พ.ย.นี้ ต่อมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ครอบคลุมสายสีแดง และสายสีม่วงอีก 1 ปี มีผลทันทีถึง 30 พ.ย.2568 ขณะที่ พรบ. ตั๋วร่วม คาดเสนอสัปดาห์ถัดไป มั่นใจดึงรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายในราคาเดียวกันตามเป้า ก.ย.ปีหน้า

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่จังหวัดเชียงใหม่ (ครม.สัญจร) วันที่ 29 พ.ย.นี้ กระทรวงฯ จะเสนอวาระขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ซึ่งมาตรการเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พ.ย.2567

โดยการเสนอขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าดังกล่าว จะครอบคลุมเป็นเวลา 1 ปี โดยมีผลทันทีถึงวันที่ 30 พ.ย.2568 นับเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ทำให้เกิดการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างเดินหน้าขยายมาตรการค่าโดยสาร 20 บาทในเกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายภายในเดือน ก.ย.2568

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า การผลักดันมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย เนื่องด้วยต้องมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม จัดหาแหล่งเงินมาชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ปรับลดลงให้แก่เอกชนคู่สัญญา จึงจำเป็นต้องรอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องด้วย โดยกระทรวงฯ คาดว่าจะสามารถเสนอร่าง พรบ.ตั๋วร่วม เพื่อให้ ครม.พิจารณาได้ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ก่อนผลักดันตามขั้นตอนและมีผลบังคับใช้ตามเป้าหมายในเดือน ก.ย.2568

ทั้งนี้ ภายในร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... จะมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ไว้ในมาตรา 29 และมาตรา 30 โดยแบ่งเป็น

มาตรา 29 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม” มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนในการดำเนินงาน การพัฒนา และการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมทั้งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล

2. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม

3. เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม

แหล่งที่มาของเงินกองทุนฯ มีการกำหนดไว้ใน มาตรา 30 กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
1. เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้

2. เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้

3. เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต

4. เงินที่ได้รับตามมาตรา 31 ว่าด้วยให้ผู้รับใบอนุญาตนำส่งเงินเข้ากองทุน

5. เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน

6. เงินค่าปรับทางปกครองตามมาตรา 40

7. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน

8. ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

ทั้งนี้ เงินอุดหนุนตาม 2 นั้น ให้รัฐมนตรีดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปีงบประมาณตามความจำเป็น เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

จีนที่หนึ่งเที่ยวไทย 6 ล้านคน!! ตามด้วย มาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ รวมยอด 11 เดือนต่างชาติเที่ยวไทยรวมแล้ว 31 ล้านคน

(27 พ.ย.67) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 24 พ.ย. 2567 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 31,313,787 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายกว่า 1,466,408 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวจาก 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 6,096,010 คน มาเลเซีย 4,443,173 คน อินเดีย 1,868,802 คน เกาหลีใต้ 1,647,328 คน และรัสเซีย 1,455,398 คน  

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-24 พ.ย.) นักท่องเที่ยวกลุ่มระยะใกล้ (Short haul) ฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะชาวจีนที่มีสะสมกว่า 6 ล้านคน และชาวเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้น 14.28% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนกลุ่มตลาดระยะไกล (Long haul) ชะลอตัวตามฤดูกาล แต่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค.  

สัปดาห์นี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 749,306 คน เพิ่มขึ้น 1,362 คน (0.18%) จากสัปดาห์ก่อนหน้า เฉลี่ยวันละ 107,044 คน โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 122,020 คน มาเลเซีย 81,886 คน รัสเซีย 50,071 คน อินเดีย 46,259 คน และเกาหลีใต้ 38,959 คน  

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (25 พ.ย.-1 ธ.ค.) คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยสำคัญ เช่น ฤดูกาลท่องเที่ยวของกลุ่มตลาดระยะไกล โดยเฉพาะยุโรป มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนที่นั่งเข้าไทย 10% ตั้งแต่ ก.ค. ถึงสิ้นปี รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวก เช่น การยกเว้นบัตร ตม.6 และการกระตุ้นให้สายการบินเพิ่มเที่ยวบิน

‘เอกนัฏ’ เยือนญี่ปุ่น คุยตัวต่อ 6 CEO ค่ายรถยนต์ใหญ่ ดึงการลงทุนเพิ่มกว่าแสนล้าน รักษาฐานการผลิตในไทย

(27 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยผลการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายแรกที่ตนอยากไปพบหารือผู้บริหารระดับสูงภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น รวมทั้งหารือร่วมกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยระบุว่า ในการเข้าพบหารือกับ นายมุโต โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กรุงโตเกียว มีประเด็นสำคัญ คือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่ METI มีความร่วมมืออันดีที่มีต่อไทย และย้ำถึงความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรที่ยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันได้หารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็น Product champion ได้แก่ รถปิคอัพ และ Eco car ที่กำลังถูกดิสรัป (Disrupt) จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (xEV) 

นายเอกนัฏฯ กล่าวว่า ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้สร้างฐานการผลิตในประเทศไทย จำนวน 6 บริษัทแบบตัวต่อตัว (One to One) ณ สำนักงานใหญ่/สำนักงานสาขากรุงโตเกียว โดยได้พบหารือกับผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ โตโยต้า มาสด้า มิตซูบิชิ และอิซูซุ และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ ฮอนด้า และนิสสัน ซึ่งตนได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยหดตัวลงอย่างมาก สาเหตุหลักเนื่องจาก ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของไฟแนนซ์ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว รวมทั้ง ปัญหาค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ที่ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็น Product Champions ของไทย ได้แก่ 

รถปิกอัพ และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) โดยล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2567 จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน ปรับลดมาเป็น 1.7 ล้านคัน โดยเป็นการปรับลดในส่วนของการผลิตเพื่อตลาดในประเทศ เหลือเพียง 550,000 คัน ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศยังคงยึดเป้าหมายเดิม คือ 1.15 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม ตนได้ให้ความมั่นใจกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาส 4 ปี 2567 มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับ รัฐบาลได้พยายามปลดล็อคเรื่องการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด และอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus) และการจับจ่ายใช้สอย จึงมั่นใจได้ว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า (2568) จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

“การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ความยั่งยืน (Sustainable Mobility) รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาสร้างความสมดุลระหว่างมิติด้านสิ่งแวดล้อมและมิติด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยในมิติด้านสิ่งแวดล้อมรัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพื่อลดปัญหาโลกเดือด (Global Boling) ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีเพียงรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (EV) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรถยนต์ที่ได้รับการพัฒนาตามความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ เช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยลดมลพิษ/ประหยัดพลังงาน รวมทั้ง รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) อีกด้วย ในขณะที่มิติด้านเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลมุ่งส่งเสริมรถยนต์สู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมเศรษฐกิจของไทย ผ่านกลไกการกำหนดให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ (Local Content) เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ซึ่งการที่จะตอบโจทย์ทั้ง 2 มิติได้นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศ (ECO System) และปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ (Infrastructure) ให้มีความสมดุลและเท่าเทียมกัน เพื่อให้รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 รวมทั้ง เป้าหมายการส่งเสริมให้ฐานการผลิตหลักของประเทศ (ร้อยละ 70) ซึ่งเป็นรถ ICE ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) ในอนาคต” นายเอกนัฏฯ กล่าว

นายเอกนัฏฯ พร้อมสานต่อการจัดตั้งกลไกการหารือ Energy and Industrial Dialogue ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อยกระดับความร่วมมือในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาการชะลอตัวของอุปสงค์ อุปสรรคทางกฎระเบียบ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และโครงการ Global South Future-Oriented Co-Creation Project เป็นโครงการที่ส่งเสริมความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (All-win) ระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยไทยพร้อมสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ขณะที่การพัฒนาบุคลากร ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะโครงการ LASI, LIPE, และ Smart Monodzukuri ซึ่งมีบุคลากรไทยได้รับการพัฒนาแล้วกว่า 1,800 คน นอกจากนี้ ยังได้แสดงความยินดีต่อญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2025 ในช่วงเดือนเมษายน 2025 ณ จังหวัดโอซาก้า

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังแผนการลงทุนในอนาคตของทุกบริษัท รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือมาตรการที่เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ทั้งในส่วนของมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาระดับการผลิตของโรงงาน เช่น มาตรการกระตุ้นตลาด การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) เป็นต้น และ มาตรการระยะกลางเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เช่น การจัดการซากรถยนต์เก่า (End-of-Life Vehicles) มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด และมาตรการส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น 

“ผลการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายญี่ปุ่น ได้รับสัญญาณบวกที่ชัดเจนว่า ทุกบริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทย และจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) และรถยนต์ไฮบริด เพื่อตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก (ทั้งในรูปแบบของ รถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนครบชุด) โดยคาดว่า ในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้ มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 120,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นขอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน และเร่งส่งเสริมการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะในโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดและชิ้นส่วนสำคัญ ซึ่งคาดว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จะเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในปีนี้”นายณัฐพลฯ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 นี้ คณะของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย 
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ที่ปรึกษาประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ โดยได้หารือกับแต่ละบริษัทแบบตัวต่อตัว (One on One) ระหว่างผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้มีการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย จำนวน 6 บริษัท ประกอบด้วยผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ 1.นายอากิโอะ โตโยดะ (Mr. TOYODA Akio), ประธานกรรมการบริหาร, กรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 2.นายมาซาฮิโร โมโร (Mr.MORO Masahiro), กรรมการผู้จัดการ,ประธาน และ CEO บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 3.นายทาคาโอะ คาโตะ (Mr.KATO Takao), กรรมการบริหาร, ประธาน และ CEO บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น 4.นายชินสึเกะ มินามิ (Mr.MINAMI Shinsuke), ประธาน และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ส ลิมิเต็ด, ญี่ปุ่น  และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ นางอาซาโกะ โฮชิโนะ (Ms.HOSHINO Asako), รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด (NML) และนายชินจิ อาโอยามะ (Mr.AOYAMA Shinji), กรรมการ, รองประธานบริหาร และ กรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 

รู้จัก ‘พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด’ มือทำงาน ‘พีระพันธุ์’ ผู้เบรกงานเหมาขุดถ่านหินเหมืองแม่เมาะกว่า 7 พันล้าน เพื่อประโยชน์ประชาชน

เมื่อประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทย...ต้องมาก่อน!
‘รองพีร์’ เบรกจ้างเหมา-ขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะ

ตามที่ ‘รองพีร์’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ระงับโครงการจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 ซึ่ง บมจ.สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) เป็นผู้ได้รับกำคัดเลือกจาก กฟผ.ที่เสนอราคางานจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านที่เหมืองแม่เมาะจำนวน 2 รายการ มูลค่าสัญญารวม 7,170 ล้านบาท (รวมค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ปี 2567-2571 นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากพลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งว่า ได้คัดค้านการอนุมัติผลการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด- ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดยวิธีพิเศษ ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท ในการประชุมกลั่นกรองของคณะกรรมการบริหาร กฟผ. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

และในเวลาต่อมา บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้มีหนังสือขออุทธรณ์และขอความเป็นธรรมจากการพิจารณาผู้ชนะการประกวดราคางานจ้างเหมาขุด-ขนดิน และถ่าน ที่เหมืองแม่เมาะ 2 รายการ โดยวิธีพิเศษ ซึ่ง ‘รองพีร์’ เห็นควรให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยด่วน จึงมีหนังสือถึงผู้ว่าฯ กฟผ. ให้ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะไว้จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น 

พลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด ผู้เสนอให้ระงับโครงการฯ ดังกล่าว ได้รับการแต่งตั้งกรรมการ กฟผ. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงกลาโหม และอดีตอาจารย์กองวิชาคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มีประสบการณ์และผลงานมากมาย โดยเคยเป็น ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ, ประธานกรรมการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ที่ปรึกษาธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, อนุกรรมการกลั่นกรองโครงการและงบประมาณ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ กสทช., ที่ปรึกษาประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, กรรมการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศแห่งชาติ, กรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ที่ปรึกษาคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และ อนุกรรมการบริหารความเสี่ยง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

สำหรับประวัติของพลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด ที่น่าสนใจคือเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยรุ่นที่ 135 นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 29 และหลังจากจบการศึกษาวทบ. (โยธา) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 40 ได้ศึกษาต่อปริญญาโทวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก รีโมทเซนซิ่งและเอิร์ธซายน์ มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นนักวิจัยด้านรีโมทเซนซิ่ง (Remote Sensing and Earth Science) ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า เป็นหนึ่งในนักวิจัยระดับโลกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญการใช้ข้อมูลดาวเทียมตั้งแต่ใต้พื้นดินไปจนถึงอวกาศ และได้นำองค์ความรู้มาสร้างมาตรการเตือนภัยเพื่อหลีกเลี่ยงและลดความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติภัยทางธรรมชาติ ด้วยวิธีการจัดการอย่างถูกต้องและในเวลาที่เหมาะสม และเป็นผู้เสนอให้ประเทศไทยสร้างศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยจากดาวเทียมเป็นของตัวเองเพื่อนำข้อมูลนั้นมาส่งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย ในห้วงที่ประเทศต้องเผชิญกับเหตุการณ์สึนามิ และภัยพิบัติในภาคเหนือ

ด้วยประสบการณ์มากมายในฐานะนักฎหมาย ‘รองพีร์’ จึงมีความเข้มงวดกับโครงการต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งหากมีการร้องเรียนหรืออาจเข้าข่ายไม่เป็นธรรมแล้ว ก็จะให้มีการตรวจสอบทันที ทั้งนี้ พลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สะอาด เป็นบุคคลที่ ‘รองพีร์’ ให้ความไว้วางใจ และยังเคยช่วยงาน ‘รองพีร์’ มาแล้ว อาทิ คณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาความเสียหายของรัฐโครงการระบบขนส่งทางรถไฟ เพื่อต่อสู้ในคดีโฮปเวลล์ ทั้งนี้ ในการสั่งการให้ตรวจสอบของ ‘รองพีร์’ มาจากการที่พลโท ดร.เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการ กฟผ. ยื่นหนังสือคัดค้านการอนุมัติผลประมูล ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร กฟผ. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 ก่อนที่ ITD จะยื่นอุทธรณ์อย่างเป็นทางการ สำหรับประเด็นที่ต้องทำการตรวจสอบ คือ ความโปร่งใสของการใช้ ‘วิธีพิเศษ’ ในการประมูล เพื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่ กฟผ. ไม่เลือกวิธีประมูลแบบเปิด รวมไปถึงการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าประมูลที่อาจเอื้อประโยชน์ ความเชื่อมโยงระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจกับบริษัทที่เข้าประมูล นอกจากนี้ ‘รองพีร์’ ยังได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ระงับการสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ครบวาระจำนวน 4 ท่าน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน แทนตำแหน่งที่ว่างลง จึงขอให้ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการประชุมคณะกรรมการสรรหาไว้ก่อน จนกว่าจะแจ้งให้ทราบต่อไป เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบมากมายและสำคัญต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทย จึงต้องมีการพิจารณาทบทวนอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทยต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top