Tuesday, 13 May 2025
Econbiz

‘เศรษฐพุฒิ’ ชี้!! ดอกเบี้ยใกล้ ‘จุดสมดุล’ ยัน!! หนี้ครัวเรือนยังไม่ลามเป็น ‘วิกฤติ’

(16 ส.ค.66) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ในระยะข้างหน้า เชื่อว่าเริ่มเข้าใกล้ ‘จุดสมดุล’ หรือถึงจุดที่ ‘ดอกเบี้ย’ อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นการถอนคันเร่ง เพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย และเพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ ภายใต้เงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบ ซึ่งไม่สร้างความไม่สมดุล หรือสร้างความเปราะบางในการกู้ยืมต่างๆ แต่ส่วนดอกเบี้ยจะหยุดที่ใดนั้น คงต้องดูการพิจารณาของ กนง.ในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของโลกมากขึ้น จากหลากหลายตัวแปรที่เกิดขึ้น ในประเทศไทยเอง แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาค่อนข้างนาน แต่ยังไม่มีรัฐบาล เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นสารพัด และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และไม่รู้ว่าช็อกมาจากไหน

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ การวางแผนการดำเนินธุรกิจ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และต้องสร้างภูมิคุ้มกัน งบดุล หรือสภาพคล่องต้องแข็งแกร่ง และการก่อหนี้ไม่ควรมากเกินไป โดยเฉพาะ ‘หนี้ครัวเรือนของไทย’ ปัจจุบันที่อยู่ระดับสูง และเป็นตัวที่สร้างความเปราะบาง และต้องเร่งจัดการปัญหาอย่างเร่งด่วน 

เมื่อถามว่าหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันถึงขั้นวิกฤติหรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ใช่ แต่ต้องเร่งจัดการ และหากปล่อยไป จะกลายเป็นวิกฤติได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การเทกแอ็กชัน และพยายามลดหนี้ครัวเรือน ลดในระยะข้างหน้าเพื่อให้อยู่ในระดับความยั่งยืน

‘อ.พงษ์ภาณุ’ มอง!! ความท้าทายอาเซียนในสมรภูมิโลก หลากเงื่อนไขทาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์-ศก.’ ที่ยังฉุดให้โตช้า

ทีมข่าว THE STATES TIMES / THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 27 ส.ค.66 เกี่ยวกับประเด็นไทยในอาเซียน โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญและใกล้ชิดที่สุดของไทย แม้ว่าในทางการเมือง ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมากในบางประเทศ ทั้งเรื่องความรุนแรงและความไม่สงบ เช่น ในเมียนมา หรือแม้แต่ประเด็นความขัดแย้งกับจีนเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ แต่ในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนก็ได้มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ในระดับที่สูงขึ้นตามลำดับ เพียงแต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงได้กับสหภาพยุโรป (European Union) ที่ได้เข้าสู่ความเป็นสหภาพการเงิน (Monetary Union) ที่มีเงินยูโรสกุลเดียวมากว่า 20 ปีแล้ว

สำหรับก้าวแรกของการรวมตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 เมื่อนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอในการประชุมผู้นำอาเซียนให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area - AFTA) โดยประเทศสมาชิก 10 ประเทศสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้า ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีได้ภายในปี 2008 ก่อให้เกิดตลาดการค้าเดียว อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการลงทุนมากมาย

วันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนอยู่ในห้วงแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจ แม้เกิด AFTA (เขตการค้าเสรีอาเซียน) แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้นำอาเซียนจะสามารถผลักดันความร่วมมือที่มีนัยสำคัญได้เลย เพราะการเปิดเสรีด้านการค้าบริการก็ไปไม่ถึงไหน เนื่องจากประเทศสมาชิกยังคงยึดมั่นปกป้องธุรกิจบริการของตน ส่วนการเปิดเสรีแรงงานเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์เพราะเป็นสังคมสูงอายุ ก็ไม่คืบหน้า ทั้ง ๆ ที่มีแรงงานอพยพ (Migrant Workers) ในอาเซียนอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน 

สุดท้ายด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ ก็มีลักษณะแข่งขันกันเองมากกว่าที่จะร่วมมือกัน ความหวังที่จะให้เกิด ASEAN Single Visa ทำนองเดียวกับกลุ่ม Schengen ยังเป็นแค่ความฝัน

ฉะนั้นในวันนี้ ในวันที่อาเซียนยังหาผู้นำไม่เจอ จึงยังไม่สามารถนำอาเซียนสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่สูงขึ้น 

ฤาทางออก 'การคลังไทย' จะไปรอดได้ในสังคมผู้สูงอายุ หากให้สวัสดิการ เฉพาะกับคนที่เสียภาษีให้รัฐเท่านั้น?

(17 ส.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Chalermporn Tantikarnjanarkul' โดยคุณเฉลิมพร ตันติกาญจนากุล ได้โพสต์แสดงความเห็นถึงแนวทางที่จะทำให้การคลังไทยไปรอดในสังคมผู้สูงอายุ ไว้ว่า...

ความจริงที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือ ถ้าอยากให้ฐานะการคลังของไทยไปรอดในสังคมผู้สูงอายุ ทางที่ดีที่สุด ยุติธรรมที่สุด ไม่ใช่หาเงินมาทำสวัสดิการถ้วนหน้า หรือเลือกช่วยเฉพาะคนลำบากยากเข็ญ เพื่อลดรายจ่ายลงให้ได้มากที่สุดแบบที่พยายามทำ

แต่เป็นการให้สวัสดิการ เฉพาะกับคนที่เสียภาษีให้รัฐเท่านั้น จ่ายมาเกินกี่ปี ถึงได้สิทธิก็ว่าไป

ใครจ่ายก็ได้ ใครไม่จ่ายก็อด ก็ตรงไปตรงมา

แต่ไม่มีใครกล้าบอกแบบนี้ เพราะจะกลายเป็นคนใจร้าย ไร้น้ำใจ 

ปัญหาคือถ้านับในปัจจุบัน คนที่ไม่เคยเข้าระบบภาษีเงินได้เลยน่าจะมีอยู่มาก และอาจมีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ไม่ได้ หากไม่พึ่งสวัสดิการ หากทำแบบนี้ อาจจะเป็นการปล่อยคนเป็นล้าน ๆ คนให้จมน้ำโดยไม่เหลียวแล

ถ้าทำเลยไม่ได้ เราอาจใช้การประกาศล่วงหน้า เช่น ในอีก 10 ปีข้างหน้า ใครที่ไม่เคยเสียภาษี ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใด ๆ แล้วนะ ระหว่างนี้ ก็อุดรูรั่วทางภาษี เอาคนมาเข้าระบบให้หมด ให้ฐานรายได้กว้างขึ้น จะได้มีเงินมากพอไปช่วยคนที่จนมาก เอาตัวไม่รอดจริง ๆ

แต่แน่นอน ก็จะมีคำถามตามมาว่า ถ้าเข้าระบบภาษีแต่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เลยไม่ต้องเสียเลย ฉันอยู่กลุ่มไหน?

และคำถามคลาสสิกตลอดกาลอย่าง

ถึงไม่เคยเสียภาษีเงินได้แต่ฉันก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มนะเฟ้ยยยย ใครบอกฉันไม่เสียภาษี!

ผมว่าเราเลิกเพ้อฝันแล้วอยู่กับความจริง แล้วเริ่มทำทุกอย่างให้มันถูกร่องถูกรอยเสียตั้งแต่วันนี้ ยอมรับก่อนว่ายังไง ฐานภาษีตอนนี้ ก็แบกทุกคนไม่ไหวแน่ ๆ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เข้ามาช่วยกันแบก

SME D Bank ทุ่ม 500 ล้าน เปิดตัว ‘Micro OK’ สินเชื่อใหม่หนุน SMEs เข้าถึงเงินทุน

SME D Bank คลอดสินเชื่อใหม่ ‘Micro OK’ วงเงินรวม 500 ล้านบาท เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินสูงสุด 500,000 บาทต่อราย เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ธ.ค. 66 

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เดินหน้าทำงานเชิงรุก  พัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และกระบวนการอำนวยสินเชื่อ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่ม Micro ที่มีศักยภาพเข้าถึงเงินทุนได้ง่าย รวดเร็ว ผ่านสินเชื่อใหม่ ‘Micro OK’ วงเงินรวม 500 ล้านบาท แจ้งความประสงค์ได้ง่ายด้วยระบบออนไลน์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งลงทุน ขยาย ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการ หรือหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง ช่วยต่อยอดยกระดับธุรกิจเดินหน้าไม่มีสะดุด  

จุดเด่นสินเชื่อ ‘Micro OK’ เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่ม Micro (รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) ที่มีศักยภาพทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคผลิต ภาคค้าปลีกค้าส่ง และภาคบริการ ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 500,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.29% ต่อเดือน (MLR +8% ต่อปี) ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 5 ปี ที่สำคัญ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566 หรือเมื่อเต็มวงเงินโครงการ

อีกทั้ง พัฒนากระบวนการอำนวยสินเชื่อ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา โดยแจ้งความประสงค์ผ่านออนไลน์ และพิจารณาคุณสมบัติด้วยระบบ Credit Scoring มีขั้นตอน ได้แก่ 

1. สแกน QR Code ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือคลิกผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของ SME D Bank เช่น เว็บไซต์ www.smebank.co.th หรือ LINE Official Account : SME Development Bank เป็นต้น 

2. กรอกรายละเอียดเบื้องต้น เช่น ข้อมูลการดำเนินธุรกิจ วงเงินที่ต้องการกู้ เป็นต้น 

3. เจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดต่อกลับ เพื่อนัดหมายเข้าเยี่ยมสถานประกอบการ และพิจารณาอนุมัติสินเชื่อต่อไป หรือกรณีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะแนะนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการ ช่วยเตรียมความพร้อม เพื่อพาเข้าถึงแหล่งทุนได้ในอนาคตต่อไป 

ผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการสินเชื่อ ‘Micro OK’ และบริการด้านการพัฒนา สามารถแจ้งความประสงค์ได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ SME D Bank เช่น เว็บไซต์ www.smebank.co.th, LINE Official Account : SME Development Bank และสาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357

‘รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน’ กับโอกาสทางเศรษฐกิจ จิ๊กซอว์สำคัญสู่ศูนย์กลางระบบรางอาเซียน

วันนี้ (17 ส.ค.66) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงพื้นที่ จ.สระบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมงานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ช่วงอุโมงค์มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา)

โดยงานโยธาสัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง โดยตัวอุโมงค์มวกเหล็กอยู่ระหว่างสถานีรถไฟผาเสด็จและสถานีรถไฟหินลับ มีลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยว รางคู่ รูปทรงเกือกม้า ความยาว 3.465 กิโลเมตร สูง 8.50 เมตร กว้าง 11.50 เมตร ขณะนี้มีความคืบหน้างานก่อสร้างอยู่ที่ 1.43 กิโลเมตร คิดเป็น 41.3 % และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2570

โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นรถไฟความเร็วสูงโครงการแรกของประเทศไทย ซึ่งหากดูตามระยะเวลาแล้ว อาจจะมองได้ว่าเป็นโครงการที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างยาวนาน ซึ่งหลายคนมักนำไปเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟลาว-จีน ที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าโครงการนั้นทางประเทศจีนเป็นผู้รับผิดชอบภาระทางการเงินถึง 70% ส่วนลาวรับผิดชอบภาระทางการเงินเพียง 30% โดยทางจีนเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง วางระบบ ทั้งหมด และเป็นแบบทางเดี่ยวรถไฟไม่สามารถวิ่งสวนกันได้ 

ขณะที่รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เฟส1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. สร้างแบบทางคู่ตลอดเส้นทาง โดยงบประมาณทั้งหมด ไทยรับผิดชอบลงทุนและก่อสร้างงานโยธาทางรถไฟทั้งหมด 100% 

ดังนั้น เมื่อเทียบกับการให้สัมปทานประเทศจีนรับเหมาก่อสร้างแบบเบ็ดเสร็จที่อาจจะก่อสร้างได้เร็วกว่าก็ตาม แต่รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการที่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านระบบรางในระยะยาวที่ยั่งยืนมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทางรถไฟฯ เพราะนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้รวดเร็วขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว นำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อโครงการเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับการเดินทางข้ามพรมแดน

โครงการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลดีต่อไทย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับโครงการเส้นทางสายไหมอื่น ๆ ทั่วโลก จากการศึกษาโครงการเส้นทางสายไหมในประเทศต่าง ๆ ของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก พบว่า รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ช่วยลดต้นทุนทางการค้าการขนส่ง และเพิ่มมูลค่าที่ดินตลอดเส้นทาง 

และแน่นอนว่า ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างกลางจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หากจีนต้องการขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมเศรษฐกิจมาสู่ภูมิภาคอาเซียนย่อมต้องอาศัยระบบรางของไทย และจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระบบรางของภูมิภาคนี้ได้อย่างแน่นอน

Torpenguin ผุดฟรีสัมมนา Restaurant Technology & Franchise 2023 ยกระดับธุรกิจร้านอาหารด้วยเทคโนโลยี 8-9 ธ.ค.นี้ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

Torpenguin สื่อผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการจัดการธุรกิจสำหรับร้านอาหาร เตรียมจัดงาน Restaurant Technology & Franchise 2023 งานอีเวนต์และสัมมนาด้านการจัดการเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจร้านอาหาร งานที่จะช่วยยกระดับธุรกิจร้านอาหารให้ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พบกับบูธแสดงสินค้าและบริการด้านการจัดการร้านอาหาร จากบริษัทชั้นนำกว่า 150 บูท เช่น เทคโนโลยีสำหรับร้านอาหาร, อุปกรณ์ครัวสำหรับร้านอาหาร, เครื่องมือด้านการตลาด, ซัพพลายเออร์, เทคโนโลยีด้านการเงิน, แฟรนไชส์และพื้นที่เช่ากว่า 60 บูท และสัมมนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ และตัวจริงในวงการร้านอาหารแถวหน้าของเมืองไทยกว่า 20 ชีวิต พร้อมกิจกรรมเวิร์กช็อปพิเศษจากกูรูคนดังในวงการ พร้อมแชร์ประสบการณ์ที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน 

และไฮไลต์สุดพิเศษ ‘ตัวอย่างร้านอาหารแห่งอนาคต’ พร้อมสัมผัสประสบการณ์จริงที่จะรวบรวมเทคโนโลยีต่าง ๆ มารวมไว้ในร้านเดียว ทั้งหมดนี้ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย พบกันในวันที่ 8-9 ธันวาคม 2566 ณ อาคาร 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี 

พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด “กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เห็นผู้จัดงานรุ่นใหม่เข้ามาในวงการจัดงาน Exhibition 

นอกจากจะมีในส่วนของงาน Exhibition ต่าง ๆ แล้ว ทางอิมแพ็คเองยังอยู่ในวงการร้านอาหารมามากกว่า 20 กว่าปี ซึ่งก็ได้เจอปัญหาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Operation ในร้าน Technology ในร้าน ปัญหาเรื่องของ Suppiler ซึ่งเราก็ได้เห็น Pain Point ของคนทำร้านอาหารมาค่อนข้างเยอะ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ Covid-19 ได้ผ่านมาเรียบร้อย แต่พฤติกรรมลูกค้าก็ได้เปลี่ยนไปเยอะมาก เราก็หวังว่าในอนาคตอันใกล้ ด้วย Tool ใหม่ ๆ ที่เข้ามา จะสามารถช่วยให้เราปรับตัวไปตามโลกในยุคนี้ได้ 

ที่ผ่านมาเราได้เห็นหลาย ๆ งานเกิดจากผู้จัดที่เป็น Publisher มาก่อน ทำ Magazine เป็นนักข่าว แต่ยุคใหม่นี้จะเป็น Influencer ที่เริ่มปรับตัวมาเป็น Organizer ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานแบบ Online หรือ Offline และเราเองก็ดีใจที่ได้ร่วมงานกับลูกค้ารุ่นใหม่อย่างคุณต่อ ที่จัด Restech 2023 ขึ้นมา ซึ่งเป็นงานที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนที่จะสร้าง Ecosystem คนทำร้านอาหาร หวังว่าจากการเข้าชมงานนี้ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนของ Exhibition และ Conference จะได้รับประโยชน์ และหวังว่างานนี้จะช่วยผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยได้ และช่วยยกระดับ Community คนทำร้านอาหารให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของเพจ Torpenguin สื่อผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการจัดการธุรกิจสำหรับร้านอาหาร กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า “SME ทุกคนคือปลาตัวเล็ก ๆ ไม่ว่าเราจะกินขนาดไหนก็ยังเป็นได้แค่ปลาตัวเล็ก ไม่นานก็จะโดนปลาตัวใหญ่กิน ซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือ ‘การรวมปลาตัวเล็กให้กลายเป็นปลาฝูงใหญ่’ ที่ไม่ได้จะไปกินปลาตัวใหญ่ แต่จะเป็นภูมิคุ้มกัน เป็นเกราะกำบังไม่ให้ปลาตัวใหญ่มากินเราได้ Torpenguin เราจึงพยายามสร้าง Ecosystem สร้างระบบนิเวศที่ดีให้ปลาตัวเล็ก ๆ สามารถเติบโตต่อไปได้ มันก็เลยเป็นความพร้อมที่เราจะต้องจัดงานอีเวนต์บางอย่างขึ้นมา เลยเป็นที่มาของงาน Restech : Restaurant Technology & Franchise 2023

นั่นก็เพราะว่าน้อยคนในวงการร้านอาหารให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งถ้าคนทำร้านอาหารยังไม่ให้ความสำคัญ ในวันหนึ่งที่คนในธุรกิจอื่น ๆ ไปข้างหน้าหมดแล้ว ธุรกิจร้านอาหารกลายเป็นคนที่ถูกทิ้งอยู่เบื้องหลัง จึงรู้สึกว่าเราอยากจะเอาเรื่องร้านอาหารที่คนคิดว่าเป็นแค่การขายอาหารเพียงอย่างเดียว กับเรื่องเทคโนโลยีเรื่องยาก ๆ ที่ใครคิดว่าไกลตัว ให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น

สิ่งที่เราเห็นที่ผ่านมาก็คือ ต้นทุนค่าแรงของธุรกิจที่มันสูงขึ้นเรื่อย ๆ จาก 10% เป็น 15%-20% ของยอดขาย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก และจากสภาพการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเจ้าของร้านอาหารในเมืองไทยมีกว่า 700,000 ราย แต่ Market Size อยู่ที่ 4 แสนล้านบาทเท่าเดิม นั่นหมายความว่าไม่แปลกใจเลยถ้าร้านเรายอดขายจะตก เพราะเรามีคู่แข่งเพิ่มขึ้น

เมื่อก่อนเชนร้านอาหารอยู่แต่ในห้าง แต่ในตอนนี้เขาออกมาทำการตลาดนอกห้างมากขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่รู้จักเทคโนโลยีไม่ปรับตัว เราก็คงสู้เขาไม่ได้ ผมจึงเชื่อว่า เทคโนโลยีนี่แหละที่จะเป็นจุดเปลี่ยนให้คนตัวเล็กมีศักยภาพแข่งขันสู้กับเจ้าใหญ่ได้

รวมไปถึงพฤติกรรมของลูกค้า เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าตั้งแต่สถานการณ์ Covid-19 ที่ผ่านมา ว่าทุกอย่างคือ ทุกอย่างจัดการอยู่บนโทรศัพท์มือถือ POS การทำ CRM ไม่รู้จักการทำระบบบัญชีออนไลน์ ไม่รู้วิธียิงแอด ไม่รู้วิธีการไลฟ์ แล้วเราจะไปสู้เจ้าใหญ่ได้อย่างไร

เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น แต่มีราคาที่ถูกลง นี่คือโอกาสที่ SME อย่างเราที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีในราคาที่ถูกได้ 

เหล่านี้แหละคือทั้งหมดที่เราอยากทำเพื่อให้เจ้าของร้านอาหารทุกคนได้เรียนรู้ และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตัวเอง”

Restaurant Technology & Franchise 2023 งานอีเวนต์และสัมมนาด้านการจัดการเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะ พบกันวันที่  8-9 ธันวาคม 2566 ณ อาคาร 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

รัฐบาล เตรียมเปิดตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม ปักหมุดไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางสำคัญ

(18 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อรองรับและขยายโอกาสทางการตลาดสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก พร้อมทำแผนยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมภายในปี 2570 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ความสำคัญของตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจ ในเรื่องพฤติกรรมนักท่องเที่ยวมุสลิม การออกแบบบริการรองรับตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม และชี้แจงแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม ระยะ 5 ปี (2566-2570) 

ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย การยกระดับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อเข้าสู่มาตรฐาน, การพัฒนาสินค้า บริการ และกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม, สนับสนุนการนำเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมุสลิม, บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม และเพิ่มโอกาสทางการตลาด และสร้างการรับรู้ความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม

น.ส.รัชดา กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนของรัฐบาล เพื่อยกระดับผู้ประกอบการด้านบริการเพื่อการท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิมที่เพิ่มขึ้น โดยประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมุสลิมเดินทางมาไทยกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพมีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ ข้อมูลจาก MasterCard-CrescentRating Global Muslim Travel Index 2022 จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศ/รัฐ/เขตปกครอง ที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมนิยมมาท่องเที่ยว รองจาก สิงคโปร์ และไต้หวัน (https://www.crescentrating.com/reports/global-muslim-travel-index-2022.html)

“รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง และขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ ในการสนับสนุน และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อมั่นว่าแผนยุทธศาสตร์ที่มีประโยชน์นี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อผลักดันให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ให้ไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมภายในปี 2570” น.ส.รัชดา กล่าว

'ซาบีน่า' เปิดภารกิจเพื่อสังคม เปลี่ยนชุดชั้นในเก่าเป็น 'พลังงานสะอาด' พร้อมเติมเต็มส่วนที่ขาดหายให้กับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมะเร็ง

จากรายการ THE TOMORROW ทางสำนักข่าวออนไลน์ THE TOMORROW สัปดาห์นี้ ได้พูดคุยกับ แขกพิเศษ คุณดวงดาว มหะนาวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชุดชั้นใน ซาบีน่า แบรนด์ไทยที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 60 ตอกย้ำการเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับภูมิภาคด้วยพันธกิจใหม่

ซาบีน่า เริ่มต้นโดยคุณแม่จินตนา ที่เริ่มขายชุดชั้นใน บริเวณตลาดพลู เย็บด้วยมือ ถือหิ้วตระกร้าเดินขาย จนสามารถแตกไลน์จากชุดชั้นในจินตนามาสู่แบรนด์ซาบีน่า ที่ขึ้นแท่นเบอร์ 2 ของประเทศ ไว้อย่างน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญในปีที่จะก้าวสู่วัย 60 อยู่ที่พันธกิจที่เหนือกว่าการผลิตสินค้าและการขายของแบรนด์ ซาบีน่า ภายใต้มุมคิดที่จะทำธุรกิจอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อโลกให้น้อยที่สุด และสร้างประโยชน์ต่อผู้คนให้มากที่สุด

คุณดวงดาว กล่าวว่า "ปัจจุบันซาบีน่าให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) เพราะชุดชั้นใน เสื้อผ้า ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ ยิ่งเมื่อไหร่ที่มียอดขายสูงขึ้น แปลว่าเรากำลังสร้างขยะออกมาในโลกนี้มากขึ้นเท่านั้น นั่นจึงให้เราเริ่มหาวิธีการที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้

"โดยในปีที่แล้ว เราได้มีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบขยะให้ถูกนำไปทำลายอย่างถูกวิธี ภายใต้แคมเปญ 'โละแล้วไปไหน' หรือก็คือ ชุดชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นของคุณเอง หรือคนในครอบครัว คุณเก็บใส่ถุงให้ดีแล้วนำมาให้เรา เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถนำมาใส่กล่องรับชุดชั้นในเก่า ที่จุดขาย หรือ Shop ของเรา ซึ่งที่กล่องจะมี QR CODE ให้สแกนเก็บไว้ และทุก ๆ 1 สแกนเราจะบริจาคสินค้าใหม่ให้กับคนที่ต้องการ 1 ชิ้นอีกด้วย"

ต่อมากับ โครงการเต้านมเทียม Sabina Sewing Cup Sewing Heart เย็บเต้ารวมใจ สู้ภัยมะเร็งเต้านม แคมเปญนี้ถูกคิดขึ้นเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายให้กับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมะเร็ง สำหรับผู้ป่วย หรือผู้ที่ประสงค์ติดต่อขอรับเต้านมเทียมเพื่อส่งต่อให้กับผู้ป่วย สามารถติดต่อขอรับเต้านมเทียม ได้ผ่านทาง Line@ : @SabinaThailand หรือทาง www.sabina.co.th

โดยซาบีน่าจะจัดส่งเต้านมเทียมให้ถึงมือผู้ป่วยฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Sabina Call Center โทร. 02-422-9430 บริษัทหรือหน่วยงานแจ้งความประสงค์ผ่านทาง [email protected] ซาบีน่าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเต้านมเทียมเหล่านี้ จะช่วยเติมเต็มพลังใจให้กับผู้ป่วย หลังการรักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วยวิธีตัดเต้า ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

เรียกว่าเป็นอีกพันธกิจเพื่อสังคม ที่เดินหน้าควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจของ

ซาบีน่า ที่เราต้องขอปรบมือให้จริง ๆ

เรื่อง: วสันต์ มนต์ประเสริฐ

‘คาร์บอนเครดิต’ ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน หนึ่งในหมัดเด็ด ช่วยฟื้นเชียงใหม่จาก PM2.5

ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งความร้อน อุณหภูมิและความชื้น และที่เห็นได้ชัดเจนคือการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายส่วน ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและภาคเกษตรกรรม

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ มาบ้าง ซึ่งคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อหวังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ซีอีโอ เครือจีอาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา PM2.5 ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ในโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่า จังหวัดตากของประเทศไทย มีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงมากจนน่าตกใจ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นหายนะจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักและช่วยกันทำให้โลกนี้เย็นขึ้น

และไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ยังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีกด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่า โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน 50 องค์กร ได้จับมือเพื่อเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับจังหวัดเชียงใหม่อย่างจริงจัง โดยทาง จีอาร์ดี จะเข้ามาช่วยในด้านคาร์บอนเครดิต สร้างธุรกิจสร้างรายได้ให้คืนสู่เกษตรกรและจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการลดขยะ ลดการเผา ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคืนกลับมาเป็นรายได้และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! หลังสหรัฐฯ ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือเรื่อง Governance สัญญาณไม่ดีต่อระบบการเงินระหว่างประเทศที่อิงค่า USD เป็นเสาหลัก

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นการเงินระหว่างประเทศและบทบาทนำของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ระบบการเงินระหว่างประเทศมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่เริ่มที่จะมีกฎเกณฑ์ชัดเจนเมื่ออังกฤษจัดตั้งมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ขึ้นราวปี 1815 ภายใต้ Gold Standard อัตราแลกเปลี่ยนและปริมาณเงินของทุกประเทศอิงอยู่กับปริมาณทองคำของประเทศนั้นแบบคงที่ หากดุลการค้าดุลการชำระเงินเกินดุล/ขาดดุล จะต้องมีการเคลื่อนย้ายทองคำระหว่างประเทศเพื่อปรับตัวเข้าสู่สมดุล ทองคำจึงทำหน้าที่เป็น Reserve Currency 

ระบบ Bretton Woods ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำหนดให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ทำหน้าที่เป็น Reserve Currency แทนทองคำ แต่ก็ยังอิงทองคำเป็นฐานของค่าเงิน USD อยู่ จนกระทั่งประธานาธิบดี Nixon ประกาศยกเลิก Gold Convertibility ในปี 1971 นับแต่นั้นเป็นต้นมาระบบการเงินโลกได้เปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนเสรี (Flexible or Floating Exchange Rates) โดย USD ทำหน้าที่เป็นเงิน Reserve สกุลหลัก และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนาคารกลาง ระบบดังกล่าวจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อโลกมีความเชื่อมั่นในเงิน USD

การลดระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Downgrade) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย Fitch ซึ่งเป็นหนึ่งใน Big Three ของ Credit Rating Agencies โดยอ้างเหตุผลว่าเกิดความสึกกร่อนใน Governance ของรัฐบาลสหรัฐฯ ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักต่อระบบการเงินระหว่างประเทศที่อิงค่าเงิน USD เป็นเสาหลัก และย่อมส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ และตลาดการเงินทั่วโลก และอาจเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นและการปรับเปลี่ยนระบบการเงินระหว่างประเทศ

พูดถึงเรื่อง Governance ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ Rating Downgrade นั้น ก็อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ หากยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้หรือจัดตั้งได้แต่ไม่มีความมั่นคง 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง ก็อาจเป็นเหตุของการถูก Rating Downgrade ด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ ในทางกลับกันหากเราได้รัฐบาลใหม่ที่มีความมั่นคง ประเทศไทยก็อาจใช้เป็นโอกาสในการเชิญ Credit Rating Agencies เข้ามาประเมินเครดิตของประเทศใหม่ เพราะอยู่ในวิสัยที่ไทยจะได้รับการพิจารณา Upgrade ได้ด้วยเช่นกัน เมื่อคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังเข้มแข็งอยู่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top