‘รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน’ กับโอกาสทางเศรษฐกิจ จิ๊กซอว์สำคัญสู่ศูนย์กลางระบบรางอาเซียน

วันนี้ (17 ส.ค.66) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงพื้นที่ จ.สระบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมงานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ช่วงอุโมงค์มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา)

โดยงานโยธาสัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง โดยตัวอุโมงค์มวกเหล็กอยู่ระหว่างสถานีรถไฟผาเสด็จและสถานีรถไฟหินลับ มีลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยว รางคู่ รูปทรงเกือกม้า ความยาว 3.465 กิโลเมตร สูง 8.50 เมตร กว้าง 11.50 เมตร ขณะนี้มีความคืบหน้างานก่อสร้างอยู่ที่ 1.43 กิโลเมตร คิดเป็น 41.3 % และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2570

โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นรถไฟความเร็วสูงโครงการแรกของประเทศไทย ซึ่งหากดูตามระยะเวลาแล้ว อาจจะมองได้ว่าเป็นโครงการที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างยาวนาน ซึ่งหลายคนมักนำไปเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟลาว-จีน ที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าโครงการนั้นทางประเทศจีนเป็นผู้รับผิดชอบภาระทางการเงินถึง 70% ส่วนลาวรับผิดชอบภาระทางการเงินเพียง 30% โดยทางจีนเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง วางระบบ ทั้งหมด และเป็นแบบทางเดี่ยวรถไฟไม่สามารถวิ่งสวนกันได้ 

ขณะที่รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เฟส1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. สร้างแบบทางคู่ตลอดเส้นทาง โดยงบประมาณทั้งหมด ไทยรับผิดชอบลงทุนและก่อสร้างงานโยธาทางรถไฟทั้งหมด 100% 

ดังนั้น เมื่อเทียบกับการให้สัมปทานประเทศจีนรับเหมาก่อสร้างแบบเบ็ดเสร็จที่อาจจะก่อสร้างได้เร็วกว่าก็ตาม แต่รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการที่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านระบบรางในระยะยาวที่ยั่งยืนมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทางรถไฟฯ เพราะนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้รวดเร็วขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว นำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อโครงการเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับการเดินทางข้ามพรมแดน

โครงการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลดีต่อไทย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับโครงการเส้นทางสายไหมอื่น ๆ ทั่วโลก จากการศึกษาโครงการเส้นทางสายไหมในประเทศต่าง ๆ ของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก พบว่า รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ช่วยลดต้นทุนทางการค้าการขนส่ง และเพิ่มมูลค่าที่ดินตลอดเส้นทาง 

และแน่นอนว่า ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างกลางจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หากจีนต้องการขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมเศรษฐกิจมาสู่ภูมิภาคอาเซียนย่อมต้องอาศัยระบบรางของไทย และจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระบบรางของภูมิภาคนี้ได้อย่างแน่นอน