‘คาร์บอนเครดิต’ ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน หนึ่งในหมัดเด็ด ช่วยฟื้นเชียงใหม่จาก PM2.5

ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งความร้อน อุณหภูมิและความชื้น และที่เห็นได้ชัดเจนคือการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายส่วน ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและภาคเกษตรกรรม

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ มาบ้าง ซึ่งคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อหวังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ซีอีโอ เครือจีอาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา PM2.5 ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ในโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่า จังหวัดตากของประเทศไทย มีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงมากจนน่าตกใจ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นหายนะจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักและช่วยกันทำให้โลกนี้เย็นขึ้น

และไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ยังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีกด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่า โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน 50 องค์กร ได้จับมือเพื่อเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับจังหวัดเชียงใหม่อย่างจริงจัง โดยทาง จีอาร์ดี จะเข้ามาช่วยในด้านคาร์บอนเครดิต สร้างธุรกิจสร้างรายได้ให้คืนสู่เกษตรกรและจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการลดขยะ ลดการเผา ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคืนกลับมาเป็นรายได้และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”