Saturday, 17 May 2025
Econbiz

‘สุชาติ’ ขึ้นเชียงรายติดตามสถานการณ์แรงงาน เร่งพัฒนากำลังคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ - ท่องเที่ยว

รมว.สุชาติ ขึ้นเชียงรายติดตามสถานการณ์แรงงาน พัฒนากำลังคน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ - ท่องเที่ยวภาคเหนือตอนบน 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน พะเยา เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไตรมาสที่ 1 ผลการเร่งรัดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และส่งเสริมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ และการดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในเศรษฐกิจระดับชุมชน สินค้าอุตสาหกรรมในชุมชน วิสาหกิจชุมชน โดยมี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เข้าร่วมประชุมด้วย ณ ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย

‘บิ๊กตู่’ พอใจ ศธ. เร่งแก้ปัญหาหนี้ครู ผนึก 13 หน่วยงาน แก้หนี้เป็นรูปธรรม - ลดเหลื่อมล้ำ

(26 ม.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเป็นวาระสำคัญ 

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์พอใจกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุดนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘การดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา’ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับหน่วยงานและสถาบันการเงิน 12 แห่ง เพื่อต่อยอด ‘โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย’ และ ‘มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย’ ที่มีการช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 10,300 ล้านบาท รวมไปถึงการเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ  

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ความร่วมมือของ 13 หน่วยงานในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการและประสานความร่วมมือ เพื่อจัดกิจกรรมตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และมีบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืน โดยดึงจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานเข้าช่วยเหลือจัดการแก้ไขหนี้และการอบรมความรู้ปลูกฝังวินัยการเงิน พร้อมทั้งให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ สำหรับการชำระหนี้ การกู้ยืม การออม และการลงทุน เพื่อช่วยเหลือให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

'บิ๊กตู่' จัดงานเฉลิมฉลอง 'ปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศสปี 2566' ตอกย้ำ!! ความร่วมมือ 'นวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศส' เป็นรูปธรรม

(26 ม.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและฝรั่งเศสขับเคลื่อนความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างกันอย่างต่อเนื่องจนเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดงานเฉลิมฉลอง ‘ปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศสปี 2566 (2023 Thailand - France Year of Innovation)’ ในวันที่ 26 มกราคม 2566 ณ สวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร

นายอนุชา กล่าวว่า ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นมายาวนาน และมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในหลายมิติ ซึ่งความร่วมมือด้านนวัตกรรมก็เป็นอีกมิติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยทั้งสองฝ่ายได้กำหนดให้ปี 2566 เป็นปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส เป็นการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องมาจากการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เมื่อเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมา โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยและฝรั่งเศส ได้ประสานความร่วมมือกัน และมุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างกันในมุมมองที่ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันของทั้งสองประเทศ

'รมว.สุชาติ' เยี่ยมการฝึกบุคลากรดูแลผู้สูงอายุ ป้อนสถานประกอบการ รองรับสังคมผู้สูงอายุ

(26 ม.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเยี่ยมชมการฝึกเตรียมเข้าทำงาน หลักสูตร การดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง โดยมี ดร.อุดม สุวรรณพิมพ์ ผู้ช่วยคณบดี คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเชียงราย และผู้เข้ารับการฝึกอบรม ร่วมต้อนรับ ณ ศูนย์ฝึกอบรมวิสาหกิจชุมชนอำเภอแม่จัน (ป่าตึง) เชียงราย หลั่นล้าอีโคโนมี ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย

นายสุชาติ กล่าวว่า ในวันนี้ผมและคณะได้ลงพื้นที่มายังจังหวัดเชียงราย เพื่อเยี่ยมชมการฝึกเตรียมเข้าทำงาน หลักสูตร การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานส่งเสริมคนไทยมีงานทำ เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานให้สามารถนำทักษะไปประกอบอาชีพทั้งในและต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน จึงได้ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย เป็นผู้ดำเนินการฝึกตามโครงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการสร้างทักษะฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งพัฒนาบุคลากรหรือแรงงานที่ให้บริการด้านการดูแลผู้สูงอายุให้มีทักษะเพิ่มขึ้นเตรียมพร้อมก่อนเข้าทำงาน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และหลายประเทศที่มีลักษณะของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการผู้มีความรู้ด้านการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น 

ด้าน นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าว สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย ได้บูรณาการกับโรงเรียนนวัตกรรมบริหารจัดการสถานพยาบาล คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งได้รับการรับรองให้ดำเนินการฝึกอบรมนอกสถานที่จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีผู้รับการฝึกซึ่งเป็นสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนอำเภอแม่จัน (ป่าตึง) เชียงราย หลั่นล้าอีโคโนมี จำนวน 26 คน ฝึกระหว่างวันที่ 16 ม.ค.65 - 8 พ.ค. 66

ฟรุ้ทบอร์ด ไฟเขียวแก้ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ เล็งใช้เส้นทาง ‘รถไฟจีน-ลาว’ รองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 66

ฟรุ้ทบอร์ด เห็นชอบ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ตามนโยบายของรัฐมนตรีเกษตรพร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการตู้และขบวนรถไฟจีน-ลาว รองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 2566 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board) เปิดเผยภายหลังการประชุมวันนี้ว่า ที่ประชุมได้รับทราบ

1.) รายงานความก้าวหน้าโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2564/2565 รอบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี

2.) รายงานความก้าวหน้าโครงการพัฒนาลำไยอย่างยั่งยืน ปี 2566 – 2568 จากการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1/2565 มีมติมอบกรมส่งเสริมการเกษตรฝ่ายเลขาฯ ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำแนวทางหรือโครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยอย่างยั่งยืนระยะยาว โดยการปรับโครงสร้างการผลิตลำไยในฤดู และนอกฤดู ให้เท่ากับร้อยละ 60 : 40 ภายในปี 2567 เพื่อให้ลำไยมีการกระจายการผลิตได้ทั้งปี ผลผลิตในฤดูไม่ซ้อนทับกันมาก เป็นทางเลือกให้แก่ตลาดได้ทุกฤดูกาล/ทุกเทศกาล ที่ต้องการลำไย โดยในฤดูกาลปกติจะลดภาวะ over supply ลงได้ร้อยละ 10 แต่ประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรไม่ลดลง

3.) รายงานสถานการณ์การผลิตไม้ผล ปี 2566 โดยคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

4.) รายงานผลการประชุมคณะทำงานศึกษาโครงการมหานครผลไม้และการขนส่งผลไม้ผ่านสนามบินจันทบุรี ครั้งที่ 1/2565
โดยใช้แนวทางการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP) 

5.) รายงานผลการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า 

6.) รายงานสรุปผลการประชุมเฉพาะกิจการเตรียมความพร้อมในการใช้เส้นทางรถไฟจีน – ลาว ซึ่งเป็นโอกาสของฝ่ายไทยและขยายเส้นทางการขนส่งทางรางเพื่อเพิ่มศักยภาพการนำเข้า - ส่งออกสินค้าไปจีนและผ่านจีนไปยังสหภาพยุโรปผ่านเส้นทางตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง มีการดำเนินการ ดังนี้ (1) การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการตู้และขบวนรถไฟ มีหน้าที่ในการรับจองตู้และขบวนรถไฟ เพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 2566 โดยความร่วมมือภาคีเครือข่ายภาคเอกชน โดยประสานงานกับสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (2) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟ ไทย - จีน -ลาว รวมไปถึงการขยายเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านจีนไปสู่ภูมิภาคอื่น (3) เร่งรัดการเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนสำหรับระบบตรวจสอบ รวมไปถึงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และโครงการพื้นฐานของด่านส่งออกที่สำคัญ เช่น ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม และด่านหนองคาย (4) ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การขนส่งสินค้าเกษตรจากประเทศไทยสร้างการรับรู้ ข้อปฏิบัติ ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไทย - จีน - ลาว ในระดับพื้นที่ควบคู่ไปด้วย

‘ศักดิ์สยาม’ หารือร่วม ‘JETRO - หอการค้าญี่ปุ่น’ ยัน!! ไทยมีแผนพัฒนา ศก. หลังโควิด-19 คลี่คลาย

‘ศักดิ์สยาม’ หารือร่วม ‘JETRO - หอการค้าญี่ปุ่น’ ถกแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย หวังการท่องเที่ยวปี 66 ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย พร้อมอัปเดตโปรเจกต์คมนาคม - ขับเคลื่อน EV - เปิดประเทศ

(26 ม.ค.66) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 นายคุโรดะ จุน (Mr.Kuroda Jun) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และนายคาโต้ ทาเคโอะ (Mr.Kato Takeo) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) เข้าพบ เพื่อหารือแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย

ทั้งนี้ นายคุโรดะ จุน ได้รายงานในที่ประชุมถึงผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 (ก.ค.-ธ.ค. 2565) โดยแนวโน้มเศรษฐกิจจากทัศนะของผู้ประกอบการญี่ปุ่นยังเป็นไปในทิศทางบวก และดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ อาทิ ราคาต้นทุนวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่สูงขึ้น รวมถึงราคาพลังงานที่ปรับราคาสูงขึ้น และอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออกลดลง แต่ก็หวังว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2566

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้กล่าวขอบคุณข้อเสนอแนะ และยืนยันเป้าหมายของรัฐบาลไทย ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย โดยกระทรวงคมนาคมยังคงดำเนินภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งสาธารณะ มุ่งเน้นการดำเนินการด้านความเป็นกลางด้านคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามขอบเขตของกิจกรรมทางธุรกิจ

ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างการดำเนินโครงการถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (EV on Train) ที่จะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 4 ปี และการสานต่อการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและชานเมือง พร้อมทั้งแจ้งความคืบหน้าโครงการ Landbridge โดยอยู่ในขั้นตอนการจัดทำ Concept Design เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนการประชาสัมพันธ์โครงการฯ (Road Show) ทั้งในและต่างประเทศเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก

‘บิ๊กตู่’ เร่งเดินหน้าโครงการสนามบินอู่ตะเภา ยัน เริ่มก่อสร้างต้นปี 66 ช่วยฟื้นฟูอุตฯการบิน

‘บิ๊กตู่’ เร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เริ่มก่อสร้างต้นปี 66 นี้แน่นอน คาดสร้างผลตอบแทน 3.05 แสนล้าน จ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่ง/ปี ใน 5 ปีแรก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโต ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน 

(27 ม.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ให้ความสำคัญเดินหน้าปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในทุกมิติ โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ จึงเร่งผลักดันโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ EEC เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation เป็นศูนย์กลางของ 'มหานครการบินภาคตะวันออก' รวมถึงเป็น 'เมืองท่าที่สำคัญ' เชื่อมโยงขยายกรุงเทพไปทางตะวันออก ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ตั้งอยู่ในต.พลา อ.บ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นโครงการในรูปแบบ PPP มีมูลค่าการมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมกพอ.ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังจากเอกชนคู่สัญญา และกองทัพเรือ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการใช้สนามบินอู่ตะเภาร่วมกัน (Joint Use Agreement) และรายงาน EHIA ได้รับการอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรี โดย สกพอ. ได้แจ้งให้เอกชนรับสิทธิตามสัญญาแล้ว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 จากนี้ สกพอ. จะแจ้งให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2566  หลังจากเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาร่วมลงทุนครบถ้วน

‘นิพนธ์’ ลุยยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร มอบทุนส่งเสริม 14 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ

‘เฉลิมชัย’ มอบ ‘นิพนธ์’ เดินหน้ายุทธศาสตร์ ทำชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร มอบทุนส่งเสริม 14 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ ห้าจังหวัดชายแดนใต้

เมื่อวานนี้ (26 ม.ค. 66) นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งมอบป้ายสนับสนุนเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส จำนวน 14 กลุ่ม  และมอบนโยบายการขับเคลื่อน โครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รองผวจ. ปัตตานี นายอำเภอกะพ้อ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 14 กลุ่ม และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ สนามฟุตบอลตำบลปล่องหอย หมู่ที่ 5 ตำบลปล่องหอย อำเภอกะพ้อจังหวัดปัตตานี

โดยที่กองบริหารกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาอนุมัติ สัญญายืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรเลี้ยงโคให้กับวิสาหกิจชุมชนจำนวน 14 กลุ่ม 14 โครงการ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการต่อยอดอาชีพ การเลี้ยงโคเนื้อ และยกระดับสินค้าโคเนื้อให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชน นำไปสู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้ออย่างยั่งยืน รวมวงเงินทั้งสิ้น 54,149,600 บาทประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี จำนวน 13 กลุ่ม 13 โครงการ วงเงิน 50,538300 บาท 

และในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสจำนวน 1 กลุ่ม 1 โครงการ วงเงิน 3,611,300 บาท โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส และมอบป้ายสนับสนุนเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาสจำนวน 14 กลุ่ม โดยมีตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ มารับมอบจากรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ 

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจะร่วมขับเคลื่อนการทำงานให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ผ่านโครงการสำคัญในพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร เช่นโครงการเมืองปศุสัตว์ชายแดนภาคใต้ โดยกรมปศุสัตว์และหน่วยงานในสังกัดได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ และการพัฒนางานด้านการเกษตร ได้มีการมอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การพัฒนาส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน 'ฮาลาล' ในพื้นที่ชายแดนใต้ การพัฒนาแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ปี 65 ยอดจดทะเบียนธุรกิจพุ่ง 7.6 แสนราย สะท้อนนักลงทุนเชื่อมั่น - เกิดการจ้างงานในระยะยาว

(27 ม.ค. 66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้รับทราบข้อมูลด้านการลงทุนที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยยอดธุรกิจตั้งใหม่ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน การออกบัตรส่งเสริมที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกให้แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติตลอดปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นสัญญาณชี้การลงทุนใหม่ในระยะต่อไป ที่จะนำไปสู่การจ้างงานและการมีงานทำของประชาชนในระยะยาว

“นายกรัฐมนตรีพอใจกับยอดธุรกิจตั้งใหม่และการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งการลงทุนใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะนำไปสู่การจ้างงาน การมีรายได้และกำลังการใช้จ่ายของประชาชนในระยะยาว ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

‘นักท่องเที่ยวจีน’ หวนเยือน ‘ไทย’ จุดประกายความหวังท่องเที่ยวคึกคัก

กรุงเทพฯ, 26 ม.ค. (ซินหัว) — หลังจากเผชิญภาวะหยุดชะงักนาน 3 ปี ไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลับสู่หาดทรายสีทอง วัดวาอารามงามงด และศูนย์การค้าสุดหรูอีกครั้ง โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้าประเทศจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

หลิวหลิงหลิง นักท่องเที่ยวจากนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ซึ่งวางแผนใช้เวลาช่วงวันหยุดตรุษจีนในไทย กล่าวว่าการเดินทางครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของครอบครัวตั้งแต่มีการระบาดใหญ่ โดยทุกคนตื่นเต้นและมีความสุขมาก รวมทั้งรู้สึกได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในไทยด้วย

หลิวมีแผนเดินทางไปภาคใต้ของไทยพร้อมกับครอบครัวเพื่อพักที่รีสอร์ตริมทะเล หลังจากใช้เวลาในกรุงเทพฯ 2-3 วัน โดยเธอเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เลือกไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก นับตั้งแต่ยุทธศาสตร์การรับมือโรคโควิด-19 ฉบับปรับปรุงของจีนมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ม.ค.

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่สองหลังจากการปรับยุทธศาสตร์ของจีน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย พร้อมเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่น ๆ ร่วมให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มแรกที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยดอกไม้และของขวัญ

บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่าการจัดงานระดับสูงนี้สะท้อนความสำคัญที่ไทยมีต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนกลับสู่ประเทศ เพื่อช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน บรรยากาศช่วงเทศกาลตรุษจีนแผ่อบอวลทั่วย่านใจกลางกรุงเทพฯ โดยห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ พร้อมใจประดับประดาสิ่งตกแต่งกลิ่นอายเทศกาลตรุษจีน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้าไทยในช่วงวันหยุด 'สัปดาห์ทอง' (Golden Week) ครั้งแรก หลังจากจีนปรับมาตรการรับมือโรคโควิด-19

ถนนเยาวราชความยาว 200 เมตร ถูกประดับประดาด้วยแสงสีและโคมไฟหลายรูปแบบ เพื่อเฉลิมฉลองวันตรุษจีนซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 ม.ค. และเป็นวันแรกของปีเถาะหรือปีกระต่าย ซึ่งณัฐพร เชฟร้านอาหารบนถนนเยาวราช เชื่อว่าจะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความคึกคักและเจริญรุ่งเรือง

ณัฐพรบอกเล่าว่าทางร้านกักตุนวัตถุดิบอาหารสำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีนแล้ว ซึ่งมักเป็นเวลาที่ดึงดูดลูกค้าต่างชาติจำนวนมาก พร้อมเสริมว่านักท่องเที่ยวจีนถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทย พวกเขากลับมาแล้วในปีนี้ และผมคิดว่าธุรกิจของเราจะกลับมาดีเหมือนช่วงก่อนการระบาดใหญ่

ด้านกลุ่มสายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร และผู้ประกอบการการท่องเที่ยวอื่น ๆ ต่างเฝ้ารอต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นในปีนี้เช่นกัน

วิชัย (Wichai Kinchong Choi) รองประธานอาวุโสของธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนได้เพิ่มความหวังต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยและนานาประเทศทั่วโลก

ปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวรวดเร็วขึ้นเพราะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ขณะเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเยือนประเทศระหว่าง 7-10 ล้านคนในปี 2023 โดยแบ่งเป็น 300,000 คนในช่วงไตรมาสแรก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top