Sunday, 18 May 2025
Econbiz

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 21 – 25 พ.ย. 65 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ ชี้ แนวโน้ม 28 พ.ย. – 2 ธ.ค. 65

สรุปสถานการตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 21 – 25 พ.ย. 65 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ ชี้ แนวโน้ม 28 พ.ย. – 2 ธ.ค. 65

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ล่าสุดยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีนยังรุนแรง กดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมัน ล่าสุดทางการจีนรายงานผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทั่วประเทศในวันที่ 26 พ.ย. 65 อยู่ที่ 39,791 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสถานการณ์บานปลาย โดยประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงมาตรการ Lockdown ซึ่งเข้มงวดและยาวนานเกินไป อาทิ ในเมือง Shanghai, Beijing, Chengdu, Wuhan, และ Guangzhou ในบางเมืองประชาชนไม่สามารถออกนอกบ้านมานานกว่า 100 วัน

วันที่ 26 พ.ย. 65 รัฐบาลสหรัฐฯ ออกใบอนุญาตให้แก่ Chevron Corp. ผลิตน้ำมันดิบในเวเนซุเอลา เป็นเวลา 6 เดือน โดยยังคงมาตรการคว่ำบาตรภาคพลังงานเวเนฯ แต่ผ่อนผันให้เฉพาะน้ำมันดิบที่ส่งออกมาสู่สหรัฐฯ ทั้งนี้เวเนฯ ผลิตน้ำมันอยู่ที่ระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวัน และ Reuters รายงาน Chevron ผลิตน้ำมันดิบในเวเนฯ ก่อนมาตรการคว่ำบาตร ที่ระดับ 200,000 บาร์เรลต่อวัน

ให้จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) วันที่ 13-14 ธ.ค. 65 ซึ่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขา San Francisco นางสาว Mary Daly คาดการณ์ว่า FOMC จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate: FFR) ขึ้น 0.75% อยู่ที่ 4.5-4.75%

GC ภูมิใจใช้ ‘YOUเทิร์น’ บริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วจากเอเปคกลับสู่ระบบ

GC นำ 'YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม' บริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วจากการประชุม APEC 2022 รวม 360 กิโลกรัม ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 835.20 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่ 93 ต้น

พลาสติกใช้แล้วจากการประชุม APEC 2022 จำนวน 360 กิโลกรัม จากจุดรับขยะภายใต้โครงการ แยก แลก ยิ้ม ของ OR นำเข้าสู่ ENVICCO ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 835.20 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่ 93 ต้น GC ภูมิใจที่ได้สนับสนุนให้การประชุม APEC 2022 เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อโลก ดีอย่างยั่งยืน

https://www.facebook.com/watch/?v=1816303905401240

GWM แจงลูกค้าอย่าตกใจเปลี่ยนแบต 6 แสน ชี้ แค่ประเมินเบื้องต้น ยันจากนี้จะประสานประกันทุกเคส

GWM ชี้แจง ค่าเปลี่ยนแบต Ora Good Cat กว่า 6 แสนบาท ระบุ เป็นการประเมินเบื้องต้น จริงๆ เปลี่ยนแค่ฝาครอบพอ จัดตั้ง HOTLINE สายด่วนเพื่อรับปัญหาเกี่ยวกับแบตโดยเฉพาะ พร้อมส่งคนจาก สนง.ใหญ่คุยประกันทุกเคสเกี่ยวกับแบต

ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับรถยนต์ ORA GOOD CAT ที่แผงครอบแบตเตอรี่ใต้ท้องรถได้รับความเสียหาย หลังจากที่บริษัทประกันภัยได้ประเมินมูลค่าการซ่อมแล้วพบว่ามูลค่าการซ่อมมากกว่า 70% ของทุนประกัน ทางบริษัทประกันภัยจึงเสนอคืนทุนประกันเต็มจำนวนให้กับลูกค้านั้น

ล่าสุดทาง เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทุกท่านทราบดังนี้

ในกรณีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของรถไฟฟ้าและเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของลูกค้า เกรท วอลล์ มอเตอร์ ถือเป็นเรื่องสำคัญและมีการกำหนดขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ โดยทีมผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญและช่างเทคนิคได้เข้าทำการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแบตเตอรี่โดยใช้เครื่องมือพิเศษเฉพาะทาง โดยการตรวจสอบนี้จะครอบคลุม 3 ด้าน การทดสอบระบบแรงดันไฟภายในแบตเตอรี่และการทำงานของแบตเตอรี่ การตรวจสอบการรั่วไหลของระบบหล่อเย็น (Coolant) ภายในแบตเตอรี่ การตรวจสอบการรั่วไหลของฝุ่นและอากาศเข้าในแบตเตอรี่

สำหรับเคสนี้ จากการทดสอบด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง เราพบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ส่งผลกับตัวแบตเตอรี่ภายในใดๆ ทั้งสิ้น จึงวิเคราะห์ให้ทำการเปลี่ยนเฉพาะฝาครอบแบตเตอรี่ที่ได้รับความเสียหายจากการกระแทกเท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายจะยังอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของบริษัทประกัน ซึ่งราคาที่มีการส่งให้บริษัทประกันเพื่อคำนวณความเสียหายในเบื้องต้นนั้น เป็นราคาของการเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งลูก ซึ่งเป็นการประเมินเบื้องต้นจากการสังเกตจากลักษณะภายนอกเท่านั้น

ซึ่งทางบริษัทฯ ต้องขออภัยกับการสื่อสารที่ไม่ถูกต้องและความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ที่ก่อให้เกิดความกังวลกับทางลูกค้าและผู้ที่ได้รับข่าวสารมา ณ ที่นี้ด้วย

เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและลดความกังวลของลูกค้าของเรา บริษัทฯ ขอชี้แจงแนวทางในการดำเนินงานและเริ่มดำเนินการ 'ในทันที' ดังต่อไปนี้

ลูกค้าที่เกิดปัญหาอุบัติเหตุและแบตเตอรี่ได้รับความเสียหาย ทาง เกรท วอลล์ มอเตอร์ สำนักงานใหญ่ จะเข้าไปร่วมพูดคุยและเจรจาแก้ปัญหากับบริษัทประกันให้กับลูกค้าใน 'ทุกเคส'

จัดตั้ง HOTLINE สายด่วนเพื่อรับปัญหาเกี่ยวกับแบตเตอรี่โดยเฉพาะ

‘อลงกรณ์’ เผย!! มีผู้อ้างชื่อทุเรียนไทย หลอกขายในจีน มอบทูตเกษตรในจีนตรวจสอบ - รักษาภาพลักษณ์ผลไม้ไทย

(29 พ.ย. 65) จากกรณีที่สื่อบางฉบับนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่ามีการเผยแพร่คลิปทุเรียนซึ่งวางจำหน่ายในประเทศจีน ที่ผู้ขายอ้างว่าเป็นทุเรียนจากไทย จนทำให้ลูกค้าในเซี่ยงไฮ้หลงเชื่อซื้อกลับไปรับประทานในราคากิโลกรัมละ 200 หยวน หรือประมาณ 1,000 บาท แต่กลับพบว่ารสชาติไม่ใช่ของไทย และคลิปดังกล่าวยังถูกส่งต่อในประเทศจีนเป็นวงกว้างจนเกรงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะกระทบต่อชื่อเสียงของทุเรียนไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (29 พ.ย.) ว่า ทันทีที่ทราบข่าวได้รายงานต่อดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดโดยสั่งการทันทีในวันที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว (28พ.ย) ให้ทูตเกษตรของไทยทั้ง 3 สำนักงาน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมกับเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยทันที 

โดยได้รับรายงานในตอนค่ำของวันวานจากกงสุลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจุดจำหน่ายทุเรียนตามที่ปรากฏในข่าวแต่ไม่พบการขายทุเรียน อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า กรณีที่เป็นข่าว เป็นรถขายทุเรียนริมทาง (รถกระบะ) ไม่ใช่การขายทุเรียนจากร้านค้าที่มีแหล่งที่ตั้งถาวร โดยปกติรถขายทุเรียนคันนี้จะจอดขายช่วงกลางคืนบนถนน Xinhua ของเมืองเซี่ยงไฮ้ ช่วงวันที่ขายก็ไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะมาขายวันเสาร์อาทิตย์ ที่ผ่านมารถดังกล่าวไม่ได้มาจอดขายทุเรียน ณ บริเวณนั้นนานกว่าสัปดาห์แล้ว ราคาขายจะเป็นราคาต่อจินหรือ 500 กรัม ปกติทุเรียนไทยที่จำหน่ายในช่วงนี้ราคาประมาณ 25-40 หยวน/500กรัม หรือ 50-80 หยวน/กก. (หรือประมาณ 250-400 บาท/กก.)

ทั้งนี้ รถขายทุเรียนข้างทาง ส่วนใหญ่จะพบเห็นตามชานเมือง จอดขายริมถนนเฉพาะช่วงกลางคืน เพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ และทุเรียนที่ขายก็เป็นทุเรียนตกเกรด คุณภาพต่ำ และส่วนใหญ่ราคาถูกกว่าร้านค้าผลไม้ที่ได้มาตรฐาน

จากการสอบถามข้อมูลจากตลาดค้าส่งทราบว่า รถขายทุเรียนข้างทางในเซี่ยงไฮ้เป็นรถกระบะมาจากมณฑลอื่น โดยพ่อค้าจะไปซื้อทุเรียนตกเกรดราคาต่ำ ในปริมาณมากๆ มาเร่ขายริมถนน โดยบางคันจะเปลี่ยนที่ขายไปเรื่อยๆ จะแกะเนื้อทุเรียนขายเฉพาะเนื้อ ไม่ขายทั้งเปลือก นอกจากนี้ เครื่องชั่งก็ไม่ได้มาตรฐาน จากการสอบถามคนที่เคยซื้อทุเรียนจากรถกระบะ จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุเรียนคุณภาพต่ำ รสชาติไม่อร่อย 

นอกจากนี้จากการสำรวจร้านจำหน่ายผลไม้ในพื้นที่ 5 ร้าน ทุเรียนไทยราคาสูงกว่าทุเรียนเวียดนาม  พ่อค้าบอกว่าทุเรียนไทยอร่อยและเป็นที่รู้จัก คนที่รู้จักทุเรียน ก็จะมักเลือกซื้อทุเรียนไทย ในสายตาผู้บริโภค จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างทุเรียนไทยและทุเรียนประเทศอื่นจากรูปลักษณ์ได้ แต่จะสังเกตความแตกต่างจากสติกเกอร์ที่ขั้วผลที่ระบุว่าเป็นทุเรียนจากประเทศไทยหรือเวียดนาม

นายอลงกรณ์กล่าวว่า สปษ.ปักกิ่ง ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจวและเซี่ยงไฮ้ ได้มีการรายงานและเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนที่ส่งออกมายังจีนอย่างต่อเนื่องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพทุเรียนไทยก่อนการส่งออกเพื่อมิให้มีทุเรียนตกเกรด หรือทุเรียนคุณภาพต่ำมาจำหน่าย ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยในภาพรวม ตามนโยบายยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลไม้ไทยของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประธานฟรุ้ทบอร์ด 

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายเกษตรทั้ง 3 สำนักงานร่วมกับทีมไทยแลนด์ในจีนเฝ้าระวังติดตามข่าวสารในสื่อออนไลน์และสื่อต่าง ๆ หากปรากฏข่าวที่กระทบต่อผลไม้ไทยให้ตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนทันที

ปตท. - สยามพิวรรธน์ ผนึกพลังร่วมนำธุรกิจสู่เป้าหมาย สร้างความยั่งยืนให้ ‘สังคม-สิ่งแวดล้อม’

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ปตท. บริษัทพลังงานแห่งชาติที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานและปิโตรเคมีครบวงจร พร้อมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานแห่งอนาคตเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย และ กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกชั้นนำ โดยการนำของ สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย 

นับเป็นครั้งแรกของการประสานพลังจากสององค์กรชั้นนำระดับประเทศ ที่จะร่วมกันดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมี ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายองค์กรสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือที่ครอบคลุมการดำเนินงานใน 3 ด้าน ได้แก่... 

1.) การจัดการพลังงานหมุนเวียนนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero ผ่านความร่วมมือกับ บริษัท รี แอค จำกัด (ReAcc) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท.

2.) การบริหารจัดการขยะและของเสีย

และ 3.) โครงการการพัฒนาที่ยั่งยืนต่าง ๆ ในอนาคต ตอกย้ำวิสัยทัศน์และเป้าหมายการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในประเทศไทยดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม

ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือกับสยามพิวรรธน์ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของ ปตท. ในการส่งเสริมภาคธุรกิจไทย ให้หันมาใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น นำไปสู่การใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) เพิ่มศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืนของประเทศสู่เวทีโลกในอนาคต สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มุ่งสนับสนุนแนวทางการผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง 

โดยมีโครงการนำร่องด้านการจัดการพลังงานหมุนเวียนเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม ศูนย์การค้าในกลุ่มสยามพิวรรธน์ ที่จะเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจที่ใช้แนวคิดความยั่งยืน โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ผ่านการซื้อใบรับรองสิทธิการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates : RECs) จาก ReAcc ซึ่งเป็นตัวแทนให้บริการซื้อขายด้านพลังงานสะอาดและความเป็นกลางทางก๊าซเรือนกระจก (Carbon Neutrality) ให้แก่บริษัทที่ต้องการจัดหาพลังงานหมุนเวียนสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวได้สะดวกมากขึ้น 

ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทั้งสององค์กรในการมุ่งมั่นใช้พลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดในประเทศไทยให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ RECs ได้อีกด้วย

ด้านนางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายองค์กรสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า สยามพิวรรธน์สร้างความยั่งยืนผ่านทุกกระบวนการและในทุกธุรกิจที่ดำเนินการ (Sustainable Value In Process) เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งกับผู้คน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ การผนึกความแข็งแกร่งของสยามพิวรรธน์ ในฐานะผู้พัฒนาศูนย์การค้าที่เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของผู้คนด้วยความคิดสร้างสรรค์ และได้ใช้สยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่ดำเนินธุรกิจแบบร่วมสร้าง (Co-creation) บุกเบิกแนวคิดที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยจับมือกับ ReAcc ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ผู้ให้บริการซื้อขายพลังงานสะอาด จะทำให้เราสามารถพัฒนาต้นแบบของธุรกิจด้วยแนวคิดความยั่งยืน ร่วมฟื้นฟูและส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นหลัง และเข้าไปอยู่ใกล้ชีวิตประจำวันของผู้คนได้ง่ายขึ้น

‘บจ. ไทย’ โกยกำไร 9 เดือน ทะลุ 8 แสนลบ. รับอานิสงส์เปิดประเทศ หลังโควิดคลาย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน 9 เดือนแรก มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 41% ขณะที่กำไรสุทธิกว่า 8.2 แสนล้านบาท เติบโต 14.2% หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้น หลังสถานการณ์โควิดคลาย

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 780 บริษัท คิดเป็น 97.5% จากทั้งหมด 798 บริษัท (รวม SET และ mai และไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และบจ. ในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC) นำส่งผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 65 พบว่ามี บจ. รายงานกำไรสุทธิ 593 บริษัท คิดเป็น 76.1% ของ บจ. ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 65 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน บจ. ใน SET มีรายได้ 13,171,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.1% บจ. มีต้นทุนการผลิต 10,302,728 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.9% กำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) 1,489,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.6% และมีกำไรสุทธิ 825,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2% สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ 30 ก.ย.65 บจ. ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ระดับ 1.59 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.54 เท่า เมื่อเทียบกับงวดปีก่อน

"การยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดและการเปิดประเทศช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจเติบโตดีและมีการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การใช้จ่ายของคนในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้ธุรกิจที่เติบโตได้ดีคือ กลุ่มธุรกิจธนาคารและบริษัทเงินทุนมีการขยายตัวด้านสินเชื่อได้ดี ธุรกิจพาณิชย์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจโรงพยาบาลมียอดขายเพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้กลุ่มธุรกิจโรงแรมมียอดขายเพิ่มขึ้นและมีผลขาดทุนลดลง ทั้งนี้ ความผันผวนของสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราแลกเปลี่ยนยังกระทบต่อต้นทุนการผลิตและอัตราการทำกำไรของ บจ." นายแมนพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากแยกผลการดำเนินงานของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ระบุว่า บริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 185 บริษัท คิดเป็น 96% จากทั้งหมด 192 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่ปิดงบไม่ตรงงวด) นำส่งผลการดำเนินงาน โดยงวดสะสม 9 เดือนปี 2565 พบ บจ. ที่รายงานกำไรสุทธิจำนวน 131 บริษัท คิดเป็น 71% ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 153,582 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.8% ต้นทุนขาย 121,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.0% ทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ลดลงจาก 23.6% มาอยู่ที่ 21.0% กำไรจากการดำเนินงาน 8,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.0% และมีกำไรสุทธิรวม 6,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% โดย 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มียอดขาย กำไรจากการดำเนินงาน และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มบริการ และกลุ่มเทคโนโลยี

ท่องเที่ยวภูเก็ต ผนึก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทยสู่ Digital Transformation

(29 พ.ย. 65) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ผนึกกำลังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จัดงานแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้ชื่อ 'Thailand Travelution 2022' เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสู่ Digital Transformation เต็มรูปแบบ โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล' ระหว่างวันที่ 29 - 30 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

'บิ๊กตู่' ชี้ การเล่นเกมสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ ย้ำ!! แต่ต้องรู้จักแบ่งเวลาให้ถูก

วันนี้ (29 พ.ย. 65 ) ลาดพร้าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต รายการ ROV FREE FIGHT BY MDES ที่ห้องประชุมวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ยินดีที่มาร่วมงานนี้ ถือเป็นโอกาสของเราในวันนี้โลกกำลังเผชิญความท้าทายหลายอย่างด้วยกัน แต่โชคดีที่เราได้เตรียมการมาก่อนแล้วโดยเฉพาะไทยแลนด์ 4.0 ที่ตนได้กำหนดไว้ เพราะมองโลกเปลี่ยนแปลงโดยเร็วด้วยเทคโนโลยี จึงได้กำหนด 4.0 ขึ้นมา วันนี้หลายประเทศไป 5.0 แล้ว จึงถือว่าเราไม่ได้ช้าเกินไป 

จนกระทั่งเรามีวันนี้ ทุกอย่างเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติที่เราต้องสานต่อกันไป ไม่ว่าจะเป็นรุ่นตน คนรุ่นก่อน และคนรุ่นหลัง เด็กและเยาวชนทั้งหมดต้องเดินหน้าประเทศไปในลักษณะนี้ เพื่อรับมือความท้าทายไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์หรือความขัดแย้งในด้านการแข่งขันการลงทุนการค้าเสรีต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องโรคอุบัติใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งต่อไปเราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นมาอีก จึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งหมด โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การแข่งขันกีฬา อีสปอร์ต ถือเป็นอาชีพใหม่ธุรกิจใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องได้รับการพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจด้วย จึงขอให้ทุกคนร่วมกันพัฒนาต่อยอดกีฬาประเภทนี้ไม่ให้ทำแล้วเสียประโยชน์ ที่สำคัญต้องใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แบ่งเวลาให้ถูกต้อง รวมทั้งต้องรู้จักแบ่งเวลาได้ถูกต้อง ถ้าทำได้ ก็ถือว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน การแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่น้อง ๆ ได้แสดงออกทักษะต่าง ๆ ขอให้นักกีฬาทุกคนทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด โดยต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎกติกามารยาท จึงใช้วิจารณญาณให้อภัย ทุกครั้งที่มีการแข่งขันเราจะได้ประสบการณ์และมิตรภาพสำคัญที่สุด นอกจาดนี้ยังมีเพื่อนใหม่สังคมใหม่ ๆ จึงต้องสร้างความทรงจำที่ดีต่อกัน มีความรักและความสามัคคี

มองไทยรอบทิศ กับ ‘ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา’ 

มองไทยรอบทิศ กับ ‘ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา’ 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและรวมถึงทั่วโลกเริ่มหวนคืน ภายหลังเชื้อโควิด-19 เริ่มจาง เราเริ่มเห็นตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเวียนเข้ามาตั้งแต่ต้นปี จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม (65) 

เราเริ่มเห็นภาพชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจนแน่นสนามบินสุวรรณภูมิ 

ภาพเหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณเด่นชัดว่า ‘ประเทศไทย’ กำลังจะดีขึ้น 

ไม่เพียงเท่านั้น เครื่องจักรเศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ก็กำลังเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่น่าสนใจ ไม่ว่าเป็น ‘การส่งออก’ โดยเฉพาะการส่งออกอาหาร ซึ่งถือเป็น ‘พระรองรูปหล่อ’ ที่ผลักออกสู่ตลาดและสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างน่าสนใจ จนคาดว่าจะช่วยเสริมแรงให้เศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาในเร็ววัน

เรื่องนี้ไม่ใช่การมโน แต่ได้รับคำยืนยันจาก ‘ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา’ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้คลุกวงในอยู่ในความเคลื่อนไหวของการผลิตและการส่งออกมาอย่างยาวนาน มาช่วยแถลง ผ่านบทสัมภาษณ์ที่ทำให้ THE STATES TIMES รู้สึกว่า ‘ประเทศไทย’ ไปรอด!!

Q: ข่าวดีประเทศไทยช่วงนี้มีเยอะมากจริงเลยนะครับ!!
A: ใช่ครับ!! ตอนนี้เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจเริ่มถูกขับเคลื่อยด้วย ‘ส่งออก’ กับ ‘ท่องเที่ยว’ อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงของไตรมาสสุดท้าย ซึ่งถือเป็นหน้าท่องเที่ยว มีอากาศดี โดนใจคนในหลายๆ ประเทศฝั่งตะวันตกที่หนีหนาวมาพึ่งอากาศ ยิ่งเปิดประเทศชัด2-3 เดือนมานี้ สารพัดทิศก็มาทัวร์ที่ไทย แม้จะมีการติดขัดในเรื่องของสายการบินที่ยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เต็มที่อยู่บ้าง ซึ่งในหลายๆ ประเทศก็เจอปัญหานี้ 

ขณะเดียวกันในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น นวด, ผับบาร์, ร้านอาหาร ก็กลับมาเปิดบริการกันค่อนข้างเยอะแล้ว ทุกคนคึกคัก เพราะการหยุดไป 2 ปีกว่าๆ นี่คือช่วงเวลาที่กลุ่มธุรกิจซึ่งอยู่ในห่วงโซ่นี้จะกลับมาพลิกฟื้นตัว 

Q: ข้ามเรื่องของท่องเที่ยวไปก่อน แล้วไปมองย้อนไปยังเรื่องของ ‘การส่งออก’ คุณมองว่าทิศทางส่งออกของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป?
A: ถ้ามองภาพรวมการส่งออกในส่วนที่เป็นสินค้าประเภทต่างๆ ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเราได้อานิสงฆ์จริงๆ มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หลังจากหลายๆ ประเทศเริ่มกลับมาทำธุรกิจ ทำให้การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาก คนออกมาจากบ้านได้ ไปร้านอาหารได้ คนออกมาทำธุรกิจได้ ก็ต้องมีการซื้อรถยนต์ ต้องมีการบริโภคต่างๆ เพิ่มเข้ามา ตัวเลขมันเริ่มดีมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แล้วต้นปีนี้ก็ถือว่าเติบโตดีพอสมควร

ดังนั้นตัวเลขการส่งออกของเรา จึงยังแตะเลขสองหลักอยู่ ภายใต้การเติบโตเกิน 10% จากที่ทั้งปีเราคิดว่าน่าจะโตแค่ 8% เท่านั้น แต่ถ้าหากตัวเลขจะตกลงกว่านี้ ก็คงมาจากเรื่องของความกังวลของตัวแปร ‘เศรษฐกิจถดถอย’ มาเป็นตัวดึง ก่อนหน้านี้เท่าที่เราติดตามกัน ทุกท่านคงทราบดีว่า ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามีเงินเฟ้อสูงมาก ก็พยายามมีวิธีการที่จะสกัดเงินเฟ้อให้ได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย การขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ หลายๆ ครั้ง มันก็ส่งผลให้การใช้จ่ายมันลดลง ซึ่งเขาต้องการอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะเงินในระบบเขามีเยอะ อย่างก่อนหน้านี้เขามีอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเยอะ รวมทั้งในช่วงโควิดด้วย เนื่องจากเขาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เขามีความสามารถสูง เวลาเกิดสถานการณ์อย่างโควิด คนไม่ต้องทำงานก็มีเงินเดือน ยังมีเงินจับจ่ายเพียงพอ ถึงแม้ข้าวของที่ต้องซื้อเข้ามามันแพงขึ้นเรื่อยๆ 

ฉะนั้นต่อให้ของมันแพงขึ้น แต่ถ้าเขายังมีอำนาจจับจ่ายอยู่ ก็จบ เพียงแต่เงินมันจะยังเฟ้อไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง แล้วพอเฟ้อก็แก้ด้วยการสกัดผ่านการขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ หลายๆ ครั้ง เพื่อกดให้คนไม่ต้องใช้จ่าย เพียงแต่ถ้าให้หยุดการใช้จ่าย มันก็จะนำมาซึ่งเรื่องของความชะงักงันทางเศรษฐกิจ หรือถ้าเป็นต่อเนื่องยาวๆ ก็จะถึงขั้นถดถอย แต่ประเทศมหาอำนาจจะไม่กังวลเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะเขามีความสามารถพอในการที่จะอัดฉีดเข้ามาในระบบใหม่ได้เร็ว

แต่ประเทศอื่นๆ ที่เห็นผลกระทบชัดเจนก็คือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ทุกประเทศในโลกนี้ค่าเงินอ่อนหมดเลยเพราะมีสหรัฐฯ แข็งอยู่ประเทศเดียว นั่นแปลว่าอะไร แปลว่า เวลาเราเจอสถานการณ์เช่นนี้ ก็ควรมองว่าทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากเรา ไม่ใช่ว่านำตัวเราไปเทียบเคียงกับสหรัฐฯ เพราะเราเทียบไม่ได้ ถ้าสหรัฐฯ บอกว่าขึ้นดอกเบี้ยเรื่อยๆ แล้วเราจะขึ้นตามเขาไปเรื่อยๆ ก็แปลว่าเราอาจจะมาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ในที่สุด แต่ถ้าเราวางตัวเองอยู่ในกลุ่มของประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจ และมองประเทศที่อยู่ในสถานภาพเดียวกันเป็นพื้นฐาน ค่าเงินเราอ่อน เขาก็อ่อน แต่เราจะดีกว่า คือ อ่อนอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งของเรา นั่นก็จะหมายความว่า เรายังมีความสามารถในการแข่งขันได้อยู่ แต่ถ้าหากเราไปวางตัวอยากจะแข็งเหมือนสหรัฐฯ เครื่องยนต์สองตัวของเรา ก็อาจจะล้มทันที เพราะคู่ค้าของเรารับไม่ไหว ทำให้เราส่งออกไม่ได้ ส่งออกยาก นั่นคือแง่ ‘ส่งออก’ ขณะเดียวกัน คนก็จะไม่มาเที่ยวไทย อยากมาแล้วเจอแต่ของแพง ฉะนั้นตอนนี้เราอยู่ในระหว่างประเทศคู่ค้าคู่แข่ง และประเทศอื่นๆ ที่เหลือทั่วโลกที่คบค้ากันต่อได้ 

Q: พูดถึงอาหาร ตอนนี้ ‘ฮาลาลไทย’ ดูจะไปได้ส่วย แต่กลับกันก็มีความท้าทายอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐาน เราต้องฝ่าเรื่องนี้ยังไง?
A: เนื่องจากจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามในโลกมีจำนวนมาก และพวกเขาก็มองว่าอาหารฮาลาล คือ มาตรฐานที่เข้มข้น และมาตรฐานนี้ก็ยังส่งผลไปถึงภาพของความสะอาด ปลอดภัย คุณภาพสูง ซึ่งส่งผลให้คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ก็เริ่มสนใจ แต่ก็อย่างที่บอกว่าฮาลาลมีมาตรฐานที่เข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซนประเทศที่เขาเป็นประเทศมุสลิม ฉะนั้นถ้าเราบอกว่ามาตรฐานฮาลาลไทย มุสลิมทุกคนที่อยู่ในไทยอาจจะเชื่อมั่นและยอมรับ แต่พอเราจะขายไปประเทศที่เป็นมุสลิมแท้ๆ อย่างมาเลเซีย, อินโดนีเซีย เราก็ต้องไปเจรจากับเขาก่อน ว่ายอมรับฮาลาลไทยไหม ถ้าไม่ยอมรับ อย่างช่วงที่ผ่านมา วิธีการแก้ไขแบบเฉพาะหน้าก็คือต้องยอมให้มาเลเซียมาเป็นคนรับรองแทน โดยใช้มาตรฐานที่ออกโดยมาเลเซีย หรือออกโดยอินโดนีเซีย เพื่อให้การค้าไม่สะดุด แต่วิธีการที่ถูกต้องจริงๆ แล้วมันต้องเทียบเคียงกันได้ หมายความว่าองค์กรมุสลิมไม่ว่าจะเป็นของไทย มาเลย์ฯ อินโดฯ ต้องคุยกันแล้วร่วมเป็นอันเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าทำเป็นมาตรฐานฮาลาลของอาเซียนได้อันนี้จะดีมาก เรื่องนี้ขอฝากไว้

Q: ถามต่อว่า ‘ฮาลาลของไทย’ มีจุดเด่นหรือมีความน่าสนใจตรงไหนในสายตาคนทั่วโลกตอนนี้?
A: ฮาลาลของเราพยายามจะผลักดันในเรื่องของวิทยาศาสตร์ คือ การรับรองฮาลาลทั่วไปในอดีตที่ผ่านมา สมมติว่าโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ คนที่จะเชือดไก่ก็ต้องเป็นคนมุสลิม แล้วตอนจะเชือดไก่ ไก่ต้องมีสติดีอยู่ ซึ่งคนละมาตรฐานกับทางยุโรปที่จะต้องช็อตให้มันสลบก่อนแล้วค่อยเชือด คนละวิธีกันเลย แต่ว่าในความเป็นฮาลาลไทย ถูกนำเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้าไปเกี่ยว ก็คือการที่ใช้แลปทดลองว่ามันมีอะไรที่มันปนเปื้อนมาจากเนื้อสัตว์อื่นๆ หรือมีข้อต้องห้ามอะไรหรือไม่ อันนี้ก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่ง ถ้าสามารถทำให้ทั่วโลกยอมรับได้ก็จะเป็นทางออกที่ดี สำคัญที่สุดคือคำว่า เขายอมรับเราหรือเปล่า เพราะบางทีเราก็คิดว่า ของเราดีที่สุดแล้ว แต่ว่าสุดท้ายมันเจรจาได้หรือไม่ อันนี้ก็สำคัญ 

Q: มีข้อแนะนำใดต่อผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกอาหารไปสู่อาเซียนบ้าง?
A: ประเทศไทยเรามีผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะ SME กับ Micro SME ที่อยู่ในหมวดอาหาร ซึ่งผมน่าจะ 70-80% เลยทีเดียว ผมขอกล่าวแบบนี้เวลาเราดูตัวเลขเรื่องส่งออก ตัวเลขมักจะไปโผล่ในเรื่องของยานยนต์ เรื่องของสินค้าที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตเยอะๆ แล้วก็มียอดจำหน่ายสูงๆ ราคาแพงๆ แต่เรื่องอาหาร ถึงแม้ไม่ได้อยู่ในอันดับต้นสุด อาจจะมีสัดส่วนประมาณสัก 10% ของ GDP แต่มันเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและที่สำคัญประชาชนหรือผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าของสินค้าเอง ซึ่งต่างจากสินค้าตัวอื่นที่ต้องเชิญต่างชาติมาลงทุน

เพราะฉะนั้นโอกาสของผู้ประกอบการด้านนี้ ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะ นึกภาพง่ายๆ ถ้าเวลาสั่งอาหาร เช่น ผัดกะเพรา เราจะรู้ดีว่าผัดกะเพราแต่ละร้านรสชาติมักไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นผัดกะเพราเหมือนกัน มีวัตถุดิบส่วนประกอบที่เหมือนกัน แต่รสชาติที่ออกมาอาจจะต่างกัน ซึ่งความแตกต่างตรงนี้ จะทำให้เราสร้างกลุ่มเป้าหมายเฉพาะขึ้นได้ เช่น คนกลุ่มไหนไม่กินเผ็ด บางคนบอกว่าต้องมีเค็มบ้างนิดหน่อยอะไรอย่างนี้ คนที่เป็น SME ต้องมองนิชมาร์เก็ตเป็นหลัก ไม่ใช่บอกว่า ฉันจะทำสินค้าออกมาแล้วขายให้ทุกคนได้ นั่นแปลว่าคุณกำลังคิดอยากจะไปแข่งกับรายใหญ่ ซึ่งการฆ่าตัวตายชัดๆ ไม่รอดแน่นอนครับ

Q: ภาพรวมของธุรกิจอาหารตอนนี้สดใสแค่ไหน?
A: ก่อนไปถึงจุดนั้น ผมขอเล่าว่าใน 9 เดือนแรก ภาคการส่งออกอาหารของเราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 ส่วนสินค้าเกษตร หรืออาหารที่ยังไม่แปรรูป เช่น พืชผัก/เนื้อสัตว์ จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 16 แต่ถ้ามองกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรคือที่แปรรูปแล้ว ยกตัวอย่างเช่นผักผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง 9 เดือนแรกยังเติบโตถึงร้อยละ 30 

สินค้าเหล่านี้ที่เป็นพื้นฐาน ที่มีราคาไม่แพง แต่คุณภาพดีมากๆ และมีความปลอดภัยสูง มันจึงเข้าถึงง่าย และทุกครั้งที่สัญญาณทางเศรษฐกิจกลับมา อาหารก็จะเป็นกิจกรรมหนึ่งทางเศรษฐกิจที่ขาดไม่ได้ พอประกอบกับจุดแข็งของประเทศที่มีความหลากหลายของวัตถุดิบอาหารด้วยแล้ว รวมถึงค่าเงินที่อ่อนตัว และการเติบโตในตัวเลขระดับ 2 หลัก หรือเกินกว่า 10% ในภาพรวมของตลาดส่งออกอาหาร ก็ไม่ยากเกินไป 

Q: Soft Power จะช่วยให้อาหารไทยไปไกลขึ้นอีกขั้นตามที่มีการพูดถึงจริงหรือไม่?
A: จริงๆ แล้วอาหารมันเป็น Soft Power ในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันจะเข้าถึงกลุ่มคนตรงไหนบ้างและมีคนเอาไปกระจายต่อให้เราได้อย่างไร อย่างช่วงที่ผ่านมาเราก็มีศิลปินดังๆ ช่วย อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี และการประชุมเอเปคที่ผ่านมา อินฟลูเอนเซอร์สำคัญ ก็คือผู้นำประเทศต่างๆ นี่แหละ ถ้าเขามาแล้วได้ทดลองอาหารของไทยที่มันมีเอกลักษณ์ ที่ไปหาที่อื่นไม่ได้ ก็จะยิ่งช่วงให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารไทยในทุกระดับ เช่น Local / GI (Geopolitical Indications) ไปได้ดียิ่งขึ้นอีก

Q: โดยรวมแล้วในภาพของการส่งออกภาคอาหารไปได้สวย!! ทีนี้ถ้าให้คุณมองตัวแปรต่างๆ เช่น สงครามรัสเซียกับยูเครน ‘ยืดเยื้อ’ จะมีผลดีหรือเสียต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต?
A: ถ้าโดยรวมแล้วไม่มีประเทศไหนได้รับผลดีจากเรื่องนี้เลยนะครับ เพียงแต่ว่าเราจะสามารถเดินต่อไปภายใต้ภาวะความขัดแย้งนี้อย่างไร อันนี้คือเรื่องสำคัญ ถ้าเรายังวางตัวว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเล็ก ซึ่งยังต้องพึ่งพาทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าใครจะขัดแย้งกับใคร แต่เรายังรักษาเรื่องสันติภาพ เรารักษาเรื่องของความเป็นกลางที่เข้าได้กับทุกคน ก็จะเป็นทางรอดของเรา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ 

Q: มองการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งห่างหายไปนานมาก จะส่งผลดีต่อไทยในด้านใดบ้าง? เช่น การส่งออก, การลงทุน และแรงงาน
A: เรียนอย่างนี้นะครับว่า ตอนนี้ตลาดที่เราให้ความสำคัญ คือ ตะวันออกกลาง แล้วก็เน้นไปที่ซาอุดีอาระเบีย เรื่องความสัมพันธ์ที่เราขาดช่วงไปถึง 30 ปี แล้ววันนี้กลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มันทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจหรือมีเศรษฐกิจระหว่างกันที่ดีขึ้นแน่นอน เหมือนเราได้ตลาดใหม่กลับมาอีกหนึ่งตลาด ซึ่งก่อนหน้าเราก็ยังค้าขายกัน ไม่ได้ตัดขาดกันทั้งหมด แบบร้อยเปอร์เซ็นต์อาจจะเหลือแค่สิบเปอร์เซ็นต์ เพราะติดทั้งปัญหาการขอวีซ่าเอย การเข้าไปเจรจาธุรกิจ หรือนำเสนอสินค้าใหม่ๆ แต่พอสัมพันธ์กลับมา ไม่ใช่เพียงแค่เปิดโอกาสให้เราขายสินค้าเข้าไป แต่เขาก็ต้องการให้เราไปลงทุนด้วย และเขาก็สนใจมาลงทุนในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ผมจึงมองว่าตัวเลขการค้าการลงทุนหลังจากนี้ระหว่างไทยกับซาอุฯ จะดีขึ้น สถานภาพแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ของไทย-ซาอุฯ จะเกิดขึ้นภายในหนึ่งปีหรือสองปี 

ฟื้นฟูการบินไทยไปได้สวย ทิศทางเป็นบวก กลับมาทำการบินในเส้นทางเดิม สภาพคล่องดีขึ้น

ครม.รับทราบความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย มีทิศทางเป็นบวกต่อเนื่องตามการคลี่คลายของโควิด19 สามารถกลับมาทำการบินในเส้นทางเดิม สภาพคล่องดีขึ้นความต้องการกู้ยืมลดลง แผนงานในอนาคตมีความชัดเจน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ (29 พ.ย. 65) ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีแนวโน้มการดำเนินที่ดีขึ้นต่อเนื่องภายหลังการคลี่คลายของโควิด-19 โดยสามารถเพิ่มความถี่เที่ยวบินใน 6 เดือนแรกของปี  65 และกลับไปทำการบินในเส้นทางเดิมก่อนการเกิดโรคระบาด

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3/65 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,920 ล้านบาท เทียบกับที่ขาดทุน 5,310 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 64  และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBIDA) 6,181 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 ที่ขาดทุน 3,100 ล้านบาท 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ใน เดือน ต.ค. 65  การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์มีผู้โดยสารต่างประเทศเฉลี่ยต่อวัน 21,558 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้โดยสารต่างประเทศที่ผ่านเข้า-ออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีส่วนแบ่งการขนส่งสินค้าคิดเป็นร้อยละ 28 ของปริมาณการขนส่งสินค้าเข้า-ออก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนในเดือนพ.ย.-ธ.ค. ก็มีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว ทำให้ ณ วันที่ 15 พ.ย. 65 บริษัทฯ มีเงินสดคงเหลือ  32,031 ล้านบาท

ทั้งนี้ ด้วยสถานะการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อใหม่ของบริษัทฯ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการได้ปรับลดจาก 50,000 ล้านบาท เหลือ 25,000 ล้านบาท  ซึ่งแยกเป็นความต้องการสินเชื่อระยะยาวและสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นประเภทละ 12,500 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและปรับลดต้นทุนอากาศยานอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีอากาศยานที่อยู่ในการปฏิบัติการบินรวม 61 ลำ ซึ่งด้วยการเติบโตของปริมาณความต้องการเดินทาง จึงมีการนำอากาศยานที่อยู่ในฝูงบินกลับมาให้บริการใหม่รวม 5 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส 330-300 จำนวน 3 ลำ

นอกจากนี้ บริษัท ยังได้ลงนามในสัญญาเช่าอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 แล้วจำนวน 2 ลำ และได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในการเช่าอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 อีก 2ลำ อยู่ระหว่างการขออนุญาตเข้าประจำการในฝูงบินต่อสำนักงานการบินพลเรือนและกระทรวงคมนาคม โดยคาดว่าอากาศยานทั้ง 4 ลำ จะเริ่มเข้าให้บริการได้ตั้งแต่ไตรมาสที่2/66 ซึ่งจะทำให้ในปี 66 บริษัทฯ จะมีอากาศยานที่นำมาบริการรวม 70  ลำ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทุน โดยการบินไทยจะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น เพื่อให้ส่วนทุนเป็นบวก สร้างความมั่นคงทางการเงิน และให้หุ้นของบริษัทฯ สามารถกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยแบ่งเป็นการออกหุ้นเสนอขายแก่กลุ่มต่าง ๆ  5 กลุ่ม ได้แก่

1) หุ้นจำนวน 4,911 หุ้น สำหรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Share Option) ของผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ เฉพาะผู้ให้สินเชื่อระยะยาว ในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้ที่เบิกใช้จริง หรือการเลือกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยแปลงหนี้เงินต้นเดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

2) หุ้นจำนวน 5,040 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้กลุ่มที่4 (กระทรวงการคลัง) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง (ประมาณ 12,827 ล้านบาท) ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น 

3) หุ้นจำนวน 9,822 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างแก่เจ้าหนี้กลุ่มที่5 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการได้รับเงินจากการขายเครื่องบิน) เจ้าหนี้กลุ่มที่6 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top