Saturday, 5 July 2025
Econbiz

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แก้เกมโควิด-19 เสริมแกร่งให้เกษตรกร-ผู้ประกอบการ SME เน้นจับคู่ธุรกิจผ่านออนไลน์ พร้อมใช้ FTA ควบคู่ ชี้ช่วยเพิ่มยอดขายในตลาดต่างประเทศได้จริง

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปรับกลยุทธ์การทำงาน ปี 2564 แก้เกมโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ โดยให้เน้นการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ สำหรับกิจกรรมฝึกอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อติดอาวุธให้กับกลุ่มเกษตรกร SMEs สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน พร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถจับคู่ธุรกิจ เพิ่มยอดขาย และบุกตลาดต่างประเทศได้จริง

“ในช่วงปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มสหกรณ์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดฝึกอบรม เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กฎระเบียบและมาตรการทางการค้า รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดส่งออก และการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มยอดขายและโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกร และ SME ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่ไทยมี FTA ด้วย ดังนั้น ในปีนี้จึงเน้นย้ำให้กรมฯ เพิ่มการนำเทคโนโลยีออนไลน์ มาเป็นตัวช่วยในการจัดกิจกรรม เพื่อให้เกษตรกร SME สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน สามารถเจาะตลาดต่างประเทศ และเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นแม้ในช่วงวิกฤติโควิด” นายวีรศักดิ์กล่าว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า สำหรับโครงการสำคัญที่กรมฯ จะดำเนินการ ในปี 2564 และจะเพิ่มการนำเทคโนโลยีออนไลน์มาใช้ในการจับคู่ธุรกิจ ตามนโยบายของ รมช.พาณิชย์ ได้แก่ โครงจัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA ซึ่งเน้นขยายตลาดส่งออกไปอาเซียนและจีน โครงการจับมือผู้ประกอบการใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ เพิ่มการส่งออกต่างประเทศด้วย FTA ร่วมกับ ศอ.บต. โครงการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทย ให้สามารถเพิ่มการส่งออก โดยใช้ประโยชน์จาก FTA ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ โครงการพัฒนาความพร้อมทางการค้าสหกรณ์ไทยสู่โลกการค้าเสรี และโครงการยกระดับผู้ประกอบการไทยผ่านโลกการค้าเสรี ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลง FTA จำนวน 14 ฉบับ (รวม RCEP) กับ 18 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยในปี 2562 การค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA 18 ประเทศ มีมูลค่ารวม 302,991 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 ใน 3 (สัดส่วน 63% ของมูลค่าการค้าไทย กับโลก) โดยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 150,933 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 152,639 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ย. 2563 การค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 250,721.76 ล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นการส่งออกมูลค่า 128,221.19 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 122,500.57 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งประเทศคู่ FTA ที่เป็นคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น

หลังค่ายต้นสังกัด JYP ออกแถลงยืนยัน สมาชิกของวง GOT7 จะไม่เซ็นสัญญาต่อ เพื่อออกเดินทางตามเส้นทางของตัวเอง ทำให้หุ้น JYP ดิ่งฮวบลงเหว

จากกรณีที่สื่อดังหลายแห่ง ออกมาเปิดเผยว่า สมาชิกของวง GOT7 จะไม่เซ็นสัญญาต่อกับค่ายต้นสังกัด JYP ที่กำลังจะหมดสัญญาในช่วงสิ้นเดือนมกราคมนี้อีกต่อไป โดยแต่ละคนจะออกเดินทางในเส้นทางของตัวเอง ซึ่งหลังมีข่าวดังกล่าวออกมา ศิลปิน GOT7 ก็ได้ไปร่วมงานประกาศรางวัล Golden disc awards รับรางวัลร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย

.

โดยเมื่อวันนี้ 11 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา JYP Entertainment ได้ออกเเถลงอย่างเป็นทางการเเล้วว่า

.

สวัสดีนี่คือ JYP

JYP ได้ทำการพูดคุยกับสมาชิก ก่อนที่ GOT7 ในวันที่ 19 มกราคม เป็นผลให้ศิลปินตัดสินใจไม่ต่ออายุสัญญาภายใต้ข้อตกลง โดยต้องการทำสิ่งใหม่ๆในอนาคต

GOT7 มีส่วนร่วมในฐานะวงไอดอลระดับโลก เป็นตัวเเทนของ K-pop มาเป็นเวลา 7 ปีนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2014

ทาง JYP ขอเเสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อสมาชิกทั้ง 7 คนของ GOT7 เเละขอบคุณสำหรับการเติบโตของ K-pop และ JYP รวมถึง ‘I GOT7' ที่สนับสนุนกิจกรรมของ GOT7 ตั้งเเต่เดบิวต์

เเละในอนาคต ถึงเเม้ว่าความสัมพันธ์จะสิ้นสุดลง เเต่ JYP จะสนับสนุนผลงานในอนาคตของ GOT7 ด้วยความจริงใจ

ขอขอบคุณ.

.

หลังจากที่ทาง JYP Entertainment ได้ออกมาเเถลงอย่างเป็นทางการ เรื่องหมดสัญญาของ GOT7 ทั้งนี้ ในทวิตเตอร์ ได้มีการติดเเฮชเเท็ก #ลาแล้วเจวายพี ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของประเทศไทย พร้อมทั้งเเชร์หุ้นของ JYP ที่ตอนนี้ดิ่งลงเเบบฉุดไม่อยู่ นอกจากนี้เหล่าเเฟนคลับยังพร้อมใจกันอันฟอลโลช่องทางติดตามในทวิตเตอร์ หากตีมูลค่าความเสียหายเป็นเงินไทย พบว่า JYP เสียหายมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาทเลยทีเดียว

.

ล่าสุดมีรายงานว่า จินยอง ได้พูดคุยและตกลงที่จะเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้วกับทางต้นสังกัดนักแสดง BH Entertainment ส่วนยูคยอม เตรียมที่จะเจรจาเซ็นสัญญากับทาง AOMG ค่ายเพลงของหนุ่มเจย์ปาร์ค ยองแจ ได้รับการติดต่อจาก Sublime Artist ด้านเจบี ในตอนนี้มีสังกัดเพลงฮิปฮอปหลายรายติดต่อเข้ามา ซึ่งเจ้าตัวกำลังพิจารณาค่ายที่เหมาะสมกับการทำกิจกรรมเดี่ยวของตนมากที่สุด ส่วนแจ็คสัน เดินหน้าทำกิจกรรมเดี่ยวอย่างเต็มที่กับสังกัดของเจ้าตัวอย่าง Team Wang และยังคงทำกิจกรรมต่อในเกาหลีผ่านทางสังกัดอื่น ด้านแบมแบม ลุยเดี่ยวทำกิจกรรมทั้งในไทยและเกาหลี ซึ่งการทำงานในเกาหลีในตอนนี้กำลังพูดคุยเรื่องเซ็นสัญญากับทาง MakeUs Entertainment ทางด้านพี่ใหญ่อย่าง มาร์ค เตรียมกลับบ้านเกิดในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เวลากับครอบครัว รวมถึงมีแผนจะเปิดช่อง Youtube และทำงานเพลงเดี่ยวในสหรัฐอเมริกา

‘รมว.พาณิชย์’ เห็นชอบต่ออายุสินค้าควบคุม 4 รายการ คือ หน้ากากอนามัย ใยสังเคราะห์สำหรับผลิตหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ และเศษกระดาษ เป็นสินค้าควบคุม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ต่ออายุสินค้าควบคุม 4 รายการ คือ หน้ากากอนามัย ใยสังเคราะห์สำหรับใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ และเศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก เป็นสินค้าควบคุม เพราะจะสิ้นสุดระยะเวลาการควบคุมในวันที่ 3 ก.พ.64 โดยขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอให้ที่ประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้าอนุมัติ

สำหรับสาเหตุที่ต้องควบคุมหน้ากากอนามัย วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และเจลล้างมือ เนื่องจากยังมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ยังมีความต้องการสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในส่วนของหน้ากากอนามัยมี 3 ส่วน คือ 1. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปัจจุบันมีอยู่ 30 กว่าโรงงาน จะคุมราคาขายปลีกไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาทเช่นเดิม 2. หน้ากากอนามัยทางเลือก ซึ่งมีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า จะคุมราคาโดยต้นทุนบวกค่าบริหารจัดการไม่เกิน 60% และ 3. หน้ากากผ้าไม่ควบคุม เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนใช้หน้ากากผ้าในการป้องกันโควิด-19

ส่วนผลการดำเนินคดีช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 63 - 12 ม.ค. 64 มีผู้ร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 160 ราย ตรวจสอบแล้ว 129 ราย ดำเนินคดีไป 19 ราย ประกอบด้วย ไม่ปิดป้ายแสดงราคา 13 คดี ขายเกินราคา 6 คดี ที่เหลือเมื่อตรวจสอบแล้ว ไม่พบการกระทำความผิด และในจำนวนคดีที่ขายเกินราคา 6 คดีนั้น เป็นคดีที่กระทำความผิดบนออนไลน์ 2 คดี ส่วนที่เหลืออีก 31 คดี จะเร่งตรวจสอบต่อไป

นายกรัฐมนตรี ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ประกาศให้เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เป็นวาระแห่งชาติ ดึงคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อน สร้างรายได้ใหม่ให้ประเทศ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ครั้งที่ 1/2564 หวังดึงคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพิ่มรายได้ประเทศ

.

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาให้ประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ขณะที่ประชาชนที่เป็นเกษตรกรอยู่ในภาคการเกษตรมีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน จึงต้องหาวิธีการใหม่ เพื่อใช้พื้นที่เกษตรให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวาระของโลก อาทิ การลดปริมาณขยะ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ภัยพิบัติ การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น

.

นายกรัฐมนตรียังชื่นชมแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 โดยเน้นดึงคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ BCG ใช้จุดเด่นและศักยภาพของประเทศไทยในเรื่องของการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถให้มากขึ้น โดยจะประกาศให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ เช่นเดียวกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และจะต้องสำเร็จภายใน 5 ปี ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ รวมถึงให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความปลอดภัยในด้านสาธารณสุข และจะนำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 ดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย

.

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

.

ยุทธศาสตร์ที่ 1: สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์

.

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน เน้น “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น

.

ยุทธศาสตร์ที่ 3: ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนด้วยความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบบ “ทำน้อยได้มาก”

.

ยุทธศาสตร์ที่ 4: เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทันเพื่อบรรเทาผลกระทบ

.

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 อยู่บนพื้นฐานของ 4 + 1 ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

“วิษณุ” เผย ภายใน 1-2 วัน รายชื่อคณะกรรมการสางปมบ่อนพนัน-แรงงานผิดกฎหมาย ออกชัดเจน ระบุ ประธานไม่ใช่คนสีกากี มีประวัติการทำงานดี มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ในส่วนที่รับผิดชอบ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้ารายชื่ออคณะกรรมการแก้ปัญหาบ่อนการพนันและแรงงานผิดกฎหมาย ตามที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ภายใน 1-2 วันนี้ รายชื่อคณะกรรมการ ที่เกี่ยวกับแรงงานผิดกฎหมายและคณะกรรมการที่เกี่ยวกับบ่อนการพนัน จะชัดเจน ซึ่งบางคนอาจไม่สะดวกที่จะรับตำแหน่งเนื่องจากต้องลงพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะบางคนเป็นผู้สูงอายุ

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนผู้ที่จะมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการ จะมีชื่อระดับบิ๊กเนมหรือไม่นั้น ตอบได้เพียงว่าเป็นผู้ที่มีประวัติการทำงานดี มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ในส่วนที่รับผิดชอบ ซึ่งประธานคณะกรรมการทั้งสองคณะ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ เพราะขั้นปฏิบัติ เจ้าพนักงานที่เป็นทหาร ตำรวจ เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งตัวประธานก็ไม่อยากให้เป็นข้าราชการทหารตำรวจ แต่เป็นอดีตข้าราชการได้ และที่สำคัญ ไม่อยากให้เป็นตำรวจเพราะอาจจะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องได้

“คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า เน้นเรื่องที่ได้รับร้องเรียนเรื่องปัจจุบันและหามาตรการป้องกันในอนาคต โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จะไม่มีการตรวจสอบย้อนหลัง เพราะเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินคดีตามกฎหมายอยู่แล้ว”

นายวิษณุ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองชุด ไม่ได้มีหน้าที่จับกุม เพราะคนจับคือเจ้าพนักงาน แต่จะทำหน้าที่เป็นผู้รับเรื่องราวร้องทุกข์และเบาะแสต่าง ๆ ที่มีบ่อนและแรงงานผิดกฎหมาย และจี้กำชับไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ตำรวจพื้นที่ลงไปดำเนินการ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หากพบว่าเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ของตัวเอง ก็สามารถไปแจ้งดำเนินคดีได้ที่กองปราบปรามหรือ ตำรวจสอบสวนกลาง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยให้คณะกรรมการป้องกัน และปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ตรวจสอบ เป็นต้น

ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีได้เปิดสายด่วน 1111 ให้ประชาชนแจ้งเบาะแส ซึ่งกรรมการทั้งสองชุดจะขยายผลไปตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ และอาจจะเปิดรับข้อมูลจากต่างจังหวัดด้วย ซึ่งกรรมการก็จะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาทำงานอีกต่อนึง

สภาพัฒน์’ ยันไม่ติดใจแผนฟื้นฟู ขสมก. ระบุส่งเสียงหนุน ให้คณะรัฐมนตรีนานแล้ว รอแค่คมนาคมส่งแผนลงทุนซื้อรถเมล์ใหม่ มาให้เคาะตามขั้นตอนเท่านั้น

ภายหลังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สคม.) ตีกลับแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้หารือในรายละเอียดกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) อีกครั้ง ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้ใช้รถเมล์โฉมใหม่ ที่เป็นรถพลังงานไฟฟ้า ลดมลภาวะ PM 2.5 แอร์เย็นฉ่ำในราคาสบายกระเป๋า

ล่าสุด นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้แผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ไม่ได้ติดอยู่ที่สภาพัฒน์ และกระทรวงคมนาคม ไม่จำเป็นต้องนำแผนฟื้นฟูฯ มาให้สภาพัฒน์พิจารณาก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องนี้อาจเป็นการเข้าใจผิด อย่างไรก็ตามสิ่งที่กระทรวงคมนาคม ต้องเสนอมาให้สภาพัฒน์พิจารณาคือ แผนการลงทุนในการจัดหารถโดยสารประจำทางใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ถือเป็นกระบวนการปกติของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหากต้องจัดซื้อจัดจ้างต้องส่งมาให้สภาพัฒน์พิจารณาด้วย ไม่ได้เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ

“ยืนยันว่าสภาพัฒน์ไม่ได้มีประเด็นอะไรเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู ขสมก. ซึ่งก่อนหน้านี้สภาพัฒน์ได้ส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ ไปยัง ครม. นานมากแล้ว โดยไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด เวลานี้หากแผนพื้นฟูฯจะเข้าครม. ก็เข้าไปได้เลย ไม่ต้องส่งมาที่สภาพัฒน์ ส่วนเรื่องที่ต้องส่งมาคือแผนที่ ขสมก. จะลงทุนซื้อรถเมล์ใหม่ อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์พร้อมที่จะชี้แจง และเตรียมนัดหารือกับทางกระทรวงคมนาคมในเร็วๆ นี้ หากเรื่องนี้จะมีประเด็นน่าจะอยู่ที่เรื่องภาระหนี้ของ ขสมก. มากกว่า โดยเป็นเรื่องของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ไม่ได้เกี่ยวกับสภาพัฒน์แต่อย่างใด” นายดนุชา กล่าว

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ในหลักการแผนฟื้นฟูฯดังกล่าวถือว่าเป็นแผนที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการจ้างเอกชนวิ่งรถโดยสารตามระยะทางที่ให้บริการ โดยจ่ายค่าจ้างเป็นกิโลเมตร (กม.) เป็นแนวคิดที่ดีมาก เพราะ ขสมก. จะได้ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าซ่อมบำรุง และค่าเสื่อมสภาพของรถโดยสารจำนวนมากเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดนี้คิดกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่ยังไม่สามารถนำมาดำเนินการเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนได้ อย่างไรก็ตามเวลานี้ที่มีข่าวว่าแผนฟื้นฟูฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์นั้น ส่วนตัวมองว่าสภาพัฒน์น่าจะเห็นด้วย ในหลักการ เพียงแต่รายละเอียดการปฏิบัติเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ทางสภาพัฒน์อาจยังไม่มั่นใจ จึงเป็นเรื่องที่ ขสมก. ต้องชี้แจงให้ได้ เชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องยาก

ดร.สุเมธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนฟื้นฟูฯ ฉบับนี้ มีข้อเสนอแนะ 2 เรื่องคือ 1.การจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางขึ้นรถโดยสารหลายต่อ จะช่วยประหยัดได้มาก แต่เชื่อว่าผู้โดยสารทุกคนคงไม่ได้หันมาซื้อตั๋วแบบ 30 บาทตลอดวันทั้งหมด

ดังนั้น ขสมก. จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ในทางปฏิบัติอย่างไร ซึ่งส่วนตัวมองว่าควรต้องศึกษา และสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการของผู้โดยสารอย่างละเอียด รวมทั้งควรทดลองการจำหน่ายตั๋ว 30 บาทตลอดวันด้วย และ 2.รูปแบบการจัดเก็บรายได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการนำตั๋วอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ดังนั้นในทางปฏิบัติต้องพิจารณาให้ดีว่าจะควบคุมเรื่องการเงินอย่างไร ไม่ให้เกิดปัญหารายได้รั่วไหล

ครม. ยืดระยะเวลา ปล่อยกู้ซอฟท์โลนถึงกลางปีนี้ ขยายมาตรการสินเชื่อในโครงการต่างๆ ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการอิสระ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

รัฐมนตรีทบทวนมติ ครม. เกี่ยวกับมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 และมาตรการช่วยเหลือ SMEs โดยอนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาการขอสินเชื่อและพิจารณาสินเชื่อออกไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ปีนี้ รายละเอียดดังนี้

1. มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย) ให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยยังคงเหลือวงเงินภายใต้โครงการ อีก 2,142 ล้านบาท

.

2. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ซึ่งธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ จำนวน 20,000 ล้านบาทและ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำหรือเกษตรกรรายย่อย ให้ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งรวม 2 ธนาคาร มีวงเงินคงเหลือทั้งสิ้น 14,365 ล้านบาท ธนาคารออมสินยังเหลือวงเงิน 2,990 ล้านบาท และธ.ก.ส. ยังมีวงเงินคงเหลืออีก 11,375 ล้านบาท

3. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ของธนาคารออมสิน จำนวน 5,000 ล้านบาท ให้จัดสรรวงเงินที่เหลือ 2,987 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินไปดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ และรวมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ภัยทางเศรษฐกิจ และภัยทางธรรมชาติ

4. โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ของธนาคารออมสิน : ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 วงเงินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก จำนวน 10,000 ล้านบาท ยังคงมีวงเงินสินเชื่อคงเหลืออยู่อีกจำนวน 7,425 ล้านบาท หากรวมวงเงินจากโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ฯ ธนาคารออมสินที่เหลือ 2,987 ล้านบาท จะมีวงเงินในการปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ รวมทั้งสิ้น 10,412 ล้านบาท

ทั้งนี้ การขยายมาตรการสินเชื่อในโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการอิสระ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ชี้ พิษโควิด ส่งผลกระทบตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 64 จะติดลบถึง 10% ขณะที่คาดการณ์ระดับแย่สุด ภาพรวมตลาดอาจลดลงถึง 20% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ใกล้เคียงกับช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผย ถึงทิศทางการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2564 ภายหลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า หากไวรัสโควิดยังแพร่ระบาดยืดเยื้อ จะส่งผลถึงการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในปีนี้ลดลงถึง 10,000 หน่วย เหลือเพียง 79,000 หน่วย ซึ่งต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าทั้งจะมีที่อยู่อาศัยเปิดตัว 89,000 หน่วย

“มีความเป็นไปได้ว่าปี 64 จะติดลบถึง 10% ซึ่งเป็นจุดที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะปีนี้กำลังซื้อที่อั้นอยู่อาจมีไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภคได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้ต่อเนื่องมานาน ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ได้รับผลกระทบรุนแรง”

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ประเมินผลผ่านการจำลองหลายสถานการณ์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงภาพรวมแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดีที่สุด คือ ตลาดจะโต 5-10% ระดับกลาง ตลาดทรงตัวบวกลบไม่เกิน 0.5 % และระดับแย่ที่สุด ติดลบ 10 % เท่ากับปี 2563 เท่ากับภาพรวมตลาดทั่วประเทศลดลงถึง 20% ซึ่งรุนแรงพอควร เพราะต่ำสุดในรอบ 5 ปี ใกล้เคียงกับช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

รัฐบาล เตรียมหารือความคืบหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หลังได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน แจงต้องมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างไทย เมียนมา และญี่ปุ่น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายว่า รัฐบาลเตรียมหารือถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการนี้ทั้งหมด หลังจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกสัญญาสัมปทานรวม 7 ฉบับ

จากคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งเบื้องต้นมีความเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ลงทุนในโครงการสนับสนุนไปหลายโครงการแล้ว แต่เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นก็ต้องมาดูข้อมูลทั้งหมดก่อนว่าเป็นอย่างไร และต้องมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ไทย เมียนมา และญี่ปุ่น

“ตอนนี้ยังไม่ได้เห็นหนังสืออย่างเป็นทางการ ว่าเรื่องรวงทั้งหมดเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาโครงการนี้เงียบไปนาน แต่ตอนนี้ประเทศไทยก็ทำโครงการสนับสนุนคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะการทำถนนมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เพื่อรองรับโครงการนี้ ส่วนถนนจากด่านบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ไปจนถึงทวายก็มีความร่วมมืออยู่แล้ว

จากนี้จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยต้องมาดูโครงการในทวายด้วยว่า ทำอะไรไปบ้างแล้ว ซึ่งในแง่นโยบายรัฐบาลก็ยังสนับสนุนอยู่ แต่รู้ว่าโครงการนี้ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เลยอยากดูข้อมูลก่อน เพราะถ้ามีการทำโรงงาน ทำนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมา แล้วคนไทยได้ไปทำงานก็เป็นประโยชน์”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า "สำหรับกรณีการแจ้งการบอกเลิกสัญญาสัมปทานครั้งนี้ จากการดูข้อมูลเบื้องต้นเห็นว่าเอกชนได้ลงทุนไปมากแล้ว และเชื่อว่าการแจ้งยกเลิกสัญญาเอกชนก็ได้รับความคุ้มครองอยู่แล้วตามกฎบัตรอาเซียน แต่เพื่อให้เกิดวามแน่ใจก็ต้องมาหารือกันเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และร่างสัญญาทั้งหมด เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหายระหว่างประเทศ"

พรรคก้าวไกล ดัน 4 มาตรการกู้ชีพ SMEs – ท่องเที่ยว ยื่นแก้ไข 'พ.ร.ก.ซอฟท์โลน' อุ้มธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุน พร้อม ‘สินเชื่อคืนภาษี 10 ปี’ พยุงภาคท่องเที่ยว คลายภาระและความตึงเครียดหลังวิกฤติโควิดระลอกใหม่ระบาด

ที่อาคารรัฐสภา นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร หวังรัฐเร่งเพิ่มมาตรการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุน ผ่อนคลายภาระและความตึงเครียดหลังวิกฤติโควิดระลอกใหม่ระบาด โดยมี นายเเพทย์ สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับร่างกฎหมายดังกล่าว

นายวรภพ กล่าวว่า ธุรกิจ SMEs กัดฟันต่อสู้กับวิกฤติมาตั้งแต่ปีก่อน ถึงตอนนี้อ่อนแรงและกำลังจะหมดความหวัง เงินเก็บถูกใช้จนเกือบหมด หลายคนต้องหันไปหมุนเงินกับหนี้นอกระบบ กลายเป็นวังวนหนี้รอบใหม่หรือกำลังจะกลายเป็นอีกปัญหาที่พัวพันเข้ามาอีกในอนาคต สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ SMEs ยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล วันนี้ตนเเละพรรคก้าวไกลจึงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อขอให้สื่อมวลชนช่วยกันกดดันให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการความช่วยเหลือพี่น้อง SMEs รอบใหม่ที่ตอบโจทย์มากกว่าเดิม รวมถึงเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

นายวรภพ กล่าวต่อไปว่า พรรคก้าวไกลขอให้รัฐบาลพิจารณาใน 2 มาตรการที่จะช่วยเหลือ SMEs ได้จริง มาตรการแรก คือ การแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพราะมาตรการในปัจจุบันล้มเหลวในการช่วยเหลือ จากวงเงิน 500,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 ผ่านมาแล้ว 9 เดือน สินเชื่ออนุมัติไปเพียง 123,000 ล้านบาท หรือเพียง 25% เท่านั้นเอง หากนับเป็นรายจำนวนคืออนุมัติไปเพียง 74,000 ราย หรือเพียง 2% จาก SMEs 3.1 ล้านราย ทั่วประเทศ จึงสะท้อนว่า ยังมี SMEs อีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงมาตรการนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ขาย ห้างร้านขนาดเล็ก ทั้งนี้ เงื่อนไขของ พ.ร.ก.ซอฟท์โลนไม่ได้จริงใจในการช่วยตั้งแต่แรก โดยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีสินเชื่อกับธนาคารอยู่ก่อนแล้ว ถึงจะได้รับ วงเงิน ทำให้เกิดการกีดกันผู้ประกอบการจำนวนมากออกไปเพราะไม่เคยกู้เงินกับธนคารมาก่อน

นอกจากนี้ เงื่อนไขที่กำหนดว่า รัฐบาลจะชดเชยให้ธนาคารและให้ระยะเวลาผ่อนชำระคืนภายใน 2 ปี หมายถึงว่า กรอบการจ่ายหนี้มีระยะเวลาสั้น ยอดผ่อนต่อเดือนเพื่อชำระหนี้คืนจะสูงมาก ซึ่งอาจสูงเกินกว่าที่ธุรกิจจะสามารถผ่อนคืนได้ในช่วงวิกฤตแบบนี้ กลายเป็นเงื่อนไขที่ธนาคารปฏิเสธไม่ปล่อยวงเงินมาให้ธุรกิจที่กำลังลำบาก เพราะมองว่ามีความเสี่ยงต่อกการผิดชำระหนี้สูงมาก ส่วนมาตรการของรัฐบาลที่ให้ บสย.(บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) มาช่วยชดเชย ตามโครงการ PGS Soft Loan Plus เมื่อเดือน ส.ค. 63 เพื่อแก้ปัญหาระยะเวลาผ่อนก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะได้กำหนดชดเชยความเสียหายเพียง 30% ซึ่งทำให้จากวงเงิน 57,000 ล้านบาท ได้ถูกอนุมัติไปได้เพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น

“ดอกเบี้ย 2% คือ อีกหนึ่งเงื่อนไขปัญหา เพราะธนาคารไม่มีแรงจูงใจในการปล่อยกู้ให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ชดเชยกับความเสี่ยงต่อการเสียหายและดำเนินการของธนาคารเอง SMEs ที่เข้าไม่ถึงหนี้ในระบบจึงก็ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ เกิดเป็นวงจรหนี้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลกำลังปล่อยให้ SMEs รายย่อยต้องรับมือกับหนี้นอกระบบตามลำพัง”

นายวรภพ กล่าวระบุถึงข้อเสนอว่า เพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น พรรคก้าวไกลจึงเสนอเป็น ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพื่อให้เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือ SMEs ได้จริง มีสาระสำคัญ 4 ประเด็นคือ

หนึ่งให้ SMEs ที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับธนาคารสามารถขอกู้ซอฟท์โลนได้ และกำหนดให้ธนาคารแห่งต้องกันวงเงินสำหรับ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ธุรกิจที่มีประวัติการจ่ายภาษี เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาให้ทั่วถึงมากที่สุด

สอง เพิ่มระยะเวลาผ่อนซอฟท์โลนจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้ SMEs สามารถผ่อนชำระต่อเดือนได้น้อยลง และธนาคารมั่นใจได้ว่า ผู้กู้จะสามารถอยู่รอดข้ามวิกฤตนี้และชำระหนี้คืนธนาคารได้

สาม เพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ย จาก 2% เป็น 5% สำหรับผู้กู้ที่มีวงงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้ว และเพดานดอกเบี้ย 7.5% สำหรับผู้กู้ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อให้ SMEs ขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงซอฟท์โลนได้มากขึ้น ทั้งนี้ คนทำธุรกิจจะรู้ว่า ดอกเบี้ยไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในการขอกู้ สภาพคล่องคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ ถ้า SMEs เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ก็จะต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงกว่ามากอยู่ดี

สี่ เพิ่มอัตราการชดเชยความเสียหายกรณีหนี้เสีย จากเดิม 60 - 70% เป็นไม่เกิน 80% เพื่อให้ธนาคารมั่นใจและกล้าปล่อยกู้ให้กับ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจที่เดือดร้อน ให้รอดจากวิกฤตนี้ได้มากขึ้น เพราะถ้าเกิดความเสียหาย ธนคารก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐช่วยเยี่ยวความเสียหายได้

นายวรภพ กล่าวอีกว่าว่า ตนและพรรคก้าวไกล ได้พยายามอภิปรายปัญหานี้ให้รัฐบาลทราบตั้งแต่ เดือน พ.ค. ปีที่แล้ว และคาดหวังว่ารัฐบาลจะรีบเปิดสภาและเลื่อนการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลนเพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยเร็วที่สุด

สำหรับมาตรการที่สอง คือ ขอให้รัฐออกโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการสินเชื่อคืนภาษี 10 ปี เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถข้ามวิกฤตได้ทุกราย โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวที่เข้าไม่ถึงทั้งมาตรการซอฟท์โลนและโครงการสินเชื่อธนาคารรัฐ เพราะธนาคารต่างประเมินความเสี่ยงของธุรกิจในสภาวะวิกฤตนี้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องช่วยเหลือธุรกิจในยามวิกฤต เพราะพวกเขาคือธุรกิจที่มีศักยภาพ หากเป็นธุรกิจที่มีประวัติจ่ายภาษีมาตลอดก็ต้องทำให้เขาอยู่รอด ก้าวข้ามวิกฤต และกลับมาเป็นกลไกเศรษฐกิจหลักของประเทศหลังวิกฤตได้

“อยากให้มี โครงการสินเชื่อคืนภาษี 10 ปี ให้กับ SMEs โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อจากยอดรวมภาษีที่ธุรกิจจายให้รัฐมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีบุคคลธรรมดา ให้เป็นสิทธิของธุรกิจในการขอกู้ได้ทันที ซึ่งเรื่องฐานข้อมูลภาษีมีที่กรมสรรพากรอยู่แล้ว สามารถทำได้รวดเร็ว ทันที และตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเชื่อว่าธนาคารของรัฐทั้ง 7 แห่งมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะช่วยเหลือ SMEs ตามโครงการสินเชื่อ 10 ปี ได้เลย เรื่องนี้จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบนำไปพิจารณาและออกมาตรการมาช่วยเหลือ SMEs โดยเร็วที่สุด”นายวรภพ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top