พรรคก้าวไกล ดัน 4 มาตรการกู้ชีพ SMEs – ท่องเที่ยว ยื่นแก้ไข 'พ.ร.ก.ซอฟท์โลน' อุ้มธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุน พร้อม ‘สินเชื่อคืนภาษี 10 ปี’ พยุงภาคท่องเที่ยว คลายภาระและความตึงเครียดหลังวิกฤติโควิดระลอกใหม่ระบาด

ที่อาคารรัฐสภา นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร หวังรัฐเร่งเพิ่มมาตรการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุน ผ่อนคลายภาระและความตึงเครียดหลังวิกฤติโควิดระลอกใหม่ระบาด โดยมี นายเเพทย์ สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับร่างกฎหมายดังกล่าว

นายวรภพ กล่าวว่า ธุรกิจ SMEs กัดฟันต่อสู้กับวิกฤติมาตั้งแต่ปีก่อน ถึงตอนนี้อ่อนแรงและกำลังจะหมดความหวัง เงินเก็บถูกใช้จนเกือบหมด หลายคนต้องหันไปหมุนเงินกับหนี้นอกระบบ กลายเป็นวังวนหนี้รอบใหม่หรือกำลังจะกลายเป็นอีกปัญหาที่พัวพันเข้ามาอีกในอนาคต สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ SMEs ยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล วันนี้ตนเเละพรรคก้าวไกลจึงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อขอให้สื่อมวลชนช่วยกันกดดันให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการความช่วยเหลือพี่น้อง SMEs รอบใหม่ที่ตอบโจทย์มากกว่าเดิม รวมถึงเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

นายวรภพ กล่าวต่อไปว่า พรรคก้าวไกลขอให้รัฐบาลพิจารณาใน 2 มาตรการที่จะช่วยเหลือ SMEs ได้จริง มาตรการแรก คือ การแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพราะมาตรการในปัจจุบันล้มเหลวในการช่วยเหลือ จากวงเงิน 500,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 ผ่านมาแล้ว 9 เดือน สินเชื่ออนุมัติไปเพียง 123,000 ล้านบาท หรือเพียง 25% เท่านั้นเอง หากนับเป็นรายจำนวนคืออนุมัติไปเพียง 74,000 ราย หรือเพียง 2% จาก SMEs 3.1 ล้านราย ทั่วประเทศ จึงสะท้อนว่า ยังมี SMEs อีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงมาตรการนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ขาย ห้างร้านขนาดเล็ก ทั้งนี้ เงื่อนไขของ พ.ร.ก.ซอฟท์โลนไม่ได้จริงใจในการช่วยตั้งแต่แรก โดยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีสินเชื่อกับธนาคารอยู่ก่อนแล้ว ถึงจะได้รับ วงเงิน ทำให้เกิดการกีดกันผู้ประกอบการจำนวนมากออกไปเพราะไม่เคยกู้เงินกับธนคารมาก่อน

นอกจากนี้ เงื่อนไขที่กำหนดว่า รัฐบาลจะชดเชยให้ธนาคารและให้ระยะเวลาผ่อนชำระคืนภายใน 2 ปี หมายถึงว่า กรอบการจ่ายหนี้มีระยะเวลาสั้น ยอดผ่อนต่อเดือนเพื่อชำระหนี้คืนจะสูงมาก ซึ่งอาจสูงเกินกว่าที่ธุรกิจจะสามารถผ่อนคืนได้ในช่วงวิกฤตแบบนี้ กลายเป็นเงื่อนไขที่ธนาคารปฏิเสธไม่ปล่อยวงเงินมาให้ธุรกิจที่กำลังลำบาก เพราะมองว่ามีความเสี่ยงต่อกการผิดชำระหนี้สูงมาก ส่วนมาตรการของรัฐบาลที่ให้ บสย.(บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) มาช่วยชดเชย ตามโครงการ PGS Soft Loan Plus เมื่อเดือน ส.ค. 63 เพื่อแก้ปัญหาระยะเวลาผ่อนก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะได้กำหนดชดเชยความเสียหายเพียง 30% ซึ่งทำให้จากวงเงิน 57,000 ล้านบาท ได้ถูกอนุมัติไปได้เพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น

“ดอกเบี้ย 2% คือ อีกหนึ่งเงื่อนไขปัญหา เพราะธนาคารไม่มีแรงจูงใจในการปล่อยกู้ให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ชดเชยกับความเสี่ยงต่อการเสียหายและดำเนินการของธนาคารเอง SMEs ที่เข้าไม่ถึงหนี้ในระบบจึงก็ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ เกิดเป็นวงจรหนี้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลกำลังปล่อยให้ SMEs รายย่อยต้องรับมือกับหนี้นอกระบบตามลำพัง”

นายวรภพ กล่าวระบุถึงข้อเสนอว่า เพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น พรรคก้าวไกลจึงเสนอเป็น ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพื่อให้เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือ SMEs ได้จริง มีสาระสำคัญ 4 ประเด็นคือ

หนึ่งให้ SMEs ที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับธนาคารสามารถขอกู้ซอฟท์โลนได้ และกำหนดให้ธนาคารแห่งต้องกันวงเงินสำหรับ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ธุรกิจที่มีประวัติการจ่ายภาษี เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาให้ทั่วถึงมากที่สุด

สอง เพิ่มระยะเวลาผ่อนซอฟท์โลนจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้ SMEs สามารถผ่อนชำระต่อเดือนได้น้อยลง และธนาคารมั่นใจได้ว่า ผู้กู้จะสามารถอยู่รอดข้ามวิกฤตนี้และชำระหนี้คืนธนาคารได้

สาม เพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ย จาก 2% เป็น 5% สำหรับผู้กู้ที่มีวงงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้ว และเพดานดอกเบี้ย 7.5% สำหรับผู้กู้ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อให้ SMEs ขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงซอฟท์โลนได้มากขึ้น ทั้งนี้ คนทำธุรกิจจะรู้ว่า ดอกเบี้ยไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในการขอกู้ สภาพคล่องคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ ถ้า SMEs เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ก็จะต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงกว่ามากอยู่ดี

สี่ เพิ่มอัตราการชดเชยความเสียหายกรณีหนี้เสีย จากเดิม 60 - 70% เป็นไม่เกิน 80% เพื่อให้ธนาคารมั่นใจและกล้าปล่อยกู้ให้กับ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจที่เดือดร้อน ให้รอดจากวิกฤตนี้ได้มากขึ้น เพราะถ้าเกิดความเสียหาย ธนคารก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐช่วยเยี่ยวความเสียหายได้

นายวรภพ กล่าวอีกว่าว่า ตนและพรรคก้าวไกล ได้พยายามอภิปรายปัญหานี้ให้รัฐบาลทราบตั้งแต่ เดือน พ.ค. ปีที่แล้ว และคาดหวังว่ารัฐบาลจะรีบเปิดสภาและเลื่อนการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลนเพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยเร็วที่สุด

สำหรับมาตรการที่สอง คือ ขอให้รัฐออกโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการสินเชื่อคืนภาษี 10 ปี เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถข้ามวิกฤตได้ทุกราย โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวที่เข้าไม่ถึงทั้งมาตรการซอฟท์โลนและโครงการสินเชื่อธนาคารรัฐ เพราะธนาคารต่างประเมินความเสี่ยงของธุรกิจในสภาวะวิกฤตนี้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องช่วยเหลือธุรกิจในยามวิกฤต เพราะพวกเขาคือธุรกิจที่มีศักยภาพ หากเป็นธุรกิจที่มีประวัติจ่ายภาษีมาตลอดก็ต้องทำให้เขาอยู่รอด ก้าวข้ามวิกฤต และกลับมาเป็นกลไกเศรษฐกิจหลักของประเทศหลังวิกฤตได้

“อยากให้มี โครงการสินเชื่อคืนภาษี 10 ปี ให้กับ SMEs โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อจากยอดรวมภาษีที่ธุรกิจจายให้รัฐมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีบุคคลธรรมดา ให้เป็นสิทธิของธุรกิจในการขอกู้ได้ทันที ซึ่งเรื่องฐานข้อมูลภาษีมีที่กรมสรรพากรอยู่แล้ว สามารถทำได้รวดเร็ว ทันที และตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเชื่อว่าธนาคารของรัฐทั้ง 7 แห่งมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะช่วยเหลือ SMEs ตามโครงการสินเชื่อ 10 ปี ได้เลย เรื่องนี้จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบนำไปพิจารณาและออกมาตรการมาช่วยเหลือ SMEs โดยเร็วที่สุด”นายวรภพ กล่าว