Friday, 9 May 2025
Econbiz

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ลดค่าใช้จ่าย พักชำระหนี้ ลดค่าไฟฟ้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม-ที่พัก หลังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า สทท.ได้รวบรวมข้อเสนอของสมาชิกในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งระบบ เพื่อเตรียมเสนอให้กับรัฐบาลพิจารณาแนวทางช่วยเหลือหลังจากมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นมาอีกระลอก ทั้งการลดค่าใช้จ่าย และผลกระทบจากต้นทุนต่างๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องแบกรับ การเสนอแนวทางเสริมสร้างรายได้ และการขอให้ภาครัฐช่วยหาโอกาสทางการตลาดเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งจะช่วยต่อลมหายใจธุรกิจท่องเที่ยวให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตในขณะนี้ไปได้ 

สำหรับข้อเสนอครั้งนี้มีด้วยกันหลายเรื่อง โดยด้านแรก คือ การลดค่าใช้จ่าย เช่น ขอให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้เงินต้นละดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวต่อไปอีก 6เดือน หรือ 1 ปีตามความเหมาะสมของแต่ละราย หรือพักชำระนี้จนกว่าสถานการณ์กลับมาดีขึ้น รัฐบาลมีการควบคุมที่ที่ ไม่มีการระบาดซ้ำ หรือมีวัคซีนออกมาใช้ได้แล้ว โดยกรณีนี้สมาชิกได้เรียกร้องเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะคงไปต่อไม่ไหวในภาวะเช่นนี้ และไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองต้องมีภาระหนี้สะสมจนตกเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล 

รวมทั้งยังเสนอให้ภาครัฐพิจารณาลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พัก โดยให้โรงแรมจ่ายค่าไฟตามปริมาณการใช้จริงแทนการจ่ายแบบเดิม ไปจนถึงสิ้นปี 64 และขอให้รัฐช่วยเหลือด้วยการช่วยจ่ายค่าแรงให้กับพนักงานในกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของไวรัสโควิด 50% ในลักษณะเดียวกับการจ้างนักศึกษาจบใหม่ที่กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการอยู่

กระทรวงการคลัง ขยายระยะเวลาให้นายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 หยุดหรือเลื่อนการนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราว

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มีมาตรการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สามารถหยุดหรือเลื่อนการนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กองทุนฯ) เป็นการชั่วคราว

ตั้งแต่งวดนำส่งเงินของเดือนมกราคม 2564 จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนมิถุนายน 2564 โดยนับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนฯ ต่อเนื่อง และคงสมาชิกภาพไว้ จากเดิมที่ผ่อนผันให้จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ภายใต้หลักการและแนวปฏิบัติเดิม ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของของโรค COVID-19 ในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังให้ลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบยังคงสถานะการเป็นสมาชิกกองทุนฯ และสามารถออมผ่านกองทุนฯ หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของของโรค COVID-19 ได้คลี่คลาย เพื่อเป็นหลักประกันรายได้และนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินเมื่อแรงงานในระบบเหล่านั้นผ่านพ้นวัยทำงาน 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในท้องที่ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

กระทรวงการคลัง ได้ข้อสรุปเปิดลงทะเบียน “คนละครึ่ง” รอบเก็บตกแล้ว คาดดำเนินการได้ปลายเดือนมกราคม พร้อมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาวันนี้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้สรุปการเปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง รอบเก็บตกแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนม.ค.นี้ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการก่อน ซึ่งในวันนี้ ( 12 ม.ค.) โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง ว่ากระบวนการและขั้นตอนทั้งหมดเป็นอย่างไรบ้าง

โดยเบื้องต้น พบว่า ยังมีสิทธิคงเหลือให้เปิดลงทะเบียนอีกกว่า 1 ล้านสิทธิ ซึ่งมาจากโครงการคนละครึ่งเฟสแรก ที่มีสิทธิคงเหลือ 5 แสนสิทธิ และจากเฟส 2 ที่มีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์อีก 5 แสนสิทธิ อย่างไรก็ดี ยังต้องรอพิจารณาข้อมูลผู้ที่เข้าร่วมโครงการเฟส 2 แต่ไม่มีการใช้จ่ายภายใน 14 วันด้วย หลังจากนั้นจะนำตัวเลขทั้งหมดมาสรุปอีกครั้ง

ส่วนกระแสข่าวเดินหน้าโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ที่จะขยายการเพิ่มวงเงินให้กับผู้ใช้สิทธิเดิม (เฟส 1- เฟส 2) จำนวน 15 ล้านคน อีกคนละ 1,500 บาท และขยายระยะเวลาโครงการที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.64 ไปจนถึงเดือน มิ.ย.64 นั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

ส่วนข้อเสนอภาคเอกชนที่ให้กระทรวงการคลังแจกเงิน 4 พันบาทนั้น ไม่ทราบว่าเอกชนเสนอมาบนพื้นฐานอะไร แต่ไม่ใช่ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง แต่ในส่วนของรัฐบาลได้เตรียมการไว้แล้ว แต่จะยังไม่เสนอให้ ครม. พิจารณาในวันนี้ (12 ม.ค.) โดยขอไปศึกษาให้ดีก่อน

ด้านน.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค. ขอให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งทั้งเฟสแรก และเฟส 2 รีบเปิดใช้สิทธิภายในวันที่ 14 ม.ค.64 โดยเบื้องต้น มีข้อมูลการใช้จ่ายล่าสุด 13.4 ล้านคน ยังเหลืออีก 1.6 ล้านคนที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งหากกลุ่มนี้ไม่มีการใช้จ่ายภายใน 14 วันนับจากวันที่ได้รับ SMS ก็จะนำสิทธิมาเปิดลงทะเบียนในรอบเก็บตกอีกครั้ง

สำหรับตัวเลข 1.6 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง เฟสแรก ที่คงเหลือสิทธิอยู่ 4.5 แสนคน ก็จะนำไปเสนอ ครม.ให้เห็นชอบ เพื่อมาเปิดลงทะเบียนอีกครั้ง และผู้ลงทะเบียนเฟส 2 อีกจำนวน 5 ล้านคน ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิไปแล้ว 3.8 ล้านคน ยังเหลืออีก 1.2 ล้านคน ดังนั้น สศค.ขอความร่วมมือให้เร่งใช้จ่ายให้ทันภายใต้เงื่อนไขโครงการ

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา บนอินเทอร์เน็ต กับผู้ประกอบการ 3 แพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ ลาซาด้า, ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต กับผู้ประกอบการ 3 แพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ ลาซาด้า, ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล และเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา 20 หน่วยงาน เพื่อป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก และยังช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของทุกคนรวมทั้งของคนไทย รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ต่างประเทศมาลงทุน และเพื่อเพิ่มอันดับขีดความสามารถแข่งขันของประเทศในอนาคต

สำหรับสาระสำคัญของเอ็มโอยู ฉบับนี้คือ การระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และการเสริมสร้างองค์ความรู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ค้าออนไลน์ เพื่อป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต ที่ส่งผลกระทบ ต่อระบบเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และความไว้วางใจของผู้บริโภคต่อการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า และบริการของไทยได้

ทั้งนี้ในปี 2563 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดผ่านออนไลน์ มากถึง 231 คดี ยึดของกลางที่เป็นสินค้าละเมิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าแบรนด์ดังจากต่างประเทศ 44,953 ชิ้น ส่วนยอดรวมตั้งแต่ปี 2561-63 ศาลสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งปิดไปแล้วกว่า 1,500 รายการ

รถไฟฟ้าบีทีเอส เพิ่มความถี่การเดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วน หนุนมาตรการ Social Distancing แม้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารลดลง พร้อมทำความสะอาดภายในสถานี และคัดกรองผู้โดยสารก่อนเขาใช้บริการตามมาตรฐานด้านสารธารณสุขอย่างเข้มข้น

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทวีความรุนแรงมาอีกระลอกนั้น เพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดให้แก่ผู้โดยสาร และสร้างความมั่นใจในการใช้บริการ

แม้ว่าในขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะลดลง บริษัทฯ ยังคงนำขบวนรถไฟฟ้าออกวิ่งให้บริการมากที่สุด เพื่อเพิ่มการให้บริการด้วยความถี่สูงสุดเป็น 2 นาที 25 วินาที จากเดิม 2 นาที 40 วินาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมมาตรการ Social Distancing นอกเหนือจากมาตรการลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้

คัดกรองอุณหภูมิของผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการในระบบ อุณหภูมิต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส พร้อมทั้งคัดกรองสุขภาพของเจ้าหน้าที่พนักงาน ทุกครั้งก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมหน้ากากอนามัย และถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด

ให้ผู้โดยสารทุกท่านต้องสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า และตลอดเวลาที่ใช้บริการ ไม่นำหน้ากากลงมาไว้ใต้คาง พร้อมทั้งงดการพูดคุยภายในขบวนรถไฟฟ้า หลีกเลี่ยงการหันหน้าเข้าหากัน เว้นระยะห่างในการยืน และนั่งภายในขบวนรถไฟฟ้า และชานชาลา

จัดจุดบริการแอลกอฮอล์ ทุกทางเข้า - ออกสถานี พร้อมเพิ่มความถี่ในการฉีดพ่น และเช็ดทำความสะอาดภายในขบวนรถไฟฟ้า และจุดสัมผัสร่วม ภายในสถานีทุกชั่วโมง และบริเวณรอบสถานีด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จัดบริการแอลกอฮอล์เคลื่อนที่ บนชั้นชานชาลาสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสาร

ขอความร่วมมือผู้โดยสารทุกท่านลงทะเบียน “ไทยชนะ” เมื่อเข้า และออกจากขบวนรถไฟฟ้าขบวนนั้น ๆ ด้วยการพิมพ์หมายเลขรถไฟฟ้า 4 หลัก ลงใน Application ‘BTS SkyTrain’ หรือ Line official : @btsskytrain

ทั้งนี้ บริษัทขอความร่วมมือผู้โดยสารทุกท่านโปรดเผื่อเวลาในการเดินทาง เพื่อกระจายการเดินทาง ลดความหนาแน่น บริษัทฯ ต้องขออภัยในความไม่สะดวก และจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจแก่ผู้มาใช้บริการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บีทีเอส โทรศัพท์ 0 2617 6000 Line official : @btsskytrain หรือเช็กสถานะการเดินรถได้ที่ Application ‘BTS SkyTrain’ และแฟนเพจ Facebook :รถไฟฟ้าบีทีเอส

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จูงใจเอกชนบริจาคเงินเข้ากองทุนวิจัย 4 หน่วยงาน สามารถใช้ลดหย่อนภาษี ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร พ.ศ. ....

ซึ่งเป็นมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย

1.) กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

3.) กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา

และ 4.) กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข

ซึ่งมาตรการนี้เป็นการขยายเวลามาตรการทางภาษีเดิมที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธันวาคม 2562 โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สาระสำคัญมีดังนี้

1.) บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับ 4 หน่วยงาน สามารถนำเงินที่บริจาคมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ หลังหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนแล้ว

2.) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับ 4 หน่วยงาน สามารถนำเงินที่บริจาคมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาคแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลฯ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือการกีฬา

น.ส.รัชดา กล่าวว่า "แม้มาตรการนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 5 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมบริจาคให้แก่กองทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

อีกทั้งยังเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อดำเนินการและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอีกด้วย ทั้งนี้ ในลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชกฤษฎีกาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้"

กรมสรรพากร ขยายเวลาการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เหลือ 2% ถึงสิ้นปี 2565 คาดทำให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กว่า 24,840 ล้านบาท ส่วนการลงทุนระบบใช้สิทธิหักรายจ่ายได้ 2 เท่า

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) โดยลดอัตราภาษีหัก ณ ที่มีอัตรา 5% และ 3% เหลือ 2%

สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 - 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งจะช่วยคืนสภาพคล่องให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ทำให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กว่า 24,840 ล้านบาท

นายเอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรี ยังได้เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายจากการลงทุน และการใช้บริการระบบ e-Withholding Tax หรือระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) มาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนมีต้นทุน และภาระในการจัดทำ และการจัดเก็บเอกสารรวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลง นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการแปลงเป็นดิจิทัลของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19)

สำหรับ ระบบ e-Withholding Tax เป็นหนึ่งในนโยบาย Tax From Home ที่กรมสรรพากรได้นำการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) มาใช้เพื่อให้การปฏิบัติการและชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องง่าย สามารถทำได้ทุกที่ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนการลงทุนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19

บลูมเบิร์ก รายงานว่า มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ตรัสถึงการพัฒนาเส้นทางที่เรียกว่า ‘เดอะไลน์’ (The Line)

ความยาว 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมืองแห่งอนาคต ‘นีออม’ (Neom) หรือบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศซาอุฯ ติดกับทะเลแดง มูลค่าหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับ ‘นีออม’ นั้นเป็นโครงการชิ้นเอกของมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ที่เปิดตัวไปช่วงเดือนตุลาคม ปี 2017 โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก พลิกโฉมมาก้าวเป็นศูนย์กลางของโลกด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีรวมทั้งธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงยังต้องการปั้นให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว บนครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 26,500 ตารางกิโลเมตร เพื่อใช้ดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก

เมื่อเมืองนี้เริ่มมีความชัดเจนขึ้น ทาง มกุฎราชกุมาร จึงต้องการต่อยอดให้เมืองนี้ไม่มีถนน และ ไม่มีรถแม้แต่คันเดียว โดยใช้ ‘เดอะไลน์’ หรือเส้นทางสายสีเขียวเป็นหัวหอก เพื่อเชื่อมต่อคนให้เข้าสู่เมืองที่ครบวงจรและเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างไว้ในนั้น เพียงเดินทางด้วยการ ‘เดิน’ ไม่เกิน 5 นาที ภายใต้บรรยากาศที่ห้อมล้อมไปรอบด้วยต้นไม้และธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีการนำ ‘ระบบขนส่งความเร็วสูงพิเศษและการเคลื่อนย้ายอัตโนมัติ’ ที่เชื่อมไปสู่เมืองภายนอกได้ในระยะเวลาไม่เกิน 20 นาที ภายใต้ระบบพลังงานสะอาดอีกด้วย

ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวได้ใช้งบประมาณไปหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ (ระหว่าง 2 – 5 แสนล้าน) สามารถรองรับผู้อยู่อาศัย 1 ล้านคน และช่วยสร้างงานได้ราว 360,000 - 380,000 ตำแหน่งภายในปี 2030 และก่อให้เกิดมูลค่าด้านจีดีพีของประเทศภายในปี 2030 ราว 1.8 แสนล้านริยัลซาอุดีอาระเบีย หรือ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด ยังย้ำอีกว่า เมืองแห่งอนาคตนี้จะเป็นการ ‘การปฏิวัติเพื่อมนุษยชาติ’ ด้วยปริมาณรถยนต์ ถนน และการปล่อยมลพิษในเมืองเป็นศูนย์ แม้จะมีเสียงวิพากย์วิจารณ์ว่า เมืองสีเขียวแห่งนี้ สร้างขึ้นจากการเผาผลาญน้ำมันปริมาณมหาศาลก็ตาม

ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมัน แต่ก็มีแผนที่จะลดการผลิตน้ำมันและหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทนโดยตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศสีเขียวในอนาคต โดยล่าสุดได้ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2021

ทิศทางนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันในประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ไม่ใช้น้ำมัน และตั้งเป้าที่จะผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 50 ภายในปี 2030หลังจากซาอุดีอาระเบียค่อนข้างมีข้อได้เปรียบในการผลิตพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่และภูมิอากาศแจ่มใส โดยกระทรงพลังงานจะทำหน้าที่ดูแลการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและโครงการพลังงานทดแทนแห่งชาติ


แหล่งที่มา: เพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป

https://www.neom.com/en-us

https://www.youtube.com/watch?v=eXEnS-u3fAY

https://www.reuters.com/.../saudi-crown-prince-launches…

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. ได้ประสานกับทุกสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ แบงก์รัฐ และนอนแบงก์ พิจารณาขยายระยะเวลาช่วยลูกหนี้รายย่อย ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

รอบใหม่ ไปถึง 30 มิ.ย.64 จากเดิมครบกำหนด 31 ธ.ค.63 โดยสามารถขอรับความช่วยเหลือทั้งทางคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารแต่ละแห่ง หรือ โทร 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท.

สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ขยายไปถึง 30 มิ.ย.64 ประกอบไปด้วย บัตรเครดิต แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี , สินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด เป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด ดอกเบี้ยไม่เกิน 22% , สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดค่างวดอย่างน้อย 30% คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22% , สินเชื่อรถยนต์ พักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน และสินเชื่อบ้าน พักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หรือลดค่างวด เป็นต้น

ทั้งนี้การช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งลูกหนี้รายย่อย เอสเอ็มอี และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ จะเป็นไปตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและความเสี่ยง ซึ่งเป็นแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลือกจ่ายดอกเบี้ยและพักเงินต้นชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด และให้เงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12 มกราคม 2564) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ระบาดรอบใหม่

ของสถาบันการเงินสมาชิกสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ(SFIs) ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง

โดยในส่วนของ ธอส. คณะกรรมการธนาคารมีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 เพิ่มเติม 4 มาตรการ จากเดิมที่เคยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ามาแล้ว 8 มาตรการในปี 2563 ดังนั้น ในครั้งนี้จึงถือเป็นมาตรการที่ 9-12 ผ่าน "โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564"

ด้วย 4 มาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) นานสูงสุด 6 เดือน ครอบคลุมทั้งลูกค้าที่เคยหรืออยู่ระหว่างใช้ "มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)" และ "โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ" รวมถึงลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการฯ ทั้งลูกค้ารายย่อยและกลุ่ม SMEs ที่มีสถานะปกติ หรือสถานะ NPL ประกอบด้วย

มาตรการที่ 9 สำหรับลูกค้าที่เคยเข้าร่วมหรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส.ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการจะต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ เข้าร่วมมาตรการระยะแรกผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 - 29 มกราคม 2564

มาตรการที่ 10 สำหรับลูกหนี้สถานะ NPL และลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม - 26 กุมภาพันธ์ 2564

มาตรการที่ 11 สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส. ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 26 กุมภาพันธ์ 2564

มาตรการที่ 12 สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต แบ่งเป็น

1.) ได้ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหรือไม่เกินมิถุนายน 2564

หรือ 2.) พักชำระหนี้ถึงมิถุนายน 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ยื่นคำขอเข้ามาตรการระยะแรกได้ที่สาขาทั่วประเทศภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ต้องการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ 9-11 ระยะแรก ต้องดาวน์โหลดหลักฐานยืนยันว่ามีผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น ส่วนดอกเบี้ยประจำงวดที่ตัดชำระไม่หมดในขณะที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ ธนาคารจะเปิดให้ลูกค้าทยอยผ่อนชำระได้จนถึง ก่อนวันที่ลูกค้าจะครบกำหนดตามสัญญาเงินกู้ หรือก่อนปิดบัญชีเงินกู้

สำหรับลูกค้าของธนาคารที่ในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการที่ธนาคารกำหนด และยังมีปัญหาด้านรายได้ทำให้ ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ ธนาคารพร้อมพิจารณาขยายความช่วยเหลือในรูปแบบการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้เป็นรายกรณีต่อไป

ส่วนกรณีที่หน่วยงานที่มีสวัสดิการเงินกู้กับธนาคารได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้หน่วยงานมีหนังสือแจ้งมายังธนาคารเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานที่กู้เงินกับธนาคารต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top