Sunday, 27 April 2025
CoolLife

11 มีนาคม พ.ศ. 2453 รำลึกวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร’ ผู้ริเริ่มการประดิษฐ์ ‘ปรุงยาไทย’ ผสมกับ ‘ยาต่างประเทศ’ คนแรก

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2398 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2411 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล รับหน้าที่เป็นนายด่าน ทำการก่อสร้างหอพระคันธารราฐ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งก่อสร้างค้างมาตั้งแต่รัชกาลก่อน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสังเกตเห็นว่าพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้ มีพระอัธยาศัยนิยมศึกษาตัวบทกฎหมายและอรรถคดี จึงโปรดฯ ให้ไปศึกษากฎหมายและการพิจารณาความกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ ซึ่งทรงบัญชาการศาลรับสั่ง อยู่ในขณะนั้น ในปี พ.ศ. 2417 โปรดให้ตั้งองคมนตรีสภา (เดิมคือ ปรีวีเคาน์ซิล) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล เป็นองคมนตรีในครั้งนั้นด้วย และแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี พิจารณาความรับสั่งบางเรื่อง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งศาลฎีกา ขึ้นในปี พ.ศ. 2419 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกา พระองค์แรก และทรงได้รับการสถาปนาพระเกียรติยศขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร และเป็นอธิบดีศาลแพ่งกลาง และศาลแพ่งเกษม อีก 2 ศาล ในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่พระองค์ได้ทรงจัดการศาลต่างประเทศ และจัดการระเบียบการปกครองภาคเหนือใหม่ ต่อมาเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2428 และในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2429 ทรงได้รับสถาปนาเลื่อนเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงศักดินา 15,000

ในปี พ.ศ. 2434 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว เสด็จขึ้นไปว่าราชการอยู่ที่หัวเมืองลาวกาว ประจำอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ ทรงปรับปรุงการปกครองหัวเมืองทางภาคอีสาน ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงหัวเมืองชั้นนอก ประมาณ 20 หัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ยังมิได้รวมเป็นมณฑล ในการเสด็จออกตรวจราชการตามท้องที่ต่าง ๆ ทำให้พระองค์ทรงมีความรู้เกี่ยวกับชายแดนลาว และเขมร เป็นอย่างดี

เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นผู้พิพากษาฝ่ายไทยร่วมกันพิจารณาคดีความร่วมกับฝรั่งเศส ในกรณีพระยอดเมืองขวาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พระองค์ที่สอง สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตน์วิศิษฎ์ ซึ่งถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเสด็จไปราชการ ณ ประเทศยุโรป และได้เป็นรัฐมนตรีด้วย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงมีความรู้ด้านการแพทย์ ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่คิดประดิษฐ์ปรุงยาไทยผสมกับยาต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีพระอัจฉริยภาพในด้านการพระนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองมากมายหลายเรื่อง เช่น ท้ายกาสีหา นางปทุมสังกา พระองค์ยังได้ร่วมกับพระเจ้าพี่ยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอจัดตั้งหอสมุดวชิรญาณขึ้นในปี พ.ศ. 2423 เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงศึกษาภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองจนกระทั่งอ่านสามารถ fiction และ novel ภาษาอังกฤษได้คล่อง ทรงนิพนธ์เรื่องสนุกนึก ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรก ที่เรียกว่าเป็นบันเทิงคดี ตามแบบอย่างนิยายฝรั่งถือเป็นนิยายเรื่องแรกของไทย

ในปี พ.ศ. 2439 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เพราะประชวรพระวัณโรคภายใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้แพทย์หลวงไปประกอบถวายพระโอสถ แต่พระอาการยังทรงกับทรุดจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม  พ.ศ. 2453 เวลา 04.00 น. เศษ สิริพระชันษาได้ 54 ปี 133 วัน ถึงเวลา 2 ทุ่ม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ มาพระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงพระลอง ประดิษฐานเหนือแว่นฟ้า 2 ชั้น พระสงฆ์มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นประธานสวดสดับปกรณ์ เจ้าพนักงานประกอบพระโกศมณฑปเป็นเกียรติยศ

12 มีนาคม พ.ศ. 2558 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงพระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิต ม.พะเยา “การงานใดจะสำเร็จลุล่วงได้ ต่อเมื่อทุกคนรู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน”

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา 2556 ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา 

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทความว่า…

“การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้ทางวิชาการขั้นสูง และสามารถใช้ความรู้นั้นประกอบอาชีพการงานสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตน แก่ส่วนรวมได้ บัณฑิตในฐานะที่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับสูง จึงต้องตั้งใจนำความรู้ที่เล่าเรียนมาไปใช้ประกอบกิจการงานให้บังเกิดผล แต่การที่จะทำงานให้บรรลุถึงความสำเร็จได้จริงนั้น สำคัญที่แต่ละคนจะต้องรู้หน้าที่ของตนและรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้นอย่างจริงจังหนักแน่น กล่าวคือ ในการปฏิบัติกิจการงาน บัณฑิตจะต้องทำความเข้าใจให้ทราบชัดว่า ตนมีหน้าที่อะไรแล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวงจนสำเร็จลุล่วงด้วยความเอาใจใส่ พร้อมทั้งพยายามปรับปรุงพัฒนางานในหน้าที่ให้ดีขึ้นเจริญขึ้นอยู่เสมอ เมื่อทุกคนรู้หน้าที่และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน การงานทุกอย่างที่ทำก็จะสำเร็จผลอย่างมีประสิทธิภาพ และผลสำเร็จอันเกิดจากการปฏิบัติงานของแต่ละคนนั้น นอกจากจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองแล้ว ยังประกอบเกื้อกูลกันเป็นความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวมด้วย จึงขอให้บัณฑิตทุกคนรู้หน้าที่ของตนและรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างเคร่งครัดจะได้สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ที่แท้จริงและยั่งยืนให้แก่ตนเองและส่วนรวมได้สืบไป”

ต่อจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหล่อพระเกศพระพุทธรูปนาคปรก ส.ธ. ประจำมหาวิทยาลัยพะเยา ณ มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

13 มีนาคม พ.ศ. 2553 'ในหลวง ร.9' พระราชทานชื่อ ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เทิดพระเกียรติน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ ’สมเด็จย่า‘

ท่าอากาศยานเชียงรายเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2535 สังกัดกรมการบินพาณิชย์ (บพ.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งใช้ชื่อว่า ‘สนามบินบ้านดู่’ ต่อมา บพ.ได้ถูกโอนมาขึ้นอยู่กับการบริหารของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2541 และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ภายใต้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 ถึงปัจจุบัน

ต่อมา คณะกรรมการ ทอท. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มชื่อท่าอากาศยานเชียงรายเป็น ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามที่ได้มีการร้องขอจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดเชียงราย ดังนั้น ทอท. จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา

14 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงแสดงปาฐกถาในการประชุมวิชาการฯ ด้านสิ่งแวดล้อม “การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องใส่ใจระยะยาว เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 65 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ‘The 3rd International Conference on Environment, Livelihood, and Services 2022’ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ ตามที่ได้พระราชทานพระราชานุมัติ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา

โดยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2565 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักศึกษา ได้แสดงผลงานวิจัย และสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม

ในการนี้ ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงของโลก และการช่วยเหลือให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา’ โดยทรงเน้นย้ำว่าถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่ช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดน้อยลง การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องให้ความใส่ใจระยะยาว เพื่อเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากการที่ทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มูลนิธิฯ ดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ, โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ล้วนเป็นโครงการที่ดำเนินการในระดับท้องถิ่น แต่ส่งผลระดับนานาชาติ

ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิชัยพัฒนา ยังจัดตั้ง ‘กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)’ ขึ้น เพื่อจัดซื้อและจัดหาอุปกรณ์รวมทั้งนวัตกรรมทางการแพทย์ ช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ รวม 122 แห่งใน 56 จังหวัด รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนปลูกพืชอาหารเพื่อการบริโภค นับว่าเป็นการพึ่งพาตนเองได้อีกทางหนึ่ง”

การประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อสำคัญ ได้แก่ การปรับตัวและจัดเตรียมทรัพยากรธรรมชาติ, การเตรียมความพร้อมรับภัยธรรมชาติและมลภาวะแวดล้อม , เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม มีวิทยากรพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จากต่างประเทศ ร่วมบรรยาย อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

‘ในหลวง ร.4’ โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ ‘ราชกิจจานุเบกษา’ เพื่อให้คนไทยได้รู้ข่าวราชการแผ่นดินทั้งใน-นอกประเทศ

‘ราชกิจจานุเบกษา’ ถือเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทวารสารฉบับแรกของรัฐไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ขึ้น เริ่มออกฉบับแรกเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศคำสั่งทางราชการ โดยเฉพาะในการประกาศกฎหมาย ซึ่งมีการรับรองในกฎหมายว่า กฎหมายทั้งหลายต้องลงเผยแพร่ในหนังสือนี้ก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้ และเผยแพร่ให้ส่วนราชการและราษฎรได้ทราบทั่วกัน มีกำหนดออกทุก 15 วัน แต่การจัดพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาในสมัยเริ่มแรกนี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ก็ต้องหยุดกิจการไป

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือราชกิจจานุเบกษา และทรงหวังที่จะให้ราษฎรได้รับทราบข่าวคราวและราชการแผ่นดินทั้งในและนอกประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้พิมพ์ออกเผยแพร่ด้วยวิธีการจำหน่ายในอัตราปีละ 8 บาท โดยมีกำหนดออกในวันขึ้น 1 ค่ำ ขึ้น 9 ค่ำ แรม 1 ค่ำ และแรม 9 ค่ำ ของทุกเดือน แต่ราชกิจจานุเบกษาที่พิมพ์ออกในสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนต้น ก็ออกไม่สม่ำเสมอนัก ต่อมาจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเปลี่ยนแปลงกำหนดออกราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2432 โดยมีกำหนดออกทุกวันอังคาร หลังจากนั้น การจัดทำราชกิจจานุเบกษาก็ได้ดำเนินสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ในสมัยแรกเริ่ม สมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานพิมพ์ พิมพ์ขึ้นในปีมะเมีย สัมฤทธิศก 1220 และปีมะแม เอกศก 1221 ต่อกัน 2 ปี เป็นหนังสือหลายร้อยฉบับ สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ทราบข้อราชการต่าง ๆ  ครั้นมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ พระดำริว่า “หนังสือราชกิจจานุเบกษา ในรัชกาลที่ ๔ เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ไม่ควรให้สูญหายไป” จึงได้ทรงรวบรวมต้นฉบับเท่าที่หาได้มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นจำนวน 500 เล่ม โดยอักขรวิธีที่พิมพ์ยังคงอยู่ตามเดิมมิได้มีการแก้ไขแต่ประการใด แต่การพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ สิ้นพระชนม์เสียก่อน พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล ได้ทรงรับธุระดำเนินงานจนแล้วเสร็จ และได้เย็บผูกเป็นเล่มนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน ที่เหลือได้จำหน่ายในราคาเล่มละ 5 บาท

ในตอนแรกเริ่มนั้น ราชกิจจานุเบกษา คือ หนังสือหมายประกาศการเล็กน้อยต่าง ๆ จากผู้เป็นพระมหากษัตริย์ มาในวันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะเมีย ยังเป็นนพศก เป็นปีที่แปด ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งในรัชกาลปัจจุบันนี้ ให้ข้าราชการทุกตำแหน่งทั้งในกรุงและนอกกรุงและราษฎรทั้งปวงทราบโดยทั่วกันและทำตาม ประพฤติตาม และรู้ความตามสมควร เพื่อไม่ทำให้ประกาศผิดพระราชดำริ พระราชประสงค์ และไปเล่าลือ เข้าใจความผิด ๆ ไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริตริตรองในการที่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้เรียบร้อยสำเร็จประโยชน์ทั่วถึงให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงทรงพระวิตกว่าราชการต่าง ๆ ซึ่งสั่งให้กรมวังให้สัสดีและทะลวงฟัน เดินบอกตามหมู่ตามกรมต่าง ๆ นั้นก็ดี การที่ยังบังคับให้นายอำเภอมีหมายป่าวประกาศแก่ราษฎรในแขวงนั้น ๆ ก็ดี พระราชบัญญัติใหม่ ๆ ตั้งขึ้นเพื่อที่จะห้ามสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือบอกสิ่งที่ควรทำก็ดี การเตือนสติให้ระลึกและถือพระราชกำหนดกฎหมายเก่าก็ดี ตั้งขึ้นและเลิกอากรภาษีต่าง ๆ และพิกัดภาษีนั้น ๆ และลดหย่อนลงหรือขึ้นพิกัดของภาษีนั้น ๆ ก็ดี การเกณฑ์และขอแรงและบอกบุญก็ดี ว่าโดยสั้น ๆ คือเหตุใด ๆ การณ์ใด ๆ ที่ควร ช้าราชการทั้งปวงและราษฎรทั้งหลายพึงรู้โดยทั่วกันนั้น แต่ก่อนเป็นแต่ทำหมายหรือคำประกาศเขียนด้วยดินสอสีดำลงประกาศส่งกันไปส่งกันมา และให้ลอกต่อกันไปผิด ๆ ถูก ๆ ก็เพราะหนังสือ หรือคำประกาศนั้นมีน้อยฉบับ ผู้ที่ได้อ่านและเข้าถึงมีน้อยทำให้ไม่ทั่วถึง ว่าการพระราชประสงค์และประสงค์ของผู้ใหญ่ในแผ่นดิน จะบังคับมาและตกลงประการใด ข้าราชการทั้งปวงและราษฎรทั้งปวงก็ไม่ทราบทั่วกัน ได้ยินแต่ว่ามีหมายประกาศบังคับมา เมื่อการณ์นั้นเกี่ยวข้องกับตัวใครก็เป็นแต่ถามกันต่อไป ผู้ที่จะได้อ่านต้นฉบับน้อยคน บางคนถึงจะได้อ่านก็ไม่เข้าใจ

เพราะราษฎรที่รู้หนังสือในขณะนั้นมีน้อยกว่าผู้ที่ไม่รู้หนังสือ หนังสือก็อ่านไม่ออก ดวงตราของขุนนางในตำแหน่งก็ดูไม่เป็น ซึ่งจะบังคับใช้เรื่องอะไรก็ดูไม่เป็น เห็นตราแดง ๆ ก็พากันกลัว ผู้ที่ถือหนังสือว่าว่าอย่างไรก็เชื่อหมด เพราะฉะนั้นจึงมีคนคดโกง แต่งหนังสือเป็นท้องตราอ้างว่ารับสั่งจากวังหลวงและวังหน้า และเจ้านายเสนาบดีที่เป็นที่นับถือเคารพยำเกรงของราษฎร แล้วก็บังคับหลอกลวงไปต่าง ๆ นานา ด้วยการไม่เป็นธรรม ทำให้ราษฎรเดือดร้อน และเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน และพระนามเจ้านาย และชื่อขุนนาง เพราะฉะนั้นพระราชดำริที่ให้มีการออกพระราชกิจจานุเบกษาก็เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการตีพิมพ์หนังสืออย่างหนึ่ง มีชื่อภาษาสันสฤตว่า ‘ราชกิจจานุเบกษา’ แปลว่าหนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ มีตรารูปพระมหามงกุฎและฉัตรขนาบสองข้างดวงใหญ่ ตีในเส้นดำกับหนังสือนำหน้าเป็นอักษรตัวใหญ่ว่า ‘ราชกิจจานุเบกษา’ อยู่เบื้องบนบรรทัดทุกฉบับ เป็นสำคัญ แจกมาแก่คนต่าง ๆ ที่ควรรู้ทุกเดือน ทุกปักษ์

17 มีนาคม พ.ศ. 2509 'ในหลวง ร.9' ทรงพระราชทาน ‘ปลานิล’ ให้กรมประมงเพาะขยายพันธุ์ พัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจสู่การสร้าง ‘อาชีพ-รายได้-อาหาร’ ให้คนไทย

'ปลานิล' เป็นปลาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนชาวไทย มีต้นกำเนิดมาจากพันธุ์ปลา Nile tilapia จำนวน 50 ตัว ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงไว้ในบ่อที่สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต จนแพร่ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ปลาชนิดนี้เจริญเติบโตดี เลี้ยงง่าย และเนื้อมีรสชาติดี เหมาะที่จะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของประชาชนทั่วไป พระองค์จึงพระราชทานปลาที่เพาะเลี้ยงจากสวนจิตรลดาจำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่ประชาชนเพื่อนำไปเลี้ยงในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า ‘ปลานิล’ ปัจจุบันปลานิลเป็นปลาที่นิยมบริโภคโดยทั่วไปในประเทศ และสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าถึงประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี

‘ปลานิล’ เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ง่าย มีคุณลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น กินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็กๆ และมีรสชาติดี จนตอนนี้กลายเป็นปลาที่เราสามารถหาพบได้ตามแหล่งธรรมชาติ และเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยบริโภคมากที่สุดในปัจจุบัน

18 มีนาคม พ.ศ. 2448 'ในหลวง ร.5' ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะ ต.ท่าฉลอม เป็น ‘สุขาภิบาลท่าฉลอม’ จุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองแก่ ปชช.ท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 18 มีนาคม ของทุกปี เป็น ‘วันท้องถิ่นไทย’ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะ ‘ตำบลท่าฉลอม’ ขึ้นเป็น ‘สุขาภิบาลท่าฉลอม’ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 ถือเป็น ‘ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่นไทย’ และเป็นรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้ ตามประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) สุขาภิบาลแห่งแรกของไทยได้รับการจัดตั้งขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครเรียกว่า ‘สุขาภิบาลกรุงเทพ’ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ขึ้น โดยผู้บริหารสุขาภิบาลกรุงเทพ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงนครบาล ตามที่ทรงทอดพระเนตรมาจากการเสด็จประพาสต่างประเทศ

หลังจากนั้น 8 ปี คือในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครเป็น ‘สุขาภิบาล’ เรียกว่า ‘สุขาภิบาลท่าฉลอม’ ซึ่งถือว่าเป็นสุขาภิบาล ‘หัวเมือง’ แห่งแรกของไทย ซึ่งในปัจจุบันคือ ‘เทศบาลนครสมุทรสาคร’

สำหรับเหตุที่การจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองล่าช้าไปมาก เพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรง เล็งเห็นว่า การสุขาภิบาลซึ่งเป็นรูปแบบที่ประชาชนปกครองตนเองนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากราษฎรในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษี การร่วมกันดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน หากบังคับให้มีขึ้นโดยที่ประชาชนไม่เห็นความจำเป็นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนและเป็นการถือกำเนิดของการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ ในวันท้องถิ่นไทย หน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่นจะร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 

16 มีนาคม พ.ศ. 2564 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงพระราชทานพระราโชวาทหัวข้อ ‘นักวิทยาศาสตร์ตัวน้อย’ “การฝึกให้เด็กมีอุปนิสัยช่างสังเกต-ค้นคว้า จะทำให้เด็กเจริญเติบโตด้วยความเข้าใจ”

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ ห้องประชุม อาคารหอพระสมุดส่วนพระองค์ วังสระปทุม ทรงเปิดงานสัมมนาวิชาการ ‘ครบรอบ 10 ปี โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทยกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยถ่ายทอดสดผ่านสื่อออนไลน์อิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ โดยเป็นการปรับรูปแบบในการจัดงานช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิค-19

เนื่องในโอกาสนี้ พระองค์ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการสัมมนาและทรงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยกับการศึกษาเพื่อความยั่งยืน’ ความตอนหนึ่งว่า “การฝึกให้เด็กมีอุปนิสัยช่างสังเกต เฝ้าค้นคว้าหาคำตอบของปัญหาด้วยตนเอง ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กเจริญเติบโตด้วยความเข้าใจสิ่งที่พบเห็นรอบตัวอย่างมีเหตุผล และมีวิจารณญาณ ทั้งอนุบาลและประถม

“บางทีการที่จะไปเรียนในโรงเรียนไกลๆ พ่อแม่ก็จะเป็นห่วง ไม่สามารถกลับได้ก็ต้องอยู่โรงเรียนประจำ ทำให้ กศน.ก็จะขยายและไปสอนที่นั่น ก็จะเอาโครงการคล้ายๆ บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ไปสอนในระดับประถม เด็กมีวุฒิภาวะดีมาก และก็ช่างสังเกตเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งรอบตัวเราดีมาก”

“เรามองเห็นว่าเราจะสามารถขยายไปในระดับประถมได้ แต่การศึกษาในระดับประถมศึกษาที่เราอยากจะขยายนั้นมิใช่ของง่าย เยอรมันเองเค้าก็มองว่าทำได้ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ของไทยก็มีปัญหา ระดับประถมนี้จะมีหลักสูตรแน่นอน เพราะฉะนั้นก็จะสอนตามหลักสูตรเหมือนกันทั่วประเทศ

“ส่วนอนุบาลมีหลักสูตรแน่นอน จะสอนอะไรก็ได้ มันก็เข้ากับโครงการนี้ แต่ระดับประถมยากตรงนี้ ตรงที่มีหลักสูตรตายตัว แต่ว่ามาในยุคนี้ หลักการของการสอนก็ต้องมีชั่วโมงที่เหมือนกันว่า ไม่ต้องทำตามหลักสูตร เพราะว่ามันแข็งเกินไป อาจจะนำมาใช้สอนอะไรชนิดที่สร้างสรรค์ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปได้ตามบริบทของท้องที่”

จากนั้นทรงทอดพระเนตรการบรรยายผ่านโปรแกรมออนไลน์ จาก ดร.ไมเคิล ฟริซ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศเยอรมนี และ นางซิบลี ไซเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศออสเตรเลีย พร้อมกันนี้ รองศาสตราจารย์คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย กราบบังคมทูลเบิกผู้แทน 8 ภาคี เข้ารับพระราชทานบันทึกข้อตกลง (MOA) ประกอบด้วยผู้แทนจากมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และบี.กริม (B.Grimm) ซึ่งเป็นบันทึกข้อตกลงที่ทำต่อเนื่องมาเป็นฉบับที่ 3 ที่ทำร่วมกับมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศเยอรมนี (Haus der Kleinen Forscher) โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒดำเนินการในการรับและส่งสัญญาณออนไลน์จากที่ต่างๆ ถ่ายทอดให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้รับชม โดยมีผู้นำเครือข่ายท้องถิ่นและคณะทำงานของโครงการกว่า 3,500 คน จาก 238 เครือข่ายทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม

รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา กล่าวว่า โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2553 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์และทักษะทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย โดยเริ่มต้นมีโรงเรียนเข้าร่วมเพียง 221 โรงเรียน ปัจจุบันขยายผลสู่ 29,129 โรงเรียน ใน 238 ผู้นำเครือข่ายท้องถิ่นแล้ว ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ได้ขยายโครงการไปทั่วประเทศ อีกทั้งมีองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ปฐมวัยเพิ่มขึ้นมากมาย

ทั้งนี้ จากความสำเร็จในการวางรากฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับโรงเรียนอนุบาลไปทั่วประเทศแล้ว ยังมีการเผยแพร่โครงการสู่ระบบครอบครัวโดยได้จัดทำรายการโทรทัศน์ ‘บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย’ เป็นรายการวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย นำเสนอในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชั่น ที่สอดแทรกการทดลองวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจง่าย และมีการทดลองวิทยาศาสตร์ในหลายรูปแบบ เพื่อสร้างฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้ลงลึกสู่ครอบครัวมากขึ้น ผู้ปกครองได้ร่วมทดลองไปกับเด็กๆ ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่รักและเห็นว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อ และยังสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด

โดยออนแอร์ทุกวันอาทิตย์ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย รวมถึงได้มีการจัดงานเทศกาลวันบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

20 มีนาคม พ.ศ. 2280 วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช’ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี บูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสยามประเทศ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ด้วง หรือ ทองด้วง เป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลังในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยก ธิดาเศรษฐีจีน มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2280 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

ต่อมาได้ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต จนพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษา ได้ทรงผนวช ณ วัดมหาทลายพรรษาหนึ่ง หลังจากทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมพรรษาได้ 25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2311 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบก๊กต่าง ๆ จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ ต่อจากนั้นทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ หลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบให้เป็นพระยายมราช และทรงทำหน้าที่สมุหนายกด้วย 

ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ครั้น พ.ศ. 2324 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องยกทัพกลับจากเขมรเพื่อปราบจลาจล และได้ขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 46 พรรษา 

ทั้งนี้ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน ครั้งเสร็จการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า ‘กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ หรือเรียกอย่างสังเขปว่า ‘กรุงเทพมหานคร’

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2328 ที่เรียกว่า ’สงครามเก้าทัพ‘ นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า ’กฎหมายตราสามดวง‘ สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงรับการยกย่องเป็น 1 ใน 8 สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประเทศไทย พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่าเป็น มหาราช เพราะทรงได้รับชัยชนะจากสงครามเก้าทัพนั่นเอง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน  พ.ศ. 2352 พระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา

19 มีนาคม พ.ศ. 2502 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงพระบรมราโชวาทแก่ ‘ทหารค่ายเสนาณรงค์’ “ประเทศเราอยู่มาได้แต่โบราณ ต้องอาศัยความสามัคคี-ความพร้อมเพรียงของทุกคน”

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ณ ท่าเรือเทศบาลสงขลาเพื่อประทับเรือยนต์ ‘พัทลุง’ ซึ่งจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่ง ทอดพระเนตรทะเลสาบสงขลา วิถีชีวิตของชาวบ้านและการแข่งเรือของชาวประมงในทะเลสาบสังขลา ชาวบ้านจัดซุ้มเฉลิมพระเกียรติอย่างสวยงามไว้กลางน้ำเพื่อรับเสด็จ ปัจจุบันเรือพัทลุงได้รับการซ่อมแซมและขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรจอดอยู่ในคลองลำปำ หลังวังเจ้าเมืองพัทลุง

ในวันเดียวกันนี้หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรกิจการของสถานีการยางคอหงส์แล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังค่ายเสนาณรงค์ ทรงมีพระปฏิสันถารและพระราชดำรัสตอบแก่ทหารและข้าราชการที่มารอรับเสด็จดังนี้

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมค่ายเสนาณรงค์ ซึ่งค่ายนี้เป็นค่ายของกองทัพบกที่อยู่ทางใต้ที่สุดของประเทศไทยเรา อาณาเขตกรมผสมที่ 5 ที่จะต้องปกครอง ที่ต้องป้องกัน ที่เป็นอาณาเขตที่สำคัญ ยิ่งเป็นชายแดนข้าพเจ้าก็พอใจที่ท่านได้ฟัง ท่านแสดงความเจตนาอันแน่วแน่ที่จะทำหน้าที่ป้องกันประเทศ โดยที่ท่านได้กล่าวเสียงให้คำปฏิญาณ ขอให้การเปล่งเสียงปฏิญาณนั้นจงเป็นสัญลักษณ์ว่าทุกคนจะทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถในเวลาปกติไม่ทำสงคราม ทหารก็มีหน้าที่หลายอย่าง แต่หน้าที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือฝึกฝนอดทนและเรียนรู้ความรู้ต่างๆ เพิ่มเติมอยู่เสมอเพื่อที่จะให้ตนเองดีขึ้นมีความสามารถดีขึ้น และให้หมู่คณะเข้มแข็งขึ้น ต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของทหารมาก่อนอื่น คือต้องรู้จักรักชาติ การเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ประเทศเราอยู่มาได้แต่โบราณก็ต้องอาศัยความสามัคคีและความพร้อมเพรียงของทุกคน ขอให้ทหารทุกคนมีกำลังใจกำลังกายที่จะประกอบกิจการของตน เพื่อให้เป็นกำแพงป้องกันประเทศชาติในเมื่อมีความจำเป็น ขอให้ค่ายเสนาณรงค์นี้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปชั่วกาลนาน”

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติพระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมเหล่าทหารและข้าราชการที่ค่ายเสนาณรงค์แล้ว จึงเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังโรงเรียนหาดใหญ่ (ปัจจุบันคือโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย) ประทับ ณ พลับพลา ที่ประทับ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 16.45 น. เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรซึ่งมีทั้งคณะครู นักเรียน ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จอย่างหนาแน่น

ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักเขาน้อย ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรซุ้มรับเสด็จของอำเภอหาดใหญ่ซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top