Saturday, 26 April 2025
CoolLife

20 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันทนายความ’ หนึ่งในสถาบันด้านกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความทั่วประเทศถือเป็นวันทนายความ

วันนี้ในอดีต เมื่อปี พ.ศ. 2500 เป็นวันที่ทนายความในขณะนั้นมีแนวความคิดริเริ่มที่ต้องการให้วิชาชีพทนายความ ควรจะมีสถาบันที่เป็นตัวแทนของวิชาชีพทนายความ และเป็นอิสระควบคุมดูแลกันเอง จึงได้ประชุมกันก่อตั้งสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขึ้น โดยจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

ต่อมาสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันใช้ความเพียรพยายามเรียกร้องและผลักดันร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติทนายความเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2528 จึงประสบผลสำเร็จออกประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2528 และมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

ในวันทนายความของทุกปีสมาชิกสภาทนายความทั่วประเทศจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อแสดงพลังสามัคคี และแสดงความพร้อมในการทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชน ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติทนายความ

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 ‘รัชกาลที่ 6’ ทรงประกาศใช้ ‘พุทธศักราช’ (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน ‘รัตนโกสินทร์ศก’ (ร.ศ.)

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 รัชกาลที่ 6 ประกาศยกเลิกใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) หลังใช้มาได้เพียง 24 ปี (พ.ศ. 2432-2455)

รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1) แต่ในทางพระพุทธศาสนา ยังคงใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ตามธรรมเนียมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ซึ่งก่อนหน้าที่จะใช้พุทธศักราชและรัตนโกสินทร์ศก ประเทศไทยเคยใช้ ‘มหาศักราช’ (ม.ศ.) และ ‘จุลศักราช’ (จ.ศ.) มาก่อน

นอกจากนี้ ประเทศไทย กัมพูชา และสปป.ลาว เริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี ส่วนที่ศรีลังกาและเมียนมา เริ่มนับปีพุทธศักราชตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือเมื่อ 544 ปีก่อนคริสตศักราช พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมาจึงเร็วกว่าไทย 1 ปี

22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ‘รัชกาลที่ 9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ จ.เชียงใหม่ ช่วยอำนวยประโยชน์ด้าน ‘ชลประทาน-ผลิตไฟฟ้า-บรรเทาอุทกภัย’

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เดิมชื่อว่า ‘เขื่อนแม่งัด’ ตั้งอยู่บนลำน้ำแม่งัด สาขาแม่น้ำปิง ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และยังตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา สำหรับทางเข้าเขื่อนอยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 41 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (สายเชียงใหม่-ฝาง) เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร

โดยเขื่อนอเนกประสงค์ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ด้านเหนือเขื่อนที่สามารถอำนวยประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ด้านการชลประทาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ การบรรเทาอุทกภัยแก่พื้นที่เพาะปลูกท้ายอ่างเก็บน้ำ การประมงในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เขื่อนแม่งัดเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทาน ซึ่งการก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 ต่อมา กฟผ. ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในปี พ.ศ. 2528 แล้วเสร็จในปีเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เช่นกัน

23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 5’ ทรงสถาปนา ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ รร.ต้นแบบแห่ง ‘หลักสูตร-วิธีการสอน’ ที่เผยแพร่ไปทั่วไทย

‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง ‘วิทยาลัย’ ขึ้นในวัดบวรนิเวศ โดยพระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร ทั้งนี้เบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 แผนก คือ ส่วนที่ใช้เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม และอีกส่วนจัดตั้งเป็นโรงเรียน โดยให้เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยแห่งนี้

จึงเป็นที่มาของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ โดยในยุคแรกเริ่ม ได้เชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส มาทรงเป็นผู้จัดการโรงเรียนพระองค์แรก ต่อมาการเรียนการสอนในโรงเรียน ได้ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามลำดับ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชประสงค์ให้ขยายการศึกษาให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ไปใช้สอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงถือได้ว่า โรงเรียนวัดบวรนิเวศ กลายเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการใช้หลักสูตร เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่เพาะบ่มความรู้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างตึกมนุษยนาควิทยาทาน นอกจากจะเป็นที่ระลึกแก่ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส อาคารแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 131 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนวัดบวรริเวศได้เปิดการเรียนการสอนตลอดมา และเหนือสิ่งอื่นใด คือการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ออกสู่สังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ

24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 2’ พระมหากษัตริย์ผู้สร้าง ‘ยุคทองของวรรณคดี’

‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ มีพระนามเดิมว่า ‘ฉิม’ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 2 ของสยามในสมัยราชวงศ์จักรีและทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 46 ตามประวัติศาสตร์ไทย ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา

ต่อมาพระองค์ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งภายหลังเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสี หลังการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยทั้ง 2 พระองค์มีพระราชโอรสร่วมกัน 3 พระองค์ พระองค์ใหญ่ซึ่งปรากฏพระนามภายหลังว่าเจ้าฟ้าราชกุมาร สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ รองลงมา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์น้อย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 40 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษก สถาปนาพระเกียรติยศขึ้นเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ แต่ให้คงเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม มิให้ขึ้นไปประทับ ณ พระราชวังบวรฯ ด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้กราบทูลไว้แต่เมื่อประชวรหนักว่าขอให้ลูกเธอได้อาศัยในพระราชวังบวรฯ ต่อไป ทั้งทรงพระราชดำริเห็นว่า พระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว ไม่ช้านานเท่าใดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็จะได้เสวยราชสมบัติ การย้ายวัง ควรไว้ย้ายเมื่อเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังทีเดียว

ถึงปี พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จสวรรคต กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า…

พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติ อาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ หริสกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หรหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลยคุณ อกนิฐฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร

โดยรัชสมัยของพระองค์ทรงสงบสุข ปราศจากความขัดแย้ง รัชสมัยของพระองค์เป็น ‘ยุคทองของวรรณคดี’ เนื่องจากพระองค์ทรงอุปถัมภ์กวีหลายคนในราชสำนัก และพระองค์เองก็มีชื่อเสียงในฐานะกวีและศิลปิน กวีที่โดดเด่นที่สุดในราชสำนักคือสุนทรภู่

26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ในหลวง ร.10 พระราชทานสิ่งของช่วยเหลืออาสาสมัครทหารพราน หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิด จ.ยะลา

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่อาสาสมัครทหารพราน ธีระวัฒน์ กันทะนิต และนางสาวมายูรี เจะตือเร๊ะ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดชุดลาดตระเวนตามแผนพิทักษ์ยะลา 623 (ฉก.ยะลา) บริเวณบ้านบาเจาะ หมู่ที่ 2 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 และเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

การได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่อาสาสมัครทหารพราน ธีระวัฒน์ และนางสาวมายูรี อย่างหาที่สุดมิได้

25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 วันคล้ายวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ‘ในหลวงรัชกาลที่ 7’ ผู้ทรงพระราชกรณียกิจสำคัญ 8 ด้านเพื่อแผ่นดินสยาม

‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ ถือเป็นพิธีสำคัญสำหรับประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เหตุการณ์ครั้งสำคัญในอดีตถูกบันทึกลงในสื่อหลายประเภทให้คนรุ่นหลังใช้ศึกษา ในที่นี้ยกตัวอย่างด้วยการย้อนกลับไปที่ครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 7

โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2469) ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีฉลู

ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติยศองค์ประมุขในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศโดยสมบูรณ์ ทุกกระบวนการในพระราชพิธีมีความหมาย และแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันงดงามของชาติไทย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลำดับการพระราชพิธี ตั้งแต่ขั้นการเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย

ช่วงเวลา 9 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่างๆ อาทิ

- การแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
- การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์
- การประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก
- การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก
- พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสาร
- การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ
- การทบทวนและจัดทำสนธิสัญญาไมตรี
- การสร้างระบบราชการให้เป็นคุณธรรม

27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ’ในหลวง ร.10‘ พระราชทานถุงยังชีพแก่ราษฎร 35 ครอบครัว หลังประสบอัคคีภัย ณ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทาน (เครื่องครัว เครื่องนอน) ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอัคคีภัยบริเวณชุมชนบ้านครัวตะวันตก ซึ่งได้เกิดเหตุอัคคีภัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 00.27 น. ที่ผ่านมา ทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 8 หลังคาเรือน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 35 ครอบครัว ณ สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

ในโอกาสนี้ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสความห่วงใยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปกล่าวกับราษฎรให้ได้รับทราบ ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ’ในหลวง ร.10‘ ทรงมีพระราชดำริให้ ‘จัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน’ หวังส่งมอบความรู้เบื้องต้นแก่ ‘ข้าราชการ-ประชาชน-จิตอาสา’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยสุขภาพและพลานามัยของประชาชน จึงทรงมีพระราชดำริให้หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน จัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) แก่ประชาชนทั่วไป ที่โรงละคร สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า โดยมีพลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับมอบอุปกรณ์ฝึกสอนการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐาน จำนวน 220 ชุด ซึ่งประกอบด้วย

- หุ่นจำลองช่วยฟื้นคืนชีพผู้ใหญ่ - แบบครึ่งตัวมีไฟแสดง จำนวน 100 ชุด
- หุ่นจำลองเด็ก จำนวน 100 ชุด
- ชุดฝึกสอนการสำลัก Anti Choking ( Choking Training Vest) จำนวน 20 ชุด

จากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) โดยแพทย์หญิง ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ส่งมอบ ซึ่งอุปกรณ์ฝึกสอนฯ ดังกล่าว บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สำหรับพระราชทานไปใช้ในกิจกรรมการฝึกอบรมการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐานเบื้องต้นให้กับ ข้าราชการ ประชาชน และจิตอาสา โดยมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการฝึกอบรม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการกองทัพไทย บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์(CP) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น

‘ในหลวง ร.10 - พระราชินี’ พระราชทานสิ่งของแก่ ‘อาสาสมัครทหารพราน’ หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด-ยิงปะทะ จ.นราธิวาส

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดและยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนกองร้อยทหารพราน นาวิกโยธินที่ 3 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ขณะทำการลาดตระเวนบริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านยะลูตง ตำบลกาเยาะมาตรี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 ราย ดังนี้

- อาสาสมัครทหารพราน ณัฐพล ชนะเกียรติ
- อาสาสมัครทหารพราน ดิฐวัฒน์ พุดหอม
- อาสาสมัครทหารพราน กฤษณะ แก้วมณี
- อาสาสมัครทหารพราน วัชรศักดิ์ ชูหอย
- อาสาสมัครทหารพราน ณัฐวัฒน์ มณีพันธ์

โดยทั้ง 5 ราย เข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

ทั้งนี้ การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ถือเป็นความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top