14 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงแสดงปาฐกถาในการประชุมวิชาการฯ ด้านสิ่งแวดล้อม “การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องใส่ใจระยะยาว เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 65 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ‘The 3rd International Conference on Environment, Livelihood, and Services 2022’ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ ตามที่ได้พระราชทานพระราชานุมัติ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา

โดยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2565 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักศึกษา ได้แสดงผลงานวิจัย และสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม

ในการนี้ ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงของโลก และการช่วยเหลือให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา’ โดยทรงเน้นย้ำว่าถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่ช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดน้อยลง การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องให้ความใส่ใจระยะยาว เพื่อเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากการที่ทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มูลนิธิฯ ดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ, โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ล้วนเป็นโครงการที่ดำเนินการในระดับท้องถิ่น แต่ส่งผลระดับนานาชาติ

ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิชัยพัฒนา ยังจัดตั้ง ‘กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)’ ขึ้น เพื่อจัดซื้อและจัดหาอุปกรณ์รวมทั้งนวัตกรรมทางการแพทย์ ช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ รวม 122 แห่งใน 56 จังหวัด รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนปลูกพืชอาหารเพื่อการบริโภค นับว่าเป็นการพึ่งพาตนเองได้อีกทางหนึ่ง”

การประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อสำคัญ ได้แก่ การปรับตัวและจัดเตรียมทรัพยากรธรรมชาติ, การเตรียมความพร้อมรับภัยธรรมชาติและมลภาวะแวดล้อม , เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม มีวิทยากรพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จากต่างประเทศ ร่วมบรรยาย อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา