Monday, 29 April 2024
Columnist

กล่าวหา ‘ร.9’ จะตั้งพระองค์เจ้าธานีนิวัต เป็นนายกฯ แทน จอมพล ป. 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

การตรวจสอบการใช้หลักฐานอ้างอิงในการเขียนงานวิชาการของ ผศ. ดร. ณัฐพล ใจจริง โดย ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

ประเด็นที่ 5 เรื่อง การอ้างเอกสารสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยอย่างบิดเบือนเกินจริงว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะตั้งให้พระองค์เจ้าธานี พระยาศรีธรรมาธิเบศ และหลวงสินาดโยธารักษ์เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป. ในปี พ.ศ. 2494 รวมถึงการอ้างถึง หม่อมเจ้านักขัตรมงคลว่า ทรงมีบทบาทในการให้คำแนะนำในหลวงให้มีท่าทีไม่พอใจรัฐบาล

1. ข้อความของณัฐพล 
ณัฐพลได้ระบุข้อความไว้ในหน้า 113 ของหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี (2563) ว่า “พระองค์ [ในหลวง ร.9] ทรงวิจารณ์คณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรี อีกทั้งมีพระราชดำริที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ภายหลังเสด็จนิวัติพระนครในปลายปี 2494 โดยมีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าธานีนิวัต เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ ผู้เป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มรอยัลลิสต์เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนจอมพล ป.”

ณัฐพล ใจจริง ได้เขียนประโยคดังกล่าวโดยอ้างอิงจากรายงานสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

และณัฐพลยังยืนยันถึง ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของข้อมูลนี้ไว้ในเชิงอรรถที่ 70 โดยเอกสารของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศที่เขานำมาอ้าง คือ NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah, “29 November 1951 Coup d’Etat” 

ซึ่งเอกสารนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบันทึกการสนทนาเป็นการส่วนตัว (Memorandum of Conversation) ระหว่าง นายสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี กับ นายเอ็น บี ฮันนาห์ (N. B. Hannah) เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม พ.ศ. 2494 (หลังการปฏิวัติ 2494 เป็นเวลา 1 วัน)

นอกจากนี้แล้ว ณัฐพลได้ขยายความในเชิงอรรถว่า “รายงานการทูตฉบับนี้ระบุว่า สังข์ พัธโนทัย บุคคลใกล้ชิดจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ให้ข่าวกับฮันนาห์ว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการให้คำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ให้มีท่าทีไม่พอใจรัฐบาลคือ ม.จ. นักขัตรมงคล กิติยากร ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ” 

สังเกตให้ดีและกรุณาจำไว้ กับข้อความที่ว่า “ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ”

และในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม. ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) ของณัฐพลก็ได้ปรากฏข้อความเช่นเดียวกันในหน้าที่ 114 เชิงอรรถที่ 101 แต่ข้อความแตกต่างเล็กน้อย โดยระบุว่า…
“รายงานฉบับนี้ รายงานว่า สังข์ พัธโนทัย บุคคลใกล้ชิดจอมพล ป. พิบูลสงครามได้แจ้งกับฮันนาห์ว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังในแนะนำให้พระมหากษัตริย์กลับมาต่อต้านรัฐบาล คือ ม.จ. นักขัตรมงคล กิติยากร ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ เขาได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ” 

ยังจำได้นะครับ ข้อความที่ว่า "ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ เขาได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ” 

2. ข้อค้นพบ
2.1 จากการตรวจสอบเอกสารชั้นต้นซึ่งเป็นรายงานสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยฉบับดังกล่าวอย่างละเอียด (ฉบับเดียวกับที่ณัฐพลใช้เขียนวิทยานิพนธ์และแต่งหนังสือ) พบว่า มีข้อความที่ระบุว่าในหลวงทรงวิจารณ์รัฐบาล, คณะรัฐประหาร 2490, จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ เผ่า ศรียานนท์ จริง รวมไปถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่นำโดยนายกรัฐมนตรีที่ทรงปรารภ (mentioned) ไว้ 3 รายชื่อ ได้แก่ พระองค์เจ้าธานี พระยาศรีธรรมาธิเบศ และหลวงสินาดโยธารักษ์ ก็ได้มีการระบุไว้ในเอกสารนี้ด้วย 

แต่ทว่า ท้ายที่สุด นายเอ็น บี ฮันนาห์ (N. B. Hannah) เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐ (ผู้เขียนรายงานฉบับนี้) ได้มีคำวิจารณ์ในวงเล็บต่อท้ายข้อมูลข้างต้นไว้อย่างชัดเจนว่า…

“รายงานนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าว/แหล่งข้อมูลอื่น หากเป็นจริงดังว่า คงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าคณะรัฐประหารโดยเฉพาะพิบูล (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) คงรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก” (This report has not yet been confirmed by any other sources. If there is any truth to this report it is obvious that the coup party and even Phibun would be intensely displeased.) 

นั่นหมายความว่า นายฮันนาห์ (ผู้เขียนรายงานนี้) ก็ยังไม่เชื่อข้อมูลที่สังข์เล่านี้เลย 

แม้เขาจะโปรยในตอนต้นของรายงานนี้ว่า ข้อมูลของสังข์ ‘บางส่วน’ (some respects) มีความถูกต้อง (valid) และได้รับการยืนยัน (confirmed) มาแล้วก็ตาม (ข้อมูลที่ได้รับการยืนยันคือกรณีสาเหตุของการรัฐประหารตัวเองของรัฐบาลจอมพล ป. ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 (โปรดดูย่อหน้าแรกในหน้าแรกของบันทึกการสนทนาประกอบ) 

แต่ข้อมูลในกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะมีพระราชประสงค์จะตั้งนายกรัฐมนตรีนี้ นายฮันนาห์ก็สารภาพไว้เองว่า “เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน” (has not yet been confirmed by any other sources) และควรบันทึกด้วยว่าข้อมูลเรื่องในหลวงนี้ สังข์เองอ้างว่าเขารู้มาจากเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจอีกทอดหนึ่งด้วย (Phao reported/stated that…..)

สังเกตให้ดีนะครับว่า “สังข์รู้มาจากเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจอีกทอดหนึ่งด้วย (Phao reported/stated that…..)

2.2 ส่วนข้อความที่พาดพึงไปถึง ม.จ. นักขัตรมงคล (พระบิดาของสมเด็จพระพันปีหลวง {หรือ พระบิดาของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง})

นายฮันนาห์ได้เขียนโดยอ้างจากคำพูดของสังข์ พัธโนทัย ว่า…“สังข์กล่าวโทษ ม.จ. นักขัตรมงคล อดีตเอกอัครราชทูตลอนดอน ผู้เป็นพ่อตาและที่ปรึกษาปัจจุบันของในหลวง, ว่าโน้มน้าวให้ในหลวงต่อต้านรัฐบาล” (Sang blames the King’s father-in-law Momchao Nakhat MONGKON, former Ambassador in London and now advisor to the King, for turning him against the Government.) 

ข้อความในส่วนนี้จึงเป็นทัศนคติส่วนบุคคลของสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพล ป. แต่เพียงผู้เดียว ผ่านรอยน้ำหมึกปากกาของนายฮันนาห์ผู้บันทึกการสนทนา 

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงในประเด็น ม.จ. นักขัตรมงคล จะเป็นอย่างไรนั้นไม่มีใครทราบ 

แต่การที่ ณัฐพล ใจจริง นำกรณี 2.1 กับ 2.2 มารวมกันแล้วขยายด้วยข้อความในเชิงอรรถในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านหนังสือ/วิทยานิพนธ์ของเขาเชื่อว่าข้อความเหล่านั้น ‘เป็นความจริง’ เพราะได้รับการยืนยันจากฮันนาห์เอง

ด้วยข้อความที่ณัฐพลเขียนสำทับลงไปเองว่า…“ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ”  

แต่แท้ที่จริงแล้วข้อมูลในประเด็นทั้ง 2.1 และ 2.2 กลับตรงข้ามที่ฮันนาห์ได้ระบุไว้ในตัวเอกสารเลย ดังที่อธิบายไปข้างต้นแล้ว

ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ ฮันนาห์ได้ระบุย้ำเตือนถึงความ ‘บิดเบือนความจริง’ (misrepresentation) หรือ ‘ความเข้าใจคลาดเคลื่อน’ (misinterpretation) ของสังข์ไว้ในบันทึกหน้าสุดท้ายไว้อีกด้วยว่า…

“โดยทั่วไปแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่ารายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ค่อนข้างแม่นยำ แต่ก็ยังปรากฏบางกรณีที่ชัดเจนว่า เป็นการบิดเบือนความจริง หรือ การความเข้าที่ใจคลาดเคลื่อนของสังข์เช่นกันด้วย ซึ่งกรณีที่ผิดพลาดเหล่านั้น ส่วนใหญ่ได้ถูกระบุข้อสังเกตไว้ในบันทึกนั้นแล้ว” (In general I believe that this description of the specific events surrounding the November 29 coup is fairly accurate. There are certain obvious cases of misrepresentation and of misinterpretation by Sang. Most of these have been pointed out in the text of the memorandum itself.)

สรุปข้อผิดพลาดของณัฐพล ใจจริง ในประเด็นนี้มีความหนักหนามาก 

เพราะถือว่าเป็นการนำเอกสารชั้นต้นที่มาขยายความเกินจริงในงานวิชาการ รวมถึงการยืนยันข้อความดังกล่าวในเชิงอรรถด้วยข้อมูลที่แทบจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่หลักฐานให้ไว้แทบทั้งสิ้น 

การอาศัยความน่าเชื่อถือของเอกสารการทูตของสหรัฐมาใช้เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในวงการวิชาการ ซึ่งการกระทำนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลวงรัชกาลที่ 9

บทเพลงพระราชนิพนธ์แห่งความสุข  จากองค์พระมหากษัตริย์สู่พสกนิกรชาวไทย 

ประเทศไทยของเราเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่จากเดิมที่นับเอาวันที่ ๑ เมษายนของทุกปีเป็นวันปีใหม่แบบของไทยเรา โดยนับเนื่องกันมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเรามีเพลงประจำปีใหม่ไทยของเราหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งแต่งทำนองและเรียบเรียงโดย 'พระเจนดุริยางค์' (ปิติ วาทยะกร) แต่งคำร้องโดย 'ขุนวิจิตรมาตรา' (สง่า กาญจนพันธุ์) โดยมีชื่อเพลงว่า 'เถลิงศก' และเริ่มใช้ขับร้องต้อนรับปีใหม่แบบไทยในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยระบุชัดในเนื้อร้องท่อนนึงว่า...

“วันที่หนึ่งเมษายน ตั้งต้นปีใหม่
แสงตะวันพร่างพรายใส สว่างแจ่มจ้า
เสียงระฆังเหง่งหง่างก้อง ร้องทักทายมา
ไตรรงค์ร่าระเริงปลิว พลิ้วพลิ้วเล่นลม.....” 

แต่ร้องกันได้เพียงแค่ ๖ ปีก็มาถึงยุค ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ … ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ ที่มีความต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลเหมือนอารยประเทศในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะ ‘วันปีใหม่’ ซึ่งน่าจะนับเอาตามหลักสากล จึงได้ออกกฎหมายและประกาศ ‘พระราชบัญญัติ ปีปฏิทินพุทธศักราช ๒๔๘๓’ โดยยกเลิกปีใหม่แบบเดิมและให้เริ่มนับเอาวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นปีแรกแห่งการนับปีใหม่ตามหลักสากล เพลง 'เถลิงศก' เพลงปีใหม่เดิมก็เป็นอันเลิกใช้ โดยมีเพลงที่อาจจะอนุมานในการร้องหรือเปิดในช่วงปีใหม่ในช่วงของท่านจอมพลก็คือเพลงประกอบการเต้นลีลาศหรือรำวงมาตรฐานโดยวงสุนทราภรณ์ เช่น ‘รื่นเริงเถลิงศก’ / ‘รำวงปีใหม่’

ส่วนบทเพลงสำคัญที่เปรียบเสมือนพรจากฟ้า เป็นของขวัญของปวงชนชาวไทยในทุกวันขึ้นปีใหม่ เกิดขึ้นเมื่อวันส่งท้ายปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นั่นก็คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’

‘พรปีใหม่’ เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๓ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นบทเพลงที่ส่งต่อความสุขใจ ความปรารถนาดี จากพระองค์ท่าน สู่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ 

หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จนิวัตประเทศไทยและประทับในประเทศไทยเป็นการถาวร ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ จนถึงวาระขึ้นปีใหม่ครั้งนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรด้วยเพลง 

สำหรับบทเพลง ‘พรปีใหม่’ นี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่ได้เริ่มต้นแต่งใหม่ทั้งหมดในคืนวันก่อนปีใหม่ปี ๒๔๙๔ - ๒๔๙๕ แล้วนำไปบรรเลงเลยอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่จริง ๆ แล้วพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองมานานก่อนหน้านั้นแล้วบางส่วน ก่อนจะมาปรับปรุง เพิ่มเติมจนจบ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทยซึ่งเป็นคำอวยพรปีใหม่ ลงไปจนครบซึ่งก็พอดีกับการจะพระราชทานในค่ำคืนวันนั้นพอดี ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสเล่าเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลง ‘พรปีใหม่’ พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการ ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์’ ที่เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ความว่า...

“...เพลงพรปีใหม่ คนก็ว่าแต่งในวันปีใหม่ หรือวันก่อนวันปีใหม่ แท้จริงแต่งมานาน ก่อนที่จะออกปีใหม่เป็นปีหรือสองปี แล้วก็แต่งแบบทุลักทุเล ตอนนั้นไม่สบาย คืออยู่ที่เมืองนอก ไปมีอุบัติเหตุ หมอบอกว่าห้ามเล่นแซกโซโฟน แต่ว่าท่านจักรพันธ์อยู่ด้วย ก็ให้ท่านเป่าแซกโซโฟน ท่านก็เป่ามีเสียงออกมาได้ แต่ท่านไม่รู้ว่านิ้วจะวางอย่างไร ลงท้ายก็เอานิ้วของเราใส่บนแซกโซโฟน แล้วท่านก็เป่า ลงท้ายท่านก็เล่นแซกโซโฟนได้ และเมื่อหมออนุญาตให้เป่าแซกโซโฟน ก็เลยเริ่มเล่นเป็นเพลงที่แต่งเอาเอง คนหนึ่งเล่นส่วนหลัก แล้วอีกคนก็เล่นต่อสลับกันไปอย่างนี้แล้วจดเอาไว้มาถึงปลายปี ก็เลยนึกว่าเอ๊ะ...เราแต่งเพลงสำหรับให้พรปีใหม่ ก็เอาอันนี้ที่แต่งไว้แล้วมีคนแต่งสองคนไม่รู้ว่าเป็นเพลง ก็มาปรับปรุงให้เป็นเพลงได้…”

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานชื่อว่า ‘พรปีใหม่’ เดินทางไปถึงวงดนตรี ๒ วง ในคืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งทั้ง ๒ วงกำลังบรรเลงดนตรีส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่อยู่ ๒ แห่ง โดยวงแรกคือวงดนตรีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงอยู่ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

อีกวงคือวงสุนทราภรณ์ ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อทั้ง ๒ วงได้รับบทเพลงพระราชนิพนธ์ ก็ได้นำไปเรียบเรียงเพื่อใช้สำหรับการบรรเลงเป็นวงและเตรียมการขับร้องอยู่สักพักก่อนที่จะนำไปบรรเลงและขับร้องเมื่อเข้าสู่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งนอกจากจะสร้างความประหลาดใจจากบทเพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานมาแล้วนั้น ผู้ที่ได้รับชม รับฟัง บทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’ ในครั้งนั้น ล้วน ตื่นเต้น ตื้นตัน และปลาบปลื้มไปกับความสุขที่ได้รับพรจากฟ้า จากพระเจ้าแผ่นดินผู้รักผสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง (ผมพิมพ์ไปนึกภาพตามไปยังขนลุกเลย) 

“สวัสดีปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาเราท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาเราท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมหฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ”

นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มาถึงปัจจุบัน กว่า ๗๑ ปี ที่ชาวไทยได้ร้องเพลง ‘พรปีใหม่’ ในทุกช่วงเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและการเดินหน้าต่อไปในทุก ๆ ปีแล้วนั้น เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ยังแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ไทยของเรา ที่อยากเห็นปวงชนชาวไทยมีความสุข อยู่ดีกินดี มีความสุขในบ้าน ในเมือง ที่ร่มเย็นด้วยพระบารมี ตลอดทั้งปีใหม่และตลอดไป

กล่าวหา ‘รัชกาลที่ 9’ ท้าทายอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ การตรวจความถูกต้องทางวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง

กรณี ‘แผนการเสด็จเยือนชนบทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ณัฐพล ใจจริงอ้างว่ากระทำไปเพื่อท้าทายอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม’

1.ข้อความของณัฐพล
อีกประเด็นหนึ่งที่พวกเราทุ่นดำ-ทุ่นแดง เห็นว่าควรหยิบยกนำมาพูดถึง เพราะประเด็นนี้มีลักษณะโน้มน้าวให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  

นั่นก็คือ ‘แผนการเยี่ยมชนบท’ ของพระราชวงศ์และกลุ่มรอยัลลิสต์ ซึ่ง ณัฐพล ใจจริง ได้อ้างว่ากระทำเพื่อ ‘สร้างความนิยมให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ในการท้าทายอำนาจกับรัฐบาลจอมพล ป.’ 

โดยปรากฏในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) ในหน้า 156  ณัฐพลเขียนว่า…“สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า ไม่เพียงแต่ สถาบันกษัตริย์เริ่มต้นการท้าทายอำนาจของ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเท่านั้น แต่ ‘กลุ่มรอยัลสสต์’ ยังมีแผนการสร้างกระแสความนิยม ในพระมหากษัตริย์ให้เกิดในหมู่ประชาชนเพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ในอีกทางหนึ่ง ด้วยการให้จัดโครงการให้พระองค์เสด็จเยี่ยมประชาชนในชนบท” 

และในหนังสือขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (2563) ในหน้า 163 ณัฐพลได้กล่าวว่า…“สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เพียงเริ่มต้นท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. เท่านั้น กลุ่มรอยัลลิสต์เองยังมีแผนการสร้างกระแสความนิยมในองค์พระมหากษัตริย์ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ในอีกทางหนึ่งด้วย”

ทั้งสองส่วนนี้ ณัฐพล ใจจริง ได้อ้างที่มาจากเอกสารชั้นต้นชิ้นเดียวกันจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้แก่ NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4187, Memorandum of Conversation; Kukrit Pramote, George M. Widney, 29 April 1954

2. ข้อค้นพบ
เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเด็นของณัฐพลที่พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ได้ทำการตรวจสอบมา การอ้างอิงหลักฐานของ ณัฐพล ในชิ้นนี้ ก็ผิดพลาดเช่นเคย กล่าวคือ เอกสาร NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4187, Memorandum of Conversation; Kukrit Pramote, George M. Widney, 29 April 1954 มีเนื้อหาระบุเพียงว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชย์ เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรง ‘เสด็จออกชนบท’ (gone to the country) เพื่อไปหาเสียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับทรรศนะของพระองค์เองเกี่ยวกับกรณีหรือนโยบายใด ๆ (views on an issue) และไม่เคยคิดที่จะทรงแสวงหาชื่อเสียง (publicity กระแสความสนใจจากสาธารณะ) จากการเสด็จออกชนบทด้วย แต่ความคิดของพระองค์เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลก็เป็นที่รับรู้โดยอ้อมผ่านการที่ทรงชะลอการลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายฉบับต่าง ๆ (ซึ่งเป็นพระราชอำนาจปกติของระบอบพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ - ทุ่นดำทุ่นแดง)

ข้อความต้นฉบับ (NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4187, Memorandum of Conversation; Kukrit Pramote, George M. Widney, 29 April 1954) คือ 

“I [Geroge M. Widney] asked Kukrit if the general public got to know of the King’s actions and views in such cases where he withheld or delayed royal approval. He was emphatic in saying that the public does, and that this is a source of strength for the King. Kukrit asserted, however, that the King had never “gone to the country” to justify his views on an issue nor had he ever sought to generate publicity for such actions. But his views nevertheless have become well known”

จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อความในส่วนใดในเอกสารชิ้นนี้ที่ระบุเนื้อความหรือเบาะแส (hint/clue) ที่ว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เพียงเริ่มต้นท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. เท่านั้น กลุ่มรอยัลลิสต์เองยังมีแผนการสร้างกระแสความนิยมในองค์พระมหากษัตริย์ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป.” ตามที่ณัฐพลได้กล่าวในผลงานวิชาการทั้ง 2 เล่มของเขาเลย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประโยคจากเอกสารชั้นต้นที่ระบุว่า “the King had never ‘gone to the country’ to justify his views on an issue nor had he ever sought to generate publicity for such actions” ซึ่งแปลได้ว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้เสด็จไปชนบทเพื่อสร้างความชอบธรรมหรือความนิยมในหมู่ประชาชนแต่อย่างใดเลย”  

คำแปลดังกล่าวเรียกได้ว่า พลิกจากหน้าเมือเป็นหลังมือเลยทีเดียว 

และถ้าณัฐพลยังยืนยันแนวคิดของเขาในประเด็นนี้ ตามหลักวิชาการแล้ว เขาควรจะต้องอ้างเอกสารชิ้นอื่น ที่ไม่ใช่ชิ้นนี้ 

สรุป จุดนี้เองทำให้พวกเชื่อว่า แม้ว่าเอกสารที่ ณัฐพล ใช้อ้างอิง ‘มีอยู่จริง’

แต่เอกสารดังกล่าวกลับมีเนื้อหาที่ ‘ตรงกันข้าม’ กับสิ่งที่เขาได้บรรยายไว้ทั้งในวิทยานิพนธ์และหนังสือ 
หรือเรียกว่าเป็น ‘หนังคนละม้วน’ เลยก็ว่าได้ (เพราะม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในฐานะกลุ่มรอยยัลลิสต์เองยืนยันเองว่าในหลวงไม่ได้ต้องการเสด็จชนบทเพื่อสร้างความนิยม) 

ทั้งนี้ เราไม่แน่ใจว่าเหตุใด ณัฐพล จึงกระทำการเช่นนี้ และอาจารย์ที่ปรึกษา หรือ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ได้ปล่อยให้ประเด็นดังกล่าวหลุดรอดมาได้อย่างไรเกือบ 10 ปี ?

นอกจากนี้แล้ว เอกสารชั้นต้นฉบับนี้ก็น่าจะให้คำตอบที่หักล้างกับข้อเสนอทางวิชาการของณัฐพลที่ว่า ‘การเสด็จชนบทของในหลวงเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐ’ 

เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีข้อความใด ๆ ในเอกสารชิ้นนี้ที่สามารถตีความหรือโยงใยไปในเรื่องการเสด็จชนบทคือ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์และรอยัลลิสต์กระทำการดังกล่าวในแผนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามที่งานวิชาการของณัฐพลพยายามโน้มน้าวให้คนอ่านเชื่ออยู่เลย

กล่าวหา ‘รัชกาลที่ 9’ กรณีรัชกาลที่ 8 สวรรคต 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ ‘กรณีสวรรคต’ (กรณี ณัฐพล-สมศักดิ์)  

ว่าด้วย ‘คำกล่าวอ้าง’ ของพูนศุข พนมยงค์ ในหนังสือพิมพ์ Observer ปี 2500 เกี่ยวกับประเด็น ‘กรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8’ ที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง และบทความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

1. เนื้อหาของณัฐพล ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (2563) ของณัฐพล ใจจริง หน้า 232 ได้กล่าวถึง เนื้อหาการให้สัมภาษณ์ ‘คำกล่าวอ้างต่อกรณีสวรรคต’ ของพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาปรีดี พนมยงค์ ต่อหนังสือพิมพ์ Observer พ.ศ. 2500 ไว้ว่า…

“ต่อมาทูตอังกฤษได้รับรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ออบเซอร์ฟเวอร์ (Observer) ซึ่งลงบทสัมภาษณ์ของพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของปรีดีกล่าวตอบข้อซักถามของนักข่าวเกี่ยวกับกรณีสวรรคต โดยเธอแนะนำนักข่าวให้ไปถามบุคคลสำคัญ [ณัฐพลหมายความถึง ในหลวง ร.9 -ทุ่นทำ-ทุ่นแดง] ที่รู้เรื่องดังกล่าว ทูตอังกฤษบันทึกว่าขณะนั้นหนังสือพิมพ์ในไทยได้ใช้เรื่องสวรรคตโจมตีราชสำนักอย่างหนัก เขาเห็นว่ากรณีสวรรคตเป็นเรื่องอ่อนไหวและสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฯ รายงานข่าวใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสวรรคตอีก” 

โดยข้อมูลในส่วนนี้ณัฐพลอ้างเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ FO 371/129653, Whittington to Foreign Office, 15 May 1957 ซึ่งเรื่องนี้ได้ปรากฏในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) ที่เสนอต่อคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ในหน้า 218 ซึ่งมีเนื้อหาที่กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า…

“หากนักข่าวต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับการสวรรคต ควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน” 

ต่อมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้นำไปอ้างต่อในบทความชื่อ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: พูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์กรณีสวรรคต พฤษภาคม 2500’

และยังพบด้วยว่าข้อมูลของณัฐพลนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงบทความ สมศักดิ์ ข้างต้นที่เขาโพสต์ลงในเว็บไซต์ประชาไทเมื่อหลายปีก่อน บทความดังกล่าวมีผู้แชร์ไปมากกว่า 10,000 ครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสมศักดิ์ได้ระบุว่า

“เดือนพฤษภาคม 2500 ทูตอังกฤษประจำสิงคโปร์ ได้รายงานไปยังลอนดอนว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว นสพ. The Observer ของอังกฤษที่นั่นว่า…"หากนักข่าวต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน"

(อ้างใน ณัฐพล ใจจริง, […] ผมเข้าใจว่า อันที่จริง ท่านผู้หญิงพูนศุขน่าจะให้สัมภาษณ์ The Observer ไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน เพราะในต้นเดือนเมษายนนั้น เธอได้เดินทางมาถึงไทย การสัมภาษณ์น่าจะทำในช่วงที่เดินทางผ่านสิงคโปร์ คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้บอกผมว่า เธอได้ค้นคว้าตรวจสอบ The Observer ในช่วงนั้น แต่ไม่พบรายงานการสัมภาษณ์นี้ เธอจึงเดาว่า ทางการอังกฤษอาจจะขอร้องให้ The Observer ยับยั้งการตีพิมพ์รายงานการสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ทัน อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐพล ใจจริง บอกผมว่า รายงานของทูตอังกฤษ อ้างถึงคำสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ไปใน The Observer แล้ว)”

2. ข้อค้นพบ

พวกเราทุ่นดำ-ทุ่นแดงมีโอกาสตรวจสอบเอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ FO 371/1/129653 From Bangkok to Foreign Office. 15 May 1957 (หรือที่ณัฐพลอ้างว่า FO 371/129653, Whittington to Foreign Office, 15 May 1957) (วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500) 

อันเป็นเอกสารฉบับเดียวกับที่ณัฐพลใช้อ้างอิงในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขา (ภาพประกอบในคอมเมนต์ ต้องขออภัยที่ภาพไม่คมชัด) ซึ่งเอกสารระบุเนื้อความเต็ม ๆ ไว้ดังนี้

“1. ข้าพเจ้าได้รับรายงานว่า Rawle Knox, ซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่ที่พนมเปญ, ได้รายงานว่า หนังสือพิมพ์ ‘Observer’ ได้ทำการสัมภาษณ์พูนศุข พนมยงค์, ซึ่งเธอได้แนะนำว่า, ถ้าเขา [Knox] ต้องการที่จะรู้ความจริงเกี่ยวกับการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ [ใช้คำว่า regicide] ในปี 1946 [พ.ศ. 2489], เขาควรไปถามพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน; จากนั้นเธอได้กล่าวถึงเรื่อง ‘กรณีของของเจ้าชายสเปน’, ซึ่งเห็นได้ว่ามีนัยที่ชัดเจน

และต่อไปนี้คือข้อความต้นฉบับจาก FO 371/129653, Whittington to Foreign Office, 15 May 1957

(I have received a report that Rawle Knox, at present believed to be in Phnom Penh, has filled a dispatch with the “Observer” covering an interview with Madame Phoonsuk Phanomyong, in which she suggests that, if he really wants to know the truth about the regicide of 1946, he should ask the King; she then referred to “the case of the Spanish Princes”, with obvious implications.)

2. การเผยแพร่เรื่องราวใด ๆ ก็ตามในช่วงเวลานี้, ซึ่งการเมืองภายในประเทศ [ไทย] ขณะนี้ ปรากฏว่ากลุ่มรอยัลลิสต์ถูกโจมตีอย่างหนักจากหนังสือพิมพ์ภาษาไทย, และ [ต่อไป] อาจจะส่งผลสะท้อนกลับอย่างรุนแรงได้. ข้าพเจ้าจะรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างสูงถ้าหากคุณสามารถเจรจากับ Knox อย่างเร่งด่วนที่สุด และ, ถ้ารายงานนี้จะใกล้ความจริงอยู่บ้าง, อย่างน้อยลองโน้มน้าวให้เขางดพิมพ์บทความนี้ไว้ก่อน จนกว่าพวกเราจะมีโอกาสได้พูดคุยกันกับเกี่ยวกับประเด็นนี้เมื่อเขาเดินทางกลับมายังกรุงเทพในสัปดาห์หน้า

(The publication of any such story at the present juncture when, for internal political reason the Royalists are under heavy attack in the Thai Press, could have serious repercussions. I should be grateful if you could talk to Knox very urgently and, assuming this report to be anywhere near the truth, try to persuade him at least to have his story held up until we have had an opportunity of discussing the matter with him on his return to Bangkok next week.”

และเมื่อพวกเรา (ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) ได้ทำการสอบหลักฐานโดยการประมวลข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่าที่เอกสารชั้นต้นจะอำนวยใน ณ ขณะนี้ พบว่าวิทยานิพนธ์ของญัฐพล ใจจริง รวมถึงบทความของสมศักดิ์ เจียมธรสกุล ได้สร้างเรื่องเข้าใจผิดไว้ในประเด็นนี้อย่างน้อย 2 ประเด็น ดังต่อไปนี้

>> ประเด็นที่ 1

เอกสาร FO 371/1/129653 From Bangkok to Foreign Office. 15 May 1957 ได้อ้างถึง ‘โทรเลขจากกรุงพนมเปญ’ ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 (Addressed to Phnom Penh telegram No. 27, 15 May 1957) โดยไม่มีข้อมูลใดระบุถึง ‘สถานทูตอังกฤษในสิงคโปร์’ แต่อย่างใด

นี่ทำให้พวกเราทุ่นดำ-ทุ่นแดงมั่นใจว่า สมศักดิ์คงจะไม่มีโอกาสได้อ่านเอกสารตัวจริงเป็นแน่ เพราะเอกสารฉบับนี้ระบุเพียงว่าสถานทูตอังกฤษในไทยในเวลานั้นคาดกันว่า Rawle Knox (ผู้เขียน/สัมภาษณ์พูนศุข) น่าจะอยู่ในพนมเปญ และกำลังเดินทางกลับมายังกรุงเทพ 

ดังนั้นแล้ว ข้อความที่ปรากฏในบทความของสมศักดิ์ที่ระบุว่า…“เดือนพฤษภาคม 2500 ทูตอังกฤษประจำสิงคโปร์ ได้รายงานไปยังลอนดอนว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว นสพ. The Observer ของอังกฤษที่นั่น”

โดยการอ้างวิทยานิพนธ์ของณัฐพล จึงเป็น ‘ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน’ เพราะเอกสารชิ้นนี้ (FO 371/1/129653 From Bangkok to Foreign Office. 15 May 1957) ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสิงคโปร์เลยด้วยซ้ำ 

น่าสังเกตว่าความผิดพลาดเหล่านี้ของสมศักดิ์ อาจเป็นเพราะตัวสมศักดิ์ที่ไม่น่าจะได้ตรวจสอบหรืออ่านเอกสารชั้นต้นฉบับนี้ด้วยตัวเอง 

เนื่องเขาก็สารภาพเองว่าข้อมูล (ผิด ๆ) ดังกล่าวเป็นสิ่งที่เขาทราบมาจากณัฐพลอีกทอด จึงกล่าวได้ว่า ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’ ของสมศักดิ์ต่อณัฐพลในครั้งนี้ย่อมเป็นบทเรียนที่ราคาแพงมากสำหรับชื่อเสียงในเรื่องความชำนิชำนาญในประเด็นสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ของเขา

>> ประเด็นที่ 2
ควรต้องขีดเส้นใต้ย้ำว่า ‘รายงาน/บทความของพูนศุข’ ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ใน The Observer ในปี พ.ศ. 2500 (1957) แต่อย่างใด 

เนื่องจากเมื่อลองค้นหาบทความดังกล่าวของหนังสือพิมพ์ Observer ในห้วงเวลาเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2500 (ถ้าจะระบุชัด ๆ คือวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2500) 

เรากลับไม่พบว่าทาง Observer ได้เอาบทความนี้ไปตีพิมพ์ในระยะเวลานั้นตามที่ณัฐพลได้เขียนในวิทยานิพนธ์ของเขาแต่อย่างใด กล่าวสั้น ๆ ได้ว่า ข้อมูลกรณีสวรรคตของพูนศุขนี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์จริง ๆ อย่างที่ณัฐพลแอบอ้าง 

เพราะหากสังเกตให้ดี ณัฐพลได้อ้างถึงแต่เพียงเอกสารกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 เท่านั้นทั้งในวิทยานิพนธ์และในหนังสือขุนศึกฯ ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าว เป็นไปไม่ได้ที่บทความนี้จะถูกตีพิมพ์ไปแล้ว 

เพราะมีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานฉบับต่อมา ได้แก่ DS 1941/1 (A) From Phnom Penh to Foreign Office. 16 May 1957 (ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2500 ซึ่งถูกส่งตรงมาจากกรุงพนมเปญเพียงวันเดียวหลังจากเป็นเรื่องขึ้น) 

น่าสนใจว่าทั้งณัฐพลและสมศักดิ์กลับมิเคยอ้างถึงการมีอยู่ของเอกสารชิ้นนี้เลย ซึ่งรายงานดังกล่าวมีเนื้อความสำคัญ ดังนี้

“1. Knox [ผู้เขียนบทความ] พร้อมที่จะสนทนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบทความของเขากับคุณในวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม เมื่อเขาได้เดินทางมาถึงกรุงเทพ. (บทความดังกล่าวได้ถูกส่งไปไปรษณีย์ไปอังกฤษและจะยังไม่ได้รับการตีพิมพ์จนกว่าจะถึงวันที่ 19 พฤษภาคม), อย่างไรก็ดี จะเป็นการฉลาดกว่า หากคุณจะเข้าพบเขาในทันทีมากกว่าที่จะรอเขาอยู่เฉย ๆ 

2. Knox ดูจะประหลาดใจที่คุณดูตื่นตระหนกและกล่าวว่า Rober Swam หรือ Rivett Carnac น่าจะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่น่าตกใจเหล่านั้นไป, ข้อมูลของคุณ, อย่างไรก็ตาม, น่าจะมีส่วนถูกอยู่มาก…”

(ข้อความต้นฉบับคือ…
1. Knox is prepared to discuss his article (which has been mailed and will not be published until May 19) with you on Saturday May 18, when he will be in Bangkok. You may, however, be wise to get hold of him rather than await his [?]

2. Knox was surprised at your consternation and remarked that Robert Swam or Ribett Carnac must have given you an unnecessarily lurid account. Your information would, however, appear to be substantially correct.)

จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารชิ้นนี้ ‘ย้อนแย้ง’ กับสิ่งที่ณัฐพลและสมศักดิ์ได้นำเสนอว่าบทความที่สัมภาษณ์พูนศุขดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ไปแล้วในช่วง 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 (ถ้าอนุมานว่าตีพิมพ์วันที่ 15 พฤษภาคม หมายความว่าบทความอาจต้องตีพิมพ์ก่อนวันที่สถานทูตอังกฤษจะได้รับรายงาน) 

แต่แท้ที่จริงแล้ว ข้อมูลที่สำคัญระบุว่าบทความนี้ได้ถูกส่งไปรษณีย์ (น่าจะเมลล์อากาศ) ไปยังอังกฤษ และจะยังไม่ได้รับการตีพิมพ์จนกว่าจะถึงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ตามกำหนดเดิม หรือ ทำการงดเผยแพร่ไปก่อน (held up) จนกว่าจะได้รับการถกเถียงถึงประเด็นสวรรคตดังกล่าวที่กรุงเทพฯ 

ซึ่งพวกเขา (เจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษในกรุงเทพและ Knox ผู้เขียนบทความ) ได้นัดคุยกันในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 นี่ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยว่าบทความดังกล่าวจะถูกตีพิมพ์ไปก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ตามที่ณัฐพลอ้าง 

เพราะย่อมจำนนด้วยหลักฐานชิ้นนี้ที่ระบุชัดเจนว่าพวกเขายังไม่ได้ตีพิมพ์ “จนกว่าจะถึงวันที่ 19 พฤษภาคม และ/หรือ ได้รับพูดคุยแลกเปลี่ยนกันก่อนที่กรุงเทพในวันที่ 18 พฤษภาคม”

ท้ายที่สุด แฟ้มเอกสารของอังกฤษในกรณี ‘คำกล่าวอ้าง’ ของพูนศุข พนมยงค์ ในหนังสือพิมพ์ Observer ปี 2500 เกี่ยวกับประเด็น ‘กรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8’ นี้ได้สิ้นสุดลงเพียงแค่เอกสารลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 

ไม่มีรายงานว่าหลังจากเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษในกรุงเทพและ Knox ผู้เขียนบทความได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นสวรรคตในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 นั้นได้รับข้อสรุปเป็นอย่างไร 

แต่ข้อเท็จจริงในเวลานี้ (ตราบใดที่ยังไม่มีการค้นพบข้อมูลหลักฐานใด ๆ มาหักล้าง) คือ ‘รายงาน/บทความของพูนศุข พนมยงค์ ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ใน The Observer ในปี พ.ศ.2500 (1957) แต่อย่างใด’ 
ในประเด็นนี้สอดคล้องกับที่สมศักดิ์ก็ได้อ้างว่า “คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้บอกผม [สมศักดิ์] ว่า เธอได้ค้นคว้าตรวจสอบ The Observer ในช่วงนั้น แต่ไม่พบรายงานการสัมภาษณ์นี้ เธอจึงเดาว่าทางการอังกฤษอาจจะขอร้องให้ The Observer ยับยั้งการตีพิมพ์รายงานการสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ทัน”

จึงกล่าวได้ว่าข้อมูลจากการตรวจสอบของทั้งของเราทุ่นดำ-ทุ่นแดง สอดคล้องกับวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ที่ได้ยืนยันว่าไม่พบบทความดังกล่าวใน The Observer 

อย่างไรก็ดี พวกเราเองก็ได้เห็นต่างกับวิมลพรรณตรงที่ว่าทางการอังกฤษเองคงไม่มีอำนาจไปปิดปากสื่อของเขาได้หากพวกเขาตั้งใจจะพิมพ์จริง ๆ (เป็นธรรมชาติของประเทศประชาธิปไตย) 

และเป็นไปได้มากกว่าว่า หลังจากที่ Knox ได้ถกเถียงในประเด็นสวรรคตที่กรุงเทพในราววันที่ 18 -19 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 แล้ว เขาคงจะเปลี่ยนใจและตัดสินใจระงับการตีพิมพ์บทความดังกล่าวเสียเองในท้ายที่สุด 

พวกเราเชื่อว่า Knox คงจะยอมจำนนด้วยหลักฐานที่หนักแน่นกว่า หลังจากได้ถกเถียงกับสถานทูตอังกฤษในไทย ซึ่งสถานทูตเองก็ระบุเองว่า Knox ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มาอย่างดี แต่อะไรทำให้ผู้เขียนบทความเองแท้ ๆ เปลี่ยนใจ ‘เท’ ไม่ตีพิมพ์บทความนี้ 

ซึ่งบางกลุ่มในไทยปัจจุบันมองว่าเป็น ‘หลักฐานเด็ด’ หรือ ‘ความจริง’ ในกรณีสวรรคต ? 

คนที่ตอบได้คงมีแต่ Knox เพียงคนเดียว 

ดังนั้น คำอ้างของพูนศุขที่ว่า…

“ถ้าเขา [Knox] ต้องการที่จะรู้ความจริงเกี่ยวกับการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ในปี พ.ศ. 2489, เขาควรไปถามพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน” 

จึงกลายเป็นเพียงกระแส ๆ หนึ่งในช่วงไม่กี่วันในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2500 ที่ได้พัดมาและลอยไปในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะแม้แต่ Knox ซึ่งเป็นคนเขียนบทความแท้ ๆ ก็ยังตัดสินใจถอนบทความของเขาออกในนาทีสุดท้าย จึงนับได้ว่าคำอ้างของพูนศุขเช่นนี้เป็นอันใช้ไม่ได้ 

และที่แย่ยิ่งกว่านั้น นักวิชาการไทยบางคน อาทิ สมศักดิ์ และ ณัฐพล กลับเอาเรื่องนี้มาขยายความเป็นตุเป็นตะ ถึงขนาดฟันธงว่าเป็นบทความที่ได้รับการตีพิมพ์จริง ๆ ทั้งที่พวกเขาบางคนยังไม่เคยเห็นเอกสารชั้นต้นที่ว่าหรืออ่านมันอย่างละเอียดแต่อย่างใดเลยด้วยซ้ำ การ ‘กุ’ ข้อมูลทางวิชาการเช่นนี้ เป็นสิ่งที่จะยอมรับไม่ได้ และน่าละอายยิ่ง!!

ป.ล. ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ได้เสริมว่าในขณะนั้น ยังไม่มี ‘ทูต’ (ambassador) ที่สิงคโปร์ มีแต่ ‘ข้าหลวง’ (commissioner) สมศักดิ์เองก็ผิดพลาดตรงนี้ด้วย!!

รู้จัก กรมหมื่นเทพพิพิธ 'แมวเก้าชีวิต' แห่งกรุงศรีอยุธยา อยู่แห่งหนใด นำพาสิ่งไหนก็ไม่ชนะ มีแต่พังพินาศ

กรมหมื่นเทพพิพิธ 'ลูกพระสนม' ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเจ้านายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยสีสัน ทั้งหนีราชภัย ออกผนวช ถูกจับ ถูกเนรเทศ เป็นเจ้าผู้ปกครอง เป็นเชลย พระองค์ สู้กับชีวิต สู้กับอุปสรรค จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ

กรมหมื่นเทพพิพิธ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปฏิวัติสำเร็จ ก็ทรงสถาปนาพระราชวงศ์ให้ทรงกรม คือ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็น 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ร่วมกับ เจ้าพี่ เจ้าน้อง อีกหลายพระองค์ โดยเป้าประสงค์ให้สามารถคานอำนาจกับเหล่าบรรดาขุนนางทั้งหลาย แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงคาดไว้...ทำไมล่ะ ? 

ลูกพระสนมพระองค์อื่น ๆ ที่ได้ 'ทรงกรม' และมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงนี้มีกลุ่ม ที่เรียกกันว่า 'เจ้าสามกรม' คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ซึ่งเจ้าทั้ง ๓ นี้เป็นขั้วตรงข้ามอีก ๓ เจ้าฟ้า 

กลุ่ม ๓ เจ้าฟ้านำโดย 'เจ้าฟ้ากุ้ง' กรมขุนเสนาพิทักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี และ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต ซึ่งกรมหมื่นเทพพิพิธอยู่ในขั้วนี้ ซึ่งแปลก แต่ก็นับว่าอยู่ถูกขั้ว 

'เจ้าสามกรม' เริ่มต้นความขัดแย้งในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยการเดินเกมหนักจัดการ 'เจ้าฟ้ากุ้ง' ด้วยการกราบบังคมทูลฟ้องว่า "เจ้าฟ้ากุ้ง เสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาลย์ ถึงในพระราชวังเป็นหลายครั้ง" จนเป็นเหตุให้องค์รัชทายาทถูกลงลงพระราชอาญาถึงกับสวรรคต จนว่างวังหน้าอยู่ถึง ๒ ปี 

ส่วน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ใช้เวลา ๒ ปีที่ว่างนี้ 'ล็อบบี้' เสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ พร้อมกราบบังคมทูลให้ 'เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต' ขึ้นเป็นวังหน้า โดย 'ข้าม' เจ้าฟ้าเอกทัศไป ด้วยความมั่นใจว่าถ้าไม่มีอะไรพลิกผัน 'กรมขุนพรพินิต' ต้องได้เป็น 'พ่ออยู่หัว' แน่ๆ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มีพระราชดำริเห็นชอบ แม้ว่าเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อจะทรงเป็น 'น้อง' ก็ตาม 

เพราะมีบันทึกระบุไว้ว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ครั้งหนึ่งว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(เจ้าฟ้าเอกทัศ)นั้นโฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ....” ตรัสมอบราชสมบัติให้ 'กรมขุนพรพินิต' กรมหมื่นเทพพิพิธจึงกล้าเปิดหน้าเล่น

แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคต ความอลหม่านก็เกิดขึ้น

คือทั้ง ๒ ฝ่าย เริ่มต้นจาก 'กลุ่มสามเจ้าฟ้า' กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งทรงอยู่ฝ่ายเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ก็เชิญเอาพระแสงดาบ พระแสงกระบี่ และพระแสงง้าวข้างพระที่ ส่งให้ชาวที่เชิญตามเสด็จฯ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ไปยังพระตำหนักสวนกระต่าย 

ข้างฝ่าย 'เจ้าสามกรม' แสดงการไม่ยอมรับแผ่นดินใหม่ พากันเสด็จฯ เข้าไปในวังบ้าง แล้วเชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ไปไว้ที่ตำหนักศาลาลวด ฐานที่มั่นของ 'เจ้าสามกรม'

ครั้นเมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้าถวายสัตย์ ต่อพอ่อยู่หัวพระองค์ใหม่ ก็ปรากฏว่า “เจ้าสามกรม” ไม่เสด็จฯ มา “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี” จึงได้คิดแผน อาราธนาพระราชาคณะ ๕ รูป ก็ไปเจรจากับ “เจ้าสามกรม” เพื่อให้ยินยอมที่จะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์

แต่เมื่อเจ้าสามกรมยินยอมมาเฝ้าเป็นที่ปรึกษาราชการ 'เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี' ในฐานะที่ปรึกษาจึงทำการจับกุมทั้ง 3 พระองค์แล้วนำไปสำเร็จโทษ 

จบตรงนี้ 'เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต' ก็ได้ครองราชย์เป็น 'พระเจ้าอุทุมพร' ซึ่งถ้ามองเกม กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็น่าจะได้อวยยศแน่ๆ แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น 

ความซวยครั้งที่ ๑ ของ กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็มาเยือน เพราะผ่านไป ๒ เดือน ได้เกิดเหตุการณ์ก็ 'น้อง' ไม่ต้องการบัลลังก์ จึงขอคืนให้พี่ แล้ว 'พระเจ้าอุทุมพร' ก็เสด็จออกผนวช จนรู้จักกันในพระนามว่า 'ขุนหลวงหาวัด' 

ส่วนเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็น 'พระเจ้าเอกทัศน์' หรือ 'สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์' ถึงตรงนี้ กรมหมื่นเทพพิพิธก็กลัวพระราชภัย ก็เลยต้องออกผนวชเช่นกัน

แต่ออกบวชไม่นานก็คิดอ่านจะนำเอาพระราชบัลลังก์คืนแก่พระเจ้าอุทุมพร เพราะบรรดาขุนนางน้อยใหญ่มาฟ้องว่า 'พระเจ้าเอกทัศน์' นั้นน่าจะทำให้กรุงศรีฯ ต้องวิบัติ เนื่องจาก ขุนนางพี่น้อง ๒ กร่าง ผู้ใกล้ชิดพ่ออยู่หัว คือ พระยาราชมนตรีบริรักษ์และหมื่นศรีสรรักษ์ มาป่วนงานราชการ จนเละเทะไปหมด 

กรมหมื่นเทพพิพิธก็เลยนำความกราบบังคมทูลพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร เพื่อขอเชิญพระองค์ชิงบัลลังก์พระเจ้าเอกทัศน์ แต่ พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร อาจจะเกรงว่า กรมหมื่นเทพพิพิธ จะล้มกระดานหรือทำการยึดครองบัลลังก์กรุงศรีฯ ซะเอง ก็เลยนำไปฟ้องเรื่องนี้กับ 'พระเจ้าเอกทัศน์' 

ความซวยครั้งที่ ๒ ก็บังเกิดจากหวังดีกลับกลายเป็น 'กบฏ' ถูกจับประหารทั้งแก๊ง แต่โชคดีที่ กรมหมื่นเทพพิพิธถูกเว้นโทษตาย รับแต่โทษเนรเทศไปลังกา ซึ่งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศท่านได้สร้างวัดและฝังรากหยั่งลึกไว้บ้างแล้ว

'พระเจ้ากรุงลังกา พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์' ได้ให้การต้อนรับ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' เป็นอย่างดี เมื่อไปอยู่เกาะลังกาได้ไม่นานนั้น เป็นที่ชื่นชอบของขุนนางและราษฎรมาก เพราะเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และที่สำคัญทรงเป็นชาวพุทธมาตั้งแต่กำเนิด 

ความซวยครั้งที่ ๓ ของพระองค์ก็มาเยือน เพราะในลังกามีกระแสอยากจะล้มล้าง พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ เนื่องจากทรงเป็นชาวทมิฬ ที่นับถือฮินดูมาก่อน พอมานับถือพุทธก็มีวัตรปฏิบัติที่แปลกประหลาด ซึ่งถ้าล้มล้างได้ก็จะนำบัลลังก์ถวายแก่กรมหมื่นเทพพิพิธ !!! 

แต่การล้มล้างยังไม่ทันเกิด  พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ ทรงทราบข่าว จึงทรงกวาดล้างผู้ไม่หวังดีทั้งหมด ส่วน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ก็ต้องหนีตามระเบียบเพราะมีสิทธิ์ตายนอกราชอาณาจักรเป็นแน่ 

พระองค์ทรงลงเรือหนีกลับมาเมืองมะริด แต่ต้องถูกกักตัวไว้เพราะต้องโทษเนรเทศ กรมการเมืองก็แจ้งมายังกรุงศรีอยุธยาว่า กรมหมื่นเทพพิพิธเสด็จ ฯ กลับเข้ามา ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการสั่งให้รับตัวมากักไว้ที่เมืองตะนาวศรี 

ความซวยครั้งที่ ๔ ของพระองค์ก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อสงครามเสียกรุงครั้งที่ ๒ ได้อุบัติขึ้น โดย 'พระเจ้ามังระ' ได้มีพระบัญชาให้ 'มังมหานรธา' ยกทัพบุกเข้าเมืองชายแดนกรุงศรีฯ ตั้งแต่ ทวาย มะริด รวมไปถึงตะนาวศรีที่ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ทรงประทับอยู่  พระองค์ก็เลยต้องหนีเตลิดไปถึงเมืองเพชรบุรี ทางการจึงรายงานขึ้นไปที่กรุงศรีอยุธยา จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่เมืองจันทบุรี ขนาดสงครามมาประชิด พระเจ้าเอกทัศก็ยังทรงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยให้กรมหมื่นเทพพิพิธกลับกรุงศรี ฯ 

แต่ใช่ว่า 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' จะนิ่งเฉย เพราะมองว่าจะช้า จะเร็วกรุงศรีฯ ก็น่าจะแตก เลยทรงรวบรวมกำลังคนโดยทรงอ้างว่าจะไป 'กู้กรุง' ทำให้มีผู้คนไปร่วมด้วยจำนวนมาก ดังข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “คนในกรุงเทพมหานครรู้ก็ยินดี คิดกันพาครอบครัวหนีออกจากพระนคร ออกไปเข้าด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นอันมาก บรรดาหม่อมเจ้าชายหญิง ซึ่งเป็นพระหน่อ ในกรมหมื่นเทพพิพิธ กับทั้งหม่อมห้ามและข้าไทก็หนีออกไปหาเจ้า” 

โดยมีผู้คนจากทั้ง ปราจีนฯ, นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี มาร่วมกันเพื่อ 'กู้กรุง' หลายพันคน กรมหมื่นเทพพิพิธ จึงทรงยกกองกำลังไปตั้งไว้ ณ ปากน้ำโยทกา เมืองนครนายก ซึ่งพระองค์ดำเนินการก่อน 'พระเจ้าตาก' ถึง ๖ เดือน 

แต่ไม่รู้ว่าพระองค์ทำกรรมอะไรไว้ ความซวยครั้งที่ ๕ ก็มาถึง เพราะยังไม่ทันจะไป 'กู้กรุง' พม่าก็ยกทัพมาจัดการจนกระเจิง แต่การนี้บางบันทึกก็บอกว่า กองทัพที่ยกมาปราบกองกำลังกรมหมื่นเทพพิพิธครั้งนี้ ไม่ใช่กองทัพพม่า แต่เป็นกองทัพของพระเจ้าเอกทัศนั่นเอง เพราะกลัวกรมหมื่นเทพพิพิธจะ 'ปฏิวัติ' ยึดอำนาจก็เลยชิงจัดการซะก่อน...ก็ว่ากันไป 

ไม่ว่าจะเป็นกองทัพของใคร พม่าหรือกรุงศรีฯ ผลที่ได้ก็เหมือนกันคือทำให้กรมหมื่นเทพพิพิธต้อง 'หนี' โดยครั้งนี้หนีไป 'เมืองนครราชสีมา'

เมื่อมาถึงเมืองนครราชสี 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ก็ทรงคิดจะชวนเจ้าเมืองนครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพไปรบพม่าอีก แต่พระยานครราชสีมาไม่คิดแบบนั้น ความซวยครั้งที่ ๖ ก็มาเยือนพระองค์ 

เพราะพระยานครราชสีมาคิดจะจับตัว 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ส่งกรุงศรีอยุธยา ตอนแรกพระองค์คิดจะ 'หนี' อีก แต่พระโอรส หม่อมเจ้าประยงค์ ทูลให้ 'สู้' จึงได้ทรงฆ่าเจ้าเมืองนครราชสีมาเหลือแต่หลวงแพ่งน้องชายพระยานครราชสีมาที่หนีไปได้ หลังจากนั้นพระองค์จึงได้เข้าไปตั้งกองกำลังอยู่ในเมืองนครราชสีมา

ความซวยครั้งที่ ๗ มาเยือนอย่างรวดเร็ว เพราะ 'หลวงแพ่ง' มา 'เอาคืน' โดยตีเมืองนครราชสีมาคืนได้สำเร็จ แรกทีเดียวหลวงแพ่งจะฆ่ากรมหมื่นเทพพิพิธ แต่พระพิมายขอชีวิตไว้ ด้วยเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ที่เหลือรอดอยู่ไม่กี่คนในขณะนั้น ก่อนที่ 'พระพิมาย' จะทูลฯ เชิญ กรมหมื่นเทพพิพิธ ไปเมืองพิมายและยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินต่อไป ซึ่งรู้จักและเรียกกันว่า 'เจ้าพิมาย'

ส่วน 'พระพิมาย' ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น 'เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แห่งเมืองพิมาย'

หลังจากนั้นไม่นาน 'เจ้าพิมาย' ก็ได้วางแผนจัดการ 'หลวงแพ่ง' ที่ครองเมืองนครราชสีมาที่ไม่ให้เป็นหอกข้างแคร่ โดยใช้โอกาสที่ 'หลวงแพ่ง' ได้เชิญ 'พระพิมาย' เพื่อนเก่า มางานบุญที่บ้าน 'พระพิมาย' เล่นไม่ซื่อถือโอกาสขณะนั่งดูละครเพลินๆ ฆ่าหลวงแพ่งกลางงานบุญนั่นเอง ก่อนนำกองกำลังเข้ายึดเมืองนครราชสีมา อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

จากการณ์นี้ทำให้ 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ' ได้เมืองนครราชสีมาเพิ่มเข้ามาอีก จนมีเขตปกครองจนถึงเวียงจันทน์ ด้านใต้จรดกรุงกัมพูชา มีอํานาจเหนืออาณาเขตเมืองนครราชสีมาทั้งหมด เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'ก๊กเจ้าพิมาย'

แต่เวลานั้นเกิด 'เจ้าแผ่นดิน' ขึ้นหลายกลุ่ม เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาสูญสลายไปแล้ว ทำให้ผู้นำท้องถิ่นตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองของตัวเอง ไม่ขึ้นกับใคร นอกจากเจ้าพิมาย ก็มี เจ้าพระพิษณุโลก เจ้าพระฝาง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตาก)

เจ้าพิมาย 'เป็นเจ้าแผ่นดิน' อยู่ได้ไม่นาน ความซวยครั้งที่ ๘ ก็เข้ามาเยือนเพราะ พระเจ้ากรุงธนบุรีประกาศที่จะรวบรวมหัวเมืองทั้งหลายให้กลับมาเหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงยกทัพมาเยือน 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ'

เจ้าพิมายเมื่อทราบข่าวการศึกว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกทัพขึ้นมาตี จึงให้จัดแต่งนายทัพ นายกอง ออกไปรับศึกที่นอกเมืองนครราชสีมาเป็น ๒ ทัพใหญ่ ผลปรากฏว่า กองทัพเจ้าพิมายถูกตีแตกพ่ายไปทั้งหมด จึงถึงคราวต้องทรง 'หนี' อีกครั้ง โดยทรงตั้งใจจะมุ่งหน้าสู่กรุงเวียงจันทน์ แต่ก็ถูกจับได้ระหว่างทาง และนำตัวกลับมายังกรุงธนบุรี

แรกเริ่ม 'พระเจ้ากรุงธนบุรี' ทรงไม่ปรารถนาจะสำเร็จโทษ แต่ 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ' ไม่ยอมสวามิภักดิ์ 'พระเจ้ากรุงธนบุรี' จึงตรัสว่า...

"ตัวหาบุญวาสนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ไหนก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั่น ครั้นจะเลี้ยงไว้ก็จะพาคนที่เชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียอีกด้วย เจ้าอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย"

ความซวยครั้งสุดท้ายนี้จึงเป็นอันปิดบัญชีชีวิตนักการเมือง แมวเก้าชีวิต แห่งกรุงศรีอยุธยาไปแต่เพียงเท่านี้

มรดก 'สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ' ถึง 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' สำเนียงเหน่อเฉพาะตัว ที่ฉีกจากสำเนียงสไตล์อีสาน

ในฐานะลูกหลานคนโคราช ที่มักมีคนถามผมว่าผมพูดโคราชหรือพูดอีสาน ผมบอกว่าผมฟังโคราชได้แปลออก ส่วนอีสานผมพูดได้ ฟังออกแต่สำเนียงค่อนข้างจะทองแดงไม่ใช่อีสานแท้ๆ หลายคนก็งงว่าทำไม? 

หลายคนก็ถามว่าจริงๆ โคราชก็เว้าอีสาน แต่ไม่ใช่ลาวหรือ? เออ !!! งงไปอีก ผมบอกไม่ใช่ เพราะโคราชมีแต่เจ้านายลาวมารบด้วย แต่ไม่เคยตั้งรกราก ก็ไม่น่าจะพูดอีสานเหมือนชาวบ้านเขา เอ้า !!! งงอีกที นี่แหละที่ทำให้ผมต้องหาคำตอบเพื่อให้ความงงของผมลดลงไปบ้าง

 

โดยคำตอบแรกต้องนับเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๐๐ กรุงศรีอยุธยาสถาปนาเมืองนครราชสีมา และสร้างกำแพงอิฐ กว่าจะสำเร็จมั่นคงลงหลักปักฐานต้องมีกำลังคนของอยุธยาจำนวนไม่น้อยถูกเกณฑ์ให้เคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่แม้จะต่างชาติพันธุ์ เช่น มอญ, เขมร, มลายู 

ซึ่งคนเหล่านี้จำเป็นต้องสื่อสารด้วยภาษาไทย (ในตระกูลภาษาไทย-ลาว) ที่มีสำเนียงต่างจากคนไทยใช้พูดทุกวันนี้ ได้แก่สำเนียงสองฝั่งโขง ซึ่งแพร่กระจายอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามาก่อนนานแล้ว ที่ปัจจุบันเรียก สำเนียงเหน่อ จนเกิดการผสมผสานเป็นรูปแบบเฉพาะ ตรงนี้ถือว่าว่าเป็นมรดกที่มีมาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ได้สร้างให้เมืองนครราชสีมากลายเป็นเมืองพระยามหานครขอบขัณฑสีมา

ภาษาอีสานสำเนียงโคราช จึงน่าจะมีรากเหง้าเค้าต้นจากสำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยาของคนต้นอยุธยาที่พูดสำเนียงเหน่อ 'สุพรรณ' ซึ่งเป็นสำเนียงหลวงอยุธยา พยานสำคัญได้แก่ เจรจาโขนด้วยลีลายานคางสำเนียงเหน่อ 

แต่เกิดการ Cross ด้านภาษากับลาวฝั่งไทย ซึ่งเมืองนครรราชสีมามีอาณาเขตครอบคลุมถึงและแลกเปลี่ยน ค้าขายกันอย่างเป็นปกติ ดังนั้นการพูดอีสานของคนโคราชจึงไม่เหมือนสำเนียงของใครในอีสาน “พูดอีสานแต่สำเนียงและคำบางคำไม่เหมือนอีสานที่อื่น” 

ส่วนภาษาโคราชที่เหน่อมากๆ และเป็นภาษาเฉพาะมาจากไหน? ถ้าเราจำเรื่องของ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' หรือ 'เจ้าพิมาย' แมวเก้าชีวิตสมัยอยุธยาได้ เรื่องสำเนียงและภาษาโคราชก็ถือว่าเป็นมรดกจากท่านนี่แหละ  

โดยก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ไม่น้อยกว่า ๓ - ๔ เดือน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' พระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งต้องโทษเนรเทศไปอยู่ลังกาได้ระหกระเหินหนีมาจนถึงเมืองจันทบุรี แล้วก็ชักชวนชาวเมืองชายทะเลทางตะวันออกยกเป็นกองทัพหลายพัน เพื่อหวังจะมารบพม่าเพื่อแก้ไขกรุงศรีอยุธยา แต่แผนแตกเสียก่อน พม่ายกกองทัพมาตีจนแตกพ่าย ต้องหนีไปเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นพระยามหานครขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงศรีอยุธยา 

กรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อมาถึงเมืองนครราชสีมาก็ประสบชะตากรรมเกือบถูกฆ่า แต่ก็รอดและได้รับสถาปนาเป็นเจ้าครองอาณาเขต เป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีฯ ซึ่งเรียกกันว่า 'เจ้าพิมาย'

นอกจากกำลังพลจากหัวเมืองชายทะเลตะวันออกแล้วนั้น ยังมี 'ข้าเก่า' ของ 'เจ้าพิมาย' จากกรุงศรีอยุธยาหนีพม่าขึ้นไปตั้งหลักแหล่งเพิ่มเติมอยู่ด้วยอีกมาก ชาวอยุธยาก็ได้เคลื่อนย้ายมาเป็นเจ้านายขุนนาง, ข้าราชการ, พลไพร่ และผสมผสานกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนกรุงแตกมานานอยู่พอสมควรแล้ว 

สำเนียงภาษาโคราชก็เป็นการผสมระหว่างการพูดเหน่อของสำเนียงหลวงอยุธยาตามข้างต้นผสมกับสำเนียงของชาวหัวเมืองทะเลตะวันออกของชาวระยองและชาวจันทบุรี ที่ได้มาเป็นกองกำลังให้กับ 'เจ้าพิมาย' ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย 

เพราะเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมาปราบ 'ก๊กเจ้าพิมาย' แล้ว ก็ไม่ได้กวาดต้อนผู้คนชาวหัวเมืองตะวันออกเหล่านี้ลงมากรุงธนบุรี อีกทั้งคนพวกนี้ก็ได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองนครราชสีมาแล้ว สุดท้ายก็กลายเป็น 'คนโคราช' แล้วก็เกิดประเพณีใหม่กลายเป็น 'วัฒนธรรมโคราช' ที่โคตรเฉพาะตัวอย่างเช่น สําเนียงโคราช ที่กระเดียดไปทางสําเนียงชายทะเลตะวันออกแถบระยองและจันทบุรี ผสมสำเนียงเขมร แม้ผู้คนแถวปราจีนบุรีและนครนายกเมื่อสัก ๕๐ ปีมาแล้วก็พูดสําเนียงเก่าแบบ 'ยานคาง' ไม่ต่างจากสําเนียงโคราชนัก

ปัจจุบันภาษาและสำเนียงโคราชที่เป็นเฉพาะก็มีอยู่หลายอำเภอแต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะหลายอำเภอก็พูดอีสานแต่ทว่า 'ภาษาและสำเนียงโคราชมีความคล้ายความเหน่อของคนภาคตะวันออกแต่ภาษาแตกต่างออกไป'

ตัวอย่างที่ชัดก็คือ 'เพลงโคราช' ก็มีฉันทลักษณ์และลีลาเดียวกับเพลงพาดควาย, เพลงฉ่อย (ไม่ใช่ลําตัดที่เพิ่งเกิดสมัยรัชกาลที่ ๕) ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง แต่ต่างตรงอัตลักษณ์ด้านภาษาและสำเนียงที่แปร่งไป

นอกจากนี้ 'คนโคราช' ยังมีประเพณีอื่นๆ ที่เหมือนกับคนลุ่มเจ้าพระยาอยุธยาภาคกลาง เช่น กินข้าวจา, เคียวหมาก, ตัดผมเกรียน, นุ่งโจงกระเบน แม้กระทั่งศิลปวัฒนธรรมทางด้านสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม ที่ไม่เหมือนกับคนอีสานอื่นๆ เอาซะเลย 

นี่แหละถึงบอกว่าคนโคราชไม่ใช่ลาว และคนโคราชพูดบางอำเภอพูดโคราช บางอำเภอพูดอีสานแต่ก็เป็นอีสานที่เหน่อเป็นเฉพาะตนที่เรียกกันว่า 'เหน่อแบบโคราช' และวัฒนธรรมอื่นๆ ที่แตกต่างเฉพาะตน 

'หากิน' ด้วยการปั้นผีลวง ไว้ลวงหลอก 'ถูกหากิน' เพราะ 'อุปาทาน' ในใจตนหลอกตัว

เรื่องของ 'ผี' เป็นความเชื่อกันมาเป็นปกติทั่วโลก แต่ใครเห็นกัน จริง ๆ เห็นกัน จะ ๆ บ้าง ผมว่าคงนับได้เลย แต่ถ้าผีในใจผมว่าเรื่องนี้เล่ากันได้เยอะ

ครั้งนึงเมื่อหลายปีก่อน ผมได้อุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ร่วมกับอีกหลายบุคคล ณ วัดป่าศรัทธารวม จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งวัดแห่งนี้เดิมเป็นป่าช้าแห่งที่ ๒ ของจังหวัดนครราชสีมา และเป็นสถานที่สำหรับเผาศพผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อ เช่น อหิวาตกโรค, กาฬโรค เป็นต้น 

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ ที่แห่งนี้ได้มีปักหมุดหมายในการสร้างวัดสำหรับการปฏิบัติภาวนาให้แก่ประชาชนให้เกิดขึ้นอีก ๑ แห่งในจังหวัดนครราชสีมา นอกเหนือไปจากวัดป่าสาละวัน ซึ่งมีพระกรรมฐานคณะแรกมาจำพรรษา ณ วัดป่าแห่งนี้อันประกอบด้วย ๑.พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ๒.พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ๓.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ๔.พระอาจารย์หลุย จันทสาโร ๕.พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ๖.พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม และสามเณรอีก ๔ รูป รวมเป็น ๑๐ รูป 

นั่นคือจุดเริ่มต้นของวัดป่าแห่งนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดป่าสำคัญที่มีพระอาจารย์นักปฏิบัติมาจำพรรษาหรือภาวนาด้วยความวิเวก ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังร่มรื่น สงบ สมกับเป็นวัดป่า แม้จะผ่านเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจอย่าง 'จ่าคลั่ง' กราดยิงมาเมื่อไม่นานมานี้ 

กลับมาที่เรื่องผีกันต่อ ตามที่ว่ากันว่า ณ วัดแห่งนี้เป็นป่าช้าเก่า มีที่เผาศพแบบเปิดโล่งไม่ใช่เมรุที่วัดทั่วไปมี เวลาเผาศพก็จะมีกลิ่นล่องลอยไปในชุมชนให้ได้ปลงสังเวชกัน และแน่นอนย่อมมีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับผีสาง 

เรื่องที่เล่ากันมากก็มักจะเป็นการเห็นเงาคนมานั่งอยู่ใกล้ ๆ กับที่เผาศพ บ้างก็ว่าเห็นเงาคนมาเดินรอบเมรุกลางแจ้ง โดยเฉพาะเล่าว่า พระในวัดได้มาปฏิบัติเดินจงกรมอยู่ ณ บริเวณหน้าเมรุแล้วปรากฏว่ามีคนมาเดินจงกรมตามหลังแล้วภาวนาว่า 'พุทโธ' ตามที่พระรูปนั้นกำลังภาวนาอยู่ เรื่องนี้ถูกยกมาเล่าตอนที่ผมบวชอยู่และกำลังจะไปภาวนาในช่วงหลังทำวัตรเย็นแล้ว 

หรืออีกเรื่องก็เล่ากันว่าในป่าช้าเดิมซึ่งอยู่ทางหลังวัดเวลาที่มีพระไปนั่งสมาธิภาวนาอยู่หน้าองค์พระขาว พระพุทธรูปปางประทานพร ซึ่งเดิมเป็นอุโบสถ โดยขณะนั่งสมาธิไปก็ได้ยินเสียงโหยหวนลอยมาตามลมบ้าง ได้ยินเสียงคนจำนวนมากพูดซุบซิบกันบ้าง ได้ยินเสียงเท้าหนัก ๆ เดินอยู่ใกล้ ๆ บ้าง หรือพระบางรูปเดินจงกรมภาวนาก็รู้สึกว่ามีคนจ้องมอง หรือมีคนนั่งอยู่ใกล้ๆ ที่เดินจงกรมบ้าง เอาเข้าจริงๆ ก็ยังไม่มีคนที่พบจริงๆ มาเล่าให้ฟังนะ มีแต่เรื่องเล่า เพื่อมาเล่าต่อ...

อย่างเรื่องที่มีผู้มาเล่าให้ผมฟังตอนอุปสมบท ก็คือเรื่องจากผู้ที่อุปสมบทพร้อมผมได้พบเจอ 'ผี' ที่กุฏิของเขา โดยท่านผู้นั้นเล่าว่าท่านกำลังจำวัดอยู่แล้วได้ยินเสียงกุกกัก ๆ ก็เลยจะลุกขึ้นไปดู ก็ปรากฏว่าลุกไม่ขึ้นพยายามเท่าไหร่ก็ลุกไม่ขึ้น ด้วยอาการที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันดีว่า 'ผีอำ' แต่พอกลั้นใจหลับตาภาวนา ท่านผู้นั้นก็ค่อย ๆ ลืมตาแล้วก็เห็นเงาขนาดใหญ่นั่งอยู่บนร่างของท่าน เมื่อกลั้นใจภาวนาอีกครั้งเงานั้นก็หายไป และสามารถลุกขึ้นมาได้แล้วท่านก็เดินลงจากกฏิด้วยความรู้สึกหวาด ๆ 

พอลงจากกุฏิ ก็ได้พบเห็นเหมือนร่างคนกำลังเดินออกจากกุฏิไปแบบเลื่อนตัวไป หรือไปแบบลอย ๆ จนค่อย ๆ หายไป นี่คือเรื่องราวของพระนวกะที่ได้อุปสมบทพร้อมผมมาเล่าในวงสนทนาก่อนที่เราจะแยกย้ายกันไปภาวนา 

พอฟังเรื่องเล่าเรื่องนี้ คุณเชื่อไหม? ผมรู้สึกอย่างเดียวว่าท่านผู้นั้นมาบวชอย่างไร? ถึงเจอผี ทั้ง ๆ ที่คณะของท่านช่างเสียงดัง เจี๊ยวจ๊าว ราวกับการมาอุปสมบทคือการมาเข้าค่าย ไม่น่าจะเจออะไรเพราะเสียงมันช่างดังเหลือเกิน อ้อ!! ผมลืมบอกไปว่าการอุปสมบทครั้งนั้นคือ การอุปสมบทหมู่ ถ้าอยากปลีกวิเวกต้องหาที่ทางและช่วงเวลาเอาเอง เพราะความไม่สงบมีอยู่สูง 

กลับมาที่เรื่องผีที่พระร่วมรุ่นของผมเล่าว่าเจอ ผมคิดเอาเองในฐานที่ปกติผมมักจะปฏิบัติภาวนาแบบเอกา เรื่องผีสางผมก็กลัว แต่การอุปสมบทครั้งนั้นมีความหมายเนื่องจากเป็นการอุปสมบทระยะสั้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงอยากตั้งใจปฏิบัติภาวนา ซึ่งสถานที่ ที่ 'เขาเล่าว่า' ผมก็ล้วนไปปฏิบัติ ทั้งเดินจงกรม ทั้งนั่งสมาธิวิปัสสนา ปรากฏว่าผมไม่เจอ 'ผี' แต่สิ่งที่ผมเจอและสัมผัสได้จากวัดป่าแห่งนี้ กลับกลายเป็นการที่เราสามารถเข้าสู่สมาธิได้อย่างรวดเร็ว สมกับที่เป็นวัดป่าที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านมาปฏิบัติไว้ดีแล้ว ชอบแล้ว 

ผมบอกตรง ๆ เลยว่าผมไม่เคยเจอผี หรือผมอาจจะเจอ แต่ผมไม่ได้สนใจก็ได้ เพราะสิ่งที่สำคัญของการจะเจอหรือไม่เจอมันสำคัญที่ 'ใจ' เมื่อ 'ใจ' เป็นใหญ่เราก็สามารถควบคุมการ พบ เจอ นิมิต หรือการสัมผัสใดๆ ได้ คำว่า 'ใจ' เป็นใหญ่หรือใช้ 'ใจนำ' นี้ อาจารย์ใหญ่ของพระป่า 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ท่านได้เคยกล่าวไว้แล้ว และเมื่อเราอุปสมบทในร่มเงาวัดป่า เราจึงต้องนำมาใช้ให้เห็นจริงใช้ 'ใจ' ควบคุมให้จิตไม่โลดแล่นไปอยากเจออะไร ไปสนใจอะไรภายนอก 'จิตใจ'

ฉะนั้น 'ผี' ที่พระท่านนั้นเจอ ผมจึงคิดว่ามันเกิดขึ้นจาก 'อุปาทาน' ที่เกิดจากการฟังแล้วคิดตามว่ามันมี มันต้องมี มันควรมี พอคิดตามนี้ 'ผี' ในใจก็ปรากฏได้เพราะเราไม่ควบคุมมัน สุดท้ายมันก็มาปรากฏกับสังขารของเรา ด้วยความเหนื่อยจากการคิด พูด ฟัง กลายเป็น 'ผีอำ' หรือการเป็น 'ผีเลื่อน' / 'ผีลอย' ผมคิดว่ายังงั้นนะ 

เช่นเดียวกันกับเรื่องราวในสังคมยุคนี้ที่ชอบยกเอาเรื่องที่ไม่จริง สิ่งที่ไม่มี โกหกตนเองจนเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ ทำให้ความหลอกลวงถูกยกเป็นเรื่องจริงในใจตนเอง และเอาความจริงที่หลอกลวงตนเองเหล่านั้นไป หลอกเด็ก หลอกเยาวชน หลอกคนที่เชื่อให้หลงไปกับ 'ผี' ในใจที่มันไม่มีอยู่จริง อาทิ จดหมายของผู้นำปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่ไม่มีจริง การใช้วาทกรรมที่ล่วงละเมิดผู้อื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องจริง การอวดอุตริในตนที่ไม่มีอยู่จริงตามสำนักทรงหรือสำนักลงนะทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งตัวแทนประชาชนที่นำเอาข้อมูลอันไม่มีอยู่จริงมาอภิปรายกันในสภา หรือแม้กระทั่งการสัญญาของผู้บริหารประเทศที่ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่  

สิ่งเหล่านี้คือ 'ผี' จริง ๆ 'ผี' ในใจของคนบางคนที่ถูกนำไปหลอกให้กลายเป็น 'ผี' ในใจของสังคมโดยรวม จากเรื่องของผีในวัด เรื่องของพระที่โดนผีหลอก มาสู่เรื่องของ 'คน' เรื่องของ 'อุปาทาน' ที่ทำให้สิ่งที่ไม่มีอยู่จริงกลายเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นจนเป็นตัวตน แล้วคุณจะยินดีให้ 'ผี' แบบนี้มาหลอกคุณอยู่ทุกวันไปทำไม

‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ผู้นำหน่วยรบพิเศษแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายนอกพระราชวงศ์ เบื้องหลังพิชิตศึกสงคราม 9 ทัพ

‘ผู้นำหน่วยรบพิเศษ, หน่วยจารชน, หน่วยทะลวงฟัน, หน่วยนินจา, หน่วยเสือหมอบแมวเซา, หน่วยทหารกองโจร’

คำเหล่านี้เปรียบเสมือน Key Word ของเจ้านายพระองค์หนึ่ง นาม ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ‘ซึ่งเป็นพระโอรสของ ‘พระเจ้าขุนรามณรงค์’ พระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

แม้ว่าจะมีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน เนื่องจากเกิดแต่อนุภรรยา และนับว่าเป็นเจ้านายนอกราชวงศ์จักรี แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ขึ้นเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีในชั้นพระองค์เจ้า เนื่องจากทรงพระเมตตาและทรงเล็งเห็นว่า เจ้านายพระองค์นี้จะเป็นกำลังสำคัญต่อกองทัพของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นแน่ 

‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังนี้ หากเราจะค้นหาพระประวัติของพระองค์อย่างละเอียดนั้น บอกได้เลยว่า ‘ยากมาก’ เหมือนค้นหาประวัติของสายลับที่ถูกซ่อนไว้ในชั้นความลับ จะพบก็แต่เพียงร่องรอยที่ประทับและบันทึกการรบของพระองค์เท่านั้น

หากแต่ก็พอมีประวัติของประทับ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ อยู่บ้าง นั่นก็คือ ‘วังบ้านปูน’ วังที่ ณ วันนี้ หลงเหลือเรื่องราวให้ติดตามน้อยพอดู รู้แต่เพียงว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนั้น เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อปกป้องบ้านเมืองในภาวะที่ยังไม่ปลอดจากสงคราม รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายเสด็จไปประทับในพื้นที่บริเวณตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยไล่ลงไปทางทิศใต้จนถึงวัดระฆัง อันได้แก่ วังสวนลิ้นจี่, วังสวนมังคุด และวังบ้านปูน

สำหรับ ‘วังบ้านปูน’ นั้น มีประวัติที่ระบุเพียงพระนาม ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ไปประทับเพียงองค์เดียว ไม่ปรากฏเชื้อสายของพระองค์ และมีเพียงซากของกำแพงเก่าที่ไม่น่าจะระบุอะไรได้ชัดเจนนัก หรือถ้าจะมีบันทึก ก็มีเพียงสั้นๆ จากพระนิพนธ์เรื่อง ‘ตำนานวังเก่า’ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ที่ระบุว่า…

“วังบ้านปูน อยู่ระหว่างวังสวนมังคุดกับวัดระฆัง ซึ่งในเวลานั้นมีทางเดินเป็นตรอกเรียกว่า ‘ตรอกเจ้าขุนเณร’ และปัจจุบันเชื่อกันว่า พื้นที่ของ ‘วังบ้านปูน’ ได้กลายเป็นโรงเรียนสุภัทรา และ ภัทราวดีเธียเตอร์ ไปแล้ว”

>> จากที่ประทับ ก็มาสู่เรื่องของภารกิจการรบของพระองค์ที่พอจะมีบันทึกกันอยู่บ้างดีกว่า...

เริ่มจากคราวสงคราม ๙ ทัพ ที่เป็นสงครามใหญ่กับฝั่งพม่าครั้งสุดท้าย ครานั้น ‘พระเจ้าปดุง’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์โก้นบอง (ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า) ได้ส่งไพร่พลจำนวนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ นาย มาบุกกรุงรัตนโกสินทร์ถึง ๙ กองทัพ ได้มุ่งเข้าตีตั้งแต่เหนือจรดใต้ 

- ทัพที่ ๑ ตีเมืองปักษ์ใต้ ตั้งแต่ชุมพรลงไปจนถึงเมืองถลาง 
- ทัพที่ ๒ ตีหัวเมืองตะวันตกทางด่านบ้องตี้ ตีเมืองราชบุรี, เพชรบุรี เพื่อไปบรรจบทัพที่ ๑ ที่เมืองชุมพร 
- ทัพที่ ๓ ตีหัวเมืองเหนือจากเชียงแสน, ลำปาง ไล่ลงมาเพื่อมาบรรจบที่กรุงเทพฯ 
- ทัพที่ ๔ ตีหัวเมืองเหนือจาก เมืองตาก, กำแพงเพชร ลงมาบรรจบที่กรุงเทพฯ
- ส่วนทัพที่ ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ซึ่งมีทัพหลวงของพระเจ้าปดุงรวมอยู่ด้วย โดยยั้งรอกองทัพอื่นๆ เพื่อที่จะรุกเข้าสู่สยามทางด่านพระเจดีย์สามองค์

เกริ่นทัพของพม่าไปแล้ว ก็ขอวนมาที่ ‘กองทัพสยาม’ ซึ่งก็ต้องแจ้งให้ทราบชัดว่า เรามีคนน้อยกว่าเขาเยอะ โดยเฉพาะทัพหลัก ๕ กองทัพ ที่เราต้องต้านไว้ก่อนที่พม่าจะรุกเข้ามาในเขตปะทะ…

โดยจอมทัพสยามในขณะนั้นคือ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท’ ได้มีพระบัณฑูรมอบหมายภารกิจให้ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ พร้อมหน่วยรบพิเศษที่พระองค์เข้าพื้นที่ก่อนที่ทัพหลักจะเดินทางไปถึง เพื่อไปสกัดทัพหน้าของพม่า คอยดูลาดเลา สืบราชการลับ และรวบรวมไพร่พลที่พอจะเป็นกำลังรบได้ ซึ่งในบริเวณนั้นก็จะมี ชาวไทย, มอญ, ข่า, ละว้า และกะเหรี่ยง ตั้งค่ายเฉพาะกิจอยู่ที่ท่ากระดาน อันเป็นยุทธการสำคัญและเสี่ยงตายมากๆ 

(ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้ถูกน้ำท่วมไปหมดแล้ว ที่เคยปรากฏชื่อก็จะมี ‘บ้านเจ้าเณร’ หรือชื่อเดิมของเขื่อนศรีนครินทร์ที่เรียกว่า ‘เขื่อนเจ้าเณร’ ให้ได้นึกตาม)

ภารกิจต่อมาเมื่อทัพหลวงของวังหน้า (สยาม) มาถึงแล้ว ก็ได้เริ่มยุทธวิธี ‘การรบแบบกองโจร’ โดยใช้ไพร่พลเพียง ๑,๘๐๐ คน อ้อมไปตีค่ายพม่าจากด้านหลัง คอยปล้นเสบียงและยุทโธปกรณ์ของพม่า ทั้งช้าง ทั้งม้า ที่ยกมาจากเมืองเมาะตะมะ ทวาย และตะนาวศรีไม่ให้ถึงกองทัพหลักของพม่าที่ตั้งประชิดอยู่ในชายแดนไทย เรียกว่าทำยังไงก็ได้ให้ทัพพม่าเกิด ‘ห่วงหน้า-พะวงหลัง’ ขาดแคลนเสบียง เสียขวัญ ดังพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ระบุว่า... 

“พระเจ้าปดุง (พม่า) ทราบว่ากองทัพหน้ามาถึงประชิดอยู่กับไทย ได้แบ่งเสบียงในกองทัพหลวงส่งมายังกองทัพหน้าก็ถูกไทยตีชิงเอาไปเสียเนืองๆ ครั้งหนึ่งใช้เอาเสบียงบรรทุกช้าง ๖๐ เชือก มีกองลำเลียงเสบียง คุมมา ๕๐๐ คน กองโจรของไทยไปซุ่มอยู่ก็ตีเอาไปได้หมด ทีหลังจึงส่งเสบียงกันไม่ได้”

เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้อยู่ราวๆ ๒ เดือนเศษ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท’ ทรงเห็นว่ากองทัพพม่ามีใจที่ฮึกเหิมน้อยลง อดอยากปากแห้ง หนีทัพไปก็มาก จึงได้รุกระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่ายจนทัพพม่าแตกพ่ายหนีตายกลับไปจนสิ้นทัพ ซึ่งการที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ล้วนเกิดจากยุทธวิธีแทรกซึม เพื่อทำลายล้างหลังบ้านของกองทัพพม่า จนไม่เป็นอันทำการรบ จากความฉกาจของหน่วยรบพิเศษ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม หลังจากสงคราม ๙ ทัพ ก็เหมือนว่าเรื่องของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ดูจะเงียบหายไป จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์ศึกใหญ่อีกครั้งทางฝั่งลาวในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จากบันทึก ‘อานามสยามยุทธ’ ถึงเรื่องกบฏของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ 

โดยพระองค์ได้รับภารกิจพิเศษจาก ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ ในการรบแบบกองโจร โดยใช้ ‘ทหารไทย+ทวาย’ ที่เป็นคนโทษประมาณ ๕๐๐ คน ร่วมกับทหารในสังกัดของพระณรงค์สงคราม แห่งเมืองนครราชสีมาอีก ๕๐๐ คน เข้ารบแบบกองโจร ปล้นเผาค่าย ด้วยวิธีแบบจารชนคือ จับทหารลาวมาได้ ๗ คน ซึ่งยอมสวามิภักดิ์ต่อ พระองค์เจ้าขุนเณร (ซึ่งกำลังหาเสบียงกินกันเอง...นับว่าลำบากน่าดู) แล้ววางแผนดำเนินการแทรกซึมโดยใช้ทหารลาว ๑ คนผสมกับทหารไทยอีก ๖ คน แต่งกายเป็นลาวทำทีกลับเข้าค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อย โดยพระองค์เจ้าขุนเณรได้ตรัสสั่งแผนว่า...

“ถ้าเข้าค่ายลาวได้ ให้ไล่ฆ่าฟันลาวในค่ายคลุกคลีตีลาวไปอย่าให้ลาวทันตั้งตัวหาอาวุธได้ ให้นำคบเพลิงเผาค่ายลาวขึ้นด้วย”

เหตุการณ์เป็นไปตามแผนไฟลุกโหมเผาค่ายทุ่งส้มป่อยไปทั้งค่าย ทหารลาวที่บ้างก็นอนหลับ บ้างก็นั่งดื่ม บ้างก็ไม่พร้อมจะรบ ก็ถูกกำลังกองอาทมาต ๕๐๐ คน ซึ่งนำโดยพระองค์ลอบเข้าค่าย ฆ่าฟันทหารลาวเป็นจำนวนมาก จนเมื่อทัพหลวงของไทยมองเห็นค่ายของลาวเกิดไฟไหม้ จึงได้ยกทัพใหญ่บุกเข้าไปสมทบ ไล่รุกจนทัพลาวแตกกระเจิงไป

เรื่องน่าทึ่งของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ก็คือหากนับจากเหตุสงคราม ๙ ทัพที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ คงมีพระชนม์ไม่น่าต่ำกว่า ๒๐ ชันษา มาจนถึงสงครามกับเจ้าอนุวงศ์ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ที่ห่างกันถึง ๔๑ ปี พระชันษาของพระองค์ก็น่าจะประมาณ ๖๑ เมื่อมาเป็นหัวหน้าหน่วยรบพิเศษในครั้งหลัง แสดงว่าพระองค์ยังคงรักษาความเก่งกล้า ความเชี่ยวชาญ และร่างกายที่มีสมรรถภาพไม่แพ้วัยหนุ่ม

การรบการแบบกองโจรของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ในพื้นที่การรบ ทำให้การรบของทัพหลวงได้รับชัยชนะรวดเร็วขึ้น แก้ไขสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำแก่ข้าศึก ให้กลายเป็นได้เปรียบอย่างคาดไม่ถึง กลยุทธ์ที่เสี่ยงแก่ชีวิต แต่รู้การแพ้ชนะในเวลาอันสั้น ใช้การลวง การจู่โจม ด้วยความเด็ดขาด กล้าหาญ รุนแรง รวดเร็ว เป็นแนวทางของการรบแบบกองโจรที่สืบต่อมาจนสมัยนี้

ที่ผมยกเรื่องของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ มาเล่านี้ นอกจากจะเป็นการหยิบเกร็ดประวัติศาสตร์มาเผยแพร่แล้ว อีกส่วนสำคัญก็เพื่อให้เราได้ตระหนักรู้ถึงการเสียสละภายใต้วีรกรรมอันเก่งกล้าของบรรพบุรุษไทย อย่าง ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ที่แลดูเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ในการนำพระนามของพระองค์ท่านไปตั้งเป็นชื่อ ‘ค่ายขุนเณร’ กรมรบพิเศษที่ ๕ ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 

เพราะนี่คือ สิ่งยึดเหนี่ยวสำคัญที่จะช่วยเตือนใจแก่เหล่า กำลังรบพิเศษแห่งสยาม ให้ฮึกเหิม เติมไฟด้วยเกียรติวีรกรรมของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ไว้เป็นหมุดหมายแห่งความมุ่งมั่น เพื่อปกป้องอธิปไตยชาติไทยของเราสืบต่อไป...

‘แผ่นดินของเรา’ (Alexandra) บทเพลงแห่งความรัก โอบอุ้มหัวใจคนไทยให้กลับมารักและโอบกอดประเทศของเรา

เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก เป็นเดือนที่ผมมักจะหลับตาแล้วเห็นสีชมพูหรือไม่ก็สีฟ้าน้ำทะเล สำคัญที่สุดคือจะเป็นเดือนที่มีเสียงเพลงดังในหูและก้องในใจ อย่างไพเราะตลอดทั้งเดือน พร้อม ๆ ไปกับเพลงสำคัญที่ผมมักจะนึกถึงขั้นมาในบัดดล เพราะปลื้มและหลงรักมากเพลงหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว 

อ้อ!! ขอบอกก่อนว่า เพลงนี้ยังเป็นบทเพลงที่ทำให้ตัวผมรู้สึกรักในแผ่นดินไทยของเรามากที่สุดด้วยครับ...ว่าแล้วผมก็ขอนำมาเขียนเล่าให้ท่านๆ ได้อ่านกันเพลิน ๆ 

เพลงสำคัญที่ผมรักมากเพลงนี้ คือเพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 34 ของในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ขึ้น เนื่องในโอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ในปี พ.ศ. 2502 

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้มีความอัศจรรย์ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ช่วงเวลาแห่งการประพันธ์เพลง ท่วงทำนองที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยเนื้อหาทั้งไทยและอังกฤษ เมื่อทุกความอัศจรรย์มาประกอบกัน ทำให้เพลงนี้มีเสน่ห์ ไพเราะ ลึกซึ้ง เหนือกาลเวลา 

สำหรับผมเพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ เป็นเพลงที่ผมตกหลุมรักและฟังได้ไม้รู้จักเบื่อตั้งแต่โน้ตตัวแรกไปจนถึงตัวสุดท้าย  

ทีนี้ขอมาเริ่มต้นความอัศจรรย์ของเพลงนี้ ด้วยเรื่องราวของ ช่วง ‘เวลา’ ของการประพันธ์เพลง ซึ่งหลายๆ ท่านคงได้ทราบกันแล้วว่าเพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการ ‘รอเครื่องบินลง’ โดยเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จฯ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อไปรับเจ้าหญิงอเล็กซานดราด้วยพระองค์เองนั้น ในช่วงเวลาที่ทรงรอเครื่องบินลงจอดที่ท่าอากาศยานราวๆ 10 นาที (อาจจะหย่อนไปกว่านี้เล็กน้อย) ทำนองเพลงจำนวน 16 ห้องเพื่อใช้ต้อนรับพระราชอาคันตุกะอันลุ่มลึกเพลงนี้ก็เกิดขึ้น...ซึ่งนี่คือเรื่องน่าเหลือเชื่อลำดับแรกของเพลงนี้ 

ความอัศจรรย์ต่อมาคือ ท่วงทำนองของบทเพลง โดยส่วนตัวผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในทางดนตรีอะไรนักหนา แต่ด้วยความเป็นนักฟัง ซึ่งพอจะมีความรู้ที่เกิดจากการฟังเป็นใหญ่ เมื่อฟังแล้วจึงรู้สึกได้ว่าคอร์ดตั้งต้นนั้นช่างดูง่าย ฟังง่าย แต่พอฟังลึก ๆ แล้ว จะมีความยากของการเดินคอร์ดอยู่ค่อนข้างมาก 

เอาจริง ๆ !! ใครเป็นนักดนตรีต้องทำการบ้านกับเพลงนี้ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะฮาร์โมนีของคอร์ด ซึ่งเป็นโน้ตที่ยาก เพราะบางครั้งห่างกันแค่ครึ่งเสียง บางครั้งห่างกันแค่นิดเดียวแบบนิดเดียวจริง ๆ 

‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ไม่ใช่เพลงที่มีความหนัก เบา แบบขาดจากกัน แต่มีความเกาะเกี่ยวยึดโยงในแต่ละโน้ต เพื่อให้เพลงพาผู้ฟังไปในหลาย ๆ มิติ ไม่ใช่เพลงที่แค่แต่งมาแล้ว ‘เพราะ’ เฉย ๆ แต่เป็นเพลงที่ ‘เพราะจนถึงอารมณ์’ ซึ่งแสดงถึงความสามารถของคนแต่ง ที่ต้องบอกว่าเก่งแบบสุด ๆ นี่แหละพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 

ต่อกันที่ อัศจรรย์แห่งเนื้อเพลง เมื่อในหลวง ร.9 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ตามทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ 16 ห้องเพลง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ 

มรว.เสนีย์ ปราโมช ขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลที่เก่งในเรื่องภาษา สามารถแต่งโคลงกลอนได้คล่องแคล่วทั้งภาษาอังกฤษและไทยได้รับสนองพระบรมราชโองการ ด้วยการเขียนเนื้อเพลงเบื้องต้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก่อนที่เครื่องบินพระที่นั่งของเจ้าหญิง จะลงจอดได้อย่างเหลือเชื่อเช่นเดียวกัน โดยเนื้อเพลงภาษาอังกฤษมีดังนี้... 

Alexandra
Welcome to thee
Here in this land of sunshine and of flowers.
May ye be blessed by the blessing.
That has made our country happy.

แปลโดยรวมก็คือ “เราขอต้อนรับเจ้าหญิงอเล็กซานดราสู่เมืองไทย แผ่นดินแห่งแส่งพระอาทิตย์อันอบอุ่นและเต็มไปด้วยดอกไม้อันสวยงาม เมื่อมาถึง ณ ที่แห่งนี้แล้วก็ขอให้ทุกพรอันประเสริฐจงมีแด่ท่าน ซึ่งนั่นทำให้ประเทศของพวกเรามีความสุข (แปลโดยผู้เขียน) ซึ่งก็เป็นเนื้อเพลงสั้น ๆ แต่เปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรี ทั้งยังแสดงถึงความเป็นประเทศไทยที่มีรอยยิ้มไว้ต้อนรับมิตรจากต่างแดนอย่างอบอุ่นราวกับแสงพระอาทิตย์ยามเช้า เพราะนี่คือประเทศไทยดินแดนแห่งความสุขของคนไทย”

ทีนี้มาถึงเนื้อเพลงไทยกันบ้าง แต่ผมต้องขอเล่าย้อนก่อนว่า เนื้อเพลงเวอร์ชันภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งสภาพแวดล้อมทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ในประเทศก็กลัวในเรื่องของเผด็จการ เรื่องของคอมมิวนิสต์ ประหัตประหารกัน ภายนอกประเทศก็ระแวดระวังภัยจากสงครามความเชื่อจากรอบด้าน ทั้งยังมีบางส่วนที่เข้ามาประชิดติดชายแดนไทย ด้วยเหตุนี้ การสร้างขวัญ กำลังใจและความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ ซึ่งการใช้บทเพลงที่มีเนื้อหาหลอมรวมใจให้คนไทยได้ภูมิใจและรักแผ่นดินของตนเองจึงเป็นเครื่องมือที่มีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 

จากเหตุดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริว่า ท่วงทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ Alexandra ไพเราะ และน่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้ จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตให้ท่านผู้หญิง มณีรัตน์ บุนนาค ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ซึ่งในหลวง ร.9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียง 16 ห้องเพลง โดยเพิ่มท่อนกลาง และท่อนท้าย จนครบ 32 ห้องเพลง 

อนึ่ง ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นอีกหนึ่งท่านที่มีความสามารถในเชิงการประพันธ์ค่อนข้างสูง โดยท่านได้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ไว้หลายบทเพลง อาทิ ความฝันอันสูงสุด เกาะในฝัน ไร้เดือน และเพลงแผ่นดินของเรานี้ ท่านก็สะท้อนภาพบ้านเมืองของเราออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังไม่ทิ้งเนื้อในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ทั้งยังนำมาขยายความได้อย่างสวยงาม ดังนี้...

ถึงอยู่แคว้นใด ไม่สุขสำราญ เหมือนอยู่บ้านเรา ชื่นฉ่ำค่ำเช้าสุขทวี
ทรัพย์จากผืนดิน สินจากนที มีสิทธิ์เสรี สันติครองเมือง
เรามีป่าไม้อยู่สมบูรณ์ ไร่นาสดใสใต้ฟ้าเรือง
โบราณสถานส่งนามประเทือง เกียรติเมืองไทยขจรไปทั่วแดนไกล
รักชาติของเรา ไว้เถิดผองไทย ผืนแผ่นแหลมทอง รวมพี่รวมน้องด้วยกัน
รักเกียรติรักวงศ์ เสริมส่งสัมพันธ์ ทูนเทิดเมืองไทยนั้น ให้ยืนยง

ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ท่านได้เขียนเรื่องราวของเพลงนี้ไว้ใน www.rspg.org ความว่า...

“กี่ปีมาแล้วที่ความนึกคิดนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นบทกลอน ข้าพเจ้าอยากระบายความรู้สึกให้เป็นที่รู้กันว่า ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยาวัตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย”

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานข้าราชการ ทหาร พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพราะบ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ” 

มาถึงวันนี้ในห้วงเดือนแห่งความรัก เพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ช่วยเติมเต็มความรักของคนไทยอย่างผมให้นึกถึงความงดงามและน่าภาคภูมิใจของประเทศไทยของเรา จึงไม่แปลกใจที่ใครต่อใครก็อยากจะเข้ามาเยี่ยมเยียนประเทศของเรา ไม่แปลกใจที่คนที่จากบ้านเกิดเมืองนอนไปไกลหลายต่อหลายคนก็อยากกลับมาแผ่นดินแห่งนี้ 

ผมอยากชวนให้เรามากอดประเทศไทยด้วยความรัก พร้อมกับฟังเพลงพระราชนิพนธ์ที่ผมรักมากๆ เพลงนี้ มาภูมิใจที่เราได้เกิดและอยู่ในประเทศไทย แผ่นดินที่งดงามและอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้แผ่นดินไหนๆ แผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงรักและเมตตาประชาชนของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง 

แผ่นดินที่เราเรียกว่าบ้าน ‘แผ่นดินของเรา’ ครับ

รู้จัก ‘เกาเหลา’ วาระแห่งสยาม เมื่อถึงงานเลี้ยงตรุษจีน จริงจังมากถึงขั้นต้องมี ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ ดูแลเฉพาะ

เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ผมก็เลยอยากจะเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับตรุษจีนสักหน่อย แต่เรื่องของงานฉลอง ความเป็นมา การกราบไหว้บรรพบุรุษ เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คงมีคนเขียนเล่าถึงกันเยอะแล้ว ผมเลยอยากจะขอเล่าเรื่องประกอบเทศกาลที่คนนึกไม่ค่อยถึงอย่างเรื่องของอาหาร โดยเฉพาะเรื่องของ ‘เกาเหลา’ ที่เมื่อกว่าร้อยปีก่อนเคยมี ‘กรมเกาเหลาจีน’ ซึ่งมีเจ้ากรมระดับท่านขุนเลยทีเดียว รวมไปถึงคำว่า ‘เหลา’ ที่เป็นขั้นสุดของอาหารหรูมันมีความเป็นมายังไง 

ย้อนกลับไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน กลุ่มเจ้าภาษีนายอากร หรือผู้มั่งมีชาวจีนในกรุงเทพฯ ต่างนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวาย อาทิ ของสด หมู เป็ด ไก่ เป็นจำนวนมาก ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชปรารภว่า สิ่งของเหล่านี้ ควรจะได้เป็นไปในทางการกุศล จึงโปรดให้มีงานพระราชกุศลขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยให้มีการเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยวันละ ๓๐ รูป 

นอกจากนี้สิ่งของที่บรรดาชาวจีนนำมาถวายในเทศกาลตรุษจีนแล้ว ยังโปรดให้บรรดาเจ้านายพระราชวงศ์ ท้าวนางในราชสำนัก จัดมาร่วมในเทศกาลตรุษจีนด้วย สิ่งนั้น คือ ‘ขนมจีน’ เนื่องจากชื่อเป็นไปในทางจีน โดยให้จัดมาเป็นเรือขนมจีนเพื่อถวายพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วก็ได้เลี้ยงข้าราชการต่อไป

เทศกาลตรุษจีน จึงได้เข้าสู่ราชสำนักนับตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา จนเป็นธรรมเนียมที่จะมีการถวายภัตตาหารและเลี้ยงขนมจีนเรื่อยมา 

ครั้นมาถึงสมัยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงรับสั่งว่า “การที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีน เป็นแต่สักว่าชื่อเป็นจีน ให้ทำ ‘เกาเหลา’ ที่โรงเรือนยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีน เป็นของหัวป่าก์ชาวเครื่องทำ...” 

ซึ่งการทำ ‘เกาเหลา’ น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับชาววัง ณ ขณะนั้น เนื่องจากห้องพระเครื่องต้นในวังนั้นมีแต่แม่ครัวอาหารไทย ไม่มีผู้ใดที่สามารถปรุงอาหารอย่างจีนได้ ทั้งเกาเหลาในสมัยนั้นก็ประกอบไปด้วย ‘เครื่องในสัตว์’ ซึ่งถ้าไม่รู้วิธีทำก็จะไม่สะอาดและเหม็นคาว จึงจำเป็นต้องใช้ ‘กุ๊กชาวจีน’ ผู้สันทัดในการนี้ 

ความสำคัญของ ‘เกาเหลา’ ในครั้งนั้น ทำให้เกิดตำแหน่งราชการใหม่ขึ้นในครั้งนั้นคือ ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ ซึ่งมีหลักฐานในราชกิจจานุเบกษาครั้งรัชกาลที่ ๔ ว่า...

“...ให้ตั้ง จีนเอ้ง เป็น ขุนราชภัตการ จางวางจีนช่างเกาเหลา พระราชทานให้ถือศักดินา ๕๐๐ ทำราชการตั้งแต่ ณ วันจันทร์ เดือนแปด บุรพาสารทแรมสิบค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก...” 

ขุนราชภัตการคนนี้ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็น ‘หลวงราชภัตการ’ โดยมีธิดาคนหนึ่งของคุณหลวงท่านนี้ชื่อ ‘เพ็ง’ ได้ถวายตัวทำราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมอยู่งานในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาเนื่องจากมีพระราชธิดาคือ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านงคราญอุดมดี’ 

สำหรับคำว่า ‘เกาเหลา’ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายไว้ว่า…

เกาเหลา [-เหฺลา] น. แกงมีลักษณะอย่างแกงจืด. (จ.). จากหนังสือ ‘วันก่อนคืนเก่า’ โดย ส.พลายน้อย ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจคือ ตามความหมายเดิมของคำว่า ‘เกาเหลา’ (เกาโหลว) แปลว่า ‘ตึกสูง’ คนไทยเราเห็นอาหารชนิดนี้ทำขายในร้านอาหารจีนที่เรียกว่า ‘เหลา’ หรือ ‘เกาเหลา’ จึงได้เรียกแกงจืดที่ทำขายบนเหลาว่า ‘เกาเหลา’ เกาเหลาในยุคเก่าจึงเป็นชื่อเรียกแกงจืดอย่างจีนที่ปรุงด้วยเครื่องในและขายอยู่บน ‘เหลา’ 

ส่วนคำว่า ‘เหลา’ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายไว้ว่า เหลา [เหฺลา] น. ภัตตาคาร. (จ.). และจากหนังสือ ‘วันก่อนคืนเก่า’ โดย ส.พลายน้อย ก็ได้อธิบายไว้ให้เข้าใจง่าย ๆ คือ หอหรือตึก โดยทั่วไปหมายถึงสถานที่จำหน่ายอาหาร พ้องกับความหมายตามพจนานุกรม ในสมัยก่อนก็มักจะได้ยินคนทั่วไปเวลาจะไปหาอาหารหรู ๆ แพง ๆ ทาน ก็มักจะพูดว่า ‘ไปขึ้นเหลา’ หรือ ‘ไปกินเหลา’ ที่พูดแบบนี้เนื่องจากคำว่า ‘ภัตตาคาร’ นั้นยังไม่ปรากฏในช่วงเวลานั้น (สันนิษฐานว่าคำว่า ‘ภัตตาคาร’ น่าจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ นี้เอง) และร้านค้าที่จำหน่ายอาหารหรู ๆ นั้น ถ้าไม่ใช่ร้านในโรงแรมก็มักจะเป็นร้านอาหารจีนย่านสำเพ็ง, สะพานหัน หรือย่านเยาวราชนั่นเอง ซึ่งน่าตั้งกันมาตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ ๓ ที่มีชาวจีนทำการค้าขายอยู่ในไทยจำนวนมาก 

โดยมากคนที่ไปขึ้น ‘เหลา’ ก็มักจะเป็นพ่อค้าชาวจีนเพราะชาวไทยในสมัยก่อนไม่นิยม เนื่องจาก ‘อาหารเหลา’ มีราคาค่อนข้างสูงและรสชาติอาจจะไม่ถูกปากมากนัก ซึ่งการ ‘ไปขึ้นเหลา’ ของคนไทยก็เพิ่งจะมานิยมในช่วงหลัง ๆ ไม่ถึงร้อยปีล่วงมานี่เอง แถมถ้าสังเกตให้ดีร้านอาหารจีนเหล่านี้ก็มักจะลงท้ายด้วยคำว่า ‘เหลา’ เช่น ห้อยเทียนเหลา (หยาดฟ้าภัตตาคาร), ก๋ำจั่นเหลา, กี่จั่นเหลา, ปักจันเหลา เป็นต้น หรือถ้าไม่ลงท้ายด้วย ‘เหลา’ ก็มักจะเป็นชื่อแบบจีนไปเลย เช่น พงหลี, โว่วกี่, เม่งฮวด เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ นั้น ก็ได้ถูกลดบทบาทไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เนื่องจากได้มีคำร้องขอให้จัด ‘เรือขนมจีน’ เหมือนอย่างสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนผู้ประกอบอาหาร ‘เกาเหลา’ นั้น ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงเล่าไว้สั้น ๆ ว่า “...แล้วผู้ทำก็ล้มตายหายจาก กร่อย ๆ ลงก็เลยละลายหายไปเอง...” ซึ่งสันนิษฐานว่า กรมเกาเหลาจีน คงจะค่อย ๆ หมดบทบาทไปในช่วงนี้นี่เอง 

ส่วน ‘เหลา’ นั่นยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบันตามที่เราทราบ ๆ กัน และมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไปอย่างไม่หยุดยั้ง ส่วน ‘เกาเหลา’ ก็กลายเป็นอาหารที่ไม่มีเส้นดังที่เรารู้จักกันปัจจุบัน แถมยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ถูกกันซะอย่างนั้น

ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ (新正如意 新年发财) คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวัง สมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปีมังกรนะครับ 

สุขสันต์วันตรุษจีน 2567 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top