กล่าวหา ‘รัชกาลที่ 9’ กรณีรัชกาลที่ 8 สวรรคต 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ
‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ ‘กรณีสวรรคต’ (กรณี ณัฐพล-สมศักดิ์)
ว่าด้วย ‘คำกล่าวอ้าง’ ของพูนศุข พนมยงค์ ในหนังสือพิมพ์ Observer ปี 2500 เกี่ยวกับประเด็น ‘กรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8’ ที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง และบทความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
1. เนื้อหาของณัฐพล ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (2563) ของณัฐพล ใจจริง หน้า 232 ได้กล่าวถึง เนื้อหาการให้สัมภาษณ์ ‘คำกล่าวอ้างต่อกรณีสวรรคต’ ของพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาปรีดี พนมยงค์ ต่อหนังสือพิมพ์ Observer พ.ศ. 2500 ไว้ว่า…
“ต่อมาทูตอังกฤษได้รับรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ออบเซอร์ฟเวอร์ (Observer) ซึ่งลงบทสัมภาษณ์ของพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของปรีดีกล่าวตอบข้อซักถามของนักข่าวเกี่ยวกับกรณีสวรรคต โดยเธอแนะนำนักข่าวให้ไปถามบุคคลสำคัญ [ณัฐพลหมายความถึง ในหลวง ร.9 -ทุ่นทำ-ทุ่นแดง] ที่รู้เรื่องดังกล่าว ทูตอังกฤษบันทึกว่าขณะนั้นหนังสือพิมพ์ในไทยได้ใช้เรื่องสวรรคตโจมตีราชสำนักอย่างหนัก เขาเห็นว่ากรณีสวรรคตเป็นเรื่องอ่อนไหวและสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฯ รายงานข่าวใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสวรรคตอีก”
โดยข้อมูลในส่วนนี้ณัฐพลอ้างเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ FO 371/129653, Whittington to Foreign Office, 15 May 1957 ซึ่งเรื่องนี้ได้ปรากฏในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) ที่เสนอต่อคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ในหน้า 218 ซึ่งมีเนื้อหาที่กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า…
“หากนักข่าวต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับการสวรรคต ควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน”
ต่อมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้นำไปอ้างต่อในบทความชื่อ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: พูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์กรณีสวรรคต พฤษภาคม 2500’
และยังพบด้วยว่าข้อมูลของณัฐพลนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงบทความ สมศักดิ์ ข้างต้นที่เขาโพสต์ลงในเว็บไซต์ประชาไทเมื่อหลายปีก่อน บทความดังกล่าวมีผู้แชร์ไปมากกว่า 10,000 ครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสมศักดิ์ได้ระบุว่า
“เดือนพฤษภาคม 2500 ทูตอังกฤษประจำสิงคโปร์ ได้รายงานไปยังลอนดอนว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว นสพ. The Observer ของอังกฤษที่นั่นว่า…"หากนักข่าวต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน"
(อ้างใน ณัฐพล ใจจริง, […] ผมเข้าใจว่า อันที่จริง ท่านผู้หญิงพูนศุขน่าจะให้สัมภาษณ์ The Observer ไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน เพราะในต้นเดือนเมษายนนั้น เธอได้เดินทางมาถึงไทย การสัมภาษณ์น่าจะทำในช่วงที่เดินทางผ่านสิงคโปร์ คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้บอกผมว่า เธอได้ค้นคว้าตรวจสอบ The Observer ในช่วงนั้น แต่ไม่พบรายงานการสัมภาษณ์นี้ เธอจึงเดาว่า ทางการอังกฤษอาจจะขอร้องให้ The Observer ยับยั้งการตีพิมพ์รายงานการสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ทัน อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐพล ใจจริง บอกผมว่า รายงานของทูตอังกฤษ อ้างถึงคำสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ไปใน The Observer แล้ว)”
2. ข้อค้นพบ
พวกเราทุ่นดำ-ทุ่นแดงมีโอกาสตรวจสอบเอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ FO 371/1/129653 From Bangkok to Foreign Office. 15 May 1957 (หรือที่ณัฐพลอ้างว่า FO 371/129653, Whittington to Foreign Office, 15 May 1957) (วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500)
อันเป็นเอกสารฉบับเดียวกับที่ณัฐพลใช้อ้างอิงในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขา (ภาพประกอบในคอมเมนต์ ต้องขออภัยที่ภาพไม่คมชัด) ซึ่งเอกสารระบุเนื้อความเต็ม ๆ ไว้ดังนี้
“1. ข้าพเจ้าได้รับรายงานว่า Rawle Knox, ซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่ที่พนมเปญ, ได้รายงานว่า หนังสือพิมพ์ ‘Observer’ ได้ทำการสัมภาษณ์พูนศุข พนมยงค์, ซึ่งเธอได้แนะนำว่า, ถ้าเขา [Knox] ต้องการที่จะรู้ความจริงเกี่ยวกับการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ [ใช้คำว่า regicide] ในปี 1946 [พ.ศ. 2489], เขาควรไปถามพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน; จากนั้นเธอได้กล่าวถึงเรื่อง ‘กรณีของของเจ้าชายสเปน’, ซึ่งเห็นได้ว่ามีนัยที่ชัดเจน
และต่อไปนี้คือข้อความต้นฉบับจาก FO 371/129653, Whittington to Foreign Office, 15 May 1957
(I have received a report that Rawle Knox, at present believed to be in Phnom Penh, has filled a dispatch with the “Observer” covering an interview with Madame Phoonsuk Phanomyong, in which she suggests that, if he really wants to know the truth about the regicide of 1946, he should ask the King; she then referred to “the case of the Spanish Princes”, with obvious implications.)
2. การเผยแพร่เรื่องราวใด ๆ ก็ตามในช่วงเวลานี้, ซึ่งการเมืองภายในประเทศ [ไทย] ขณะนี้ ปรากฏว่ากลุ่มรอยัลลิสต์ถูกโจมตีอย่างหนักจากหนังสือพิมพ์ภาษาไทย, และ [ต่อไป] อาจจะส่งผลสะท้อนกลับอย่างรุนแรงได้. ข้าพเจ้าจะรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างสูงถ้าหากคุณสามารถเจรจากับ Knox อย่างเร่งด่วนที่สุด และ, ถ้ารายงานนี้จะใกล้ความจริงอยู่บ้าง, อย่างน้อยลองโน้มน้าวให้เขางดพิมพ์บทความนี้ไว้ก่อน จนกว่าพวกเราจะมีโอกาสได้พูดคุยกันกับเกี่ยวกับประเด็นนี้เมื่อเขาเดินทางกลับมายังกรุงเทพในสัปดาห์หน้า
(The publication of any such story at the present juncture when, for internal political reason the Royalists are under heavy attack in the Thai Press, could have serious repercussions. I should be grateful if you could talk to Knox very urgently and, assuming this report to be anywhere near the truth, try to persuade him at least to have his story held up until we have had an opportunity of discussing the matter with him on his return to Bangkok next week.”
และเมื่อพวกเรา (ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) ได้ทำการสอบหลักฐานโดยการประมวลข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่าที่เอกสารชั้นต้นจะอำนวยใน ณ ขณะนี้ พบว่าวิทยานิพนธ์ของญัฐพล ใจจริง รวมถึงบทความของสมศักดิ์ เจียมธรสกุล ได้สร้างเรื่องเข้าใจผิดไว้ในประเด็นนี้อย่างน้อย 2 ประเด็น ดังต่อไปนี้
>> ประเด็นที่ 1
เอกสาร FO 371/1/129653 From Bangkok to Foreign Office. 15 May 1957 ได้อ้างถึง ‘โทรเลขจากกรุงพนมเปญ’ ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 (Addressed to Phnom Penh telegram No. 27, 15 May 1957) โดยไม่มีข้อมูลใดระบุถึง ‘สถานทูตอังกฤษในสิงคโปร์’ แต่อย่างใด
นี่ทำให้พวกเราทุ่นดำ-ทุ่นแดงมั่นใจว่า สมศักดิ์คงจะไม่มีโอกาสได้อ่านเอกสารตัวจริงเป็นแน่ เพราะเอกสารฉบับนี้ระบุเพียงว่าสถานทูตอังกฤษในไทยในเวลานั้นคาดกันว่า Rawle Knox (ผู้เขียน/สัมภาษณ์พูนศุข) น่าจะอยู่ในพนมเปญ และกำลังเดินทางกลับมายังกรุงเทพ
ดังนั้นแล้ว ข้อความที่ปรากฏในบทความของสมศักดิ์ที่ระบุว่า…“เดือนพฤษภาคม 2500 ทูตอังกฤษประจำสิงคโปร์ ได้รายงานไปยังลอนดอนว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว นสพ. The Observer ของอังกฤษที่นั่น”
โดยการอ้างวิทยานิพนธ์ของณัฐพล จึงเป็น ‘ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน’ เพราะเอกสารชิ้นนี้ (FO 371/1/129653 From Bangkok to Foreign Office. 15 May 1957) ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสิงคโปร์เลยด้วยซ้ำ
น่าสังเกตว่าความผิดพลาดเหล่านี้ของสมศักดิ์ อาจเป็นเพราะตัวสมศักดิ์ที่ไม่น่าจะได้ตรวจสอบหรืออ่านเอกสารชั้นต้นฉบับนี้ด้วยตัวเอง
เนื่องเขาก็สารภาพเองว่าข้อมูล (ผิด ๆ) ดังกล่าวเป็นสิ่งที่เขาทราบมาจากณัฐพลอีกทอด จึงกล่าวได้ว่า ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’ ของสมศักดิ์ต่อณัฐพลในครั้งนี้ย่อมเป็นบทเรียนที่ราคาแพงมากสำหรับชื่อเสียงในเรื่องความชำนิชำนาญในประเด็นสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ของเขา
>> ประเด็นที่ 2
ควรต้องขีดเส้นใต้ย้ำว่า ‘รายงาน/บทความของพูนศุข’ ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ใน The Observer ในปี พ.ศ. 2500 (1957) แต่อย่างใด
เนื่องจากเมื่อลองค้นหาบทความดังกล่าวของหนังสือพิมพ์ Observer ในห้วงเวลาเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2500 (ถ้าจะระบุชัด ๆ คือวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2500)
เรากลับไม่พบว่าทาง Observer ได้เอาบทความนี้ไปตีพิมพ์ในระยะเวลานั้นตามที่ณัฐพลได้เขียนในวิทยานิพนธ์ของเขาแต่อย่างใด กล่าวสั้น ๆ ได้ว่า ข้อมูลกรณีสวรรคตของพูนศุขนี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์จริง ๆ อย่างที่ณัฐพลแอบอ้าง
เพราะหากสังเกตให้ดี ณัฐพลได้อ้างถึงแต่เพียงเอกสารกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 เท่านั้นทั้งในวิทยานิพนธ์และในหนังสือขุนศึกฯ ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าว เป็นไปไม่ได้ที่บทความนี้จะถูกตีพิมพ์ไปแล้ว
เพราะมีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานฉบับต่อมา ได้แก่ DS 1941/1 (A) From Phnom Penh to Foreign Office. 16 May 1957 (ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2500 ซึ่งถูกส่งตรงมาจากกรุงพนมเปญเพียงวันเดียวหลังจากเป็นเรื่องขึ้น)
น่าสนใจว่าทั้งณัฐพลและสมศักดิ์กลับมิเคยอ้างถึงการมีอยู่ของเอกสารชิ้นนี้เลย ซึ่งรายงานดังกล่าวมีเนื้อความสำคัญ ดังนี้
“1. Knox [ผู้เขียนบทความ] พร้อมที่จะสนทนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบทความของเขากับคุณในวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม เมื่อเขาได้เดินทางมาถึงกรุงเทพ. (บทความดังกล่าวได้ถูกส่งไปไปรษณีย์ไปอังกฤษและจะยังไม่ได้รับการตีพิมพ์จนกว่าจะถึงวันที่ 19 พฤษภาคม), อย่างไรก็ดี จะเป็นการฉลาดกว่า หากคุณจะเข้าพบเขาในทันทีมากกว่าที่จะรอเขาอยู่เฉย ๆ
2. Knox ดูจะประหลาดใจที่คุณดูตื่นตระหนกและกล่าวว่า Rober Swam หรือ Rivett Carnac น่าจะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่น่าตกใจเหล่านั้นไป, ข้อมูลของคุณ, อย่างไรก็ตาม, น่าจะมีส่วนถูกอยู่มาก…”
(ข้อความต้นฉบับคือ…
1. Knox is prepared to discuss his article (which has been mailed and will not be published until May 19) with you on Saturday May 18, when he will be in Bangkok. You may, however, be wise to get hold of him rather than await his [?]
2. Knox was surprised at your consternation and remarked that Robert Swam or Ribett Carnac must have given you an unnecessarily lurid account. Your information would, however, appear to be substantially correct.)
จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารชิ้นนี้ ‘ย้อนแย้ง’ กับสิ่งที่ณัฐพลและสมศักดิ์ได้นำเสนอว่าบทความที่สัมภาษณ์พูนศุขดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ไปแล้วในช่วง 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 (ถ้าอนุมานว่าตีพิมพ์วันที่ 15 พฤษภาคม หมายความว่าบทความอาจต้องตีพิมพ์ก่อนวันที่สถานทูตอังกฤษจะได้รับรายงาน)
แต่แท้ที่จริงแล้ว ข้อมูลที่สำคัญระบุว่าบทความนี้ได้ถูกส่งไปรษณีย์ (น่าจะเมลล์อากาศ) ไปยังอังกฤษ และจะยังไม่ได้รับการตีพิมพ์จนกว่าจะถึงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ตามกำหนดเดิม หรือ ทำการงดเผยแพร่ไปก่อน (held up) จนกว่าจะได้รับการถกเถียงถึงประเด็นสวรรคตดังกล่าวที่กรุงเทพฯ
ซึ่งพวกเขา (เจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษในกรุงเทพและ Knox ผู้เขียนบทความ) ได้นัดคุยกันในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 นี่ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยว่าบทความดังกล่าวจะถูกตีพิมพ์ไปก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ตามที่ณัฐพลอ้าง
เพราะย่อมจำนนด้วยหลักฐานชิ้นนี้ที่ระบุชัดเจนว่าพวกเขายังไม่ได้ตีพิมพ์ “จนกว่าจะถึงวันที่ 19 พฤษภาคม และ/หรือ ได้รับพูดคุยแลกเปลี่ยนกันก่อนที่กรุงเทพในวันที่ 18 พฤษภาคม”
ท้ายที่สุด แฟ้มเอกสารของอังกฤษในกรณี ‘คำกล่าวอ้าง’ ของพูนศุข พนมยงค์ ในหนังสือพิมพ์ Observer ปี 2500 เกี่ยวกับประเด็น ‘กรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8’ นี้ได้สิ้นสุดลงเพียงแค่เอกสารลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2500
ไม่มีรายงานว่าหลังจากเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษในกรุงเทพและ Knox ผู้เขียนบทความได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นสวรรคตในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 นั้นได้รับข้อสรุปเป็นอย่างไร
แต่ข้อเท็จจริงในเวลานี้ (ตราบใดที่ยังไม่มีการค้นพบข้อมูลหลักฐานใด ๆ มาหักล้าง) คือ ‘รายงาน/บทความของพูนศุข พนมยงค์ ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ใน The Observer ในปี พ.ศ.2500 (1957) แต่อย่างใด’
ในประเด็นนี้สอดคล้องกับที่สมศักดิ์ก็ได้อ้างว่า “คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้บอกผม [สมศักดิ์] ว่า เธอได้ค้นคว้าตรวจสอบ The Observer ในช่วงนั้น แต่ไม่พบรายงานการสัมภาษณ์นี้ เธอจึงเดาว่าทางการอังกฤษอาจจะขอร้องให้ The Observer ยับยั้งการตีพิมพ์รายงานการสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ทัน”
จึงกล่าวได้ว่าข้อมูลจากการตรวจสอบของทั้งของเราทุ่นดำ-ทุ่นแดง สอดคล้องกับวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ที่ได้ยืนยันว่าไม่พบบทความดังกล่าวใน The Observer
อย่างไรก็ดี พวกเราเองก็ได้เห็นต่างกับวิมลพรรณตรงที่ว่าทางการอังกฤษเองคงไม่มีอำนาจไปปิดปากสื่อของเขาได้หากพวกเขาตั้งใจจะพิมพ์จริง ๆ (เป็นธรรมชาติของประเทศประชาธิปไตย)
และเป็นไปได้มากกว่าว่า หลังจากที่ Knox ได้ถกเถียงในประเด็นสวรรคตที่กรุงเทพในราววันที่ 18 -19 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 แล้ว เขาคงจะเปลี่ยนใจและตัดสินใจระงับการตีพิมพ์บทความดังกล่าวเสียเองในท้ายที่สุด
พวกเราเชื่อว่า Knox คงจะยอมจำนนด้วยหลักฐานที่หนักแน่นกว่า หลังจากได้ถกเถียงกับสถานทูตอังกฤษในไทย ซึ่งสถานทูตเองก็ระบุเองว่า Knox ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มาอย่างดี แต่อะไรทำให้ผู้เขียนบทความเองแท้ ๆ เปลี่ยนใจ ‘เท’ ไม่ตีพิมพ์บทความนี้
ซึ่งบางกลุ่มในไทยปัจจุบันมองว่าเป็น ‘หลักฐานเด็ด’ หรือ ‘ความจริง’ ในกรณีสวรรคต ?
คนที่ตอบได้คงมีแต่ Knox เพียงคนเดียว
ดังนั้น คำอ้างของพูนศุขที่ว่า…
“ถ้าเขา [Knox] ต้องการที่จะรู้ความจริงเกี่ยวกับการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ในปี พ.ศ. 2489, เขาควรไปถามพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน”
จึงกลายเป็นเพียงกระแส ๆ หนึ่งในช่วงไม่กี่วันในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2500 ที่ได้พัดมาและลอยไปในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะแม้แต่ Knox ซึ่งเป็นคนเขียนบทความแท้ ๆ ก็ยังตัดสินใจถอนบทความของเขาออกในนาทีสุดท้าย จึงนับได้ว่าคำอ้างของพูนศุขเช่นนี้เป็นอันใช้ไม่ได้
และที่แย่ยิ่งกว่านั้น นักวิชาการไทยบางคน อาทิ สมศักดิ์ และ ณัฐพล กลับเอาเรื่องนี้มาขยายความเป็นตุเป็นตะ ถึงขนาดฟันธงว่าเป็นบทความที่ได้รับการตีพิมพ์จริง ๆ ทั้งที่พวกเขาบางคนยังไม่เคยเห็นเอกสารชั้นต้นที่ว่าหรืออ่านมันอย่างละเอียดแต่อย่างใดเลยด้วยซ้ำ การ ‘กุ’ ข้อมูลทางวิชาการเช่นนี้ เป็นสิ่งที่จะยอมรับไม่ได้ และน่าละอายยิ่ง!!
ป.ล. ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ได้เสริมว่าในขณะนั้น ยังไม่มี ‘ทูต’ (ambassador) ที่สิงคโปร์ มีแต่ ‘ข้าหลวง’ (commissioner) สมศักดิ์เองก็ผิดพลาดตรงนี้ด้วย!!
ที่มา: ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย