Tuesday, 7 May 2024
Columnist

ทำความเข้าใจ 'ต่างด้าวซื้อที่ดิน' ขายชาติจริงหรือ…?

เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกรณีที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงที่อนุญาตให้คนต่างด้าวซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ได้ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย แต่มีคนบางกลุ่มออกมาต่อว่า วิจารณ์รัฐบาลว่าเป็นการขายชาติ

เรื่องนี้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๖ ว่า คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดย อาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ใน อสังหาริมทรัพย์ได้และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย

ตามบทบัญญัติดังกล่าวการให้คนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นตามสนธิสัญญา คือพลเมืองของประเทศที่มีสนธิสัญญาต่อกันให้พลเมืองถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศที่มีสนธิสัญญาต่อกันได้

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดินเรื่องให้คนต่างด้วยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยมีการบัญญัติเพิ่มไว้ในมาตรา ๙๖ ทวิ โดยมาตรา ๙๖ ทวิ บัญญัติว่า บทบัญญัติว่าด้วยคนต่างด้าว จะได้มาซึ่งที่ดินโดยอาศัยบทสนธิสัญญาตามมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับคนต่างด้าวซึ่งได้นําเงินมาลงทุนตามจํานวนที่กําหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องไม่ตํ่ากว่าสี่สิบล้านบาท โดยให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกินหนึ่งไร่และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี

การได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงอย่างน้อย ต้องมีสาระสําคัญ ดังต่อไปนี้...

.....(๑) ประเภทของธุรกิจที่คนต่างด้าวลงทุน ซึ่งต้องเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ หรือเป็นกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนได้
.....(๒) ระยะเวลาการดํารงการลงทุนต้องไม่น้อยกว่าสามปี
.....(๓) บริเวณที่ดินที่อนุญาตให้คนต่างด้าวได้มา ต้องอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กําหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง

.....ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ รัฐบาลที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกกฎกระทรวง เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การได้มาของคนต่างด้าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖ ทวิ และยังคงใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันซึ่งคนต่างด้าวก็สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้อยู่แล้ว

.....ตามกฎหมายมาตรา ๙๖ ทวิ และกฎกระทรวงที่ออกในปี ๒๕๔๕ มีหลักเกณฑ์สำคัญคือคนต่างด้าวต้องนำเงินมาลงทุนไม่น้อยกว่า ๔๐ ล้านบาท ก็อนุญาตให้ซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน ๑ ไร่ และมีเงื่อนไขอื่น ๆ อีก

.....สรุปว่าการให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้มีมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๗ ต่อมามีการแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดินในปี ๒๕๔๒ และได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ในปี ๒๕๔๕ ปัจจุบันคนต่างด้าวจึงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยไม่เกิน ๑ ไร่ ได้อยู่แล้วโดยรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลย

รัฐบาลปัจจุบันเพียงต้องการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงปี ๒๕๔๕ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการที่จะให้คนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อประเทศชาติจะได้ประโยชน์ให้มากที่สุดเท่านั้น แต่ก็ต้องให้เป็นไปตามที่มาตรา ๙๖ ทวิ กำหนดไว้จะผิดไปจากนี้ไม่ได้ และยังอยู่ในระหว่างดำเนินการแก้ไข โดยร่างกฎกระทรวงได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ยังมีการปรับปรุงแก้ไขได้ ยังไม่ได้ประกาศใช้เลย

ถ้ารัฐบาลปัจจุบันเพียงแต่ต้องการจะแก้ไขกฎกระทรวงที่มีอยู่แล้วและต้องเป็นไปตามที่มาตรา ๙๖ ทวิ กำหนดไว้ ถูกประนามว่าเป็นการขายชาติ 

รัฐบาลที่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินในปี ๒๔๙๗ รัฐบาลที่แก้ไขประมวลกฎหมายที่ดินโดยการเพิ่มมาตรา ๙๖ ทวิ ในปี ๒๕๔๒ และรัฐบาลที่ออกกฎกระทรวงในปี ๒๕๔๕ ไม่ต้องถูกประนามว่าเป็นการขายชาติยิ่งกว่ารัฐบาลปัจจุบันหรือ ?

กลุ่มคนที่ออกมาด่ารัฐบาลว่า การให้คนต่างด้าวซื้อที่ดินเป็นการขายชาติ ควรต้องศึกษาหาความรู้บ้างว่าเรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร จะได้ไม่สื่อสารออกไปในทางที่ผิด บิดเบือน ใส่ร้ายคนอื่นให้ได้รับความเสียหาย

แถลงไข!! ‘พระจันทร์สีเลือด’ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ พิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ มิใช่สัญญาณบอกเหตุลางร้าย

เมื่อวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นเทศกาลลอยกระทงในรอบ 3 ปี ของประเทศไทย ที่ประชานชนทุกภาคได้มีโอกาสลอยกระทง และมีการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และมีเรื่องราวหนึ่งที่มาพร้อมกับการเกิดพระจันทร์เต็มดวงที่ตรงกับเทศกาลลอยกระทงปีนี้คือ การเกิดปรากฏการณ์ลักษณะสีของดวงจันทร์ที่มีสีแดงอิฐคล้ายสีเลือด หรือเรามักเรียกกันว่า ‘พระจันทร์สีเลือด’ นั่นเอง 

เมื่อเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น ก็จะมีคนในวงการหมอดูหรือทางโหราศาสตร์ออกมาแสดงความคิดเห็นกัน รวมทั้งเล่าเรื่องราวที่สืบต่อกันมา ว่าจะเป็นสัญญาณในการเกิดเหตุร้าย และมีบางสำนักออกมาบอกถึงขั้นว่าไม่ควรจะไปโดนแสงที่เกิดจากพระจันทร์สีเลือด เพราะจะทำให้เกิดเภทภัยภยันตรายตามมา 

บางรายก็บอกลงลึกไปถึงขั้นว่า คนที่เกิดราศีไหนจะเกิดผลกระทบมากที่สุดเมื่อโดนแสงจันทร์สีเลือด และมีคำเตือนไม่ให้คนในราศรีนี้ออกไปข้างนอกในช่วงเวลาดังกล่าว หนักถึงขั้นบางสำนักมีวิธีการในการแก้ไขว่าต้องทำกิจกรรมอะไรถึงจะแก้ไขเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากพระจันทร์สีเลือดอีกด้วย

สำหรับเรื่องพระจันทร์สีเลือดนี้ ผู้เขียนจะขอพูดถึงลักษณะปรากฏการณ์ที่ทำให้พระจันทร์มีสีเลือดกัน โดยใช้ 'หลักการทางวิทยาศาสตร์' ที่ได้ข้อมูลมาจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมาอธิบายกันครับ 

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 15.02 - 20.56 น. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยเราจะเริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงที่ดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้า ในเวลาประมาณ 17.44 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก ตรงกับช่วงที่กำลังเกิดคราสเต็มดวง มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลาประมาณ 18.41 น. 

จากนั้นเริ่มเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19.49 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20.56 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์  

ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อแสงของดวงอาทิตย์ ผ่านบรรยากาศโลก แสงสีน้ำเงินที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าจะถูกบรรยากาศกระเจิงออกไปหมด เหลือแต่แสงสีแดงที่มีความยาวคลื่นยาวกว่าหักเหไปตกกระทบบนผิวดวงจันทร์ จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง 

ผลข้างเคียงจากการใส่หน้ากากอนามัย คาร์บอนฯ ในเลือดสูง ทำ ‘ปวดหัว-วิตกกังวล’

ผมได้อ่านบทความฉบับหนึ่งที่มีการตีพิมพ์ลงใน The New York Times ว่ามีการสำรวจจาก PN MEDICAL ในกลุ่มผู้สวมหน้ากากอนามัยในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อรูปแบบการหายใจและการควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้สวมใส่ ซึ่งพอได้อ่านมาเช่นนี้ สำหรับผมตื่นเต้นมากเพราะเราไม่เคยคิดถึงเลยว่าแค่สวมหน้ากากจะส่งผลต่อชีวิตเราขนาดนี้

ในการศึกษาระบุว่าการสวมหน้ากากจะส่งผลทำให้การหายใจของผู้สวมผิดปกติและจะทำให้ระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดของผู้สวมหน้ากากเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ที่ไม่ได้สวมและแม้จะถอดหน้ากากออกแล้วก็ตามอาการนี้ก็ยังไม่หายไปอย่างทันที ซึ่งผลจากการที่มีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงจะส่งผลทำให้เกิดอาการวิตกกังวล ปวดหัวและเกิดอาการของตะคริวได้

'ปลดล็อกท้องถิ่น' หรือ 'แบ่งแยกดินแดนสู่สหพันธรัฐ' นัยล้มล้าง ปชต. อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

มีพรรคการเมืองบางพรรค ได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญและพยายามรณรงค์เรื่องการปลดล็อกท้องถิ่น ผู้เขียนเองเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ (Decentralization) สำหรับท้องถิ่นที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในระดับหนึ่ง แต่เมื่อไปเปิดอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ต้องตกใจมากด้วยเหตุผลดังนี้

>> ประการแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทย ที่ระบุความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทยมาโดยตลอดได้เขียนบัญญัติเอาไว้ว่า ‘ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้’

แต่รัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อกท้องถิ่นกำลังทำให้ประเทศไทยไม่เป็นรัฐเดี่ยว แต่เป็น ‘สหพันธรัฐ’ เพราะท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตนเองเท่ากับรัฐ ๆ หนึ่งของสหรัฐอเมริกา บริหารปกครองตนเองได้ มีกฎหมายเป็นของตนเองได้ บริหารการจัดเก็บภาษีและการเงินการคลังเองได้ ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินตราและธนาคารกลาง

ข้อนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความประสงค์ที่จะมิให้ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว แต่เป็นสหพันธรัฐ ประกอบด้วยรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากมาย อันเท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครองจากราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ เท่ากับผู้เขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตจำนงที่ต้องการล้มล้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของไทยที่เป็นรัฐเดี่ยว อันเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง และเป็นการทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกด้วย ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

จอดรถอย่างไรให้ถูกใจทุกคน ไม่ละเมิดสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย

ปี 2566 ในประเทศไทยมีรถยนต์ที่จดทะเบียนมากถึง 41 ล้านคัน ต่อจำนวนประชากร 66 ล้านคน โดยเฉลี่ยแล้ว ในประชากร 100 คน มีรถยนต์มากถึง 61 คน ปัญหาที่ตามมานอกจากปัญหามลภาวะ ปัญหาการใช้พลังงาน และที่เป็นปัญหาไม่แพ้กันคือปัญหาที่จอดรถ 

ในบางประเทศเช่น ประเทศญี่ปุ่น มีข้อกฎหมาย กำหนดว่าหากใครต้องการซื้อรถยนต์ต้องมีเอกสารรับรองจากหน่วยงานรัฐว่ามีที่จอดรถ ถึงจะสามารถซื้อรถยนต์ได้ เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนและป้องกันปัญหาที่จอดรถยนต์ไม่เพียงพอ 

ในประเทศสิงคโปร์มีกฎหมายจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนบางเส้นที่มีการจราจรหนาแน่น และมีการเรียกเก็บภาษีรถยนต์ในอัตราสูง เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนรถยนต์

ในประเทศไทยมีแนวคิดการกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีรถยนต์ประจำปี กรณีรถยนต์ที่มีอายุเกินสิบปีเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนรถยนต์และเหตุผลเรื่องมลภาวะ ซึ่งยังไม่มีการประกาศใช้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามเมื่อมีรถยนต์แล้ว ลองมาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า เราจะจอดรถอย่างไรให้ถูกใจทุกคน และไม่เกิดปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สองอย่างคือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นเพื่อสร้างความปลอดภัย เนื่องมาจากการใช้รถ จึงกำหนดไว้ว่าห้ามจอดรถในที่ต่างๆ ดังนี้ เช่น ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง, บนทางเท้า, บนสะพานหรือในอุโมงค์, ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ, ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ, ในเขตปลอดภัย หรือในลักษณะกีดขวางทางจราจร หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 การกระทำการต่อผู้อื่น...ให้เดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือที่เรียกว่าความผิดลหุโทษ 

กรณีการจอดรถในหมู่บ้านจัดสรร ในซอยแคบ หรือในสถานที่ต่างๆ ในลักษณะที่ขวางทางเข้า-ออก ของเพื่อนบ้าน หรือกีดขวางการสัญจรโดยปกติของประชาชนทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น จึงอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้ 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากกรณีปัญหาจากการจอดรถนี้ หากเกิดขึ้นในหมู่บ้านจัดสรร ที่มีคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สามารถออกกฎหรือระเบียบ การจอดรถเพื่อประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกในหมู่บ้านได้  หากมีการฝ่าฝืนกฎหรือระเบียบของหมู่บ้านก็สามารถมีมาตรการดำเนินการได้ตามที่ระเบียบของแต่ละหมู่บ้านกำหนด

แต่หากปัญหาการจอดรถเกิดขึ้นนอกเหนือพื้นที่หมู่บ้านจัดสรร ท่านสามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อบังคับใช้กฎหมายได้ 

แต่ทุกปัญหา สามารถแก้ไขได้ด้วยการหันหน้ามาพูดคุยกัน โดยเอาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งครับ

‘การค้น’ เครื่องมือสำคัญสำหรับจับโจร อำนาจ จนท.ตามหลักปฏิญญาสากล

ก่อน พ.ศ. 2540 การค้นเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำการสืบสวน จับกุม ผู้กระทำผิด

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการค้นว่า... 

การค้นสถานที่ส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า ที่รโหฐาน จะกระทำไม่ได้ถ้าไม่มีคำสั่งหรือหมายค้นที่ออกโดยศาล

ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามหลักที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในเคหสถาน 

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ได้มีการระบุหลักเกณฑ์สำคัญดังกล่าวไว้เช่นกัน โดยการค้นตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่ 2 ประการ…

ประการที่ 1 ค้นเพื่อหาคน ทั้งคนร้ายและผู้ที่อาจถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้
ประการที่ 2 ค้นเพื่อหาสิ่งของ ได้แก่สิ่งของที่ผิดกฎหมายเพื่อพบและยึดสิ่งของนั้นๆ

>> ผู้มีอำนาจค้น 1.ตำรวจ (ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) 2.พนักงานฝ่ายปกครอง (ระดับสามขึ้นไป)

>> วิธีการค้น ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครอง สั่งให้เข้าของหรือคนอยู่ในนั้น ยินยอมให้เข้าไปค้นได้ ถ้าไม่ยินยอม มีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไปได้ ในกรณีจำเป็นจะเปิดหรือทำลาย ประตูหรือช่องทางต่างๆ หรือสิ่งกีดขวางได้ ต้องพยายามมิให้เกิดความเสียหายหรือกระจัดกระจายเท่าที่จะทำได้

>> ช่วงเวลาที่ค้นได้ ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ยกเว้น ค้นตั้งแต่เวลากลางวันแล้วยังไม่แล้วเสร็จ หรือในกรณีฉุกเฉินหรือมีกฎหมายอื่นให้ค้นได้ หรือการค้นเพื่อจับผู้ร้ายสำคัญแต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล

ประชาชนทั่วไปหากมีเหตุการณ์ถูกค้นบ้าน ให้ตั้งสติและดำเนินการดังนี้…

1.ตรวจสอบหมายค้น เช่น ศาลที่ออกหมาย ฐานความผิด รายละเอียดต่างๆ ในเอกสาร
2.สอบถามรายละเอียดของเจ้าหน้าที่ผู้ถือหมายว่ามาจากหน่วยงานใด 
3.หากอยู่ตามลำพังควรขอให้เจ้าหน้าที่รอให้มีผู้ที่เราไว้วางใจเดินทางมาถึงที่ตรวจค้นก่อนจึงอนุญาตให้ค้น ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการประวิงเวลาเพื่อการอื่น 
4.ควรอนุญาตให้ตรวจค้นทีละห้อง ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพขณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้น 
5.เมื่อการตรวจค้นแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จะทำรายละเอียดการตรวจค้น ควรให้เจ้าหน้าที่ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานและเก็บเอกสารดังกล่าวไว้

อย่างไรก็ตาม หากการค้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าของบ้านสามารถอ้างสิทธิป้องกันตามกฎหมายได้ 

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อยกเว้นหมายค้นนั้น หากเจ้าบ้านยินยอม อาจไม่ต้องมีหมายค้น ก็สามารถทำการตรวจค้นได้ แต่ผู้ยินยอมต้องเป็นเจ้าของบ้านหรือคู่สมรส

สำหรับการค้นบ้านพักบิ๊กตำรวจที่เป็นกระแสในระหว่างนี้ ในหมายค้นไม่จำเป็นต้องระบุชื่อบิ๊กคนดังกล่าว หมายค้นก็ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในหมายค้นไม่จำเป็นต้องระบุชื่อเจ้าบ้านแต่อย่างใด อีกทั้งในขั้นตอนการออกหมายค้น จะต้องมีหลักฐานพอสมควร ที่ทำให้ศาลเชื่อว่ามีบุคคลที่กระทำความผิด หรือมีสิ่งของที่เป็นความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาล ไม่ว่าบ้านพักดังกล่าวจะเป็นของใคร

เป็นไปตามหลักปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด

3 เหตุผลขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน เพื่อ ‘ปกป้องชีวิตทรัพย์สิน-ล่าสัตว์-การกีฬา’

การใช้ปืนยิงทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต มีโทษตามกฎหมายสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต แต่เมื่อผู้ก่อเหตุเป็นเพียงเด็ก เหตุใดผู้ก่อเหตุจึงสามารถมีอาวุธร้ายแรงไว้ในครอบครองได้

สถิติการครอบครองปืนในประเทศไทยมีมากถึง 10.3 ล้านกระบอก มากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ซึ่งสิงค์โปร์เป็นประเทศในอาเซียนที่ประชาชนมีปืนในครอบครองน้อยที่สุดเพียง 20,000 กระบอก

ในประเทศไทยหากต้องการมีปืนสักกระบอก ต้องทำอย่างไรบ้าง และจะมีปืนไว้เพื่อประโยชน์อะไร

พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการครอบครองปืนของประชาชน ทำให้รัฐสามารถควบคุม เก็บข้อมูลและและเป็นการจำกัดจำนวนของปืนที่มีอยู่ในประเทศไทย

หากประชาชนทั่วไปจะมีปืนสักกระบอกต้องเป็นไปเพื่อ 
1.ป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน 
2.ใช้ล่าสัตว์ 
3.เพื่อการกีฬา

ใบอนุญาตเกี่ยวกับอาวุธปืนที่สำคัญได้แก่ 
-การขออนุญาตซื้อขายปืน (แบบ ป.3)

-การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) มีสองประเภทคือชั่วคราว 6 เดือน และแบบถาวร

-ใบพกพา ทั่วราชอาณาจักร หรือในเขตจังหวัด (แบบ ป.12)

การพกพาอาวุธปืนไปในทางหรือที่สาธารณโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะเป็นปืนที่มีทะเบียนก็เป็นความผิด เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เช่น การใช้ป้องกันทรัพย์สิน หรือการนำปืนไปใช้ในการแข่งขันกีฬา

ยกเว้นอาวุธสงคราม ที่จะไม่มีการอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถครอบครองได้

ปืน BB GUN หรือปืน แบลงค์ กัน ถือเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน หมายถึง สิ่งซึ่งมีรูปและลักษณะอันน่าจะทำให้หลงชื่อว่าเป็นอาวุธปืน การจะมีไว้ครอบครองไม่ต้องขออนุญาตเหมือนปืนจริง

ถึงเวลาแล้วที่การให้มีใบอนุญาตครอบครองอาวุธ ควรจะปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น การกำหนดระยะเวลาใบอนุญาต การประเมินสภาพจิตก่อนออกใบอนุญาต เพื่อให้การควบคุมจำนวนปืน เป็นประโยชน์ในการป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับสุจริตชน

ไขข้อข้องใจ!! หลากวิธีที่อาจส่อคุกคามทางเพศ แม้ 'ชมหยอก' แต่อีกฝ่าย 'หวาดกลัว-อับอาย' เท่ากับเสี่ยง

อุปนิสัย ใจคอของคนไทยเรา เป็นคนใจดี ร่าเริง สนุกสนาน ยิ้มง่าย การพูดจาหยอกล้อ ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน เพื่อเรียกเสียงหัวเราะ และรอยยิ้ม พฤติกรรมเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน 

แต่ในบางครั้ง เมื่อผู้พูดมีเจตนาไปในทางไม่เหมาะสม เช่นการพูดเรื่องสองแง่ สองง่าม พูดตลกเรื่องเพศ คู่สนทนาอาจไม่ได้มีความรู้สึกคล้อยตามคำพูดต่าง ๆ ของผู้พูด และทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ หรือเกิดความกลัว สิ่งเหล่านี้จะถือเป็นการคุกคามทางเพศต่อผู้ฟังหรือไม่ และมีโทษทางกฎหมายอย่างไร

ตามประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดเกี่ยวกับความผิดทางเพศไว้ 4 ประเภทได้แก่ 

1.ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา  
2.ความผิดฐานกระทำอนาจาร 
3.ความผิดฐานค้าบุคคลเพื่อความใคร่ 
4. ความผิดฐานค้าสิ่งลามกอนาจาร 

ความผิดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ แต่มีบททั่วไป วางเกณฑ์กว้าง ๆ ไว้ว่า ถ้ากระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคามหรือ กระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ จะเป็นความผิดและมีโทษ 

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถาน หรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ก็จะได้รับโทษหนักขึ้น 

และหากอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะผู้บังคับบัญชาชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจที่เหนือ ประการอื่น ก็จะต้องรับโทษหนักขึ้นไปอีก

การคุกคามทางเพศมีหลายวิธีการ เช่น การคุกคามทางเพศทางวาจาเช่น “ห้องพี่ว่างนะ” “มีค่าเทอมรึยัง”   การคุกคามทางเพศโดยการสัมผัสร่างกาย เช่น การตั้งใจยืนเบียดบนรถโดยสาร การคุกคามทางเพศโดยกิริยาท่าทาง เช่น การแสดงท่าทางที่ไม่เหมาะสม ผิวปากแซว หรือการคุกคามทางเพศทางออนไลน์ เช่นการส่งรูปเปลือยหรือรูปที่ไม่เหมาะสม ให้ผู้อื่น

ดังนั้น ตามที่ปรากฏข่าวว่ามีท่าน สส.ผู้ทรงเกียรติ ส่งข้อความชวนคุยเรื่องเพศ ถึงทีมงานหาเสียงในสังกัดของท่าน ที่เป็นสุภาพสตรี ไม่ว่าจะเกิดจากการ ‘ชมหยอก’ หรือเจตนาอื่น ซึ่งทำให้สุภาพสตรีท่านนั้น รู้สึกหวาดกลัว อับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ คนส่งอาจจะสนุกฝ่ายเดียว แต่ผู้รับคงไม่รู้สึกสนุกด้วย  และอาจมีความผิดตามกฎหมาย 

‘การละเมิดอำนาจศาล’ พฤติกรรมน่าละอายที่ไม่ควรกระทำ ‘วิวาท-โวยวาย-ดูหมิ่น-ฝ่าฝืนกฎ’ เสี่ยงนอนคุกนาน 6 เดือน

ประชาชนทั่วไป ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ คงไม่มีใครอยากไปศาล ถึงขนาดมีคำกล่าวที่ว่า ‘ให้กินของไม่ดียังดีกว่าเป็นความหรือมีคดี’ อาจจะเพราะความเชื่อที่ว่า ไปศาลจะได้พบกับบรรยากาศที่น่ากลัว เข้มขลัง มีกฎระเบียบมากมาย หากไปเผลอทำผิดกฎต่าง ๆ ก็อาจจะมีความผิด

คำว่า ‘ศาล’ ในที่นี้มีความหมาย 2 อย่าง หมายถึงตัวผู้พิพากษา และยังหมายถึงสถานที่อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการศาลยุติธรรม

การละเมิดอำนาจศาลนั้น หมายถึงการกระทำใด ๆ ที่ไปทำให้ เกิดความวุ่นวาย หรือความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งอาจจะเกิดภายในบริเวณศาล หรือเกิดขึ้นภายนอกบริเวณศาล แต่ส่งผลให้เกิดความวุ่นวาย หรือความไม่เรียบร้อยต่อกระบวนการพิจารณาคดีของศาล

กฎหมายเรื่องการละเมิดอำนาจศาล มีขึ้นเพื่อให้การใช้อำนาจตุลาการ มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และรวดเร็ว

โดยมีการกำหนดไว้ว่าศาลอาจออกข้อกำหนดสำหรับคู่ความหรือบุคคลที่มาอยู่ต่อหน้าศาล หรือการละเมิดอำนาจศาลของหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ เช่น การสั่งห้ามโฆษณา ซึ่งข้อความที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรม หากผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ฝ่าฝืนก็จะมีความผิด

บทลงโทษสำหรับข้อหาละเมิดอำนาจศาล มีทั้งการไล่ออกจากบริเวณศาล หรือลงโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรืออาจจะลงโทษทั้งสองวิธีการ 

อย่างไรก็ตามศาลอื่น ๆ เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลทหาร ต่างมีข้อกำหนดหรือกฎหมายในเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นการเฉพาะของแต่ละศาล แต่ก็มีหลักการคล้าย ๆ กันกับศาลยุติธรรม

ตัวอย่างของการกระทำที่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล เช่น อ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษา, นำยาบ้าไปส่งมอบให้ผู้ต้องหาในศาล, ฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาล, พกพาอาวุธเข้าไปในบริเวณศาล, ทะเลาะวิวาทชกต่อยกันในห้องพิจารณาคดี, ลงข้อความในสิ่งพิมพ์เปรียบเปรยว่าผู้พิพากษาให้เลื่อนคดีโดยไม่เป็นธรรม, ปลอมลายมือชื่อมาขอประกันตัว ฯลฯ

เนื่องจากในบริเวณพื้นที่ศาลเป็นสถานที่ซึ่งประชาชนทั่วไปผู้มีอรรถคดีเดินทางมาเพื่อแสวงหาความยุติธรรมให้กับตนเอง ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญ แม้เป็นสถานที่สาธารณะ แต่ก็ต้องมีกฎระเบียบ เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากมีการประพฤติตน ในบริเวณศาล ซึ่งมีลักษณะไม่เรียบร้อย ตะโกนด่าทอด้วยเสียงดัง อันมีลักษณะเป็นการสร้างความวุ่นวาย และมีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ก็อาจถูกลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้ ตามที่กฎหมายกำหนด

‘ผู้ค้ำประกันรถยนต์’ ต้องรู้!! กรณี ‘ผู้เช่าซื้อ’ ไม่ส่งค่างวด หากถูกฟ้อง ต้อง ‘ตั้งสติ-ไปศาลตามนัด’ รักษาสิทธิตนเอง

การเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และเกื้อกูลกัน เป็นจุดเด่นที่ดีอย่างหนึ่งของสังคมไทย และคนไทยมักจะถูกสอนให้รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องต่าง ๆ โดยบางครั้งก็ไม่ได้คิดให้รอบคอบว่า ตนเองจะได้รับผลร้ายจากความมีน้ำใจนั้น

การขอให้ช่วย ‘ค้ำประกันหนี้’ ให้ เป็นสถานการณ์ซึ่งหลายท่านเคยประสบมากับตนเอง หลีกเลี่ยงได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วแต่ทักษะการเอาตัวรอดของแต่ละบุคคล

กรณีที่จะหยิบยกมาบอกเล่าในบทความนี้ คือ ‘ผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์’ ซึ่งมักพบว่าตนเองถูกทวงหนี้จากไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินที่ให้เช่าซื้อรถยนต์ ทั้งทางโทรศัพท์ หรือถูกทวงถามเป็นหนังสือไปถึงที่พักอาศัย ทำให้เกิดความเดือดร้อน อับอาย ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องของตนเอง

เมื่อผู้เช่าซื้อรถยนต์ ผิดนัดไม่จ่ายค่างวด เจ้าหนี้จะเริ่มทวงถามไปที่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน ซึ่งในความเป็นจริง ส่วนใหญ่แล้วผู้เช่าซื้อมักจะหลบหน้า ปิดโทรศัพท์หนีหาย ปล่อยให้ผู้ค้ำประกันรับเคราะห์ตามลำพัง

ต่อมาหากถูกฟ้องเป็นคดี ให้ผู้ค้ำประกัน ‘ตั้งสติ’ ให้ดี และอ่านคำฟ้องให้ละเอียด

ให้ดูว่าถูกฟ้องที่ศาลไหน ต้องไปขึ้นศาลวัน เวลาใด ลายเซ็นในสัญญาค้ำประกันใช่ของเราหรือไม่ 

ทำสัญญากันตั้งแต่ปี พ.ศ.ไหน นับถึงวันฟ้องเกินอายุความ 10 ปี หรือไม่

เนื้อหาคำฟ้องดังกล่าว เป็นการฟ้องเรียกรถคืน หรือการฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์กรณีเจ้าหนี้ได้รถคืนไปแล้ว แต่เป็นการนำรถไปประมูลขายแล้วได้รับความเสียหาย หรือที่เรียกว่า ‘ขายขาดทุน’

มีการทวงถามมายังผู้ค้ำประกันเมื่อใด ภายในกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้เบี้ยวค่างวดหรือไม่ ซึ่งถ้าเจ้าหนี้ทวงถามเกินกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้ค้ำจะหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดค่าดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และค่าขาดประโยชน์ 

แต่ถ้าท่านอ่านฟ้องแล้วไม่เข้าใจ อาจจะไปขอคำปรึกษาจากผู้รู้หรือทนายความ

สิ่งสำคัญคือ เมื่อพบว่าตนเอง ถูกฟ้องเป็นคดี อย่าเพิกเฉย ควรไปศาลตามวันนัดเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง

ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล มีขั้นตอนการไกล่เกลี่ย ให้ความเป็นธรรม แก่ลูกหนี้ ทุกขั้นตอน 

ขอเพียงท่านแสดงตัว และไปศาลตามกำหนดนัด เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของตนเอง

อย่าหนี้ อย่าเงียบเด็ดขาด!!


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top