‘ผู้ค้ำประกันรถยนต์’ ต้องรู้!! กรณี ‘ผู้เช่าซื้อ’ ไม่ส่งค่างวด หากถูกฟ้อง ต้อง ‘ตั้งสติ-ไปศาลตามนัด’ รักษาสิทธิตนเอง

การเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และเกื้อกูลกัน เป็นจุดเด่นที่ดีอย่างหนึ่งของสังคมไทย และคนไทยมักจะถูกสอนให้รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องต่าง ๆ โดยบางครั้งก็ไม่ได้คิดให้รอบคอบว่า ตนเองจะได้รับผลร้ายจากความมีน้ำใจนั้น

การขอให้ช่วย ‘ค้ำประกันหนี้’ ให้ เป็นสถานการณ์ซึ่งหลายท่านเคยประสบมากับตนเอง หลีกเลี่ยงได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วแต่ทักษะการเอาตัวรอดของแต่ละบุคคล

กรณีที่จะหยิบยกมาบอกเล่าในบทความนี้ คือ ‘ผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์’ ซึ่งมักพบว่าตนเองถูกทวงหนี้จากไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินที่ให้เช่าซื้อรถยนต์ ทั้งทางโทรศัพท์ หรือถูกทวงถามเป็นหนังสือไปถึงที่พักอาศัย ทำให้เกิดความเดือดร้อน อับอาย ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องของตนเอง

เมื่อผู้เช่าซื้อรถยนต์ ผิดนัดไม่จ่ายค่างวด เจ้าหนี้จะเริ่มทวงถามไปที่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน ซึ่งในความเป็นจริง ส่วนใหญ่แล้วผู้เช่าซื้อมักจะหลบหน้า ปิดโทรศัพท์หนีหาย ปล่อยให้ผู้ค้ำประกันรับเคราะห์ตามลำพัง

ต่อมาหากถูกฟ้องเป็นคดี ให้ผู้ค้ำประกัน ‘ตั้งสติ’ ให้ดี และอ่านคำฟ้องให้ละเอียด

ให้ดูว่าถูกฟ้องที่ศาลไหน ต้องไปขึ้นศาลวัน เวลาใด ลายเซ็นในสัญญาค้ำประกันใช่ของเราหรือไม่ 

ทำสัญญากันตั้งแต่ปี พ.ศ.ไหน นับถึงวันฟ้องเกินอายุความ 10 ปี หรือไม่

เนื้อหาคำฟ้องดังกล่าว เป็นการฟ้องเรียกรถคืน หรือการฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์กรณีเจ้าหนี้ได้รถคืนไปแล้ว แต่เป็นการนำรถไปประมูลขายแล้วได้รับความเสียหาย หรือที่เรียกว่า ‘ขายขาดทุน’

มีการทวงถามมายังผู้ค้ำประกันเมื่อใด ภายในกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้เบี้ยวค่างวดหรือไม่ ซึ่งถ้าเจ้าหนี้ทวงถามเกินกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้ค้ำจะหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดค่าดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และค่าขาดประโยชน์ 

แต่ถ้าท่านอ่านฟ้องแล้วไม่เข้าใจ อาจจะไปขอคำปรึกษาจากผู้รู้หรือทนายความ

สิ่งสำคัญคือ เมื่อพบว่าตนเอง ถูกฟ้องเป็นคดี อย่าเพิกเฉย ควรไปศาลตามวันนัดเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง

ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล มีขั้นตอนการไกล่เกลี่ย ให้ความเป็นธรรม แก่ลูกหนี้ ทุกขั้นตอน 

ขอเพียงท่านแสดงตัว และไปศาลตามกำหนดนัด เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของตนเอง

อย่าหนี้ อย่าเงียบเด็ดขาด!!


เรื่อง: ธีระวุฒิ วชิรมโนวาทย์