Tuesday, 14 May 2024
โควิด-19

“โฆษกรัฐบาล”ยัน "รัฐบาล" ดูแลผู้ติดโควิดรอบด้าน “นายกฯ” ย้ำ บริหารจัดการระบบ HI – CI เร่งทำความเข้าใจปชช.

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยืนยันรัฐบาลไทยให้ความสำคัญดูแลผู้ป่วยโควิด -19 รอบด้าน ทุกระดับอาการ ทั้งผู้ป่วยที่มีอาการน้อย จนถึงอาการรุนแรง เป็นไปตามนโยบายและข้อสั่งการพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  ที่ผ่านมามีใช้จ่ายค่าบริการรักษาโควิด ปี 2563 จ่ายไป 3,841 ล้านบาท ปี 2564 จ่ายไป 97,747 ล้านบาท และปี 2565 จ่ายไปแล้ว 32,488 ล้านบาท  รวม  134,076 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการของบเพิ่มอีก 51,065 ล้านบาท

ขณะนี้โควิด 19 ยังเป็นโรคฉุกเฉินและยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ โดยนายกฯในฐานะผอ.ศบค. ทุ่มเทดูแลการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทย อยู่ในระดับควบคุม และมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ พบผู้ติดเชื้อในช่วง 7 วันที่ผ่าน 652,938 ราย เสียชีวิต 348 ราย ญี่ปุ่น 572,555 ราย เสียชีวิต 1,462 ราย เวียดนาม 282,214 ราย เสียชีวิต 568 ราย มาเลเซีย 185,229 ราย เสียชีวิต 241 ราย อินเดีย 158,986 ราย เสียชีวิต 2,983 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24  ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรียังขอให้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล อย่างเคร่งครัด

“โฆษกรัฐบาล” ย้ำ ป้องกันครอบจักรวาล สกัดโอมิครอน แจง ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาฟรีทุกที่

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อมูลทางการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ประชาชนสามารถป้องกันได้ ด้วยการปฏิบัติตนตามหลักครอบจักรวาล อย่างเคร่งครัด และเข้ารับการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ รวมทั้งเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะประชาชนกลุ่ม 608  และเด็กเล็ก 

นายธนกร กล่าวว่า ขณะนี้โควิด-19 ยังเป็นโรคฉุกเฉินและยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ สถานพยาบาลเอกชนไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้  ส่วนการรักษาทั้งที่บ้าน ชุมชน โรงแรม โรงพยาบาล ระบบจะเข้าไปดูแล  โดยประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยต้องไม่คิดค่าใช้จ่าย ถือเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 59 ในกรณีที่ผู้รับบริการผู้ใดไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรหรือตามสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่กําหนดตาม พ.ร.บ. นี้ จากหน่วยบริการ หรือหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนโดยไม่มีสิทธิ   สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  สายด่วน 1330 กด 12 

'นายกฯ' ย้ำ ปชช.ต้องไม่ประมาท เข้มมาตรการป้องโควิด-19 ครอบจักรวาล ด้าน สธ.คงระดับ4เตือนภัย - เพิ่มแนวทางการรักษา 'เจอ แจก จบ' ควบคู่กับ HI-CI เริ่ม 1 มี.ค. นี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในไทย กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงระบบรักษาอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยกระทรวงสาธารณสุข จะเพิ่มเติมแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19  แบบ "เจอ แจก จบ" เป็นผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ควบคู่ไปกับ ระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) 

นายธนกร กล่าวว่า โดยเมื่อผู้ป่วยได้ยืนยันผลเป็นบวกด้วย ATK แล้ว และได้ทำการแจ้งขอเข้ารับการรักษาในระบบ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษา 3 สูตร ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก ตามอาการของผู้ติดเชื้อได้ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเชื่อมโยงเข้าสู่โรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคม นี้  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการโรคโควิด-19 ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เมื่อโรคลดความรุนแรงลง ไม่มีภาวะอันตราย  และประชาชนก็มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล

“อนุทิน” ยัน ระบบสธ.พร้อมรับสถานการณ์ ย้ำไม่ถอดสิทธิที่ปชช.ควรได้รับ ชี้ ยอดติดเชื้อลด เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีที่นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดลง กลางเดือนมี.ค.นี้ ว่า เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ โดยคณะแพทย์ทั้งหลาย ทั้งแพทย์จากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมร่วมกันตลอดเวลาโดยมาตรการและวิธีการที่ออกมา ไม่ได้ออกมาจากการพิจารณาของคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นความเห็นร่วมกัน ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน 

ทั้งนี้ประชาชนต้องได้ประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุด ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเช่นกัน เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าการรักษาพยาบาล และมีทรัพยากรเพียงพอ ทั้งยา เตียง แพทย์ เจ้าหน้าที่และบุคลากรสำหรับการปรับวิธีการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด ไม่มีเรื่องใดที่จะถอดสิทธิที่ประชาชนเคยได้ แต่เป็นการปรับวิธี ให้เกิดความมั่นคง และเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขมากที่สุด

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดอีก 2.2 หมื่น ตาย 42 ราย กทม.พบคลัสเตอร์โรงเรียน 18 คลัสเตอร์ วอนผู้ป่วยสีเขียวรักษาที่บ้าน สงวนเตียงให้ผู้ป่วยหนัก เตรียมช่วยคนไทยกลับจากยูเครนแบบ Test and go 

ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,311 ราย ติดเชื้อในประเทศ 22,148 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 21,958 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 190 ราย มาจากเรือนจำ 27 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 136 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 17,470 ราย อยู่ระหว่างรักษา 213,645 ราย อาการหนัก 980 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 280 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 42 ราย เป็นชาย 23 ราย หญิง 19 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 29 ราย มีโรคเรื้อรัง 11 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย

ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,891,927 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,655,349 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,933 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 27 ก.พ. 106,340 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 123,568,670 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 435,984,567 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,697,986 ราย 

  พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในจำนวนผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษา เป็นการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลถึง 38,479 ราย และจำนวนกว่า 98% เป็นผู้ป่วยอาการสีเขียว ปัจจุบันผู้ป่วยเกิน 90% เป็นการติดเชื้อโอมิครอน กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นย้ำให้ผู้มีอาการน้อยรักษาตัวที่บ้าน สงวนเตียงให้ผู้ป่วยอาการสีเหลืองและแดง หรือที่มีความจำเป็นจริงๆ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ต้องทานยากดภูมิ คนกลุ่มนี้แม้อาการจะน้อยแต่ก็อาจกระทบกับโรคหลักได้ ทางโรงพยาบาลจึงจะพิจารณาให้อยู่ในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เรามีเตียงเพียงพอ จึงให้ผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่เมื่อมีผู้ติดเชื้อมากจึงอยากขอสวงนสิทธิ์ให้กับผู้ป่วยสีเหลืองสีแดง ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการออกมาคาดการณ์ตัวเลขรายวันจะสูงมากขึ้น ยืนยันศบค.ติดตามตัวเลขอย่างใกล้ชิด อยากให้นักวิชาการเหล่านั้นให้ข้อมูลด้วยว่าภาครัฐรวมถึงแต่ละภาคส่วนควรมีบทบาทอย่างไร อย่าให้ข้อมูลเพียงแค่ตัวเลข และจากการติดเชื้อตอนนี้จะเห็นว่าติดเชื้อเยอะในจังหวัดสีฟ้าที่มีการผ่อนคลายกิจกรรม ดังนั้นอยากขอให้งดการเดินทางและการรวมกลุ่มไปก่อน เราไม่สามารถล็อกดาวน์ได้อีก แต่ต้องปรับตัว 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดได้แก่ กทม. 2,779 ราย ชลบุรี 1,275 ราย นนทบุรี 1,0951 ราย สมุทรปราการ 1,068 ราย นครศรีธรรมราช 957 ราย นครราชสีมา 717 ราย ภูเก็ต 652 ราย นครปฐม 605 ราย สมุทรปราการ 585 ราย ปทุมธานี 577 ราย ส่วนขณะที่คลัสเตอร์ต่างจังหวัด พบคลัสเตอร์ร้านอาหารที่ จ.มหาสารคาม ขอนแก่น สงขลา คลัสเตอร์บุคคลากรทางการแพทย์พบที่ชลบุรี ปัตตานี คลัสเตอร์โรงเรียนพบที่ร้อยเอ็ด สกลนคร คลัสเตอร์ตลาดพบที่ ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู คลัสเตอร์พิธีกรรมพบที่อานาจเจริญ สระแก้ว กาฬสินธุ์ สกลนคร เลย ศรีสะเกษ ขณะที่ในกทม.พบคลัสเตอร์โรงเรียนถึง 18 คลัสเตอร์ด้วยกัน

‘บลูเทค ซิตี้’ มอบชุดตรวจหาแอนติเจนของเชื้อโควิด-19 ให้แก่โรงเรียนวัดเขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19!!

วันที่ (28 ก.พ.65) ที่โรงเรียนวัดเขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา คุณกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้ พร้อมด้วย ทีมงานฝ่าย CSR ของโครงการนิคมอุตสาหกรรม ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ มอบชุดตรวจหาแอนติเจนของเชื้อโควิด-19 จำนวน 700 ชุด ให้แก่คณะครู นักเรียน โรงเรียนวัดเขาดิน

โดยมี นายณรงค์ นกอิ่ม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเขาดิน ,นายกิตติศักดิ์ จันทร์เปรม ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนวัดเขาดิน เป็นผู้รับมอบ เพื่อเสริมความมั่นใจและเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับครูและนักเรียน

ครม. เห็นชอบ ปรับค่ารักษาโควิด-19 ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน เผย ไม่กระทบคุณภาพการรักษาทุกระดับอาการ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ที่ทำเนียบรัฐบาล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 8) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายรักษาโรคโควิด-19 สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากราคาอุปกรณ์และเวชภัณฑ์บางรายการมีราคาที่ถูกลง

ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าใช้จ่ายจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและคุณภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกลุ่มระดับอาการทั้งสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ตัวอย่างการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมีดังนี้ 1.ปรับปรุงหลักเกณฑ์โดยให้สถานพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามระดับกลุ่มอาการของผู้ป่วย นับแต่รับหรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่นตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ฯฉบับนี้ และกำหนดให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่ปฏิเสธไม่ขอให้ส่งต่อ หรือกรณีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ประสงค์จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 2.การตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR แบ่งเป็น 1.กรณี 2 ยีนส์ (เหมาจ่าย) ปรับลดเหลือ 900 บาท จากเดิม 1,300 บาท 2.กรณี 3 ยีนส์ (เหมาจ่าย) ปรับลดเหลือ 1,100 บาท จากเดิม 1,500 บาท 3.การตรวจคัดกรองด้วย ATK แบ่งเป็น 1.วิธี Chromatographic immunoassay จ่ายตามจริงไม่เกิน 250 บาทต่อครั้ง (จากเดิม 300บาทต่อครั้ง) 2.วิธี FIA จ่ายตามจริงไม่เกิน 350 บาทต่อครั้ง (จากเดิม 400บาทต่อครั้ง)

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงรัฐเร่งแก้วิกฤตโรงเรียนเอกชน ก่อนปิดสังเวยโควิด100%

ผู้ตรวจการแผ่นดินระดมสรรพกำลังหามาตรการเยียวยาบรรเทาทุกข์โรงเรียนเอกชนระยะสั้น - ยาว ผลพวงวิกฤตโควิดหนัก หวั่นไม่นานอาจปิดฉากยุบตัวจ่อกระทบครูและบุคลากรทางการศึกษาแสนกว่าชีวิต นักเรียนร่วมสองล้านคน หวังมาตรการระยะสั้นวอนรัฐช่วยพยุงปรับลดค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าไฟค่าน้ำ และเงินทุนกู้หมุนเวียน ส่วนระยะยาวขอรับเงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษารายบุคคล ลดหย่อนภาษีให้กับผู้บริจาคจำนวนสองเท่า อุดหนุนค่าอาหารกลางวันเด็ก 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเร่งชงทางออกเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี

ที่สำนักผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะกรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อสภาพคล่องของโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 3,563 แห่ง ทำให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพจำเป็นต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้เนื่องจากนักเรียนสมัครเรียนน้อยลง ผู้ปกครองค้างชำระค่าธรรมเนียมจำนวนมาก สร้างผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนอย่างมหาศาล ช่วงเดือนเมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน โรงเรียนเอกชนไม่สามารถเปิดเรียนแบบ ONSITE ได้ การเปิดการเรียนการสอนแบบ ONLINE ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากเรียกร้องขอเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาคืน อีกทั้งผู้ปกครองบางส่วนค้างจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชนกว่า 2,500 แห่ง ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่องไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนครูถึงแม้ว่าจะพยายามยื่นกู้จากสถาบันการเงินแต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันสถาบันการเงินจึงไม่อนุมัติเงินกู้ให้กับโรงเรียนเอกชนบางแห่ง ส่วนบางแห่งได้รับเงินกู้แต่ถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินไป ปัญหาดังกล่าวได้มีการเลิกจ้างครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว จำนวน 12,253 คน หากปัญหานี้ปล่อยวางจะกระทบถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยและผู้ปกครองจำนวนมากที่พึ่งโรงเรียนเอกชนเป็นสถานศึกษาทางเลือก โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาบางส่วนที่กล่าวไปยังมีเรื่องอื่น ๆ ตามมาจำนวนมาก ในการนี้จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของโรงเรียนเอกชนให้สามารถบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ 

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เสนอแนะการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้ การแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ดำเนินการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การขอลดค่าน้ำ-ค่าไฟร้อยละ 50 ให้กับโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นชั่วคราว การขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินในการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการกู้จากสถาบันการเงินให้โรงเรียนเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดอกเบี้ยต่ำ เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ และขอให้รัฐเร่งรัดจัดสรรงบประมาณชดเชยรายได้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน 5,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ในระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)

การแก้ไขปัญหาระยะยาว มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ เงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษารายบุคคลของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ให้ภาครัฐอุดหนุน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 ปี เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติแล้วจึงปรับลดเงินช่วยเหลือเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ตามเดิม ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประสานกรมสรรพากร จัดประชุมเพื่อศึกษาหารือรายละเอียด เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติ กรณี การลดหย่อนภาษีจำนวนสองเท่าสำหรับผู้บริจาคเงินเพื่อการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้หน่วยรับสิทธิได้รับทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ตลอดจนแจ้งผู้บริจาคให้ทราบถึงสิทธิ และการลดหย่อนภาษีสองเท่าของจำนวนการบริจาคตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 713) พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาความสำคัญและขยายโครงการต่อไปในปี พ.ศ. 2565

การส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชน ให้รัฐพิจารณาหาแนวทางเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนที่ใช้สิทธิสวัสดิการกองทุนสงเคราะห์สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่เกินสิทธิได้ โดยสามารถใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มเติม เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงควรมีการศึกษาและปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนสามารถพิจารณาทางเลือกว่าจะใช้สิทธิบัตรทอง หรือประกันสังคม และให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเร่งรัดการศึกษาวิจัยร่วมกับสภาการศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับการเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนในอัตราที่เหมาะสม เพื่อที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะได้นำเสนอหลักการต่อรัฐบาลให้พิจารณาเมื่อสถานการณ์ปกติและฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลดีขึ้นแล้ว

“นายกฯ” ขอ ปชช.มั่นใจ รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19  OPD case ภายใต้ขยายบริการ "เจอ แจก จบ"  รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง  

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)สายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศไทยและต่างประเทศ แม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่อาการรุนแรงน้อยกว่าการระบาดก่อนหน้า ขณะนี้อัตราผู้เสียชีวิตในรอบ 7 วัน ของประเทศไทย มีอัตราต่ำกว่าหลายประเทศ ขณะที่การใช้เตียงในโรงพยาบาลร้อยละ 57  

นายธนกร กล่าวว่า นายกฯขอให้ประชาชนมั่นใจ ว่ารัฐบาลปรับการดูแลรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ภายใต้โครงการการขยายบริการ เจอ แจก จบเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือที่อาการไม่รุนแรงมาก อย่างทั่วถึง เมื่อเข้าสู่ระบบผู้ป่วยนอก ทุกคนจะถูกบันทึกเข้าไปอยู่ระบบบริการ จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

'โฆษกรัฐบาล' เผย 'นายกฯ' เตรียมประชุม ศบค. ชุดใหญ่ หารือมาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์ 18 มี.ค.นี้  ยืนยันไม่ห้ามจัดกิจกรรมสงกรานต์ ยังเน้นมาตรการ VUCA ฉีดวัคซีนเข็ม3

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ยืนยันยังไม่มีนโยบายหรือแนวคิดในการห้ามจัดกิจกรรมสงกรานต์ในปีนี้  ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการ VUCA (Vaccine, Universal Prevention, Covid Free Setting, ATK) รวมทั้งต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิดกระตุ้นเข็ม 3 ทั้งผู้เดินทางกลับบ้านและผู้ที่อยู่ที่บ้าน เน้นมาตรการป้องกันตนเองทั้งระหว่างเดินทางกลับและระหว่างร่วมกิจกรรม ส่วนสถานที่จัดงานต่างๆ  รวมไปถึงต้องมีการสุ่มตรวจ ATK ทั้งก่อนและหลังเดินทางไปต่างจังหวัด

พร้อมเน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับวัคซีนอย่างเร่งด่วน ที่เรียกว่า กลุ่ม “608” ประกอบด้วย 1. กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 2.กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และ 3. กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ขอให้รับวัคซีนป้องกันโควิดและการเสียชีวิตอย่างเร่งด่วน  ซึ่งในขณะที่ประเทศไทยมีวัคซีนที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ขอให้ทุกคนช่วยกันสื่อสารทำความเข้าใจให้กับคนเหล่านี้ เพื่อให้ได้วัคซีนโควิดอย่างทั่วถึง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และมาตรการอื่น ๆ  ทาง ศบค. ชุดใหญ่จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 18 มีนาคม นี้ เพื่อผ่อนคลายกิจกรรม กิจการต่าง ๆ   ซึ่งคาดหวังว่า ประชาชนจะได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงสงกรานต์ปกติ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ชีวิตปกติ เหมือนช่วงก่อนมีโควิดที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีห่วงกิจกรรมที่อาจจะเกิดความเสี่ยงทำให้ติดโควิดได้ง่ายมากขึ้น ในช่วงเดินทางกลับภูมิลำเนา การรวมตัวของญาติพี่น้อง การพบปะสังสรรค์ รับประทานอาหารร่วมกัน การทำกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การสาดน้ำประแป้ง และกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการเฝ้าระวังในสถานที่เสี่ยง  ดังนั้น ขอให้ประชาชนรณรงค์ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เว้นระยะห่างระหว่างกัน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ ด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top