Tuesday, 14 May 2024
โควิด-19

ประจวบคีรีขันธ์ - มอบตรา SHA SHA+ ให้รถโดยสารสาธารณะหัวหิน สร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว

วันที่ 8 ธ.ค. นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นายเจนวิท ผลิศักดิ์ ผช.สาธารณสุข อ.หัวหิน นายอิศรา สถาปนเศรษฐ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานประจวบฯ นายกิติพงษ์ สิริเพชรเกษม อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ ตำรวจท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ ขนส่งจังหวัดประจวบฯ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ร่วมมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐาน SHA และ SHA + ประจวบคีรีขันธ์ และมาตรฐาน HDC เทศบาลเมืองหัวหินให้กับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะในเขต อ.หัวหิน จำนวน 87 คัน ที่บริเวณสวนสาธารณะโผน กิ่งเพชร เขตเทศบาลเมืองหัวหิน

นายนพพร กล่าวว่า ในส่วนของ จ.ประจวบฯได้กำหนดแนวทางมาตรการที่เข้มข้นในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้จัดทำมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อโควิด โดยนำแนวทางมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) ของ ททท. มาเพิ่มเติมข้อปฏิบัติให้มีมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น เน้นให้ทุกสถานประกอบการนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยนำมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ผนวกกับมาตรฐาน ALQ ของสถานกักกันแห่งรัฐ มาตรฐานสถานประกอบการแต่ละประเภท มาตรการ Thai Stop Covid Plus ของกรมอนามัย การใช้น้ำฆ่าเชื้อโรค ขั้นตอนทำความสะอาด เพื่อให้มาตรฐาน SHA+ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมโรคทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยด้านสุขอนามัยจากสินค้าและบริการ อีกทั้งเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาคของโควิด-19 และยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการในเขต จ.ประจวบฯ-เพชรบุรี

นายอิศรา กล่าวว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวในจังหวัดตอนนี้เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่เยอะมาก โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว ศุกร์ - อาทิตย์ มีอัตราการเข้าพักประมาณ 80-90% บางแห่งก็เต็ม โดยเฉพาะในอำเภอหัวหินมีที่ห้องพักกว่าหมื่นห้อง เพราะฉะนั้นจะสามารถรองรับนักนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาในพื้นที่ขณะนี้ประมาณ 100 คน เพราะฉะนั้นถือว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ส่วนหน่วยงานในพื้นที่อย่างเทศบาลเมืองหัวหิน ,สาธารณสุขอำเภอหัวหิน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกันรณรงค์ดูแลเรื่องมาตรการและสุขอนามัย เรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะ SHA และ SHA+ มีการมอบสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ให้กับผู้ประกอบการรถสาธารณะก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะว่าพวกเขาสัมผัสกับนักท่องเที่ยวโดยตรง การที่ผู้ที่ขับรถสาธารณะมีความรู้ มีการอบรมเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ก็ช่วยในเรื่องของการป้องกันและควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี

ด้านนายกิติพงษ์ กล่าวว่า ตอนนี้ในส่วนผู้ประกอบการรถสาธารณะในเขตอำเภอหัวหินที่ได้ผ่านมาตรฐาน SHA  SHA+ ประมาณ 87 คัน ซึ่งตอนนี้ก็ทยอยๆทำเพิ่มกันอยู่ ซึ่งจะเป็นในชุดที่ 4 และชุดที่ 5 อยากเชิญชวนผู้ประกอบการรถโดยสารที่ยังไม่ได้ทำมาตรฐาน SHA ให้มาทำมาตรฐาน SHA เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับตัวท่านและผู้โดยสาร เพื่อเป็นมาตรฐานในการให้บริการรถในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครับ

 

‘ผช.รมว.แรงงาน’ มอบนโยบายอาสาสมัครแรงงานจังหวัดชลบุรี 280 คน ร่วมกันพัฒนาประเทศก้าวข้ามวิกฤตไปด้วยกัน!!

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบนโยบายแก่อาสาสมัครแรงงานจังหวัดชลบุรี ณ ห้องประชุมชลบุรี ศาลากลางจังหวัดชลบุรี โดยกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อต้นปี 2564 ที่เกิดการแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบกิจการหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ที่ต้องถูกรัฐสั่งปิดการให้บริการ รวมไปถึงสถานประกอบกิจการรายเล็กที่แบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวทำให้ต้องปิดกิจการลงในที่สุด ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก

ซึ่งจากฐานข้อมูลของจังหวัดชลบุรี พบว่า มีสถานประกอบกิจการปิดกิจการชั่วคราว จำนวน 562 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ จำนวน 159,644 คน สูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กิจการประเภทการผลิต 140 แห่ง การขายส่งขายปลีก 165 แห่ง ที่พักและบริการด้านอาหาร 62 แห่ง ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี ได้ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย จำนวน 1.33 แสนราย คิดเป็นเงิน 1,527 ล้านบาท และได้มีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อโรคโควิด 19 ให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จำนวน 171,153 ราย

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงแรงงาน โดยท่านรัฐมนตรีสุชาติ ชมกลิ่น ได้แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1.ยกระดับกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ 2.กระตุ้นการจ้างงานตามความต้องการในระบบเศรษฐกิจใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ 4.เร่งรัด ปรับปรุง แก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคมให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และ 5.ดูแลให้แรงงานและนายจ้างสามารถทำงาน ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยและเป็นปกติสุข และนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1.พัฒนาทักษะแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศและรองรับเศรษฐกิจใหม่

2.บริหารจัดการแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

3.ต่อยอดการประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้ และเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

4.ยกระดับการป้องกันแก้ไขปัญหาหารค้ามนุษย์ด้านแรงงานเพื่อปลดล็อก Tier 2 Watch List

5.พัฒนา ปรับปรุง และส่งเสริมการคุ้มครองแรงงาน ระบบสวัสดิการ และหลักประกันทางสังคม และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย ในการทำงานให้สอดคล้องกับสภาวะสังคม เศรษฐกิจ และรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

6.บริหารจัดการแรงงานนอกระบบ แรงงานกลุ่มเปราะบาง แรงงานสูงอายุและคนพิการให้ได้รับสิทธิและคุ้มครองด้านแรงงาน สวัสดิการและหลักประกันทางสังคมอย่างเท่าเทียม มีรายได้ที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศ นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และ

7.พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านแรงงานกระทรวงแรงงาน (Big Data) และบูรณาการข้อมูลภาครัฐเพื่อการบริหาร วางยุทธศาสตร์ด้านแรงงานและหลักประกันทางสังคมอย่างเป็นระบบ

อาสาสมัครแรงงาน คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย และมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกระทรวงแรงงาน ได้แก่

1.กระตุ้น ส่งเสริม รักษาการจ้างงาน และการขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ ได้แก่ การประกอบอาชีพอิสระ การรับงานไปทำที่บ้านให้แก่ผู้ว่างงานและผู้จบการศึกษาใหม่

2.ส่งเสริมการจ้างงานแรงงานคนไทยและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ

3.ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เชิงรุกในกลุ่มแรงงาน และสถานประกอบการโดยใช้มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การดำเนินโครงการ Factory Sandbox

4.ยกระดับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน Up-skill Re-skill New skill โดยการอบรมให้กับแรงงานกลุ่มว่างงานให้มีความรู้เพียงพอต่อการทำงานเป็นการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยการส่งเสริมการเรียนรู้วิธีการทำงานใหม่ ๆ ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์

5.พัฒนาทักษะอาชีพให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ที่นิยมทำงานรูปแบบแรงงานอิสระไม่ขึ้นกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

6.ส่งเสริมอาชีพอิสระที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นหลักในการประกอบอาชีพ ตอบรับภาคการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและชุมชนที่ยั่งยืน

7.บูรณาการทำงาน สร้างความรู้ความเข้าใจแก่แรงงาน ผู้ประกอบการและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทุกมิติ และ

8.ยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานให้ดีขึ้น และส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืนโดยคนหางานทุกคนมีโอกาสในการทำงานตามความสามารถของตน มีรายได้ที่เหมาะสม ได้รับการพัฒนาฝีมือที่ได้มาตรฐาน ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิพื้นฐาน มีสวัสดิการเพิ่มขึ้น มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและมีหลักประกันทางสังคมที่สอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีพ

 

สตูล - ผู้ว่าฯ ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกรรมการและผู้เข้าสอบแข่งขัน บรรจุเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น

วันนี้ 13 ธ.ค 2564 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค 2564 ที่ผ่านมานายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกรรมการ เจ้าหน้าที่และผู้เข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2564 ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) และภาคความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข) ตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ ที่โรงเรียนสตูลวิทยา อ.เมืองสตูล จ.สตูล โอกาสนี้นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ กรรมการคุมสอบ และผู้เข้าสอบแข่งขัน ตามห้องสอบต่าง ๆ รวมทั้งให้กำลังใจผ่านเสียงตามสายของโรงเรียนด้วย  

สำหรับโรงเรียนสตูลวิทยา มีผู้เข้าสอบแข่งขันจำนวน 1,080 คน 36 ห้องและเป็นหนึ่งในสนามสอบของจังหวัดสตูล จากจำนวนทั้งหมด 12 แห่ง มีผู้สอบแข่งขันรวม 6,922 คน โดยผู้เข้าสอบต้องปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดสตูล ตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น มีใบแสดงผลการได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ หากไม่ครบโดสก็ให้แสดงผลตรวจ ATK หรือRT-PCR ไม่เกิน 12 ชั่วโมง

 

‘ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ’ เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติราชการทัพเรือภาคที่ 3 ระหว่างวันที่ 13 - 14 ธันวาคม 2564

พลเรือเอก สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พร้อมผู้บังคับบัญชากองเรือยุทธการ เดินทางไปตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญ ให้กำลังใจหน่วยกำลังทางเรือ ที่ปฏิบัติงานกับทัพเรือภาคที่ 3 ที่ฐานทัพเรือพังงา โดยได้พบปะกำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และโอวาทแก่กำลังพล ณ เรือหลวงกระบุรี

หน่วยกำลังต่าง ๆ ของกองเรือยุทธการ ที่ถูกส่งมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในพื้นที่ของทัพเรือภาคนั้น นับเป็นภารกิจที่มีความสำคัญในการปกป้อง รักษาอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติ ในพื้นที่ทางทะเล และทางบกที่รับผิดชอบ ซึ่งต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุดและต้องห่างไกลจากครอบครัวอันเป็นที่รัก จึงต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ มีความกระตือรือร้นและมีความเสียลละ พร้อมปฏิบัติทุกภารกิจที่ได้รับมอบหมายอยู่เสมอ ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา

กองเรือยุทธการได้ติดตามสถานการณ์และการปฏิบัติงานของหน่วยที่มาปฏิบัติราชการในพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับทราบผลงานการปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอด กำลังพลทุกนายมีความทุ่มเท มุ่งมั่น เสียสละและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคหรือความยากลำบาก ทำให้ได้รับคำชมจากหน่วยงานต่าง ๆ และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น เข้มแข็ง และอดทน และด้วยสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา รวมทั้งสภาวะที่มีโรคระบาดโควิด-19 ในขณะนี้

 

‘ผบ.ตร.’ นำทีมแถลงผลการช่วยเหลือ ‘เหยื่อค้ามนุษย์’ ในต่างประเทศ!!

ในรอบปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือผ่านทางสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย ว่ามีคนไทยถูกหลอกลวงและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างประเทศ และได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จนสามารถเข้าให้ความช่วยเหลือคนไทยดังกล่าวและเดินทางกลับประเทศไทย ตามที่ทราบแล้ว นั้น

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือเหยื่อคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งขยายผลถึงเครือข่ายผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการตัดวงจรการกระทำผิดของกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ ที่ได้ใช้โอกาสที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 หลอกลวงคนไทยไปบังคับใช้แรงงานและค้าประเวณีในต่างประเทศ ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ กระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปในสังคมในวงกว้าง

จากกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./ รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. ในการดำเนินการประสานงานหน่วยงานและส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กรมการกงสุล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น NGO ต่าง ๆ ที่ช่วยให้ข้อมูลของคนไทยที่ร้องขอความช่วยเหลือ จนสามารถช่วยเหลือคนไทยซึ่งถูกหลอกลวงกลับมาได้อย่างปลอดภัยจำนวนทั้งสิ้น 364 คน แบ่งเป็นการช่วยเหลือจากประเทศกัมพูชาจำนวน 361 คน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวน 3 คน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าวได้เป็นจำนวนมาก โดยมีการออกหมายจับผู้กระทำผิดที่หลอกลวงคนไทยไปบังคับใช้แรงงานในกัมพูชาได้ทั้งสิ้น 32 ราย จับกุมแล้ว 15 ราย คงเหลือ 17 ราย และออกหมายจับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงคนไทยไปค้าประเวณีที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ทั้งสิ้น 25 ราย จับกุมแล้ว 6 ราย คงเหลือ 19 ราย

กรณีผู้เสียหายจากกัมพูชานั้น เป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้ถูกหลอกลวงจากข้อมูลการรับสมัครงานทางโซเชียลมีเดียเหมือนปกติทั่วไป ตั้งแต่งานรับจ้างทั่วไป จนถึงงานในคาสิโน โดยมีการใช้ตัวเลขรายได้ที่สูงมาล่อใจ เพื่อให้ผู้เสียหายมีความสนใจสมัครไปทำงานดังกล่าว แต่แท้จริงแล้วได้มีการนำพาผู้เสียหายข้ามชายแดนโดยผิดกฎหมายตามช่องทางธรรมชาติ และมีการยึดหนังสือเดินทาง และบังคับให้ทำงานที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหลอกลวงให้คนไทยลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง หรือคอลเซ็นเตอร์ สร้างความเสียหายมูลค่าหลายล้านบาท หากใครไม่ยอมทำงานดังกล่าวก็จะถูกบังคับทุบตี ทำร้ายร่างกาย กักขัง และอดอาหาร จะต้องหาทางร้องขอความช่วยเหลือจากทางการไทยเพื่อช่วยเหลือกลับประเทศไทย

 

นราธิวาส - “นิพนธ์” ร่วมคณะนายกฯ ลงยะลา - ปัตตานี ติดตามงานพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ พร้อมประสาน ก.เกษตรฯ ขยายพันธุ์ปูทะเล

นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย , นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมคณะลงพื้นที่ติดตามงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในมิติงานสำคัญ

ได้แก่ การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ผ่านโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” การบริหารจัดการด้านความมั่นคง และชายแดน การบริหารจัดการนำการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และการเตรียมการภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเชิงพื้นที่ในพื้นที่ รวมทั้งการติดตามการปฏิบัติราชการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในโครงการ “การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ภายใต้กรอบแนวทาง “1 ข้าราชการ ศอ.บต. 1 ครัวเรือนยากจน” พร้อมกันนี้ ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อีกด้วย 

ช่วงบ่ายลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการโครงการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมืองปูทะเลโลก ณ กลุ่มเลี้ยงปูดำทะล อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดย ศอ.บต. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ร่วมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนรวมทั้งมีการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่

ในการนี้ นายนิพนธ์ ได้ประสานงานให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำความตกลงกับท่านอธิการบดี มอ. ในการตกลงร่วมมือกันเพิ่มพันธุ์ปูทะเล ให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันโดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนับสนุนงบประมาณ ในการขยายพันธุ์ปูทะเล

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวว่า สำหรับข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีความพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการของรัฐบาลทุกประการ ซึ่งผมเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถื่นและอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งทั้งสองกรม มีงบประมาณส่วนหนึ่งและบุคลากรเต็มที่ทุกตำบลทั่วประเทศสามารถสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี โดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชน มีตั้งแต่พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และพัฒนากรตามอัตราครบทุกตำบลในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในโครงการ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน

 

“เฉลิมชัย” โชว์ผลงานนโยบายสมุนไพร! ปั้นเกษตรกร 3 แสนราย ดันแปลงใหญ่ชู!! “สมุนไพรอินทรีย์” ลุยตลาด 50,000ล้าน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าววันนี้ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กำหนดนโยบายส่งเสริมสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต(Future Food Future Crop) เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพทางเลือกและมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมทั้งสนับสนุนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและทุกภาคีภาคส่วนถือเป็นหนึ่งในเกษตรมูลค่าสูงโดยส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา(R&D)ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำการตลาด

จากมาตรการการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ทำให้มีความคืบหน้าอย่างมากโดยในปัจจุบันมีเกษตรกร 369,353 รายขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านพืชสมุนไพร เครื่องเทศ พืชสมุนไพรที่เป็นพืชอาหาร (รวม 82 ชนิด) ดำเนินการปลูกพืชสมุนไพรบนพื้นที่รวมประมาณ 1.15 ล้านไร่  แบ่งออกเป็น การปลูกพืชสมุนไพรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพรอื่น ๆ กว่า 6.4 หมื่นไร่ และมีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่พืชสมุนไพร ตั้งแต่ปี 2559 – 2564 จำนวนทั้งสิ้น 37 แปลง จำนวนเกษตรกร 1,565 ราย พื้นที่ 7,913 ไร่ ใน 22 จังหวัด และในปี 2565 ได้มีกลุ่มเกษตรกรขอเข้าร่วมโครงการอีกจำนวน 15 กลุ่ม กำลังอยู่ในขั้นตอนขอรับรองแปลง และกระทรวงฯ มีโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรปี 2565 มีเป้าหมายเกษตรกร จำนวน 1,110 ราย ในพื้นที่ 37 จังหวัด และจัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในศูนย์ปฏิบัติการ จำนวน 16 ศูนย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ ส่งเสริมการผลิตสมุนไพร เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งกลับมาขยายตัวอีกครั้งตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปด้วยอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 4% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด Covid-19 ที่มูลค่าตลาดประมาณ 54,500 ล้านบาท

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการยกร่างแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อร่วมกันพัฒนาสมุนไพรให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพและระบบเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงในทุกมิติ โดยใช้ตลาดเป็นตัวนาการผลิต เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดาเนินการวิจัยตั้งแต่การกำหนดโจทย์วิจัยที่ตรงตามความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ตาม 10 ภารกิจหลักในการพัฒนาตามแผนด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ พ.ศ. 2563 –2565 ประกอบด้วย

1. การปลูกสมุนไพรที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งดำเนินการได้ 64,225 ไร่ จาก 82 ชนิดพืช

2. กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ได้รับการส่งเสริมการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว ณ สถานที่ปลูกและการผลิตผลิตภัณฑ์ และสารสกัดอย่างง่ายในระดับชุมชน จำนวน 92 แห่ง

3. กำหนดมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานพืชสมุนไพรตามกลุ่มที่ใช้ของพืช จำนวน 5 ฉบับ

4. จัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) 24 ชนิด

5. พัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพร (Land Use) 1 ฐานข้อมูล

6. ห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 17025 ให้บริการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ จำนวน 8 แห่ง

7. พัฒนาระบบตลาดกลาง 1 แห่ง และตลาดอิเล็กทรอนิกส์ 1แห่ง (E-Market)

8. กำหนดมาตรฐานสมุนไพรในตำรามาตรฐานสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia, THP) จำนวน 109 รายการ

9. พัฒนาฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์ของประเทศไทย (National Database of Thai Plants and Traditional Knowledge) 1 ฐานข้อมูล

10. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพรและเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัตถุดิบ 57 เรื่อง

 

“บลูเทคซิตี้” ร่วมกับ “มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์” มอบชุดตรวจโควิด-19 หรือ Antigen Test Kit (ATK) ให้สาธารณสุขอำเภอบางปะกง เพื่อใช้ในภารกิจโควิด-19 ในพื้นที่

วันนี้ (20 ธ.ค.64) ณ ที่สาธารณสุขอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยทีมงานฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โครงการนิคมอุตสาหกรรม ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ในฐานะตัวแทนมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ มอบชุดตรวจโควิด-19 หรือ Antigen Test Kit หรือ ATK จำนวน 3,000 ชุด ให้สาธารณสุขอำเภอบางปะกง เพื่อใช้ในภารกิจโควิด-19 ในพื้นที่

โดยมีนางสาวบุษกร รำไพยะกุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รักษาราชการแทนสาธารณสุขอำเภอบางปะกง เป็นผู้รับมอบ

ทั้งนี้ บลูเทคซิตี้ และมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม และสนับสนุนภารกิจโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยสนับสนุนชุดตรวจโควิด-19 หรือ Antigen Test Kit หรือ ATK จำนวน 3,000 ชุด ให้บุคลากรทางการแพทย์  ซึ่งเป็นชุดตรวจที่สามารถทราบผลภายใน 10 นาที และได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว

 

‘ก.แรงงาน’ เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วย “การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ” ภายหลังโควิด-19 ฟื้นเศรษฐกิจไทย!!

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เตรียมพร้อมกำลังแรงงานข้ามชาติต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

วันที่ 21 ธันวาคม 2564 เวลา 09.30 น นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังแรงงานข้ามชาติต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลายลงหรือกลับสู่สภาวะปกติ ณ โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา จังหวัดชลบุรี

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง กล่าวว่ารัฐบาลโดยการนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการชะลอ และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น จึงได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกมิติของการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้มีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และเป็นธรรม ตามหลักการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยได้รับการดูแลคุ้มครองเท่าเทียมกับแรงงานชาวไทย และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของสากล

‘นายกตู่’ ให้กำลังใจ "อภัยภูเบศร" สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ - ประชาชน พร้อมดัน!! "บัวบกพันธุ์ศาลายา" เป็นพืชเศรษฐกิจ

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่  18 จากนั้นได้เดินชมงาน บูทจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐเอกชน และภาคประชาชน ที่มาร่วมจัดนิทรรศการกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ยกกิจกรรมให้ความรู้ สมุนไพรป้องกันโควิด-19 และกัญชา กระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชา ที่นำมาพัฒนาใช้กับการให้บริการสปา

โดยระหว่างการเยี่ยมชมบูท อภัยภูเบศร ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้นำชมและอธิบายถึงความคืบหน้าในสิ่งที่อภัยภูเบศรได้ดำเนินการพัฒนาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ รวมถึง การปลดล็อก กระท่อม กัญชา มาสู่การพัฒนายาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งล่าสุดมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการพัฒนาบัวบกศาลายา 1 ที่มีน้ำหนักและสารสำคัญสูงกว่าสายพันธุ์ปกติถึง 5 เท่า และผ่านการจดทะเบียนรับรองสายพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ทำให้ทางมูลนิธิไม่สามารถนำสายพันธุ์ดังกล่าวมาแจกจ่ายให้เกษตรกรปลูกได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top