Wednesday, 15 May 2024
โควิด-19

ตำรวจจับมือ ศธ. เปิดโครงการ! "นักเรียนจิตอาสา สถานศึกษาปลอดภัย" เพื่อสร้างนักเรียนต้นแบบ ณ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา พร้อมโชว์นวัตกรรมเครื่องคัดกรองโควิด-19 อัจฉริยะ รับเปิดเทอม

ที่โรงเรียนบ้านคลองใบพัด อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา คุณอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.พีรพงศ์ ธนโพธิ์ชัย ผกก.สภ.วังน้ำเขียว, คุณกานดา วัฒนายิ่งสมสุข ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาด บ.วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ นายพงษ์เทพ มาลาชาสิงห์ รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดโครงการ "นักเรียนจิตอาสา สถานศึกษาปลอดภัย" โดยมีนายอำเภอวังน้ำเขียว และรอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 3 ให้การต้อนรับ

โดยโครงการนี้จัดอบรมให้เป็นต้นแบบกับนักเรียนและสถานศึกษา เพื่อปลูกฝังให้พี่ดูแลน้อง รวมถึงเป็นการปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนมีจิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และได้มีการมอบเข็มจิตอาสาน้อยให้กับนักเรียนชั้น ป.5 ป.6 ที่ผ่านการอบรมในครั้งนี้ จำนวน 22 คน

อีกทั้ง บ.วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้นำกระเป๋า, เครื่องเขียน, หมวกกันน็อค, หน้ากากอนามัย และสเปร์ยแอลกอฮอล์ มามอบให้กับนักเรียนในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว อีกด้วย จากนั้นเลขาฯรมว.ศธ. และ รองโฆษก ตร.  จึงได้ร่วมกันทอดไก่เป็นอาหารกลางวัน ให้น้อง ๆ นักเรียนด้วย

ด้าน พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล เปิดเผยว่า ภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เน้นดูแลเรื่องความปลอดภัยของประชาชน และทาง ศธ. ได้มีโครงการโรงเรียนปลอดภัย ดังนั้น สภ.วังน้ำเขียวจึงคิดโครงการ "นักเรียนจิตอาสา สถานศึกษาปลอดภัย" ขึ้น เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับน้องๆ และเป็นต้นแบบที่ดี เพราะเด็กคืออนาคตที่ดีของชาติและในวันนี้ได้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบของให้กับโรงเรียนตามชายขอบ ของอ.วังน้ำเขียวจำนวน 5 โรงเรียน

นอกจากนี้ ได้มีการการเปิดตัว “เครื่องคัดกรองโควิด-19 อัจฉริยะ” ที่ช่วยคัดกรองวัดอุณหภูมินักเรียนก่อนเข้าโรงเรียน โดยนำไม้กั้นมาประยุกต์ใช้ เพื่อลดภาระครู และเก็บสถิติของนักเรียนที่อุณหภูมิร่างกายผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ โดยผู้คิดค้น คือ นายจักรกฤษณ์ อินทสงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุไผ่ และในอนาคตก็จะพัฒนาต่อยอดเก็บข้อมูลของนักเรียนผูกกับบัตรนักเรียนสมาร์ทการ์ด เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ

 

"ดร.ซก" ที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฮุนเซน ยืนยัน!ข่าวกัมพูชายกเลิกล็อกดาวน์จริง เผยยอดติดเชื้อลดลงวันละไม่ถึง 100 ราย พร้อม!เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ทำ PCR Test เข้าได้

หลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าวว่า ประเทศกัมพูชามีคำสั่งยกเลิกล็อกดาวน์พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ โดยนายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุนเซนได้ประกาศข้อความเสียงผ่านโซเชียลมีเดียไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น

ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจน นักข่าวได้สอบถามไปยัง (ดร.แซม) ดร.ซก ซกกรัดทะยา ที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฮุนเซนนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งกำลังทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ ไทย - กัมพูชา อยู่ ณ เวลานี้ โดยไดัรับการยืนยันจากท่านที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฮุนเซนว่าข่าวดังกล่าวเป็นความจริงทุกประการ โดยท่านยังได้ยืนยันถึงมาตรการด้านการควบคุมการแพร่ระบาดไของเชื้อไวรัสโคโรน่าที่เข้มข้นของรัฐบาล พร้อมได้เชิญชวนประชาชนชาวไทยให้เดินทางไปท้องเที่ยวประเทศกัมพูชาด้วย

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 (ดร.แซม) ดร. ซก ซกกรัดทะยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สำหรับข่าวยกเลิกล็อกดาวน์เปิดให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้าประเทศกัมพูชาได้แล้วนั้น ผมขอยืนยันคือข่าวจริงทุกประการ โอกาสนี้ จึงอยากเชิญชวนชาวไทยทุกคนให้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศกัมพูชาได้ตามปกติ ขอยืนยันความปลอดภัย โดยเฉพาะมาตรการคุมเข้มเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ตอนนี้กัมพูชาได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้ว 85% หรือกว่า 14 ล้านคน จึงอยากให้คนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยได้มีความมั่นใจในการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในกัมพูชา

ดร.ซก กล่าวอีกว่า “สำหรับประเทศกัมพูชา ณ เวลานี้ เราขอยืนยันความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวและกัมพูชาไม่ได้มีเพียงเมืองมรดกโลกอย่างเมืองเสียมเรียบที่มีนครวัดนครธมเท่านั้น เรายังมีเมืองสีหนุวิลล์เมืองตากอากาศ และพนมเปญ ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่อยากให้ทุกคนไปเยือน และการเดินทางจากประเทศไทยนั้นสะดวกสามารถเดินทางได้ทั้งทางรถยนต์ ทางเรือ หรือทางเครื่องบิน จึงอยากขอเชิญชวนคนไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวกัมพูชาได้แล้ว” ดร.ซก ที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฮุนเซน กล่าว  

 

บังกลาเทศ - ‘ภาคการศึกษา’ เผชิญกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่!! เนื่องจากโควิด-19 ผลักเด็กหลายล้านคนให้เป็นแรงงานเด็กในบังคลาเทศ

ตามรายงานล่าสุดของ ILO และ UNICEF บังคลาเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการศึกษา เนื่องจากโควิด-19 ผลักเด็กหลายล้านคนให้เป็นแรงงานเด็กในบังคลาเทศ

การปิดโรงเรียนมานานกว่าหนึ่งปีและการลดรายได้ของครอบครัว ทำให้เด็กที่ไปโรงเรียนเสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก ด้วยค่าแรงต่ำทำให้การใช้แรงงานเด็กเป็นที่นิยมในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่จะทำเวิร์คช็อปริมถนน (งานซ่อม งานเชื่อม งานเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ) , ร้านอาหารและแผงลอย, ร้านค้าขนาดเล็ก, ร้านเสริมสวย, เบเกอรี่, เคมีภัณฑ์, การเก็บขยะและการขนส่ง

Rasheda K Chowdhury กรรมการบริหารโครงการรณรงค์การศึกษายอดนิยม กล่าวว่า สิ่งที่กำลังแสดงให้เห็นอยู่ในตอนนี้คือ จำนวนเด็กที่ออกจากโรงเรียนและทำงานที่เสี่ยงอันตรายเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลมีบทบาทและความรับผิดชอบในการส่งเด็กกลับโรงเรียนตามแผนการศึกษาและแผนงาน

มีการกล่าวถึงว่า เด็กที่ยากจนและอดอยากได้รับความช่วยเหลือประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ ของความช่วยเหลือในบ้านในธากา นักเรียนเกรดแปดที่ทำงานในเวิร์กช็อปยังกล่าวด้วยว่า หลังจากที่โรงเรียนปิดเป็นเวลานาน เพื่อนร่วมชั้นของเขาหลายคนเริ่มทำงานในสถานที่ต่าง ๆ ท่ามกลางความยากลำบากจากการระบาดครั้งใหญ่นี้ด้วย

สถานการณ์และความยากลำบากทางการเงินผลักดันให้นักเรียนโรงเรียนชูโมนาทำงานเป็นช่างเย็บปักถักร้อย

นอกจากนี้ Ripon บอกกับ A24 ว่าเขาอยากที่จะกลับไปโรงเรียนและเรียนต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 10 ของเขา แต่การปิดโรงเรียนและความต้องการใช้จ่ายของครอบครัวทำให้เขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

ชลบุรี - ‘นายกปลื้ม’ ห่วง! อสม .ปฏิบัติงานด่านหน้าป้องกันโควิด-19 เปิดโครงการตรวจสุขภาพฟรีกว่า 400 คน

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยนโยบายของเมืองพัทยาที่มีความห่วงใยสุขภาพและคุณภาพชีวิตของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) บุคลากรด่านหน้า และทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ที่เสียสละปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือชาวชุมชนเมืองพัทยาอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้เมืองพัทยาเข้มแข็งและมีสุขภาวะที่ดีมาจนถึงขณะนี้

จึงได้มอบให้สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับโรงพยาบาลเมืองพัทยา จัดโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี 2564 เป็นพิเศษให้แก่ อสม. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และทีม SRRT เมืองพัทยากว่า 400 คน ในวันที่ 2-3 ธันวาคม 2564 นี้ ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า การตรวจสุขภาพประจำปีครั้งนี้เป็นการดูแลสุขภาพทางร่างกายและส่งกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่บุคลากรด่านหน้าทางด้านสาธารณสุข ทั้งเครือข่าย อสม. และ SRRT ทุกคน โดยทางโรงพยาบาลเมืองพัทยา ได้เตรียมความพร้อม ทีมแพทย์ พยาบาล และรถโมบายเคลื่อนที่ มาให้บริการตรวจสุขภาพในวันดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

หลังจากนี้ เมืองพัทยามีแนวคิดส่งเสริมบริการตรวจสุขภาพอย่างทั่วถึง โดยมุ่งเน้นกลุ่มประชาชนผู้สูงวัย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพได้เช่นเดียวกัน รวมถึงบริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ เพราะผู้ป่วยบางคนอาจอยู่ติดบ้านติดเตียง ไม่สะดวกในการเดินทางไปยังจุดบริการ หรือไปโรงพยาบาลเมืองพัทยาได้ จคงต้องมีทีมสาธารณสุขเคลื่อนที่แบบเพื่อเข้าถึงพี่น้องประชาชน

ด้าน นางมาลี รักษาราษฎร์ ประธาน อสม. หางใหญ่ 1 เมืองพัทยา กล่าวว่า โครงการตรวจสุขภาพ อสม.เมืองพัทยา นับเป็นนโยบายที่ดี เนื่องจาก อสม.ส่วนใหญ่ จะมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีรายได้มากนัก แต่ต้องทำงานลงพื้นที่ ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยตามชุมชนตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องตรวจร่างกายให้แข็งแรงก่อนจะไปดูแลผู้ป่วยคนอื่น

 

‘ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน’ เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจ้างงานในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานระหว่างและหลังการระบาดของโควิด-19

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.30 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจ้างงานในประเทศไทย “การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานระหว่างและหลังการระบาดของ COVID-19” Employment in Thailand Labour Market Transitions during and post the COVID-19 pandemic ณ ห้องประชุมมารีน่า แกรนด์ บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมโนโวเทลมารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

โดยกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงาน และเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อบริบทด้านแรงงาน ดังนี้

1) แรงงานถูกเลิกจ้าง

2) ชั่วโมงการทำงานลดลง

3) รายได้ของแรงงานลดลง และ

4) ความก้าวหน้าและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล

ส่งผลให้แนวโน้มอาชีพและรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป กระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินงานเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้าง ว่างงาน และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานและการจ้างงาน เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการจัดหางาน มีอาชีพ มีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน จึงได้กำหนดมาตรการการส่งเสริมการจ้างงาน และมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

1.การเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงานให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทุกกลุ่มให้ทราบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และใช้เป็นแนวทางในการเลือกศึกษา และเลือกประกอบอาชีพ

2.จัดทำมาตรการเพื่อส่งเสริมการจ้างงานและการประกอบอาชีพ โดยมีผลการดำเนินงาน ได้แก่ โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่

โดยภาครัฐและภาคเอกชน (Co - Payment) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งวันที่ 1 ตุลาคม 2563 - 31 ธันวาคม 2564 เป้าหมาย 50,000 คน ผลการดำเนินงานปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564) อนุมัติการจ้างงานแล้ว จำนวน 55,735 คน ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจรวมจำนวน 3,213,122,750 บาท และให้ความช่วยเหลือนายจ้าง/สถานประกอบการในกลุ่มธุรกิจ SMEs เพื่อส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อลดปัญหาการว่างงาน ผลการดำเนินงานปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2564) มีนายจ้างในธุรกิจ SMEs เข้าร่วมโครงการ จำนวน 223,838 ราย รักษาระดับการจ้างงาน และส่งเสริมการจ้างงานใหม่ลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 3,068,152 คน เป็นต้น 3.พัฒนาระบบการให้บริการจัดหางาน ซึ่งกระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน ยกระดับการให้บริการจัดหางานและจ้างงานผ่านระบบออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” เพื่อให้คนหางานเข้าถึงการจ้างงานที่สะดวกรวดเร็ว จับคู่ตำแหน่งงานว่างและคนหางานที่สอดคล้องกับความต้องการส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัลและการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้ได้รับการบรรจุงานแล้ว จำนวน 192,948 คน

อย่างไรก็ดี ยังเห็นว่ามีการดำเนินงานด้านการพัฒนาแรงงานด้านอื่น ๆ และประเด็นท้าทายที่จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและสอดคล้องกับแรงงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่ต้องให้ความสำคัญและมีการวางแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่อไป เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนให้มีการจ้างงานกลุ่มเปราะบาง และประชากรเฉพาะกลุ่ม การปรับตัวของแรงงานทั้งในและนอกระบบของไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงโดยการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะและสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน หรือ Up-Skill และ Re-Skill ในสาขาที่เป็นที่ต้องการของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการบริการที่มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ การคุ้มครองแรงงานเพื่อส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าเพื่อให้แรงงานได้รับโอกาสในการจ้างงานจ้างและมีความมั่นคงในชีวิตตลอดจนมีหลักประกันทางสังคม

นายสุรชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอบคุณสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยและองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาแรงงานของประเทศ และหวังว่าผลการประชุมจะนำมาซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายด้านแรงงานด้านการจ้างงานที่มาจากความเห็นของทุกภาคส่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาแรงงานของประเทศต่อไป

 

ปทุมธานี - จัดพิธีมอบเงินพระราชทาน ช่วยเหลือสถานศึกษา ที่ปรับสถานศึกษาเป็นโรงพยาบาลสนามโควิด-19

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. ที่อาคารศาลารักษ์ปทุม ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานี  จังหวัดปทุมธานี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานในพิธีมอบเงินพระราชทานพระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี นางสาวกนิษฐา ทองเลิศ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 นายเทอดเกียรติ ยามโสภา รองฯผอ. สพป. ปทุมธานี เขต 2 นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี ด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเงินส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ปรับสถานศึกษาเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่กักตัว หรือศูนย์พักคอย ให้แก่ผู้ป่วย COVID - 19

ซึ่งหลังจากภารกิจเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่กักตัว หรือศูนย์พักคอยแล้วเสร็จ และเมื่อมีการส่งคืนพื้นที่และอาคารสถานที่ให้แก่สถานศึกษาแล้ว สถานศึกษาแต่ละแห่งอาจมีภาระต้องชำระค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารให้คืนสู่สภาพเดิมเพื่อจัดการเรียนการสอน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้ความร่วมมือปรับสถานศึกษาเป็นโรงพยาบาลสนาม 1 แห่ง จำนวน 50 เตียง และปรับสถานศึกษาเป็นศูนย์พักคอย 3 แห่ง จำนวน 67 เตียง รวมทั้งสิ้น 117 เตียง บัดนี้หน่วยงานที่เข้าใช้ ได้ส่งคืนพื้นที่และอาคารสถานที่ให้แก่สถานศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

“อลงกรณ์” เสนอยกระดับสถาบันอาหารเป็นองค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Organization) ชี้ปี 2565 คือปีแห่งโอกาสของอุตสาหกรรมอาหาร หลังตัวเลขส่งออกสินค้าเกษตรโตต่อเนื่อง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเสวนาภายใน งาน NFI Talk ครั้งที่ 1 “เดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทย ปี 2565” ในวาระครบรอบ25ปีของสถาบันอาหาร (National Food Institute)โดยมี ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน  นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติและทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมในงานเสวนาผ่านระบบ ZOOM โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์ที่มีต่อประเด็นท้าทายใหม่ๆ ในการเดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทยปี 2565 และในอนาคต และจุดประกายแนวคิดในดำเนินธุรกิจและปรับกลยุทธ์องค์กรพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในโลกยุค Next normal

โดยการเสวนามีประเด็นในหัวข้อการดำเนินงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และบทบาทของภาครัฐต่อทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนภาคเกษตรและอาหารของประเทศไทยในปี 2565 และระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของภาคธุรกิจ กลยุทธ์การแข่งขันและการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมอาหารในโลกยุคหลังโควิด-19 และสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจและแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารปี 2565 เทรนด์ธุรกิจโลกหลังยุคโควิด-19 และโอกาสผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนภาคเกษตรและเกษตรแปรรูปของประเทศไทยปี 2565

นายอลงกรณ์ กล่าวว่าแม้จะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคจากมาตรการปัองกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของประเทศคู่ค้าแต่ด้วยการขับเคลื่อนปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์บนความร่วมมือกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันเกษตรกรและภาควิชาการเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรไทยทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมขยายตัวแบบต่อเนื่องและส่งแรงดันต่อไปถึงปีหน้าสะท้อนผลสำเร็จจากตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตร 10 เดือน (ม.ค.-ตุลาคม) มีมูลค่าถึง 677,955 ล้านบาท เติบโต24.5 %และเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือนเฉพาะเดือนตุลาคมส่งออก66,048 ล้านบาทขยายตัว 22 %

ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 10 เดือนมีมูลค่า494,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น3.8 %และขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือนติดต่อกันโดยเฉพาะเดือนตุลาคมส่งออก56,543 ล้านบาทขยายตัว13 % อันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการในมิติใหม่ได้แก่

การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยการใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่า(Supply-Value Chain)ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนและการส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์ การพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร การขับเคลื่อนระบบPre order ระบบประกันสินค้า ระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)และการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร(Branding)ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพและและมาตรฐานสินค้าเกษตร

และการสนับสนุนส่งเสริมสินค้าใหม่ๆและตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพเช่น อาหารแห่งอนาคต(Future food) อาหารฮาลาล(Halal food)และโปรตีนทางเลือกใหม่จากพืชและแมลง ประการสำคัญคือการพัฒนาโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องจนสามารถเปิดด่านการส่งออกผลไม้ระหว่างไทยกับจีนที่ผ่านประเทศที่ 3 ได้สำเร็จเพิ่มเป็น 16 ด่าน และการเตรียมความพร้อมในการใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยขนส่งสินค้าไปทุกมณฑลของจีนและเชื่อมโยงไปเอเซียกลาง เอเซียใต้ ตะวันออกกลางและ ยุโรป

 

ตำรวจยังเข้ม!! ‘ผบ.ตร.’ สั่งทุกพื้นที่กวดขันมาตรการโควิด ตรึงชายแดน - สกัดต่างด้าว! ส่วนสถานบันเทิง รอก่อน

30 พ.ย. 64 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้เผยแพร่แนวทางการดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ล่าสุด คือ ยกเลิกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม), ยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศ, ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้การเดินทางเข้ามาในประเทศสะดวกมากยิ่งขึ้น คือ ผู้เดินทางที่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง เมื่อเดินทางถึงไทยให้ตรวจด้วยชุดตรวจ ATK เท่านั้น และเปิดพื้นที่กักตัวแรงงานข้ามชาติใน 5 จังหวัด คือ ตาก ระนอง หนองคาย มุกดาหาร และสระแก้ว 

เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าประเทศและเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการควบคุมโรค นอกจากนี้ยังให้ สถานบันเทิง ผับ บาร์ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) และพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) เตรียมความพร้อมการเปิดดำเนินการ โดยให้ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ระบบระบายอากาศ และเร่งรัดให้บุคลากรได้รับวัคซีน 100% และให้ซักซ้อมความเข้าใจมาตรฐานเพื่อให้ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ทำการประเมินและออกใบอนุญาตต่อไป นั้น  

ล่าสุด กรุงเทพมหานครได้ออกประกาศ เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 47) เพื่อให้การดำเนินการมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่แบบบูรณาการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นการผ่อนคลายให้บางสถานที่สามารถดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ภายใต้เงื่อนไขเวลา การจัดระเบียบ และมาตรการการป้องกันที่ทางราชการกำหนด เพื่อการดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จึงมีมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ให้ผ่อนคลายมาตรการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสรุปได้ดังนี้

 

>>ให้ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์  คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน และ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ในระดับSHA ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สามารถให้บริการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ถึง 23.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

>> สถานที่อื่นนอกจากที่ได้เคยมีคำสั่งให้ปิดสถานที่และได้รับการผ่อนคลายจากประกาศนี้ให้เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และ มาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เช่น มาตรการ DMHTTA มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะโดยเคร่งครัด และ ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีการกำชับอย่างต่อเนื่อง ไปยังหน่วยงานตำรวจทั่วประเทศ โดยเสริมจากแนวทางการดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของ ศบค. ให้กวดขันสถานประกอบการในพื้นที่สถานที่ที่จะเป็นคลัสเตอร์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  รวมถึงสถานบริการ บ่อนการพนัน ที่อาจลักลอบดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย หากพบพื้นที่ใด มีการปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิด ผู้บังคับการที่ควบคุมพื้นที่นั้นๆ จะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย  หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด จะดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดให้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ครั้งที่ 62/2564 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 

โดยมี พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รองจเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน ได้มีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการกวดขันสถานบริการที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด ทั้งสถานบริการ บ่อนการพนัน และสถานที่ที่จะเป็นคลัสเตอร์ของการแพร่ระบาดของโควิด-19, เพิ่มความเข้มงวดมาตรการป้องกันและสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมือง การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด อาวุธสงคราม และสินค้าผิดกฎหมาย ตามแนวชายแดน และให้กำกับดูแลการจัดกิจกรรม ที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก

ประจวบคีรีขันธ์ - ผวจ.ประจวบฯ เปิดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เชิงรุก!! สู่เป้าหมาย 100 ล้านโดส

นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เชิงรุก ที่โรงยิมเนเซี่ยม 2 สนามกีฬากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายแพทย์วรา เศลวัตนะกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ นายแพทย์ศุภฤทธิ์ เฮงคราวิทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ นายสินาทร โอ่เอี่ยม ปลัดจังหวัดฯ นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมพิธี มีบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ มาให้บริการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้า เข็ม 1 สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนทางระบบหมอประจวบพร้อม Version2 ลำดับคิวที่ 1,201-1,700 และผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 การให้บริการวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เข็ม 2 สำหรับผู้ที่ไม่ได้มาตามนัดเดิม (มีใบนัด) จำนวน 100 ราย และการให้บริการวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เข็ม 3 สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม (ที่มีรายชื่อตามประกาศของ สสจ.ประจวบคีรีขันธ์) จำนวน 100 ราย

นายแพทย์ศุภฤทธิ์ เฮงคราวิทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลรณรงค์สัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีนสู่เป้าหมาย 100 ล้านโดส ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2564 โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ จึงได้เปิดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เชิงรุก นอกสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนให้ถึงตามเป้าหมายภาพรวมทั้งประเทศ ส่วนประชาชนที่ยังเป็นกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของวัคซีนหรือยังรอชนิดวัคซีนที่ต้องการ จะมีการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อจะได้มาเข้ารับการฉีดวัคซีนในครั้งต่อไป

นราธิวาส - ผบ.กองกำลังเทพสตรี ตรวจช่องทางธรรมชาติ หวั่น!! โควิด ‘โอมิครอน’ แพร่ข้ามชาติ

พล.ต.วรเดช เดชรักษา ผบ.กองกำลังเทพสตรี/ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ได้เดินทางมายังด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก เพื่อเป็นประธานประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.อ.กำธร ศรีเกตุ รอง ผบ.ฉก.นราธิวาส พ.ต.ท.ธีระโชติ  ปฐมวณิชกะ ผบ.ร้อย ตชด.447 เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร เจ้าหน้าที่ทหารพราน ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ทหารชุดควบคุมป้องกันชายแดน ในการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน OMICRON ที่พบการแพร่ระบาดในประเทศมาเลเซีย

ซึ่งในที่ประชุม พล.ต.วรเดช เดชรักษา ผบ.กองกำลังเทพสตรี/ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ได้รับฟังการบรรยายสรุปของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยว โดยภาพรวมมีมาตรการที่เคร่งครัด สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างดี โดยเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าตั้งอยู่ในความประมาท เนื่องจากทราบว่า สายพันธุ์ติดโดยง่ายและไม่มีการแสดงอาการให้เห็น ซึ่งทุกคนถือว่าสุ่มเสี่ยงอย่าตั้งอยู่ในความประมาท

โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กองกำลังที่ถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่แนวพรมแดน ทั้ง ตชด. ชุดควบคุมป้องกันชายแดน เจ้าหน้าที่ทหารพราน เราได้ปฏิบัติหน้าที่มากว่า 2 ปีแล้ว ต้องพยายามสร้างการข่าวและดึงชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ในการชี้เบาะแสเพื่อทำลายเครือข่ายกลุ่มขบวนการคนนำพาโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่ลักลอบเข้าตามช่องทางธรรมชาติ เพราะคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงในการนำพาโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาแพร่ระบาด จึงถือว่าการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคได้ถูกจุด

ต่อมา พล.ต.วรเดช เดชรักษา ผบ.กองกำลังเทพสตรี/ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ได้เดินทางไปเยี่ยมกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามช่องทางธรรมชาติ บริเวณบ้านน้ำตก ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางธรรมชาติ ที่กลุ่มขบวนการนำพาแรงงานต่างด้าว ลักลอบหลบหนีข้ามแดนจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้พบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กองกำลัง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top