Saturday, 4 May 2024
แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน - ทพ.36 ออกลาดตระเวนทางน้ำทางบก เพื่อป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย การกระทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยริมฝั่งลำน้ำสาละวิน ขณะที่สถานการณ์ฝั่งเมียนมายังไม่สงบ

สถานการณ์การสู้รบในฝั่งเมียนมา บริเวณริมน้ำสาละวิน ตลอดค่ำคืนที่ผ่านมา ทางฝ่ายความมั่นคงระบุ ยังได้ยินเสียงปืนจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านต่อเนื่อง บริเวณฐานด๊ากวิน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ บ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ กรณีที่จะมีการอพยพของราษฏรกะเหรี่ยงเพิ่มเติม หากทางทหารเมียนมายังใช้การปฏิบัติการทางอากาศโจมตี

ขณะที่ทาง เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36   ฐานปฎิบัติการบ้านแม่สามแลบ ออกลาดตระเวนทางน้ำ ตั้งแต่ท่าเรือจุดผ่อนปรนแม่สามแลบ  ถึง ท่าเรือบ้านสบเมย  อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยทำการลาดตระเวนทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อตรวจสอบ/สกัดกั้น ป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย  การลักลอบลำเลียงยาเสพติด การลักลอบขนอาวุธสงคราม  หรือ การกระทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ และ การ ติดตามสถานการณ์เพื่อความปลอดภัยของประชาชนชาว การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามแนวริมฝั่งลำน้ำสาละวิน  

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ยังคง ตั้งจุดตรวจบริเวณหน้า ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ ห้ามบุคคลภาพนอก และสื่อมวลชน เข้าไปในพื้นที่ บ้านแม่สามแลบ ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย ที่ผ่านมา พร้อมปิดจุดผ่อนปรนการค้านบ้านแม่สามแลบ และ ห้ามเดินเรือในแม่น้ำสาละวิน  ขณะที่ราษฏรไทยบ้านแม่สามแลบที่อพยพอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย บ้านห้วยกองก๊าด ยังคงได้รับความดูแลจาก องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ ในการเปิดรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือ การทำอาหารแจกจ่ายให้ราษฏรในพื้นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ทางหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 นำรถโมบายเคลื่อนที่มาให้บริการแจกจ่ายน้ำอุปโภคให้แก่ราษฎร จากยอดที่เดินทางเข้าครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 เมษายน  450 คน ปัจจุบันเหลือเพียง 208 คน ส่วนหนึ่งกลับไปอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน - องค์กรภาคประชาสังคมบรรเทาทุกข์กะเหรี่ยง เร่งให้ความช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยสงครามการสู้รบตามแนวชายแดนริมฝั่งลำน้ำสาละวิน

คณะทำงานองค์กรภาคประชาสังคมบรรเทาทุกข์กะเหรี่ยง ได้แจ้งจำนวนผู้หนีภัยจากการสู้รบล่าสุด ว่ามีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่กองพล 5 มือตรอ รัฐกะเหรี่ยง อย่างน้อย 1,193  ครัวเรือน 7,389  คน ในจำนวนนี้มีที่หนีภัยมายังฝั่งไทย 3,112 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้หญิง ในขณะที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงส่วนใหญ่พยายามซ่อนตัวอยู่ตามป่าและลำห้วยในรัฐกะเหรี่ยง และทนให้ได้มากที่สุดเพื่อไม่ให้ต้องหนีมายังฝั่งไทย แต่หากทหารพม่าโจมตีหนักขึ้นก็อาจจำเป็นต้องข้ามเข้ามาอยู่ทางฝั่งไทย

คณะทำงานเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-เมียนมา ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปยังพี่น้องร่วมโลกกลุ่มนี้ เนื่องจากเส้นทางขนส่งทุรกันดารมาก เพราะไม่สามารถส่งทางเรือได้ สำหรับความต้องการเร่งด่วนคือข้าวสาร อาหารแห้ง เวชภัณฑ์ เต้นท์ ผ้าใบที่ไม่มีสีสดที่เห็นชัดเจน (สำหรับกางกันแดดและฝน) เป้สะพายสำหรับเด็ก (ใช้สำหรับใส่สิ่งของให้เด็กสะพายหากต้องหนีภัย) ป้ายชื่อ (สำหรับเขียนชื่อเด็ก พ่อแม่ และชื่อหมู่บ้าน ในกรณีพลัดหลง) ท่านใดต้องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถสนับสนุนทุนได้ที่ บัญชี ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ธ.กรุงไทย สาขาแม่สะเรียง 509-0-07563-8  โดยที่เงินทุนจะนำไปซื้อสิ่งของบรรเทาทุกข์และค่าใช้จ่ายในการขนส่งหรือส่งข้าวสาร อาหารแห้ง เวชภัณฑ์ ฯลฯ ตามรายการข้างบน (งดรับเสื้อผ้า) โดยส่งไปที่  ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน 7 หมู่ 2 ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 58110


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน - ชายแดนสงบต่อเนื่อง ชาวบ้านรอให้ทางการเปิดพื้นที่ จุดผ่อนปรนจะได้ทำมาค้าขายได้ หลังประสบความเดือดร้อนทั้งพิษโควิด-19 และภัยสงคราม ไม่สามารถค้าขายได้

ภายหลังจากที่สถานการณ์สู้รบริมฝั่งลำน้ำสาละวิน แนวโน้มดีขึ้น การสู้รบเริ่มสงบ ทั้งด้านฝั่งตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ  ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย  และ ฝั่งตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และฝ่ายความมั่นคงได้ประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยยอมให้ชาวบ้านแม่สามแลบและบ้านท่าตาฝั่งกลับเข้าพักอาศัยบ้านตามเดิม  หลังจากย้ายไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยตั้งแต่เกิดความไม่สงบ วันที่ 27 เมษายน  ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากฝั่งประเทศเมียนมา 2,318 คน ยังกระจายอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 4 จุด คือ บริเวณห้วยอีนวล  320 คน บริเวณห้วยโกเฮ 72 คน บริเวณหอยอูมปะ 1,767 คน บริเวณ 159 คน  ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง  

ขณะที่ราษฏรบ้านแม่สามแลบ ที่เดินทางกลับไปอยู่บ้านเรือน ร้านค้าริมน้ำ ได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ร้านค้าบางร้านเริ่มเปิดขายแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายร้านที่ยังรอดูท่าที เนื่องจากคนน้อย ประกอบกับ ทางเจ้าหน้าที่ยังปิดพื้นที่บ้านแม่สามแลบ ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าเนื่องจากป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  อย่างไรก็ตามชาวบ้านแม่สามแลบอยากให้ทางหน่วยงานพิจารณาเรื่องการเปิดพื้นที่ และ การเปิดจุดผ่อนปรนการค้า เพื่อที่จะได้มีรายได้ มีงานมีอาชีพ ร้านค้าจะได้เปิดขายได้ เพราะที่ผ่านมา จุดผ่อนปรนได้ปิดมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ราษฏรที่มีอาชีพรับจ้างบริเวณท่าเรือตกงานไม่มีงานทำมานานนับปี นอกจากปัญหาการแพร่ระบาดโรคคิด19 แล้ว ยังมาประสบปัญหาเรื่องการสู้รบของประเทศเพื่อนบ้านอีกที่ผ่านมา ทำให้ราษฏรแม่สามแลบไม่เป็นอันทำมาหากิน ต้องระวังทั้งโรคต้องระวังทั้งสงคราม หากทางฝ่ายความมั่นคงได้พิจารณาเรื่องความปลอดภัยแล้ว อยากเร่งพิจารณาเรื่องการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าด้วย

ขณะที่ทางฝ่ายความมั่นคงยังคงปิดพื้นที่บ้านแม่สามแลบไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า เนื่องจากเกรงปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร  

แม่ฮ่องสอน - ฝ่ายความมั่นคง ยืนยันชัดไม่มีกองกำลังใด ๆ เดินทางเข้ามายังชายแดนแม่สามแลบ และไม่มีการสู้รบในพื้นที่ริมฝั่งลำน้ำสาละวินมา 12 วันแล้ว

ภายหลังจากมีกระแสข่าวว่า จะมีบุคคลแปลกหน้า ที่คาดว่าจะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF กว่า 100 นาย เดินทางจาก อ.แม่สอด จ.ตาก เตรียมเข้ามาในพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวิน รวมไปถึงการแชร์ข้อความแจ้งเตือนประชาชนในเพจเครือข่ายต่าง ๆ โดยมีการ ระบุข้อความ ว่ามีรถขนกองกำลังดังกล่าว มาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก 5-6 คัน จนเป็นเหตุให้ราษฏรในพื้นที่แม่สามแลบเกิดความหวาดกลัวไม่อยากให้มีสงครามกันขึ้นอีก

ด้านฝ่ายความมั่นคง ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่ชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน บริเวณริมแม่น้ำสาละวิน ไม่มีปฏิบัติการทางทหาร ไม่มีการสู้รบในฝั่งเมียนมา เงียบสงบมาเป็นระยะเวลา 12 วัน สถานการณ์เข้าสู่ภาะวะปกติ จึงขอชี้แจ้งข้อเท็จจริงว่า กระแสข่าวที่บอกว่าจะมีบุคคลแปลกหน้าหรือกองกำลังพิทักษ์ชายแดนเดินทางมานั้น เป็นข่าวเท็จ ส่วนกรณีมี รถทหารที่เดินทางเข้าออกพื้นที่บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย  จ.แม่ฮ่องสอน ในช่วงนี้เป็นเพียงการสับเปลี่ยนกำลังของทหารในพื้นที่เท่านั้น และฝ่ายทหารยืนยันว่า เรามีจุดยืน เป็นกลางไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีหน้าที่ทำให้ประชาชนปลอดภัย และรักษาอธิปไตย


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน - ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ตำบลแม่สามแลบ มอบนโยบายการทำงาน รับเรื่องร้องทุกข์และปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายนราธิป เสมแย้ม ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมคณะ ฯ  เดินทางลงพื้นที่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  โดยมีนายผะอบ บินสะอาด นายอำเภอสบเมย   นายไตรรัตน์ วนาสิริสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอสบเมย เจ้าหน้าที่ทหารพราน เจ้าหน้าที่ อบต.แม่สามแลบ ประชาชนชาวตำบลแม่สามแลบ ร่วมให้การต้อนรับด้วยความยินดี ก่อนเดินทางลงพื้นที่บนดอยสูง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน แวะกราบขอพร  พระธาตุแม่สามแลบ ณ จุดชมวิวบ้านแม่สามแลบ ซึ่งจุดนี้ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำสาละวินได้ชัดเจนและสวยงาม เป็นอีกหนึ่งแห่งที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ของอำเภอสบเมยได้   

จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และคณะ เดินทางไปยังหมู่บ้าน บุญเลอ หมู่ที่ 5 และ หมู่บ้านกลอเซโล หมู่ที่ 6 ตำบลแม่สามแลบ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเดินทางกว่า 1 ชั่วโมง  เพื่อไปเยี่ยมชมจุดชมวิวทะเลหมอกกลอเซโล ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่ของนักท่องเที่ยวที่นิยมการเดินทางแบบ adventure  ณ จุดชมวิวทะเลหมอกสองแผ่นดินกลอเซโลนี้ เป็นจุดชมวิวที่มีความสวยงามของทะเลหมอกเป็นอย่างมาก สามารถมองเห็นแม่น้ำสาละวินที่ทอดยาว กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา  จุดชมวิว ทะเลหมอกกลอเซโล อยู่ในในพื้นที่ความรับผิดชอบ ขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ยังคงดำเนินวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ร่วมประชุมและมอบนโยบายในการทำงานด้านต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับรับเรื่องร้องทุกข์จากชาวบ้าน เช่น ปัญหาการคมนาคม ไฟฟ้า ปัญหาสิทธิที่ทำกิน ปัญหาแหล่งน้ำ ปัญหาไฟป่า และการสื่อสาร เป็นต้น

 


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา  / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 

แม่ฮ่องสอน – อำเภอแม่สะเรียง ปล่อยแถว กวาดล้างแรงงานต่างด้าว

นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอแม่สะเรียง เป็นประธาน ปล่อยแถวระดมพลบูรณาการร่วมหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบเข้าประเทศและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ณ ลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  ซึ่งตามมติที่ประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยอำเภอแม่สะเรียง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บูรณาการร่วมกันดำเนินการตรวจตราโรงงาน สถานประกอบการ หอพัก และสถานที่ต่างๆในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง ป้องกันและปราบปรามการลักลอบเข้าประเทศและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ซึ่งอาจจะมีเชื้อกลายพันธุ์แพร่ระบาดจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 
 

แม่ฮ่องสอน - โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง พื้นที่ใกล้การสู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ชูแผนการสอนตามบริบท ให้เด็กได้รู้ทักษะการใช้ชีวิตในภาวะสงคราม เน้นความปลอดภัยและฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กเป็นสำคัญ

นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง เปิดเผยว่า เดิมกระทรวงศึกษาธิการ ให้เปิดการเรียนการสอน ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่จากการประเมินความพร้อมตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของโรงเรียน ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่ยังคงมีการปะทะอย่างต่อเนื่องจากกองกำลังทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลให้โรงเรียนที่กำลังจะเปิด จึงเลื่อนการเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 อย่างไรก็ตาม หากเปิดทำการเรียนการสอนแล้ว แต่ยังคงมีสถานการณ์แทรกซ้อน โรงเรียนมีเป้าหมายหลัก คือ ให้ความสำคัญ เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เป็นสำคัญ ซึ่งหากเกิดเหตุได้เตรียมแผนรวบรวมพลเรือน อพยพเข้าไปยังจุดรวมพล พร้อมจัดสรรที่พักอาศัยและอาหาร เรียบร้อยแล้ว  

ส่วนแผนการเรียนการสอนจะปรับรูปแบบการเรียนการสอน บนฐาน "ทุนที่เรามี" "บริบทที่เราเป็น" และ "พรุ่งนี้ที่อยากเห็น" ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มากที่สุด เน้นการออกแบบโดยใช้สถานการณ์ (Phenomenon Based Learning) เช่น ในภาวะสงครามเช่นนี้ จะสร้างทักษะชีวิตด้านใดให้กับนักเรียน การพักอาศัยอยู่ในป่าต้องทำอย่างไร รวมถึงการบริหารจัดการ เรื่องความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เป็นต้น และที่นี่สอนได้แต่แบบออนไซท์เพราะมีเพียงไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ยังไม่เพียงพอ อินเทอร์เน็ตที่สัญญาณต่ำมากไม่เสถียร และยังขาดอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็กอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ในห้วงที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้ร่วมกับคริสตจักรบ้านท่าตาฝั่ง เยียวยาเรื่องสภาพจิตใจของนักเรียน ผู้ปกครอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและเด็ก ๆ เนื่องจากก่อนหน้านี้เด็กต้องหนีภัยสงคราม ที่ยากกว่านั้นเด็ก ๆ ต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพราะยังกลัวกับเสียงปืนและระเบิด ครูจึงต้องปรับการสอนฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กอันดับแรก ในขณะนี้เด็ก ๆ ยังอยู่กับครอบครัว ญาติพี่น้อง ในอนาคตหากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ทางโรงเรียนจะเตรียมความพร้อมเรื่องที่พัก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมให้กับนักเรียนต่อไป


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน - เด็กหนุ่มวัย 27 ปี ผันชีวิตจากเมืองเชียงใหม่ หลังพิษโควิดเล่นงาน กลับบ้านเปิดร้านกาแฟ “CAMP 29 CUP - Slowbar & Grill” แนวแคมป์รายแรก

ณ บริเวณหน้าสวนรุกขชาติห้วยชมภู อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีคนคอยรอรับบริการร้านกาแฟเล็กริมทาง แนวแคมป์ปิ้ง เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการได้แวะเข้าไปพูดคุยกับ  นายกิตติคุณ  กวางทู อายุ 27 ปี เจ้าของ CAMP 29 CUP - Slowbar & Grill เปิดเผยถึงความเป็นมาของร้านกาแฟเล็ก ๆ แห่งนี้ด้วยความภาคภูมิใจว่า ชื่อร้านประกอบด้วย CAMP คือ การตั้งแคมป์ปิ้ง 29 คือ เลขวันเกิด ส่วน CUP มาจากแก้วกาแฟเล็ก ๆ ซึ่งได้ออกตัวว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้เรียนทำเครื่องดื่มหรือเป็นบาริสต้ามาโดยตรง ก่อนที่จะมาจุดนี้ทำร้านเล็กแบบนี้ได้เปิดร้านหม่าล่าที่เชียงใหม่ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดระลอกแรกทำพิษ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งค่าเช่า ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ จนกระทั่งประมาณปลายปีที่แล้ว จึงตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านอำเภอแม่สะเรียง เพื่อลดค่าใช้จ่ายทั้งหมด

หลังจากกลับมาอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียงที่เป็นบ้านเกิด จึงคิดจะเปิดร้านเพื่อสร้างรายได้ไปพร้อม ๆ กับการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย  ซึ่งปกติจะเปิดร้านหม่าล่าที่บ้าน และเป็นคนชอบกินกาแฟ และมีเพื่อน ๆ ชอบในสิ่งที่เราทำเหมือนกันจึงทำกาแฟเสริมกับกิจการหม่าล่าที่ทำอยู่ ประกอบกับตัวเองเป็นคนเบื่อง่าย จึงพยายามปรับเปลี่ยนสถานที่ในการกินกาแฟไปพร้อม ๆ กับการพักผ่อน ชื่นชมธรรมชาติ ถ่ายรูป ในลักษณะของการตั้งเป็นแคมป์เล็ก ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคอกาแฟในอำเภอแม่สะเรียง เริ่มให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ในแต่ละวันจะออกแคมป์ที่ไหนเจ้าของร้านจะแจ้งผ่านเพจCAMP 29 CUP - Slowbar & Grill  ให้ติดตามกัน

สำหรับจุดเด่นของร้านที่อยากให้ลองมาชิม คือ ROK Espresso ใช้เมล็ดกาแฟจากหลายพื้นที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นเป็นกาแฟผลไม้ ราคาอยู่ที่ 30 บาทขึ้นไป  เมนูในแคมป์มีทั้ง กาแฟสกัดเย็น โมกาพอต (Mokapot) ลาเต้ คาปูชิโน่ กาแฟดริป ชา โซดาผลไม้ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเข้าร่วมโครงการเราชนะและคนละครึ่งของรัฐบาล เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำเงินให้ได้เช่นเดียวกัน


ภาพ/ข่าว สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน - นพค.36 ส่งมอบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบนำหลักทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์สู่ “ โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชน

นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ,นายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน รับมอบบ่อกักเก็บน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ของนายประเสริฐ จันทร์โอภาส บ้านกลาง หมู่ 7 ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการปรับพื้นที่และขุดบ่อกักเก็บน้ำ สำหรับแปลงพื้นที่ของนายประเสริฐ จันทร์โอภาส เป็นแปลง CLM พื้นที่ขนาด 15 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ กับกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการปรับพื้นที่โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 และขุดบ่อกักเก็บน้ำจำนวน 5 บ่อ และขุดคลองไส้ไก่เพื่อนำน้ำไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งเมื่อได้ดำเนินการปรับพื้นที่แล้วจะได้มีการเอามื้อสามัคคีในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

นายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า โครงการโคก หนอง นา โมเดล โดยพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เข้าดำเนินการในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้ง 7 อำเภอ  25 ตำบล 103 หมู่บ้าน แบ่งเป็นขนาดพื้นที่ 1 ไร่ 3 ไร่ จำนวน 99 แปลง และพื้นที่ 10 ไร่ขึ้นไป จำนวน 4 แปลง ซึ่งพื้นที่ของหมู่บ้านกลาง ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ที่รับมอบจาก นพค.36 ดังกล่าว เป็นของนายประเสริฐฯ มีพื้นที่จำนวน 15 ไร่ และขุดบ่อเก็บน้ำ 5 บ่อ สำหรับแปลงนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือการปรับพื้นที่ หลังจากปรับพื้นที่เสร็จก็จะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ 9 ฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดใกล้เคียงในการศึกษาเรียนรู้โครงการ “ โคก หนองนา โมเดล”

หลังจากจัดทำศูนย์เรียนรู้เสร็จ จะนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นำศาสตร์พระราชา มาประยุกต์สู่ “โคก หนองนา โมเดล” ในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนบ่อกักเก็บน้ำที่ขุด จำนวน 5 บ่อ นอกจากจะเลี้ยงปลาแล้ว น้ำในบ่อก็จะใช้ในการทำการเกษตรของโครงการและเกิดความชุ่มชื้นในพื้นที่ มีแปลงนา มีการปลูกป่า 5 ระดับ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไปจนถึงการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็น สุกร อย่างเป็นรูปธรรมและสร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชนอย่างยั้งยืน


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน - ททท.แม่ฮ่องสอน จัดส่วนลดโรงแรม 7 อำเภอ เพิ่มกิจกรรม ‘เดินป่าหน้าฝน’ เตรียมพร้อมการท่องเที่ยว” สามหมอก...หยอกฝน”

นายโยธิน ทับทิมทอง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ททท.แม่ฮ่องสอน ได้เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 ไว้แล้ว โดยเป็นแผนเตรียมพร้อมหลังจากเปิดจังหวัด ซึ่งในเรื่องนี้ทางจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสิธิชัย จินดหาหลวง  ได้มีการเตรียมนโนบายและแนวทางในการดำเนินการไว้เบื้องต้นแล้ว ทาง ททท.จึงได้เตรียมแผนรองรับและส่งเสริมการท่องเที่ยว ในไตรมาส 4 ที่อยู่ในระหว่างฤดูฝน หรือกรีนซีซั่น

ในฤดูท่องเที่ยวกรีนซีซั่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเสน่ห์เป็นอย่างมาก หากนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในระยะนี้ จะพบเจอกับบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยความงาม จากหุบเขาสีเขียวทั้งจังหวัด รวมถึงความของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ  ซึ่งนักท่องเที่ยวที่กำลังวางแผนเดินทางมาท่องเที่ยวภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะพบว่าการท่องเที่ยวที่นี่ มีจุดเด่นคือไม่แออัด คนไม่พลุกพล่าน ส่วนผู้ประกอบการเริ่มทยอยเปิดกิจการร้านค้า ปฏิบัติตามมาตรการภายใต้สถานการณ์โควิด อย่างไรก็ตาม ทาง ททท. ได้วางแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไป และเน้นย้ำให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังตนเอง สำหรับแผนในระยะสั้น ได้วางแผนร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรมทั้ง 7 อำเภอ จัดโปรโมชั่น มอบส่วนลด โดยใช้ชื่อว่า แฮปปี้ เรนนี่ ซีซั่น (HAPPY RAINNIE SEASON) และอีกหนึ่งกิจกรรมสำหรับสายลุย คือการ “เดินป่าหน้าฝน” โดยจะจัดนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ท่องเที่ยวชมป่า

ทั้งนี้ ททท.คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวในภาคเหนือในระยะอันใกล้นี้ มีความสำคัญมาก เนื่องจากข้อมูลสถิติที่เก็บในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 40 เดินทางมาจากภาคเหนือด้วยกัน จึงได้วางแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยเจาะกลุ่มภาคเหนือก่อน ถือเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวในระยะใกล้ อาจร่วมกับบริษัทนำเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ เสนอขายทัวร์ให้กับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ที่สำคัญต้องเน้นย้ำมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดในการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / รุจิรา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top