Monday, 17 June 2024
เลือกตั้ง

‘ก้าวไกล’ ผุดไอเดียค่าไฟ ปลดล็อกสายส่ง ตัดวงจรนายทุน เปิดเสรีให้ ปชช.เลือกซื้อไฟฟ้าที่มีราคาถูกที่สุดได้เอง

‘วรภพ’ ชี้ รัฐบาลประยุทธ์ขึ้นค่าไฟ-ทิ้งทวนอนุมัติโรงไฟฟ้าอีก 763 เมกะวัตต์ เยอะเกินจำเป็น ยิ่งปล่อยให้มีรัฐบาลเอื้อทุนพลังงาน ยิ่งสร้างภาระประชาชน ชูนโยบายก้าวไกล ‘ปลดล็อกสายส่ง’ ประชาชนซื้อไฟฟ้าราคาถูกได้เอง-ลดค่าไฟ 70 สตางค์/หน่วย ภายใน 1 ปี

(25 มี.ค.66) นายวรภพ วิริยะโรจน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาค่าไฟแพงว่า รัฐบาลเพิ่งประกาศขึ้นค่าไฟบ้านเรือนงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 อีก 5 สตางค์/หน่วย ทั้ง ๆ ที่ ราคาก๊าซ LNG นำเข้าที่รัฐบาลชอบอ้าง จะลดลงมาแล้ว 60% จากเมื่อสิ้นปี อีกทั้งปัญหาเดิมเรื่องประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเยอะเกินความต้องการ 60% ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข รัฐบาลชุดนี้กลับทิ้งทวนก่อนหมดอำนาจด้วยการอนุมัติโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 763 เมกะวัตต์ และทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนยาวไปถึง 29 ปี ตามเอกสารแจ้งตลาดหลักทรัพย์ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

นายวรภพ กล่าวว่า ตนต้องทวนย้ำอีกครั้ง เมื่อปี 2562 ก่อนการเลือกตั้ง 2 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งประเคนสัญญาโรงไฟฟ้าให้เอกชนเพิ่ม 1,940 เมกะวัตต์ มาคราวนี้เลือกตั้งปี 2566 รัฐบาลเร่งอนุมัติโรงไฟฟ้าให้เอกชนเพิ่มแบบทิ้งทวนอีก ทั้ง ๆ ที่ปี 2561 และปี 2565 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดไป 58% จนกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ 12 โรง แต่ 7 โรง ไม่ได้เดินเครื่องเลยแม้แต่วันเดียว

นายวรภพ กล่าวอีกว่า โรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายก็จะเป็นประชาชนที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจากสัญญาที่รัฐบาลทำไว้กับเอกชนตลอดระยะเวลา 29 ปี และยังเป็นการอนุมัติสัญญาโรงไฟฟ้าทิ้งทวนแบบเร่งรีบ โดยที่รัฐบาลเตะถ่วงการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) ให้ล่าช้ามาแล้ว 1 ปี จากที่ควรออกมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะถ้านำข้อมูลจริงมาทบทวนก็จะรู้ว่ายังไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องอนุมัติโรงไฟฟ้าเพิ่มในวันนี้

ยังไม่นับแผนรับซื้อพลังงานทางเลือกจากเอกชนเพิ่มอีก 5,203 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อจากเอกชนที่ทำโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งเป็นโครงการโซลาร์ขนาดใหญ่ของเอกชน ไม่ใช่บนหลังคาชาวบ้าน ที่ 2.2 บาท/หน่วย รัฐบาลยังใจดีที่จะรับซื้อแพงกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถผลิตได้เองที่ 1.5 บาท/หน่วย ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ต้นทุนของค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นในระยะยาว

‘สธ.’ ออกกฎถึงทุกหน่วยงานในสังกัด ‘ช่วงเลือกตั้ง’  ห้าม!! ทำป้ายต้อนรับ-ขอบคุณ รมต.-พรรคการเมือง ไม่ให้เข้าข่ายหาเสียง

(25 มี.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ สธ.0202.13/ว 190 ลงวันที่ 24 มี.ค. 2566 ส่งถึงทุกกรมในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1-13 สำนักงานสาธาณรสุขจังหวัด (สสจ.) รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน กอง กลุ่ม ศูนย์ สถาบัน และหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. ถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติในช่วงระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยสาระสำคัญคือ หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ ครม.

ทั้งนี้ กิจกรรมที่สามารถทำได้ตามอำนาจหน้าที่ปกติ เช่น จัดประชุมสัมมนา จัดงาน กิจกรรม การประกวดแข่งขันต่างๆ การจัดงานเทศกาลตามประเพณี ส่วนที่ห้ามทำคือ กิจกรรมใดๆ ที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมีชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง การจัดทำแผ่นป้ายต้อนรับ หรือป้ายขอบคุณพรรคการเมือง รัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สิ่งที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติ คือ ให้ความร่วมมือช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง, วางตัวเป็นกลางทางการเมือง, การแต่งตั้ง (โยกย้าย) ให้พิจารณาเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง

‘กกต.’ แจ้งยอดขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้า เผย มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 3 หมื่นคน พบ ‘กทม.’ นำโด่ง

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค.66) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้สรุปตัวเลขผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งที่เปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 25 มี.ค. 66 เป็นวันแรก โดยตัวเลขทั่วประเทศพบว่ามีผู้ลงทะเบียน 32,805 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ทางอินเตอร์เน็ตถึง 32,600 คน และลงทะเบียนที่นายทะเบียนท้องที่ 205 คน

โดยกรุงเทพ มีผู้ขอใช้ลงทะเบียนมากเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 15,202 คน ขณะที่มีผู้ลงทะเบียนหลักพันขึ้นไปประกอบด้วยปทุมธานี 1,670 ราย สมุทรปราการ 1,566 ราย

ขณะที่คนไทยได้ต่างประเทศลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวม 4,995 คน โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตถึง 4,989 คนและลงทะเบียนทางสถานกงสุลหรือสถานเอกอัครราชทูตเพียง 6 คน

‘ธนาธร’ บุกอำนาจเจริญ ชู สร้างงาน-สร้างรายได้ที่ดีในอีสาน อ้อน ปชช.กา ‘ก้าวไกล’ เปลี่ยนประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 66) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่หาเสียงในหลายจังหวัดภาคอีสาน เริ่มต้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ได้แก่ อำเภอเมือง, อำเภอปทุมราชวงศา และอำเภอชานุมาน โดยมีนายประภาส เวชกรณ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 และนายไมตรี แก้วมงคล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 ร่วมพบปะพี่น้องประชาชน นำเสนอนโยบายเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยประชาชนชาวอำนาจเจริญให้การต้อนรับผู้สมัครพรรคก้าวไกลอย่างอบอุ่น

นายธนาธร ขึ้นรถแห่ร่วมกับนายประภาส ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.อำนาจเจริญ เขต 1 ปราศรัยกลางแดดจ้านำเสนอนโยบายของพรรค โดยมีพ่อค้าแม่ค้าโบกไม้โบกมือให้การสนับสนุนตลอดทาง จากนั้น ร่วมปราศรัย ณ วัดบ้านคึมใหญ่ อำเภอเมือง ซึ่งมีพี่น้องประชาชนเดินทางมารับฟังการปราศรัยอย่างอบอุ่น

‘กรณ์’ ร่วมดีเบตเวที จ.สงขลา ยก ‘จูรี’ เป็นโรลโมเดล ปลุกความหวัง-สร้างโอกาส เติมเต็มรอยยิ้มให้คนใต้

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 66) ที่จังหวัดสงขลา นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เข้าร่วมเวทีดีเบต ‘อนาคตประเทศไทย’ โดยมี 4 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดสงขลา ได้แก่ นายจูรี นุ่มแก้ว, นายกัณฑ์ นวกัณฑ์, รศ.ดร.ประสิทธิ์ รัตนพันธ์ และนายพงศธร สุวรรณรักษา ร่วมให้กำลังใจ พร้อมด้วยกองเชียร์มาร่วมฟังการแสดงวิสัยทัศน์กันอย่างคึกคัก ซึ่งแม้ว่าจะมาจากต่างพรรคการเมือง แต่ส่วนใหญ่มาทักทายและรุมขอถ่ายรูปกับจูรี ขวัญใจคนใต้กันอย่างเนืองแน่น

โดยนายกรณ์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า โดยส่วนตัวมีความรักผูกพันกับพี่น้องชาว จ.สงขลา และเพิ่งเข้าร่วมกิจกรรมว่ายน้ำข้ามทะเลสาบสงขลาไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการว่ายต่อเนื่องเป็นปีที่สอง เพื่อร่วมกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ จ.สงขลา ทั้งนี้เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของพรรคชาติพัฒนากล้า เรามียุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้คนใต้ทุกคนมีโอกาสร่ำรวยเหมือนคนที่ชื่อ ‘จูรี นุ่มแก้ว’ ดาวติ๊กต่อก ภาคใต้ หนึ่งในว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สงขลา ที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้แทนของพี่น้องประชาชน คุณสมบัติเด่นของจูรี คือ รอยยิ้ม ยิ้มได้เพราะได้ทำงานที่ดี มีเงินในกระเป๋า มีรายได้เพียงพอ ต่อราคาสินค้าที่สูงขึ้นทุกวัน พรรคชาติพัฒนากล้าจะมาเติมรอยยิ้มให้พี่น้องชาวใต้ทุกคน ด้วยการสร้างโอกาสดี มีงานดี มีเงินในกระเป๋า ราคาสินค้าต้องไม่แพง

อย่างไรก็ตาม นอกจากรอยยิ้มแล้ว คุณสมบัติอีกอย่างของจูรี ที่พี่น้องชาวใต้ชื่นชอบ คือ การลงมือทำจริง ในช่วงที่เขาเรียนหนังสือ ขณะนั้น ครอบครัวมีฐานะยากจน จูรีต้องแบกกระสอบข้าวสารในตอนกลางวัน และช่วงค่ำมาทำงานที่เซเว่น เพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียนหนังสือ แต่หลังจากที่เขามีโอกาส สร้างรายได้หลายสิบล้าน แต่เมื่อคิดจะซื้อบ้านให้คุณแม่อุไร นุ่มแก้ว ธนาคารกลับไม่อนุมัติ เพราะเขาติดแบล็กลิสต์ในช่วงโควิด แม้ตอนนี้ชำระหนี้หมดแล้ว ก็ยังต้องติดอยู่ในระบบอีก 3 ปี ถึงจะหลุด เรื่องนี้เป็นปัญหาที่พรรคชาติพัฒนากล้าประกาศชัดว่า ต้องแก้ปัญหาให้กับพี่น้องคนไทยทั่วประเทศ ให้มีโอกาสกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบเหมือนกับที่จูรีต้องทำ

‘ทักษิณ’ มั่นใจ!! ‘พท.’ ครองเสียงข้างมาก ชนะเลือกตั้ง แต่อาจต้องตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ ยัน!! ไม่ต้องการนิรโทษกรรม

เมื่อวันที่ (25 มี.ค. 66)  นิกเคอิเอเชีย สื่อญี่ปุ่นรายงานบทสัมภาษณ์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า นายทักษิณคาดการณ์ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาบริหารประเทศไทยต่อไปจะเป็นรัฐบาลผสม ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งและสามารถคว้าเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ก็ตาม

“ผมเชื่อว่าจะเป็นรัฐบาลผสมอย่างแน่นอน” นายทักษิณกล่าว พร้อมเสริมว่า เขามีความมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะได้ที่นั่งในสภาฯ อย่างน้อย 250 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง และเขาไม่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับเขา โดยเขาจะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง แม้ว่านั่นจะหมายถึงการต้องติดคุกก็ตาม

นอกจากนี้ นายทักษิณปฏิเสธที่จะกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยกำลังตกลงกับพรรคอื่น ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ “ผมเป็นแค่ผู้ก่อตั้งพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ดังนั้น สิ่งที่ผมสามารถทำได้ คือ การสังเกตการณ์การเลือกตั้งอยู่ห่าง ๆ” นายทักษิณกล่าว

‘นิด้าโพล’ เผย ‘คนกรุงเทพฯ’ เลือก ‘ก้าวไกล’ อันดับ 1 หนุน ‘พิธา’ นั่งนายกฯ ด้าน ‘อุ๊งอิ๊ง’ พท.คะแนนสูสี อันดับ 2

(26 มี.ค. 66) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘คน กทม. เลือกพรรคไหน’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-21 มีนาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่ ทั้ง 50 เขต กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,500 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคนกรุงเทพมหานครเลือกพรรคไหน

เมื่อถามถึงบุคคลที่คนกรุงเทพมหานครจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 25.08 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล)
อันดับ 2 ร้อยละ 24.20 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย)
อันดับ 3 ร้อยละ 18.24 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ)
อันดับ 4 ร้อยละ 5.96 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)
อันดับ 5 ร้อยละ 5.68 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย)
อันดับ 6 ร้อยละ 5.20 ระบุว่า ยังหาคน ที่เหมาะสมไม่ได้
อันดับ 7 ร้อยละ 4.84 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า)
อันดับ 8 ร้อยละ 2.40 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย)
อันดับ 9 ร้อยละ 2.00 ระบุว่าเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย)
อันดับ 10 ร้อยละ 1.64 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย)
อันดับ 11 ร้อยละ 1.56 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์)

ร้อยละ 3.20 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนากล้า) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (พรรคพลังประชารัฐ) นายรังสิมันต์ โรม (พรรคก้าวไกล) นายวิกรม กรมดิษฐ์ และนายสกลธี ภัททิยกุล (พรรคพลังประชารัฐ)

เมื่อพิจารณาบุคคลที่คนกรุงเทพมหานครจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี 5 อันดับแรก เมื่อจำแนกตามกลุ่มเขตการปกครอง ของกรุงเทพมหานคร พบว่า

1.) กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง อันดับ 1 ร้อยละ 27.50 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 2 ร้อยละ 22.14 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 3 ร้อยละ 21.07 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 4 ร้อยละ 7.86 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า) และอันดับ 5 ร้อยละ 5.36 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)

2.) กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ อันดับ 1 ร้อยละ 23.72 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 2 ร้อยละ 23.49 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ร้อยละ 19.30 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 6.05 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และอันดับ 5 ร้อยละ 5.81 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)

3.) กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ อันดับ 1 ร้อยละ 29.16 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 2 ร้อยละ 24.43 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ร้อยละ 18.89 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 7.60 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) และอันดับ 5 ร้อยละ 3.49 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า)

4.) กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก อันดับ 1 ร้อยละ 24.52 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 2 ร้อยละ 22.61 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 19.35 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 7.47 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และอันดับ 5 ร้อยละ 6.71 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

5.) กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ อันดับ 1 ร้อยละ 27.09 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 2 ร้อยละ 19.60 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 16.43 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 7.20 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ในสัดส่วนที่เท่ากัน และอันดับ 5 ร้อยละ 6.34 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)

6.) กลุ่มเขตกรุงธนใต้ อันดับ 1 ร้อยละ 27.65 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 2 ร้อยละ 23.96 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ร้อยละ 14.06 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 6.68 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ และอันดับ 5 ร้อยละ 5.53 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย)

‘เอกนัฏ’ ลุยบึงกุ่ม ช่วยผู้สมัครหาเสียง-รับฟังปัญหา ปชช. เผย ‘รทสช.’ กระแสแรง ชาวบ้านพร้อมหนุนลุงตู่แบบใจต่อใจ

(26 มี.ค. 66) ที่สวนเสรีไทยเขตบึงกุ่ม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และนายเกรียงยศ สุดลาภา ผู้บริหารพรรคลงพื้นที่ช่วย น.ส.กาญจนา ภวัครานนท์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตบึงกุ่ม คันนายาว หาเสียงพบปะประชาชน โดยเดินทักทายแนะนำตัวผู้สมัครกับประชาชนที่มาเดินออกกำลังกายภายในสวนสาธารณะเสรีไทย ก่อนขึ้นรถแห่หาเสียงไปตามเส้นทางหลัก ท่ามกลางความสนใจของประชาชนที่มายืนรอต้อนรับ บางส่วนก็โบกมือให้กำลังใจ และไปเดินหาเสียงที่ตลาดเช้าหมู่บ้านสหกรณ์ รับฟังปัญหาข้อเสนอแนะจากประชาชน เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขหากได้เป็นรัฐบาล ซึ่งในเขตนี้ประชาชนให้การต้อนรับดีมาก หนุนลุงตู่แบบใจต่อใจ

นายเอกนัฏ กล่าวว่า งานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 400 เขตทั่วประเทศ มื่อวันเสาร์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นความพร้อมเพรียงอย่างเต็ม 100% ของว่าที่ผู้สมัครทุกคนตั้งแต่ตนทำงานด้านการเมืองมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทุกคนที่มีจิตอาสาจะมาทำงานเพื่อส่วนรวมไม่ว่าจะมาจากที่ไหน ก็ตั้งใจที่จะมารวมกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งทางพรรคเองก็ได้มีการประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค โดยเป็นการลงมติเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคในคืนก่อนมีการจัดเวที โดย พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวบนเวทีว่า รู้สึกอบอุ่นเพราะมีผู้ที่อยู่ร่วมบนเวทีที่จะต่อสู้ไปด้วยกันอีก 400 คนรวมทั้งสมาชิกอื่น ๆ อีกทั่วประเทศทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ที่จะขับเคลื่อนภารกิจไปด้วยกัน

‘พิธา’ ลุยหาเสียงเมืองนนท์ ชี้ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ย้ำ ‘ก้าวไกล’ มีจุดยืนชัดเจน แตกต่างจากพรรคอื่น

(26 มี.ค. 66) พรรคก้าวไกลนำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต หาเสียงกับพี่น้องชาวนนทบุรี ที่ท่าน้ำปากเกร็ด โดยแนะนำว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตของพรรคทั้ง 8 เขต

โดยนายพิธา กล่าวถึงนิด้าโพลช่วงเช้าที่คน กทม. มอบความไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นเรื่องที่ดี ถือว่าเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไป ขณะเดียวกันการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งระดับชาติ ตนคงจะนำพลังที่ชาว กทม.ไว้วางใจมาเป็นกำลังใจให้ได้ทำงานทั้งประเทศ

"ชาวนากับงูเห่า" นิทานอีสป ที่ให้ข้อคิดสอนใจว่าอย่าไปไว้ใจสัตว์ร้ายที่เลี้ยงไม่เชื่อง

ซึ่งเปรียบเป็นคนแล้ว ก็คือผู้ที่มีลักษณะคิดไม่ซื่อ ทรยศ หักหลัง ได้แม้คนที่เคยช่วยเหลือฟูมฟักมา

และ "งูเห่า" นี่เองที่เป็น "คำแรง" ใช้เปรียบเปรยนักการเมืองในสภา ที่มีพฤติกรรม ข้ามค่าย ย้ายขั้ว หรือโหวตสวนมติพรรค จนถึงวันนี้ และแน่นอนว่า บรรยากาศการเมืองไทยในช่วงเวลานี้ ที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลแห่งการเลือกตั้ง กิจกรรมการย้ายค่าย สลับขั้วเหล่านี้ ยิ่งทวีความร้อนแรง ว่าแล้ว The State Times เลยขอนำตำนาน “งูเห่าการเมือง” ที่เคยเกิดขึ้น มาย้อนความทรงจำคอการเมืองกันสักหน่อย...

จุดเริ่มต้นของ "งูเห่า" ในสภา เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 26 ปีที่แล้ว เป็นคำพูดเปรียบเปรยที่เกิดจากความรู้สึกบอบช้ำแสนสาหัส ของชาวนาที่ชื่อ "สมัคร สุนทรเวช"

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ส่งผลกระทบหนักในไทยและหลายประเทศในเอเชีย ทำให้รัฐบาลของ "พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ" ขณะนั้น ตัดสินใจประกาศ "ลอยตัวค่าเงินบาท" ผลที่ตามมาคือผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ภาคการเงินการธนาคาร และภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากต้องปิดกิจการ หรือล้มละลายไป รัฐบาลถูกกดดันอย่างหนักทั้งในและนอกสภา จนสุดท้าย "บิ๊กจิ๋ว" ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศลาออก นำมาสู่การช่วงชิงจังหวะของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม มีพรรคความหวังใหม่ ประชากรไทย ชาติพัฒนา และมวลชน กุมเสียงอยู่ 197 เสียง ตกลงกันว่าจะดึง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ขณะที่ฝ่ายค้าน ที่มีพรรคประขาธิปัตย์เป็นแกนนำได้เสียงจากพรรคกิจสังคม และเสรีไทยย้ายขั้วมาเติม จนมี 196 เสียง น้อยกว่าฝั่งรัฐบาลเพียงแค่เสียงเดียว โดยชู นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาท้าชิง

แต่แล้วก็เกิด "บิ๊กดีล" ขึ้น เมื่อพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการประชาธิปัตย์สมัยนั้น เปิดการเจรจา ดึงเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.กลุ่มปากน้ำของพรรคประชากรไทย รวม12 เสียง ไปโหวตสนับสนุน ให้นายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ด้วยเสียง 208 ต่อ 185 เสียง

สำหรับ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ นำโดย นายวัฒนา อัศวเหม เคยมีความขัดแย้งกับพรรคชาติไทย จนไม่มีสังกัดพรรคอยู่ ซึ่งต่อมานายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ในขณะนั้น รับเข้ามาสังกัดพรรค แต่ท้ายที่สุดกลับไปยกมือสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ทำให้นายสมัครรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ และเปรียบตัวเองเป็นเหมือนชาวนา ช่วยเหลืองูเห่าแต่สุดท้ายกลับมากัดตนเอง และคำว่า "งูเห่า" จึงกลายเป็นคำเรียก ส.ส.กลุ่มปากน้ำ และยังใช้แทน ส.ส. ที่มีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะอีกเหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นคล้อยหลังมาอีก 10 ปี

"มันจบแล้วครับนาย" ประโยคที่ "เนวิน ชิดชอบ" ส่งถึง "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายเก่า เป็นประโยคทิ้งท้าย ย้อนภาพจำถึงอีกหนึ่งจุดพลิกผันทางการเมืองในปี 2551 เป็นที่มาของเหตุการณ์ที่ถูกเรียกขานต่อมาว่า "งูเห่าภาค 2"

หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของพรรคพลังประชาชน "เนวิน ชิดชอบ" เป็นหนึ่งในสมาชิกบ้าน 111 ที่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง แต่เขายังคงมีอิทธิพลต่อ ส.ส. สายอีสาน "กลุ่มเพื่อนเนวิน" จำนวนมากกว่า 20 คนในพรรคพลังประชาชน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top