Saturday, 18 May 2024
เกาหลีเหนือ

‘ทหารมะกัน’ ลักลอบข้ามแดน ขอลี้ภัยไปอยู่ ‘เกาหลีเหนือ’ อ้าง ถูกเลือกปฏิบัติ-เหยียดเชื้อชาติ-ทารุณกรรมในกองทัพสหรัฐฯ

สื่อสหรัฐฯ อ้างอิงแหล่งข่าวจากเกาหลีเหนือ ที่ประกาศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกว่า ได้จับกุมตัว ‘พลทหาร ทราวิส คิง’ สังกัดกองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ไว้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา พลทหาร ทราวิส คิง ได้ลักลอบข้ามชายแดน จากเขตปลอดทหารที่หมู่บ้านปันมุนจอม เข้ามาในดินแดนเกาหลีเหนืออย่างผิดกฎหมาย ต่อมาถูกจำกุมตัวได้โดยกองกำลังเกาหลีเหนือ

หลังจากที่มีการสอบสวน พลทหาร คิง สารภาพว่า เขาตั้งใจที่จะข้ามแดนมายังเกาหลีเหนือด้วยตนเอง แม้จะรู้ว่าผิดกฎหมาย โดยยังกล่าวอีกว่า ที่ทำไปเพราะต้องการต่อต้านการกระทำทารุณกรรมอย่างไร้มนุษยธรรม และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในกองทัพสหรัฐฯ และตัวเขาก็ไม่แยแสต่อสังคมอเมริกันที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม ดังนั้น เขาประสงค์ที่จะขอลี้ภัยทางการเมืองในเกาหลีเหนือ หรือในประเทศที่สามอื่นๆ

‘พลทหาร ทราวิส คิง’ เป็นพลเมืองสหรัฐฯ ปัจจุบันอายุ 23 ปี ถูกส่งมาประจำการในค่ายทหาร Garrison Humphreys ในจังหวัดพย็องแท็ก ประเทศเกาหลีใต้ ต่อมาถูกตำรวจเกาหลีใต้จับกุมด้วยข้อหาทะเลาะวิวาท ก่อนถูกส่งตัวคืนให้แก่กองทัพสหรัฐฯ โดย พลทหาร คิง จะต้องถูกส่งตัวกลับสหรัฐฯ เพื่อลงโทษทางวินัย และมีกำหนดเดินทางออกจากเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

แต่ทว่า พลทหาร คิง ได้หลบหนีออกจากสนามบินอินชอน และเข้าร่วมโปรแกรมทัวร์เยี่ยมชมเขตปลอดทหารที่หมู่บ้านปันมุนจอม ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวดังของเกาหลีใต้ เมื่อสบโอกาส พลทหาร คิง ได้หนีทัวร์ และเดินข้ามเขตชายแดนไปยังเกาหลีเหนือและหายตัวไป จนล่าสุดเพิ่งได้รับการยืนยันจากรัฐบาลเกาหลีเหนือว่า ได้ควบคุมตัวพลทหาร ทราวิส คิง อยู่ และเป็นพลเมืองสหรัฐฯ คนแรกในรอบ 5 ปี ที่ถูกกักตัวในเกาหลีเหนือ

ด้านเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ ไม่ขอออกความเห็นในคำสารภาพของพลทหาร ทราวิส คิง ที่ปรากฏในสื่อเกาหลีเหนือ เพียงแต่กล่าวว่า ตอนนี้ฝ่ายกลาโหมต้องการเพียงให้พลทหารอเมริกันเดินทางกลับสหรัฐฯ อย่างปลอดภัยเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้โฆษกกลาโหมสหรัฐฯ เคยแถลงข่าวเกี่ยวกับการหายตัวไปของพลทหาร ทราวิส คิง ว่าเขาแอบข้ามแดนไปเกาหลีเหนือเองโดยสมัครใจ ไม่ได้รับคำสั่งใดๆจากทางกองทัพสหรัฐฯ และไม่ออกความเห็นว่าพลทหารคิง ‘แปรพักตร์’ หรือไม่

ด้านรัฐบาลไบเดน กำลังถกเถียงกันในกรณีพลทหาร ทราวิส คิง ว่าสมควรที่จะระบุสถานะให้เขาเป็น ‘เชลยสงคราม’ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองพิเศษภายใต้อนุสัญญาเจนีวา ที่ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองด้านมนุษยธรรมแก่เชลยศึก แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป และจนถึงตอนนี้ พลทหารคิงยังอยู่ในสถานะ ‘ขาดราชการโดยไม่ได้ลา’

ถึงแม้ว่ากรณีของพลทหาร ทราวิส คิง จะสร้างความอับอายกับกองทัพสหรัฐฯ อยู่พอสมควร แต่จากความเห็นของ วิคเตอร์ ชา รองประธานอาวุโสของสถาบันกลยุทธ์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ทันทีที่พลทหารคิงถูกกักตัวในเกาหลีเหนือ เราก็ไม่อาจเชื่อคำพูดของเขาได้อีกต่อไป ทุกถ้อยคำที่ผ่านสื่อของเกาหลีเหนือไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจริง หรือเป็นแค่เพียงการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือเท่านั้น

ส่วนการเรียกตัวพลเมืองอเมริกันกลับคืนมาจากการเกาหลีเหนือได้นั้น โดยปกติต้องมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ไปเยือน ซึ่งตอนนี้ทางสหรัฐฯ ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับเกาหลีเหนือ แต่สิ่งที่เราเคยเห็นในอดีตเมื่อมีการคุมตัวพลเมืองอเมริกัน จะต้องมีการพิจารณาไต่สวนคดี ที่มักจบลงด้วยการเกณฑ์แรงงาน หรือจำคุก ที่จะนำไปสู่การใช้ระเบียบวิธีทางการทูตระดับสูงเพื่อพาคนอเมริกันกลับประเทศได้

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทางการเกาหลีเหนือจะปล่อยตัวชาวอเมริกัน ที่ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายกลับสหรัฐฯ โดยไม่มีการเจรจาต่อรองในระดับสูง จึงยากที่จะคาดเดาว่าอนาคตของพลทหาร ทราวิส คิง จะไปต่ออย่างไรในดินแดนเกาหลีเหนือ

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

‘โฆษกสภาความมั่นคง สหรัฐฯ’ ขู่คว่ำบาตรเกาหลีเหนือ หลัง ‘ผู้นำคิม’ จ่อพบ ‘ปูติน’ หารือหนุนอาวุธสู้ศึกยูเครน

(5 ก.ย. 66) สื่อสหรัฐฯ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ‘นายคิม จอง อึน’ ผู้นำเกาหลีเหนือ มีแผนที่จะเดินทางเยือนรัสเซียในเดือนกันยายนนี้ เพื่อพบหารือกับประธานาธิบดี ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ของรัสเซีย เกี่ยวกับความเป็นไปได้ ที่เกาหลีเหนือจะจัดหาอาวุธให้รัสเซีย เพื่อสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน

อย่างไรก็ดี บีบีซีระบุว่า ยังไม่มีการแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับรายงานข่าวดังกล่าว และสถานที่ของการพบกันที่แน่นอนก็ยังคงไม่มีความชัดเจนเช่นกัน แต่นิวยอร์กไทม์สรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า มีแนวโน้มสูงมากที่สุดที่ผู้นำคิมจะเดินทางด้วยรถไฟหุ้มเกราะ

นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า นายเซอร์เก ซอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย พยายามที่จะโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือขายกระสุนปืนใหญ่ให้กับรัสเซีย ระหว่างที่เขาเดินทางเยือนเกาหลีเหนือครั้งล่าสุด

นายซอยกูซึ่งถือเป็นผู้แทนต่างชาติคนแรกที่นายคิม จอง อึน ให้การรับรองนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อเข้าชมการจัดงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ของเกาหลเหนือ ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธฮวาซอง ซึ่งเชื่อว่าเป็นขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวปตัวแรกของเกาหลีเหนือ ที่ขับเคลื่อนโดยใช้เชื้อเพลิงแข็ง

เคอร์บีกล่าวว่า นับตั้งแต่การเยือนของซอยกู ผู้นำคิมและปูตินได้แลกเปี่ยนจดหมายกัน เพื่อให้คำมั่นที่จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

“เราขอเรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติการเจรจาด้านอาวุธกับรัสเซีย และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานที่เคยประกาศไว้ว่าจะไม่จัดหาหรือขายอาวุธให้กับรัสเซีย” นายเคอร์บีกล่าว และเตือนว่า สหรัฐฯ จะดำเนินการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตร หากเกาหลีเหนือจัดหาอาวุธให้กับรัสเซียด้วย

ขณะเดียวกันก็มีความกังวลทั้งในสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เกี่ยวกับสิ่งตอบแทนที่เกาหลีเหนือจะได้รับจากข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเพิ่มความร่วมมือทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียมากขึ้น

ความกลัวอีกประการหนึ่งคือรัสเซียจะสามารถจัดหาอาวุธให้กับเกาหลีเหนือได้ในอนาคต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกาหลีเหนือต้องการอาวุธเหล่านี้มากที่สุด และที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ ‘คิม จอง อึน’ อาจขอให้ปูตินจัดหาเทคโนโลยีหรือความรู้เกี่ยวกับอาวุธ ที่มีความก้าวหน้าสูงให้กับเกาหลีเหนือ เพื่อที่จะได้มีพัฒนาการสำคัญในโครงการอาวุธนิวเคลียร์

นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า การพบกันระหว่างผู้นำทั้งสองอาจเกิดขึ้นที่เมืองวลาดิวอสต็อก ริมชายฝั่งทะเลทางตะวันออกของรัสเซีย โดยมีรายงานว่าเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านา เจ้าหน้าที่ของเกาหลีเหนือได้เดินทางไปยังวลาดิวอสต็อกและมอสโก ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอภัยที่ดูแลเกี่ยวกับการเดินทางของผู้นำเกาหลีเหนือ จึงเป็นสัญญานที่ชัดเจนถึงการเตรียมการในเรื่องดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือและรัสเซียเคยออกมาปฏิเสธอย่างชัดเจนว่า เปียงยางไม่ได้จัดหาอาวุธให้กับรัสเซียเพื่อใช้ในสงครามยูเครน

'คิม จองอึน' จบภารกิจ 1 สัปดาห์ในรัสเซีย นั่งรถไฟหุ้มเกราะมุ่งหน้ากลับเปียงยาง

(18 ก.ย.66) สื่อรัสเซียหลายแห่งรายงานว่า นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ โดยสารรถไฟหุ้มเกราะของเขาเดินทางออกจากภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซียแล้วในวันนี้

สำนักข่าวเรีย โนวอสตีรายงานว่า มีพิธีส่งผู้นำเกาหลีเหนือที่สถานีรถไฟอาร์ตอม-ปรีมอร์สกี อาดีน (Artyom-Primorsky-1) พร้อมกับเผยแพร่คลิปภาพเห็นนายคิมโบกมือจากบนรถไฟ อำลาคณะตัวแทนรัสเซียที่นำโดยนายอเล็กซานเดอร์ คอซลอฟ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศวิทยา

ขณะที่สำนักข่าวทาสส์รายงานว่า รถไฟของนายคิมมุ่งหน้าไปยังพรมแดนที่อยู่ห่างออกไป 250 กิโลเมตร ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ทาสส์รายงานว่า นายคิมได้รับโดรนติดระเบิด 5 ลำ โดรนลาดตระเวน 1 ลำ ชุดอุปกรณ์กันกระสุนและผ้าพิเศษที่ไม่สามารถตรวจจับได้ด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อนเป็นของขวัญจากผู้ว่าการแคว้นปรีมอร์เยของรัสเซียที่มีพรมแดนติดกับเกาหลีเหนือและจีน

ผู้นำเกาหลีเหนือเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นครั้งแรกตั้งแต่โควิด-19 ระบาด โดยออกเดินทางจากกรุงเปียงยางในวันที่ 11 กันยายน และเริ่มการเยือนในวันรุ่งขึ้น ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องทางการทหาร เช่น เยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบิน เยี่ยมชมโรงงานผลิตอาวุธพร้อมกับรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ประชุมสุดยอดและแลกเปลี่ยนปืนไรเฟิลกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย อย่างไรก็ดี เขาได้พบกับกลุ่มนักศึกษาเกาหลีเหนือที่ศึกษาในเมืองวลาดิวอสต็อกก่อนเดินทางกลับในวันนี้

‘กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี’ วีรชนแห่งสมรภูมิรบเกาหลี จากนักเรียนธรรมดา สู่ทหารผู้ยืนหยัดปกป้องชาติด้วยความหาญกล้า

กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี (Korea Student Volunteer Force)

สังคมปัจจุบัน เมื่อพูดถึง ‘ความรักชาติ’ แล้ว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวที่พ้นสมัยของคนเฒ่าชะแรแก่ชราในยุคก่อน ทั้ง ๆ ที่เรื่องของ ‘ความรักชาติ’ นั้น เป็นปกติวิสัยทั่วไป เพราะเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามแต่ละประเทศที่เกิดและอาศัยอยู่ เป็นเรื่องธรรมดาของพลเมืองในทุกชาติบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ยังคงอยู่ในสภาวะสงคราม เช่น สาธารณรัฐเกาหลี หรือ ‘เกาหลีใต้’ ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงการหยุดยิงกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี หรือ ‘เกาหลีเหนือ’ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 หรือ 70 ปีมาแล้ว และจนทุกวันนี้ ทั้งสองเกาหลียังไม่มีการทำสนธิสัญญาสงบศึก หรือสนธิสัญญาสันติภาพ อันเป็นการยุติสงครามระหว่างกันอย่างสิ้นเชิงแต่อย่างใด

กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี กำลังขึ้นรถไฟเพื่อเข้าร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ชาวเกาหลีใต้ต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ชายเกาหลีใต้ทุกคนจึงต้องเป็นทหารกองประจำการโดยไม่มีการยกเว้น ไม่มีอภิสิทธิพิเศษใด ๆ รวมทั้งแทบไม่มีการผ่อนผันเลย เว้นแต่บางกรณี เช่น เป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งยังต้องฝึกซ้อมเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศ ในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ 

เมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 เกาหลีใต้ได้มีการจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ประกอบด้วย นักเรียนที่เรียนอยู่ในเกาหลีใต้ และนักเรียนเกาหลีที่ไปเรียนในญี่ปุ่น (เกาหลีเคยเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) ในช่วงสงครามเกาหลี นักเรียนเกาหลีจำนวน 642 คน ได้รวมตัวกันเดินกลับมายังเกาหลีใต้ และอาสาสมัครเข้าร่วมสู้รบภายใต้กองทัพสาธารณรัฐเกาหลี และกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีก็ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจในการรบมากมายหลายครั้งหลายหน

สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีจำนวนมาก ต้องสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ โดยไม่มี ยศ สังกัด หรือแม้แต่หมายเลขประจำตัวทหาร

‘กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี’ (학서의용군 อ่านว่า Hak Do Ui Yong Gun) โดยนักเรียนอาสาสมัครเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 14–17 ปี ซึ่งอายุต่ำกว่าอายุครบเกณฑ์ทหาร 18 ปี (ในขณะนั้น การแจ้งเกิดมักจะล่าช้า ดังนั้น อายุที่แท้จริงของนักเรียนอาสาสมัครจึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 16–19 ปี) หลังจากสงครามสองเกาหลีปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 1950 กองทัพเกาหลีใต้สามารถระดมกำลังนักเรียนอาสาสมัครได้ถึง 198,380 นาย จัดกำลังเป็น กองพลทหารราบ 10 กองพล, กองพลยานเกราะ 1 กองพล และหน่วยยานยนต์ 1 หน่วย และระหว่างสงครามจนถึงการหยุดยิงระหว่าง 2 เกาหลี มีนักเรียนประมาณ 275,200 คน เข้าร่วมรบในสงครามกับกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ทั้งทำการรบ ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ และเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือประชาชน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

‘การจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในยามฉุกเฉิน’ (비상학 시단) โดยนักเรียน 200 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสมาคมนักเรียนอาสาปกป้องประเทศ (학 서호성단) จากทั่วกรุงโซลได้มารวมตัวกันที่ซูวอน นับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนถูกเกณฑ์ให้ร่วมรบเช่นทหารประจำการ อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ได้มอบหมายให้กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนส่วนใหญ่ รับผิดชอบภารกิจในพื้นที่ด้านหลังแนวรบ ซึ่งรวมถึงการบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย การแจ้งข่าว และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามท้องถนน แต่สมาชิกส่วนใหญ่ของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนไม่พอใจกับภารกิจในแนวหลัง ต่อมากองทัพเกาหลีใต้ได้มอบภารกิจในการสู้รบเพื่อรักษาแนวป้องกันแม่น้ำนักดงให้แก่กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ซึ่งถือเป็นป้อมปราการแห่งสุดท้ายในขณะนั้น และกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนก็ประสบความสำเร็จในการรักษาแนวป้องกันดังกล่าว แม้ไม่มีการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม ไม่มียศทางทหาร แต่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเข้าร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้ และกองทัพสหประชาชาติ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะปกป้องประเทศ ซึ่งกำลังตกอยู่ในอันตราย กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีเข้าร่วมในปฏิบัติการยกพลขึ้นบกอินชอน โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังสหประชาชาติ, ปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่วอนซันและอิวอน, ปฏิบัติการยึดคืนของกัปซันและฮเยซันจิน, ยุทธการที่อ่างเก็บน้ำจางจิน และยุทธการที่เนินเขาแบกมา ฯลฯ

ภาพวาดของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ขณะเดินทางเข้าสู่สนามรบ

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1951 เมื่อกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีและกองกำลังสหประชาชาติ สามารถตีโต้กองทัพเกาหลีเหนือและกองทัพจีน จนข้ามเส้นขนานที่ 38 กลับไปในเขตเกาหลีเหนือได้แล้ว ‘Syngman Rhee’ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ออกประกาศให้กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนกลับไปโรงเรียนเพื่อเรียนต่อ และออกคำสั่งคืนสถานะ โดยตามคำสั่งคืนสถานะนี้ กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ต้องถอดเครื่องแบบทหารและเปลี่ยนสถานะกลับมาเป็นนักเรียนตามเดิม โดย

1.) นักเรียนทุกคนจะต้องกลับคืนสู่หน้าที่เดิม ซึ่งก็คือการเรียนของตน
2.) การยอมรับการเป็นทหารของนักเรียนที่ถูกระงับการเรียน เนื่องจากการเป็นทหาร เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนจะต้องยอมรับการกลับมาที่โรงเรียนของนักเรียนเหล่านั้น อย่างไม่มีเงื่อนไข
3.) โรงเรียนในแต่ละระดับ จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษ สำหรับนักเรียนที่กลับมาจากการเป็นทหาร
4.) นักเรียนที่พลาดการเลื่อนระดับชั้นในขณะที่เป็นทหาร จะได้รับอนุญาตให้เลื่อนระดับชั้นได้ตามความต้องการ

อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่เป็นสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ต่างยืนกรานที่จะสู้รบจนกว่าสงครามจะสิ้นสุด และได้รับยศ หมายเลขประจำตัวทหาร และเข้าร่วมในการสู้รบ โดยมีวีรกรรมสำคัญบางเหตุการณ์ ได้แก่

• การรบที่โรงเรียนมัธยมสตรี P'ohang จังหวัด Gyeongsang-do เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1950 ซึ่งสมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียนจำนวน 71 นาย สู้รบกับทหารเกาหลีเหนือ หน่วยที่ 766 โดยฝ่ายเกาหลีเหนือมียานเกราะ 5 คันสนับสนุน การสู้รบกินเวลา 11 ชั่วโมง สมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียนเสียชีวิตไป 48 นาย เหลือรอดชีวิตเพียง 23 นาย วีรกรรมครั้งนั้นถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘71 : Into the Fire’

ภาพยนตร์เรื่อง 71 : Into the Fire

• การรบที่หาด Jangsari อำเภอ Yeongdeok จังหวัด Gyeongsang-do ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน ค.ศ. 1950 โดยสมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียน 560 นาย ร่วมกับทหารของกองทัพเกาหลีใต้ ได้รับการจัดตั้งเป็น ‘กองพันกองโจรอิสระที่ 1’ รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจเพื่อลวงกองกำลังเกาหลีเหนือ ให้คิดว่ากองกำลังสหประชาชาติจะเปิดฉากการรุกอย่างเด็ดขาดที่นั่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกพลขึ้นบกที่ Inchon สมาชิกของกองพันกองโจรอิสระที่ 1 เสียชีวิตไป 139 นาย และการยกพลขึ้นบกที่ Inchon ประสบความสำเร็จด้วยดี และวีรกรรมนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘The Battle of Jangsari’

ภาพยนตร์เรื่อง The Battle of Jangsari

ตัวเลขสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี มีผู้เสียชีวิต 2,464 นาย และบาดเจ็บ 3,000 นาย ในจำนวนนี้มี 347 นาย ถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งชาติ อีก 1,188 นาย ถูกจารึกไว้บนป้ายแห่งความทรงจำ และอีก 929 ราย ที่ไม่มีศพหรือแผ่นจารึกที่ระลึกเลย ส่วนสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนที่รอดชีวิตมักจะไม่กลับไปเรียนต่อ และยังคงอยู่ในกองทัพ แม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

อนุสาวรีย์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี

‘อนุสาวรีย์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี’ ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนมัธยมหญิง P'ohang ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน 71 นาย เพื่อเป็นเกียรติแก่การเสียสละอันสูงส่งของพวกเขา เมือง P'ohang จึงสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1977 และจัดพิธีรำลึกขึ้นทุกปี

หออนุสรณ์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน เมือง P'ohang

‘หออนุสรณ์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน เมือง P'ohang’ เปิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 2002 ในสวนสาธารณะ Yongheung เพื่อเป็นเกียรติแก่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ในการร่วมรบที่เขตเมือง P'ohang ในช่วงสงครามเกาหลี ในห้องนิทรรศการมีโบราณวัตถุประมาณ 200 ชิ้น เช่น ไดอารี่ ภาพถ่าย เสื้อผ้าที่สวมใส่ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนใช้ในขณะนั้น นอกจากนี้ ยังมีการฉายสารคดีเกี่ยวกับสงครามในห้องโสตทัศนูปกรณ์อีกด้วย

อนุสรณ์สถานกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนาม

‘อนุสรณ์สถานกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนาม’ ตั้งอยู่ที่สุสานแห่งชาติ กรุงโซล ด้านหลังเป็นหลุมศพสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนามจำนวน 48 นาย ที่เสียชีวิตในเขตเมือง P'ohang ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มอบรางวัลแก่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่จะได้รับ ซึ่งมีสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนจำนวน 317 นาย ที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ ในปี ค.ศ. 1996 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มอบรางวัลดังกล่าว ให้กับสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนอีก 45 คน ที่ยังไม่เคยได้รับมาก่อน

ภาพจำลองแสดงเหตุการณ์ที่ยุวชนทหารสู้รบกับทหารญี่ปุ่น
ที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

ย้อนกลับมาดูบ้านเรา เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตลอดอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดปัตตานีถึงจังหวัดสมุทรปราการ ขอเดินทัพผ่านไทยโดยไม่บอกล่วงหน้า คนไทยในที่เกิดเหตุแทนที่จะวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง แต่ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชนต่างเข้ารักษาแผ่นดินไทยโดยไม่คิดชีวิต ทุกแห่งมียุวชนทหารเข้าร่วมด้วย และได้สร้างวีรกรรมไว้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร ยุวชนทหาร 30 คน ได้ทำการสู้รบกับทหารญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญ จนกระทั่งได้รับคำสั่งจาก ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งให้ยุติการต่อต้าน และปล่อยให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปได้ และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น จึงถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดไปทั่ว แต่ก็มียุวชนทหารเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยจากการทิ้งระเบิด โดยไม่เกรงกลัวอันตรายแต่อย่างใด ยุวชนทหารในสมัยนั้นได้มีพัฒนาการต่อเนื่อง และกลายมาเป็นนักศึกษาวิชาทหารในสมัยนี้

อนุสาวรีย์ยุวชนทหาร 
ริมทางหลวงหมายเลข 4001 สายชุมพร-ปากน้ำ
ตำบลบางหมาก เชิงสะพานท่านางสังข์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกในขณะนี้ คือการเกิดสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย จึงมีความเป็นไปได้ที่สงครามอาจจะเกิดขึ้นอีกในเวลาใดเวลาหนึ่งก็เป็นได้ และไม่ได้หมายถึงสงครามที่ต้องรบกันด้วยกำลังทหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสงครามที่ทุกคนในชาติจะต้องร่วมรบด้วยกัน ต้องร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่น่าเป็นห่วงที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง ที่หลงผิดคิดว่า ภยันตรายที่คุกคามความมั่นคงของชาตินั้นได้หมดไปแล้ว หากพินิจพิจารณาอย่างถ้วนถี่เยี่ยงปัญญาชนและวิญญูชนแล้วจะพบว่า ไทยอยู่ในตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดทางยุทธศาสตร์ ในการเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจ

วิธีเดียวที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อชาติน้อยที่สุดคือ การรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและชัดเจน บนพื้นฐานของความมั่นคงของชาติในทุก ๆ มิติ รวมทั้งกำลังทหารที่มีความพร้อมต่อการรุกรานของอริราชศัตรูตลอดเวลา ซึ่ง “พลังอำนาจทางการรบ” ตลอดจน “ศักย์สงคราม” จะทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงเข้มแข็ง และหากเมื่อต้องเผชิญกับภยันตรายใด ๆ ที่คุกคามแล้ว ชาติบ้านเมืองก็จะมีพร้อมต่อภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และเมื่อเหตุการณ์สร่างซาสงบลงแล้ว ประเทศชาติก็จะมีความบอบช้ำที่น้อยที่สุด

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

'เกาหลีเหนือ' ชักดาบ!! สั่งซื้อรถวอลโว่ 144 พันคัน แล้วไม่จ่าย 'สวีเดน' ได้แต่กลุ้ม!! เพราะเรียกเก็บหนี้ทุกปี แต่ยังไม่มีแววได้เงิน


เมื่อเกาหลีเหนือสั่งซื้อรถยนต์วอลโว่ 144 จากสวีเดน 1,000 คัน แล้วชักดาบ

สถานทูตสวีเดน ณ กรุงเปียงยาง

 

'สวีเดน' เป็นประเทศตะวันตกประเทศแรกที่เปิดสถานทูตในกรุงเปียงยางในปี ค.ศ. 1975 และยังคงเป็นประเทศเดียวที่ยังคงรักษาสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเปียงยางไว้เป็นเวลา 26 ปี และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศตะวันตกที่ยังคงมีสถานทูตในกรุงเปียงยาง 

ปัจจุบันสวีเดนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ด้านกงสุลของออสเตรเลีย แคนาดา อิตาลี กลุ่มประเทศนอร์ดิก และสหรัฐอเมริกาในเกาหลีเหนือ โดยสวีเดนมักทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ในการเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือและประเทศตะวันตก และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการปรับปรุงความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา

สถานทูตเกาหลีเหนือ ณ กรุงสต็อกโฮล์ม

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1970 สวีเดนเริ่มมองว่า เกาหลีเหนือเป็นตลาดที่มั่งคั่ง บริษัทสวีเดน เช่น Volvo, ASEA, Kockums, Atlas Copco และ Alfa Laval ต่างต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์ของตนไปยังประเทศเกาหลีเหนือ และได้จัดนิทรรศการอุตสาหกรรมในกรุงเปียงยาง 

ทำให้ในช่วงทศวรรษนั้น เกาหลีเหนือนำเข้าสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงรถยนต์วอลโว่ 144 ประมาณ 1,000 คันที่สวีเดนไม่เคยได้รับเงินค่ารถเหล่านั้นเลย 

จึงเป็นที่มาว่าทำไมนักการทูตโซเวียตเรียกสิ่งนี้ว่า "การโจรกรรมรถยนต์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์" 

รถวอลโว่เหล่านี้พบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเปียงยางจนถึงปี 2010 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมารถเหล่านี้ก็มีปัญหาใหญ่ในด้านการบำรุงรักษาไว้

รถยนต์วอลโว่ 144 คันหนึ่งที่วิ่งในกรุงเปียงยาง ซึ่งเกาหลีเหนือไม่ได้ชำระเงินค่ารถจนทุกวันนี้

ทุกวันนี้เกาหลีเหนือยังคงเป็นหนี้สวีเดนอยู่จำนวน 2.2 พันล้านโครนสวีเดน อันเป็นเงินค้างจ่ายสวีเดนจากการนำเข้ารถยนต์เหล่านี้

ในบรรดาประเทศเจ้าหนี้ทั้งหมด เกาหลีเหนือเป็นหนี้สวีเดนมากที่สุด ตามมาด้วยอิรักซึ่งมีหนี้น้อยกว่าหนึ่งพันล้านโครน 

เกาหลีเหนือสั่งซื้อรถยนต์จำนวนดังกล่าวจากสวีเดน เพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือที่กำลังเติบโต แต่จนถึงปัจจุบันเกาหลีเหนือไม่เคยสนใจที่จะจ่ายเงิน และเพิกเฉยต่อใบแจ้งหนี้จากรัฐบาลสวีเดน ทำให้บิลดังกล่าวยังคงอยู่ในสถานภาพ 'ค้างชำระ'

รถยนต์วอลโว่ 144 คันหนึ่งที่ใช้ในกรุงเปียงยาง ซึ่งเกาหลีเหนือไม่ได้ชำระเงินค่ารถจนทุกวันนี้

รัฐบาลสวีเดนมีบทบาทสำคัญในการทำธุรกรรมนี้ ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ผู้ส่งออกในสวีเดนหลายรายได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตของเกาหลีเหนือและความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตอย่างต่อเนื่อง เพราะมองเห็นศักยภาพของประเทศในแถบเอเชีย และรัฐบาลสวีเดนตระหนักถึงโอกาสนี้ จึงตกลงที่จะส่งเครื่องจักรกลหนักมูลค่ากว่า 70 ล้านดอลลาร์ พร้อมด้วยรถยนต์ Volvo 144 จำนวน 1,000 คัน 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงธุรกรรมทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนทางการทูตอีกด้วย และอีกหนึ่งปีต่อมา สวีเดนก็กลายเป็นประเทศตะวันตกประเทศแรกที่เปิดสถานทูตในกรุงเปียงยาง ซึ่งในขณะนั้นเกาหลีเหนือ ก็ไม่ได้แย่ถึงขนาดนี้” 

Jonathan D. Pollack นักวิชาการอาวุโสของสถาบัน Brookings อธิบายว่า “หลังสงครามเกาหลี เศรษฐกิจของพวกเขาได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ กลายเป็นรัฐอุตสาหกรรมที่ใช้งานได้ และยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลืออย่างมาก แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่การเดิมพันที่เลวร้ายเช่นนี้”

รถยนต์วอลโว่ 144 คันหนึ่งที่วิ่งในกรุงเปียงยาง ซึ่งเกาหลีเหนือไม่ได้ชำระเงินค่ารถจนทุกวันนี้

รถยนต์วอลโว่ 144 ที่แข็งแกร่งและบึกบึน ถูกใช้โดยชนชั้นสูงของเกาหลีเหนือ และใช้วิ่งเป็นรถแท็กซี่ในกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ และแม้ว่าทุกวันนี้ยังมีรถวอลโว่บางคันยังคงใช้วิ่งเป็นรถแท็กซี่อยู่ แต่ว่าไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือจะจ่ายเงินคืนรัฐบาลสวีเดน

การได้พบเห็น ‘รถยนต์วอลโว่’ บนท้องถนนในกรุงเปียงยางเป็นเวลาหลายปี ทำให้ได้รับฉายาว่า 'ผีสีฟ้า' 

แม้เศรษฐกิจในประเทศเกาหลีเหนือจะถดถอยและเกิดการคว่ำบาตรระหว่างประเทศอย่างรุนแรง แต่ก็ยังมีรถหรูนำเข้าจากสหภาพโซเวียตและยุโรป และรถเลียนแบบที่เกาหลีเหนือผลิตเองบนถนนสายกว้างของกรุงเปียงยางปะปนกัน นับตั้งแต่มีการสั่งซื้อมาเกือบ 50 ปี 

จำนวนเงินที่ค้างชำระสำหรับรถวอลโว่ 1,000 คันได้เกินขีดจำกัดที่กำหนดแล้ว และดูเหมือนว่าโอกาสที่จะได้รับการชำระเงินนั้นแทบจะเป็นศูนย์ แม้ว่าทางการสวีเดนยังคงส่งใบเรียกเก็บเงินไปยังเกาหลีเหนือปีละ 2 ครั้ง โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยและภาษีอื่น ๆ ดอกเบี้ยและค่าปรับสำหรับหนี้รถยนต์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 322 ล้านดอลลาร์ในช่วง 48 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน 

แม้ว่ารัฐบาลสวีเดนจะจ่ายเงินให้กับบริษัท Volvo ผู้ผลิตรถยนต์เต็มจำนวนด้วยเงินจากกองทุนสาธารณะแล้ว แต่รัฐบาลยังคงเป็นเจ้าหนี้เกาหลีเหนือสำหรับสินค้าของสวีเดนที่ส่งออกไปยังเกาหลีเหนือ ผลกระทบทางการเงินของข้อตกลงนี้น่าตกใจ และเกาหลีเหนือไม่มีทีท่าว่าจะชำระหนี้ที่ค้างชำระสวีเดนมาเป็นเวลานานแล้วแต่อย่างใด

 

‘เกาหลีเหนือ’ แจ้ง ‘ญี่ปุ่น’ เตรียมปล่อย ‘ดาวเทียมสอดแนม’ ครั้งที่ 3 เมินคำเตือน ‘เกาหลีใต้-สหประชาชาติ’ ปะทุความตึงเครียดในภูมิภาค

(21 พ.ย. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์ และ สำนักข่าวสเตรตส์ไทมส์ รายงานว่า หน่วยยามชายฝั่งของญี่ปุ่นแถลงว่า ได้รับแจ้งจากทางการเกาหลีเหนือ ว่ามีกำหนดจะปล่อย ดาวเทียมสอดแนม ในช่วงวันที่ 22 พ.ย. ถึงวันที่ 1 ธ.ค. ทั้งยังระบุด้วยว่า จะมีเส้นทางมุ่งหน้าไปยังทะเลเหลืองและทะเลตะวันออก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้แถลงเตือนว่า จะใช้มาตรการตอบโต้ หากเกาหลีเหนือเดินหน้าปล่อยดาวเทียมสอดแนมครั้งใหม่ ซึ่งเป็นครั้งที่ 3

ภายหลังความพยายาม 2 ครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาล้มเหลว จากนั้นประกาศอีกว่าจะปล่อยดาวเทียมสอดแนมเป็นครั้งที่ 3 ในเดือนต.ค. แต่สุดท้ายก็เลื่อนออกไปกระทั่งแจ้งกำหนดล่าสุด

ทั้งนี้ เกาหลีเหนือออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พ.ย. ประณามถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะขายขีปนาวุธหลายร้อยลูกให้กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทั้งยังตำหนิว่า ‘เป็นการกระทำที่อันตราย’ ที่ทำให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาค และนำมาซึ่งการแข่งขันทางอาวุธครั้งใหม่

สำนักข่าวเคซีเอ็นเอ ยังระบุจากกระทรวงกลาโหมเกาหลีเหนือด้วยว่า จะเพิ่มมาตรการสร้างการป้องปราม และตอบสนองต่อความไม่มั่นคงในภูมิภาคที่มีต้นตอมาจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร

‘เกาหลีเหนือ’ กร้าว!! พร้อมเปิดศึก หลังส่งดาวเทียมสอดแนมสำเร็จ ด้าน ‘โสมขาว’ โต้กลับ ฉีกข้อตกลง-ยกระดับกองกำลังตามชายแดน

(23 พ.ย. 66) ‘เกาหลีเหนือ’ เปิดเผยว่า จะคืนชีพทุกมาตรการทางทหารที่เคยระงับไปภายใต้ข้อตกลงปี 2018 กับ ‘เกาหลีใต้’ ที่ออกแบบมาเพื่อลดสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนร่วมระหว่าง 2 ชาติ พร้อมประกาศเดินหน้าประจำการกองกำลังที่เข้มแข็งกว่าเดิม และอาวุธใหม่ๆ ไปยังแนวชายแดนติดกับเกาหลีใต้

ถ้อยแถลงของกระทรวงกลาโหมเกาหลีเหนือ มีขึ้น 1 วัน หลังจากเกาหลีใต้ระงับบางส่วนในข้อตกลงทางทหารระหว่าง 2 ชาติเกาหลี เมื่อปี 2018 เพื่อเป็นการประท้วงกรณีที่เปียงยางปล่อยดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจร และบอกว่าจะยกระดับสอดแนมทางทหารตามแนวชายแดนที่ติดกับเกาหลีเหนือ ให้มีการป้องกันอย่างหนาแน่นมากยิ่งขึ้น

“นับตั้งแต่บัดนี้ กองทัพของเขาจะไม่อยู่ภายใต้พันธสัญญาของข้อตกลงทางทหารเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน อีกต่อไปแล้ว” ถ้อยแถลงระบุ “เราจะถอนมาตรการต่างๆ ทางทหาร ที่ใช้ป้องกันความตึงเครียดทางทหารและความขัดแย้งในทุกขอบเขต ทั้งทางภาคพื้น ทะเลและอากาศ และประจำการกองกำลังที่ทรงอานุภาพกว่าเดิม รวมถึงยุทโธปกรณ์ทางทหารชนิดใหม่ๆ ในภูมิภาคตามแนวเส้นแบ่งเขตทางทหาร”

เกาหลีเหนือกล่าวหาเกาหลีใต้ ว่า ‘ฉีกข้อตกลง’ ที่เรียกว่า ‘ความตกลงทางทหารแบบครอบคลุม’ (Comprehensive Military Agreement) และบอกว่าโซลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดทั้งมวล หากเกิดการปะทะที่ไม่อาจย้อนกลับได้ ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้"

ถ้อยแถลงของเกาหลีเหนือ มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมง หลังจากพวกเขายิงขีปนาวุธลูกหนึ่งใส่ทะเลทางตะวันออกของคาบสมุทรเกาหลี เมื่อช่วงค่ำของวันพุธที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ในขณะที่กองทัพเกาหลีใต้ บอกว่าดูเหมือนการยิงดังกล่าวจะประสบความล้มเหลว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า การตัดสินใจของเกาหลีใต้ ในการระงับข้อตกลงบางส่วน เป็นการตอบโต้ที่รอบคอบและอดทนอดกลั้นแล้ว อ้างถึงกรณีที่เกาหลีเหนือไม่ยึดถือข้อตกลงดังกล่าว

“การระงับข้อตกลงบางส่วนของเกาหลีใต้ จะเป็นการคืนชีพความเคลื่อนไหวในการสอดแนม และลาดตระเวนตามแนวเส้นแบ่งเขตทางทหารในฝั่งของเกาหลีใต้” เจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าว

‘ความตกลงทางทหารแบบครอบคลุม’ (Comprehensive Military Agreement) เป็นข้อตกลงที่จัดทำขึ้นในยุคของอดีตประธานาธิบดี ‘มุน แจอิน’ แห่งเกาหลีใต้ ซึ่งได้เดินทางไปประชุมซัมมิตทวิภาคีกับผู้นำ ‘คิม จองอึน’ ที่กรุงเปียงยาง เมื่อปี 2018 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติ

แต่มีนักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าข้อตกลงฉบับนี้ควรถูกยกเลิก เพราะเป็นการลดทอนศักยภาพของโซล ในการติดตามความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือตามแนวชายแดน อีกทั้งโสมแดงเองมีการละเมิดเงื่อนไขข้อตกลงด้วย

เกาหลีเหนือ ระบุเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงการประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสอดแนมดวงแรกของประเทศขึ้นสู่วงโคจร ความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงประณามจากนานาชาติ โทษฐานที่ละเมิดมติของสหประชาชาติ ที่ห้ามเปียงยางจากการใช้เทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้เพื่อรับโครงการขีปนาวุธ

เกาหลีใต้ เชื่อว่า ดาวเทียมเกาหลีเหนือเข้าสู่วงโคจร แต่ต้องใช้เวลาสักพักสำหรับการประเมินว่า ดาวเทียมดวงนี้ สามารถปฏิบัติการได้ตามปกติหรือไม่

การปล่อยดาวเทียม เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ หลังจาก 2 หนแรกประสบความล้มเหลว และมีขึ้นตามหลังจากที่ คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เยือนดินแดนรัสเซีย โดยระหว่างนั้น ประธานาธิบดี ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ รับปากว่าจะช่วยเกาหลีเหนือในการสร้างดาวเทียม

พวกเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ บอกว่า การปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือนั้น มีความเป็นไปได้อย่างที่สุด ว่าจะเกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือทางเทคนิคจากรัสเซีย ภายใต้ความเป็นพันธมิตรที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ระหว่าง 2 ชาติ ที่ได้เห็นเปียงยางจัดหากระสุนปืนใหญ่หลายล้านลูกให้แก่รัสเซีย

ในขณะที่ รัสเซียและเกาหลีเหนือ ปฏิเสธว่าไม่มีข้อตกลงด้านอาวุธใดๆ แต่บอกว่าความร่วมมือระหว่าง 2 ชาติ กำลังแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ

‘เกาหลีเหนือ’ โว!! ‘ดาวเทียมสอดแนม’ ส่องได้ทุกซอกทุกมุม เย้ย ‘มะกัน’ เก็บภาพได้ยันหลังคา ‘ทำเนียบขาว-ตึกเพนตากอน’

(28 พ.ย. 66) ‘KCNA’ สำนักข่าวกลางเกาหลี รายงานว่า ดาวเทียมสอดแนม ‘Malligyong-1’ ที่เพิ่งส่งขึ้นฟ้าไปตัวล่าสุด สามารถถ่ายภาพอาคารทำเนียบขาว, อาคารเพนตากอน และฐานทัพอากาศ ที่เก็บเครื่องบินขนส่งนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ และภาพถ่ายเหล่านั้น ก็อยู่ในมือ ‘คิม จอง-อึน’ ผู้นำเกาหลีเหนือเรียบร้อยแล้ว

ปฏิบัติการพัฒนาดาวเทียมสอดแนม เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของหน่วยงาน Pyongyang General Control Center of the National Aerospace Technology Administration ที่ใช้ตัวอักษรย่อว่า ‘NATA’

ที่ล่าสุดสามารถส่งดาวเทียม ‘Malligong-1’ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากที่ล้มเหลวมาแล้วถึง 2 ครั้งในปีนี้

โดยเกาหลีเหนืออ้างว่า ดาวเทียมสอดแนมดวงล่าสุด สามารถถ่ายภาพสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้หลายแห่ง อาทิ อาคารทำเนียบขาว, อาคารเพนตากอน, ฐานทัพเรือนอร์ฟอล์ก และฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในรัฐเวอร์จิเนีย

อีกทั้งยังสามารถเก็บรายละเอียดได้ถึงขนาดที่สามารถระบุได้ว่า เป็นเครื่องบินขนส่งนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ 4 ลำ และเครื่องบินขนส่งของอังกฤษอีก 1 ลำ ในภาพที่ถ่ายจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ โดยดาวเทียมสอดแนม

สื่อเกาหลีเหนือรายงานด้วยว่า ผู้นำ คิม จอง-อึน พอใจในผลงานของทีมนักพัฒนาดาวเทียมสอดแนมครั้งนี้เป็นอย่างมาก และได้จัดงานเลี้ยงฉลองให้กับนักวิทยาศาสตร์ของ ‘NATA’ เมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยบรรยากาศชื่นมื่น พร้อมนำภาพถ่ายจากดาวเทียมสอดแนมเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ มาแบ่งกันดู

ด้านรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาประณามโครงการดาวเทียมสอดแนมของทางเปียงยางในทันที โดยกล่าวหาว่า เป็นแค่เพียงความพยายามในการ ‘สร้างโฆษณาชวนเชื่อ’ ของระบอบคิม จอง-อึน ที่จะยิ่งทำให้การเผชิญหน้าในบริเวณชายแดน 2 ฝั่งของเกาหลี มีแต่จะตึงเครียดยิ่งขึ้น

อีกทั้งไม่เชื่อในศักยภาพของดาวเทียมเกาหลีเหนือ ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการสอดแนมได้ เพราะเป็นเพียงคำเคลมจากรัฐบาลเปียงยางเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีการปล่อยภาพจริงออกมาเป็นหลักฐาน

สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญในกองทัพเกาหลีใต้ ที่แสดงความเห็นว่า ดาวเทียม ‘Malligyong-1’ อาจประสบความสำเร็จในการเข้าสู่วงโคจรของโลกได้ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามันจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะถ่ายภาพ และส่งข้อมูลกลับมายังโลก และเชื่อว่าน่าจะใช้เทคโนโลยีทางดาวเทียมของ ‘รัสเซีย’ ช่วยมากกว่า

อีกทั้งมาตรการคว่ำบาตรของ ‘องค์การสหประชาชาติ’ ต่อเกาหลีเหนือ ยังครอบคลุมไปถึงการพัฒนาดาวเทียมด้วย เพราะเป็นเทคโนโลยีสำคัญส่วนหนึ่งในโครงการขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

‘ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์’ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ ประท้วงการครอบครองดาวเทียมสอดแนมกลางที่ประชุมสภาความมั่นคงว่า “เกาหลีเหนือมีแรงจูงใจที่ชัดเจน ในการพยายามพัฒนาศักยภาพเทคโนโลยีขีปนาวุธนิวเคลียร์ของตนผ่านโครงการดาวเทียม ที่ขัดกับข้อตกลงของสหประชาชาติอย่างร้ายแรง เป็นการแสดงพฤติกรรมอย่างไร้สำนึกที่ขัดต่อกฎหมายความมั่นคง ที่เป็นการข่มขู่คุกคามประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศสมาชิกอื่น ๆ”

ด้าน ‘คิม ซุง’ เอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำองค์การสหประชาชาติ ที่น้อยครั้งมากจะปรากฏตัวในที่ประชุมสมัชชาความมั่นคง ก็ได้ออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนเช่นกันว่า “ไม่มีชาติใดในโลกที่กำลังเผชิญวิกฤติด้านความมั่นคงเท่าเกาหลีเหนือ ซึ่งชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาต่างหาก ที่กำลังข่มขู่คุกคามเกาหลีเหนือด้วยอาวุธนิวเคลียร์”

ดังนั้น รัฐบาลเปียงยางก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะพัฒนา ผลิต หรือ ครอบครองอาวุธที่มีศักยภาพเทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกา ที่ถือว่าเป็นประเทศคู่สงคราม

และดาวเทียมสอดแนมคือหนึ่งในเทคโนโลยีนั้น เมื่อสหรัฐอเมริกามีได้ ทำไมเกาหลีเหนือจะมีบ้างไม่ได้ แถมรัฐบาลทำเนียบขาวก็เคยใช้ดาวเทียมส่องหลังคาบ้านเกาหลีเหนือมาหลายครั้งแล้ว เกาหลีเหนือก็เลยขอส่องกลับบ้าง ก็ไม่ถือว่าเป็นการโกงแต่อย่างใด

เพียงแต่ ‘Malligong-1’ ของเกาหลีเหนือจะส่องได้จริงดังที่เคลมหรือเปล่า ยังเป็นปริศนา จนกว่า ผู้นำ คิม จอง-อึน จะอนุมัติให้ปล่อยภาพหลักฐานออกสื่อ เพื่อให้ทุกชาติหายสงสัย

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

‘คิม จองอึน’ น้ำตาแตก!! วอนคุณแม่เกาหลีเหนือปั๊มลูกเพิ่ม หลังอัตราการเกิดน้อยลง ย้ำ!! เป็นหน้าที่ของทุกคน

เมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.66) สำนักข่าว The Independent รายงานว่า ‘คิม จองอึน’ ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้หลั่งน้ำตาต่อหน้าคุณแม่ชาวเกาหลีเหนือนับพันคน ที่เข้าร่วมงานวันแม่แห่งชาติ ณ กรุงเปียงยาง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังเขาขอให้พวกเธอช่วยเพิ่มประชากรเด็กแรกเกิด เพื่อหยุดการลดลงของอัตราการเกิดของประเทศ

โดยตอนหนึ่ง ‘คิม จองอึน’ ได้หยิบผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาซับที่ดวงตา แล้วกล่าวกับพวกเธอว่า การเพิ่มอัตราการเกิด การดูแลเด็กที่ดี ตลอดจนงานบ้านเป็นหน้าที่ของคุณแม่ ซึ่งในประเทศเกาหลีเหนือคุณแม่ยังมีงานสังคมที่ต้องเข้าร่วมด้วย นั่นก็คือการเลี้ยงดูลูกให้พวกเขาสืบทอดระบบคอมมิวนิสต์ต่อไป สร้างเสริมความสามัคคีในครอบครัวและสังคม หยุดการลดลงของอัตราการเกิด และดูแลเด็กให้ดี ให้การศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) คาดการณ์ว่า อัตราการเจริญพันธุ์ หรือจำนวนเด็กโดยเฉลี่ยที่เกิดจากผู้หญิงในเกาหลีเหนือ อยู่ที่ 1.8 เท่านั้น ท่ามกลางอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องรับทศวรรษ ทว่ายังคงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเกาหลีเหนือที่มีแนวโน้มลดลงคล้ายกัน เช่นที่ เกาหลีใต้ อัตราการเกิดในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 0.78 และประเทศญี่ปุ่น ที่หยุดอยู่ที่ 1.26

โดยอัตราการเกิดที่ลดลงนี้ ส่งผลให้เกาหลีใต้ขาดแคลนกุมารแพทย์ บางเมืองยังได้จัดอีเวนต์จับคู่ เพื่อกระตุ้นอัตราการเกิดของประชากรในประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยฮุนได ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ รายงานว่า ประเทศเกาหลีเหนือ มีประชากรประมาณ 25 ล้านคน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ซึ่งส่วนมากมาจากการเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้พืชผลเสียหาย กระทบต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ประกอบกับในช่วงปี 1970-1980 เกาหลีเหนือยังได้กำหนดโครงการคุมกำเนิด เพื่อชะลอการเติบโตของประชากรหลังสงคราม และความอดอยากได้ฆ่าประชากรไปมากกว่าแสนคน

ขณะที่ในปัจจุบันเกาหลีเหนือยังขาดแคลนทรัพยากร และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงอาจเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต หากไม่มีการจัดหาแรงงานที่เพียงพอ

‘คิม จองอึน’ กร้าว!! หากศัตรูยั่วยุ “พร้อมเปิดศึกบุกอย่างไม่ลังเล” ขู่!! กองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ ระวังจะเป็น ‘เป้าหมายแรก’

(21 ธ.ค. 66) เอเอฟพี รายงานว่า นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ เตือนว่า เกาหลีเหนือไม่ลังเลที่จะเปิดฉากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หากถูกยั่วยุด้วยนิวเคลียร์

ความคิดเห็นของนายคิมเกิดขึ้นหลังจากเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาหารือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ในกรณีที่เกิดข้อขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ

พร้อมย้ำว่า การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ใดๆ ก็ตามต่อสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ จะส่งผลให้ระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือสิ้นสุดลง แต่นายคิมสั่งการกับหน่วยงานด้านขีปนาวุธของกองทัพเกาหลีเหนือว่า “อย่าลังเลเลยที่จะ (ยิง) นิวเคลียร์เมื่อศัตรูยั่วยุด้วยนิวเคลียร์”

ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาโดยเรียกร้องให้เกาหลีเหนือ “หยุดดำเนินการยั่วยุเพิ่มเติม และยอมรับข้อเรียกร้องของเราให้มีส่วนร่วมในการเจรจาที่สำคัญโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ”

ก่อนหน้านี้ ทั้ง 3 ประเทศได้เพิ่มความร่วมมือด้านกลาโหม หลังจากเกาหลีเหนือเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธต่อเนื่อง และเมื่อวันอังคารที่ 19 ธ.ค.ผ่านมา ได้เปิดใช้งานระบบแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ฮวาซอง-18 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของกองทัพสหรัฐฯ จอดเทียบท่าเรือในเมืองปูซานของเกาหลีใต้ ภายหลังสหรัฐฯ เพิ่งส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดไปร่วมฝึกซ้อมกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ส่งผลให้เกาหลีเหนือไม่พอใจและย้ำว่า คาบสมุทรเกาหลีอยู่ในภาวะสงครามตามกฎหมาย และกล่าวว่า กองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้จะเป็นเป้าหมายแรกของการทำลายล้าง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top