Saturday, 5 July 2025
อิหร่าน

เปิดปูม ‘สหรัฐฯ’ เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ ‘อิหร่าน’ เหตุเพราะไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติอย่างที่เคยเป็น

(22 มิ.ย. 68) วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 และเป็นนักเขียนที่ได้รับ รางวัลซีไรต์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า เรื่องตลกเรื่องหนึ่งของเหตุการณ์สหรัฐฯโจมตีอิหร่านในครั้งนี้คือ Ted Cruz วุฒิสมาชิกที่กระหายสงครามและยุให้รบ ยังไม่รู้เลยว่าอิหร่านมีพลเมืองเท่าไร มีเชื้อชาติใดบ้าง รู้แต่ว่าต้องทำลายประเทศนี้ให้ราบ 

การที่ Ted Cruz ผู้เคยลงสมัครเป็นประธานาธิบดีไม่รู้เรื่องการเมืองโลก เป็นเรื่องน่ากังวลใจ พอๆ กับรัฐมนตรีกลาโหมไม่รู้ว่าโลกมีประเทศกลุ่มอาเซียน

ชาวตะวันตกจำนวนมากไม่รู้จักอิหร่านเลย ยังคิดว่าอิหร่านเป็นพวกอาหรับ และอาหรับเป็นพวกเลวร้าย ความจริงอิหร่านไม่ใช่อาหรับ ตุรกีก็ไม่ใช่อาหรับ

อิหร่านคือพวกเปอร์เซีย ใช้ภาษาฟาร์ซี เปอร์เซียเป็นอาณาจักรเก่าแก่ของโลก พังไปเพราะพวกมองโกล 

เปอร์เซียเป็นศูนย์กลางวิทยาการของโลกในอดีต ศาสตร์ต่างๆ ที่มีคำว่า 'อัล' คิดค้นโดยพวกเปอร์เซีย เช่น อัลกอริทึม พีชคณิต (Algebra) เป็นต้น

ดีที่อยู่ไกลนะ ไม่งั้นคงโดนบางประเทศเคลมไปแล้ว

เปอร์เซียส่งอิทธิพลไปทั่วโลกในอดีต ลัทธิเม้งก้าแห่ง ดาบมังกรหยก ก็มาจากเปอร์เซีย

ชาวเปอร์เซียที่อพยพมาอยู่สยามตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น เฉกอะหมัด เป็นข้าราชการระดับสูงของไทย

ชาวเปอร์เซียก็คือต้นตระกูลบุนนาค บุรานนท์ ศุภมิตร ศรีเพ็ญ เป็นต้น

อเมริกันมีภาพลบกับพวกอิหร่านเพราะเหตุการณ์อิหร่านจับชาวเมริกัน 66 คนเป็นตัวประกันในปี 1979 หลังจากเกิดปฏิวัติอิหร่านในปีนั้น ราชวงศ์ปาลาวีถูกโค่น ชาห์เรซา ปาลาวีหนีไปสหรัฐฯ เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษยึดครองอิหร่าน ปลดชาห์ นายกฯคือ Mohammad Mosaddegh อนุญาตให้บริษัทน้ำมันของอังกฤษเข้าไปหาผลประโยชน์ เขาปกครองจนปี 1953 ก็ถูกสหรัฐฯและอังกฤษล้มผ่านการรัฐประหาร เพราะ Mohammad Mosaddegh ไม่ยอมตะวันตกบางเรื่อง

สหรัฐฯตั้งชาห์ปาลาวีขึ้นมาครองอำนาจ เพราะโปรตะวันตก ตอนนั้นเองบริษัทน้ำมันสหรัฐฯก็เข้าไปในอิหร่าน อิหร่านเป็นประเทศที่ทันสมัยแบบตะวันตก จนเมื่อชาห์เรซา ปาลาวี ถูกโค่น ตั้งแต่นั้นมา สหรัฐฯก็เป็นศัตรูกับอิหร่านอย่างเปิดเผย

เหตุการณ์อิหร่านจับชาวเมริกัน 66 คนเป็นตัวประกันถูกสร้างเป็นหนังเรื่อง Argo ยิ่งตอกย้ำภาพอิหร่านเป็นคนเลวร้าย (หนังได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมออสการ์)

เล่ากันว่าก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 1980 รอนัลด์ เรแกน ส่งคนไปเจรจากับฝ่ายอิหร่านลับๆ ให้ปล่อยตัวประกัน ทำให้เขาชนะ จิมมี คาร์เตอร์ แต่เหตุการณ์นี้ไม่มีใครยอมรับว่าจริง

เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้รู้ว่า เวลาอ่านเหตุการณ์ใดๆ ต้องรู้ประวัติศาสตร์ด้วย
เพราะที่สำคัญกว่า 'what' คือ 'why'

กลุ่มฮูตีในเยเมนเดือด!!..จ่อเปิดศึกกับสหรัฐฯ หลังเหตุโจมตีอิหร่าน ลั่นรอวันเอาคืน

(23 มิ.ย. 68) กลุ่มฮูตีในเยเมนออกมาเตือนว่า พวกเขาจะตอบโต้สหรัฐฯ จากเหตุโจมตีอิหร่านอย่างแน่นอน โดยระบุว่า “เป็นเพียงเรื่องของเวลา” เท่านั้น

โมฮัมเหม็ด อัล-บุคไฮติ (Mohammed Al-Bukhaiti) แกนนำทางการเมืองของฮูตี ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อตกลงหยุดยิงกับสหรัฐฯ นั้นเกิดขึ้นก่อนที่ความขัดแยกระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านจะรุนแรงขึ้น

ที่ผ่านมา กลุ่มฮูตีได้โจมตีเรือสินค้าตามเส้นทางเดินเรือ และยิงอาวุธใส่อิสราเอล โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ท่ามกลางสงครามกับอิสราเอล

โดยในเดือนพฤษภาคม ฮูตีเคยตอบตกลงหยุดโจมตีเรือของสหรัฐฯ แลกกับการที่สหรัฐฯ จะหยุดโจมตีกลุ่มฮูตีในเยเมน แต่เหตุการณ์ล่าสุดกับอิหร่านอาจทำให้ข้อตกลงนั้นเปลี่ยนไป

โฆษกทรัมป์ฉะสื่อ อย่าใส่ร้ายสหรัฐฯ ลั่นไม่เคยรุกรานประเทศไหน สร้างแต่สันติภาพเท่านั้น

(23 มิ.ย. 68) คาโรไลน์ ลีวิตต์ (Karoline Leavitt) โฆษกทำเนียบขาว ตำหนิสื่อมวลชน หลัง CNN รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าร่วมสงครามเคียงข้างอิสราเอลเพื่อ “รุกรานอิหร่าน” โดยยืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่เคยรุกรานประเทศใด และการกระทำทั้งหมดเป็นไปเพื่อสันติภาพ

ลีวิตต์เตือนสื่อว่า “อย่าใช้คำว่ารุกรานกับประธานาธิบดีทรัมป์ หรือแม้แต่ประเทศของเรา” พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ มีเกียรติ และมีกองทัพที่ไม่มีใครเทียบได้ในโลก

โฆษกสาวของทำเนียบขาววัย 27 ปี ระบุว่า แม้สหรัฐฯ มีปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการรุกราน เพราะสหรัฐฯ ไม่ยอมให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นเส้นแดงสำคัญด้านความมั่นคง

คาโรไลน์ ลีวิตต์ ทิ้งท้ายว่าทรัมป์ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในอิหร่าน และยังคงหวังว่าเตหะรานจะเลือกการเจรจา พร้อมกล่าวว่า “ขอพระเจ้าอวยพรโลกใบนี้”

‘SPR’ คือ คำตอบรับมือวิกฤตพลังงาน หากอิหร่าน ตัดสินใจปิดช่องแคบ ‘ฮอร์มุซ’

(23 มิ.ย. 68) จากผลพวงสหรัฐ อเมริกา ปฏิบัติการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ 3 แห่งของอิหร่าน ทำให้สภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่าน เตรียมตัดสินใจตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซ หลังจากมีรายงานว่ารัฐสภาของประเทศได้ยกมือสนับสนุนมาตรการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวเพรส ทีวี ของอิหร่าน เมื่อวันอาทิตย์(22มิ.ย.68)

แน่นอนว่า หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซขึ้นมาจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชั่วคราว หรือ ยืดเยื้อระยะยาว นั่นคือจุดเริ่มต้นของหายนะระดับโลก เพราะช่องแคบฮอร์มุซ นับเป็นเส้นทางการขนส่งน้ำมันที่มีปริมาณถึง 20% ของการบริโภคทั่วโลก เรียกได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการค้าพลังงานโลก โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของยุโรปและเอเชีย นั่นและนั่นจะเป็นสาเหตุให้ราคาพลังงานพุ่งทะยานและต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในการรับมือกับวิกฤตพลังงานน้ำมันในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีแนวคิดที่จะดำเนินนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) เพื่อให้ประเทศมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานได้ถึง 90 วัน เช่นเดียวกับประเทศใหญ่หลายประเทศที่มีน้ำมันสำรองเพียงพอ 90 วัน ทำให้มีเวลาแก้ไขปัญหาและสามารถเตรียมการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้นานขึ้น

เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณน้ำมันสำรองที่เอกชนจัดเก็บเพียงพอต่อการบริโภค 25-36 วัน นั่นหมายความว่า หากปัญหาวิกฤตน้ำมันในประเทศไม่สามารถแก้ไขได้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน ย่อมจะเกิดผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อประเทศในภาพรวม ไม่ว่าในด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเงิน และการคลัง ฯลฯ อย่างแน่นอน ดังนั้น SPR ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่กำลังผลักดันและร่างกฎหมายอยู่ในขณะนี้ คือ คำตอบที่จะทำให้ประเทศสามารถรับมือวิกฤตพลังงานโลกที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งเร็วๆ นี้

กลัวแล้ว! สหรัฐฯ วอนจีนช่วยคุยอิหร่าน หวั่นปิด ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ เขย่าน้ำมันโลกพุ่ง

(23 มิ.ย. 68) วอชิงตันส่งสัญญาณตรงถึงปักกิ่ง เมื่อมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนใช้อิทธิพลเกลี้ยกล่อมอิหร่านไม่ให้ปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” หลังสื่อ Press TV รายงานว่ารัฐสภาเตหะรานลงมติหนุนแผนดังกล่าว แม้คำตัดสินสุดท้ายยังอยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของอิหร่าน

รูบิโอเตือนว่าการปิดช่องแคบซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของน้ำมันราว 20 % ของโลกจะเขย่าตลาดพลังงานทั่วโลก โดยเฉพาะจีนซึ่งนำเข้าน้ำมันอิหร่านมากที่สุดในโลก “ถ้าเตหะรานทำจริงก็เท่ากับฆ่าตัวตายทางเศรษฐกิจ” เขากล่าว พร้อมกระตุ้นชาติอื่นให้จับตาเพราะจะเจอผลกระทบจะรุนแรงยิ่งกว่าสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ผลพวงมาจากสหรัฐฯ และอิสราเอลโจมตีเป้าหมายนิวเคลียร์หลักของอิหร่านเมื่อสุดสัปดาห์ ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ พุ่งแตะ 78.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือประมาณ 2,865 บาท สูงสุดในรอบห้าเดือน ธนาคารเพื่อการลงทุน ‘โกลด์แมน แซคส์’ เตือนว่าหากการขนส่งในฮอร์มุซหยุดชะงัก ราคาน้ำมันอาจพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์ได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านพลังงานมองว่าอิหร่าน “มีอะไรต้องเสียมากกว่าจะได้” เพราะการปิดช่องแคบอาจทำให้ชาติผู้ผลิตน้ำมันอ่าวเปอร์เซียกลายเป็นศัตรู และยังเสี่ยงทำให้จีน และลูกค้าหลักต้องออกมาคัดค้าน

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนออกแถลงการณ์ตำหนิสหรัฐฯ ว่าเสียความน่าเชื่อถือจากการใช้กำลัง และเรียกร้องให้ทุกฝ่าย “ยับยั้งการใช้กำลังที่รุนแรง และอย่าซ้ำเติมไฟสงคราม” บทบรรณาธิการ Global Times ยังระบุว่าการโจมตีของวอชิงตันทำให้สถานการณ์ตะวันออกกลาง “ส่อเค้าเลวร้ายจนควบคุมไม่ได้” 

‘ทรัมป์’ เผยข่าวดี ‘อิสราเอล-อิหร่าน’ ตกลงหยุดยิงชั่วคราว หากเป็นไปตามแผน สงครามเตรียมยุติภายใน 24 ชม.

(24 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ประกาศว่า อิสราเอลและอิหร่านตกลงหยุดยิงเพื่อยุติสงครามที่ดำเนินมานาน 12 วัน โดยแผนหยุดยิงนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคืออิหร่านจะหยุดยิงก่อนเป็นเวลา 12 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนตามเวลา EDT (เวลาท้องถิ่นฝั่งสหรัฐฯ) จากนั้นเมื่อครบ 12 ชั่วโมง อิสราเอลจะหยุดยิงตามอีก 12 ชั่วโมง หากทั้งสองฝ่ายทำตามแผนได้ครบ สงครามครั้งนี้ก็จะถือว่าสิ้นสุดลงภายใน 24 ชั่วโมง

ด้าน รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน อับบาส อารักจี (Abbas Araghchi) ระบุผ่านโซเชียลมีเดียว่า ถ้าอิสราเอลหยุดโจมตีภายในเวลา 04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอิหร่าน อิหร่านก็จะไม่ยิงตอบโต้เพิ่มเติม และจะพิจารณาว่าจะหยุดปฏิบัติการทางทหารอย่างถาวรหรือไม่ในภายหลัง

ข้อตกลงหยุดยิงนี้เกิดขึ้นเพียง 2 วันหลังสหรัฐฯ เปิดฉากโจมตีเป้าหมายด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน 3 แห่ง ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในความขัดแย้ง โดยสงครามเริ่มต้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน จากการที่อิสราเอลกล่าวหาอิหร่านว่ากำลังเข้าใกล้การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และเปิดฉากโจมตีเชิงป้องกันล่วงหน้า ซึ่งอิหร่านปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพอัลอูเดดในกาตาร์ ฐานทัพสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค แม้การโจมตีจะถูกสกัดได้ด้วยความช่วยเหลือจากกาตาร์ แต่นำมาซึ่งความกังวลว่าจะเกิดการขยายวงของสงคราม ทรัมป์เรียกการตอบโต้ของอิหร่านว่า “อ่อนแอ” พร้อมแสดงท่าทีต้องการลดความรุนแรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์

‘คาเมเนอี’ โพสต์ชัด ‘อิหร่านไม่ยอมจำนน’ หลังยิงขีปนาวุธตอบโต้สหรัฐฯ ในกาตาร์

(24 มิ.ย. 68) อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน แสดงท่าทีแข็งกร้าวหลังอิหร่านยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพอัลอูเดดของสหรัฐฯ ในกาตาร์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้การที่สหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน 3 แห่ง 

คาเมเนอีโพสต์ข้อความบน X (เดิมคือ Twitter) ว่า “ประชาชนอิหร่านไม่ใช่ชาติที่ยอมจำนน” และยังระบุอย่างชัดเจนว่า “เรามิได้เริ่มโจมตีใคร และเราไม่มีวันยอมรับการถูกโจมตีจากใครเช่นกัน รวมถึงจะไม่ยอมจำนนต่อการรุกรานใด ๆ ทั้งสิ้น นี่คือหลักการของชาติอิหร่าน” 

แหล่งข่าวเผยว่า คาเมเนอี วัย 86 ปี รับรู้ถึงความเสี่ยงที่จะถูกลอบสังหารจากอิสราเอลหรือสหรัฐฯ จึงได้หลบภัยอยู่ในบังเกอร์ พร้อมพูดคุยกับผู้บัญชาการผ่านคนใกล้ชิด และระงับการติดต่อสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยเตรียมกระบวนการเลือกผู้นำสูงสุดคนใหม่ไว้แล้ว โดยเสนอชื่อผู้สมัคร 3 รายให้สภาผู้เชี่ยวชาญคัดเลือก

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าอิหร่านและอิสราเอลตกลงหยุดยิงภายใน 6 ชั่วโมง และจะยุติสงครามที่ยืดเยื้อ 12 วันอย่างเป็นทางการภายใน 24 ชั่วโมง หากทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด 

แม้สถานการณ์ความตึงเครียดจะเริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่หลายประเทศทั่วโลกยังจับตามองอิหร่านอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้นำสูงสุดในอนาคต และโครงการนิวเคลียร์ที่ยังเป็นประเด็นร้อน องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ออกมาเตือนว่า อิหร่านกำลังเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกินระดับที่ใช้ในทางสันติอย่างชัดเจน ขณะที่ผู้นำอิหร่าน คาเมเนอี ก็ยืนยันชัดว่า เขาจะไม่ยอมเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ เพราะเชื่อว่าจะไม่ช่วยให้การคว่ำบาตรถูกยกเลิก

‘อิสราเอล’ โวยเตหะรานละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ‘อิหร่าน’ ย้ำไม่ได้ยิงก่อน!! ขอเตือนจะไม่ทนหากโดนซ้ำ

(24 มิ.ย. 68) กระทรวงกลาโหมอิสราเอลออกแถลงการณ์ กล่าวหาว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลงหยุดยิง พร้อมสั่งให้กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) ตอบโต้ด้วยการโจมตีอย่างรุนแรงต่อเป้าหมายภายในกรุงเตหะราน โดยรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล อิสราเอล คัตซ์ (Israel Katz) ย้ำว่าจะไม่ยอมให้อิหร่านใช้ความเงียบเป็นโอกาสในการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอิหร่านยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยพลเอกอับโดลราฮิม มูซาวี  (Abdolrahim Mousavi) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอิหร่าน ระบุผ่านสื่อของรัฐว่า อิหร่านไม่ได้ยิงขีปนาวุธไปยังอิสราเอลในช่วงเวลาที่ผ่านมา และรายงานที่กล่าวหาอิหร่านนั้น ‘ไม่เป็นความจริง’

ในเวลาเดียวกัน สภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่านออกแถลงการณ์เตือนว่า หากอิสราเอลหรือพันธมิตรยังคงดำเนินการเชิงรุก อิหร่านจะตอบโต้ ‘อย่างเด็ดขาดและทันที’ โดยชื่นชมความสามัคคีและความอดทนเชิงยุทธศาสตร์ของชาวอิหร่านที่ทำให้ศัตรูต้องล่าถอย

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านระบุว่า อิหร่านพร้อมยุติปฏิบัติการทางทหาร หากอิสราเอลหยุดโจมตีเช่นกัน ซึ่งสะท้อนจุดยืนว่าการตอบโต้ของอิหร่านเกิดขึ้นเพื่อป้องกันตัว ไม่ใช่เป็นฝ่ายเริ่มโจมตี

สถานการณ์ล่าสุดยังคงตึงเครียด และมีความเสี่ยงที่จะปะทุเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่ในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีคำชี้แจงร่วมที่ชัดเจน ขณะที่ทั่วโลกจับตาอย่างใกล้ชิดถึงท่าทีและความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

นักวิเคราะห์อิสราเอลชี้สงครามกับอิหร่าน เปลี่ยนมุมมองชาวเทลอาวีฟ

(25 มิ.ย. 68) ผู้ใช้บัญชี X (เดิมคือ Twitter) นามว่า Sanna865 โพสต์ข้อความโดยอ้างถึงนักวิเคราะห์การเมืองชาวอิสราเอล ทิรา โคเฮน (Tira Cohen) ออกมาพูดว่า : “The war with Iran taught Tel Aviv settlers the meaning of what Gaza envelope settlers had been ...”

แปลได้ว่า: “สงครามกับอิหร่านครั้งนี้ ทำให้ผู้ตั้งถิ่นฐานในเทลอาวีฟเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ตั้งถิ่นฐานในฉนวนกาซา ที่เคยประสบมาก่อน…”

สุดท้ายผู้ใช้บัญชี X ชื่อ Sanna865 ซึ่งระบุเพิ่มเติมว่า “And they didn't even experience half of it” หรือ “และพวกเขายังไม่ได้เผชิญแม้แต่ครึ่งหนึ่งของสิ่งที่กาซาเคยประสบ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของระดับความรุนแรงที่ชาวกาซาต้องอดทนมาตลอดหลายปี

หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ แฉเอง!! บึ้มอิหร่านล้มเหลว โครงการนิวเคลียร์ยังไม่ถูกทำลาย แผนยังเดินต่อได้

(25 มิ.ย. 68) รายงานจาก CNN โดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ที่มุ่งเป้าไปยัง 3 ฐานนิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่สามารถทำลายโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ทั้งหมด แต่เพียงแค่ทำให้แผนงานของอิหร่านล่าช้าออกไปไม่กี่เดือนเท่านั้น จากการประเมินเบื้องต้นของหน่วยข่าวกรองกองทัพสหรัฐฯ (DIA)

แหล่งข่าวระบุว่า อุปกรณ์หมุนเหวี่ยงยูเรเนียม (centrifuges) ‘แทบไม่ได้รับความเสียหาย’ และยูเรเนียมเสริมสมรรถนะระดับสูงที่อิหร่านครอบครองอยู่ ถูกเคลื่อนย้ายออกก่อนการโจมตี ทำให้เป้าหมายหลักไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยเฉพาะที่โรงงาน ฟอร์โดว์ (Fordow), นาทานซ์ (Natanz) และ อิสฟาฮาน (Isfahan) ซึ่งโครงสร้างใต้ดินยังอยู่รอดเป็นส่วนใหญ่

แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์และรัฐมนตรีกลาโหมจะยืนยันว่าการโจมตีครั้งนี้ ได้ทำลายโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านทั้งหมดแล้ว แต่รายงานจากหน่วยข่าวกรองกลับให้ข้อมูลไม่ตรงกัน โดยนักวิเคราะห์ด้านอาวุธจาก Middlebury Institute ชี้ว่า สหรัฐฯ และอิสราเอลยังไม่สามารถทำลายโครงสร้างใต้ดินลึกที่สำคัญของอิหร่านได้ทั้งหมด

ล่าสุด ทำเนียบขาวยอมรับว่ามีรายงานการประเมินผลการโจมตีจริง แต่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในรายงาน พร้อมระบุว่าคนที่นำข้อมูลมาเปิดเผยเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ไม่น่าเชื่อถือ ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังยืนยันผ่าน Truth Social ว่า “ภารกิจนี้เป็นหนึ่งในความสำเร็จทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาจากทั้งสองพรรควิจารณ์ว่าเขา (ทรัมป์) “พูดเกินจริง” เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการโจมตีจะสามารถหยุดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้จริง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top