Monday, 7 April 2025
ภาษี

'คลัง' กระตุ้นเที่ยวเมืองรองช่วง Low Season สัมมนาเมืองรองหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ค่าไกด์-โรงแรม หักได้ 15,000

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังออกมาตรการทางภาษีกระตุ้นการสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว ในเมืองรองช่วง Low Season 2 มาตรการ ดังนี้ 

1. มาตรการภาษีกระตุ้นสัมมนาในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)
นิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 พฤศจิกายน 2567 หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้

1.1 หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
1.2 หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ตามข้อ 1.1 
1.3 ในกรณีที่การสัมมนาเกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1.1 หรือข้อ 1.2 และถ้าแยกไม่ได้ให้หัก 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง

2. มาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง (สำหรับบุคคลธรรมดา) 
บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยหรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season)

ทั้ง 2 มาตรการ ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ทั้ง 2 มาตรการนี้จะตอบโจทย์ 2 อย่างพร้อมๆกัน นั่นคือ กระตุ้นการเที่ยวเมืองรอง และกระตุ้นการเที่ยวช่วง Low Season

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! เหตุผลที่รายได้รัฐพลาดเป้า โครงสร้างภาษี-การจัดเก็บล้าสมัย ไม่มีประสิทธิภาพ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ทำไมรายได้รัฐพลาดเป้า?' เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การจัดเก็บภาษีอากรพลาดเป้าไป 40,000 ล้านบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 เป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะในภาวะที่รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพื่อดูแลสังคมและเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ และการคลังยังขาดดุลและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง

การที่รายได้รัฐต่ำกว่าประมาณการอาจมีสาเหตุหลายประการ…

- ประการแรก เป้าที่ตั้งไว้สูงเกินไปไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง 
- ประการที่สอง ภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ 
- และประการสุดท้าย โครงสร้างภาษีและการบริหารการจัดเก็บล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพ

การตั้งประมาณการรายได้ที่สูงเกินไปมีอันตรายเพราะจะทำให้รัฐบาลโน้มเอียงที่จะตั้งงบประมาณรายจ่ายสูงเกินตัว เมื่อเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าก็จะต้องกู้เงินในจำนวนที่มากกว่าที่วางแผนไว้ ส่วนภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยตรง สำหรับสาเหตุสุดท้ายจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพราะโครงสร้างและการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรไม่ได้รับการปรับปรุงขั้นพื้นฐานมายาวนาน

เริ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเริ่มนำมาใช้เมื่อมีการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ในปี 2535 ได้มีการออกแบบให้มีฐานกว้างและจัดเก็บที่อัตรา 10% แต่ปรากฏว่าฝ่ายการเมืองได้ประกาศลดอัตราลงเหลือ 7% มาตลอด 30 ปี และยังมีการกำหนดรายรับขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีไว้ที่ระดับสูง ทำให้ฐานภาษีแคบลง นอกจากนี้การซื้อขายสินค้าและบริการแบบออนไลน์ยังทำให้การจัดเก็บรั่วไหลอีกด้วย

ภาษีเงินได้นิติบุคคลยังคงจัดเก็บโดยยึดหลักสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment) ซึ่งเป็นหลักการที่ยึดถือมาเกือบ 100 ปีและอาจไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ซึ่งธุรกิจสามารถเลือกตั้งถิ่นฐานในประเทศที่มีภาษีต่ำหรือไม่มีภาษี (Tax Heaven) แล้วให้บริการข้ามพรมแดนแบบออนไลน์ โดยที่ประเทศต้นทางที่เป็นแหล่งกำเนิดของรายได้ไม่ได้อะไรเลย

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็มีฐานภาษีที่พรุนไปด้วยรายการยกเว้นลดหย่อนภาษีมากมาย ทำให้รายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เติบโตเร็วเท่าที่ควรจะเป็น ค่าลดหย่อนหลายรายการมีมากเกินความจำเป็นและไม่มีความคุ้มค่า สมควรทีจะมีการทบทวนและพิจารณายกเลิกเพื่ออุดรูรั่วของฐานภาษีและเพื่อสร้างความยุติธรรมระหว่างผู้เสียภาษี

ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเริ่มที่จะมีการจัดเก็บตามหลักการภาษีคาร์บอนอยู่บ้างในกรณีสินค้ารถยนต์ แต่ก็มีใช้การลดภาษีสรรพสามิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว การอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงาน Fossils นอกจากจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลแล้ว ยังเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับประชาคมโลกที่พยายามเปลี่ยนผ่านสู่โลกคาร์บอนต่ำตามความตกลงปารีสอีกด้วย วันนี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องจริงจังกับภาษีคาร์บอนได้แล้ว

นับจากการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ว่าการปฏิรูปประเทศจะเป็นเหตุผลหลักของการรัฐประหารเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ดังนั้น จึงขอฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่จะดำเนินการปฏิรูปภาษีอย่างจริงจังเสียทีเพื่อให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ความสมดุลทางการคลัง

'จีน' เรียกร้อง 'สหภาพยุโรป' ทบทวนแผนรีดภาษีรถ EV นำเข้าจากจีน เตือน!! อย่าหลงเดินทางผิด เพียงเพื่อปกป้องอุตฯ ยานยนต์ของตัวเอง

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 67 รัฐบาลจีนเรียกร้องให้สหภาพยุโรปทบทวนแผนรีดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากจีน และ ‘อย่าหลงเดินทางผิด’ เพียงเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของตัวเอง หลังจากที่อียูได้ประกาศมาตรการขึ้นภาษีรถอีวีจีนสูงสุดในอัตรา 38.1% โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป

จีนยังขู่จะใช้มาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ประกาศแผนขึ้นภาษีดังกล่าว

“เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างและขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่โตแล้ว หากจีนและอียูสามารถร่วมมือกันในประเด็นการค้าและเศรษฐกิจได้ก็จะเป็นการดีที่สุด” บทความแสดงความคิดเห็นของสำนักข่าวซินหวา ระบุ

“อียูเองก็จะมีความคุ้มทุน (cost-effective) มากขึ้น หากอาศัยข้อได้เปรียบของจีนเพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมรถอีวีของตนเอง”

ไม่ถึง 1 เดือนหลังจากที่สหรัฐฯ ขยับอัตราภาษีรถอีวีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวเป็น 100% บรัสเซลส์ก็กระโดดร่วมวงต่อสู้นโยบายอุดหนุนของปักกิ่งโดยเตรียมที่จะขึ้นภาษีในอัตราตั้งแต่ 17.4% สำหรับรถยนต์ BYD และสูงสุด 38.1% สำหรับรถยนต์ SAIC นอกเหนือไปจากภาษีนำเข้ามาตรฐาน 10% ที่ใช้อยู่แล้ว และนั่นทำให้อัตราภาษีสูงสุดที่เรียกเก็บพุ่งขึ้นไปเกือบถึง 50% ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของอียูแทบไม่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบรรดาค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีน เพราะเป็นสิ่งที่คาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว โดยราคาหุ้น BYD ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงขยับพุ่งขึ้นกว่า 7% ในการซื้อขายช่วงเช้า ส่วนที่ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นก็ขยับขึ้น 4.5%

“อัตราภาษีที่อียูประกาศออกจะให้ผลในเชิงบวกกับ BYD ด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับที่เราคาดการณ์ไว้ว่าอาจจะสูงถึง 30% และนั่นทำให้ภาพรวมการส่งออกของ BYD ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น” 

รายงานของ Citi ระบุ ราคาหุ้น Geely Auto ขยับพุ่ง 2.5% และ Xpeng เพิ่มกว่า 2% เช่นเดียวกับหุ้นของ Nio ที่ปรับเพิ่ม 3.5% ขณะที่ราคาหุ้น SAIC Motor ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ปรับตัวลดลง 1%

ในทางกลับกัน ราคาหุ้นค่ายยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของยุโรปซึ่งมีจีนเป็นตลาดใหญ่กลับดิ่งลง (12 มิ.ย.) สืบเนื่องจากความกังวลว่าจีนอาจจะใช้มาตรการแก้แค้น

แม้ว่าค่ายรถยุโรปจะต้องเผชิญความท้าทายจากรถอีวีราคาถูกสัญชาติจีนที่หลั่งไหลเข้าสู่ภูมิภาค ทว่ามาตรการรีดภาษีของ EU กลับไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมรถยนต์สักเท่าไหร่

บรรดาค่ายรถเยอรมนีนั้นต้องพึ่งยอดขายในจีนมากเป็นพิเศษ และเกรงว่าจะถูกปักกิ่งเล่นงานแก้แค้น ขณะที่ค่ายรถยุโรปหลาย ๆ เจ้าก็นำเข้ารถยนต์ของตัวเองที่ผลิตในจีนเช่นกัน

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เคยออกมาแถลงย้ำหลายครั้งว่ายุโรปจำเป็นที่จะต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้จีนส่งรถอีวีที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเข้ามาท่วมตลาดยานยนต์ยุโรป

คนรวยในฝรั่งเศส เตรียมย้ายออก นอกประเทศ เหตุ!! กังวลถูกรีดภาษี หนีความวุ่นวายทางการเมือง

(14 ก.ค.67) พลเมืองผู้มั่งคั่งหลายรายในฝรั่งเศสกำลังพิจารณาย้ายออกนอกประเทศ สืบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง และแนวโน้มอัตราภาษีที่สูงขึ้น หลังศึกเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อเร็วๆ นี้ ตามรายงานของบลูมเบิร์กเมื่อวันศุกร์ (12 ก.ค.) อ้างอิงที่ปรึกษาด้านการบริหารความมั่งคั่ง

ความเคลื่อนไหวนี้ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากผลการเลือกตั้งเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีพรรคไหนครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ก่อให้เกิดรัฐสภาแขวน แม้พันธมิตรฝ่ายซ้ายคว้าเก้าอี้มาได้มากที่สุดก็ตาม

บลูมเบิร์กรายงานอ้างบรรดาที่ปรึกษาด้านการบริหารความมั่งคั่ง เปิดเผยว่า บรรดาลูกค้าผู้ตื่นตระหนกของพวกเขาหลายรายได้เริ่มโอนย้ายเงินทุนไปยังต่างแดนแล้ว และเริ่มมองหาความเป็นไปได้ในการโยกย้ายถิ่นฐาน เกือบทั้งหมดกังวลว่า แม้ทั้งพรรคขวาจัดหรือพรรคซ้ายจัดต่างไม่มีใครคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด แต่หลายพรรคมีนโยบายหาเสียงอันน่ากังวล อย่างเช่นขึ้นภาษี ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจได้รับความเห็นชอบกลายเป็นกฎหมายในไม่ช้านี้

‘เรามีลูกค้าใหม่ๆ อย่างเช่นผู้บริหารระดับสูง ซึ่งสอบถามว่าพวกเขาจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อปกป้องตนเอง ตามหลังเบร็กซิต มีนายธนาคารจำนวนมากไหลบ่าเข้าไปยังฝรั่งเศส แต่พวกมีรายได้สูงเหล่านี้อาจย้ายออกนอกประเทศ เพราะว่าพวกเขาไม่ต้องการจ่ายภาษีมากกว่านี้’ เซเนีย ลาเกรนด์ จากบริษัทกฎหมายโฮเกน โลเวลล์ส ที่มีสำนักงานในปารีส บอกกับบลูมเบิร์ก

แนวร่วมนิว ป็อปปูลาร์ ฟรอนต์ (เอ็นเอฟแอล) พรรคฝ่ายซ้าย ซึ่งคว้าเก้าอี้ได้มากสุดในศึกเลือกตั้ง ประกาศจะรีดภาษีกำไรพิเศษของบริษัททั้งหลาย และคืนสถานะภาษีมั่งคั่งที่เรียกเก็บจากคนรวย ซึ่งข้อเสนอกฎหมายเหล่านี้สวนทางกับนโยบายต่างๆ ที่บังคับใช้โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ซึ่งถูกมองว่าเป็นมิตรกับคนรวยมากกว่า และแม้กระทั่งได้รับฉายาว่า ‘ประธานาธิบดีของคนรวย’

เอ็มมานูเอล อังเจเลียร์ ประธานบริษัทบริหารจัดการทรัพย์สิน La Financiere d’Orion ทำนายว่า ‘ผู้คนที่สามารถย้ายประเทศได้ จะย้ายประเทศ ถ้าหากว่านโยบายสุดขั้วต่างๆ ถูกบังคับใช้ ฝรั่งเศสจะไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าดึงดูดใจสำหรับต่างชาติอีกต่อไป และคนรวยจะย้ายหนีไปด้วย’

จูเลียน มากิตเตรี ที่ปรึกษาด้านทรัพย์สินส่วนบุคคลของบริษัท Barnes Family Office by Côme ระบุว่า บางคนเริ่มเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากฝรั่งเศสแล้วตั้งแต่ก่อนศึกเลือกตั้งรอบ 2 ด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่ย้ายเงินทุนไปที่ประเทศต่างๆ อย่างเช่นสวิตเซอร์แลนด์และลักเซมเบิร์ก ขณะที่บรรดาผู้จัดการด้านทรัพย์สินส่วนใหญ่บอกว่ามีหลายประเทศ อย่างเช่นอิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ และสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่อยู่ภายใต้การพิจารณาของบรรดาผู้มั่งคั่งฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสเป็นถิ่นพำนักของบรรดาบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกบางส่วน ในนั้นรวมถึง บอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ชายที่รวยที่สุดในยุโรปและเป็นเจ้าของบริษัทแบรนด์เนมหรู LVMH ฟรองซัวส์ เบตตองกูร์ เมเยอร์ส เศรษฐินีชาวฝรั่งเศส เจ้าของบริษัทเครื่องสำอาง L’Oréal สตรีผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก และพี่น้องตระกูลเวอร์ไธเมอร์ เจ้าของแบรนด์ชาแนล

อ้างอิงจากผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยสำนัก Elabe เมื่อต้นสัปดาห์ พบว่าชาวฝรั่งเศส 7 ใน 10 คน ไม่พอใจกับผลการเลือกตั้ง และองค์ประกอบของสมัชชาแห่งชาติชุดใหม่ โดยบอกว่าเวลานี้ประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่ปกครองไม่ได้

‘เศรษฐา’ สั่ง ‘ดีอี-ตำรวจ-สรรพากร’ ตรวจสอบแพลตฟอร์มจากจีน ย้ำ!! ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก มาทำการค้าบ้านเรา ก็ต้องเสียภาษีให้เรา

(3 ส.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่จ.นราธิวาส ถึงกรณีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu ของจีนเข้ามาตีตลาดไทย รวมถึงตลาดอื่นทั่วโลก จึงกังวลว่าเงินจะถูกส่งกลับจีน โดยไม่ได้มีการจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยว่า ก็ต้องมีการตรวจสอบและได้มีการกำชับไปที่กรมสรรพากร และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)แล้ว เพราะตอนนี้ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ ความก้าวหน้าเทคโนโลยีมีสูงมาก ฉะนั้นเราต้องเตรียมการให้ทัน

เมื่อถามว่า จะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร ที่จะไม่ให้มีการตีตลาดบ้านเรา นายกฯ กล่าวว่า แน่นอนถ้าเกิดมาทำการค้าบ้านเราต้องเสียภาษีที่เรา ตรงนี้ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก เมื่อถามย้ำว่า ต้องดูให้เขาเสียภาษีใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอน แน่นอนอยู่แล้วครับ

เมื่อถามต่อว่า ตอนนี้ได้มีการตรวจสอบแพลตฟอร์มดังกล่าวแล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า มีครับ ได้สั่งการไปที่ดีอีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) และกรมสรรพากรด้วย เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันตลอด เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเรื่องของสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ก็ถือเป็นส่วนหนึ่ง เพราะเอสเอ็มอีของเราเป็นภาคส่วนที่เปราะบาง เราเองต้องช่วยปกป้อง

เมื่อถามว่า หากพบมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง นายกฯ กล่าวว่า คำตอบมันอยู่ในตัวอยู่แล้วว่า รัฐบาลชุดนี้ควบคุมเรื่องนี้ ถ้าพิสูจน์ทราบได้ แต่เราต้องให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการด้วย แต่ถ้าหากพิสูจน์ได้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด

อุทาหรณ์!! เจ้าของกิจการเจอภาษีย้อนหลัง แทบล้มละลาย เตือน!! ยังไงก็ต้องจ่าย ไม่จ่ายวันนี้ ก็ต้องจ่ายสักวัน

(23 ส.ค.67) จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Mint Paka' ได้โพสต์ข้อความแชร์เตือนกรณีไม่ได้จ่ายภาษีบุคคลธรรมดา และเจอเรียกเก็บย้อนหลัง ระบุว่า...

เรื่องมีอยู่ว่า...
มีเอกสารเข้าพบสรรพากรมาบ้าน 2 รอบ  
รอบแรกเราไม่ได้ไป 
รอบสอง มาติดไว้ข้างเสาบ้านเลยค่ะ 

วันนี้เลยไป..เราคัดสเตทเม้นย้อนหลังไป 2 ปี 
แต่...สรรพากรบอก ไปคัดสเตทเม้นมาเพิ่ม 
(เอาตั้งแต่ปี 61-67 เลยค่ะ)
** ก็คือตั้งแต่เริ่มทำกิจการ **  
เราหน้าชามากกก...ไปต่อไม่ถูกเลย 

#อย่าเล่นกับระบบ #ปีนี้เขาเอาจริง 
ใครยังไม่เสียภาษี ไปจัดการด่วนเลยค่ะ 

ย้ำ!! ยังไงก็ต้องเสีย ยังไงก็ต้องจ่าย 
ไม่จ่ายวันนี้ก็ต้องจ่ายสักวัน 

#วันนี้ละจุ่มโดนฉันแล้วว ซีเครทแตกกก

แนะเพิ่มช่องทางหาเงินเข้ารัฐ ภาษีลาภลอย ช่วยรัฐบาลได้

(29 ต.ค. 67) ไม่แปลกนักที่ในห้วงระยะเวลานี้จะมีข่าวการเตรียมจัดเก็บค่าธรรมเนียม ภาษี หรือรายได้อื่น ๆ จากทางภาครัฐ เนื่องจากการทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

แต่มีอีก 1 ช่องทางในการสร้างรายได้อีก 1 ช่องทาง ที่เหมือนจะหลงลืมกันไป นั่นก็คือ ‘ภาษีลาภลอย’

ภาษีลาภลอย คือ ภาษีที่จะจัดเก็บจากผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ทางด่วน รถไฟฟ้า สนามบิน หรืออื่น ๆ

เหตุผลที่มีแนวคิดในการจัดเก็บ เนื่องจากบรรดาที่ดินที่ได้รับประโยชน์เหล่านี้ อยู่ดี ๆ ก็มีมูลค่าสูงขึ้นจากการลงทุนของทางภาครัฐ 

ขอย้ำอีกครั้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีการเตรียมเสนอกฎหมายที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กันมาแล้ว ร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐพ.ศ. …

โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

2.โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กำหนดในกระทรวง

3.การจัดเก็บภาษีแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
3.1 ในระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการฯ จะจัดเก็บภาษีจากการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่โครงการฯ ในรัศมีที่กำหนด
3.2 เมื่อการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวจาก
1) ที่ดินหรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประชาชนในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท (ยกเว้นภาษีให้แก่ที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้เพื่อพักอาศัยและที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม)
2) ห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

4.พื้นที่จัดเก็บภาษี กำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะจัดเก็บภาษีในแต่ละโครงการฯ

5.หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการฯตั้งอยู่

6.ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี ให้จำนวนจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือที่ขึ้นระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และมูลค่าในวันที่การก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ

7.การคำนวณภาษีให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือท้องที่ชุดคำนวณได้คุมด้วยอัตราภาภาษี

8.อัตราภาษี กำหนดเพดานอัตราสูงสุดของภาษีที่กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บได้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษี ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกา

9.ภาษีที่จัดเก็บได้ให้นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน

จะเห็นได้ว่าการเอาภาษีตัวนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้ง สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันอย่างยิ่ง เนื่องจากหลายโครงการโครงสร้างพื้นฐานอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านอื่น ๆ ของประเทศได้อีกด้วย

‘พิชัย’ เผย ขอไทยเตรียมความพร้อม 5 ปี ก่อนเข้าร่วม OECD เน้นภาษีเงินได้นิติฯ

(30 ต.ค. 67) นายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) เข้าพบหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนจะเดินทางเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวภายหลังการหารือว่า จากการหารือประเทศไทยยังมีงานต้องทำอีกหลายอย่างให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเวลา 5 ปี ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการ ทั้งเรื่องกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติด้านต่าง ๆ ที่จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายทางด้านภาษี 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการทางด้านภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับกติกาภาษีใหม่ของ OECD ซึ่งได้ประกาศการบรรลุข้อตกลงเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลก ในอัตรา 15% ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นี้ จะมีการหารือถึงมาตรการดังกล่าว

“เรื่องของภาษีเป็นความจำเป็น เพราะไทยจะต้องทำตามกติกาภาษีใหม่ที่ให้เก็บ 15% กับบริษัทขนาดใหญ่ เพราะมาตรการเดิมของบีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษี แต่ท้ายที่สุดบริษัทเหล่านั้นก็ต้องเสียภาษีต้นทาง ดังนั้นจึงอยากเซตกติกาใหม่กับบีโอไอ เช่น ถ้าลงทุนพัฒนาทักษะคน หรือใช้เทคโนโลยีสีเขียว ก็มีมาตรการออกมาช่วยโดยจะออกมาเป็นกฎหมายที่จ่ออยู่แล้ว เพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ในปี 2568” นายพิชัย ระบุ

นายพิชัย กล่าวว่า ในส่วนประเด็นด้านการเติบโต และด้านศักยภาพของเศรษฐกิจไทยนั้น จากการหารือก็เห็นว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นการฟื้นตัวในระยะต่อไปต้องฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ ซึ่ง OECD ก็มีตัวอย่างของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประเทศไทยสามารถนำวิธีคิด และวิธีทำงานมาแลกเปลี่ยนกันต่อไป 

“วันนี้จะอยู่แบบเดิมไม่ได้ต้องอยู่แบบประสิทธิภาพ และคุณภาพ ซึ่งวิธีคิด และวิธีทำงานที่สอดคล้องกันของประเทศสมาชิกจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้น และเป็นผลดีกับไทยที่มีปัญหาการทำงาน มีปัญหาซ้ำซ้อนเรื่องค่าใช้จ่ายภาครัฐมาก โดยเรื่องทั้งหมดนั้น เรามีงานต้องทำอีกมากตามเป้าหมายการทำงานในช่วง 5 ปีจากนี้” นายพิชัย ระบุ

'ไบเดน' อภัยโทษ 'ลูกชาย' คดีภาษี-ค้าอาวุธ อ้างฝ่ายตรงข้ามกลั่นแกล้งทางการเมือง

(2 ธ.ค. 67) ทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามคำสั่งอภัยโทษให้แก่นายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชาย กรณีหลบเลี่ยงภาษีมูลค่าอย่างน้อย 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 48.17 ล้านบาท) ระหว่างปี 2559-2562 และให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการซื้ออาวุธปืนในปี 2561 ขณะที่ยังอยู่ในสถานะ "บุคคลต้องห้าม" เนื่องจากมีประวัติการใช้ยาเสพติด

ก่อนหน้านี้ อัยการสั่งฟ้องฮันเตอร์ในคดีให้ข้อมูลเท็จเรื่องครอบครองอาวุธปืนเมื่อต้นปี 2566 ส่วนคดีหลบเลี่ยงภาษี ฮันเตอร์ยอมรับสารภาพในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการตัดสินโทษ โดยโทษสูงสุดของทั้งสองคดีรวมกันอาจถึง 42 ปี

การตัดสินใจครั้งนี้ของไบเดน แม้เป็นไปตามอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่ถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะจากพรรครีพับลิกัน และอาจสร้างความไม่พอใจในพรรคเดโมแครต เนื่องจากก่อนหน้านี้ไบเดนเคยยืนยันว่าจะไม่อภัยโทษให้บุตรชาย

ไบเดน ซึ่งจะหมดวาระในเดือนมกราคม 2568 ระบุว่า การดำเนินคดีต่อฮันเตอร์เป็น "การกลั่นแกล้งทางการเมือง" และขอให้ชาวอเมริกันเข้าใจการตัดสินใจครั้งนี้ ทั้งในฐานะบิดาและประธานาธิบดี

ทั้งนี้ ไบเดนไม่ใช่ผู้นำสหรัฐคนแรกที่อภัยโทษสมาชิกครอบครัว อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน เคยอภัยโทษลูกพี่ลูกน้องจากคดีเกี่ยวกับโคเคน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อภัยโทษบิดาของลูกเขยในคดีภาษีเช่นกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top