Friday, 18 April 2025
ภาษี

‘อีลอน มัสก์’ เดือดจวกที่ปรึกษาการค้าของทรัมป์เป็น ‘คนโง่’ ปมวิจารณ์มัสก์ไม่ใช่ผู้ผลิต Tesla แต่เป็นเพียงผู้ประกอบเท่านั้น

(9 เม.ย. 68) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและวิศวกรผู้เป็นเจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสุดล้ำอย่าง Tesla เรียกที่ปรึกษาการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่าง ปีเตอร์ นาวาร์โร ว่าเป็น “คนโง่” จากความคิดเห็นที่เขาแสดงออกมาเกี่ยวกับบริษัท Tesla

มัสก์ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐบาลทรัมป์ โพสต์บนแพลตฟอร์ม X โซเชียลมีเดียของเขาเองว่า “Tesla มีรถยนต์ที่ผลิตในอเมริกามากที่สุด ส่วนนาวาร์โรนั้น โง่กว่ากระสอบอิฐ” ซึ่งเป็นการตอบรับการให้สัมภาษณ์ของนาวาร์โรที่วิจารณ์มัสก์ว่า “(เขา) ไม่ใช่ผู้ผลิตยานยนต์ เขาเป็นเพียงผู้ประกอบรถยนต์ในหลายๆ กรณี” นาวาร์โรกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ นาวาร์โรสัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ของทรัมป์ และกล่าวว่าในอนาคตเขาต้องการเห็นชิ้นส่วนต่างๆ ผลิตในสหรัฐฯ แต่มัสก์ซึ่งเคยแสดงท่าทีคัดค้านนโยบายการค้าของทำเนียบขาว กล่าวว่าคำกล่าวอ้างของนาวาร์โรเกี่ยวกับเทสลานั้น “เป็นเท็จอย่างชัดเจน”

การทะเลาะวิวาทครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณความขัดแย้งต่อสาธารณะมากที่สุดระหว่างทีมการค้าของทรัมป์กับมัสก์ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกและเป็นหัวหน้าแผนกประสิทธิภาพของรัฐบาล (Doge) ซึ่งมีหน้าที่ในการลดขนาดและการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง

ต่อมาในวันอังคาร แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ถูกถามถึงการโต้เถียงระหว่างมัสก์และนาวาร์โร เธอบอกกับนักข่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าทั้งสองคนมีมุมมองที่แตกต่างกันมากในเรื่องการค้าและภาษีศุลกากร”

“เด็กผู้ชายก็คือเด็กผู้ชาย และเราจะปล่อยให้พวกเขาสู้กันต่อในที่สาธารณะต่อไป” ลีวิตต์กล่าว

ทรัมป์ได้ให้เหตุผลบางส่วนในการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก โดยกล่าวว่าเขาต้องการฟื้นการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่นาวาร์โรได้หยิบยกขึ้นมาในระหว่างการปรากฏตัวทางสถานีข่าว CNBC เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา 

“หากคุณมองไปที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของเรา ถูกต้องแล้ว ตอนนี้เราเป็นสายการประกอบเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของเยอรมัน เรากำลังจะไปถึงจุดที่อเมริกาผลิตสิ่งของต่างๆ อีกครั้ง ค่าจ้างที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้น กำไรจะเพิ่มขึ้น” นาวาร์โรกล่าว

แดน ไอฟส์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกล่าวว่าบริษัทมีความเสี่ยงต่อภาษีศุลกากรน้อยกว่าผู้ผลิตยานยนต์รายอื่นๆ ในสหรัฐฯ เช่น GM, Ford และ Stellantis พร้อมอ้างว่าบริษัทจัดหาชิ้นส่วนส่วนใหญ่จากนอกสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะจีน

“ภาษีในรูปแบบปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อ Tesla และห่วงโซ่อุปทานโดยรวม สำหรับฐานการดำเนินงานทั่วโลก ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่กำลังเติบโต เช่น BYD ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” เขากล่าว

ด้าน เจฟฟรีย์ ซอนเนนเฟลด์ คณบดีและศาสตราจารย์ของ Yale School of Management ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานพบปะผู้บริหารธุรกิจในกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนที่แล้ว กล่าวว่า มัสก์กำลังแสดงออกถึงสิ่งที่ CEO ชาวอเมริกันหลายคนคิดแต่ลังเลที่จะพูดต่อสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายการค้าของทรัมป์

“79% คือคนที่บอกว่าพวกเขารู้สึกอายต่อหน้าพันธมิตรระหว่างประเทศ และ 89% บอกว่าเรื่องนี้ทำให้เราเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยไม่จำเป็น และมีนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด” นายซอนเนนเฟลด์กล่าวกับ BBC โดยอ้างถึงการสำรวจที่จัดทำขึ้นในงานที่เขาเป็นเจ้าภาพ

ขณะที่ บิล อัคแมน ผู้จัดการกองทุนมหาเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์อีกรายหนึ่ง ได้เรียกร้องให้หยุดการจัดเก็บภาษีศุลกากร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “ผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก”

ปักกิ่งโต้เดือด ‘ไม่ยอมอยู่ใต้การแบล็กเมล์’ หลังสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจีน 104% ทำเนียบขาวเตือนอย่าตอบโต้ทรัมป์ ชี้ผู้นำสหรัฐฯ จะไม่ยอมอ่อนข้อแม้แต่น้อย

(9 เม.ย. 68) ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนพุ่งขึ้นอีกระลอก หลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 50% เพื่อโต้ตอบการตอบโต้จากปักกิ่ง ส่งผลให้ภาษีนำเข้าสินค้าจีนรวมจากฝั่งสหรัฐฯ พุ่งแตะ 104% อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทรัมป์ให้เหตุผลว่า จีนยังคงใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการตอบโต้ที่ผ่านมาจากปักกิ่งเป็น “การท้าทายอย่างชัดเจน” ต่ออำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยแถลงว่า “จีนเล่นเกมนี้มานานเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่สหรัฐฯ ต้องยืนหยัดและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ”

แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากฝั่งวอชิงตัน แต่ปักกิ่งยืนยันว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อสิ่งที่ระบุว่าเป็น 'การแบล็กเมล์ทางเศรษฐกิจ' และมองว่าการกระทำของสหรัฐฯ เป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียวและกีดกันทางการค้า

ในการสนทนาทางโทรศัพท์กับ อูร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีนระบุว่า “จีนมีเครื่องมือทางนโยบายที่เพียงพอในการรับมือกับแรงกระแทกจากภายนอก และยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

นอกจากนี้ หลี่เฉียงยังเน้นย้ำว่า การตอบโต้ของจีน ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่รวมถึงการปกป้องกฎกติกาการค้าในระดับสากล ที่ทุกประเทศควรยึดถือร่วมกัน

ขณะที่ แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมอ่อนข้อ และระบุว่าจีนกำลัง 'ทำพลาดอย่างหนัก' ด้วยการตอบโต้สหรัฐฯ

“ประเทศต่างๆ เช่น จีน ซึ่งเลือกที่จะตอบโต้และพยายามเพิ่มโทษต่อการปฏิบัติต่อคนงานชาวอเมริกันอย่างไม่เป็นธรรม และกำลังทำผิดพลาด”

ลีวิตต์ กล่าวอีกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีความแข็งแกร่ง และจะไม่มีวันแตกหัก พร้อมยืนยันว่า การตัดสินใจทางการค้าของผู้นำสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานและเศรษฐกิจอเมริกัน ซึ่งจีนต้องการทำข้อตกลง กับสหรัฐฯ แต่ “ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร" และปฏิเสธที่จะเปิดเผยเงื่อนไขใด ๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์อาจพิจารณา เพื่อผ่อนคลายมาตรการภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มาตรการภาษีล่าสุดของทรัมป์มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งในฝั่งผู้ผลิตจีน และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทสหรัฐฯ ที่พึ่งพาสินค้าและชิ้นส่วนจากจีน อาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การเดินหน้าเพิ่มกำแพงภาษีต่อจีนเป็นสัญญาณว่า สหรัฐฯ พร้อมเปิดศึกการค้าเต็มรูปแบบ และคาดว่าปักกิ่งจะตอบโต้กลับอีกระลอกในไม่ช้า

แคนาดาเอาคืน เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์-ชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ 25% หวังป้องแรงงาน 500,000 คน จากนโยบายการค้าที่ยากจะยอมรับ

(9 เม.ย. 68) ฟรองซัวส์-ฟิลิปป์ ชองปาญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแคนาดา แถลงยืนยันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า มาตรการตอบโต้ทางการค้าของแคนาดาจะมีผลบังคับใช้ในเวลา 00.01 น. วันที่ 9 เมษายน 2568 ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ (EDT) หรือตรงกับเวลา 11.01 น. ตามเวลาในประเทศไทย เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการที่สหรัฐฯ เก็บ ภาษีนำเข้าเกินควรจากอุตสาหกรรมยานยนต์ของแคนาดา

ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยกระทรวงการคลัง แคนาดาระบุว่า มาตรการตอบโต้นี้จะมีลักษณะ “ตอบโต้อย่างเด็ดเดี่ยว” โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้ภาษีศุลกากรที่ไม่เป็นธรรมซึ่งกระทบต่อ แรงงาน ธุรกิจ และอุตสาหกรรมหลัก ของประเทศ

“รัฐบาลแคนาดาจะไม่ยอมให้ภาษีศุลกากรที่ไม่ยุติธรรมจากประเทศใดมาทำลายเศรษฐกิจของเรา เราจะตอบโต้ด้วยมาตรการที่ชัดเจน รวดเร็ว เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแคนาดา” ชองปาญกล่าวในแถลงการณ์

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจแคนาดา การที่สหรัฐฯ ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าในภาคส่วนนี้ จึงจุดชนวนความไม่พอใจอย่างรุนแรงจากฝั่งออตตาวา

โดยมาตรการตอบโต้ดังกล่าวได้รับการประกาศโดยนายกรัฐมนตรี มาร์ค คาร์นีย์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อ “ปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของแคนาดาอย่างถึงที่สุด” และมีเนื้อหาหลักสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

1.การเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ประกอบสำเร็จ ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี CUSMA (Canada–United States–Mexico Agreement)

2.การเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ผลิตจากประเทศที่ไม่ใช่แคนาดาหรือเม็กซิโก หากอยู่ในรถยนต์ประกอบสำเร็จที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลง CUSMA

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลแคนาดาเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้ภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้เมื่อ 3 เมษายน 2568 ซึ่งเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ของแคนาดาในอัตรา 25% และวางแผนจะขยายไปยัง ชิ้นส่วนรถยนต์บางรายการในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568

ทั้งนี้ ภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ แรงงานมากกว่า 500,000 คน ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ข้อมูลจากปี 2567 ระบุว่า แคนาดานำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.56 หมื่นล้านดอลลาร์แคนาดา หรือราว 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

แคนาดาย้ำว่าจะเดินหน้าตอบโต้ภาษีศุลกากรที่เกินกว่าเหตุเหล่านี้อย่างเด็ดเดี่ยว พร้อมแสดงจุดยืนว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในทุกช่องทางที่เป็นไปได้

‘ราคาทอง’ พุ่ง!! ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สะท้อนยุคเปลี่ยนผ่านของ ‘ระบบดอลลาร์สหรัฐฯ’ หลายประเทศ หันไปถือทอง มองเป็น ‘สกุลเงินที่แท้จริง’ ที่คงคุณค่ามานานกว่า 5,000 ปี

(12 เม.ย. 68) สำนักข่าว Sputnik International รายงานว่า ราคาทองคำที่พุ่งทะลุระดับ 3,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพียงผลจากความผันผวนระยะสั้นของตลาด แต่เป็นสัญญาณสะท้อนความสั่นคลอนของระเบียบการเงินโลกที่ผูกกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรง

รายงานวิเคราะห์ว่า การคว่ำบาตร การตั้งกำแพงภาษี และความปั่นป่วนในยุคทรัมป์ ได้ทำให้หลายประเทศเริ่มตั้งคำถามกับความมั่นคงของเงินดอลลาร์ พร้อมทั้งหันไปถือครอง ทองคำ ซึ่งถูกยกให้เป็น 'สกุลเงินที่แท้จริง' ที่คงคุณค่ามานานกว่า 5,000 ปี

Claudio Grass นักเศรษฐศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์ให้สัมภาษณ์กับสปุตนิกว่า หลังสงครามเย็น โลกเคยรวมศูนย์อยู่กับระเบียบที่นำโดยสหรัฐฯ และดอลลาร์ได้รับอานิสงส์อย่างมาก แต่ในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระแส 'แยกตัวออก' ไปสู่ความเป็นระเบียบหลายขั้ว (multipolarity) ที่ลดบทบาทของดอลลาร์ลง

Grass ระบุว่า เรากำลังเข้าสู่ 'ยุคเปลี่ยนผ่านของระบบ'  (system transition) ซึ่งจะเต็มไปด้วยเงินเฟ้อ ความไม่มั่นคง และความสูญเสียทางการเงิน พร้อมเสนอแนวคิดว่า “ประชาชนควรเป็นธนาคารกลางของตนเอง ด้วยการถือทองคำจริงและเงินแท่งไว้นอกระบบ”

ขณะเดียวกัน Tom Luongo นักวิเคราะห์การเงินอิสระกล่าวว่า ความผันผวนของโลกในขณะนี้เป็นสาเหตุให้คนหันกลับมามอง 'ทองคำ' ในฐานะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากระบบที่กำลังเปลี่ยนโฉม

ทั้งนี้ สปุตนิกยังรายงานเสริมว่า ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงรายย่อยจำนวนมาก ต่างเร่งสะสมทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX risk) ในช่วงที่ความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินตะวันตกเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว

นักวิเคราะห์เตือนว่า เราอาจอยู่ในช่วงต้นของ 'สงครามการเงิน' ที่ไม่ใช่แค่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ยังรวมถึงความตึงเครียดกับยุโรป ที่พยายามตอบโต้การผลักดันนโยบายดอกเบี้ยต่ำและการลดการพึ่งพาระบบดอลลาร์ของทรัมป์

รายงานของสปุตนิกสรุปว่า ราคาทองที่พุ่งสูงครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปฏิเสธดอลลาร์โดยตรง แต่เป็นการ 'ป้องกันตัว' จากความวุ่นวายของระบบที่กำลังถูกจัดระเบียบใหม่

ระเบียบโลกใหม่!! อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ‘จีน’ อาจเป็นผู้นำในโลกยุคใหม่ หาก ‘อเมริกา’ ยังเล่นบท ‘นักเลงภาษี’ อาจต้องตกเป็นรอง ในเวทีโลก

(12 เม.ย. 68) ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่สนใจแล้วว่าโลกหมุนทางไหน เพราะตอนนี้เขาหยิบค้อนภาษีมาทุบใส่เกือบทุกประเทศแบบไม่แยกแยะ จีนโดนหนักสุดถึง 145% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็โดนหางเลขกันถ้วนหน้า การเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกจึงทวีความดุเดือดแบบไม่มีเบรก

ผลคืออะไร? ระเบียบโลกที่เราเคยรู้จักมาตลอด 80 ปีเริ่มสั่นคลอนอย่างชัดเจน นักวิเคราะห์บางคนถึงกับฟันธงว่ามัน "ตายไปแล้ว" และสิ่งใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นนั้น... มีจีนเป็นศูนย์กลาง

Cameron Johnson ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนจากเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า “ถ้าคุณยังไม่กระโดดขึ้นรถไฟสายเอเชีย ก็เตรียมตัวถูกทิ้งไว้กลางทางได้เลย”

จีนในวันนี้ไม่ใช่แค่ ‘โรงงานโลก’ แต่กำลังกลายเป็นคู่ค้าที่ประเทศต่าง ๆ หันไปหาด้วยความจำเป็น (หรือสิ้นหวัง) โดยเฉพาะในวันที่อเมริกากลายเป็น ‘พ่อค้าเร่’ ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

แผนยุทธศาสตร์สายพานและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนก็เหมือนกล่องเครื่องมือที่จีนหยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที ทั้งถนน รถไฟ ท่าเรือ และเงินทุนที่หลายประเทศใฝ่ฝัน ขณะที่อเมริกายืนกอดอกบอกให้ใครต่อใคร "มาลงทุนในบ้านเราแทน"

ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลับกลายเป็นโอกาสทองให้จีนได้ขยับบทบาท ยิ่งเมื่อประเทศในเอเชียเริ่มจับมือกันแน่นขึ้น ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เพิ่งจัดประชุมร่วมกันครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ฝั่งยุโรปเองแม้จะยังไม่ถึงขั้น ‘หวานชื่น’ กับจีน แต่ก็เริ่มขยับเข้าใกล้มากขึ้น เมื่อประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและนายกรัฐมนตรีจีนจับสายตรงคุยกัน หารือความร่วมมือ และพยายามประคองความสัมพันธ์ให้ ‘มั่นคงต่อเนื่อง‘

ส่วนแคนาดา? เลือกแนวทาง ‘เสี่ยงต่ำ’ รอดูท่าทีอยู่ห่าง ๆ แบบไม่กล้าเดินเข้าหา แต่ก็ไม่อาจเมินจีนได้เสียทีเดียว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยยอร์คบอกว่า “จะมองข้ามจีนในโลกยุคนี้ ถือว่า...พลาด”

สรุป: โลกยุคใหม่อาจไม่มีผู้นำคนเดียวอีกต่อไป แต่เป็นโลกที่หลายขั้วอำนาจลุกขึ้นมาเขียนกติกาใหม่ และถ้าอเมริกายังเล่นบทนักเลงภาษีต่อไป อาจจะต้องทำใจกับบทบาทพระรองในฉากสุดท้ายของเวทีโลกใบนี้

‘ดร.กอบศักดิ์’ เผย!! ‘จีน-สหรัฐฯ’ ทำสงครามการค้า ผู้ประกอบการ ต้องเตรียมพร้อม ชี้!! ไทยมีโอกาสเข้าไปแทนที่ เปิดตลาดใหม่ ระบายสินค้า เมื่อยักษ์ใหญ่ไม่คุยกัน

(12 เม.ย. 68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความว่า...

ในช่วงต่อไป ถ้าไม่มีใครยอมใคร

สินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐ และสินค้าสหรัฐที่ส่งไปจีน คงต้องหาตลาดใหม่ให้ตนเอง
สินค้าเหล่านี้ กำลังจะมาที่ไทยและประเทศอื่นๆ

เราคงต้องเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในไทย
สินค้าเหล่านี้ประกอบด้วย 

จากจีน - Smartphones, Laptops, Batteries, Toys, Telecom Equipment

จากสหรัฐ - Soybeans, Aircraft and engines, IC, Pharmaceuticals, Petroleum

มูลค่าไม่น้อย โดยเฉพาะสินค้าจากจีน 438.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และสินค้าจากสหรัฐฯ 143.5 พันล้าน สรอ. ต่อปี 

ประเทศใกล้ๆ อย่างไทย น่าจะเป็นเป้าหมายในการระบายสินค้าที่ดี

ส่วนผู้ส่งออก เมื่อเขาไม่ค้าขายกัน ไม่คุยกัน 

รายชื่อสินค้าเหล่านี้ เป็นเป้าหมายให้เราเข้าไปแทนที่ครับ

อย่าลืมว่า "ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ" 

เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ

นักลงทุนผวา!! อนาคตของอเมริกา กับ ‘วิกฤตด้านความเชื่อมั่น’ การย้ายฐานการผลิตทั้งหมดกลับประเทศ ต้องใช้ทั้ง ‘เงิน-เวลา’

(12 เม.ย. 68) Stephanie Ruhle นักวิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจของ NBC หนึ่งในสถานีโทรทัศน์หลักของสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ว่า ...  

สิ่งที่ฉันอยากจะพูดก็คือ ผ่านไปกว่าสัปดาห์แล้ว นับตั้งแต่เกิดหายนะทางการค้านี้ขึ้น และฉันได้ใช้เวลาทั้งสัปดาห์นั้นในการพูดคุยกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสิ่งที่ฉันรู้สึกว่ามากที่สุดในคืนนี้คือความกลัว

ความกลัวที่เรากำลังเผชิญอยู่คือวิกฤตด้านความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นในตัวเราเอง ในสหรัฐอเมริกา หรือฉันไม่ได้ยินจากใครเลยในบรรดาคนที่ฉันพูดคุยด้วย คือสิ่งที่อาจฟื้นคืนความเชื่อมั่นนั้นในสหรัฐอเมริกาได้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ตอนนี้ ใช่แล้ว ตลาดปรับตัวสูงขึ้นเมื่อวานนี้ แต่เป็นเพราะเราสามารถหลีกเลี่ยงการนำเข้าด้วยภาษีนำเข้ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกได้เท่านั้น

แต่ความจริงได้เกิดขึ้นในวันนี้แล้ว เพราะเรายังคงมีภาษีนำเข้าที่เหลือ และตลาดก็ยังคงตกต่ำ ทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นฐานที่เราใช้เจรจาการค้าไม่ได้หยั่งรากลึกในความจริง และสำหรับผู้ที่เชื่อว่าประเทศต่าง ๆ กำลังดิ้นรนเพื่อทำข้อตกลงเพราะพวกเขาตื่นตระหนกมากเกี่ยวกับภาษีนำเข้าจำนวนมหาศาล และตอนนี้ภาษีนำเข้าก็ลดลงมาก

คำถามของฉันก็คือ ข้อตกลงนั้นคืออะไร คุณคิดว่าประเทศอย่างเวียดนามสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อลบล้างการขาดดุลการค้าของเรา คุณรู้ไหมว่าคำตอบคืออะไร พวกเขาทำไม่ได้ และถ้าคุณต้องการนำการผลิตทั้งหมดของเรากลับประเทศ นั่นก็จะ... หากคุณต้องการทำสิ่งนั้นตามที่ Peter Navarro พูดถึง Howard Lutnick พูดถึง คุณต้องการทำเช่นนั้นไหม? เพราะ จะต้องใช้เงินหลายล้านล้านดอลลาร์และเวลา 20 ปีในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและนำทั้งหมดกลับมาผลิตในอเมริกา

และสำหรับพันธมิตรของเราในตะวันตก ประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้น พวกเขาไม่ได้รีบร้อนที่จะร่วมมือกับเราอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หัวเราะออกทีวีระดับประเทศ และบอกว่า พวกเขากำลังประจบประแจงฉัน (จูบก้นฉัน) เราสามารถพูดได้อย่างปลอดภัยว่าตำแหน่งที่เราและความพิเศษเฉพาะตัวของอเมริกาเคยยึดครองไว้ แม้กระทั่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ลดลงอย่างแน่นอน

เรามีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรที่บอกให้เราสร้างเล้าไก่ในสวนหลังบ้านเพราะไข่แพง เรามีรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่เผยแพร่ความลับทางทหารในกลุ่มแชท เราอาจกำลังไล่พนักงานของรัฐบาลออกหลายพันคนอย่างผิดกฎหมาย และตัดงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ขณะที่ซื้อสกุลเงินดิจิทัล เราสูญเสียความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจไปเป็นจำนวนมาก

แต่สิ่งที่ทำให้ฉันกลัวคือนักลงทุนทุกคนที่ฉันพูดคุยด้วย แม้แต่บางคนที่สนับสนุนประธานาธิบดีคนนี้ ต่างก็ส่งข้อความเดียวกันถึงฉันว่า หากตลาดพันธบัตรยังคงร่วงลงเรื่อย ๆ คุณก็รู้ว่ามันจะไปจบลงที่ไหน มันจะทำให้ประเทศนี้ล้มละลาย ซึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ รู้เรื่องนี้ดีทีเดียว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top