‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! เหตุผลที่รายได้รัฐพลาดเป้า โครงสร้างภาษี-การจัดเก็บล้าสมัย ไม่มีประสิทธิภาพ
ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ทำไมรายได้รัฐพลาดเป้า?' เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...
การจัดเก็บภาษีอากรพลาดเป้าไป 40,000 ล้านบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 เป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะในภาวะที่รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพื่อดูแลสังคมและเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ และการคลังยังขาดดุลและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง
การที่รายได้รัฐต่ำกว่าประมาณการอาจมีสาเหตุหลายประการ…
- ประการแรก เป้าที่ตั้งไว้สูงเกินไปไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
- ประการที่สอง ภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้
- และประการสุดท้าย โครงสร้างภาษีและการบริหารการจัดเก็บล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพ
การตั้งประมาณการรายได้ที่สูงเกินไปมีอันตรายเพราะจะทำให้รัฐบาลโน้มเอียงที่จะตั้งงบประมาณรายจ่ายสูงเกินตัว เมื่อเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าก็จะต้องกู้เงินในจำนวนที่มากกว่าที่วางแผนไว้ ส่วนภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยตรง สำหรับสาเหตุสุดท้ายจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพราะโครงสร้างและการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรไม่ได้รับการปรับปรุงขั้นพื้นฐานมายาวนาน
เริ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเริ่มนำมาใช้เมื่อมีการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ในปี 2535 ได้มีการออกแบบให้มีฐานกว้างและจัดเก็บที่อัตรา 10% แต่ปรากฏว่าฝ่ายการเมืองได้ประกาศลดอัตราลงเหลือ 7% มาตลอด 30 ปี และยังมีการกำหนดรายรับขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีไว้ที่ระดับสูง ทำให้ฐานภาษีแคบลง นอกจากนี้การซื้อขายสินค้าและบริการแบบออนไลน์ยังทำให้การจัดเก็บรั่วไหลอีกด้วย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลยังคงจัดเก็บโดยยึดหลักสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment) ซึ่งเป็นหลักการที่ยึดถือมาเกือบ 100 ปีและอาจไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ซึ่งธุรกิจสามารถเลือกตั้งถิ่นฐานในประเทศที่มีภาษีต่ำหรือไม่มีภาษี (Tax Heaven) แล้วให้บริการข้ามพรมแดนแบบออนไลน์ โดยที่ประเทศต้นทางที่เป็นแหล่งกำเนิดของรายได้ไม่ได้อะไรเลย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็มีฐานภาษีที่พรุนไปด้วยรายการยกเว้นลดหย่อนภาษีมากมาย ทำให้รายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เติบโตเร็วเท่าที่ควรจะเป็น ค่าลดหย่อนหลายรายการมีมากเกินความจำเป็นและไม่มีความคุ้มค่า สมควรทีจะมีการทบทวนและพิจารณายกเลิกเพื่ออุดรูรั่วของฐานภาษีและเพื่อสร้างความยุติธรรมระหว่างผู้เสียภาษี
ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเริ่มที่จะมีการจัดเก็บตามหลักการภาษีคาร์บอนอยู่บ้างในกรณีสินค้ารถยนต์ แต่ก็มีใช้การลดภาษีสรรพสามิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว การอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงาน Fossils นอกจากจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลแล้ว ยังเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับประชาคมโลกที่พยายามเปลี่ยนผ่านสู่โลกคาร์บอนต่ำตามความตกลงปารีสอีกด้วย วันนี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องจริงจังกับภาษีคาร์บอนได้แล้ว
นับจากการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ว่าการปฏิรูปประเทศจะเป็นเหตุผลหลักของการรัฐประหารเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ดังนั้น จึงขอฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่จะดำเนินการปฏิรูปภาษีอย่างจริงจังเสียทีเพื่อให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ความสมดุลทางการคลัง