Thursday, 2 May 2024
พรรคสร้างอนาคตไทย

'สร้างอนาคตไทย' จัดใหญ่ ระดมกูรู กู้วิกฤตเศรษฐกิจ ชี้ 'โลกเปลี่ยนไทยต้องปรับ'

'พรรคสร้างอนาคตไทย' เปิดเวทีถกทางออกวิกฤตเศรษฐกิจ 'บัณฑิต' ชี้แก้เงินเฟ้อด่วนก่อนเศรษฐกิจติดหล่ม ด้านเอกชนมั่นใจเอกชนไทยยังมีศักยภาพสูงขอเพียงรัฐบาลสนับสนุนให้ตรงจุด ขณะที่เอสเอ็มอีและภาคท่องเที่ยว วอนช่วยเร่งแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ

(10 ก.ค.65) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) จัดเสวนา 'เจาะลึกวิกฤติร่วมคิดทางออก' ถกนักวิชาการ นักธุรกิจชั้นนำ ประกอบด้วย ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธาน Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น และนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยมีนายสันติ กีรนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อหาทางออกของวิกฤติเศรษฐกิจประเทศ สะท้อนปัญหา และเสนอแนะแนวทางแก้ถึงรัฐบาล 

โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า งานวันนี้เราตั้งใจให้เป็นวงเสวนาที่อยากให้เราได้มีโอกาสร่วมกันคิดวิเคราะห์สิ่งที่ประเทศกำลังเผชิญ สถานการณ์หลายอย่างดูเหมือนดีขึ้น แต่ทั้งผู้ประกอบการ ประชาชนยังห่วงใยว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะไปต่ออย่างไร เรายังต้องช่วยกันบริหารจัดการ ช่วยคิด และหาทางออก จึงเป็นที่มาของการเสวนาในวันนี้ ตนและพรรคหวังว่าสิ่งที่จะออกมาวันนี้ จะเป็นประโยชน์กับส่วนรวม เป็นการช่วยกันคิด ร่วมกันทำของคนไทย เพื่ออนาคตของเรา ในภาวะที่หลาย ๆ อย่างสุ่มเสี่ยง แต่โอกาสก็มีเยอะ ถ้าช่วยกันคิด ช่วยกันบริหารจัดการความท้าทาย ทำสิ่งที่มีให้เกิดขึ้นได้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็จะทำให้คนไทยเดินหน้าต่อไป ประเทศเติบโต พร้อมรับความท้าทายในอนาคต 

นายอุตตม กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทย เผชิญความท้าทาย แต่ไม่ใช่ทุกอย่างแย่ไปหมด แต่ทำอย่างไรจะก้าวไปด้วยกัน ไม่ทิ้งภาคใดเผชิญปัญหาให้ล้มลงเป็นภาระ นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งจำเป็น แต่แผนงานที่ขับเคลื่อนได้จริงสำคัญมากกว่า วันนี้ผู้ที่จะมารับผิดชอบการขับเคลื่อนต้องเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน รัฐต้องส่งเสริมภาคเอกชนให้ก้าวเดินต่อไปได้ กฎระเบียบที่จำเป็นต้องเปลี่ยน ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ก็ต้องทำ วันนี้โลกเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงจึงจะรอด และพัฒนาไปได้ ถ้าหากคิด และทำแบบเดิม ๆ ไม่อาจตอบโจทย์ไปสู่ทิศทางที่ต้องการได้ การเติมทุน การขับเคลื่อนเชิงรุก ทำอย่างไรให้ประเทศเป็นที่สนใจของนักลงทุน ซึ่งตรงนี้ได้มีการเริ่มต้นเรื่อง EEC เอาไว้แล้ว ก็ต้องใช้ EEC เป็นตัวสร้างโอกาสดึงดูดนักลงทุนเข้ามา และสุดท้ายธรรมาภิบาลคือสิ่งสำคัญที่ต้องมี เพราะจะช่วยให้การขับเคลื่อนประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน 

ขณะที่ ดร.บัณฑิต มองว่าจากปัจจัยผลกระทบเศรษฐกิจจากสถานการณ์โลกที่เผชิญอยู่ขณะนี้  ทั้งภาวะสงคราม สถานการณ์ราคาพลังงานแพง การขาดแคลนอาหาร จะมีความยืดเยื้อ ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาโดยมุ่งเน้นการใช้จ่ายจากภาครัฐนั้นไม่ตอบโจทย์ และต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะผลที่จะตามมาคือการเร่งตัวของภาวะเงินเฟ้อให้เร็วขึ้น รวมถึงการสร้างภาระทางการเงินจากเงินกู้มากขึ้น  โดยได้เสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหาหลักสำคัญที่ประเทศต้องให้ความสำคัญ คือ 1. การแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ ควรใช้กลไกตลาดมากกว่าการควบคุม เพราะมาตรการควบคุมเป็นมาตรการที่ใช้ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งไม่ตอบโจทย์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และหากมุ่งเน้นมาตรการควบคุมประเทศอาจจะเผชิญปัญหาการขาดแคลนสินค้า เนื่องจากไม่คุ้มทุนการผลิตของผู้ประกอบการ 2.การช่วยเรื่องการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องสภาพคล่อง การประนอมหนี้ การดูแลค่าเงินให้มีความสมดุล 3.การประหยัด ซึ่งภาครัฐต้องส่งสัญญาณให้เกิดความร่วมมือกันของคนในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นที่ขณะนี้ออกมาประกาศลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนะให้ภาครัฐใช้ศักยภาพประเทศเกษตรกรรม ในสถานการณ์ที่โลกขาดแคลนอาหาร ผลักดันผลผลิตภาคการเกษตร การผลิตอาหาร เพื่อสร้างโอกาสใหม่ สร้างรายได้ให้กับประเทศในช่วงที่โลกกำลังประสบปัญหา


 
น.ส.จรีพร กล่าวว่า ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสแต่ต้องมองให้เห็น วันนี้โลกเปลี่ยนไปจากอดีตมากประเทศไทยต้องปรับตัวให้มากขึ้น ต้องก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ เพราะระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ประเทศไทยต้องเปลี่ยน และเพิ่มขีดความสามารถด้านนี้ วันนี้ประเทศไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก เราต้องดึงพวกเขามา เพื่อสร้างเม็ดเงินลงทุนในประเทศ เป็นแรงในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ที่จะฝากไว้คือเราต้องส่งเสริมสตาร์ทอัพ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยมากๆ 

นายแสงชัย กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มเอสเอ็มอีประสบปัญหาเรื่องรายได้ที่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตวัตถุดิบสูงขึ้นทุกรายการจากสถานการณ์ราคาพลังงานแพง เช่น ข้าวสาลีมีราคาสูงร้อยละ 45.60 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นร้อยละ 26.37 ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ และเสี่ยงต่อการทำให้ขาดทุนเป็นหนี้เพิ่ม ซึ่งขณะนี้หนี้เอสเอ็มอีสูงอยู่แล้วจากโควิด โดยระดับหนี้เสียในไตรมาสแรกปีนี้สูงเกือบ 6.7 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 19.2 ของพอร์ตสินเชื่อทั้งระบบ ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งทุนยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง และแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออก 7 มาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุนการประนอมหนี้แต่ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้มีความเป็นห่วงว่าจะผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องการให้ธนาคารควรเพิ่มความยืดหยุ่นในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อให้มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ยังมองว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีของ สสว.กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีอยู่ยังไม่ได้ตอบโจทย์การช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็ก โดยรัฐบาลต้องบูรณาการหน่วยงานที่มีอยู่จำนวนมากและกระจัดกระจายระดมเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอี เช่น การพัฒนาแพคเกจจิ้ง แนวทางการวางแผน business model เพื่อให้ธนาคารยอมปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มเอสเอ็มอีสามารถเดินต่อไปได้

'อุตตม' เตรียมจัดทำนโยบาย 'คาร์บอนเครดิต' รุกสร้างเศรษฐกิจใหม่-รองรับการแข่งขันภาคเอกชนบนเวทีโลก

'สร้างอนาคตไทย' เปิดบ้านแลกเปลี่ยนความรู้บริหารจัดการคาร์บอน ชี้ กระแสโลกร้อน เปลี่ยนกติกาขีดการแข่งขันภาคเศรษฐกิจ ต้องวางนโยบาย-กฎหมายให้สอดรับ เพื่อแก้ปัญหาเชิงรุก-เสริมศักยภาพการแข่งขันภาคธุรกิจไทยทั้งใน-ต่างประเทศ

พรรคสร้างอนาคตไทย จัดสัมมนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง อนาคตตลาดคาร์บอน (Carbon Market) แนวทาง และวิธีการดำเนินการจัดการคาร์บอน โดยได้รับเกียรติจากนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมบรรยาย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประกอบด้วย ผู้บริหารพรรค อาทิ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายวิเชียร ชวลิต ผู้อำนวยการพรรค นายนริศ เชยกลิ่น โฆษกพรรค น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ รองโฆษก นายธันวา ไกรฤกษ์ รองโฆษกพรรค รวมถึงภาคเอกชน และหน่วยงานระหว่างประเทศ

นายอุตตม กล่าวว่า การบริหารจัดการคาร์บอนเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกต้องให้ความสนใจ ซึ่งประเทศไทยได้ตอบรับเงื่อนไขหลายๆ อย่างมาจากเวทีโลก โดยการพัฒนาประเทศหลังจากนี้ ในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจไม่สามารถละเลยเรื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องมีนโยบายสาธารณะที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนปัญหาเหล่านี้ให้เป็นโอกาสแก่ภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถปรับตัวได้และมีความสามารถในการแข็งขันที่สูงขึ้น 

ทั้งนี้ ปัญหาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ องค์การระหว่างประเทศต่างๆ ได้เรียกร้องให้นานาประเทศมีมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในกิจกรรมทั้งบนบก ทางทะเล และทางอากาศ หลายประเทศที่เป็นคู่ค้า และแหล่งทุนสำคัญของประเทศไทยก็ได้เริ่มกำหนดมาตรการเพื่อกีดกันสินค้า และการลงทุน ทั้งในภาคอุตสาหกรรม กสิกรรม การเงิน การธนาคาร และการท่องเที่ยว 

นายอุตตม กล่าวต่อว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ ดังนั้นการจัดทำกฎหมายสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะต้องเป็นนโยบายที่เร่งด่วน และต้องเป็นกฎหมายที่ทันสมัย สามารถใช้บังคับได้ในทุกภาคเศรษฐกิจของไทย ไม่ใช่เป็นแบบไซโล ต่างคนต่างทำอีกต่อไป ต้องมองในเชิงนโยบาย และการบริหารจัดการ ต้องมีโต้โผดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะหากไม่มี เมื่อเอกชนจะขยับทีก็ต้องถอยครึ่งก้าว ถอยสองก้าว เพราะรัฐไม่ชัดเจน ตนมองว่าคณะกรรมการที่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีอำนาจไม่พอ หากเปรียบเทียบเหมือนตอนทำอีอีซี จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าพวกตนไม่ไปขอนายกฯ เสนอ แต่งตั้ง และออกกฎหมาย ถ้าทำอย่างนี้จึงจะมีการยอมรับ

ดังนั้น ต้องมีตัวกลาง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานลักษณะไหนก็ตาม แต่ที่สำคัญคือ...

1. ต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคตเป็นอย่างไร ประเทศต้องการการปรับเปลี่ยน พรรคสร้างอนาคตไทยพูดเสมอว่าเราอาสามาทำงานเพื่อขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศ นี่คือหนึ่งในนโยบายห้าสร้างของพรรค คือ สร้างเศรษฐกิจใหม่โครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต ดังนั้นเรื่องนี้จะอยู่ในนโยบายของพรรคด้วย แต่จะทำอย่างไรให้เกิด หน่วยงานต้องดูให้ลึกว่าผลกระทบเป็นอย่างไร ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ แต่ต้องเป็นดูระยะยาว ส่วนที่ท้าทาย คือจะวางยุทธศาสตร์อย่างไรให้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และภายในระยะเวลาเท่าไหร่  

2. ต้องให้เอกชนเข้าร่วมตั้งแต่ต้น แค่เพียงรัฐบาลไม่พอ รัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้เอกชนเดินอย่างมีแต้มต่อ เพราะสุดท้ายต้องเกิดการแข่งขันในเวทีโลกอย่างแน่นอน เป็นกลไกตลาดที่ต้องค้าขาย เราต้องฉลาดที่จะค้าขาย รัฐต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะเดินอย่างไร เดินกับใคร 

3. ที่สำคัญ คือเรื่องการสื่อสาร วันนี้จะทำอย่างไรให้คนไทยเข้าใจ ว่าเรื่องดังกล่าวกระทบต่อเขาอย่างไร

“เรื่องการบริหารจัดการคาร์บอน จะเป็นความท้าทายของรัฐบาลหน้าว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับภาคเศรษฐกิจทั้งการสร้างเศรษฐกิจใหม่ และการแก้ปัญหาเชิงรุกให้กับขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบาย 5 สร้างของพรรค ที่พร้อมจะเดินหน้าขับเคลื่อน โดยพรรคให้ความสำคัญครอบคลุมทั้งในเรื่องกฎหมายและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับเรื่องนี้ ขอย้ำว่าพรรคจะใส่เรื่องนี้ไว้ในนโยบายพรรคอย่างจริงจัง” นายอุตตม กล่าว

'สนธิรัตน์' แนะ รัฐเตรียมการรับมือผลกระทบค่าไฟฟ้า-ค่าเงินบาทต่อประชาชน ห่วงติดกับดักระเบิดระลอกใหม่

วันนี้ (17 ก.ค.65) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย และอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยระบุว่า ค่าไฟ  และค่าเงินบาท เป็น 2 เรื่องกระทบปากท้องที่ต้องจับตา สัปดาห์ก่อนตนสำรวจข้อมูลเรื่องสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จะเห็นว่าส่งผลกระทบต่อพวกเราเต็มๆ โดยสัปดาห์นี้มีอีก 2 เรื่องที่ขอพูดถึงเพราะถือเป็น “ระเบิดเวลาปัญหาปากท้อง” ลูกต่อไป

1. ค่าไฟฟ้า (ค่าเอฟที FT) ที่กำลังเตรียมจะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยหน่วยละ 5 บาท ในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคมที่จะถึงนี้ ต้องเตรียมรับมือกับค่าไฟที่เพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดมีข้อมูลขีดสามารถในการส่งก๊าซของแหล่งบงกชเหนือ หรือ GBN  ว่าลดลงจากเดิม 500 เหลือ 385 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ช่วง 29 มิ.ย. - 16 ก.ค. 65) ซึ่งความสามารถที่ลดลงนี้อาจจะมีผลต่อการผลิตไฟฟ้า 

ทั้งนี้ ตนขออธิบายว่า ก๊าซธรรมชาติถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการใช้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือเป็นการใช้ในภาคอุตสาหกรรม โรงแยกก๊าซ NGV และอื่นๆ โดยปัจจุบันความสามารถในการผลิตเราเทียบกับช่วงปีก่อนเหลือเพียงแค่ 65 เปอร์เซ็นต์ ลดลงกว่า 20.6 เปอร์เซ็นต์ ในการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เอง 

ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.8 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ ด้วยค่าก๊าซที่ตลาดโลกมีราคาแพงเราต้องนำเข้า ปัจจุบันแบ่งเป็นการนำเข้าจากเมียนมาร์ 17 เปอร์เซ็นต์ จากแหล่งยาดานา ซอติกา และเยตากุน และอีก 18 เปอร์เซ็นต์ คือนำเข้า LNG จากประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ  ซึ่งในอนาคตการนำเข้าในสัดส่วนนี้จะเพิ่มมากขึ้น และแน่นอนว่ายิ่งความสามารถการผลิตเรามีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ เราก็จำเป็นต้องพึ่งการนำเข้าที่มากขึ้น และแน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยต้นทุนด้านการแปรสภาพ LNG ให้เป็นก๊าซธรรมชาติและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าขนส่ง

นายสนธิรัตน์ ระบุว่า ในส่วนของการนำเข้าทั้งจากเมียนมาร์ และ LNG จากผู้ผลิตเป็นการจัดซื้อโดยจ่ายเป็นเงินสกุล USD (ดอลลาร์สหรัฐ) และยิ่งค่าเงินบาทยิ่งอ่อนมากเท่าไหร่ นั่นหมายความว่า ราคาก๊าซจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นี่จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสนใจในเรื่องค่าเงินบาท

2. ค่าเงินบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ค. เงินบาทอ่อนค่าไปที่ 36.73 บาทต่อ 1 USD อ่อนค่าสูงสุดในรอบ 15 ปี และมีแนวโน้มผันผวน และมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงอีก จากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และมีผลต่อการแข็งค่าของ USD และความกังวลสถานการณ์โควิดในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องค่าเงิน และสถานการณ์เหล่านี้ยังไม่จบง่าย ๆ เราคงจะได้เห็นสถานการณ์ที่ยาวต่อจากนี้ ทั้งความขัดแย้งรัสเซีย ยูเครนที่ทอดระยะเวลาออกไป ปัญหาเงินเฟ้อ และการเพิ่มดอกเบี้ยของ FED ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ ในการประชุมช่วงปลายเดือนนี้

สำหรับค่าเงินที่อ่อนลงแม้จะเป็นความโชคดี และเอื้อต่อการส่งออกในบ้านเราที่มากขึ้น แต่ถึงอย่างไร ก็เป็นผลกระทบในเชิงลบสำหรับธุรกิจภาคเอสเอ็มอี (SME) ที่นำเข้าสินค้า ที่จะได้รับทั้งผลกระทบจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นและไม่มีกำลังพอที่จะพัฒนาขีดความสามารถต่อภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ รัฐจะต้องหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป ไม่ว่าจะผ่านการจ้างงาน หรือพัฒนาความสามารถในการแข่งขันต่อไป

'สร้างอนาคตไทย' ชี้!! 'สมคิด' เหมาะแคนดิเดตนายกฯ ไม่แคร์!! แม้ 'ทักษิณ' บลัฟเป็นได้แค่ขุนคลังยุคทรท.

จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้มีการกล่าวพาดพิงถึง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ว่าเคยเป็นคนติดตามตนมาตลอด และหวังจะเคลมผลงาน 30 บาทรักษาทุกโรค อีกทั้งเคยถูกทักโหวงเฮ้งจะได้เป็นนายกฯ พอพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ก็ได้เป็นแค่รัฐมนตรีคลังนั้น

นายพงศ์พรหม ยามะรัต รองโฆษกพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า หลายนโยบายของพรรคไทยรักไทย ถือเป็นนโยบายที่ดี และมีบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ จากหลากหลายวิชาชีพ ได้เข้ามาช่วยกันระดมสมอง จนเกิดเป็นนโยบายต่างๆ ขึ้นมาได้ และคุณทักษิณก็เป็นผู้นำในการนำเสนอนโยบายต่างๆ เพื่อนำมาเปลี่ยนแปลงประเทศในขณะนั้นได้จริง 

ดร.สมคิด ยังเคารพนับถือคุณทักษิณไม่เปลี่ยนแปลง และการที่ ดร.สมคิด ได้เข้าไปช่วยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น เป็นเพราะมองเห็นปัญหาของบ้านเมืองที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต จึงได้เข้าไปเพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งโครงสร้างทางการเมืองและแนวทางในการทำงานร่วมกันเปลี่ยนไป ดร.สมคิด จึงต้องขอถอยออกมา

'สนธิรัตน์' ชี้!! ไทยยังมีโอกาสในวิกฤต แนะรัฐต้องเล่นบทกองหนุน ผลักดันเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

'สนธิรัตน์' โชว์วิสัยทัศน์ ชี้ แก้โลกร้อนเป็นกติกาใหม่โลก ไทยมีโอกาสมหาศาล ส่งออกพลังงานสะอาด-ปลูกป่า ให้ได้คาร์บอนเครดิตขายเพื่อนบ้าน แนะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรจากปัจจัยต้นทาง ไม่ใช่แค่อุดหนุนราคา  ขอรัฐบาลสนับสนุนเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านราชการต้องปรับตัวรับยุคดิจิทัล ปิ๊งไอเดีย ตั้งแพลตฟอร์มระดับโลก ขายสินค้าเกษตรออนไลน์ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่กรมชลประทาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายในหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 2 ในหัวข้อ “Vision from Leader : มิติการพัฒนาการเกษตร และพลังงานในอนาคต” โดยนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม หากแก้ปัญหาเรื่องการเกษตรไม่ได้ถือว่าเสียโอกาสทางการแข่งขัน มองว่าประเทศไทยยังย่ำเท้าอยู่กับที่ในหลาย ๆ เรื่องเป็นเวลานาน ซึ่งจากที่ตนได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีสัมมนาต่างๆ หลายคนมองเห็นปัญหาในทิศทางเดียวกันคือ เราเป็นประเทศที่การเมืองเปลี่ยนแปลงบ่อย ระบบราชการยังพัฒนาไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ขณะที่เรายังเป็นเวอร์ชั่นอนาล็อก ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังลึก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาโลกร้อน ที่เป็นกติกาและกฎระเบียบใหม่ของโลกใบนี้ที่ไทยต้องตามให้ทัน เพื่อสร้างโอกาสไทยจากเรื่องนี้ได้อย่างมหาศาล

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับบทบาทของพาณิชย์ กับเกษตรจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้ว่านโยบายการบริหารประเทศของทุกรัฐบาลหรือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  หัวใจสำคัญคือมุ่งเน้นเพียงทำให้เกษตรกรพอใจในราคาสินค้า ทำให้ภาคการเกษตรย่ำเท้าอยู่กับที่ พอใจกับราคาที่ได้ ซึ่งความเป็นจริงต้องมองผลตอบแทนที่เป็นกำไรที่แท้จริงของพี่น้องเกษตรกร ไม่ใช่แค่ราคาสินค้า ตัวอย่างเช่น ราคาปาล์มน้ำมัน เราเป็นตัวเล็กของซัพพลายปาล์มน้ำมันของโลก เพราะอินโดนีเซีย และมาเลเซียเหนือกว่าเรามาก ราคาปาล์มน้ำมันไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่ราคาตลาดโลก การอุดหนุนราคาจึงไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน แต่สิ่งที่ต้องสนับสนุนคือการบริหารต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง เพราะเกษตรกรอยู่ไม่ได้  ไม่ใช่แค่เรื่องราคาอย่างเดียว แต่เป็นองค์ประกอบตั้งแต่สายพันธุ์ ระบบชลประทาน ปุ๋ย เป็นต้น 

“แต่เรามองที่ราคาอย่างเดียวบริหารเรื่องเดิม ๆ เมื่อทำไม่ได้ก็ต้องแก้ปัญหาโดยการออกเงินอุดหนุน ถามว่าเกษตรกรจะได้อะไร ถ้าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่ได้บอกว่านโยบายผิด แต่ปัญหามันซับซ้อนมาก เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายก็เปลี่ยนไปด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือวันนี้เรามุ่งเพียงนโยบายระยะสั้น เฉพาะหน้า และไม่ยั่งยืน ถ้าเราไม่แก้ให้ตรงจุด อีก 10 ปีก็อยู่ที่เดิม หลายประเทศพัฒนาเป็นระบบ แต่เราพัฒนาแบบแยกส่วน กระทรวงใครกระทรวงมัน ความจริงมิติเหล่านี้ภาคเอกชนเก่งมาก รัฐบาลต้องคิดทบทวนใหม่ เพราะภาคเอกชนคือตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจ และธุรกิจ รัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุนได้ เวลาจะออกนโยบายอะไรก็ตามผมต้องออกให้คนต่อไปสามารถมาดำเนินการต่อได้ นั่นคือ Mind set การทำงานของผม”  

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่าปัญหาหนึ่งที่สำคัญของภาคการเกษตรคือกลไกพ่อค้าคนกลาง ล้งจีน ล้งไทย เกษตรกรทำเท่าไหร่คนรวยคือพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรยังจนต่อไป วันนี้เราควรพลิกมิติตลาดใหม่สู่ตลาดออนไลน์ ในเมื่อเราเป็นผู้ผลิตอาหารให้กับโลก ทั้งทุเรียน เงาะ ลำไย ข้าว ผัก ดังนั้น ตนมีแนวคิดที่จะยกสินค้าเกษตรสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ เว็บไซต์ Farm To The Table สร้างโอกาสให้เกิดการซื้อขายโดยตรงจากผู้ผลิตและผู้บริโภค ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ได้ราคาดีกว่า คุณภาพชัดเจน

ขณะที่เรื่องพลังงานกับการเกษตร นายสนธิรัตน์ มองว่า เป็นภาคที่สอดประสานและเกื้อกูลกันได้ดีมาก ยิ่งปัจจุบัน โลกกำลังเข้าสู่กติกาใหม่ทั้ง Cop 26 ภาวะโลกร้อน Net zero และ Carbon neutrality ตนมองเห็นโอกาสเรื่องการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ไม้โตเร็ว และอ้อย เป็นต้น ซึ่งเกษตรกับพืชพลังงานเป็นโอกาสใหญ่มาก เพราะนอกเหนือจากเรื่องพลังงานแล้ว ยังรวมไปถึงโอกาสใหม่ในเรื่องคาร์บอนเครดิต ที่เป็นโอกาสใหญ่มากกับภาคเกษตรของประเทศไทยอีกด้วย 

นอกจากนี้ นายสนธิรัตน์ยังได้ให้มุมมองเรื่องการเกษตรกับการแก้ปัญหาความยากจนไว้ว่า หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความยากจนคือต้องแก้จากภาคการเกษตร ถ้าพลิกฟื้นเรื่องเกษตรได้จะพลิกฟื้นความยากจนได้ ทุกวันนี้ เกษตรกรประเทศไทยยังยากจน เพราะโครงสร้างเกษตรที่ผ่านมามีความซับซ้อนในตัวมาก เราอยู่ในวังวนผลผลิตต่ำ ต้นทุนสูง ขาดความรู้ ติดอยู่กับแนวคิดเดิมๆ ซึ่งวันนี้ 2 ประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ให้ได้ คือ 1. โจทย์การแก้ปัญหาที่ชัดเจนในเรื่องที่ดินทำกิน พื้นที่ชลประทาน และการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ 2. ลดการพึ่งพา เช่น เรื่องปุ๋ย และพลังงาน

'นิพิฏฐ์' ชวนปฏิวัติการเมืองเปิดโอกาสลูกหลานคนจนเข้าสภา หยุดประชาธิปไตยที่ใช้แต่เงิน

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และประธานภาคใต้ โพสต์เฟซบุ๊ก ชักชวนร่วมปฏิวัติการเมืองใหม่ โดยระบุว่า มาปฏิวัติการเมืองกันเถอะ

การเมืองเวลานี้ โอกาสที่ลูกหลานคนจนจะมีโอกาสเข้าไปทำงานในสภา ยากและริบหรี่มาก ชนิดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ซึ่งตนได้ยิน 2 เสียงสะท้อนสำคัญมาว่า...

1. คนรวย มองคนจนเหมือนวัตถุทางการเมือง ที่ซื้อได้ในราคา 500 บาท และ 2. คนจน ยอมลดตัวเองเป็นวัตถุในทางการเมือง ที่ขายตัวเองในราคา 500 บาท

“ที่ผมเขียนมา อาจไม่ถูกทั้งหมด แต่ตอนนี้ ผมได้ยินมาว่า ถ้าไม่มีเงินก็อย่าเล่นการเมืองเลย ไปหาใครสมัคร ส.ส. ก็มีแต่คนถามว่า พรรคให้เงินเท่าไหร่ น้อยมากที่จะพูดว่า เออ! เราชอบพรรคการเมืองแนวนี้ เราเลือกพรรคแบบนี้แหละ และน้อยครับที่จะพูดว่า เออ! เราชอบพรรคการเมืองแนวนี้ เราจะลงสมัครพรรคแบบนี้แหละ ที่ผมเขียนมาอาจไม่จริงทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ผมได้ยินมาแบบนั้น” นายนิพิฏฐ์ กล่าว 

'สุรนันทน์' ย้ำ 2 จุดยืน 'พรรคสร้างอนาคตไทย' คือยึดมั่นในสถาบัน และ ต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกมิติ

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทยโพสต์คลิป ย้ำจุดยืนพรรคสร้างอนาคตไทย คือ 1. จุดยืนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และ 2 ต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยในจุดยืนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นายสุรนันทน์ระบุว่า “เรารักในหลวง เราคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเสาหลักสำคัญของประเทศ เป็นเสาหลักที่ทำให้ประเทศ อยู่รอดมาจนถึงวันนี้ เราเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของอนาคตของประเทศไทยด้วย ผมเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นสิ่งที่พรรคสร้างอนาคตไทยเชื่อมั่น”

ส่วนจุดยืนการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น นั้น นายสุรนันทน์ ระบุว่า “พรรคสร้างอนาคตไทย ตั้งใจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบราชการ เราจะทำให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย ได้พัฒนาและเติบโตตามศักยภาพของตัวเอง พรรคตั้งใจจะเข้ามาขัดขวางการทุจริตคอร์รัปชั่นในระบบราชการทุกระดับครับ โดยจะร่วมกับทุกองค์กร และประชาชนทุกคน พรรคมั่นใจว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในระบบราชการ ต้องได้รับการแก้ไข

'สร้างอนาคตไทย' ประกาศความพร้อม ปลุกใจว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แดนใต้ ลั่นระฆังรบ พร้อมเปิดนโยบายหลักพรรคกู้วิกฤติเศรษฐกิจชาติ

เมื่อวันที่ (16 ส.ค. 2565) ที่พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) มีการประชุมระหว่างแกนนำพรรค กับผู้แสดงเจตจำนง เป็นผู้สมัคร ส.ส.ภาคใต้ จำนวน 16 คน เพื่อติดตามสถานการณ์ทางการเมือง พร้อมมอบนโยบายพรรคในการทำงานในพื้นที่ และรับฟังนโยบายที่สำคัญของพรรค รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย พร้อมเปิดรับฟังปัญหาของประชาชน ที่สะท้อนผ่านผู้แสดงเจตจำนงเป็นผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค และประธานภาคใต้ ดร.สันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรค นายวิเชียร ชวลิต รองหัวหน้าพรรค และผอ.พรรค นายนริศ เชยกลิ่น รองหัวหน้าพรรคและโฆษกพรรค นายวัชระ กรรณิการ์ รองเลขาธิการพรรคและประธานภาคกลาง และ ดร.บุญส่ง ชเลธร รองเลขาธิการพรรค เข้าร่วมประชุม 

ดร.อุตตม กล่าวว่า จากนี้ไปจะมีเวลาทำงานไม่มากนัก ดังนั้น พรรคจะต้องทำงานอย่างเข้มข้น ย้ำให้ชัดเจนว่ายุทธศาสตร์ภาคใต้จะเดินอย่างไร ทีมผู้แสดงเจตจำนงเป็นผู้สมัคร สส. มีหน้าที่อะไร ต้องการอะไร ซึ่งพรรคมีหน้าที่สนับสนุนให้ถูกจุดในทุกมิติ ขอยืนยันว่าพรรคมีความพร้อมเดินหน้าในสนามเลือกตั้งอย่างแน่นอน และพรรคเตรียมเปิดตัวนโยบายหลักของพรรคเร็ว ๆ นี้

‘สร้างอนาคตไทย’ ลั่น!! พร้อมเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง จัดทัพผู้สมัครครบ 400 เขตทั่วประเทศ หนุน ‘สมคิด’ นายกฯ

(21 ส.ค.65) นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และประธานภาคกรุงเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมงานกรุงเทพของพรรคมีความพร้อมที่จะเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง โดยมีผู้แสดงความจำนงลงสมัครรับเลือกตั้งเต็มพื้นที่ครบทุกเขต

ทีมงานเดินพบปะพี่น้องประชาชน ได้รับรู้ปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจที่ทรุดต่อเนื่อง ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจราจรที่ติดขัด และปัญหาคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง  อยากให้มีการเลือกตั้ง เพื่อเปลี่ยนรัฐบาล

สอท. เปิดศูนย์ประสานงานเขตสะพานสูง เน้นช่วยผู้ประกอบการรายย่อยด้วย “กองทุนสร้างอนาคตไทย”

วันพุธที่ 24 สิงหาคม 2565 ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานภาคกรุงเทพฯ ได้เปิดศูนย์ประสานงานพรรค เขตสะพานสูง ซึ่งมีนางสาววรัญญา แอนดาริส เป็นผู้ประสานงานพรรคในพื้นที่ หลังจากได้ร่วมรับฟังความคิดเห็นและปัญหาของประชาชนในพื้นที่แล้ว

ดร.อุตตม กล่าวว่า พรรคสร้างอนาคตไทยมีนโยบายที่จะช่วยพ่อค้าแม่ค้าแผงลอยและผู้ประกอบการรายย่อยด้วย “กองทุนสร้างอนาคตไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาปากท้อง และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top